Skip to main content

เห็นท่านผู้นำไม่นิยมผู้หญิง เพราะในคณะรัฐบาลท่านมีผู้หญิงเพียง 2 คน ผมก็เลยขอแนะนำท่านว่า ผู้หญิงทำงานความคิดเก่งๆ มีมากมาย ไม่ใช่ให้ลูกน้องเอาผู้หญิงมาเต้นโป๊เปลือยดูกันในค่ายทหารเท่านั้น แต่ก็เอาล่ะ ขอแนะนำนักมานุษยวิทยาสตรีที่ผมชื่นชอบสัก 10 คนก็แล้วกัน

1. Margaret Mead (1901-1978) คนนี้เป็นยอดหญิงมานุษยวิทยาอเมริกันเลย เป็นลูกศิษย์ Franz Boas บิดามานุษยวิทยาอเมริกัน เป็นแฟนเขียนจดหมายกันหวานแหวกับ Ruth Benedict นักมานุษยวิทยาหญิงคนสำคัญอีกคนหนึ่ง มิ้ดเขียนหนังสืออ่านสนุก ท้าทายความคิดฟรอยด์ที่บอกว่าเด็กมีปมฆ่าพ่อหลงรักแม่กันทุกคน มิ้ดไปศึกษาในซามัว แล้วแย้งว่า ไม่จริง เพราะการเลี้ยงดูในสังคมอื่นต่างกัน เด็กที่เติบโตมาในซามัวไม่ได้เกลียดพ่อเหมือนเด็กฝรั่ง งานของมิ้ดโด่งดังมากหลายเล่ม ทำวิจัยหลายพื้นที่ มักเอาสังคมอื่นๆ ทั่วโลกมาวิจารณ์สังคมอเมริกัน คนทั่วไปรู้จักมิ้ดมาก แต่อาภัพไม่เคยได้ตำแหน่งในมหาวิทยาลัย

2. Mary Douglas (1921-2007) เป็นยอดหญิงของฝั่งอังกฤษ เขียนหนังสือหลายเล่มวนเวียนอยู่กับการศึกษาระบบสัญลักษณ์ในสังคมต่างๆ ดักลาสสร้างข้อสรุปสากลว่าด้วยความสะอาดและความสกปรกในทางวัฒนธรรม ว่าไม่ได้มีที่มาจากความสะอาดในทางกายภาพของสิ่งของหรอก แต่มาจากระบบคิดของคนเราเอง ความสะอาดกับความสกปรกยังเกี่ยวข้องกับอำนาจ ยิ่งสกปรกหรือยิ่งผิดจากภาวะปกติ ก็ยิ่งน่ากลัวยิ่งมีอำนาจ ดักลาสนับเป็นนักมานุษยวิทยาอังกฤษผู้หญิงคนแรกๆ ที่ได้รับการยอมรับสูงมาก เมื่อเทียบกับว่าในสมัยเดียวกันและก่อนหน้านั้นแทบไม่มีนักมานุษยวิทยาหญิงในอังกฤษเลย 

3. Emiko Ohnuki-Tierney (1934--) นักมานุษยวิทยาหญิงญี่ปุ่นที่มาสอนหนังสืออยู่ที่อเมริกานานหลายปี มีผลงานต่อเนื่องมากมาย เริ่มจากการวิจัยชาวไอนุ ภายหลังมาเขียนงานเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมญี่ปุ่นมาตลอด เป็นผู้ที่ใช้การวิจัยเชิงประวัติศาสตร์ ใช้เอกสาร แต่วิธีการศึกษาอดีตของโอนูกิ-เทียร์นีย์แตกต่างจากนักประวัติศาสตร์ตรงที่เธออาศัยการวิเคราะห์สัญลักษณ์เป็นหลัก อย่างข้าวบ้าง ลิงบ้าง ในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นญี่ปุ่น เมื่อสองวันก่อนเพิ่งสนทนากับเธอ เธอเริ่มสนใจว่าข้าวในสังคมอื่นอย่างในไทยเป็นอย่างไรบ้าง โอนูกิ-เทียร์นี่ย์น่าจะเป็นนักมานุษยวิทยาหญิงที่ไม่ใช่ชาวอังกฤษและอเมริกันคนแรกๆ ที่ได้รับการยอมรับสูงมากจนกระทั่งปัจจุบัน 

