Skip to main content
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นส่วนหนึ่งของการปกครองในระดับภูมิภาคซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน คือ การปกครองส่วนภูมิภาค สภาองค์กรชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

 
“การปกครองส่วนภูมิภาค” ได้แก่ ระบบกำนันและผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งขึ้นตรงกับกระทรวงมหาดไทย องค์กรเหล่านี้อยู่ในกำกับของรัฐมากที่สุด รวมศูนย์มากที่สุด “สภาองค์กรชุมชน” เป็นองค์กรที่ใหม่ เกิดขึ้นมาหลังการรัฐประหาร 2549 สภานี้เป็นสภาแต่งตั้งและยังไม่ค่อยมีบทบาทมากนัก 
 
ส่วน “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” หรือ อปท. ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทศบาล และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) มีสมาชิกสภาและนายกสภาที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน หากไม่นับ อปท. อย่างกรุงเทพมหานครและพัทยา อปท. ขนาดเล็กบ้างใหญ่บ้างส่วนใหญ่เริ่มมีขึ้นทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2537 และมีพัฒนาการที่เพิ่มอำนาจการบริหารงบประมาณและมีที่มาจากการเลือกตั้งมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา
 
นับตั้งแต่มีการก่อตั้ง อปท. ขึ้นมาทั่วระเทศ มีงานวิจัยจำนวนมากที่ตั้งคำถามกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในที่นี้ขอประมวลให้เห็นชัดๆ อย่างย่อๆ ง่ายๆ จากงานวิจัยที่ผมมีส่วนร่วมอยู่ด้วยคืองานวิจัยเรื่อง “ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย” (ซึ่งได้ทุนสนับสนุนจาก สสส. หาอ่านได้ที่ http://www.scribd.com/doc/232877291/ภูมิทัศน-การเมืองไทย) ได้ดังนี้ 
 
1. “อปท. เป็นเพียงแหล่งทุจริตคอร์รัปชันของนักการเมืองท้องถิ่นหรือไม่” การศึกษาจำนวนมากชี้ว่าการปกครองส่วนท้องถิ่นได้มีบทบาทในการพัฒนาท้องถิ่นตามความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นเอง 
 
เช่น จากตัวอย่างหมู่บ้านที่คณะวิจัยผมศึกษาหลายหมู่บ้าน พบว่าผู้นำและสมาชิกของ อปท. มีอิสระในการตัดสินใจของตนเอง สร้างโครงการพัฒนาที่ตอบสนองต่อปัญหาของประชาชนในท้องถิ่นได้โดยตรง ทั้งนี้เนื่องจากพวกเขามาจากการเลือกตั้งของประชาชน และต้องรับผิดชอบต่อประชาชนตามวาระของการเลือกตั้ง
 
2. “อปท. มีประสิทธิภาพจริงหรือไม่” งานวิจัยทางรัฐประศาสนศาสตร์ที่เลือกศึกษา อปท. จำนวนหนึ่งในจังหวัดทางภาคตะวันออกชี้ให้เห็นว่า อปท. ระดับเทศบาลสามารถเก็บภาษีท้องถิ่นมาบริหาร พัฒนาเทศบาลของตนเองจำนวนมาก มีการบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพจนได้รับการยอมรับจากประชาชนเป็นอย่างดี 
 
ไม่เพียงผลสะท้อนความพอใจจะแสดงออกจากผลการเลือกตั้ง แต่เทศบาลเหล่านั้นยังสามารถเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากประชาชนในพื้นที่พึงพอใจและไว้ใจการให้บริการของ อปท. เหล่านั้น
 
3. “อปท. เป็นเพียงฐานอำนาจของผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นหรือไม่” งานศึกษาการเมืองท้องถิ่นจำนวนมากชี้ว่า พัฒนาการของการเมืองท้องถิ่นและเศรษฐกิจท้องถิ่นในประเทศไทยเป็นไปในทิศทางที่แสดงว่า ทั้งผู้มีอิทธิพลทางการเมืองและผู้มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจในท้องถิ่นมีลดน้อยลง หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งได้ว่า มีการแข่งขันกันระหว่างผู้มีอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจมากขึ้น ทำให้การผูกขาดอำนาจทั้งสองในท้องถิ่นลดลง 
 
ดังนั้น ในปัจจุบันเราจึงไม่ค่อยได้เห็นข่าวเสี่ยนั่น นายห้างนั้น พ่อเลี้ยงนี้ ถูกยิงตายหรือสังหารล้างตระกูลเพื่อสร้างบารมีกัน ผู้บริหาร อปท. จำนวนมากที่คณะวิจัยผมได้เคยสัมภาษณ์ ก็เปิดเผยว่าพวกเขากล้าท้าทายอำนาจของบรรดา “บ้านใหญ่” ในอดีตกันมากขึ้น เนื่องจากทางเลือกทางการเมืองและเศรษฐกิจมีมากขึ้น
 
