Skip to main content

ในฐานะอาจารย์ธรรมศาสตร์ ผมไม่อาจยินดีกับการที่ผู้บริหารสูงสุดของมหาวิทยาลัยได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จาก คสช. <--break->

หากท่านผู้บริหารระดับสูงจะวุ่นวายกับหน้าที่การงานเสียจนกระทั่งไม่มีโอกาสได้ประมวลวิเคราะห์เหตุการณ์บ้านเมืองที่ผ่านมาด้วยสายตาแบบนักประชาธิปไตยแล้วล่ะก็ ผมก็ขอพื้นที่เล็กน้อยนี้อธิบายสักหน่อยว่า บรรยากาศและโครงสร้างทางการเมืองปัจจุบันไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างไร

ประการแรก ขณะนี้ประชาชนไม่มีเสรีภาพ ผมไม่บังอาจอธิบายท่านว่าเสรีภาพสำคัญต่อระบอบประชาธิปไตยอย่างไร เสรีภาพประการหนึ่งที่สำคัญในระบอบประชาธิปไตยคือเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการแสดงความเห็นโดยสุจริตใจและโดยไม่ละเมิดผู้ใด 

มาตรา 4 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ดูราวกับจะคุ้มครองเสรีภาพ กลับถูกค้ำคอไว้ด้วยมาตรา 44 ที่ให้อำนาจล้นเหลือแก่หัวหน้า คสช. และประกาศ คสช. ว่าด้วยศาลทหารที่ผู้ต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้จะต้องถูกนำไปพิจารณาคดีโดยศาลทหาร นี่จะทำให้มาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวเป็นหลักประกันว่าเรามีเสรีภาพได้อย่างไร

ประการที่สอง ขณะนี้สิทธิของประชาชนถูกละเมิดกันถ้วนหน้า นอกเหนือจากการจับกุมคุมขังและปิดกั้นเสรีภาพในการเดินทางของผู้คนจำนวนมากแล้ว ผู้ที่ผ่านการพิจารณาคดีในกระบวนการยุติธรรมปกติและได้อิสรภาพมาแล้วกลับถูกเรียกไปรายงานตัวโดยไม่มีทางรู้ได้ว่าเขาจะถูกดำเนินคดีโดยศาลทหารหรือไม่ มีประชาชนถูกคุกคามรุกไล่ที่ทำกินด้วยกำลังอย่างป่าเถื่อน บริการของรัฐที่มีผลกระทบต่อประชาชนทั้งประเทศถูกสั่นคลอน เช่นในเรื่องสาธารณสุข เรื่องการสื่อสาร 

เหล่านี้ล้วนกระทบต่อสิทธิของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการได้รับความยุติธรรมอย่างบริสุทธิ์โปร่งใสสมเหตุสมผล สิทธิในการทำมาหากิน สิทธิในการได้รับบริการของรัฐ สิทธิในการสื่อสาร เป็นต้น ทั้งนี้ยังไม่นับสิทธิในร่างกายที่ถูกละเมิดโดยเจ้าหน้าที่รัฐอย่างง่ายดายและดังที่ได้เกิดขึ้นแล้วในหลายกรณี

ประการที่สาม ขณะนี้ประชาชนไม่สามารถมีส่วนร่วมในการปกครองได้แม้แต่น้อย การปกครองโดยนักการเมืองที่ว่ากันว่าเป็นเผด็จการรัฐสภานั้น ยังมีการเดินขบวนประท้วง มีการวิจารณ์ผ่านสื่อมวลชน มีการใช้สื่อชุมชนวิจารณ์ มีการตรวจสอบในรัฐสภา และมีการเลือกตั้งตามวาระ เหล่านี้เป็นเครื่องมือที่ประชาชนจะทัดทานและถือเป็นกระบวนการของการมีส่วนร่วมทางการเมืองได้ 

ขณะนี้เรามีสิ่งนั้นหรือไม่ ประกาศคสช.ฉบับที่ 97 และการสั่งให้ควบคุมสื่อ การไม่มีรัฐสภา การหยุดยั้งการเลือกตั้งแม้กระทั่งในระดับท้องถิ่น การควบคุมข่าวสารทั้งหมด การจับกุมคุกคามผู้คนที่มีความเห็นแตกต่างจาก คสช. เหล่านี้จะเรียกว่าเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร 

หากจะแย้งว่า ก็การมีส่วนร่วมทางการเมืองเหล่านั้นนำมาซึ่งความแตกแยกและความรุนแรงไม่ใช่หรือ ก็ขอให้กลับไปถามนักสันติวิธีที่ก็เป็นที่ปรึกษาผู้มีอาชีพใช้กำลังดูว่าท่านสามารถให้ทางเลือกที่สันติในการจัดการความขัดแย้งในสังคมประขาธิปไตยได้หรือไม่ ถ้าท่านเหล่านั้นไม่มีคำตอบ ก็คงต้องขอริบปริญญาและตำแหน่งทางวิชาการต่างๆ ของนักสันติวิธีเหล่านั้นคืน

