Skip to main content

ผ่านมาได้ 3 สัปดาห์ วิชาที่ผมสอนที่วิสคอนซินเริ่มสนุกขึ้นเรื่อยๆ ในห้องมีนักเรียน 10 คน ขนาดพอๆ กับที่เคยสอนที่ธรรมศาสตร์ แต่ที่ต่างคือในห้องเดียวกันนี้มีทั้งนักเรียนปริญญาตรี โท และเอกเรียนร่วมกัน เพียงแต่ข้อกำหนดของงานและความคาดหวังจากนักเรียนระดับ ป.ตรีกับ ป.โท-เอก ย่อมแตกต่างกัน

ที่น่าสนใจคือมีนักเรียนจากหลากหลายสาขามาร่วมเรียน ที่พิเศษที่สุดคือมีนักเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์คนหนึ่งมานั่งเรียน นอกนั้นก็จากภาควิชาต่างๆ เช่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ภาษาและวรรณคดีเอเชีย  ภาษาศาสตร์ และจากมานุษยวิทยา  

ประสบการณ์ทางภาษาและที่มาที่ไปทางชาติพันธ์ุก็ทำให้ชั้นเรียนยิ่งนี้น่าสนุกเข้าไปอีก มีคนอเมริกันฝรั่งเศส อเมริกันฟินนิช คนแรกพูดฝรั่งเศสและอีกคนพูดฟินนิชได้ มีอเมริกันที่ไม่แสดงชาติพันธ์ุอื่นอยู่สองคน คนหนึ่งรู้ภาษาสเปนอีกคนเรียนภาษาลาวและเคยเป็นครูภาษาอังกฤษ มีคนม้งอเมริกันที่พูดภาษาอังกฤษ ไทย ม้ง จีนกลาง แต้จิ๋ว และภาษาอื่นๆ ที่เขากำลังเรียนอยู่

อีกห้าคนมาจากเอเชีย มีคนจีนแผ่นดินใหญ่สองคนที่พูดภาษาจีนกลางและกวางตุ้ง คนหนึ่งเป็นชาวเกาหลีที่เคยไปอยู่อินโดนีเชีย อีกคนเป็นชาวซาอุดิอาระเบีย น่าจะพูดภาษาอาหรับได้ อีกคนเป็นคนไทยที่กำลังเรียนภาษาพม่า สรุปแล้ววิชานี้ทุกคนเป็น bilingual, trilingual, multilingual กันทั้งสิ้น

วันแรกผมฉายหนังเรื่อง "The Class" (Entre les murs) แล้วสัปดาห์ต่อมามาถกเถียงกัน หนังพูดเรื่องครูสอนภาษาฝรั่งเศสคนหนึ่ง ในโรงเรียนมัธยมปลายที่นักเรียนเป็นคนจากชาติพันธ์ุต่างๆ ที่อพยพมาอยู่ฝรั่งเศส ห้องเรียนนี้จึงเต็มไปด้วยประเด็นทางภาษาทั้งในระดับที่ชัดเจนคือการเรียนภาษาฝรั่งเศส กับในระดับที่ซับซ้อนคือในประสบการณ์และวิธีคิดทางภาษาของนักเรียนกันเองและของนักเรียนกับครูที่แตกต่างกัน

ในห้องเรียนที่ผมสอน ได้ข้อถกเถียงจากหนังเรื่องนี้มากมาย โดยเฉพาะที่มาจากมุมมองของแต่ละคนที่มีประสบการณ์แตกต่างกัน ประเด็นหนึ่งที่หลายคนในห้องรู้สึกร่วมกันคือการมีประสบการณ์เป็นคนต่างถิ่น เป็นชนกลุ่มน้อย ที่ต้องเรียนภาษาของประเทศที่ใช้ภาษาอื่น นักเรียนเกินครึ่งหนึ่งของห้องนี้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง แม้แต่คนอเมริกันเอง สองคนก็เล่าประสบการณ์ในครอบครัว ที่พยายามไม่สอนลูกหลานให้ใช้ภาษาฝรั่งเศสและฟินนิช เนื่องจากไม่อยากให้เด็กๆ ติดสำเนียง พูดอังกฤษแบบอเมริกันไม่ชัด ซึ่งจะทำให้มีปัญหาการใช้ชีวิตภายหลังได้

