Skip to main content

ผ่านมาได้ 3 สัปดาห์ วิชาที่ผมสอนที่วิสคอนซินเริ่มสนุกขึ้นเรื่อยๆ ในห้องมีนักเรียน 10 คน ขนาดพอๆ กับที่เคยสอนที่ธรรมศาสตร์ แต่ที่ต่างคือในห้องเดียวกันนี้มีทั้งนักเรียนปริญญาตรี โท และเอกเรียนร่วมกัน เพียงแต่ข้อกำหนดของงานและความคาดหวังจากนักเรียนระดับ ป.ตรีกับ ป.โท-เอก ย่อมแตกต่างกัน

ที่น่าสนใจคือมีนักเรียนจากหลากหลายสาขามาร่วมเรียน ที่พิเศษที่สุดคือมีนักเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์คนหนึ่งมานั่งเรียน นอกนั้นก็จากภาควิชาต่างๆ เช่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ภาษาและวรรณคดีเอเชีย  ภาษาศาสตร์ และจากมานุษยวิทยา  

ประสบการณ์ทางภาษาและที่มาที่ไปทางชาติพันธ์ุก็ทำให้ชั้นเรียนยิ่งนี้น่าสนุกเข้าไปอีก มีคนอเมริกันฝรั่งเศส อเมริกันฟินนิช คนแรกพูดฝรั่งเศสและอีกคนพูดฟินนิชได้ มีอเมริกันที่ไม่แสดงชาติพันธ์ุอื่นอยู่สองคน คนหนึ่งรู้ภาษาสเปนอีกคนเรียนภาษาลาวและเคยเป็นครูภาษาอังกฤษ มีคนม้งอเมริกันที่พูดภาษาอังกฤษ ไทย ม้ง จีนกลาง แต้จิ๋ว และภาษาอื่นๆ ที่เขากำลังเรียนอยู่

อีกห้าคนมาจากเอเชีย มีคนจีนแผ่นดินใหญ่สองคนที่พูดภาษาจีนกลางและกวางตุ้ง คนหนึ่งเป็นชาวเกาหลีที่เคยไปอยู่อินโดนีเชีย อีกคนเป็นชาวซาอุดิอาระเบีย น่าจะพูดภาษาอาหรับได้ อีกคนเป็นคนไทยที่กำลังเรียนภาษาพม่า สรุปแล้ววิชานี้ทุกคนเป็น bilingual, trilingual, multilingual กันทั้งสิ้น

วันแรกผมฉายหนังเรื่อง "The Class" (Entre les murs) แล้วสัปดาห์ต่อมามาถกเถียงกัน หนังพูดเรื่องครูสอนภาษาฝรั่งเศสคนหนึ่ง ในโรงเรียนมัธยมปลายที่นักเรียนเป็นคนจากชาติพันธ์ุต่างๆ ที่อพยพมาอยู่ฝรั่งเศส ห้องเรียนนี้จึงเต็มไปด้วยประเด็นทางภาษาทั้งในระดับที่ชัดเจนคือการเรียนภาษาฝรั่งเศส กับในระดับที่ซับซ้อนคือในประสบการณ์และวิธีคิดทางภาษาของนักเรียนกันเองและของนักเรียนกับครูที่แตกต่างกัน

ในห้องเรียนที่ผมสอน ได้ข้อถกเถียงจากหนังเรื่องนี้มากมาย โดยเฉพาะที่มาจากมุมมองของแต่ละคนที่มีประสบการณ์แตกต่างกัน ประเด็นหนึ่งที่หลายคนในห้องรู้สึกร่วมกันคือการมีประสบการณ์เป็นคนต่างถิ่น เป็นชนกลุ่มน้อย ที่ต้องเรียนภาษาของประเทศที่ใช้ภาษาอื่น นักเรียนเกินครึ่งหนึ่งของห้องนี้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง แม้แต่คนอเมริกันเอง สองคนก็เล่าประสบการณ์ในครอบครัว ที่พยายามไม่สอนลูกหลานให้ใช้ภาษาฝรั่งเศสและฟินนิช เนื่องจากไม่อยากให้เด็กๆ ติดสำเนียง พูดอังกฤษแบบอเมริกันไม่ชัด ซึ่งจะทำให้มีปัญหาการใช้ชีวิตภายหลังได้