ประการที่สี่ ขณะนี้เรากำลังเดินหน้าไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้จริงหรือ ทำไมไม่เลือกใช้วิถีทางที่เป็นประชาธิปไตยในการสร้างระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์กว่าเล่า ทำไมจะต้องหยุดการเลือกตั้ง หยุดการมีรัฐสภา ปิดกั้นการแสดงออกทางการเมือง ปิดกั้นความเห็นที่แตกต่างทั้งหมดเล่า ไม่ฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์ จำกัดการเข้าร่วม ใช้กำลังควบคุมความเห็นที่แตกต่าง วิธีการเหล่านี้จะทำให้เราได้ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้อย่างไร 

มีตำราหรือประสบการณ์จากที่ไหนในโลกว่าไว้อย่างนั้นหรือ มีแนวคิดแปลกใหม่อะไรที่จะสร้างสังคมประชาธิปไตยจากสังคมเผด็จการได้หรือ มีประสบการณ์จากประเทศไหนบอกไว้แล้วผมพลาดไปอย่างนั้นหรือ หรือว่าลำพังความพิเศษของสังคมไทยจะทำให้เกิดสิ่งนั้นได้จริงหรือ ถ้าได้ ทำไมสังคมไทยไม่เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ปราศจากการคอร์รัปชั่นมานานแล้วล่ะ การรัฐประหารที่สัญญาว่าจะนำมาซึ่งประชาธิปไตยและการขจัดการโกงกินเกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้วไม่ใช่หรือ แล้วทำไมสังคมไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตยสักที หรือเพราะเราเชื่อมั่นในระบอบเผด็จการมากกว่ากันแน่

ถ้าจะถามผมกลับว่า แล้วผมจะแก้ปัญหาความรุนแรงก่อนหน้านั้นในวิถีทางประชาธิปไตยอย่างไร แล้วผมมีแนวทางที่จะนำประเทศกลับสู่สันติได้อย่างไร แล้วผมจะแก้ปัญหาการโกงกินคอร์รัปชั่นอย่างไร ที่จริงแนวทางเหล่านั้นมีอยู่ และมีข้อเสนอมากมายจากผู้มีความรู้ความคิดมากมาย แต่มันไม่ถูกเปิดให้เลือก ก็เพราะอำนาจรุนแรงเบ็ดเสร็จบอกปัดแนวทางเหล่านั้นไม่ใช่หรือ 

ลำพังหากว่ามหาวิทยาลัยแห่งนี้จะไม่ได้เกิดขึ้นมาบนกำเนิดของวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตยและเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตยแล้วล่ะก็ การเข้าดำรงตำแหน่ง สนช. ก็ไม่อาจนับเป็นเกียรติประวัติที่ดีเด่นสำหรับประชาคมทางวิชาการแห่งนี้ได้อยู่แล้ว 

แต่นี่มหาวิทยาลัยแห่งนี้เกิดขึ้้นมาจากดอกผลของการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ (democracy with constitutional monarchy) ยิ่งทำให้การเข้าดำรงตำแหน่ง สนช.ของผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นสิ่งที่น่าอับอาย ทำลายเกียรติประวัติทั้งของผู้เข้ารับตำแหน่งเองและของประชาคมมากยิ่งขึ้นไปอีก

ด้วยรักและปรารถนาดีต่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ยุกติ มุกดาวิจิตร

