Skip to main content
หลังจากพินิจพิเคราะห์แล้วว่า ท่านผู้นำกำลังจะหมดเรื่องพล่ามในไม่ช้า เพราะเริ่มวนเวียนและเล่าเรื่องตัวเองมากขึ้น ท่านจึงควรหาความรู้รอบตัวมากขึ้น ก็เลยขอตามกระแส แนะนำหนังสือให้ท่านอ่าน ก็ไม่รู้จะ tag ท่านยังไง แต่คิดว่า เขียนใส่ขวดลอยไปก็อาจจะลอยไปถึงตีนบันไดบ้านท่านบ้างสักวัน ก็ขออนุญาตแนะนำดังนี้ครับท่าน

 
 
1. Karl Marx และ Friederich Engels "Manifesto of the Communist Party" (1848) เล่มนี้หลุดลิขสิทธิ์มานานแล้วครับท่านหาอ่านฟรีๆ ได้ไม่ยาก อ่านแล้วจะได้รู้บ้างว่าโลกเปลี่ยนแปลงอย่างไร สังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมเกี่ยวกันอย่างไร ไม่ต้องอ่านตอนท้ายที่แนะนำแนวทางการปฏิวัติก็ได้ เพราะยังไงท่านก็รู้วิธีอยู่แล้ว เพียงแต่ท่านไม่มีบทวิเคราะห์ที่ดี ก็เลยแนะนำบ้างอะไรบ้าง เล่มนี้มีแปลเป็นไทยแล้วนะ หาดูในเน็ตก็แล้วกัน รู้ใช่ไหม
 
   
 
2. และ 3. Anthony Reid "Southeast Asia in the Age of Commerce" (1988) มีสองเล่ม สองเล่มนี้จะช่วยให้ท่านผู้นำเชื่อมโยงประวัติศาสตร์ไทยเข้ากับประวัติศาสตร์ภูมิภาคอาเซียนและประวัติศาสตร์โลกได้บ้าง เผื่อท่านจะเข้าใจว่า สมัยก่อนเขาไม่ได้รบกันเลือดพุ่งตายเป็นเบือแบบความรู้จากหนังตำนานสมเด็จพระนเรศวร เพราะเขารบกันเพื่อเอาแรงงาน แถมมีประวัติศาสตร์เรื่องเพศ ที่พวกผู้ชายต้องคอยเอาใจหญิงๆ รวมทั้งประวัติความยิ่งใหญ่ของบ้านเมืองแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กับเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยอีกมากมาย รับรองว่าจะทำให้ท่านดูฉลาดหน้าจอไปได้อีกนานเท่านานทีเดียว สองเล่มนี้ก็มีแปลแล้วนะ แต่ต้องหาซื้อนะ ของฟรีไม่มีบ่อยๆ หรอก เข้าใจนะ
 
 
4. Plato "Republic" (380 ปีก่อนคริสตกาล) หนังสือเล่มนี้มีชายคนหนึ่ง ชื่อโสเกรติส เป็นคนช่างสงสัย เที่ยวถามคนเรื่องต่างๆ ที่ใหญ่ๆ โตๆ ทั้งสิ้น ที่จริงเพลโตเขียนหนังสืออีกหลายเล่ม แต่แนะนำเล่มนี้ก็เพื่อว่าท่านจะได้เอาไว้อวดคนได้ เพราะคนรู้จักเล่มนี้มากหน่อย ที่จริงเพลโตเป็นคนเขียน แต่โสกราตีส ที่ว่ากันว่าเป็นอาจารย์เพลโต เป็นคนเล่าเรื่อง เป็นคนเที่ยวซักคนอื่นๆ อย่างน้อยถ้าท่านอ่าน ก็จะได้อ่านไปคิดตามไป รับรองว่าฉลาดขึ้นภายในชั่วอายุขัยที่เหลืออยู่ของท่านได้แน่นอน เล่มนี้มีแปลมากกว่าหนึ่ง version แล้วนะ เข้าใจนะ (สำนวนแปลล่าสุดของเวทัส โพธารามิก ดาวน์โหลดได้ฟรี)
 
