Skip to main content

ท่านถามอย่างนี้กับสื่อมวลชน ต่อหน้าสาธารณชน ใครเขาจะกล้าตอบ ก็ในเมื่อท่านมีปืนอยู่ในมือ ใครเอาปืนจี้หัวท่านไว้แล้วท่านจะตอบความในใจที่ขัดความรู้สึกเขาได้ไหมล่ะ เรื่องแค่นี้น่าจะเข้าใจนะ

 
ที่จริงประเทศชาติเสียหายตั้งแต่ท่านยังไม่ได้ยึดอำนาจแล้ว ตั้งแต่ท่านไม่ปกป้องประชาชนยังไม่พอแต่กลับร่วมสังหารประชาชนเมื่อปี 2553 แล้ว แต่ท่านไม่ยอมรับความผิดพลาดของตนเอง แล้วยังมาก่อความเสียหายเพิ่มอีก 
 
แต่ก็เอาล่ะ พูดกันดีๆ ก็ได้ คงมีหลายคนตอบคำถามนี้ไปแล้ว ผมแค่อยากตอบในแบบของผมบ้าง
 
ข้อแรก "ประชาชนสูญเสียสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน" สิ่งนี้ชาวโลกปัจจุบันเขาเรียกกันว่าสิทธิมนุษยชน (ไม่ทราบว่าเรียนกันบ้างไหมในโรงเรียนทหารน่ะ แล้วเรียนเพื่อให้ดื่มด่ำซึมซับหรือเรียนเพื่อหาวิธีละเมิดแบบนุ่มนวลไร้ร่องรอยกันแน่) ประเทศไทยก็ยอมรับสิ่งนี้ ถ้ารัฐบาลของท่านจะไม่ยอมรับก็ประกาศมาเลยตรงๆ ไม่ต้องอ้อมค้อมว่าเคารพแต่จะไม่ปฏิบัติตาม
 
เอาง่ายๆ นักวิชาการจะจัดสัมมนาให้ความรู้นักศึกษาและประชาชนเรื่องประชาธิปไตยแม้แต่ในรั้วมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้ ใครจะเดินขบวนประท้วงโดยสงบแม้ว่าจะเป็นเรื่องปากท้องก็ไม่ได้ ใครจะวิจารณ์ก็ไม่ได้ ฯลฯ แถมท่านยังไม่เคลียร์ว่าคนที่ถูกจับไปทำไมเขาต้องหนีเมื่อถูกปล่อยตัวมา ทำไมถูกจับเกินกำหนดเวลาของกฎหมาย ทำไมมีคำบอกเล่ามากมายว่าลูกน้องท่านทรมานหรือคุกคามว่าจะทำร้ายพวกเขา นี่ยังไม่นับการอ้างกฎหมาย 112 มาใช้คุกคามประชาชน
 
ข้อสอง "วิถีประชาธิปไตยหยุดชะงักลง" โดยไม่มีทีท่าว่าจะกลับมาได้ ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น พัฒนาการในระดับท้องถิ่นในระยะ 20 ปีที่ผ่านมาได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสำคัญ จนทำให้ประชาธิปไตยเริ่มลงหลักปักฐานในท้องถิ่น การระงับการเลือกตั้งท้องถิ่นส่งผลเสียหายอย่างร้ายแรงต่อการกระจายอำนาจ กระทบกระบวนการตัดสินใจในท้องถิ่น กระทบพัฒนาการของเครือข่ายประชาชนในท้องถิ่น
 
