Skip to main content
ผมสงสัยว่า บุคคลที่น่านับถือจำนวนมากที่ยินยอมตอบรับหรือเสนอตัวเข้าร่วมกับคณะรัฐประหาร ในคณะกรรมการต่างๆ มากมายนั้น ทั้งโดยออกนอกหน้าและเสนอตัวว่าขอทำงานอย่างลับๆ พวกเขาเข้าร่วมด้วยหลักการอะไร 

 
หากเป็นข้าราชการที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งก็ว่าไปอย่าง แต่กับปัจเจกชนมากมาย ทั้งผู้บริการธุรกิจและผู้บริหารองค์การมหาชนหลายคนที่มีประวัติการศึกษาที่โดดเด่น มีประสบการณ์การบริหารองค์กรขนาดใหญ่มายาวนาน และประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานอย่างสูง ผมไม่เข้าใจว่าพวกเขาใช้หลักการอะไรในการตัดสินใจร่วมงานกับคณะรัฐประหาร
 
บุคคลเหล่านี้อาจกล่าวอ้างว่าตนเองหวังดีต่อประเทศชาติ ไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตน ซึ่งนั่นก็อาจจะจริง แต่ไม่ว่าจะอย่างไร พวกเขาก็ไม่สามารถที่จะหนีพ้นจากคำถามทางการเมืองที่สาธารณชนจะมีต่อพวกเขาได้ แม้ว่าพวกเขาจะไม่อยากตอบ แต่ในใจผู้รักความเป็นธรรม ในใจผู้รักประชาธิปไตย ก็อดไม่ได้ที่จะมีคำถามถึงพวกเขาดังต่อไปนี้
 
ประการแรก พวกเขาไม่ได้ใส่ใจเลยหรือว่าระบอบที่พวกเขาเข้าไปทำงานด้วยนี้ กำลังละเมิดชีวิตความเป็นอยู่อันปกติสุขของใครต่อใครเต็มไปหมด ส่วนใหญ่ในคนที่ถูกคุกคามเหล่านั้นยังเป็นคนที่ด้อยอำนาจ เป็นคนที่ไม่ได้มีชื่อเสียง ไม่มีหน้าตาในสังคม จึงถูกกระทำฝ่ายเดียวด้วยอย่างไม่ยุติธรรม ส่วนใหญ่ในคนเหล่านั้นเป็นกลุ่มคนที่ไม่เห็นดีเห็นงามกับการรัฐประหาร ไม่เหมือนพวกเขา 
 
มากไปกว่านั้น พวกเขาคงไม่ใส่ใจว่า อำนาจที่รับรองการทำงานของพวกเขานี้ มีส่วนสำคัญในการละเมิดชีวิตผู้คนมาก่อนหน้านี้ขนาดไหน พวกเขาไม่รับรู้เลยหรือว่ากำลังร่วมมืออยู่กับกลุ่มผู้ที่ต้องรับผิดชอบโดยตรงต่อการสลายการชุมนุมปี 2553 ที่ทำให้มีพลเรือนเสียขีวิตกว่าร้อยคน บาดเจ็บอีกนับพัน และยังมีผู้ต้องขังโดยไม่มีความผิดอีกจำนวนมาก
 
ถ้าพวกเขาไม่จะสนใจประเด็นสิทธิมนุษยชน ไม่สนใจเรื่องหลักสิทธิเสรีภาพ พวกเขาจะไม่สนใจเรื่องมนุษยธรรมเลยใช่หรือไม่ พวกเขารู้ใช่ไหมว่า พวกเขากำลังออกแบบความใฝ่ฝันของชาติในสภาพการณ์ที่ไร้รัฐธรรมนูญคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยสิ้นเชิง คนฉลาด ๆ อย่างพวกเขาเชื่อมโยงไม่ได้หรือว่า ความใฝ่ฝันอันงดงามของพวกเขาไม่สามารถเกิดขึ้นมาในยุคสมัยที่ไม่มีหลักประกันในสิทธิมนุษยชนอย่างในปัจจุบันนี้ 
 
ประการที่สอง พวกเขาไม่เชื่อมั่นในระบบการตรวจสอบ ถ่วงดุลของอำนาจใช่หรือไม่ พวกเขาจึงเข้ามาทำงานในตำแหน่งใหญ่โตในขณะที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดปกป้องคุ้มครองพวกเขาอยู่ข้างหลัง พวกเขาคงเห็นว่า การออกแบบทิศทางของประเทศภายใต้ระบบตรวจสอบถ่วงดุลแบบปกตินั้น ไม่เปิดโอกาสให้พวกเขาได้คิด ได้ฝัน ได้ทำได้ดั่งใจ 
 