มีนักเรียนคนหนึ่งเป็นชาวอเมริกัน เคยเป็นครูสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนในรัฐมิสซูรี สะท้อนให้ฟังนอกห้องเรียนว่าเขามีประสบการณ์ทำนองเดียวกับครูสอนฝรั่งเศสในหนังที่ดู นักเรียนคนอเมริกันภาคใต้ที่ส่วนใหญ่เป็นคนดำ รับไม่ได้กับภาษาอังกฤษที่เขาสอนให้ มีทั้งวิธีการใช้ภาษา ไวยากรณ์ และคำศัพท์ที่เข้ากันไม่ได้กับชีวิตพวกเขา

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาเป็นการเรียนสัปดาห์ที่สาม ผมให้นักเรียนอ่านเกี่ยวกับวิธีการศึกษาภาษาแบบนักภาษาศาสตร์ นักเรียนภาษาศาสตร์สองคนในห้องบอกว่านี่มันง่ายมากสำหรับพวกเขา แต่สำหรับนักเรียนที่ยังไม่ได้เรียนภาษาศาสตร์ บ่นกันอุบว่ายากมาก แต่ในที่สุดห้องเรียนก็กลายเป็นห้องถกเถียงแลกเปลี่ยนกันเรื่องภาษาอย่างสนุกสนาน แต่ละคนนำเอาประสบการณ์การใช้ภาษาของตนมาแลกเปลี่ยนกัน เป็นการเรียนจากประสบการณ์ส่วนตนของแต่ละคนจริงๆ

ผมเปิดคลิปจากยูทูปชื่อ "Chewbacca Sound Tutorial" เพื่ออธิบายความแตกต่างระหว่าง phonetics กับ phonemics คลิปนี้เป็นตัวอย่างของ phonetics คือการศึกษาการออกเสียงของชิวเบกกา ตัวละครหน้าขนในสตาร์วอร์ (ยังดีที่คนรุ่นหลานในห้องดูสตาร์วอร์กันบ้าง) ส่วน phonemics เปิดประสบการณ์การคิดเกี่ยวกับภาษาของพวกเขาหลายคนมาก  

เช่นการที่เสียงสูงต่ำไม่มีความหมายในภาษาทางยุโรปแต่มันมีความหมายมากในภาษาจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นักเรียนอเมริกันคนหนึ่งงงมากที่ทำไมเสียงที่แตกต่างกันในภาษาอังกฤษของเขา มันกลับไม่ได้หมายถึงเสียงที่แตกต่างกันในสำนึกของคนอเมริกัน แต่เธอก็เล่าว่า เธอต้องเคยเข้าคอร์สฝึกออกเสียงอักษร "r" ตามแบบอเมริกัน เพราะตอนเด็กๆ เธอออกเสียงเป็น "w" นักเรียนอเมริกันคนหนึ่งตั้งคำถามน่าสนใจว่า เสียงสูง-ต่ำในภาษาอังกฤษก็มีความหมายไม่ใช่หรือ นักเรียนภาษาศาสตร์อเมริกันตอบว่า เขาเรียกว่าเป็นความหมายทาง semantics อยู่ในกระบวนการการใช้ภาษา ไม่ใช่ความหมายที่ฝังอยู่ในตัวคำศัพท์เองเลยแบบภาษาในเอเชีย

อีกคลิปที่เปิดแล้วนักเรียนชอบมากคือ "History of English in Ten Munites" ที่เล่าพัฒนาการของภาษาอังกฤษ เมื่อเปิดคลิปนี้ดูแล้วถกเถียงเรื่องการแบ่งแยกว่าภาษาอะไรเป็นภาษาอะไร หรือความเป็น "ตัวตน" ที่ตายตัวของภาษา การระบุขอบเขตที่ชัดเจนของภาษาราวกับว่าภาษาจะไม่เปลี่ยนแปลงจากปัจจัยภายนอกต่างๆ โดยเชื่อมโยงกับบทความเรื่อง "Areal Linguistics and Maninland Southeast Asia" ที่เสนอให้ศึกษาความเชื่อมโยงและการหยิบยืมติดต่อกันระหว่างภาษาต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ทำให้เราไม่สามารถจะแยกภาษาต่างๆ ในภูมิภาคนี้ออกจากกันได้ง่ายๆ  