มีนักเรียนคนหนึ่งเป็นชาวอเมริกัน เคยเป็นครูสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนในรัฐมิสซูรี สะท้อนให้ฟังนอกห้องเรียนว่าเขามีประสบการณ์ทำนองเดียวกับครูสอนฝรั่งเศสในหนังที่ดู นักเรียนคนอเมริกันภาคใต้ที่ส่วนใหญ่เป็นคนดำ รับไม่ได้กับภาษาอังกฤษที่เขาสอนให้ มีทั้งวิธีการใช้ภาษา ไวยากรณ์ และคำศัพท์ที่เข้ากันไม่ได้กับชีวิตพวกเขา

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาเป็นการเรียนสัปดาห์ที่สาม ผมให้นักเรียนอ่านเกี่ยวกับวิธีการศึกษาภาษาแบบนักภาษาศาสตร์ นักเรียนภาษาศาสตร์สองคนในห้องบอกว่านี่มันง่ายมากสำหรับพวกเขา แต่สำหรับนักเรียนที่ยังไม่ได้เรียนภาษาศาสตร์ บ่นกันอุบว่ายากมาก แต่ในที่สุดห้องเรียนก็กลายเป็นห้องถกเถียงแลกเปลี่ยนกันเรื่องภาษาอย่างสนุกสนาน แต่ละคนนำเอาประสบการณ์การใช้ภาษาของตนมาแลกเปลี่ยนกัน เป็นการเรียนจากประสบการณ์ส่วนตนของแต่ละคนจริงๆ

ผมเปิดคลิปจากยูทูปชื่อ "Chewbacca Sound Tutorial" เพื่ออธิบายความแตกต่างระหว่าง phonetics กับ phonemics คลิปนี้เป็นตัวอย่างของ phonetics คือการศึกษาการออกเสียงของชิวเบกกา ตัวละครหน้าขนในสตาร์วอร์ (ยังดีที่คนรุ่นหลานในห้องดูสตาร์วอร์กันบ้าง) ส่วน phonemics เปิดประสบการณ์การคิดเกี่ยวกับภาษาของพวกเขาหลายคนมาก  

เช่นการที่เสียงสูงต่ำไม่มีความหมายในภาษาทางยุโรปแต่มันมีความหมายมากในภาษาจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นักเรียนอเมริกันคนหนึ่งงงมากที่ทำไมเสียงที่แตกต่างกันในภาษาอังกฤษของเขา มันกลับไม่ได้หมายถึงเสียงที่แตกต่างกันในสำนึกของคนอเมริกัน แต่เธอก็เล่าว่า เธอต้องเคยเข้าคอร์สฝึกออกเสียงอักษร "r" ตามแบบอเมริกัน เพราะตอนเด็กๆ เธอออกเสียงเป็น "w" นักเรียนอเมริกันคนหนึ่งตั้งคำถามน่าสนใจว่า เสียงสูง-ต่ำในภาษาอังกฤษก็มีความหมายไม่ใช่หรือ นักเรียนภาษาศาสตร์อเมริกันตอบว่า เขาเรียกว่าเป็นความหมายทาง semantics อยู่ในกระบวนการการใช้ภาษา ไม่ใช่ความหมายที่ฝังอยู่ในตัวคำศัพท์เองเลยแบบภาษาในเอเชีย

