Skip to main content

ผ่านมาได้ 3 สัปดาห์ วิชาที่ผมสอนที่วิสคอนซินเริ่มสนุกขึ้นเรื่อยๆ ในห้องมีนักเรียน 10 คน ขนาดพอๆ กับที่เคยสอนที่ธรรมศาสตร์ แต่ที่ต่างคือในห้องเดียวกันนี้มีทั้งนักเรียนปริญญาตรี โท และเอกเรียนร่วมกัน เพียงแต่ข้อกำหนดของงานและความคาดหวังจากนักเรียนระดับ ป.ตรีกับ ป.โท-เอก ย่อมแตกต่างกัน

ที่น่าสนใจคือมีนักเรียนจากหลากหลายสาขามาร่วมเรียน ที่พิเศษที่สุดคือมีนักเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์คนหนึ่งมานั่งเรียน นอกนั้นก็จากภาควิชาต่างๆ เช่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ภาษาและวรรณคดีเอเชีย  ภาษาศาสตร์ และจากมานุษยวิทยา  

ประสบการณ์ทางภาษาและที่มาที่ไปทางชาติพันธ์ุก็ทำให้ชั้นเรียนยิ่งนี้น่าสนุกเข้าไปอีก มีคนอเมริกันฝรั่งเศส อเมริกันฟินนิช คนแรกพูดฝรั่งเศสและอีกคนพูดฟินนิชได้ มีอเมริกันที่ไม่แสดงชาติพันธ์ุอื่นอยู่สองคน คนหนึ่งรู้ภาษาสเปนอีกคนเรียนภาษาลาวและเคยเป็นครูภาษาอังกฤษ มีคนม้งอเมริกันที่พูดภาษาอังกฤษ ไทย ม้ง จีนกลาง แต้จิ๋ว และภาษาอื่นๆ ที่เขากำลังเรียนอยู่

อีกห้าคนมาจากเอเชีย มีคนจีนแผ่นดินใหญ่สองคนที่พูดภาษาจีนกลางและกวางตุ้ง คนหนึ่งเป็นชาวเกาหลีที่เคยไปอยู่อินโดนีเชีย อีกคนเป็นชาวซาอุดิอาระเบีย น่าจะพูดภาษาอาหรับได้ อีกคนเป็นคนไทยที่กำลังเรียนภาษาพม่า สรุปแล้ววิชานี้ทุกคนเป็น bilingual, trilingual, multilingual กันทั้งสิ้น

วันแรกผมฉายหนังเรื่อง "The Class" (Entre les murs) แล้วสัปดาห์ต่อมามาถกเถียงกัน หนังพูดเรื่องครูสอนภาษาฝรั่งเศสคนหนึ่ง ในโรงเรียนมัธยมปลายที่นักเรียนเป็นคนจากชาติพันธ์ุต่างๆ ที่อพยพมาอยู่ฝรั่งเศส ห้องเรียนนี้จึงเต็มไปด้วยประเด็นทางภาษาทั้งในระดับที่ชัดเจนคือการเรียนภาษาฝรั่งเศส กับในระดับที่ซับซ้อนคือในประสบการณ์และวิธีคิดทางภาษาของนักเรียนกันเองและของนักเรียนกับครูที่แตกต่างกัน

ในห้องเรียนที่ผมสอน ได้ข้อถกเถียงจากหนังเรื่องนี้มากมาย โดยเฉพาะที่มาจากมุมมองของแต่ละคนที่มีประสบการณ์แตกต่างกัน ประเด็นหนึ่งที่หลายคนในห้องรู้สึกร่วมกันคือการมีประสบการณ์เป็นคนต่างถิ่น เป็นชนกลุ่มน้อย ที่ต้องเรียนภาษาของประเทศที่ใช้ภาษาอื่น นักเรียนเกินครึ่งหนึ่งของห้องนี้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง แม้แต่คนอเมริกันเอง สองคนก็เล่าประสบการณ์ในครอบครัว ที่พยายามไม่สอนลูกหลานให้ใช้ภาษาฝรั่งเศสและฟินนิช เนื่องจากไม่อยากให้เด็กๆ ติดสำเนียง พูดอังกฤษแบบอเมริกันไม่ชัด ซึ่งจะทำให้มีปัญหาการใช้ชีวิตภายหลังได้

