Skip to main content
ในแต่ละปี ผมมักไปร่วมสัมภาษณ์นักเรียนเพื่อเข้าศึกษาในคณะในมหาวิทยาลัยที่ผมสอนประจำอยู่โดยไม่ได้ขาด เสียดายที่ปีนี้มีโอกาสสัมภาษณ์นักเรียนเพียงไม่กี่คน เพราะติดภาระกิจมากมาย แต่ก็ยังดีที่ได้สัมภาษณ์อย่างจริงจังถึง 10 คนด้วยกัน

 
การได้พูดคุยกับนักเรียนที่เพิ่งจบชั้นมัธยมทำให้ได้รู้จักโลกของคนอีกยุคหนึ่ง  และทำให้เห็นข้อจำกัดของการศึกษาในทัศนะของพวกเขาเอง นอกจากนั้น เวลาเพียง 15 นาทีก็สามารถช่วยให้เห็นศักยภาพพิเศษของแต่ละคนได้ หากเอาใจใส่กับคำตอบของพวกเขาให้ดี
 
ผมมักไม่ถามนักเรียนทุกคนด้วยคำถามเดียวกัน เพราะแต่ละคนมีความสนใจแตกต่างกัน บางคนอาจถนัดที่จะตอบเรื่องบางเรื่องได้ดีกว่าบางเรื่อง บางคนอาจไม่เคยคิดไม่เคยสนใจบางเรื่องมาก่อน ก็จึงไม่สามารถแสดงตัวตน แสดงความคิดเห็นออกมาได้อย่างเต็มที่
 
ใน 10 คนที่ผมสัมภาษณ์ มีที่น่าสนใจอยากเล่าบางคน เช่นว่า มีคนหนึ่งผมถามว่า นอกจากหนังสือเรียนแล้วคุณอ่านหนังสืออะไรบ้าง นักเรียนตอบว่า อ่านนิยายแฟนตาซีและหนังสือประวัติศาสตร์ ผมถามว่าชอบประวัติศาสตร์อะไร ยุคไหน นักเรียนคนนี้ตอบว่า ชอบประวัติศาสตร์พระมหากษัตริย์ไทย ผมถามต่อว่าชอบประวัติของพระองค์ไหน นักเรียนคนนี้ตอบว่า ชอบประวัติพระนเรศวร 
 
เมื่อถามต่อว่าในประวัติพระนเรศวรที่อ่าน มีเรื่องจริงกี่% มีแฟนตาซีกี่% นักเรียนตอบว่า มีเรื่องจริง 50% แต่เมื่อถามต่อว่า ใน 50% ที่คุณคิดว่าเป็นเรื่องจริง แน่ใจได้อย่างไรว่าเป็นเรื่องจริงจริงๆ นักเรียนเริ่มงง ตอบไม่ได้ว่าแน่ใจได้อย่างไร นี่แสดงว่า หากนักเรียนคนนี้ไม่ใช่คนที่ไม่ตั้งใจเรียน ก็เพราะโรงเรียนไม่ได้สอน “ประวัติศาสตร์” แต่สอน “นิยายอิงประวัติศาสตร์” มากกว่า
 
นักเรียนหลายคนประสบปัญหาไม่สามารถแยกแยะความจริงออกจากนิทานได้ นักเรียนหลายๆ รุ่นที่ผมสัมภาษณ์รวมแล้วนับร้อยคน มักแสดงความรักต่อพระมหากษัตริย์ไทยสมัยอยุธยาในฐานะเป็นบรรพบุรุษของพวกเขา แต่เมื่อถามว่า เทือกเถาเหล่ากอพวกเขาเป็นคนที่ไหน ร้อยทั้งร้อยก็ไม่มีเกี่ยวข้องอะไรกับแผ่นดินสยามในสมัยอยุธยา หรือเชื่อมโยงอะไรไม่ได้กับแผ่นดินสมัยอยุธยา ไม่ได้มีบรรพบุรุษเป็นชาวอยุธยา
 
น่าสนใจว่านักเรียนจำนวนหนึ่งไม่ได้ศึกษาร่ำเรียนจากตำราเรียนเท่านั้น เมื่อถามว่าอ่านหนังสืออะไรบ้าง นักเรียนคนหนึ่งตอบว่าชอบอ่านนิยายและประวัติชีวิตคน เมื่อถามว่าเรื่องราวนอกตำราเรียนช่วยอะไรกับการเรียนไหม นักเรียนคนนี้ตอบว่า ช่วยให้ได้เรียนรู้อะไรนอกเหนือจากหน้ากระดาษของหนังสือได้ 
 