 
5. Milinda Panha (มิลินทปัญหา) (100 ปีก่อนคริสตกาล) เพื่อเอาใจท่าน ขอแนะนำหนังสือที่ชื่อดูไทย แต่ที่จริงเป็นเรื่องที่มีฉากแข้กแขก ชื่อเรื่องก็เป็นภาษาแขกแล้ว แต่ท่านอ่านเถอะ สนุกมาก เป็นการถามตอบระหว่างพระเจ้ามิลินท์กับพระนาคเสน ว่ากันว่าพระเจ้ามิลินท์น่าจะมีตัวตนจริงแต่พระนาคเสนน่ะไม่รู้หรอกว่าเป็นใคร แต่ที่มาของหนังสือไม่ทำให้น่าอ่านเท่ากับเรื่องราวที่ท่านทั้งสองถามตอบกันหรอก สนุกและชวนคิดไปอ่านไปไม่แพ้ Republic แน่นอน ที่จริงหากท่านอ่านแค่ 2 เล่มนี้ ก็บันเทิงสมองมากมายแล้ว เล่มนี้น่ะมีภาษาไทยนะ หนาหน่อย แต่อ่านเถอะ จะได้ไม่กลัวการตอบคำถามนักข่าว เข้าใจนะ
 
 
6. ยศ สันตสมบัติ "สืบสายเลือด" (2531) เป็นรวมเรื่องสั้นที่เขียนจากเรื่องราวชีวิตจริงของคนที่ต่างๆ ทั่วโลก จากประสบการณ์ของนักมานุษยวิทยา นี่เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่ผมซื้อแจกเพื่อนๆ ไปทั่ว ท่านผู้นำก็ควรจะได้รับแจกจากผมเช่นกัน แต่แค่แจกชื่อให้ท่าน ท่านก็คงมีปัญญาไปหาซื้อเองได้แหละ หนังสือเล่มนี้อ่านแล้วกินใจ ทำให้การเข้าใจคนในสังคมต่างๆ ไม่แห้งแล้ง ทำให้เห็นมนุษย์หลายมุมมองมากขึ้น ช่วยให้อ่อนโยนต่อทางเลือกในการดำรงชีวิตของมนุษย์มากขึ้น ท่านจะได้เข้าใจคำพูดที่ท่านชอบพูดติดปากว่า "เข้าใจใช่ไหม" "เข้าใจนะ" มากขึ้นว่า การเข้าใจนั้น ที่จริงแล้วคืออะไรกันแน่ เข้าใจนะ
 
 
7. Italo Cavino "Difficult Loves" (1970) ที่จริงมีวรรณกรรมหลายเล่มนะที่ท่านอาจชอบ ก็ไม่รู้เหมือนกันทำไมที่เมื่อทำตามกฎที่เขาว่าให้นึกเร็วๆ แล้ว เล่มนี้ขึ้นมาก่อน คงมีอะไรเกี่ยวกับท่านบ้างแหละ เล่มนี้รวมเรื่องสั้นของคู่รักแปลกๆ หลายแบบ ท่านอาจชอบหรือไม่ชอบก็เรื่องของท่าน แต่มันสร้างจินตนาการสมจริงในการดิ่งเข้าไปทำความเข้าใจโลกอันขัดแย้งกันระหว่างชีวิตกับความใคร่ได้พิลึกดี ท่านไม่อ่านก็ไม่เป็นไรนะ แนะนำไว้เผื่อว่าท่านจะสนใจน่ะ เท่าที่รู้เล่มนี้ยังไม่มีแปลนะ ลองพิมพ์เอาคำแปลใน google translate เอาก็แล้วกัน บันเทิงไปอีกแบบนะ
 