4. Barbara Myerhoff (1935-1985) มายเยอร์ฮอฟเป็นนักมานุษยวิทยาที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักมากนัก เพราะเธออายุสั้น เสียชีวิตไปด้วยโรคมะเร็งอย่างรวดเร็ว งานของมายเยอร์ฮอฟชิ้นสำคัญคือ Numer Our Days (1976) ที่เขียนถึงสังคมคนชราในที่พักคนชราชาวยิวที่แคลิฟอร์เนียนั้น โด่งดังอ่านกันอยู่จนทุกวันนี้ และยังถือว่าเป็นงานเขียนแนวทดลองที่ลองใช้วิธีการเล่าแบบปลกๆ เช่น มีการจินตนาการถึงบทสนทนาระหว่างนักมานุษยวิทยากับคนที่ตายไปแล้ว และมีการเล่าให้เห็นลักษณะเฉพาะตัวของคนในสังคมอย่างเด่นชัดแตกต่างกันในสังคมเดียวกัน มายเยอร์ฮอฟยังนับเป็นผู้บุกเบิกภาพยนตร์ชาติพันธ์ุวรรณนา ก่อนเสียชีวิตเธอทำภาพยนตร์เกี่ยวกับความเจ็บป่วยกับความเชื่อทางศาสนาของตัวเธอเอง 

5. Sherry Ortner (1941--) ออร์ตเนอร์เป็นนักมานุษยวิทยาหญิงอเมริกันที่ถือได้ว่าร้อนแรงที่สุดคนหนึ่งทีเดียว แม้ว่าจะมีคนหลายๆ คนสร้างแนวคิดที่เธอเรียกว่า "ทฤษฎีปฏิบัติการ" แล้ว ต้องเรียกว่าออร์ตเนอร์นี่แหละที่เป็นคนปลุกปั้นกระแสการศึกษาแนวนี้ขึ้นมา ถ้าจะถามว่ามานุษยวิทยาหลังการวิพากษ์ของพวกโพสต์โมเดิร์นแล้วทำอะไรกัน แนวทางที่เป็นหลักเป็นฐานแน่นหนาที่สุดก็คือแนวทางที่ออร์ตเนอร์สร้างขึ้นมานี่แหละ ออร์ตเนอร์ทำวิจัยสังคมชาวเชอร์ปา ที่ทิเบต ปัจจุบันหันมาศึกษาสังคมอเมริกันมากขึ้น และยังผลิตงานต่อเนื่อง 

6. Aihwa Ong (195?--) อองนับเป็นนักมานุษยวิทยาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือจากมาเลเซีย คนแรกๆ ที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับในระดับโลก งานที่โด่งดังของอองเริ่มจากการศึกษาสาวโรงงานในโรงงานญี่ปุ่นที่ตั้งในประเทศมาเลเซีย คนงานเป็นหญิงมุสลิมที่ย้ายถิ่นจากชนบทมาอยู่ในเมือง เมืองมาแล้วก็พบตัวตนใหม่ๆ ของตนเอง พร้อมๆ กันกับต้องตกอยู่ใตการควบคุมในฐานะตัวตนใหม่ระบบโรงงานอุตสาหกรรม หลังจากนั้นอองก็ผลิตงานที่โด่งดังอีกหลายชิ้น ที่สำคัญคือที่ว่าด้วยคนจีนย้ายถิ่นที่มาอาศัยในอเมริกา งานนี้เป็นการสะท้อนตัวเธอเองที่เป็นคนจีนจากปีนังด้วย อองเป็นนักมานุษยวิทยาที่เขียนหนังสือน่าอ่าน ผสมทฤษฎีกับรายละเอียดชีวิตคนได้ดี งานเธอเป็นตัวอย่างของการเขียนงานสมัยนี้ได้ดีมาก 