มีนักเรียนคนหนึ่งเป็นชาวอเมริกัน เคยเป็นครูสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนในรัฐมิสซูรี สะท้อนให้ฟังนอกห้องเรียนว่าเขามีประสบการณ์ทำนองเดียวกับครูสอนฝรั่งเศสในหนังที่ดู นักเรียนคนอเมริกันภาคใต้ที่ส่วนใหญ่เป็นคนดำ รับไม่ได้กับภาษาอังกฤษที่เขาสอนให้ มีทั้งวิธีการใช้ภาษา ไวยากรณ์ และคำศัพท์ที่เข้ากันไม่ได้กับชีวิตพวกเขา

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาเป็นการเรียนสัปดาห์ที่สาม ผมให้นักเรียนอ่านเกี่ยวกับวิธีการศึกษาภาษาแบบนักภาษาศาสตร์ นักเรียนภาษาศาสตร์สองคนในห้องบอกว่านี่มันง่ายมากสำหรับพวกเขา แต่สำหรับนักเรียนที่ยังไม่ได้เรียนภาษาศาสตร์ บ่นกันอุบว่ายากมาก แต่ในที่สุดห้องเรียนก็กลายเป็นห้องถกเถียงแลกเปลี่ยนกันเรื่องภาษาอย่างสนุกสนาน แต่ละคนนำเอาประสบการณ์การใช้ภาษาของตนมาแลกเปลี่ยนกัน เป็นการเรียนจากประสบการณ์ส่วนตนของแต่ละคนจริงๆ

ผมเปิดคลิปจากยูทูปชื่อ "Chewbacca Sound Tutorial" เพื่ออธิบายความแตกต่างระหว่าง phonetics กับ phonemics คลิปนี้เป็นตัวอย่างของ phonetics คือการศึกษาการออกเสียงของชิวเบกกา ตัวละครหน้าขนในสตาร์วอร์ (ยังดีที่คนรุ่นหลานในห้องดูสตาร์วอร์กันบ้าง) ส่วน phonemics เปิดประสบการณ์การคิดเกี่ยวกับภาษาของพวกเขาหลายคนมาก  

เช่นการที่เสียงสูงต่ำไม่มีความหมายในภาษาทางยุโรปแต่มันมีความหมายมากในภาษาจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นักเรียนอเมริกันคนหนึ่งงงมากที่ทำไมเสียงที่แตกต่างกันในภาษาอังกฤษของเขา มันกลับไม่ได้หมายถึงเสียงที่แตกต่างกันในสำนึกของคนอเมริกัน แต่เธอก็เล่าว่า เธอต้องเคยเข้าคอร์สฝึกออกเสียงอักษร "r" ตามแบบอเมริกัน เพราะตอนเด็กๆ เธอออกเสียงเป็น "w" นักเรียนอเมริกันคนหนึ่งตั้งคำถามน่าสนใจว่า เสียงสูง-ต่ำในภาษาอังกฤษก็มีความหมายไม่ใช่หรือ นักเรียนภาษาศาสตร์อเมริกันตอบว่า เขาเรียกว่าเป็นความหมายทาง semantics อยู่ในกระบวนการการใช้ภาษา ไม่ใช่ความหมายที่ฝังอยู่ในตัวคำศัพท์เองเลยแบบภาษาในเอเชีย

อีกคลิปที่เปิดแล้วนักเรียนชอบมากคือ "History of English in Ten Munites" ที่เล่าพัฒนาการของภาษาอังกฤษ เมื่อเปิดคลิปนี้ดูแล้วถกเถียงเรื่องการแบ่งแยกว่าภาษาอะไรเป็นภาษาอะไร หรือความเป็น "ตัวตน" ที่ตายตัวของภาษา การระบุขอบเขตที่ชัดเจนของภาษาราวกับว่าภาษาจะไม่เปลี่ยนแปลงจากปัจจัยภายนอกต่างๆ โดยเชื่อมโยงกับบทความเรื่อง "Areal Linguistics and Maninland Southeast Asia" ที่เสนอให้ศึกษาความเชื่อมโยงและการหยิบยืมติดต่อกันระหว่างภาษาต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ทำให้เราไม่สามารถจะแยกภาษาต่างๆ ในภูมิภาคนี้ออกจากกันได้ง่ายๆ  

