Skip to main content

ในฐานะอาจารย์ธรรมศาสตร์ ผมไม่อาจยินดีกับการที่ผู้บริหารสูงสุดของมหาวิทยาลัยได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จาก คสช. <--break->

หากท่านผู้บริหารระดับสูงจะวุ่นวายกับหน้าที่การงานเสียจนกระทั่งไม่มีโอกาสได้ประมวลวิเคราะห์เหตุการณ์บ้านเมืองที่ผ่านมาด้วยสายตาแบบนักประชาธิปไตยแล้วล่ะก็ ผมก็ขอพื้นที่เล็กน้อยนี้อธิบายสักหน่อยว่า บรรยากาศและโครงสร้างทางการเมืองปัจจุบันไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างไร

ประการแรก ขณะนี้ประชาชนไม่มีเสรีภาพ ผมไม่บังอาจอธิบายท่านว่าเสรีภาพสำคัญต่อระบอบประชาธิปไตยอย่างไร เสรีภาพประการหนึ่งที่สำคัญในระบอบประชาธิปไตยคือเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการแสดงความเห็นโดยสุจริตใจและโดยไม่ละเมิดผู้ใด 

มาตรา 4 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ดูราวกับจะคุ้มครองเสรีภาพ กลับถูกค้ำคอไว้ด้วยมาตรา 44 ที่ให้อำนาจล้นเหลือแก่หัวหน้า คสช. และประกาศ คสช. ว่าด้วยศาลทหารที่ผู้ต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้จะต้องถูกนำไปพิจารณาคดีโดยศาลทหาร นี่จะทำให้มาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวเป็นหลักประกันว่าเรามีเสรีภาพได้อย่างไร

ประการที่สอง ขณะนี้สิทธิของประชาชนถูกละเมิดกันถ้วนหน้า นอกเหนือจากการจับกุมคุมขังและปิดกั้นเสรีภาพในการเดินทางของผู้คนจำนวนมากแล้ว ผู้ที่ผ่านการพิจารณาคดีในกระบวนการยุติธรรมปกติและได้อิสรภาพมาแล้วกลับถูกเรียกไปรายงานตัวโดยไม่มีทางรู้ได้ว่าเขาจะถูกดำเนินคดีโดยศาลทหารหรือไม่ มีประชาชนถูกคุกคามรุกไล่ที่ทำกินด้วยกำลังอย่างป่าเถื่อน บริการของรัฐที่มีผลกระทบต่อประชาชนทั้งประเทศถูกสั่นคลอน เช่นในเรื่องสาธารณสุข เรื่องการสื่อสาร 

เหล่านี้ล้วนกระทบต่อสิทธิของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการได้รับความยุติธรรมอย่างบริสุทธิ์โปร่งใสสมเหตุสมผล สิทธิในการทำมาหากิน สิทธิในการได้รับบริการของรัฐ สิทธิในการสื่อสาร เป็นต้น ทั้งนี้ยังไม่นับสิทธิในร่างกายที่ถูกละเมิดโดยเจ้าหน้าที่รัฐอย่างง่ายดายและดังที่ได้เกิดขึ้นแล้วในหลายกรณี

ประการที่สาม ขณะนี้ประชาชนไม่สามารถมีส่วนร่วมในการปกครองได้แม้แต่น้อย การปกครองโดยนักการเมืองที่ว่ากันว่าเป็นเผด็จการรัฐสภานั้น ยังมีการเดินขบวนประท้วง มีการวิจารณ์ผ่านสื่อมวลชน มีการใช้สื่อชุมชนวิจารณ์ มีการตรวจสอบในรัฐสภา และมีการเลือกตั้งตามวาระ เหล่านี้เป็นเครื่องมือที่ประชาชนจะทัดทานและถือเป็นกระบวนการของการมีส่วนร่วมทางการเมืองได้ 

ขณะนี้เรามีสิ่งนั้นหรือไม่ ประกาศคสช.ฉบับที่ 97 และการสั่งให้ควบคุมสื่อ การไม่มีรัฐสภา การหยุดยั้งการเลือกตั้งแม้กระทั่งในระดับท้องถิ่น การควบคุมข่าวสารทั้งหมด การจับกุมคุกคามผู้คนที่มีความเห็นแตกต่างจาก คสช. เหล่านี้จะเรียกว่าเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร 

หากจะแย้งว่า ก็การมีส่วนร่วมทางการเมืองเหล่านั้นนำมาซึ่งความแตกแยกและความรุนแรงไม่ใช่หรือ ก็ขอให้กลับไปถามนักสันติวิธีที่ก็เป็นที่ปรึกษาผู้มีอาชีพใช้กำลังดูว่าท่านสามารถให้ทางเลือกที่สันติในการจัดการความขัดแย้งในสังคมประขาธิปไตยได้หรือไม่ ถ้าท่านเหล่านั้นไม่มีคำตอบ ก็คงต้องขอริบปริญญาและตำแหน่งทางวิชาการต่างๆ ของนักสันติวิธีเหล่านั้นคืน

