Skip to main content
ผมพยายามครุ่นคิดอยู่นานว่า ทำไมคนไทยกลุ่มหนึ่งจึงโกรธนักโกรธหนาที่สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาประณามและต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้อย่างรุนแรง ทั้งๆ ที่พวกเขานั้นเป็นทาสฝรั่งเหล่านี้มากที่สุดในประเทศนี้

 
ผมได้คำตอบว่า อาการโกรธนี้เป็นอาการเหมือนคนอกหัก อกหักจากการที่ถูกฝรั่งที่พวกเขาเฝ้าทะนุถนอม บูชา และอยากเลียนแบบให้เหมือนมาตลอดชีวิต กลับมาหักหลังพวกเขา พวกเขาโกรธเพราะพวกเขาจงรักภักดีต่อพ่ออเมริกัน พ่อยุโรป พ่อฝรั่งหัวแดงเหล่านี้มาตลอดชีวิต พวกเขาไม่เข้าใจว่า ถึงขนาดนี้แล้ว เหตุใดพวกเขาจึงยังถูกหักหลัง ถูกทิ้งขว้างจากพ่อฝรั่งเหล่านี้
 
แต่ลึกลงไปกว่านั้นคือ ผมคิดว่าพวกเขาโกรธฝรั่งก็เพราะค่านิยมที่ฝรั่งสนใจเรียกร้องในขณะนี้ ขัดแย้งกับการพยายามรักษาตำแหน่งแห่งที่ของพวกเขาในเวทีอำนาจขณะนี้
 
ถ้าไปถามพวกเขา เขาจะไม่ยอมรับหรอกว่าโกรธเพราะเหตุนี้ แต่ลองค่อยๆ พิจารณาดูว่า เป็นจริงอย่างที่ผมเข้าใจหรือไม่ ลองนึกดูว่า แต่ละคนที่ออกมาแสดงอาการรังเกียจฝรั่ง แท้จริงแล้ว พวกเขานั่นแหละที่เป็นผู้นำของการนำเข้าวัฒนธรรมฝรั่ง พวกเขานั่นแหละที่บูชาฝรั่งจะตายไป 
 
นับตั้งแต่นักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกากลุ่มหนึ่ง คนกลุ่มนี้เป็นลูกหลานของพวกทาสนโยบายสงครามเย็นของอเมริกัน ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าร่ำเรียนมาจากสหรัฐอเมริกา แต่กลับมาประณามว่าอเมริกันแทรกแซงไทย พวกเขาไม่รู้หรอกหรือว่า อเมริกันแทรกแซงไทยมาตั้งแต่สมัยรุ่นคุณพ่อคุณแม่พวกเขา และก็แทรกแซงให้พวกเขาไปร่ำไปเรียนกลับมา แล้วทำไมจึงเพิ่งจะมาว่าอเมริกันแทรกแซงตอนนี้ ตอนนั้นที่พวกนักศึกษาเดินขบวนประท้วงการแทรกแซงของอเมริกันน่ะ พวกคุณไปอยู่ไหนล่ะ ถ้าไม่ใช่กำลังมัวเมากับอเมริกันอยู่นั่นแหละ
 
ลองดูอีกคนที่ออกมาประณามฝรั่ง รายนี้เป็นนักแต่งเพลง จะแต่งเพลงแต่ละทีก็ต้องดูเทรนในยุโรป ในอเมริกา หากจะไม่ถึงกับลอกมาทั้งดุ้น เพลงไทยกลายเป็นเพลงแบบที่เราได้ฟังกันในยุคนี้ได้อย่างไร ก็ด้วยการฉีกตัวเองออกมาจากเพลง "ไทยเดิม" ด้วยการเดินตามแนวเพลงต่างประเทศ จากยุโรป จากอเมริกาแบบแนวของนักแต่งเพลงผู้นี้นั่นแหละ 
 
เมื่อเทียบกับเพลงยุคก่อนหน้าเพลงวัยรุ่นปัจจุบัน อย่างเพลงสุนทราภรณ์ เพลงลูกกรุง สมัยนั้นเขายังนำเพลงไทยเดิมมาดัดแปลงให้เข้ากับเพลงสากล แต่เพลงวัยรุ่นปัจจุบันเป็นอย่างไร ยังเหลือกลิ่นอายของเพลงไทยเดิมแค่ไหน ไม่มีเอาเสียเลย แม้แต่เนื้อเพลงก็ยังเลิกใช้สัมผัสแบบกลอน กันไปแล้ว แถมยังมีการใช้สัมผัสแบบฝรั่งเสียอีก
 