4. “อปท. เป็นเพียงฐานอำนาจของพรรคการเมืองระดับชาติหรือไม่” จากการศึกษาพบว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นกับการเลือกตั้งระดับชาติ มักจะไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันโดยตรง ไม่จำเป็นที่นักการเมืองท้องถิ่นในระดับตำบล หรือในระดับจังหวัด ที่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองที่ได้รับความนิยมระดับชาติ จะพลอยได้รับเลือกตั้งไปด้วยเพียงเพราะเขาสังกัดพรรคการเมืองที่เป็นที่นิยมนั้น 
 
มีตัวอย่างมากมายที่ชี้ให้เห็นว่า ผู้ที่เพิ่งได้รับเลือกตั้งเป็น สส. แล้วลาออกจากตำแหน่งมาสมัคร สมาชิก อบจ. ก็ยังสอบตกได้ ที่เป็นดังนี้เพราะประชาชนใช้เกณฑ์ในการเลือก สส. แตกต่างจากเกณฑ์ในการเลือกสมาชิก อบจ.
 
5. “การเลือกตั้ง อปท. มีส่วนสร้างความขัดแย้งในท้องถิ่นหรือไม่” ขึ้นชื่อว่าสังคมมนุษย์ ที่ไหน เมื่อใด ก็จะต้องเต็มไปด้วยความขัดแย้ง สังคมที่ไม่ขัดแย้งก็น่าสงสัยว่าจะเป็นสังคมที่กลบเกลื่อนเก็บซ่อนความขัดแย้งเอาไว้ด้วยการกดหัวฝ่ายตรงข้ามให้ยอมรับ หากสังคมมีความเท่าเทียมกัน ความขัดแย้งก็จะต้องแสดงออกมา และการเลือกตั้งเป็นการจัดการความขัดแย้งในชุมชนอย่างสันติที่สุดเท่าที่สังคมมนุษย์คิดได้ในขณะนี้ 
 
ในหมู่บ้านที่ผมศึกษา ชาวบ้านเชื่อมั่นว่าการเลือกตั้งเป็นหนทางที่จะทำให้เขาได้ผู้นำท้องถิ่นที่พวกเขาต้องการ และเมื่อพวกเขาได้ผู้นำที่ต้องการแล้ว พวกเขาก็จะรอดูผลงาน จะตรวจสอบผู้นำ แล้วจะตัดวินใจใหม่เมื่อวาระของการเลือกตั้งใหม่มาถึง ประชาชนทุกแห่งสามารถเรียนรู้กระบวนการนี้ได้ แล้วพวกเขาก็จะเข้าใจว่า การเลือกตั้งต่างหากที่เป็นหนทางสำหรับการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ไม่ใช่สาเหตุของความขัดแย้ง
 
กล่าวอย่างถึงที่สุด ในระยะกว่า 20 ปีที่ผ่านมา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทยกำลังเติบโต เป็นการเติบโตทั้งในทางประสิทธิภาพการบริหารงานและการบริหารจัดการงบประมาณ ไม่เพียงเท่านั้น การเติบโตของ อปท. คือดัชนีหนึ่งของการเติบโตของระบอบประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่น 
 