ประการที่สี่ ขณะนี้เรากำลังเดินหน้าไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้จริงหรือ ทำไมไม่เลือกใช้วิถีทางที่เป็นประชาธิปไตยในการสร้างระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์กว่าเล่า ทำไมจะต้องหยุดการเลือกตั้ง หยุดการมีรัฐสภา ปิดกั้นการแสดงออกทางการเมือง ปิดกั้นความเห็นที่แตกต่างทั้งหมดเล่า ไม่ฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์ จำกัดการเข้าร่วม ใช้กำลังควบคุมความเห็นที่แตกต่าง วิธีการเหล่านี้จะทำให้เราได้ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้อย่างไร 

มีตำราหรือประสบการณ์จากที่ไหนในโลกว่าไว้อย่างนั้นหรือ มีแนวคิดแปลกใหม่อะไรที่จะสร้างสังคมประชาธิปไตยจากสังคมเผด็จการได้หรือ มีประสบการณ์จากประเทศไหนบอกไว้แล้วผมพลาดไปอย่างนั้นหรือ หรือว่าลำพังความพิเศษของสังคมไทยจะทำให้เกิดสิ่งนั้นได้จริงหรือ ถ้าได้ ทำไมสังคมไทยไม่เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ปราศจากการคอร์รัปชั่นมานานแล้วล่ะ การรัฐประหารที่สัญญาว่าจะนำมาซึ่งประชาธิปไตยและการขจัดการโกงกินเกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้วไม่ใช่หรือ แล้วทำไมสังคมไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตยสักที หรือเพราะเราเชื่อมั่นในระบอบเผด็จการมากกว่ากันแน่

ถ้าจะถามผมกลับว่า แล้วผมจะแก้ปัญหาความรุนแรงก่อนหน้านั้นในวิถีทางประชาธิปไตยอย่างไร แล้วผมมีแนวทางที่จะนำประเทศกลับสู่สันติได้อย่างไร แล้วผมจะแก้ปัญหาการโกงกินคอร์รัปชั่นอย่างไร ที่จริงแนวทางเหล่านั้นมีอยู่ และมีข้อเสนอมากมายจากผู้มีความรู้ความคิดมากมาย แต่มันไม่ถูกเปิดให้เลือก ก็เพราะอำนาจรุนแรงเบ็ดเสร็จบอกปัดแนวทางเหล่านั้นไม่ใช่หรือ 

ลำพังหากว่ามหาวิทยาลัยแห่งนี้จะไม่ได้เกิดขึ้นมาบนกำเนิดของวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตยและเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตยแล้วล่ะก็ การเข้าดำรงตำแหน่ง สนช. ก็ไม่อาจนับเป็นเกียรติประวัติที่ดีเด่นสำหรับประชาคมทางวิชาการแห่งนี้ได้อยู่แล้ว 

แต่นี่มหาวิทยาลัยแห่งนี้เกิดขึ้้นมาจากดอกผลของการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ (democracy with constitutional monarchy) ยิ่งทำให้การเข้าดำรงตำแหน่ง สนช.ของผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นสิ่งที่น่าอับอาย ทำลายเกียรติประวัติทั้งของผู้เข้ารับตำแหน่งเองและของประชาคมมากยิ่งขึ้นไปอีก

ด้วยรักและปรารถนาดีต่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ยุกติ มุกดาวิจิตร