ผมจึงลองถามนักเรียนคนนี้ยากขึ้นอีกนิดว่า ที่ว่านอกหน้ากระดาษหนังสือนั้น คุณหมายถึงอะไร ระหว่างการอ่านนิยายแล้วได้อะไรมากกว่าหน้ากระดาษในตำราเรียน กับการอ่านนิยายแล้วได้อะไรมากกว่าหน้ากระดาษหนังสือนิยาย นักเรียนตอบอย่างแรก ว่าอ่านนิยายแล้วได้เห็นโลกนอกตำราเรียน
 
ปีนี้ก็เหมือนหลายๆ ปีที่ผมจะได้สัมภาษณ์นักเรียนที่มีพื้นฐานภาษาต่างประเทศดี จึงได้รู้ว่านักเรียนไทยเดี๋ยวนี้ไปอาศัยในต่างประเทศกันมาบ้างเหมือนกัน ปีนี้มีคนหนึ่งบอกว่าชอบภาษาอังกฤษ คะแนนภาษาอังกฤษเขาก็ดีจริงๆ ผมจึงลองสัมภาษณ์ด้วยภาษาอังกฤษดู ภาษาอังกฤษเขาดีกว่าผมในวัยเดียวกับเขามากนัก เขาบอกว่าส่วนหนึ่งก็เพราะเคยไปเรียนในโรงเรียนมัธยมต้นที่แคนาดา 
 
ผมถามนักเรียนคนนี้ว่า ให้บอกมา 3 อย่างว่าการศึกษาที่นั่นมีอะไรดีๆ ที่แตกต่างจากเมืองไทย เขาตอบทันทีว่า 1. เวลาเรียนน้อยกว่าไทย 2. ไม่ต้องสวมชุดนักเรียน 3. นักเรียนได้แสดงออกมากกว่าในโรงเรียนไทย ผมถามว่า เป็นเพราะอะไรโรงเรียนเขาถึงเป็นอย่างนั้น เขาบอกว่า เพราะสังคมแคนาดาให้เสรีภาพมากกว่าสังคมไทย
 
พูดเรื่องสิทธิ เสรีภาพ นักเรียนที่ผมสัมภาษณ์จำนวนหนึ่งสนใจเรื่องการเมืองอย่างจริงจัง มีคนหนึ่งวิจารณ์การรัฐประหาร ผมจึงถามว่า ที่คนกรุงเทพฯ ว่าชาวบ้านถูกนักการเมืองหลอก คุณคิดว่าอย่างไร เขาตอบว่า ชาวบ้านเขาได้รับข่าวสารจากหลายๆ แหล่ง แล้วเขาตรวจสอบ เขาคิดเองได้ ผมถามต่อว่า ทหารเขาบอกจะเข้ามารักษาความสงบไม่ดีหรือ นักเรียนคนนี้ตอบว่า ก็ดี แต่จะใช้เวลานานเท่าไหร่ล่ะ แล้วประชาชนจะตรวจสอบได้ไหม 
 
ส่วนนักเรียนอีกคนหนึ่ง ผมถามว่าทำไมเราจะต้องเลือกตั้ง เขาตอบว่า เพราะการเลือกตั้งแสดงว่าหนึ่งคนมีสิทธิเท่ากัน ผมถามต่อว่าทำไมสิทธิจึงสำคัญ เขาตอบว่า ก็เพราะเราบอกว่าเราปกครองในระบอบประชาธิปไตย ก็ต้องเชื่อในสิทธิเท่าเทียมกันสิ ถ้าไม่บอกว่าปกครองในระบอบนี้ก็อีกเรื่องหนึ่ง
 
ถึงผมจะไม่เชื่อมั่นในการศึกษาในระบบมากนัก เพราะอย่างที่เราเห็นๆ กันอยู่ว่าการจัดระบบการศึกษาในบ้านเราบิดเบี้ยวขนาดไหน และเนื้อหาในตำราเรียนมีความจริงอยู่แค่ไหน แต่ผมก็ยังมีความหวังกับคนรุ่นใหม่ ด้วยเพราะเห็นว่าการเรียนรู้นอกระบบการศึกษา นอกชั้นเรียน กำลังแข่งขันกันให้ความรู้และความคิดที่แตกต่างออกไปจากการควบคุมของรัฐอย่างทรงพลัง 
 
การศึกษาในระบบในปัจจุบันจึงทำได้แค่เพียงให้พื้นฐานการเรียนรู้บางอย่าง แต่ส่วนของเนื้อหาและแนวทางการค้นหาความรู้ที่สำคัญต่อชีวิตนั้น การศึกษาขั้นพื้นฐานคงไม่ได้มีอิทธิพลมากนักอีกต่อไป