อีกคลิปที่เปิดแล้วนักเรียนชอบมากคือ "History of English in Ten Munites" ที่เล่าพัฒนาการของภาษาอังกฤษ เมื่อเปิดคลิปนี้ดูแล้วถกเถียงเรื่องการแบ่งแยกว่าภาษาอะไรเป็นภาษาอะไร หรือความเป็น "ตัวตน" ที่ตายตัวของภาษา การระบุขอบเขตที่ชัดเจนของภาษาราวกับว่าภาษาจะไม่เปลี่ยนแปลงจากปัจจัยภายนอกต่างๆ โดยเชื่อมโยงกับบทความเรื่อง "Areal Linguistics and Maninland Southeast Asia" ที่เสนอให้ศึกษาความเชื่อมโยงและการหยิบยืมติดต่อกันระหว่างภาษาต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ทำให้เราไม่สามารถจะแยกภาษาต่างๆ ในภูมิภาคนี้ออกจากกันได้ง่ายๆ  

การแลกเปลี่ยนประเด็นนี้ในห้องเชื่อมโยงกับที่นักเรียนคนหนึ่งถามว่า ในซีกโลกอื่นมีการสอนภาษาศาสตร์ที่แตกต่างกันไปจากแบบตะวันตกไหม ตัวอย่างเรื่อง "ภาษาจีน" เป็นตัวอย่างที่ดีข้อหนึ่งที่รัฐพยายามกลืนกลายอัตลักษณ์ของภาษาให้ภาษาที่แตกต่างกันจำนวนมาก กลายเป็น "ภาษาจีน" ไปหมด ประเด็นนี้ทำให้นักศึกษาจีนที่เติบโตในปักกิ่งออกมาบอกหลังห้องเรียนเลิกว่า เธอเพิ่งรู้ว่าภาษาจีนอื่นๆ นั้นไม่ใช่แค่ "สำเนียง" แต่มันเป็นคนละภาษาเลยทีเดียว  

ข้อสรุปที่สำคัญข้อหนึ่งที่ได้คือ ตกลงเราจะสามารถใช้อะไรเป็นเกณฑ์แบ่งว่าภาษาอะไรแตกต่างจากภาษาอะไร หรือที่สุดแล้วเราแยกภาษาที่อยู่ใกล้ๆ กันออกจากกันไม่ได้ แต่ก็ไม่ควรทึกทักรวมเอาภาษาต่างๆ เข้ามาไว้ด้วยกันแบบ "ภาษาจีน" ได้ง่ายๆ

ชั้นเรียนนี้น่าจะสนุกยิ่งขึ้นเรื่อยๆ หากมีอะไรน่าสนใจในสัปดาห์ต่อไปจะมาเล่าอีกครับ