7. Ruth Behar (1956--) เบฮาร์เป็นนักมานุษยวิทยาอเมริกันเชื้อสายคิวบัน พ่อแม่อพยพมาจากคิวบา เบฮาร์โด่งดังมาจากการศึกษาผู้หญิงชาวแม็กซิกัน ที่ย้ายถิ่นข้ามไปมาระหว่างสหรัฐอมเริกากับแม็กซิโก งานของเธอนับเป็นการบุกเบิกการศึกษาข้ามพรมแดน และยังบุกเบิกงานแนวอัตชาติพันธ์ุนิพนธ์ คือเขียนวิเคราะห์ชีวิตของนักมานุษยวิทยาเองเข้าไปในการวิเคราะห์ชีวิตผู้คนที่ศึกษา งานของเบฮาร์มีลีลาการเขียนที่ชวนอ่านมาก บทสัมภาษณ์ที่ถ่ายทอดมาเป็นงานเขียนของเธอมีทั้งอารมณ์ขัน ความเศร้า และรายละเอียดที่ทำให้อ่านแล้วเห็นใจชีวิตผู้คน เบฮาร์เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญร่วมกับอีกหลายคนในการเปิดศักราชของงานเขียนของนักมานุษยวิทยาหญิงสืบต่อจากรุ่นที่ Michelle Rosaldo, Louise Lamphere และ Sherry Ortner เคยบุกเบิกไว้ 

8. Kirin Narayan (1959--) นารายันคือนักมานุษยวิทยาเชื้อสายอินเดียที่มาเติบโตทางวิชาการในอเมริกา นารายันอยู่ในแนวหน้าของการเขียนงานทางมานุษยวิทยาในปัจจุบัน งานของเธอตั้งแต่ชิ้นแรกที่ว่าด้วยการเทศนาของนักบวชอินเดีย นารายันได้นำเอาแนวทางใหม่ของการเขียนที่ให้ความหมายและเสียงที่หลากหลายแสดงตัวออกมาในการใช้นิทานเพื่อเทศนา นี่จึงเป็นการศึกษานิทานจากภาคสนามที่ไม่จำกัดความหมายตายตัวของนิทานไปด้วยในตัว นารายันเป็นคนหนึ่งที่นำเอาประวัติชีวิตครอบครัวตนเองมาวิเคราะห์แล้วเขียนเป็นนิยายทางชาติพันธ์ุวรรณนา นอกจากงานวิชาการแล้ว เธอยังเขียนนิยายอย่างจริงจังด้วย ล่าสุดเธออกหนังสือว่าด้วยการเขียนงานทางมานุษยวิทยา

 

9. Saba Mahmood (1962--) มาฮ์มุดถือเป็นดาวรุ่งคนสำคัญคนหนึ่งในวงการมานุษยวิทยาปัจจุบัน เธอเป็นมุสลิมชาวปากีสถาน ปัจจุบันมาทำงานที่อเมริกา งานที่โด่งดังของเธอชื่อ Politics of Peity (2004) ศึกษาบทบาททางศาสนาของผู้หญิงมุสลิมอียิปต์ ประเด็นสำคัญคือการเข้ารีตและมีศรัทธาอย่างแรงกล้าต่อศาสนานั้น หาใช่การจำยอมและสูญเสียอำนาจไม่ หากแต่เป็นการช่วยให้ผูหญิงเหล่านี้มีที่ยืนอย่างมีอำนาจในสังคมมุสลิมอย่างทัดเทียมหรืออาจเหนือกว่าชาย  

10.ที่จริงถ้านับ Nancy Scheper-Hughes ที่ได้แนะนำไปแล้วในลิสต์ก่อนหน้า (ดูที่นี่) ก็ครบสิบแล้ว แต่จะขอแนะนำชุดงานมานุษยวิทยาที่ศึกษาประเทศไทยสักหน่อย แนะนำรวมๆ กันทีเดียวหลายๆ คนเลยก็แล้วกัน นักมานุษยวิทยาที่ได้อ่านงานมาแล้วชอบๆ ก็ได้แก่ Katherine Bowie ไม่ใช่เพราะเธอเป็นอาจารย์ผม แต่เพราะงานของเธอให้ความเข้าใจสังคมไทยจากข้อมูลหลักฐานได้ชัดเจนดีมาก ข้อมูลและการตีความของเธอตั้งแต่เรื่องทาสในสยาม เศรษฐกิจการค้าและการเกษตรในศตวรรษที่ 19 เรื่องการสร้างมวลชนลูกเสือชาวบ้านยุค 6 ตุลาคม 1976 จนถึงเรื่องการเลือกตั้ง และล่าสุดกำลังจะออกหนังสือเรื่องพระเวสสันดร ล้วนเสนอภาพสังคมไทยที่หลากหลายและแตกต่างไปจากที่คนไทยถูกสอนม

 