ผลเสียร้ายแรงคือการทำให้การเมืองแบบตัวแทนไร้ความหมาย ทำให้การเมืองไทยย้อนกลับไปสู่การเมืองที่ระบบตัวแทนล้มเหลวอีกครั้ง เนื่องจากการรวบอำนาจกลับคืนสู่กลุ่มบุคคลไม่กี่คน รวบอำนาจสู่ข้าราชการ นักธุรกิจ และนักวิชาการไม่กี่คน ยิ่งพวกท่านคงอำนาจไว้นานเท่าไหร่ ระบบประชาธิปไตยก็จะยิ่งเสื่อมทรามลง ประชาธิปไตยสมบูรณ์อะไรของท่านน่ะ ไม่ต้องพูดถึงหรอก ดูจากที่ท่านบริหารประเทศมาเกือบ 4 เดือนแล้ว ท่านไม่รู้ด้วยซ้ำว่าประชาธิปไตยคืออะไร จะมาสร้างความสมบูรณ์ให้ได้อย่างไร
 
ข้อสาม "สูญเสียธรรมาภิบาลของการบริหารประเทศ" หลักการข้อหนึ่งทำสำคัญของระบอบประชาธิปไตยในปัจจุบันคือการแยกอำนาจเพื่อตรวจสอบถ่วงดุลกันและกัน ทุกวันนี้ประชาชนไม่มีความเชื่อมั่นอะไรได้เลย เพราะไม่มีทางที่ประชาชนจะตรวจสอบการบริหารงานของพวกท่านได้ สภานิติบัญญัติพวกท่านก็ตั้งขึ้นเอง รัฐบาลพวกท่านก็ตั้งขึ้นเอง พวกท่านไม่มีโยงใยอะไรกับประชาชนเลย จะให้ประชาชนเชื่ออะไรได้ ท่านจะอยู่ในตำแหน่งนานแค่ไหนก็ไม่มีใครรู้ ขณะนี้แม้แต่อัยการสูงสูดยังหวั่นเกรงว่าท่านจะเข้ามาแทรกแซงการแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญของพวกเขาเลย
 
เมื่อไม่มีการตรวจสอบการใช้อำนาจโดยประชาชน แม้แต่วิจารณ์ก็ยังไม่ได้ ไม่ชอบ ไม่อยากฟัง หงุดหงิดไปหมด อยากจับไปหมด แล้วใครจะรับรองพวกท่าน จะให้เชื่อตามเพลงท่านอย่างเดียวน่ะเหรอ ไม่ตลกฝืดไปหน่อยหรือ มีเด็กอมมือที่ไหนเชื่อท่านบ้างถ้าท่านไม่มีปืนน่ะ ธรรมาภิบาลตามเสียงเพลงท่านน่ะเหรอ
 
ข้อสี่ "ทิศทางของประเทศสั่นคลอน" เมื่อไม่มีการตรวจสอบอำนาจรัฐได้อีกต่อไป อนาคตของประเทศจะไปทางไหนไม่มีทางรู้ ระบบเส้นสายจะกลับมาในระบบราชการ ทั้งจะมีสร้างเครือข่ายทางธุรกิจที่เอื้อกับคนบางกลุ่มบางพวก ท่านบอกเองว่าท่านไม่ได้มาจากประชาชน นโยบายท่านก็จึงไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชน พวกคนเก่งรายล้อมท่านน่ะ มีสักกี่คนกันที่เข้าใจตาสีตาสา มีสักกี่คนที่เอาใจชาวบ้านมาใส่ในนโยบาย 
 
เมื่ออำนาจการกำหนดชะตาของประเทศอยู่ในมือพวกท่านไม่กี่คนอย่างลึกลับตรวจสอบไม่ได้ ใครที่ไหนจะอยากมาลงทุนในประเทศนี้อีกต่อไป ท่านคิดว่าเงินทองที่ท่านใช้อยู่มาจากน้ำพักน้ำแรงของชาวไร่ชาวนาแล้วขายข้าวพวกนั้นมาซื้ออาวุธ มาหาน้องๆ หนูๆ บำเรอปรนเปรอพวกท่านได้เหรอ ท่านไม่ได้เข้าใจอะไรง่ายๆ แค่นั้นใช่ไหม เงินตราต่างประเทศที่เข้ามาจับจ่ายใช้สอยในรูปการท่องเที่ยว ที่มาลงทุนในโครงการต่างๆ ท่านจะบอกว่าไม่สำคัญเหรอ แล้วถ้าพวกเขาไม่มั่นใจที่จะมาเที่ยว ไม่รู้ว่าลงทุนไปแล้วอนาคตพวกคนเก่งรอบตัวท่านจะเสนอนโยบายอะไร ใครจะอยากมาลงทุน
 
