Skip to main content

กว่า 3 เดือนที่ผ่านมาผมไปชมการแสดงดนตรีไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่ นึกเสียดายที่เมื่อ 10 กว่าปีก่อนที่มาเรียนไม่ค่อยมีโอกาสได้เข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้เลย เมื่อวานนี้ (ตามเวลาที่อเมริกา) ผมก็เพิ่งออกจากห้องแสดงดนตรีมา จนทำให้ผมคิดขึ้นมาได้ว่า นี่ผมอยู่ในโลกไหนกัน แล้วทำไมที่ที่ผมอยู่เป็นปกติเขาถึงไม่ทำสถาบันการศึกษาให้เป็นสถานที่บ่มเพาะความเจริญของจิตใจได้อย่างนี้บ้าง 

เมืองแมดิสันที่ซึ่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซินตั้งอยู่ เป็นเมืองที่มีกิจกรรมมากมาย ส่วนหนึ่งของกิจกรรมเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัย ในฤดูร้อน เมืองใช้ดาดฟ้าของหอประชุมขนาดใหญ่ที่ออกแบบโดยแฟรงค์ ลอยด์ ไรท์เป็นที่จัดการแสดงดนตรีที่คนสามารถขยับร่างกายเต้นรำกันได้สนุกสนาน ฤดูร้อนยังมีคอนเสิร์ตในสวนสาธารณะอย่างน้อย 2-3 แห่งเป็นประจำ ที่มีชื่อคือ Concert on the Square จัดรอบอาคารที่ทำการของมลรัฐ คนอาศัยบรรยากาศมานั่งฟังเพลงพร้อมปิคนิค ดื่มกินกันไปอย่างสำราญตามแต่ว่าใครจะจับจองที่ได้

ปลายฤดูร้อน มีงานแฟร์บนถนนฮิปปี้เก่าสายหนึ่ง ชื่องาน Willy Street Fair ที่ระดมวงดนตรีมาจัดกันหลายเวที ที่จริงก่อนหน้างานนี้มีคอนเสิร์ตกลางแจ้งงานหนึ่งที่ผมพลาดไป เพราะตามข่าวไม่ทัน แต่งานถนนวิลลี่ปีนี้ดูหงอยเหงาอย่างไรพิกล ไม่เหมือนเมื่อหลายปีก่อนที่มีเวทีแสดงดนตรีมากถึง 4-5 เวที เขาจัดห่างๆ กัน ผู้คนก็เดินซื้อของประดิษฐ์ประดอย เสื้อผ้า ข้าวของต่างๆ แนวฮิปปี้ ที่คนเอามาขายกัน มีกระทั่งของเก่าเก็บสไตล์เปิดท้ายรถขายของ

พอเริ่มอากาศเย็น มหาวิทยาลัยวิสคอนซินซึ่งมีห้องจัดแสดงดนตรีได้อยู่มากมาย ก็เริ่มจัดกิจกรรมในอาคาร งานใหญ่งานหนึ่งของปีนี้คือ  World Music Festival ผมกลับบ้านดึกดื่นแทบทุกวันช่วงนั้น มีกระทั่งวงดนตรีชาว Basques ที่ผสมเครื่องดนตรีพื้นเมืองกับกีตาร์ กลอง แต่เล่นเพลงพื้นเมือง อีกวงที่ผมชอบมากคือวงแนว Calypso ของอเมริกาใต้  

แต่ที่ทำให้รู้สึกตัวขึ้นมาได้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่กิจกรรมที่เกิดขึ้นมาอย่างง่ายๆ ก็เมื่อ 2-3 วันมานี้เองที่ได้ฟังดนตรี 3 รายการ