ส่วนอีกคน จะหาซื้อข้าวของอะไรให้ลูกหลานที ก็ต้องซื้อของยุโรป รถยนต์เอเชียดีๆ มีตั้งมากมายทำไมไม่ซื้อให้หลาน ที่จริงตัวอย่างแบบนี้มีมากมาย เราก็รู้ๆ กันอยู่ว่าบรรดาไฮโซไทยนั้น ลุ่มหลงสินค้าฝรั่งแค่ไหน กระทั่งบินไปซื้อหากันถึงที่ พวกที่ไม่มีปัญญา ไม่มีเงินพอ ก็กระเสือกกระสนหาซื้อของมือสอง ไม่ก็หาของปลอมมาหิ้วไปหิ้วมาให้หายปมด้อย
 
แล้วการต่อต้านก็แสดงนิสัยการบริโภคของพวกเขาเองนั่นแหละ ที่เป็นทาสฝรั่งอยู่ก่อนแล้ว บ้างก็ว่าจะเลิกกินไวน์ กินเหล้าจากยุโรป อเมริกาแล้ว จะไม่เข้าร้านนั้นร้านนี้แล้ว โถ่ ก็มีแต่พวกเขาเหล่านั้นนั่นแหละที่เป็นทาสสินค้าฝรั่ง คนทั่วไปเขาไม่ได้เป็นทาสฝรั่งมากเท่าพวกคุณจนต้องลุกมาต่อต้านฝรั่งกันตอนนี้หรอก
 
หันไปดูพวกคลั่งมาตรฐานการพูดภาษาอังกฤษ ตอนนั้นก็ว่ากันเสียๆ หายๆ ว่าผู้นำประเทศพูดภาษาอังกฤษไม่เป็น พูดไม่ชัด พูดไม่ถูกไวยากรณ์ สู้ผู้นำการเคลื่อนไหวมวลชนต่อต้านรัฐบาลก็ไม่ได้ สู้หัวหน้ารัฐบาลก่อนหน้าก็ไม่ได้ อย่างนี้ถ้าไม่เรียกว่าเป็นทาสฝรังแล้วจะเรียกอะไร 
 
ภาษาที่ใช้สื่อสารได้รู้เรื่องกับภาษาตามหลักไวยากรณ์นั่นเรื่องหนึ่ง สำเนียงเหมือนเจ้าของภาษากับสำเนียงต่างถิ่นนั่นอีกเรื่องหนึ่ง ผู้ใช้ภาษาอังกฤษในโลกนี้ส่วนใหญ่เขาไม่ได้ใส่ใจเรื่องนี้มากนัก การเหยียดหยามกันด้วยความคิดเรื่อง "ความเป็นมาตรฐาน" ของภาษา เป็นอุดมการณ์ภาษาอย่างหนึ่ง ประเทศไทยเป็นประเทศที่คลั่งภาษามาตรฐาน เป็นประเทศที่ใช้ภาษามาตรฐานกดขี่ ย่ำยี ทำลายภาษาถิ่น ล้างผลาญภาษาที่หลากหลายมาตลอด ต่างกับหลายๆ ประเทศในโลกนี้
 
วิธีคิดเกี่ยวกับภาษามาตรฐานของคนไทยจึงระบาดไปถึงการตัดสินความเป็นมาตรฐานของภาษาต่างประเทศไปด้วย ทั้งๆ ที่คนยุโรป คนอเมริกัน และคนใช้ภาษาอังกฤษอื่นๆ ในโลกเขาไม่ได้จำเป็นต้องเข้าใจแบบเดียวกันนี้ ดูอย่างคนสิงคโปร์ คนอินเดีย คนมาเลเชีย ที่อัตราการรู้ภาษาอังกฤษสูงกว่าคนไทยลิบลิ่ว เขายังไม่มาตัดจริตพูดสำเนียงอังกฤษมาตรฐานแบบที่คนไทยบางกลุ่มเรียกร้องคนไทยด้วยกันเองเลย เขาไม่เห็นจะต้องมาบูชาการพูดภาษาอังกฤษให้เหมือนฝรั่ง แบบที่คนไทยบางกลุ่มบูชาฝรั่งเลย
 