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (4 ตุลาคม 2560) นิสิตมหาวิทยาลัยหนึ่งโทรศัพท์มาสัมภาษณ์เรื่องการพิมพ์คำ "คะ" "ค่ะ" ผิดๆ ในโซเชียลมีเดียและการส่งข้อความต่างๆ บอกว่าจะเอาไปลงวารสารของคณะเธอ เธอถามว่าการใช้คำผิดแบบนี้มีนัยทางสังคมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวาน (30 กันยายน 2560) นักศึกษาปริญญาโทชั้นเรียนมานุษยวิยาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เขียนบทละครเรื่อง "The Dark Fairy Tales นิทานเรื่องนี้ไม่เคยเล่า" ชวนไปดูและร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นหลังละครจบ ช่วยให้คิดอะไรเกี่ยวกับการอ่านนิทานได้อีกมากทีเดียวจึงอยากบันทึกไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสนทนาอย่างออกรสไม่ได้จะต้องอยู่ในบรรยากาศเคร่งขรึมในห้องเรียน ห้องสัมมนาเสมอไป ด้วยเหตุนี้ผมจึงเชื่อว่า การใช้เวลานอกห้องเรียน นอกห้องสัมมนาวิชาการ สำคัญไม่น้อยไปกว่าการใช้เวลาในห้องสี่เหลี่ยมที่มีระเบียบต่างๆ ควบคุมการสนทนาอย่างเคร่งครัดเกินไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเหตุการณ์เข้ามาคุกคามพื้นที่ทางวิชาการของคณะทหารในการประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 13 ที่เชียงใหม่ จนทำให้นักวิชาการที่มาร่วมประชุมกลุ่มหนึ่งแสดงออกด้วยการชูป้าย "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" แล้วท้ายสุดมีนักวิชาการ 5 คนถูกตั้งข้อหาว่าเป็นคนนอกเข้ามายุยงให้ต่อต้านรัฐบาล
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันแม่นำความกระอักกระอ่วนใจมาให้ผมตั้งแต่ยังเด็ก เพราะแม่ในเพลง "ค่าน้ำนม" ที่เด็กในกรุงเทพฯ รุ่นผมถูกให้หัดร้องตามจนแทบจะจำเนื้อได้ทั้งเพลงมาตั้งแต่จำความได้ ไม่ตรงกับแม่ในชีวิตจริงของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัยคนหนึ่ง ผมไม่อาจยอมรับการกระทำของอาจารย์ต่อนิสิตด้วยความรุนแรงดังที่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยอันทรงเกียรติแห่งหนึ่งได้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้เกิดความผิดพลาดบางอย่างทำให้บทแนะนำอาจารย์แคทเธอรีน บาววี องค์ปาฐกคนหนึ่งของงานประชุมไทยศึกษาปีนี้ที่จังหวัดเชียงใหม่ ไม่ได้ถูกนำเสนอในงานประชุม ในเมื่อผมเตรียมไปพูดแล้วแต่ไม่ได้พูด ก็ขอนำบันทึกที่ร่างไว้นี้มาเผยแพร่ในที่นี้แทนก็แล้วกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ฟ้าข้างในนี้กว้างกว่าข้างนอก ฟ้าในนี้กว้างจนแทบจะเห็นขอบฟ้า"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้คงเป็นช่วงเขียนรายงาน เขียนวิทยานิพนธ์ของหลายๆ คน ผมเองช่วงนี้เป็นช่วงต้องอ่านงานนักศึกษามากมาย ที่สาหัสที่สุดคืองานวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโทและเอก 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมอ่านงานจิตรครั้งแรกๆ ก็ตอนที่เรียนมหาวิทยาลัยระดับปริญญาตรี ตอนนั้นเมื่อออกจากโลกโรงเรียนก็รู้สึกว่า โลกหนังสือของห้องสมุดธรรมศาสตร์ช่างกว้างใหญ่มาก กว้างใหญ่กว่าห้องสมุดแห่งชาติที่สมัยเรียนมัธยมผมชอบไปสิงอยู่มากนัก นี่กล่าวเฉพาะหนังสือที่น่าอ่านเกี่ยวกับสังคม วัฒนธรรม ปรัชญา และศาสนา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (3 พค. 60) ผมไปวิจารณ์งานนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยซึ่งคณะราษฎรมีส่วนก่อตั้งเช่นกัน แต่สำคัญผิดกันไปว่าผู้อื่นมีบุญคุณมากกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บางทีนามสกุลกับบทบาทความเป็นครูของครูฉลบชลัยย์ พลางกูร คงไม่ทำให้คนสนใจครูฉลบเกินบทบาทไปกว่าการเป็นภรรยาของนายจำกัด พลางกูร และเป็นผู้ให้กำเนิดโรงเรียนดรุโณทยาน