ขณะที่ในระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตย ความใฝ่ฝันอันดีงามของพวกเขาจะต้องเผชิญกับการวิจารณ์ การตรวจสอบ การไต่สวนจากสาธารณชนอย่างกว้างขวางหนักหน่วง จะต้องถูกตรวจสอบจากผู้แทนราษฎร จากสื่อมวลชน จากประชาชนมากมาย 
 
หากแต่ในระบอบอำนาจนิยมเบ็ดเสร็จ พวกเขาไม่ต้องตอบคำถามใคร ไม่ต้องเผชิญกับการซักไซ้ไล่เรียงจากใคร ถ้าอย่างนั้นแล้ว อะไรคือหลักธรรมาภิบาลของการบริหารงานที่พวกเขายึดมั่น ความไว้เนื้อเชื่อใจต่อคนในเครื่องแบบเท่านั้นหรือ สังคมจะเชื่อมั่นในกลุ่มคนที่เชื่อถือเฉพาะเครื่องแบบกับอำนาจเบ็ดเสร็จเท่านั้นได้หรือ
 
ประการที่สาม พวกเขามองเห็นหรือไม่ว่า ต้นตอของปัญหาความขัดแย้งในปัจจุบันมาจากไหน ความขัดแย้งขณะนี้มาจากการไม่ยอมรับความเท่าเทียมกันของอำนาจ หาใช่ว่าจะมาจากความเลวร้ายของนักการเมืองเพียงเท่านั้น หาใช่ว่าจะมาจากความวุ่นวายชั่วหกเดือนที่สร้างขึ้นโดยนักการเมืองที่สนับสนุนการรัฐประหารเท่านั้น
 
งานวิจัยจำนวนมากชี้ให้เห็นว่า สังคมไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมที่มีชนชั้นกลางหน้าใหม่มากขึ้น คนเหล่านี้ตระหนักในสิทธิเสรีภาพของตนเองมากขึ้น ระบบการเมืองเปิดโอกาสให้คนเหล่านี้มีส่วนร่วมกำหนดนโยบายมากขึ้น ในขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งที่เคยมีอำนาจอยู่เดิม โดยเฉพาะชนขั้นนำเก่าและชนขั้นกลางเก่า ไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลงนี้ จึงพยายามร่วมมือกันขัดขวางโค่นล้มกลุ่มอำนาจใหม่มาตลอดเกือบสิบปีนี้
 
ความขัดแย้งในปัจจุบันจึงกว้างขวาง ลึกซึ้ง และมีพวกเขาเองร่วมอยู่ในความขัดแย้ง มีส่วนได้ส่วนเสียกับความขัดแย้งนี้ด้วย หากพวกเขายอมรับแต่อำนาจของคนฝ่ายเดียว คือฝ่ายพวกเขา แต่ไม่ยอมรับอำนาจของคนส่วนใหญ่ คนฉลาด ๆ อย่างพวกเขาคิดไม่ได้หรือว่าการเข้ามารับตำแหน่งของพวกเขาจะยิ่งมีส่วนตอกย้ำความแตกร้าวในสังคมนี้มากยิ่งขึ้น หาใช่ว่าจะช่วยเยียวยาได้ดังที่พวกเขาใฝ่ฝัน
 
ประการที่สี่ พวกเขาไม่เห็นว่าคนเท่ากัน พวกเขาเห็นว่าพวกเขาคือคนพิเศษ เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มอภิชน ที่มีความสามารถเหนือบุคคลทั่วไป และจึงไม่เห็นว่าคนอื่นๆ ก็มีความสามารถไม่น้อยไปกว่าพวกเขาในการบริหารประเทศ พวกเขาไม่เห็นหัวชาวบ้าน อย่างนั้นหรือ พวกเขาไม่ต้องการให้โอกาสคนทั่วไปได้มีส่วนกำหนดชะตาชีวิตของตนเองอย่างนั้นหรือ 
 