งานหนึ่งคือ การแสดงเดี่ยวของผู้ช่วยศาสตราจารย์ทางทรอมโบนคนหนึ่ง ท่านมาเป็นแขกของมหาวิทยาลัย แล้วจัดแสดงดนตรี 5 เพลง ทรอมโบนคือเครื่องเป่าทองเหลือง หากใครรู้จักแตรวง คงคุ้นหน้าตาเครื่องเป่าที่ยาวๆ เวลาเล่นเขาจะเป่าแล้วชักเข้าชักออกเพื่อกำหนดเสียงสูงต่ำ นักทรอมโบนคนนี้เสนอเพลงที่น่าสนใจมากทุกเพลง ทั้งจากที่เขาแต่งเอง และที่เอาของคนอื่นมาเล่น  

มีเพลงหนึ่งแปลกมาก เขาเป่าให้เสียงออกมาสองเสียง มีเสียงแปร่งๆ แทรกเสียงเต็มๆ ออกมาในเพลง อีกเพลงที่ชอบมากคือการแสดงพร้อมวีดีโอเรื่องเกี่ยวกับสงคราม มีน้ำเสียงวิพากษ์สงครามด้วยการเอาทหารอเมริกันที่เสียตาสองข้างและเสียขามาพูด การแสดงของนักทรอมโบนคนนี้เปิดหูเปิดตาการใช้เครื่องเป่าดนตรีคลาสสิคชิ้นนี้แก่ผมมาก

อีกงานหนึ่ง ไม่ใช่งานด้วยซ้ำ แต่เป้นการฝึกซ้อมของวงดนตรีออร์เคสตรารัสเซีย ผมเห็นในโปรแกรมของมหาวิทยาลัยครั้งแรกก็สงสัยใจว่าจะเปิดให้ใครเข้าฟังได้หรือไม่ พอเขียนอีเมลไปถาม เขาก็ตอบกลับมาอย่างเร็วว่า "พวกเรายินดีที่จะมีคนมานั่งฟัง" พอไปถึงตามเวลาที่เขาจะเริ่ม ปรากฏว่าเป็นห้องเรียนขนาดย่อม มีนักดนตรีนั่งอยู่ร่วม 30 คน ล้วนแล้วแต่เครื่องดนตรีแปลกๆ เพราะเป็นวงที่ใช้เครื่องดนตรีพื้นเมืองรัสเซีย

ผมเข้าไปทักวาทยากรที่กำลังเตรียมตัวอยู่ เขาบอกว่าเขาคือคนที่ตอบเมลผมเอง เขาถามว่า "คุณเป็นนักดนตรีเหรอ" ผมบอกเปล่าหรอก แค่สนใจ เขายินดี แล้วสักพักพอผมหาที่นั่งได้ เขาเดินมาถามผม "คุณเคยทำงานห้องสมุดใช่ไหม จำผมได้ไหม ผมชื่อวิคเตอร์" ผมบอก "อ๋อ จำได้สิ แต่ตอนแรกจำหน้าไม่ได้" ผมไม่นึกเลยว่าเขาไม่ใช่แค่รู้หลายภาษาแล้วทำงานกรอกข้อมูลหนังสือให้ห้องสมุด แต่ยังเป็นนักดนตรีเก่งขนาดเป็นวาทยากร

ผมนั่งดูการซ้อมของพวกเขาร่วม 2 ชั่วโมงอย่างเพลิดเพลินกับเพลงรัสเซียนเสียงอ่อนหวาน แม้บางเพลงวิกเตอร์กำชับว่าต้องเวียนเสียงม้าควบก็ยังอ่อนโยน การได้มานั่งอยู่ท่ามกลางนักดนตรีเป็นประสบการณ์แปลกใหม่ แถมยังได้มารู้เห็นการฝึกซ้อมที่หนักหน่วง ได้ทึ่งกับหูของวาทยากร ทึ่งกับความสามารถในการเขียนรายละเอียดของความรู้สึกของเพลงลงไปให้เครื่องดนตรีแต่ละชิ้นๆ ทึ่งกับเสียงนักร้องอายุน้อยที่อ่อนหวานและเต็มไปด้วยอารมณ์โดยแทบไม่หลุดโน้ต ทึ่งกับการกำกับเสียงให้เป็นไปตามจินตนาการของวาทยากร ทั้งหมดนี้เกินกว่าจะเรียกว่ารื่นรมย์

