Skip to main content

ในฐานะอาจารย์ธรรมศาสตร์ ผมไม่อาจยินดีกับการที่ผู้บริหารสูงสุดของมหาวิทยาลัยได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จาก คสช. <--break->

หากท่านผู้บริหารระดับสูงจะวุ่นวายกับหน้าที่การงานเสียจนกระทั่งไม่มีโอกาสได้ประมวลวิเคราะห์เหตุการณ์บ้านเมืองที่ผ่านมาด้วยสายตาแบบนักประชาธิปไตยแล้วล่ะก็ ผมก็ขอพื้นที่เล็กน้อยนี้อธิบายสักหน่อยว่า บรรยากาศและโครงสร้างทางการเมืองปัจจุบันไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างไร

ประการแรก ขณะนี้ประชาชนไม่มีเสรีภาพ ผมไม่บังอาจอธิบายท่านว่าเสรีภาพสำคัญต่อระบอบประชาธิปไตยอย่างไร เสรีภาพประการหนึ่งที่สำคัญในระบอบประชาธิปไตยคือเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการแสดงความเห็นโดยสุจริตใจและโดยไม่ละเมิดผู้ใด 

มาตรา 4 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ดูราวกับจะคุ้มครองเสรีภาพ กลับถูกค้ำคอไว้ด้วยมาตรา 44 ที่ให้อำนาจล้นเหลือแก่หัวหน้า คสช. และประกาศ คสช. ว่าด้วยศาลทหารที่ผู้ต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้จะต้องถูกนำไปพิจารณาคดีโดยศาลทหาร นี่จะทำให้มาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวเป็นหลักประกันว่าเรามีเสรีภาพได้อย่างไร

ประการที่สอง ขณะนี้สิทธิของประชาชนถูกละเมิดกันถ้วนหน้า นอกเหนือจากการจับกุมคุมขังและปิดกั้นเสรีภาพในการเดินทางของผู้คนจำนวนมากแล้ว ผู้ที่ผ่านการพิจารณาคดีในกระบวนการยุติธรรมปกติและได้อิสรภาพมาแล้วกลับถูกเรียกไปรายงานตัวโดยไม่มีทางรู้ได้ว่าเขาจะถูกดำเนินคดีโดยศาลทหารหรือไม่ มีประชาชนถูกคุกคามรุกไล่ที่ทำกินด้วยกำลังอย่างป่าเถื่อน บริการของรัฐที่มีผลกระทบต่อประชาชนทั้งประเทศถูกสั่นคลอน เช่นในเรื่องสาธารณสุข เรื่องการสื่อสาร 

เหล่านี้ล้วนกระทบต่อสิทธิของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการได้รับความยุติธรรมอย่างบริสุทธิ์โปร่งใสสมเหตุสมผล สิทธิในการทำมาหากิน สิทธิในการได้รับบริการของรัฐ สิทธิในการสื่อสาร เป็นต้น ทั้งนี้ยังไม่นับสิทธิในร่างกายที่ถูกละเมิดโดยเจ้าหน้าที่รัฐอย่างง่ายดายและดังที่ได้เกิดขึ้นแล้วในหลายกรณี

ประการที่สาม ขณะนี้ประชาชนไม่สามารถมีส่วนร่วมในการปกครองได้แม้แต่น้อย การปกครองโดยนักการเมืองที่ว่ากันว่าเป็นเผด็จการรัฐสภานั้น ยังมีการเดินขบวนประท้วง มีการวิจารณ์ผ่านสื่อมวลชน มีการใช้สื่อชุมชนวิจารณ์ มีการตรวจสอบในรัฐสภา และมีการเลือกตั้งตามวาระ เหล่านี้เป็นเครื่องมือที่ประชาชนจะทัดทานและถือเป็นกระบวนการของการมีส่วนร่วมทางการเมืองได้ 

ขณะนี้เรามีสิ่งนั้นหรือไม่ ประกาศคสช.ฉบับที่ 97 และการสั่งให้ควบคุมสื่อ การไม่มีรัฐสภา การหยุดยั้งการเลือกตั้งแม้กระทั่งในระดับท้องถิ่น การควบคุมข่าวสารทั้งหมด การจับกุมคุกคามผู้คนที่มีความเห็นแตกต่างจาก คสช. เหล่านี้จะเรียกว่าเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร 

หากจะแย้งว่า ก็การมีส่วนร่วมทางการเมืองเหล่านั้นนำมาซึ่งความแตกแยกและความรุนแรงไม่ใช่หรือ ก็ขอให้กลับไปถามนักสันติวิธีที่ก็เป็นที่ปรึกษาผู้มีอาชีพใช้กำลังดูว่าท่านสามารถให้ทางเลือกที่สันติในการจัดการความขัดแย้งในสังคมประขาธิปไตยได้หรือไม่ ถ้าท่านเหล่านั้นไม่มีคำตอบ ก็คงต้องขอริบปริญญาและตำแหน่งทางวิชาการต่างๆ ของนักสันติวิธีเหล่านั้นคืน