นักประวัติศาสตร์อย่างธงชัย วินิจจะกูลเคยสรุปเอาไว้ว่า ชนชั้นนำสยามในศตวรรษที่ 19 จัดลำดับวิวัฒนาการทางสังคมให้ชาวป่าอยู่ต่ำสุด สูงขึ้นมาคือชาวบ้าน สูงกว่านั้นคือชาวเมือง แต่สูงที่สุดคือชาวตะวันตก ชนชั้นนำไทยบูชาฝรั่งมาตลอด ตามก้นฝรั่งมาตลอด มาวันนี้กลับจะมาต่อต้านฝรั่งน่ะ เป็นไปได้ไม่ตลอดหรอก
 
หากแต่เรื่องสำคัญกว่านั้นคือ ชนชั้นนำไทยไม่เพียงสนใจแต่เปลือกนอกของวัฒนธรรมฝรั่ง สนใจแต่สิ่งฉาบฉวย สนใจแต่ความเป็นฝรั่งที่ให้ความสะดวกสบาย แต่ชนชั้นนำไทยยังสนใจแต่ความเป็นฝรั่งที่เสริมต่อความเป็นชนชั้นสูงของพวกตน ยามที่ฝรั่งหยิบยื่นอำนาจวาสนา หยิบยื่นกำลัง พลานุภาพให้ พร้อมๆ กับความสะดวกสบายและหน้าตาของข้าวของเครื่องใช้ ลีลาของการแสดงออกทางวัฒนธรรมที่ยกพวกตนให้สูงเหนือคนสามัญ ชนชั้นนำย่อมยินดี 
 
แต่เมื่อใดที่ฝรั่งเปลี่ยนไป เมื่อฝรั่งสอนอะไรที่ทำลายฐานะของตนเอง เมื่อฝรั่งส่งเสริมการทำลายสถานภาพพิเศษของตนเอง พวกเขาก็ไม่อยากรับ ไม่เอาด้วยกับสาระของคำสอนฝรั่งเหล่านั้น พอฝรั่งเรียกร้องเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องประชาธิปไตย เรื่องเสรีภาพ เรื่องความเสมอภาค เรื่องเหล่านี้มันรบกวนสถานภาพของชนชั้นนำ พวกเขาจึงหงุดหงิด ต่อต้าน และแสดงอาการอกหักกับความภักดีที่ตนเคยมีให้อย่างสุดจิตสุดใจต่อฝรั่ง
 