การแลกเปลี่ยนประเด็นนี้ในห้องเชื่อมโยงกับที่นักเรียนคนหนึ่งถามว่า ในซีกโลกอื่นมีการสอนภาษาศาสตร์ที่แตกต่างกันไปจากแบบตะวันตกไหม ตัวอย่างเรื่อง "ภาษาจีน" เป็นตัวอย่างที่ดีข้อหนึ่งที่รัฐพยายามกลืนกลายอัตลักษณ์ของภาษาให้ภาษาที่แตกต่างกันจำนวนมาก กลายเป็น "ภาษาจีน" ไปหมด ประเด็นนี้ทำให้นักศึกษาจีนที่เติบโตในปักกิ่งออกมาบอกหลังห้องเรียนเลิกว่า เธอเพิ่งรู้ว่าภาษาจีนอื่นๆ นั้นไม่ใช่แค่ "สำเนียง" แต่มันเป็นคนละภาษาเลยทีเดียว  

ข้อสรุปที่สำคัญข้อหนึ่งที่ได้คือ ตกลงเราจะสามารถใช้อะไรเป็นเกณฑ์แบ่งว่าภาษาอะไรแตกต่างจากภาษาอะไร หรือที่สุดแล้วเราแยกภาษาที่อยู่ใกล้ๆ กันออกจากกันไม่ได้ แต่ก็ไม่ควรทึกทักรวมเอาภาษาต่างๆ เข้ามาไว้ด้วยกันแบบ "ภาษาจีน" ได้ง่ายๆ

ชั้นเรียนนี้น่าจะสนุกยิ่งขึ้นเรื่อยๆ หากมีอะไรน่าสนใจในสัปดาห์ต่อไปจะมาเล่าอีกครับ