อีกงานหนึ่งเมื่อสักครู่ก่อนเขียนบันทึกนี้เอง ผมไปฟังการเปิดเทศกาลดนตรี Celebrate Brass! จัดโดยภาควิชาดนตรีวิทยา ว่าด้วยเครื่องเป่าล้วนๆ งานนี้จะมีทั้งคอนเสิร์ตวงใหญ่และการแสดงวงเล็กอย่างที่ผมมาฟังวันนี้ ที่แสดงวันนี้มีนักทรัมเป็ต 2 คน ทูบาหนึ่ง ทรอมโบนหนึ่ง และเฟรนช์ฮอนอีกหนึ่ง เครื่องเป่าวาววับต้องแสงไฟงดงามมาก ตลอด 2 ชั่วโมงเล่นเพลงสัก 4-5 เพลงได้ เพลงที่เล่นมีทั้งสไตล์คลาสสิค คลาสสิคเจือแจ๊ส และคลาสสิคแบบแนวทดลอง avant-garde ผมมั่วจัดเอาเองน่ะแหละ แต่คนเล่นเขาบรรยายทำนองนี้เหมือนกัน ทั้งหมดนั่นอิ่มเอมเต็มหูดีมาก

เพลงสุดท้ายของการแสดงนี้ผู้ประพันธ์เพลงมาร่วมงานด้วย เป็นเพลงขนาดยาวมีหลายท่อน ท่อนแรกฟังเหมือนเสียงดนตรีไล่กระโดดตะครุบอะไรอยู่ อีกท่อนเกรี้ยวกราดจนถึงตอนหนึ่งเครื่องเป่าเหมือนทะเลาะกันนัว เสียดายที่เขาไม่พาให้เสียงแตกกระเจิงรู้แล้วรู้รอดไปเลย อีกท่อนประหลาดที่เครื่องเป่าทุกตัวใส่อุปกรณ์บีบเสียง เริ่มด้วยทรัมเป็ต 2 ตัวที่เสียงแตกแผ่วเบาราวจิ้งหรีด แล้วเครื่องอื่นๆ ก็รับตามกันมา วงนี้ผมชอบทรัมโบนที่เล่นล้อเครื่งอื่นๆ สนุกสนาน ส่วนนักทรัมเป็ตสองคน คนหนึ่งเป็นผู้หญิง ต่างก็ขนทรัมเป็ตหลายขนาดมา เล่นไปเปลี่ยนไปหลายรสทรัมเป็ตดี

การแสดงทั้งหมดที่เล่ามานั้นฟรี ไม่ต้องจ่ายเงินใดๆ ทั้งสิ้น รายการที่ต้องจ่ายเงินก็มี แต่รายการที่ฟรีก็มีมากพอแล้ว หากใครมาศึกษาที่นี่หรือมีโอกาสแวะเวียนมาแถวนี้ ก็ควรหาเวลาไปติดตามการแสดงเหล่านี้ดูนะครับ

ผมไม่สงสัยเลยว่าทำไมมหาวิทยาลัยวิสคอนซินถึงเป็นมหาวิทยาลัยที่ติดระดับโลก ไม่สงสัยเลยว่าทำไมเมืองแมดิสัน ที่ซึ่งมหาวิทยาลัยตั้งอยู่ จึงเป็นเมืองที่ติดอันดับเมืองน่าอยู่ขนาดกลางมาหลายปีจนปีล่าสุดบางสำนักก็จัดอันดับให้เป็นที่หนึ่ง แต่ที่สงสัยคือ จะมีวันไหนกันที่มหาวิทยาลัยในประเทศไทยจะมีกิจกรรมอย่างนี้ได้บ้าง แค่บางส่วนก็ยังดี  