การแลกเปลี่ยนประเด็นนี้ในห้องเชื่อมโยงกับที่นักเรียนคนหนึ่งถามว่า ในซีกโลกอื่นมีการสอนภาษาศาสตร์ที่แตกต่างกันไปจากแบบตะวันตกไหม ตัวอย่างเรื่อง "ภาษาจีน" เป็นตัวอย่างที่ดีข้อหนึ่งที่รัฐพยายามกลืนกลายอัตลักษณ์ของภาษาให้ภาษาที่แตกต่างกันจำนวนมาก กลายเป็น "ภาษาจีน" ไปหมด ประเด็นนี้ทำให้นักศึกษาจีนที่เติบโตในปักกิ่งออกมาบอกหลังห้องเรียนเลิกว่า เธอเพิ่งรู้ว่าภาษาจีนอื่นๆ นั้นไม่ใช่แค่ "สำเนียง" แต่มันเป็นคนละภาษาเลยทีเดียว  

ข้อสรุปที่สำคัญข้อหนึ่งที่ได้คือ ตกลงเราจะสามารถใช้อะไรเป็นเกณฑ์แบ่งว่าภาษาอะไรแตกต่างจากภาษาอะไร หรือที่สุดแล้วเราแยกภาษาที่อยู่ใกล้ๆ กันออกจากกันไม่ได้ แต่ก็ไม่ควรทึกทักรวมเอาภาษาต่างๆ เข้ามาไว้ด้วยกันแบบ "ภาษาจีน" ได้ง่ายๆ

ชั้นเรียนนี้น่าจะสนุกยิ่งขึ้นเรื่อยๆ หากมีอะไรน่าสนใจในสัปดาห์ต่อไปจะมาเล่าอีกครับ