นักศึกษาทางวัฒนธรรมที่ไม่หยุดความคิดตนเองไว้ด้วยแนวคิดวัฒนธรรมแบบเมื่อร้อยปีก่อนย่อมรู้ดีว่า วัฒนธรรมนั้นไหลเวียน ติดต่อ เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และวัฒนธรรมไม่ได้ตัดขาดจากกระบวนการต่อสู้ ขัดแย้งกันของอำนาจ ยิ่งกว่านั้น วัฒนธรรมท้องถิ่นกับวัฒนธรรมสากลผสมผสาน ปรับปรุงกันไปมาเสมอ เมื่อโลกหันทิศทางไปสู่การส่งเสริมวัฒนธรรมเสรีนิยม วัฒนธรรมเสมอภาคนิยม และวัฒนธรรมประชาธิปไตย วัฒนธรรมอำนาจนิยมก็จะต้องถูกท้าทายตลอดไป
 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (4 ตุลาคม 2560) นิสิตมหาวิทยาลัยหนึ่งโทรศัพท์มาสัมภาษณ์เรื่องการพิมพ์คำ "คะ" "ค่ะ" ผิดๆ ในโซเชียลมีเดียและการส่งข้อความต่างๆ บอกว่าจะเอาไปลงวารสารของคณะเธอ เธอถามว่าการใช้คำผิดแบบนี้มีนัยทางสังคมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวาน (30 กันยายน 2560) นักศึกษาปริญญาโทชั้นเรียนมานุษยวิยาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เขียนบทละครเรื่อง "The Dark Fairy Tales นิทานเรื่องนี้ไม่เคยเล่า" ชวนไปดูและร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นหลังละครจบ ช่วยให้คิดอะไรเกี่ยวกับการอ่านนิทานได้อีกมากทีเดียวจึงอยากบันทึกไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสนทนาอย่างออกรสไม่ได้จะต้องอยู่ในบรรยากาศเคร่งขรึมในห้องเรียน ห้องสัมมนาเสมอไป ด้วยเหตุนี้ผมจึงเชื่อว่า การใช้เวลานอกห้องเรียน นอกห้องสัมมนาวิชาการ สำคัญไม่น้อยไปกว่าการใช้เวลาในห้องสี่เหลี่ยมที่มีระเบียบต่างๆ ควบคุมการสนทนาอย่างเคร่งครัดเกินไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเหตุการณ์เข้ามาคุกคามพื้นที่ทางวิชาการของคณะทหารในการประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 13 ที่เชียงใหม่ จนทำให้นักวิชาการที่มาร่วมประชุมกลุ่มหนึ่งแสดงออกด้วยการชูป้าย "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" แล้วท้ายสุดมีนักวิชาการ 5 คนถูกตั้งข้อหาว่าเป็นคนนอกเข้ามายุยงให้ต่อต้านรัฐบาล
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันแม่นำความกระอักกระอ่วนใจมาให้ผมตั้งแต่ยังเด็ก เพราะแม่ในเพลง "ค่าน้ำนม" ที่เด็กในกรุงเทพฯ รุ่นผมถูกให้หัดร้องตามจนแทบจะจำเนื้อได้ทั้งเพลงมาตั้งแต่จำความได้ ไม่ตรงกับแม่ในชีวิตจริงของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัยคนหนึ่ง ผมไม่อาจยอมรับการกระทำของอาจารย์ต่อนิสิตด้วยความรุนแรงดังที่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยอันทรงเกียรติแห่งหนึ่งได้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้เกิดความผิดพลาดบางอย่างทำให้บทแนะนำอาจารย์แคทเธอรีน บาววี องค์ปาฐกคนหนึ่งของงานประชุมไทยศึกษาปีนี้ที่จังหวัดเชียงใหม่ ไม่ได้ถูกนำเสนอในงานประชุม ในเมื่อผมเตรียมไปพูดแล้วแต่ไม่ได้พูด ก็ขอนำบันทึกที่ร่างไว้นี้มาเผยแพร่ในที่นี้แทนก็แล้วกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ฟ้าข้างในนี้กว้างกว่าข้างนอก ฟ้าในนี้กว้างจนแทบจะเห็นขอบฟ้า"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้คงเป็นช่วงเขียนรายงาน เขียนวิทยานิพนธ์ของหลายๆ คน ผมเองช่วงนี้เป็นช่วงต้องอ่านงานนักศึกษามากมาย ที่สาหัสที่สุดคืองานวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโทและเอก 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมอ่านงานจิตรครั้งแรกๆ ก็ตอนที่เรียนมหาวิทยาลัยระดับปริญญาตรี ตอนนั้นเมื่อออกจากโลกโรงเรียนก็รู้สึกว่า โลกหนังสือของห้องสมุดธรรมศาสตร์ช่างกว้างใหญ่มาก กว้างใหญ่กว่าห้องสมุดแห่งชาติที่สมัยเรียนมัธยมผมชอบไปสิงอยู่มากนัก นี่กล่าวเฉพาะหนังสือที่น่าอ่านเกี่ยวกับสังคม วัฒนธรรม ปรัชญา และศาสนา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (3 พค. 60) ผมไปวิจารณ์งานนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยซึ่งคณะราษฎรมีส่วนก่อตั้งเช่นกัน แต่สำคัญผิดกันไปว่าผู้อื่นมีบุญคุณมากกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บางทีนามสกุลกับบทบาทความเป็นครูของครูฉลบชลัยย์ พลางกูร คงไม่ทำให้คนสนใจครูฉลบเกินบทบาทไปกว่าการเป็นภรรยาของนายจำกัด พลางกูร และเป็นผู้ให้กำเนิดโรงเรียนดรุโณทยาน