วงการไทยศึกษายังมีนักมานุษยวิทยาหญิงที่สำคัญๆ อีกหลายคน เช่น Penny Van Esterik ที่บุกเบิกสตรีศึกษาในไทย เป็นผู้ชี้ว่าผู้หญิงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีสถานภาพสูงเป็นพิเศษ Mary Beth Mills ที่ศึกษาสาวโรงงานไทยคนแรกๆ Deborah Wong ศึกษาละครและดนตรีไทย ภายหลังทำงานในสหรัฐอเมริกา ศึกษาการแสดงและดนตรีของชาวเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ในอเมริกา Yoko Hayami ศึกษาชาวกะเหรี่ยงทั้งในไทยและพม่า ส่วนนักมานุษยวิทยาหญิงสัญชาติไทย ที่จริงผมก็ประทับในผลงานของหลายๆ ท่าน แต่ขอไม่เอ่ยถึง เพราะไม่อยากตกหล่นใครไป 

ร่ายมาเสียยาว คงพอให้ท่านผู้นำพอเห็นได้บ้างว่าทำไมจึงควรมีผู้หญิงในคณะรัฐมนตรีให้มากขึ้น จะรอดูว่าปรับครม.คราวหน้าแล้วท่านจะให้ที่นั่งผู้หญิงมากขึ้นหรือเปล่า ถ้าท่านยังไม่ถูกประชาชนไล่ออกไปก่อนน่ะนะ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (24 ธันวาคม 2555) กสทช.เชิญให้ผมไปร่วมแสดงความเห็นในเวทีเสวนาสาธารณะ “1 ปี กสทช. กับความ (ไม่) สมหวังของสังคมไทย” ทีแรกผมไม่คิดว่าตนเองจะสามารถไปวิจารณ์อะไรกสทช.ได้ แต่ผู้จัดยืนยันว่าต้องการมุมมองแบบมานุษยวิทยา ผมจึงตกปากรับคำไป 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อโต้แย้งต่อความเห็นผมจากของเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ที่ลงในมติชนออนไลน์ (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1355920241&grpid=03&catid=&subcatid=) ย้ำให้เห็นชัดถึงความอับจนของกรอบคิดของคนกลุ่มนี้ต่อไปนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไม่เพียงแต่นักเขียนบางคนเท่านั้นที่อาจจะไม่เข้าใจหรือมองข้ามประเด็นความแตกต่างทางชาติพันธ์ุ แต่ผมคิดว่าแวดวงภาษาและวรรณกรรมบ้านเราอาจจะไม่ตระหนักถึงปัญหานี้โดยรวมเลยก็ได้ และในแง่หนึ่ง ผมคิดว่าซีไรต์เองอาจจะมีส่วนสร้างวัฒนธรรมไม่อ่อนไหวต่อความแตกต่างทางวัฒนธรรมด้วยเช่นกัน และถึงที่สุดแล้ว นี่อาจจะกลายเป็นข้อจำกัดที่ปิดกั้นโอกาสที่วรรณกรรมไทยจะก้าวเข้าสู่ระดับสากล
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทัศนะของนายแพทย์ที่เป็นตัวแทนของคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ แสดงให้เห็นถึงความคิดคับแคบของผู้มีอำนาจกลุ่มหนึ่ง ที่มักใช้อำนาจก้าวก่ายชีวิตผู้คน บนความไม่รู้ไม่เข้าใจไม่อยากรับผิดชอบต่อปัญหาเชิงโครงสร้างที่ละเอียดอ่อน และบนกรอบข้ออ้างเรื่องคุณธรรมความดีที่ยกตนเองเหนือคนอื่น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แทนที่จะเถียงกับอีกท่านหนึ่งที่วิจารณ์ผมต่อหน้ามากมายเมื่อวาน ผมขอใช้พลังงานเถียงกับข้อเสนอล่าสุดของอาจารย์ธีรยุทธ บุญมีจากข่าวในมติชนออนไลน์ (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1354935625&grpid=01&catid=&subcatid=) ดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นึกไม่ถึงและนึกไม่ออกจริงๆ ว่า ทำไมคนเปิดร้านขายหนังสือในปลายศตวรรษที่ 20 - ต้น 21 จะมีความคิดแบบนี้ได้ นี่แสดงว่าเขาไม่ได้อ่านหนังสือที่เขาขายบ้างเลย หรือนี่แสดงว่าการอ่านหนังสือไม่ได้ช่วยจรรโลงจิตใจนายทุนบางคนขึ้นมาได้เลย*