ที่สำคัญคือ ไม่ว่าพวกเขาจะมีความสามารถมากเหนือคนทั่วไปเป็นอภิมุนษย์อย่างไร หากไม่เปิดโอกาสให้คนทั่วไปรับรู้ ตรวจสอบ มีส่วนร่วม พวกเขาจะเชื่อมั่นได้อย่างไรว่าพวกเขาเข้าใจความต้องการของประชาชนทั้งประเทศได้ดีทั้งหมด พวกเขาไม่คิดหรือว่าพวกเขาอาจตัดสินใจและวางแผนนโยบายประเทศบนฐานของอคติส่วนตน บนฐานของความต้องการส่วนตน ในกรอบของประโยชน์ส่วนตนเพียงเท่านั้น แม้ว่าพวกเขาจะไม่ปรารถนาเช่นนั้นก็ตาม แต่เพราะเขาไม่มีทางล่วงรู้ใจคนได้ทั่วประเทศ พวกเขาก็จะทำได้เฉพาะในกรอบความเข้าใจแคบๆ ของตนหรือไม่
 
สังคมไทยได้เปลี่ยนมาสู่ยุคที่เปิดโอกาสให้คนทั่วไปสามารถเข้าร่วมกำหนดชีวิตตนเองได้มากขึ้น ทั้งจากการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งท้องถิ่นและระดับประเทศ จากการได้รับการคุ้มครองสิทธิในการแสดงความคิดเห็น ผู้ที่เข้าร่วมกับคณะรัฐประหารต้องการย้อนเวลากลับไปในยุคก่อนหน้าเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ที่ประเทศนี้ยังมีเพียงคนหยิบมือเดียวอย่างพวกเขาเท่านั้นที่สามารถกำหนดชะตาชีวิตของคนในชาติได้อย่างนั้นหรือ
 
สุดท้าย ทั้งหมดนั้นชวนให้ต้องตั้งคำถามว่า พวกเขาเลื่อมใสในระบอบอำนาจนิยม พวกเขาไม่เลื่อมใสในระบอบประชาธิปไตย พวกเขาเป็นนักบริหารที่ตั้งหน้าตั้งตารอคอยอำนาจพิเศษมาอำนวยอวยทางให้ได้ใช้ความรู้ความสามารถโดยไม่แยแสต่อความถูกต้อง ความเป็นธรรม หลักมนุษยธรรมใดๆ หรือไม่
 
แต่หากพวกเขาไม่ได้คิดอย่างว่า อย่างแย่ที่สุดก็แสดงว่าพวกเขาเห็นแก่ตัว คิดถึงพวกพ้องตนเอง คิดถึงความมั่นคงของอาชีพการงานธุรกิจของตนเองเป็นหลัก หรืออย่างเลวน้อยกว่านั้น พวกเขาก็ฝักใฝ่ในอำนาจ กระสันที่จะเข้าสู่เวทีอำนาจเพื่อที่จะได้นำความเห็นตนเองไปปฏิบัติอย่างไม่ใยดีต่อปัญหาขัดแย้งร้าวลึกของสังคม 
 
แต่หากพวกเขายอมรับมาตามตรงซื่อ ๆ ว่า ที่เข้าร่วมก็ด้วยเพราะยำเกรงต่อกำลังคุกคามสวัสดิภาพส่วนตนแล้วล่ะก็ สังคมก็ยังอาจเข้าใจว่าพวกเขาไม่ได้เลือกทางเดินนี้เอง และยังอาจให้อภัยตามสมควรแก่หลักมนุษยธรรมได้บ้าง