ก็จริงที่บางมหาวิทยาลัยมี แต่ก็ส่วนน้อยมาก จะจัดแบบนี้ได้ต้องเกิดจากความใส่ใจของผู้บริหารมหาวิทยาลัยและคณาจารย์ พร้อมทั้งการจัดการของเมืองที่ประสานกันอย่างดี นึกแค่นี้ก็สิ้นหวังแล้ว เพราะผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการศึกษาบ้านเราไม่ได้เข้ามามีอำนาจเพื่อบริหารการศึกษา แต่พวกเขาเข้ามามีอำนาจเพื่อไต่บันไดอำนาจขึ้นไปอีกเรื่อยๆ เท่านั้นเอง

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
อย่างที่บอกคือ ผมไม่ใช่คนเชี่ยวชาญเกาหลี จะเล่าเรื่องเกาหลีก็จะต้องมีผิดมีพลาดบ้าง เพียงแต่อยากบันทึกเก็บไว้ แล้วแบ่งปันบ้าง เผื่อใครสนใจหรือช่วยเติมต่อความรู้ อีกเรื่องหนึ่งที่ผมสนใจในการไปเกาหลีทั้งสองครั้ง (ครั้งแรกเมื่อ 8 ปีก่อน ก็ไปแค่สั้นๆ ไม่กี่วัน) ก็คือการได้พบเจอผู้คนและได้ไปเดินด่อมๆ มองๆ ตามย่านการค้า ร้านค้า และพบปะพูดคุยดื่มกินกับผู้คน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่ได้อยู่นฐานะที่จะมาเขียนอะไรเกี่ยวกับเกาหลี เดินทางไปแค่สองครั้ง ครั้งละไม่กี่วัน ไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ ไม่ได้เชี่ยวชาญอะไร แต่ด้วยนิสัยของการชอบบันทึกเก็บไว้ ก็เลยอยากเขียนอะไรเกี่ยวกับเกาหลีที่รู้จักเอาไว้อ่านเอง เอาไว้คิดต่อ เอาไว้ก่อนที่จะลืม ก่อนที่จะไม่อยากเขียน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอร่วมรำลึกวาระ 40 ปี 6 ตุลาด้วยการกล่าวถึงงานศึกษาสังคม-วัฒนธรรมไทยที่เป็นพื้นฐานของเหตุการณ์เมื่อ 40 ปีก่อนนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จำเป็นแค่ไหนที่เราจะต้องคิดต่างจากส่วนกลาง ถ้าเราคิดว่าการครอบงำของความรู้ตะวันตกเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเข้าใจตัวตนเราเอง และทั้งยังปิดกั้นความเป็นมนุษย์ที่ไม่ได้ถูกเข้าใจจากมุมมองที่ต่างออกไป เราก็จำเป็นที่จะต้องคิดทั้งนอกกรอบตะวันตกและนอกกรอบการครอบงำจากอำนาจศูนย์กลางของรัฐ ความคิดนอกกรอบการครอบงำดังกล่าวส่วนหนึ่งเรียกว่าแนวคิดหลังอาณานิคม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายวันมานี้มีเรื่องขันขื่นหลายเรื่องที่สังคมไทยก้าวไม่พ้นเสียที แต่ผมว่าเรื่องพื้นฐานของปัญหาเหล่านี้คือเรื่องการไม่ยอมรับผิด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไปโกเบเมื่อสี่วันก่อน (7 มิถุนายน 59) นอกจากได้รู้จักความเป็นเมืองฝรั่งๆ ของโกเบแล้ว สาระสำคัญของการไปโกเบวันก่อนอย่างหนึ่งคือการไปพิพิธภัณฑ์เครื่องมือช่างไม้แห่งนี้ พิพิธภัณฑ์นี้เป็นของบริษัท Takenaka