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หลายคนคงเป็นแบบผม คือพยายามข่มอารมณ์ฝ่าฟันการสบถของท่านผู้นำ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตั้งแต่ที่ผมรู้จักงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์มา มีปีนี้เองที่ผมคิดว่ากิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่มีความหมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปี 2558 เป็นปีที่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีอายุครบ 50 ปี นับตั้งแต่เริ่มเป็นแผนกอิสระในคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์มาตั้งแต่ปี 2508
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เปิดภาคการศึกษานี้มีเรื่องน่าตื่นเต้นคือ วันแรกที่ไปสอน (ผมสอนอังคาร, พฤหัสบดี ครั้งละ 1 ชั่วโมง 15 นาที) มีนักเรียนมาเต็มห้อง เขากำหนดโควต้าไว้ที่ 34 คน แต่หลังจากผมแนะนำเค้าโครงการบรรยาย คงเพราะงานมาก จุกจิก ก็มีคนถอนชื่อออกไปจำนวนหนึ่ง คืนก่อนที่จะไปสอนครั้งที่สอง ผมก็เลยฝันร้าย คือฝันว่าวันรุ่งขึ้นมีนักเรียนมาเรียนแค่ 3 คน แล้วเรียนๆ ไปนักเรียนหนีหายไปเหลือ 2 คน แต่พอตื่นไปสอนจริง ยังมีนักเรียนเหลืออีก 20 กว่าคน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อได้ทราบว่าอาจารย์เก่งกิจทำวิจัยทบทวนวรรณกรรมด้านชนบทศึกษา โดยลงแรงส่วนหนึ่งอ่านงาน “ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย” (ต่อไปนี้จะเรียกว่า “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ”) (อภิชาต ยุกติ นิติ 2556) ที่ผมมีส่วนร่วมกับนักวิจัยในทีมทั้งหมด 6 คนในตอนแรก และ 9 คนในช่วงทำวิจัยใหญ่ [1] ผมก็ตื่นเต้นยินดีที่นานๆ จะมีนักวิชาการไทยอ่านงานนักวิชาการไทยด้วยกันเองอย่างเอาจริงเอาจังสักที 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะให้ผมเขียนเรื่องอุปสรรคขัดขวางโลกวิชาการไทยต่อการก้าวขึ้นสู่ความเป็นเลิศในระดับนานาชาติไปอีกเรื่อยๆ น่ะ ผมก็จะหาประเด็นมาเขียนไปได้อีกเรื่อยๆ นั่นแหละ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ถ้านับย้อนกลับไปถึงช่วงปีที่ผมเริ่มสนใจงานวิชาการจนเข้ามาทำงานเป็นอาจารย์ ก็อาจนับได้ไปถึง 25 ปีที่ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงในโลกวิชาการไทย ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่สำคัญคือการบริหารงานในมหาวิทยาลัย แต่ขอยกเรื่องนั้นเอาไว้ก่อน เพราะหากค่อยๆ ดูเรื่องย่อยๆ ไปเรื่อยๆ แล้วก็น่าจะช่วยให้เห็นอะไรมากขึ้นว่า การบริหารงานวิชาการในขณะนี้วางอยู่บนระบบแบบไหน เป็นระบบที่เน้นสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการในเชิงปริมาณหรือคุณภาพกันแน่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บอกอีกครั้งสำหรับใครที่เพิ่งอ่านตอนนี้ ผมเขียนเรื่องนี้ต่อเนื่องกันมาชิ้นนี้เป็นชิ้นที่ 5 แล้ว ถ้าจะไม่อ่านชิ้นอื่นๆ (ซึ่งก็อาจชวนงงได้) ก็ขอให้กลับไปอ่านชิ้นแรก ที่วางกรอบการเขียนครั้งนี้เอาไว้แล้ว อีกข้อหนึ่ง ผมยินดีหากใครจะเพิ่มเติมรายละเอียด มุมมอง หรือประสบการณ์ที่แตกต่างออกไป แต่ขอให้แสดงความเห็นแบบ "ช่วยกันคิด" หน่อยนะครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อันที่จริงวิทยานิพนธ์เป็นส่วนน้อยๆ ของโลกวิชาการอันกว้างใหญ่ และเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเป็นนักวิชาการ แต่วิทยานิพนธ์ก็เป็นผลงานที่อาจจะดีที่สุดของนักวิชาการส่วนใหญ่ แต่สังคมวิชาการไทยกลับให้คุณค่าด้อยที่สุด พูดอย่างนี้เหมือนขัดแย้งกันเอง ขอให้ผมค่อยๆ อธิบายก็แล้วกันครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ก่อนเริ่มพูดเรื่องนี้ ผมอยากชี้แจงสักหน่อยนะครับว่า ที่เขียนนี่ไม่ใช่จะมาบ่นเรื่อยเปื่อยเพื่อขอความเห็นใจจากสังคม แต่อยากประจานให้รู้ว่าระบบที่รองรับงานวิชาการไทยอยู่เป็นอย่างไร ส่วนจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร อย่าถามผมเลย เพราะผมไม่มีอำนาจ ไม่ต้องมาย้อนบอกผมด้วยว่า "คุณก็ก้มหน้าก้มตาทำงานไปให้ดีที่สุดก็แล้วกัน" เพราะถ้าไม่เห็นว่าสิ่งที่เล่าไปเป็นประเด็นก็อย่าสนใจเสียเลยดีกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมขอเริ่มที่เรืองซึ่งถือได้ว่าเป็นยาขมที่สุดของแวดวงมหาวิทยาลัยไทยเลยก็แล้วกัน ที่จริงว่าจะเขียนเรื่องการผลิตความรู้ก่อน แต่หนีไม่พ้นเรื่องการสอน เพราะนี่เป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการทำงานวิชาการในไทยมากถึงมากที่สุดเลยก็ว่าได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อผมมาสอนหนังสือถึงได้รู้ว่า วันครูน่ะ เขามีไว้ปลอบใจครู ก็เหมือนกับวันสตรี เอาไว้ปลอบใจสตรี วันเด็กเอาไว้หลอกเด็กว่าผู้ใหญ่ให้ความสำคัญ แต่ที่จริงก็เอาไว้ตีกินปลูกฝังอะไรที่ผู้ใหญ่อยากได้อยากเป็นให้เด็ก ส่วนวันแม่กับวันพ่อน่ะอย่าพูดถึงเลย เพราะหากจะช่วยเป็นวันปลอบใจแม่กับพ่อก็ยังจะดีเสียกว่าที่จะให้กลายเป็นวันฉวยโอกาสของรัฐไทยอย่างที่เป็นอยู่นี้