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เกียวโตไม่ใช่เมืองที่ผมไม่เคยมา ผมมาเกียวโตน่าจะสัก 5 ครั้งแล้วได้ มาแต่ละครั้งอย่างน้อย ๆ ก็ 7 วัน บางครั้ง 10 วันบ้าง หรือ 14 วัน ครั้งก่อน ๆ นั้นมาสัมมนา 2 วันบ้าง 5 วันบ้าง หรือแค่ 3 ชั่วโมงบ้าง แต่คราวนี้ได้ทุนมาเขียนงานวิจัย จึงเรียกได้ว่ามา "อยู่" เกียวโตจริง ๆ สักที แม้จะช่วงสั้นเพียง 6 เดือนก็ตาม เมื่ออยู่มาได้หนึ่งเดือนแล้ว ก็อยากบันทึกอะไรไว้สักเล็กน้อยเกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการญี่ปุ่นที่ผมรู้จักมากสัก 10 กว่าปีมีจำนวนมากพอสมควร ผมแบ่งเป็นสองประเภทคือ พวกที่จบเอกจากอังกฤษ สหรัฐอเมริกา กับพวกที่จบเอกในญี่ปุ่น แต่ทั้งสองพวก ส่วนใหญ่เป็นทั้งนักดื่มและ foody คือเป็นนักสรรหาของกิน หนึ่งในนั้นมีนักมานุษยวิทยาช่างกินที่ผมรู้จักที่มหาวิทยาลัยเกียวโตคนหนึ่ง ค่อนข้างจะรุ่นใหญ่เป็นศาสตราจารย์แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สองวันก่อนเห็นสถาบันวิจัยชื่อดังแห่งหนึ่งในประเทศไทยนำการเปรียบเทียบสัดส่วนทุนวิจัยอย่างหยาบ ๆ ของหน่วยงานด้านการวิจัยที่ทรงอำนาจแต่ไม่แน่ใจว่าทรงความรู้กี่มากน้อยของไทย มาเผยแพร่ด้วยข้อสรุปว่า ประเทศกำลังพัฒนาเขาไม่ทุ่มเทลงทุนกับการวิจัยพื้นฐานมากกว่าการวิจัยประยุกต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรส่งเสริมการทำวิจัยแบบที่สามารถนำไปต่อยอดทำเงินได้ให้มากที่สุด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ต้นปีนี้ (ปี 2559) ผมมาอ่านเขียนงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ผมมาถึงเมื่อวานนี้เอง (4 มกราคม 2559) เอาไว้จะเล่าให้ฟังว่ามาทำอะไร มาได้อย่างไร ทำไมต้องมาถึงที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นับวัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะยิ่งตกต่ำและน่าอับอายลงไปทุกที ล่าสุดจากถ้อยแถลงของฝ่ายการนักศึกษาฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันถือได้ว่าเป็นการแสดงท่าทีของคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่อการแสดงออกของนักศึกษาในกรณี "คณะส่องทุจริตราชภักดิ์" ที่มีทั้งนักศึกษาปัจจุบันและศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รวมอยู่ด้วย ผมมีทัศนะต่อถ้อยแถลงดังกล่าวดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สำหรับการศึกษาระดับสูง ผมคิดว่านักศึกษาควรจะต้องใช้ความคิดกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเป็นระบบ เป็นชุดความคิดที่ใหญ่กว่าเพียงการตอบคำถามบางคำถาม สิ่งที่ควรสอนมากกว่าเนื้อหาความรู้ที่มีอยู่แล้วคือสอนให้รู้จักประกอบสร้างความรู้ให้เป็นงานเขียนของตนเอง ยิ่งในระดับปริญญาโทและเอกทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ถึงที่สุดแล้วนักศึกษาจะต้องเขียนบทความวิชาการหรือตัวเล่มวิทยานิพนธ์ หากไม่เร่งฝึกเขียนอย่างจริงจัง ก็คงไม่มีทางเขียนงานใหญ่ ๆ ให้สำเร็จด้วยตนเองได้ในที่สุด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่เห็นด้วยกับการเซ็นเซอร์ ไม่เห็นด้วยกับการห้ามฉายหนังแน่ๆ แต่อยากทำความเข้าใจว่า ตกลงพระในหนังไทยคือใคร แล้วทำไมรัฐ ซึ่งในปัจจุบันยิ่งอยู่ในภาวะกะลาภิวัตน์ อนุรักษนิยมสุดขั้ว จึงต้องห้ามฉายหนังเรื่องนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ใน