ที่บอกเล่าว่าตั้งมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 17 ส่วนพิพิธภัณฑ์นี้เปิดปี 1984 แล้วเข้าใจว่าน่าจะค่อยๆ พัฒนาคอลเล็กชั่นและการจัดแสดงขึ้นมาเรื่อยๆ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ความสุขอย่างหนึ่งของการมาอยู่ที่ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษามหาวิทยาลัยเกียวโตก็คือ การได้รู้จักผู้คนและแลกเปลี่ยนความรู้ในหลายภาษา อีกอย่างคือได้แลกเปลี่ยนความรู้ในหลายบริบท ทั้งในห้องสัมมนา ห้องทำงาน ห้องเรียน และร้านเหล้า ผมถือว่ามันเป็นบริบททางวิชาการทั้งนั้นแหละ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
รู้กันนะครับว่า เวลาที่เราเรียกว่า "หล่อๆ" นี่ ไม่ใช่ว่าต้องเป็นผู้ชาย ผู้หญิงก็หล่อได้ เพราะมันหล่อในสำนวน ในการแสดงออก ในท่าที ทั้งๆ ที่หน้าตาไม่ต้องหล่อก็ได้ แต่หล่อที่คำพูด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่งสอนผมว่า “คำวิจารณ์น่ะ น่าฟังมากกว่าคำชื่นชม เนื่องจากคนที่วิจารณ์เราน่ะ เขาจริงใจกับเรามากกว่าคนที่ชื่นชมเรา ไม่มีใครวิจารณ์เราตามมารยาท แต่คนชมน่ะ บางทีเขาก็ชมเราไปตามมารยาทเท่านั้นแหละ” ดังนั้นเมื่อโลกเขารุมวิจารณ์ไทย เราก็ควรรับฟังเขา เพราะถ้าเขาไม่มีความจริงใจ ไม่อยากเห็นเราปรับปรุงตัวจริงๆ ไม่รัก ไม่ห่วง ไม่อยากคบค้าสมาคมด้วย เขาก็คงไม่ติติงเรา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คนแบบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาไม่ได้มีแต่พลเอกประยุทธ์เพียงคนเดียว แต่ยังมีคนอีกจำนวนมากที่มีเบื้องลึกของจิตใจแบบพลเอกประยุทธ์ แต่หากจะพูดให้ถูก คนที่มีจิตใจเบื้องลึกที่กักขฬะ อาจจะไม่จำเป็นต้องแสดงออกอย่างกักขฬะแบบพลเอกประยุทธ์ แต่ทำไมขณะนี้สังคมไทยจึงยอมให้ความกักขฬะเข้ามาปกครองบ้านเมือง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะเรียกอะไรก็แล้วแต่ ถ้าพูดอย่างหลวม ๆ คือ พวกเขาเป็นคนกลุ่มเดียวกัน สองชื่อแรกใช้ในประเทศไทย เรียกกลุ่มคนที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ที่จริงพวกเขายังอยู่ในอำเภอเมือง อำเภอหนองหญ้งปล้อง และอำเภออื่น ๆ ของเพชรบุรี แล้วยังกระจายย้ายถิ่นไปในจังหวัดอื่น ๆ ตั้งแต่นครปฐม ชุมพร ไปจนถึงนครสวรรค์ เลย ฯลฯ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้ผมกลับมาไทย 7 วัน ไม่รวมวันเดินทางอีกสองวัน ที่มาเพราะได้รับเชิญมาเสนอความเห็นในการ workshop งานหนึ่ง ผมก็เลยถือโอกาสนี้ใช้ทุนที่ต้องใช้สำหรับทำวิจัย เก็บข้อมูลของมหาวิทยาลัยเกียวโต ซึ่งก็มีอยู่ไม่มากนัก มาเพื่อใช้เดินทางไปเก็บข้อมูลเพิ่มเติมด้วยเลย