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากผมจะเลิกเรียกอาจารย์ว่าอาจารย์เสีย ก็คงไม่มีใครใส่ใจอะไร เพียงแต่ผมเองต่างหากที่ยังใส่ใจว่า อาจารย์เคยสอนหนังสือผม และอาจารย์ก็ยังเป็นนักวิชาการรุ่นอาวุโสที่อยางน้อยก็มีศักดิ์ทางวิชาการที่โลกวิชาการในสายอาชีพเดียวกับผมเขายกย่องนับถือกัน ไม่อย่างนั้นอาจารย์ก็คงไม่ได้รับการยกย่องมาจนทุกวันนี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันสุดท้ายของการเดินทางในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม คณะเราเดินทางกลับฮานอย แต่เส้นทางที่กลับผ่านดินแดนในตำนานสำคัญที่ผมไม่เคยแวะมาก่อน คือศาลเจ้าหุ่งม์เวือง (Đền Hùng Vương) ที่เชื่อมโยงกับตำนานไข่ร้อยฟองและกำเนิดของกลุ่มชาติพันธ์ุไต
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเมืองไลและเมืองซอมา ผมกับเพื่อนร่วมทางมุ่งหน้าไปจุดหมายต่อไปคือไปพักที่เมืองถาน (Than Uyên) เมืองสำคัญของชาวไตดำอีกเมืองหนึ่ง เพื่อที่วันรุ่งขึ้นจะได้เดินทางต่อไปยังเมืองลอ (Nghĩa Lộ) โดยผ่านนาขั้นบันไดในถิ่นของชาวม้งที่อำเภอ หมู่ กัง จ่าย (Mù Căng Chải) และถิ่นฐานชาวเย้าที่ทำนา ณ เมืองลุง (Tú Lệ) แล้วพักค้างคืนที่เอียน บ๋าย (Yên Bái) ก่อนมุ่งหน้าสู่ฮานอยในอีกวันหนึ่ง ตลอดเส้นทางนี้ผมใจหายกับความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตลอดการเดินทาง สิ่งหนึ่งที่หนักหนาเสมอคือการดื่มกินกับคนพื้นเมือง ในการเดินทางครั้งนี้ มื้อที่แสนสาหัสที่สุดคือมื้อที่ต้องทั้งประคองตัวเอง ทั้งไม่ให้เสียน้ำใจ และทั้งไม่ให้เพื่อนร่วมทางเหน็ดเหนื่อยเกินกว่าจะร่วมทางกันต่อไปได้อย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองไลเป็นเมืองสำคัญอย่างไรในประวัติศาสตร์เวียดนาม สยาม และฝรั่งเศส คงเป็นคำถามที่ไม่มีใครสนใจนัก เพราะเมืองไลปัจจุบันกำลังกลายเป็นอดีตที่ถูกกลบเกลื่อนลบเลือนไปจนเกือบหมดสิ้น ทั้งจากน้ำเหนือเขื่อน และจากการจัดการปกครองในปัจจุบัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองแถงมนดั่งขอบกระด้ง เมืองคดโค้งเยี่ยงเขาควาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสักเกือบ 15 ปีก่อน ผมไปเสาะหาบ้านนาน้อยอ้อยหนูที่เมืองแถง (เดียนเบียนฟู) กับอาจารย์คำจอง นักชาติพันธ์ุวิทยาชาวไตดำ/เวียดนาม 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองลา (Sơn La) ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว แทบไม่มีใครรู้จักเมืองลาแม้ว่าเมืองนี้จะมีประวัติศาสตร์สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเดียนเบียนฟู เนื่องจากเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสใช้เป็นฐานในการปกครองเมืองคนไต แต่เดียนเบียนฟูโด่งดังขึ้นมาจากการที่ฝรั่งเศสแพ้พวกคอมมิวนิสต์เวียดนามอย่างราบคาบ ทำให้คนไม่ได้ทันสนใจว่า ก่อนหน้านั้นฝรั่งเศสปกครองเมืองคนไตอย่างไร แล้วมีฐานที่มั่นสำคัญอยู่ที่ไหนก่อนที่จะไปอยู่ที่เมืองแถงหรือเดียนเบียนฟู
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมมาเมืองมุน (Mai Châu, Hoà Bình) ครั้งแรกเมื่อปี 1998 มาเป็นผู้ช่วยวิจัย ตอนนั้นมาเดือนกุมภาพันธ์ อากาศหนาวมากแล้วเตรียมตัวไม่พอ ยังไม่รู้จักความหนาว เมื่อมาถึงที่นี่ ได้แต่นั่งผิงไฟ ขณะนั้นเมืองมุนเริ่มเปิดให้นักท่องเที่ยวมาพัก มีโฮมสเตย์อยู่สัก 5-6 หลัง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทุนมหาวิทยาลัยเกียวโตนี่ดีกว่าที่ผมคิด เดิมทีแค่รู้ว่าได้ทุนมาเพื่อทำวิจัย ซึ่งก็จะทำอะไรก็ทำไปเถอะ ตามข้อเสนอขอทุนที่เขียนไปไม่ถึงหนึ่งหน้ากระดาษ งานที่รับผิดชอบคือเสนองานสักสองครั้ง แล้วพยายามพิมพ์อะไรออกมาก็โอเคแล้ว นี่จึงถือว่าเป็นทุนชั้นยอด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาผมเดินทางด้วยรถไฟชินคันเซนจากเกียวโตไปโตเกียว มีเรื่องราวมากมายที่น่าบันทึกไว้ ณ ที่นี่ แต่เบื้องต้นขอเล่าเพียงตลาด Tsukiji ก่อน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตกใจเหมือนกันที่ Divas Cafe จะเลิกออกอากาศแล้ว อยากบันทึกสั้นๆ ว่าผมดีใจ ภูมิใจ ปลื้มใจ ที่เคยได้เป็นแขกในรายการดีว่าส์ คาเฟ่ เป็นรายการที่ไปคุยด้วยสนุกมาก พิธีกรรุกเร้ามาก เวลาสั้นจนต้องปรับจังหวะการพูดให้เร็วมาก แถมบางครั้งยังต้องหาจังหวะแย่งพิธีกรพูดอีก