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 เมื่ออ่านข่าวแอร์โฮสเตสที่เพิ่งถูกให้ออก ผมมีคำถามหลายข้อ ทั้งในมิติของโซเชียลมีเดีย hate speech และสิทธิแรงงาน อย่างไรก็ดี ขอเคลียร์ก่อนว่าหากใครทราบจุดยืนทางการเมืองของผม ย่อมเข้าใจดีว่าความเห็นต่อไปนี้ไม่ได้มาจากความเห็นทางการเมืองที่เอนเอียงไปในทางเดียวกับพนักงานสายการบินคนนี้แต่อย่างใด ข้อสังเกตคือ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขณะกำลังนั่งกินหอยแครงลวกอยู่เวลานี้ ก็ชวนให้คิดถึงคำพูดของนักวิชาการกัมพูชาคนหนึ่ง ที่เคยนั่งต่อหน้าอาหารเกาหลีจานพิเศษ คือหนอนทะเลดิบตัดเป็นชิ้นๆ ขยับตัวดึบๆ ดึบๆ อยู่ในจานแม้จะถูกตั้งทิ้งไว้เป็นชั่วโมง ตอนนั้น ผมบ่ายเบี่ยงไม่กล้ากินอยู่นาน แม้จะรู้ว่าเป็นอาหารพิเศษราคาแพงที่ศาสตราจารย์ชาวเกาหลีสรรหามาเลี้ยงต้อนรับการมาเกาหลีครั้งแรกของพวกเราหลายคน เพื่อนกัมพูชาบอกว่า "กินเถอะพี่ หอยแครงลวกในเมืองไทยน่ากลัวกว่านี้อีก" ผมจึงหาเหตุที่จะหลบเลี่ยงอีกต่อไปไม่ได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมนั่งดูบันทึกรายการ The Voice Thailand (เดอะวอยซ์) เป็นประจำ แม้ว่าจะเห็นคล้อยตามคำนิยมของโค้ชทั้ง 4 อยู่บ่อยๆ แถมยังแอบติดตามความเห็นเปรี้ยวๆ ของนักเขียนบางคนที่ชอบเรียกตนเองสวนทางกับวัยเธอว่า "ป้า" ซึ่งหมดเงินกดโหวตมากมายให้นักร้องหนุ่มน้อยแนวลูกทุ่ง แต่ผมไม่ได้รับความบันเทิงจากเดอะวอยซ์เพียงจากเสียงเพลง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมพยายามถามตัวเองว่า การจะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนการชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยามที่นำโดย "เสธ.อ้าย" จะมาจากเหตุผลประการใดบ้าง แต่ผมก็ชักจะเริ่มไม่แน่ใจว่า เอาเข้าจริง คนที่เข้าร่วมชุมนุมกับเสธ.อ้ายจะมีเหตุผลหรือไม่ หรือหากมี พวกเขาจะใช้เหตุผลชุดไหนกันในการเข้าร่วมชุมนุม ยังไงก็ตาม อยากถามพวกคุณที่ไปชุมนุมว่า พวกคุณอยากให้ประเทศเป็นอย่างนี้จริงๆ หรือ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (20 พฤศจิกายน 2555) นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชิญไปบรรยายในงานสัมมนา "การเมืองเรื่องคนธรรมดา" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ขอตัดส่วนหนึ่งของบทบรรยายของผมที่ใช้ชื่อว่า "การเมืองวัฒนธรรมดา: ความไม่ธรรมดาของสามัญชน" มาเผยแพร่ในที่นี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 เมื่อ 16 พฤศจิกายน 2555 นิสิตรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเชิญไปร่วมกิจกรรมจุฬาวิชาการ โดยให้ไปวิจารณ์บทความนิสิตปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ 4 ชิ้น 1) ว่าด้วยเบื้องหลังทางการเมืองของการก่อตั้งองค์การอาเซียน 2) ว่าด้วยบทบาทและการต่อรองระหว่างประเทศในอาเซียน 3) ว่าด้วยการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าของธุรกิจเอกชนไทยในคู่ค้าอาเซียน และ 4) ว่าด้วยนโยบายชนกลุ่มชาติพันธ์ุในพม่า ข้างล่างนี้คือบันทึกบทวิจารณ์