ข้อห้า "ทำลายการศึกษา" ข้อนี้เป็นความสนใจส่วนตัวของผมเองในฐานะคนในระบบการศึกษา ค่านิยม 12 ประการของท่านไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาความคิดความอ่านเลย หากไม่นับการลิดรอนเสรีภาพที่พวกท่านทำกันรายวันแล้ว ค่านิยม 12 ประการกลับส่งเสริมระบบคุณค่าแบบอาวุโส อำนาจนิยม และลดทอนคุณค่าความเป็นคนให้อยู่ใต้ความนิยมต่อความเชื่อไร้เหตุผล สร้างความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับวัฒนธรรมไทย ความเป็นไทย ทั้งยังส่งเสริมระบอบที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาความก้าวหน้าของสังคม
 
นอกจากนั้น การหว่านโปรยเศษอำนาจของพวกท่านให้กับผู้บริหารมหาวิทยาลัยส่งผลเสียต่อการบริหารมหาวิทยาลัยอย่างร้ายแรง เอาง่ายๆ ว่า จะเป็นไปได้อย่างไรที่ใครจะสามารถทำงานเต็มเวลาได้มากกว่าหนึ่งงาน ท่านนายกรัฐมนตรีเองก็เหมือนกัน ที่ทำอยู่ทุกวันนี้หลายๆ ตำแหน่งน่ะ ทำได้ดีสักตำแหน่งหรือ ผลเสียอีกประการที่สำคัญคือ เมื่อผู้บริหารมหาวิทยาลัยเข้าไปรับใช้เผด็จการแล้ว เสรีภาพในการแสดงออกในมหาวิทยาลัยจะยังมีอยู่ได้อย่างไร หากการศึกษาไม่ได้วางอยู่บนเสรีภาพในการแสดงออก การศึกษาจะก้าวหน้าไปได้อย่างไร
 
ข้อหก "ทำลายชื่อเสียงของประเทศชาติ" ชื่อเสียงของประเทศชาติย่อยยับไปตั้งแต่วินาทีที่ท่านทำรัฐประหารแล้ว นี่ท่านยังไม่รู้ตัวอีกหรือ ไม่มีใครบอกความจริงข้อนี้กับท่านบ้างเลยหรือ แล้วการแสดงปาฐกถารายสัปดาห์ของท่าน การแสดงทัศนะต่อเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ของท่าน การใช้คำพูดดูถูกผู้เคราะห์ร้ายเสียชีวิตของท่าน การพูดจาดูหมิ่นคนที่ท่านกล่าวหาว่าเป็นอาชญากร ตลอดจนการใช้วาจาที่ไม่รู้จักระงับควบคุมตัวเอง ตีสำนวนราวกับไม่รู้ฐานะว่าตนเองเป็นผู้นำของชาติอยู่ ใช้วาจาไม่เคารพให้เกียรติประชาชนที่จ่ายภาษีเลี้ยงดูพวกท่านอยู่
 
เหล่านี้ทำลายชื่อเสียงของประเทศชาติอย่างย่อยยับ ทำให้ไทยกลายเป็นเมืองที่น่าขบขันปนน่าสมเพชมากกว่าตลกอย่างบันเทิง ทำให้คนไทยทั้งชาติดูเป็นคนไม่รู้กาละเทศะแบบผู้นำ ทำให้คนไทยดูเสื่อมทรามทางมนุษยธรรมที่กล่าวร้ายได้แม้กระทั่งเหยื่อของอาชญากรรม ฯลฯ เสื่อมเสียความน่าคบหา ไม่น่ามาเยี่ยมเยือน น่าอับอายในหลายด้านเสียจนสุดจะพรรณนาในพื้นที่แคบๆ ได้
 