 
8. จิตร ภูมิศักดิ์ "ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และชื่อชนชาติขอม" (2519) ถ้าท่านอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ไทยฉบับทางการน่ะ ท่านจะรู้มุมมองด้านเดียว แต่ถ้าอ่านประวัติศาสตร์ไทยจากมุมมองไม่เป็นทางการน่ะ ท่านจะได้อ่านมากกว่าหนึ่งมุมมองในเล่มเดียวกัน เพราะอะไรน่ะเหรอ ก็เพราะคนที่จะเถียงน่ะ เขาก็จะสรุปทั้งมุมมองที่เขาจะเถียงด้วยและมุมมองของเขาให้ท่านอ่านไง อย่างน้อยท่านจะได้รู้ว่า เมื่อท่านเอาปัญญาชนไปขังน่ะ เขากลับจะทำงานทางปัญญาได้มากกว่าปัญญาชนที่ปรี่เข้าไปรับใช้ท่าน แต่นอกจากนั้น ท่านอาจกลับใจเพราะรู้ขึ้นมาบ้างว่า ความเป็นไทยน่ะ ไม่ได้จำกัดอยู่ในเขตแดนแคบๆ อย่างที่ประวัติศาสตร์ในโรงเรียนทหารท่านสอนหรอกนะ
 
 
9. Nancy Scheper-Hughes "Death Without Weeping: The Violence of Everyday Life in Brazil" (1993) ที่จริงก็ไม่ค่อยอยากแนะนำหนังสือภาษาอังกฤษให้ท่านหลายเล่มหรอกนะ แต่เพราะคิดว่า ท่านคงอ่านภาษาอังกฤษออกน่ะแหละ เล่มนี้หนาหน่อยนะ รวม 600 หน้า ทำไมควรรู้เกี่ยวกับบราซิล (เดิมพิมพ์ผิดเป็นแม็กซิโก) น่ะหรอ ไม่ต้องรู้ก็ได้ แต่ที่สำคัญคือ คนเราอ่านหนังสือเพื่อเรียนวิธีคิดไปพร้อมๆ กับอ่านเอาเรื่องน่ะ โลกนี้มีการอ่านที่ "อ่านเอาเรื่อง" และ "อ่าน(ไม่)เอาเรื่อง" น่ะ อ่านแบบหลังนี่รู้จักไหมท่าน หางานของชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์มาอ่านแล้วท่านจะรู้ เข้าใจนะ หนังสือของเชฟเปอร์-ฮิวส์น่ะ ช่วยให้เข้าใจว่าทำไมคนจนที่นั่นจึงยอมรับความตายก่อนวัยของเด็กๆ ได้ ทำไมความรักของแม่จึงไม่ใช่สิ่งสากล ทำไมอารมณ์ ฐานะทางเศรษฐกิจ และการกดขี่ในระดับโลกจึงสัมพันธ์กัน 
 
 
10. Eric Williams "Capitalism and Slavery" (1944) ที่จริงหนังสือทำนองนี้มีมากนะท่าน จะให้จัดชุดแนะนำให้ก็ได้ คือแบบที่เกี่ยวกับระบบโลกน่ะ น่าอ่านมากมาย แต่เล่มนี้น่ะประทับใจหลายอย่าง คนเขียนเป็น "คนพื้นเมือง" เอง คือชาวทรินิแดด เขียนถึงบ้านเมืองตัวเองหลังจากไปร่ำเรียนในประเทศเจ้าอาณานิคมของตน แล้วเขียนวิจารณ์เจ้าอาณานิคม ว่าด้วยสามเหลี่ยมการค้าทาส ทำไมคนไทยต้องเข้าใจการค้าทาสน่ะเหรอ น่าจะช่วยให้เข้าใจบ้างนะว่าโลกปัจจุบันน่ะ (ที่จริงเล่มนี้พิมพ์ตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดด้วยซ้ำ) ฝรั่งถูกวิจารณ์มากขนาดไหน เสียเครดิตไปมากขนาดไหน แต่ก็ไม่ใช่ว่าใครเขาจะหันหลังให้แนวคิดก้าวหน้าสากลอย่างประชาธิปไตยหรอกนะ
 