บทสัมภาษณ์นี้ (ดูคลิปในยูทูป) มาร์แชล ซาห์ลินส์ (Marshall Sahlins) นักมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโกให้สัมภาษณ์ต่อหน้าที่ประชุม ซาห์สินส์เป็นนักมานุษยวิทยาอเมริกันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งที่แวดวงมานุษยวิทยายังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน เขาเชี่ยวชาญสังคมในหมู่เกาะแปซิฟิค ทั้งเมลานีเชียนและโพลีนีเชียน ในบทสัมภาษณ์นี้ เขาอายุ 83 ปีแล้ว (ปีนี้เขาอายุ 84 ปี) แต่เขาก็ยังตอบคำถามได้อย่างแคล่วคล่อง ฉะฉาน และมีความจำดีเยี่ยม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การรับน้องจัดได้ว่าเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่ง เป็นพิธีกรรมที่วางอยู่บนอุดมการณ์และผลิตซ้ำคุณค่าบางอย่าง เนื่องจากสังคมหนึ่งไม่ได้จำเป็นต้องมีระบบคุณค่าเพียงแบบเดียว สังคมสมัยใหม่มีวัฒนธรรมหลายๆ อย่างที่ทั้งเปลี่ยนแปลงไปและขัดแย้งแตกต่างกัน ดังนั้นคนในสังคมจึงไม่จำเป็นต้องยอมรับการรับน้องเหมือนกันหมด หากจะประเมินค่าการรับน้อง ก็ต้องถามว่า คุณค่าหรืออุดมการณ์ที่การรับน้องส่งเสริมนั้นเหมาะสมกับระบบการศึกษาแบบไหนกัน เหมาะสมกับสังคมแบบไหนกัน เราเองอยากอยู่ในสังคมแบบไหน แล้วการรับน้องสอดคล้องกับสังคมแบบที่เราอยากอยู่นั้นหรือไม่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การได้อ่านงานทั้งสามชิ้นในโครงการวิจัยเรื่อง “ภูมิทัศน์ทางปัญญาแห่งประชาคมอาเซียน” ปัญญาชนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (และที่จริงได้อ่านอีกชิ้นหนึ่งของโครงการนี้คืองานศึกษาปัญญาชนของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามคนสำคัญอีกคนหนึ่ง คือเจื่อง จิง โดยอ.มรกตวงศ์ ภูมิพลับ) ก็ทำให้เข้าใจและมีประเด็นที่ชวนให้คิดเกี่ยวกับเรื่องปัญญาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ผมคงจะไม่วิจารณ์บทความทั้งสามชิ้นนี้ในรายละเอียด แต่อยากจะตั้งคำถามเพิ่มเติมบางอย่าง และอยากจะลองคิดต่อในบริบทที่กว้างออกไปซึ่งอาจจะมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์กับผู้วิจัยและผู้ฟังก็สุดแล้วแต่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เชอร์รี ออร์ตเนอร์ นักมานุษยวิทยาผู้เชี่ยวชาญเนปาล แต่ภายหลังกลับมาศึกษาสังคมตนเอง พบว่าชนชั้นกลางอเมริกันมักมองลูกหลานตนเองดุจเดียวกับที่พวกเขามองชนชั้นแรงงาน คือมองว่าลูกหลานตนเองขี้เกียจ ไม่รู้จักรับผิดชอบตนเอง แล้วพวกเขาก็กังวลว่าหากลูกหลานตนเองไม่ปรับตัวให้เหมือนพ่อแม่แล้ว เมื่อเติบโตขึ้นก็จะกลายเป็นผู้ใช้แรงงานเข้าสักวันหนึ่ง (ดู Sherry Ortner "Reading America: Preliminary Notes on Class and Culture" (1991)) 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (23 กค. 58) ผมไปนั่งฟัง "ห้องเรียนสาธารณะเพื่อประชาธิปไตยใหม่ครั้งที่ 2 : การมีส่วนร่วมและสิทธิชุมชน" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตลอดทั้งวันด้วยความกระตืนรือล้น นี่นับเป็นงานเดียวที่ถึงเลือดถึงเนื้อมากที่สุดในบรรดางานสัมมนา 4-5 ครั้งที่ผมเข้าร่วมเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา เพราะนี่ไม่ใช่เพียงการเล่นกายกรรมทางปัญญาหรือการเพิ่มพูนความรู้เพียงในรั้วมหาวิทยาลัย แต่เป็นการรับรู้ถึงปัญหาผู้เดือดร้อนจากปากของพวกเขาเองอย่างตรงไปตรงมา