ประการที่สี่ ขณะนี้เรากำลังเดินหน้าไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้จริงหรือ ทำไมไม่เลือกใช้วิถีทางที่เป็นประชาธิปไตยในการสร้างระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์กว่าเล่า ทำไมจะต้องหยุดการเลือกตั้ง หยุดการมีรัฐสภา ปิดกั้นการแสดงออกทางการเมือง ปิดกั้นความเห็นที่แตกต่างทั้งหมดเล่า ไม่ฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์ จำกัดการเข้าร่วม ใช้กำลังควบคุมความเห็นที่แตกต่าง วิธีการเหล่านี้จะทำให้เราได้ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้อย่างไร 

มีตำราหรือประสบการณ์จากที่ไหนในโลกว่าไว้อย่างนั้นหรือ มีแนวคิดแปลกใหม่อะไรที่จะสร้างสังคมประชาธิปไตยจากสังคมเผด็จการได้หรือ มีประสบการณ์จากประเทศไหนบอกไว้แล้วผมพลาดไปอย่างนั้นหรือ หรือว่าลำพังความพิเศษของสังคมไทยจะทำให้เกิดสิ่งนั้นได้จริงหรือ ถ้าได้ ทำไมสังคมไทยไม่เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ปราศจากการคอร์รัปชั่นมานานแล้วล่ะ การรัฐประหารที่สัญญาว่าจะนำมาซึ่งประชาธิปไตยและการขจัดการโกงกินเกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้วไม่ใช่หรือ แล้วทำไมสังคมไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตยสักที หรือเพราะเราเชื่อมั่นในระบอบเผด็จการมากกว่ากันแน่

ถ้าจะถามผมกลับว่า แล้วผมจะแก้ปัญหาความรุนแรงก่อนหน้านั้นในวิถีทางประชาธิปไตยอย่างไร แล้วผมมีแนวทางที่จะนำประเทศกลับสู่สันติได้อย่างไร แล้วผมจะแก้ปัญหาการโกงกินคอร์รัปชั่นอย่างไร ที่จริงแนวทางเหล่านั้นมีอยู่ และมีข้อเสนอมากมายจากผู้มีความรู้ความคิดมากมาย แต่มันไม่ถูกเปิดให้เลือก ก็เพราะอำนาจรุนแรงเบ็ดเสร็จบอกปัดแนวทางเหล่านั้นไม่ใช่หรือ 

ลำพังหากว่ามหาวิทยาลัยแห่งนี้จะไม่ได้เกิดขึ้นมาบนกำเนิดของวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตยและเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตยแล้วล่ะก็ การเข้าดำรงตำแหน่ง สนช. ก็ไม่อาจนับเป็นเกียรติประวัติที่ดีเด่นสำหรับประชาคมทางวิชาการแห่งนี้ได้อยู่แล้ว 

แต่นี่มหาวิทยาลัยแห่งนี้เกิดขึ้้นมาจากดอกผลของการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ (democracy with constitutional monarchy) ยิ่งทำให้การเข้าดำรงตำแหน่ง สนช.ของผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นสิ่งที่น่าอับอาย ทำลายเกียรติประวัติทั้งของผู้เข้ารับตำแหน่งเองและของประชาคมมากยิ่งขึ้นไปอีก

ด้วยรักและปรารถนาดีต่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ยุกติ มุกดาวิจิตร