สองเล่มหลังนี่ไม่มีแปลหรอก พยายามหน่อยก็แล้วกันถ้าอยากฉลาดก่อนหมดอายุขัย
 
เอาล่ะนะ จะให้แนะนำหนังสือท่านผู้นำสักร้อยเล่ม ก็จะกินแรงท่านเกินไป พอดีพอร้ายอ่านมากเข้าท่านจะพาลฉลาดเกินผู้นำทหารแล้วกลายมาแย่งอาชีพผมล่ะก็จะแย่เลย อ่านที่คนอื่นแนะนำบ้างสักเล็กน้อย ของผมบ้างสักหน้าสองหน้าจากแต่ละเล่ม ท่านก็มีอะไรมาโม้มากกว่าที่ให้ความบันเทิงประชาชนอยู่ทุกวันนี้แล้วล่ะ เข้าใจนะ
 
 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หลายคนคงเป็นแบบผม คือพยายามข่มอารมณ์ฝ่าฟันการสบถของท่านผู้นำ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตั้งแต่ที่ผมรู้จักงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์มา มีปีนี้เองที่ผมคิดว่ากิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่มีความหมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปี 2558 เป็นปีที่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีอายุครบ 50 ปี นับตั้งแต่เริ่มเป็นแผนกอิสระในคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์มาตั้งแต่ปี 2508
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เปิดภาคการศึกษานี้มีเรื่องน่าตื่นเต้นคือ วันแรกที่ไปสอน (ผมสอนอังคาร, พฤหัสบดี ครั้งละ 1 ชั่วโมง 15 นาที) มีนักเรียนมาเต็มห้อง เขากำหนดโควต้าไว้ที่ 34 คน แต่หลังจากผมแนะนำเค้าโครงการบรรยาย คงเพราะงานมาก จุกจิก ก็มีคนถอนชื่อออกไปจำนวนหนึ่ง คืนก่อนที่จะไปสอนครั้งที่สอง ผมก็เลยฝันร้าย คือฝันว่าวันรุ่งขึ้นมีนักเรียนมาเรียนแค่ 3 คน แล้วเรียนๆ ไปนักเรียนหนีหายไปเหลือ 2 คน แต่พอตื่นไปสอนจริง ยังมีนักเรียนเหลืออีก 20 กว่าคน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อได้ทราบว่าอาจารย์เก่งกิจทำวิจัยทบทวนวรรณกรรมด้านชนบทศึกษา โดยลงแรงส่วนหนึ่งอ่านงาน “ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย” (ต่อไปนี้จะเรียกว่า “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ”) (อภิชาต ยุกติ นิติ 2556) ที่ผมมีส่วนร่วมกับนักวิจัยในทีมทั้งหมด 6 คนในตอนแรก และ 9 คนในช่วงทำวิจัยใหญ่ [1] ผมก็ตื่นเต้นยินดีที่นานๆ จะมีนักวิชาการไทยอ่านงานนักวิชาการไทยด้วยกันเองอย่างเอาจริงเอาจังสักที 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะให้ผมเขียนเรื่องอุปสรรคขัดขวางโลกวิชาการไทยต่อการก้าวขึ้นสู่ความเป็นเลิศในระดับนานาชาติไปอีกเรื่อยๆ น่ะ ผมก็จะหาประเด็นมาเขียนไปได้อีกเรื่อยๆ นั่นแหละ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ถ้านับย้อนกลับไปถึงช่วงปีที่ผมเริ่มสนใจงานวิชาการจนเข้ามาทำงานเป็นอาจารย์ ก็อาจนับได้ไปถึง 25 