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
รัฐประหารครั้งนี้มีอะไรใหม่ๆ หลายอย่าง ผมไม่เรียกว่าเป็นนวัตกรรมหรอก เพราะนวัตกรรมเป็นคำเชิงบวก แต่ผมเรียกว่าเป็นนวัตหายนะ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในภาคการศึกษาที่ผ่านมา ผมสอนหนังสืออยู่ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน เนื่องจากเป็นการสอนชั่วคราว จึงรับผิดชอบสอนเพียงวิชาเดียว แต่ผมก็เป็นเจ้าของวิชาอย่างเต็มตัว จึงได้เรียนรู้กระบวนการจัดการเรียนการสอนที่นี่เต็มที่ตลอดกระบวนการ มีหลายอย่างที่น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย จึงอยากบันทึกไว้ ณ ที่นี้ ให้ผู้อ่านชาวไทยได้ทราบกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (เวลาในประเทศไทย) เป็นวันเด็กในประเทศไทย ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ผมเดินทางไปดูกิจกรรมต่างๆ ในประเทศซึ่งผมพำนักอยู่ขณะนี้จัดด้วยความมุ่งหวังให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ แล้วก็ให้รู้สึกสะท้อนใจแล้วสงสัยว่า เด็กไทยเติบโตมากับอะไร คุณค่าอะไรที่เราสอนกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สิ้นปีเก่าขึ้นปีใหม่ปีนี้ไม่ค่อยชวนให้ผมรู้สึกอะไรมากนัก ความหดหู่จากเหตุการณ์เมื่อกลางปีที่แล้วยังคงเกาะกุมจิตใจ ยิ่งมองย้อนกลับไปก็ยิ่งยังความโกรธขึ้งและสิ้นหวังมากขึ้นไปอีก คงมีแต่การพบปะผู้คนนั่นแหละที่ชวนให้รู้สึกพิเศษ วันสิ้นปีก็คงจะดีอย่างนี้นี่เอง ที่จะได้เจอะเจอคนที่ไม่ได้เจอกันนานๆ สักครั้งหนึ่ง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเพิ่งกลับจากชิคาโก เดินทางไปสำรวจพิพิธภัณฑ์กับแขกผู้ใหญ่จากเมืองไทย ท่านมีหน้าที่จัดการด้านพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ก็เลยพลอยได้เห็นพิพิธภัณฑ์จากมุมมองของคนจัดพิพิธภัณฑ์ คือเกินเลยไปจากการอ่านเอาเรื่อง แต่อ่านเอากระบวนการจัดทำพิพิธภัณฑ์ด้วย แต่ส่วนตัวผมเองก็ไม่ได้อะไรมากนักหรอก แค่ติดตามเขาไปแล้วก็เรียนรู้เท่าที่จะได้มามากบ้างน้อยบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวันส่งท้ายปีเก่าพาแขกชาวไทยคนหนึ่งไปเยี่ยมชมภาควิชามานุษยวิทยาของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ก็เลยทำให้ได้รู้จักอีก 2 ส่วนของภาควิชามานุษยวิทยาที่นี่ว่ามีความจริงจังลึกซึ้งขนาดไหน ทั้งๆ ที่ก็ได้เคยเรียนที่นี่มา และได้กลับมาสอนหนังสือที่นี่ แต่ก็ไม่เคยรู้จักที่นี่มากเท่าวันนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วาทกรรม "ประชาธิปไตยแบบไทย" ถูกนำกลับมาใช้เสมอๆ เพื่อลดทอนความน่าเชื่อถือของแนวคิดประชาธิปไตยสากล 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นข่าวงาน "นิธิ 20 ปีให้หลัง" ที่ "มติชน" แล้วก็น่ายินดีในหลายสถานด้วยกัน  อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์มีคนรักใคร่นับถือมากมาย จึงมีแขกเหรื่อในวงการนักเขียน นักวิชาการ ไปร่วมงานเป็นจำนวนมาก เรียกว่ากองทัพปัญญาชนต่างตบเท้าไปร่วมงานนี้กันเลยทีเดียว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (12 ธค. 2557) ปิดภาคการศึกษาแล้ว เหลือรออ่านบทนิพนธ์ทางมานุษยวิทยาภาษาของนักศึกษา ที่ผมให้ทำแทนการสอบปลายภาค เมื่อเหลือเวลาอีก 15 นาทีสุดท้าย ตามธรรมเนียมส่วนตัวของผมแล้ว ในวันปิดสุดท้ายของการเรียน ผมมักถามนักศึกษาว่าพวกเขาได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ที่ไม่ได้เคยเรียนมาก่อนจากวิชานี้บ้าง นักศึกษาทั้ง 10 คนมีคำตอบต่างๆ กันดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเพิ่งมีโอกาสได้ดูภาพยนตร์ (ขอเรียกง่ายๆ ว่า "หนัง" ก็แล้วกันครับ) เรื่องที่เป็นประเด็นใหญ่เมื่อ 2-3 วันก่อน ที่จริงก็ถ้าไม่มีเพื่อนๆ ถกเถียงกันมากมายถึงฉากเด็กวาดรูปฮิตเลอร์ ผมก็คงไม่อยากดูหรอก แต่เมื่อดูแล้วก็คิดว่า หนังเรื่องนี้สะท้อนความล้มเหลวของการรัฐประหารครั้งนี้ได้อย่างดี มากกว่านั้นคือ สะท้อนความลังเล สับสน และสับปลับของสังคมไทยได้เป็นอย่างดี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเป็นคนหนึ่งที่ยืนยันแม้จะไม่ถึงกับต่อต้านมาตลอดว่า เราไม่ควรเปิดโครงการนานาชาติในประเทศไทย ด้วยเหตุผลสำคัญ 2-3 ประการ หนึ่ง อยากให้ภาษาไทยพัฒนาไปตามพัฒนาการของความรู้สากล สอง คิดว่านักศึกษาไทยจะเป็นผู้เรียนเสียส่วนใหญ่และจึงจะทำให้ได้นักเรียนที่ภาษาไม่ดีพอ การศึกษาก็จะแย่ตามไปด้วย สาม อาจารย์ผู้สอน (รวมทั้งผมเอง) ก็ไม่ได้ภาษาอังกฤษดีมากนัก การเรียนการสอนก็จะยิ่งตะกุกตะกัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายปีที่ผ่านมา สังคมปรามาสว่านักศึกษาเอาใจใส่แต่ตัวเอง ถ้าไม่สนใจเฉพาะเสื้อผ้าหน้าผม คอสเพล มังหงะ กับกระทู้ 18+ ก็เอาแต่จมดิ่งกับการทำความเข้าใจตนเอง ประเด็นอัตลักษณ์ บริโภคนิยม เพศภาวะ เพศวิถี เกลื่อนกระดานสนทนาที่ซีเรียสจริงจังเต็มไปหมด