แค่นี้เพียงพอไหมที่จะตอบว่าประเทศชาติเสียหายอะไรบ้างตั้งแต่วินาทีที่ท่านทำรัฐประหารเข้ามาบริหารประเทศ
 
 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (24 ธันวาคม 2555) กสทช.เชิญให้ผมไปร่วมแสดงความเห็นในเวทีเสวนาสาธารณะ “1 ปี กสทช. กับความ (ไม่) สมหวังของสังคมไทย” ทีแรกผมไม่คิดว่าตนเองจะสามารถไปวิจารณ์อะไรกสทช.ได้ แต่ผู้จัดยืนยันว่าต้องการมุมมองแบบมานุษยวิทยา ผมจึงตกปากรับคำไป 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อโต้แย้งต่อความเห็นผมจากของเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ที่ลงในมติชนออนไลน์ (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1355920241&grpid=03&catid=&subcatid=) ย้ำให้เห็นชัดถึงความอับจนของกรอบคิดของคนกลุ่มนี้ต่อไปนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไม่เพียงแต่นักเขียนบางคนเท่านั้นที่อาจจะไม่เข้าใจหรือมองข้ามประเด็นความแตกต่างทางชาติพันธ์ุ แต่ผมคิดว่าแวดวงภาษาและวรรณกรรมบ้านเราอาจจะไม่ตระหนักถึงปัญหานี้โดยรวมเลยก็ได้ และในแง่หนึ่ง ผมคิดว่าซีไรต์เองอาจจะมีส่วนสร้างวัฒนธรรมไม่อ่อนไหวต่อความแตกต่างทางวัฒนธรรมด้วยเช่นกัน และถึงที่สุดแล้ว นี่อาจจะกลายเป็นข้อจำกัดที่ปิดกั้นโอกาสที่วรรณกรรมไทยจะก้าวเข้าสู่ระดับสากล
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทัศนะของนายแพทย์ที่เป็นตัวแทนของคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ แสดงให้เห็นถึงความคิดคับแคบของผู้มีอำนาจกลุ่มหนึ่ง ที่มักใช้อำนาจก้าวก่ายชีวิตผู้คน บนความไม่รู้ไม่เข้าใจไม่อยากรับผิดชอบต่อปัญหาเชิงโครงสร้างที่ละเอียดอ่อน และบนกรอบข้ออ้างเรื่องคุณธรรมความดีที่ยกตนเองเหนือคนอื่น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แทนที่จะเถียงกับอีกท่านหนึ่งที่วิจารณ์ผมต่อหน้ามากมายเมื่อวาน ผมขอใช้พลังงานเถียงกับข้อเสนอล่าสุดของอาจารย์ธีรยุทธ บุญมีจากข่าวในมติชนออนไลน์ (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1354935625&grpid=01&catid=&subcatid=) ดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นึกไม่ถึงและนึกไม่ออกจริงๆ ว่า ทำไมคนเปิดร้านขายหนังสือในปลายศตวรรษที่ 20 - ต้น 21 จะมีความคิดแบบนี้ได้ นี่แสดงว่าเขาไม่ได้อ่านหนังสือที่เขาขายบ้างเลย หรือนี่แสดงว่าการอ่านหนังสือไม่ได้ช่วยจรรโลงจิตใจนายทุนบางคนขึ้นมาได้เลย*