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
อย่างที่บอกคือ ผมไม่ใช่คนเชี่ยวชาญเกาหลี จะเล่าเรื่องเกาหลีก็จะต้องมีผิดมีพลาดบ้าง เพียงแต่อยากบันทึกเก็บไว้ แล้วแบ่งปันบ้าง เผื่อใครสนใจหรือช่วยเติมต่อความรู้ อีกเรื่องหนึ่งที่ผมสนใจในการไปเกาหลีทั้งสองครั้ง (ครั้งแรกเมื่อ 8 ปีก่อน ก็ไปแค่สั้นๆ ไม่กี่วัน) ก็คือการได้พบเจอผู้คนและได้ไปเดินด่อมๆ มองๆ ตามย่านการค้า ร้านค้า และพบปะพูดคุยดื่มกินกับผู้คน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่ได้อยู่นฐานะที่จะมาเขียนอะไรเกี่ยวกับเกาหลี เดินทางไปแค่สองครั้ง ครั้งละไม่กี่วัน ไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ ไม่ได้เชี่ยวชาญอะไร แต่ด้วยนิสัยของการชอบบันทึกเก็บไว้ ก็เลยอยากเขียนอะไรเกี่ยวกับเกาหลีที่รู้จักเอาไว้อ่านเอง เอาไว้คิดต่อ เอาไว้ก่อนที่จะลืม ก่อนที่จะไม่อยากเขียน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอร่วมรำลึกวาระ 40 ปี 6 ตุลาด้วยการกล่าวถึงงานศึกษาสังคม-วัฒนธรรมไทยที่เป็นพื้นฐานของเหตุการณ์เมื่อ 40 ปีก่อนนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จำเป็นแค่ไหนที่เราจะต้องคิดต่างจากส่วนกลาง ถ้าเราคิดว่าการครอบงำของความรู้ตะวันตกเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเข้าใจตัวตนเราเอง และทั้งยังปิดกั้นความเป็นมนุษย์ที่ไม่ได้ถูกเข้าใจจากมุมมองที่ต่างออกไป เราก็จำเป็นที่จะต้องคิดทั้งนอกกรอบตะวันตกและนอกกรอบการครอบงำจากอำนาจศูนย์กลางของรัฐ ความคิดนอกกรอบการครอบงำดังกล่าวส่วนหนึ่งเรียกว่าแนวคิดหลังอาณานิคม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายวันมานี้มีเรื่องขันขื่นหลายเรื่องที่สังคมไทยก้าวไม่พ้นเสียที แต่ผมว่าเรื่องพื้นฐานของปัญหาเหล่านี้คือเรื่องการไม่ยอมรับผิด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไปโกเบเมื่อสี่วันก่อน (7 มิถุนายน 59) นอกจากได้รู้จักความเป็นเมืองฝรั่งๆ ของโกเบแล้ว สาระสำคัญของการไปโกเบวันก่อนอย่างหนึ่งคือการไปพิพิธภัณฑ์เครื่องมือช่างไม้แห่งนี้ พิพิธภัณฑ์นี้เป็นของบริษัท Takenaka ที่บอกเล่าว่าตั้งมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 17 ส่วนพิพิธภัณฑ์นี้เปิดปี 1984 แล้วเข้าใจว่าน่าจะค่อยๆ พัฒนาคอลเล็กชั่นและการจัดแสดงขึ้นมาเรื่อยๆ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ความสุขอย่างหนึ่งของการมาอยู่ที่ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษามหาวิทยาลัยเกียวโตก็คือ การได้รู้จักผู้คนและแลกเปลี่ยนความรู้ในหลายภาษา อีกอย่างคือได้แลกเปลี่ยนความรู้ในหลายบริบท ทั้งในห้องสัมมนา ห้องทำงาน ห้องเรียน และร้านเหล้า ผมถือว่ามันเป็นบริบททางวิชาการทั้งนั้นแหละ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
รู้กันนะครับว่า เวลาที่เราเรียกว่า "หล่อๆ" นี่ ไม่ใช่ว่าต้องเป็นผู้ชาย ผู้หญิงก็หล่อได้ เพราะมันหล่อในสำนวน ในการแสดงออก ในท่าที ทั้งๆ ที่หน้าตาไม่ต้องหล่อก็ได้ แต่หล่อที่คำพูด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่งสอนผมว่า “คำวิจารณ์น่ะ น่าฟังมากกว่าคำชื่นชม เนื่องจากคนที่วิจารณ์เราน่ะ เขาจริงใจกับเรามากกว่าคนที่ชื่นชมเรา ไม่มีใครวิจารณ์เราตามมารยาท แต่คนชมน่ะ บางทีเขาก็ชมเราไปตามมารยาทเท่านั้นแหละ” ดังนั้นเมื่อโลกเขารุมวิจารณ์ไทย เราก็ควรรับฟังเขา เพราะถ้าเขาไม่มีความจริงใจ ไม่อยากเห็นเราปรับปรุงตัวจริงๆ ไม่รัก ไม่ห่วง ไม่อยากคบค้าสมาคมด้วย เขาก็คงไม่ติติงเรา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คนแบบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาไม่ได้มีแต่พลเอกประยุทธ์เพียงคนเดียว แต่ยังมีคนอีกจำนวนมากที่มีเบื้องลึกของจิตใจแบบพลเอกประยุทธ์ แต่หากจะพูดให้ถูก คนที่มีจิตใจเบื้องลึกที่กักขฬะ อาจจะไม่จำเป็นต้องแสดงออกอย่างกักขฬะแบบพลเอกประยุทธ์ แต่ทำไมขณะนี้สังคมไทยจึงยอมให้ความกักขฬะเข้ามาปกครองบ้านเมือง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะเรียกอะไรก็แล้วแต่ ถ้าพูดอย่างหลวม ๆ คือ พวกเขาเป็นคนกลุ่มเดียวกัน สองชื่อแรกใช้ในประเทศไทย เรียกกลุ่มคนที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ที่จริงพวกเขายังอยู่ในอำเภอเมือง อำเภอหนองหญ้งปล้อง และอำเภออื่น ๆ ของเพชรบุรี แล้วยังกระจายย้ายถิ่นไปในจังหวัดอื่น ๆ ตั้งแต่นครปฐม ชุมพร ไปจนถึงนครสวรรค์ เลย ฯลฯ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้ผมกลับมาไทย 7 วัน ไม่รวมวันเดินทางอีกสองวัน ที่มาเพราะได้รับเชิญมาเสนอความเห็นในการ workshop งานหนึ่ง ผมก็เลยถือโอกาสนี้ใช้ทุนที่ต้องใช้สำหรับทำวิจัย เก็บข้อมูลของมหาวิทยาลัยเกียวโต ซึ่งก็มีอยู่ไม่มากนัก มาเพื่อใช้เดินทางไปเก็บข้อมูลเพิ่มเติมด้วยเลย