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอแสดงความคารวะจากใจจริงถึงความกล้าหาญจริงจังของพวกคุณ พวกคุณแสดงออกซึ่งโครงสร้างอารมณ์ของยุคสมัยอย่างจริงใจไม่เสแสร้ง อย่างที่แม่ของพวกคุณคนหนึ่งบอกกล่าวกับผมว่า "พวกเขาก็เป็นผลผลิตของสังคมในยุค 10 ปีที่ผ่านมานั่นแหละ" นั่นก็คือ พวกคุณได้สื่อถึงความห่วงใยต่ออนาคตของสังคมไทยที่พวกคุณนั่นแหละจะต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อไปให้สังคมได้รับรู้แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปฏิกิริยาของสังคมต่อการกักขังนักศึกษา 14 คนได้ชี้ให้เห็นถึงการก้าวพ้นกำแพงความกลัวของประชาชน อะไรที่กระตุ้นให้ผู้คนเหล่านี้แสดงตัวอย่างฉับพลัน และการแสดงออกเหล่านี้มีนัยต่อสถานการณ์ขณะนี้อย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในโลกนี้มีสังคมมากมายที่ไม่ได้นับว่าตนเองเป็นกลุ่มชนเดียวกัน และการแบ่งแยกความแตกต่างของกลุ่มคนนั้นก็ไม่ได้ทาบทับกันสนิทกับความเป็นประเทศชาติ ชาว Rohingya (ขอสงวนการเขียนด้วยอักษรโรมัน เพราะไม่เห็นด้วยกับการออกเสียงตามภาษาพม่า) ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของกลุ่มคนที่ไม่ได้มีขอบเขตพื้นที่ที่อาศัยครอบครองอยู่ทาบกันสนิทกับขอบเขตพื้นที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงเวลาของการสัมภาษณ์นักศึกษาใหม่ในแต่ละปีถือเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่ผมจะใช้อัพเดทความเปลี่ยนแปลงของสังคมหรือทำความเข้าใจสังคม จากมุมมองและประสบการณ์ชีวิตสั้นๆ ของนักเรียนที่เพิ่งจบการศึกษามัธยม ปีที่ผ่านๆ มาผมและเพื่อนอาจารย์มักสนุกสนานกับการตรวจสอบสมมติฐานของแต่ละคนว่าด้วยประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง บางทีก็ตรงกับที่มีสมมติฐานไว้บ้าง บางทีก็พลาดไปบ้าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (31 พค. 58) ผมไปเป็นเพื่อนหลานสาววัย 13 ปี ที่ชวนให้ไปเที่ยวงานเทศกาลการ์ตูนญี่ปุ่นที่โรงแรมแห่งหนึ่งแถวถนนสุขุมวิท ผมเองสนับสนุนกิจกรรมเขียนการ์ตูนของหลานอยู่แล้ว และก็อยากรู้จักสังคมการ์ตูนของพวกเขา ก็เลยตอบรับคำชวน เดินทางขึ้นรถเมล์ ต่อรถไฟฟ้าไปกันอย่างกระตือรือล้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สนามบินที่ไหนๆ ก็ดูเหมือนๆ กันไปหมด อยู่ที่ว่าจะออกจากไหน ด้วยเรื่องราวอะไร หรือกำลังจะไปเผชิญอะไร ในความคาดหวังแบบไหน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ปับ เจียน ความ เจ้า ปัว ฟ้า" แปลตามตัวอักษรได้ว่า "หนังสือ เล่า เรื่อง เจ้า กษัตริย์ (แห่ง)ฟ้า" ซึ่งก็คือไบเบิลนั่นเอง แต่แปลเป็นภาษาไทดำแล้วพิมพ์ด้วยอักษรไทดำ อักษรลาว และอักษรเวียดนาม เมื่ออ่านแล้วจะออกเสียงและใช้คำศัพท์ภาษาไทดำเป็นหลัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
กรณีการออกเสียงชื่อชาว Rohingya ว่าจะออกเสียงอย่างไรดี ผมก็เห็นใจราชบัณฑิตนะครับ เพราะเขามีหน้าที่ต้องให้คำตอบหน่วยงานของรัฐ แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการออกเสียงให้ตายตัวเบ็ดเสร็จว่าควรจะออกเสียงอย่างไรกันแน่ ยิ่งอ้างว่าออกเสียงตามภาษาพม่ายิ่งไม่เห็นด้วย ตามเหตุผลดังนี้ครับ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (7 พค. 58) ผมสอนวิชา "มานุษยวิทยาวัฒนธรรม" ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินเป็นวันสุดท้าย มีเรื่องน่ายินดีบางอย่างที่อยากบันทึกไว้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
มันคงมีโครงสร้างอะไรบางอย่างที่ทำให้ "ร้านสะดวกซื้อ" เกิดขึ้นมาแทนที่ "ร้านขายของชำ" ได้ ผมลองนึกถึงร้านขายของชำสามสี่เมืองที่ผมเคยอาศัยอยู่ชั่วคราวบ้างถาวรบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อปี 2553 เป็นปีครบรอบวันเกิด 80 ปี จิตร ภูมิศักดิ์ มีการจัดงานรำลึกใหญ่โตที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเอ่ยถึงจิตรทีไร ผมก็มักเปรยกับอาจารย์ประวัติศาสตร์จุฬาฯ ท่านหนึ่งว่า "น่าอิจฉาที่จุฬาฯ มีวิญญาณของความหนุ่ม-สาวผู้ชาญฉลาดและหล้าหาญอย่างจิตรอยู่ให้ระลึกถึงเสมอๆ" อาจารย์คณะอักษรฯ ที่ผมเคารพรักท่านนี้ก็มักย้อนบอกมาว่า "ธรรมศาสตร์ก็ต้องหาคนมาเชิดชูของตนเองบ้าง"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันที่ 30 เมษายน 2558 เป็นวันครบรอบ 40 ปี "ไซ่ง่อนแตก"Ž เดิมทีผมก็ใช้สำนวนนี้อยู่ แต่เมื่อศึกษาเกี่ยวกับเวียดนามมากขึ้น ก็กระอักกระอ่วนใจที่จะใช้สำนวนนี้ เพราะสำนวนนี้แฝงมุมมองต่อเวียดนามแบบหนึ่งเอาไว้