ปีที่ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงในโลกวิชาการไทย ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่สำคัญคือการบริหารงานในมหาวิทยาลัย แต่ขอยกเรื่องนั้นเอาไว้ก่อน เพราะหากค่อยๆ ดูเรื่องย่อยๆ ไปเรื่อยๆ แล้วก็น่าจะช่วยให้เห็นอะไรมากขึ้นว่า การบริหารงานวิชาการในขณะนี้วางอยู่บนระบบแบบไหน เป็นระบบที่เน้นสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการในเชิงปริมาณหรือคุณภาพกันแน่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บอกอีกครั้งสำหรับใครที่เพิ่งอ่านตอนนี้ ผมเขียนเรื่องนี้ต่อเนื่องกันมาชิ้นนี้เป็นชิ้นที่ 5 แล้ว ถ้าจะไม่อ่านชิ้นอื่นๆ (ซึ่งก็อาจชวนงงได้) ก็ขอให้กลับไปอ่านชิ้นแรก ที่วางกรอบการเขียนครั้งนี้เอาไว้แล้ว อีกข้อหนึ่ง ผมยินดีหากใครจะเพิ่มเติมรายละเอียด มุมมอง หรือประสบการณ์ที่แตกต่างออกไป แต่ขอให้แสดงความเห็นแบบ "ช่วยกันคิด" หน่อยนะครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อันที่จริงวิทยานิพนธ์เป็นส่วนน้อยๆ ของโลกวิชาการอันกว้างใหญ่ และเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเป็นนักวิชาการ แต่วิทยานิพนธ์ก็เป็นผลงานที่อาจจะดีที่สุดของนักวิชาการส่วนใหญ่ แต่สังคมวิชาการไทยกลับให้คุณค่าด้อยที่สุด พูดอย่างนี้เหมือนขัดแย้งกันเอง ขอให้ผมค่อยๆ อธิบายก็แล้วกันครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ก่อนเริ่มพูดเรื่องนี้ ผมอยากชี้แจงสักหน่อยนะครับว่า ที่เขียนนี่ไม่ใช่จะมาบ่นเรื่อยเปื่อยเพื่อขอความเห็นใจจากสังคม แต่อยากประจานให้รู้ว่าระบบที่รองรับงานวิชาการไทยอยู่เป็นอย่างไร ส่วนจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร อย่าถามผมเลย เพราะผมไม่มีอำนาจ ไม่ต้องมาย้อนบอกผมด้วยว่า "คุณก็ก้มหน้าก้มตาทำงานไปให้ดีที่สุดก็แล้วกัน" เพราะถ้าไม่เห็นว่าสิ่งที่เล่าไปเป็นประเด็นก็อย่าสนใจเสียเลยดีกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมขอเริ่มที่เรืองซึ่งถือได้ว่าเป็นยาขมที่สุดของแวดวงมหาวิทยาลัยไทยเลยก็แล้วกัน ที่จริงว่าจะเขียนเรื่องการผลิตความรู้ก่อน แต่หนีไม่พ้นเรื่องการสอน เพราะนี่เป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการทำงานวิชาการในไทยมากถึงมากที่สุดเลยก็ว่าได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อผมมาสอนหนังสือถึงได้รู้ว่า วันครูน่ะ เขามีไว้ปลอบใจครู ก็เหมือนกับวันสตรี เอาไว้ปลอบใจสตรี วันเด็กเอาไว้หลอกเด็กว่าผู้ใหญ่ให้ความสำคัญ แต่ที่จริงก็เอาไว้ตีกินปลูกฝังอะไรที่ผู้ใหญ่อยากได้อยากเป็นให้เด็ก ส่วนวันแม่กับวันพ่อน่ะอย่าพูดถึงเลย เพราะหากจะช่วยเป็นวันปลอบใจแม่กับพ่อก็ยังจะดีเสียกว่าที่จะให้กลายเป็นวันฉวยโอกาสของรัฐไทยอย่างที่เป็นอยู่นี้