หากเราวาดหวังที่จะให้ประเทศไทยมีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แล้ว เราก็จะต้องยิ่งส่งเสริมประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่นอันมีประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจแบบนี้ยิ่งๆ ขึ้นไม่ใช่หรือ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้เป็นวันระลึก "เหตุการณ์ 28 กุมภาพันธ์" 1947 หรือเรียกกันว่า "228 Incident" เหตุสังหารหมู่ประชาชนทั่วประเทศไต้หวัน โดยรัฐบาลที่เจียงไคเชกบังคับบัญชาในฐานะผู้นำก๊กมินตั๋งในจีนแผ่นดินใหญ่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
มีเพื่อนขอให้ผมช่วยแนะนำร้านอาหารในฮานอยให้ แต่เห็นว่าเขาจะไปช่วงสั้นๆ ก็เลยแนะนำไปไม่กี่แห่ง ส่วนร้านเฝอ ขอแยกแนะนำต่างหาก เพราะร้านอร่อยๆ มีมากมาย เอาเฉพาะที่ผมคุ้นๆ แค่ 2-3 วันน่ะก็เสียเวลาตระเวนกินจนไม่ต้องไปกินอย่างอื่นแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
มีวันหนึ่ง อาจารย์อคินเดินคุยอยู่กับอาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่ง ผมเดินตามทั้งสองท่านมาข้างหลังอย่างที่ทั้งสองท่านรู้ตัวดี ตอนนั้นผมกำลังเรียนปริญญาเอกที่อเมริกา หรือไม่ก็เรียนจบกลับมาแล้วนี่แหละ อาจารย์อคินไม่รู้จักผม หรือรู้จักแต่ชื่อแต่ไม่เคยเห็นหน้า หรือไม่ก็จำหน้าไม่ได้ ผมแอบได้ยินอาจารย์อคินเปรยกับอาจารย์อีกท่านว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คืนวาน วันฮาโลวีน นักศึกษาชวนผมไปพูดเรื่องผี ปกติผมไม่อยู่รังสิตจนมืดค่ำ แต่ก็มักใจอ่อนหากนักศึกษาชวนให้ร่วมเสวนา พวกเขาจัดงานกึ่งรื่นเริงกึ่งเรียนรู้ (น่าจะเรียกว่าเริงรู้ หรือรื่นเรียนก็คงได้) ในคืนวันผีฝรั่ง ในที่ซึ่งเหมาะแก่การจัดคือพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยา เพราะมีของเก่าเยอะ ก็ต้องมีผีแน่นอน ผมก็เลยคิดว่าน่าสนุกเหมือนกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่ถึงกับต่อต้านกิจกรรมเชียร์อย่างรุนแรง เพราะคนสำคัญใกล้ตัวผมก็เป็นอดีตเชียร์ลีดเดอร์งานบอลประเพณีฯ ด้วยคนหนึ่ง และเพราะอย่างนั้น ผมจึงพบด้วยตนเองจากคนใกล้ตัวว่า คนคนหนึ่งกับช่วงชีวิตช่วงหนึ่งของมหาวิทยาลัยมันเป็นเพียงแค่ส่วนเสี้ยวหนึ่งของพัฒนาการของแต่ละคน แต่ก็ยังอยากบ่นเรื่องการเชียร์อยู่ดี เพราะความเข้มข้นของกิจกรรมในปัจจุบันแตกต่างอย่างยิ่งจากในสมัยของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเพิ่งไปเก็บข้อมูลวิจัยเรื่องการรู้หนังสือแบบดั้งเดิมของ "ลาวโซ่ง" ในไทยที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ได้ราว 2 วัน ได้ข้อมูลมากมายเกี่ยวกับประเด็นที่สนใจ แต่ก็ได้อย่างอื่นมาด้วยไม่น้อยเช่นกัน เรื่องหนึ่งคือความรู้เกี่ยวกับปลา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันก่อนปฐมนิเทศนักศึกษาปริญญาโท-เอกของคณะ ในฐานะคนดูแลหลักสูตรบัณฑิตศึกษาทางมานุษยวิทยา ผมเตรียมหัวข้อมาพูดให้นักศึกษาฟัง 4 หัวข้อใหญ่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ชื่อโมเฮน-โจ-ดาโรแปลตามภาษาซินธ์ (Sindh) ว่า "เนิน (ดาโร) แห่ง (โจ) ความตาย (โมเฮน)" เหตุใดจึงมีชื่อนี้ ผมก็ยังไม่ได้สอบถามค้นคว้าจริงจัง แต่ชื่อนี้ติดหูผมมาตั้งแต่เรียนปริญญาเอกอยู่ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน และเพราะโมเฮนโจดาโรและเมืองคู่แฝดที่ห่างไกลออกไปถึง 600 กิโลเมตรชื่อ "ฮารัปปา" นี่แหละที่ทำให้ผมชอบวิชาโบราณคดีและทำให้อยากมาปากีสถาน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ก่อนมา รู้อยู่แล้วว่าปากีสถานช่วงเดือนนี้คือเดือนที่ร้อนมาก และก็เพิ่งรู้ว่าเดือนนี้แหละที่ร้อนที่สุด แต่ที่ทำให้ “ใจชื้น” (แปลกนะ เรามีคำนี้ที่แปลว่าสบายใจ โดยเปรียบกับอากาศ แต่ที่ปากีสถาาน เขาคงไม่มีคำแบบนี้) คือ ความร้อนที่นี่เป็นร้อนแห้ง ไม่ชื้น และจึงน่าจะทนได้มากกว่า 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ครึ่งวันที่ผมมีประสบการณ์ตรงในกระบวนการยุติธรรมไทย บอกอะไรเกี่ยวกับสังคมไทยมากมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมลองเอากรณีทุบรถกับทุบลิฟมาเปรียบเทียบกัน แล้วก็เห็นความแตกต่างกันมากหลายมุม ได้เห็นความเหลื่อมล้ำของสังคมที่สนใจกรณีทั้งสองอย่างไม่สมดุลกัน แต่สุดท้ายมันบอกอะไรเรื่องเดียวกัน คือความบกพร่องของสถาบันจัดการความขัดแย้งของประเทศไทย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คนรุ่นใหม่ครับ...