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่แน่ใจว่านโยบายยุบโรงเรียนขนาดเล็กนี้จะดีหรือไม่ สงสัยว่า "คิดดีแล้วหรือที่จะยุบโรงเรียนขนาดเล็ก" ในทางเศรษฐศาสตร์แบบทื่อๆ คงมี "จุดคุ้มทุน" ของการจัดการศึกษาอยู่ระดับหนึ่ง ตามข่าว ดูเหมือนว่าควรจะอยู่ที่การมีนักเรียนโรงเรียนละ 60 คน แต่คงมีเหตุผลบางอย่างที่โรงเรียนตามพื้นที่ชนบทไม่สามารถมีนักเรียนมากขนาดนั้นได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตอนนี้เถียงกันมากเรื่องกะหรี่ ว่ากันไปมาจนกระทั่งทั้งสองฝ่ายก็หนีไม่พ้นเอาคำเดียวกัน หรือทัศนะคติเหยียดเพศหญิงเช่นเดียวกันมาด่ากัน ฝ่ายหนึ่งด่าอีกฝ่ายว่า "อีกะหรี่" อีกฝ่ายหนึ่งด่ากลับว่า "แม่มึงสิเป็นกะหรี่" หรือ "ไปเอากระโปรงอีนั่นมาคลุมหัวแทนไป๊" ตกลงก็ยังหนีไม่พ้นสังคมที่ดูถูกเพศหญิงอยู่ดี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงสั้นๆ ของชีวิตผมมีโอกาสได้รู้จักคนในแวดวงนักเขียนรูป ผ่านครูสอนวาดเส้นให้ผมคนหนึ่ง ครูผมคนนี้มีเพื่อนคนหนึ่งที่เขาสนิทสนมกันดี ชื่อไสว วงษาพรหม เมื่อคืน ได้สนทนากับคนในแวดวงศิลปะ ที่เรือนชานแห่งหนึ่งที่มีไมตรีให้เพื่อนฝูงเสมอ ผมจึงเพิ่งทราบว่าไสวเสียชีวิตไปหลายปีแล้ว ลอง google ดูพบว่าเขาเสียชีวิตเมื่อ 22 สิงหาคม 2551
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทำไม "เหี้ย ควย หี เย็ด" จึงกลายเป็นภาพเขียนชุดล่าสุดของศิลปินเขียนภาพชั้นนำของไทย ทำไม "กะหรี่" จึงเป็นส่วนหนึ่งของข้อเขียนนักเขียนการ์ตูนผู้ทรงอิทธิพลของไทย ทำไมนักเศรษฐศาสตร์ไทยชั้นนำจึงเขียนคำ "อยากเอา" เป็นความเห็นประกอบภาพวิจารณ์นักการเมือง ทำไมภาษาแบบนี้จึงกลายมาเป็นภาษาทางการเมืองของคนที่มีความสามารถในการสื่อสารเหนือคนทั่วไปเหล่านี้ หลายคนวิเคราะห์แล้วว่า เพราะพวกเขาเร่ิมจนแต้มทางการเมือง "เถียงสู้อีกฝ่ายไม่ได้ก็เลยด่าแม่งไป"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (29 เมษายน 2556) "ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา" และ "ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย" มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดอภิปราย "สู่สันติภาพในอุษาคเนย์" งานนี้จัดท่ามกลางบรรยากาศการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับ BRN
ยุกติ มุกดาวิจิตร
“นักวิชาการเสื้อแดง” เป็นเสมือนตำแหน่งทางวิชาการอย่างหนึ่ง การตีตราตำแหน่งนี้สะท้อนความเฉยชาและคับแคบต่อปัญหาสิทธิมนุษยชนและความเป็นธรรมของปัญญาชนไทย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวานเพ่ิงดูพี่ "มากขา" หลายขา แล้วก็อยากมีความเห็นอย่างใครๆ เขาบ้าง ส่วนใครที่ยังไม่ได้ดูแล้วกำลังคิดจะไปดู ก็อย่าเพ่ิงอ่านครับ เดี๋ยวจะเซ็งเสียก่อน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทุกๆ ปี ผมสอนวิชา “ชาติพันธ์ุ์นิพนธ์: การวิพากษ์และการนำเสนอแนวใหม่” ระดับปริญญาตรี ผมออกแบบให้วิชานี้เป็นการศึกษาแบบสัมมนา มีการแลกเปลี่ยนความเห็นของนักศึกษามากกว่าการบรรยายของผู้สอน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสองวันก่อน มีคนที่สนใจนโยบายรถไฟความเร็วสูงคนหนึ่งถามผมว่า "อาจารย์รู้ไหมว่า โอกาสที่รถไฟไทยจะตรงเวลามีเท่าไหร่" ผมตอบ "ไม่รู้หรอก" เขาบอกว่า "มีเพียง 30%" 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ปีใหม่" เป็นจินตกรรมของเวลาที่กำหนดการสิ้นสุดและการเริ่มต้น ศักราช เวลาของสังคม การจัดระบบของเวลา ล้วนมีเทศกาลกำกับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
น่าละอายใจที่สภาผู้แทนราษฎรปัดตกข้อเสนอของประชาชนกว่าสามหมื่นคนที่เสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ถ้าบอกกันตรงๆ ว่า "กลัวอ่ะ" ก็จบ ประชาชนอาจจะให้อภัยความปอดแหกได้ แต่ประชาชนส่วนหนึ่งจะตัดสินใจไม่เลือกพวกคุณเข้ามาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนฯ อีกอย่างแน่นอน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ยามหมดปีการศึกษาทีไร ก็ชวนให้ทบทวนถึงหน้าที่การงานด้านการเรียนการสอนของตนเอง แต่ผมทำตามแบบที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาแห่งชาติ หรือ สกอ. ให้ทำไม่เป็นหรอก เพราะมันไร้สาระ เป็นกลไกเกินไป และไม่ก่อประโยชน์อะไรนอกจากเปลืองกระดาษและน้ำหมึก ผมมักทำในแบบของผมเองนี่แหละ