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 เมื่ออ่านข่าวแอร์โฮสเตสที่เพิ่งถูกให้ออก ผมมีคำถามหลายข้อ ทั้งในมิติของโซเชียลมีเดีย hate speech และสิทธิแรงงาน อย่างไรก็ดี ขอเคลียร์ก่อนว่าหากใครทราบจุดยืนทางการเมืองของผม ย่อมเข้าใจดีว่าความเห็นต่อไปนี้ไม่ได้มาจากความเห็นทางการเมืองที่เอนเอียงไปในทางเดียวกับพนักงานสายการบินคนนี้แต่อย่างใด ข้อสังเกตคือ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขณะกำลังนั่งกินหอยแครงลวกอยู่เวลานี้ ก็ชวนให้คิดถึงคำพูดของนักวิชาการกัมพูชาคนหนึ่ง ที่เคยนั่งต่อหน้าอาหารเกาหลีจานพิเศษ คือหนอนทะเลดิบตัดเป็นชิ้นๆ ขยับตัวดึบๆ ดึบๆ อยู่ในจานแม้จะถูกตั้งทิ้งไว้เป็นชั่วโมง ตอนนั้น ผมบ่ายเบี่ยงไม่กล้ากินอยู่นาน แม้จะรู้ว่าเป็นอาหารพิเศษราคาแพงที่ศาสตราจารย์ชาวเกาหลีสรรหามาเลี้ยงต้อนรับการมาเกาหลีครั้งแรกของพวกเราหลายคน เพื่อนกัมพูชาบอกว่า "กินเถอะพี่ หอยแครงลวกในเมืองไทยน่ากลัวกว่านี้อีก" ผมจึงหาเหตุที่จะหลบเลี่ยงอีกต่อไปไม่ได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมนั่งดูบันทึกรายการ The Voice Thailand (เดอะวอยซ์) เป็นประจำ แม้ว่าจะเห็นคล้อยตามคำนิยมของโค้ชทั้ง 4 อยู่บ่อยๆ แถมยังแอบติดตามความเห็นเปรี้ยวๆ ของนักเขียนบางคนที่ชอบเรียกตนเองสวนทางกับวัยเธอว่า "ป้า" ซึ่งหมดเงินกดโหวตมากมายให้นักร้องหนุ่มน้อยแนวลูกทุ่ง แต่ผมไม่ได้รับความบันเทิงจากเดอะวอยซ์เพียงจากเสียงเพลง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมพยายามถามตัวเองว่า การจะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนการชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยามที่นำโดย "เสธ.อ้าย" จะมาจากเหตุผลประการใดบ้าง แต่ผมก็ชักจะเริ่มไม่แน่ใจว่า เอาเข้าจริง คนที่เข้าร่วมชุมนุมกับเสธ.อ้ายจะมีเหตุผลหรือไม่ หรือหากมี พวกเขาจะใช้เหตุผลชุดไหนกันในการเข้าร่วมชุมนุม ยังไงก็ตาม อยากถามพวกคุณที่ไปชุมนุมว่า พวกคุณอยากให้ประเทศเป็นอย่างนี้จริงๆ หรือ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (20 พฤศจิกายน 2555) นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชิญไปบรรยายในงานสัมมนา "การเมืองเรื่องคนธรรมดา" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ขอตัดส่วนหนึ่งของบทบรรยายของผมที่ใช้ชื่อว่า "การเมืองวัฒนธรรมดา: ความไม่ธรรมดาของสามัญชน" มาเผยแพร่ในที่นี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 เมื่อ 16 พฤศจิกายน 2555 นิสิตรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเชิญไปร่วมกิจกรรมจุฬาวิชาการ โดยให้ไปวิจารณ์บทความนิสิตปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ 4 ชิ้น 1) ว่าด้วยเบื้องหลังทางการเมืองของการก่อตั้งองค์การอาเซียน 2) ว่าด้วยบทบาทและการต่อรองระหว่างประเทศในอาเซียน 3) ว่าด้วยการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าของธุรกิจเอกชนไทยในคู่ค้าอาเซียน และ 4) ว่าด้วยนโยบายชนกลุ่มชาติพันธ์ุในพม่า ข้างล่างนี้คือบันทึกบทวิจารณ์