Skip to main content

กว่า 3 เดือนที่ผ่านมาผมไปชมการแสดงดนตรีไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่ นึกเสียดายที่เมื่อ 10 กว่าปีก่อนที่มาเรียนไม่ค่อยมีโอกาสได้เข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้เลย เมื่อวานนี้ (ตามเวลาที่อเมริกา) ผมก็เพิ่งออกจากห้องแสดงดนตรีมา จนทำให้ผมคิดขึ้นมาได้ว่า นี่ผมอยู่ในโลกไหนกัน แล้วทำไมที่ที่ผมอยู่เป็นปกติเขาถึงไม่ทำสถาบันการศึกษาให้เป็นสถานที่บ่มเพาะความเจริญของจิตใจได้อย่างนี้บ้าง 

เมืองแมดิสันที่ซึ่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซินตั้งอยู่ เป็นเมืองที่มีกิจกรรมมากมาย ส่วนหนึ่งของกิจกรรมเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัย ในฤดูร้อน เมืองใช้ดาดฟ้าของหอประชุมขนาดใหญ่ที่ออกแบบโดยแฟรงค์ ลอยด์ ไรท์เป็นที่จัดการแสดงดนตรีที่คนสามารถขยับร่างกายเต้นรำกันได้สนุกสนาน ฤดูร้อนยังมีคอนเสิร์ตในสวนสาธารณะอย่างน้อย 2-3 แห่งเป็นประจำ ที่มีชื่อคือ Concert on the Square จัดรอบอาคารที่ทำการของมลรัฐ คนอาศัยบรรยากาศมานั่งฟังเพลงพร้อมปิคนิค ดื่มกินกันไปอย่างสำราญตามแต่ว่าใครจะจับจองที่ได้

ปลายฤดูร้อน มีงานแฟร์บนถนนฮิปปี้เก่าสายหนึ่ง ชื่องาน Willy Street Fair ที่ระดมวงดนตรีมาจัดกันหลายเวที ที่จริงก่อนหน้างานนี้มีคอนเสิร์ตกลางแจ้งงานหนึ่งที่ผมพลาดไป เพราะตามข่าวไม่ทัน แต่งานถนนวิลลี่ปีนี้ดูหงอยเหงาอย่างไรพิกล ไม่เหมือนเมื่อหลายปีก่อนที่มีเวทีแสดงดนตรีมากถึง 4-5 เวที เขาจัดห่างๆ กัน ผู้คนก็เดินซื้อของประดิษฐ์ประดอย เสื้อผ้า ข้าวของต่างๆ แนวฮิปปี้ ที่คนเอามาขายกัน มีกระทั่งของเก่าเก็บสไตล์เปิดท้ายรถขายของ

พอเริ่มอากาศเย็น มหาวิทยาลัยวิสคอนซินซึ่งมีห้องจัดแสดงดนตรีได้อยู่มากมาย ก็เริ่มจัดกิจกรรมในอาคาร งานใหญ่งานหนึ่งของปีนี้คือ  World Music Festival ผมกลับบ้านดึกดื่นแทบทุกวันช่วงนั้น มีกระทั่งวงดนตรีชาว Basques ที่ผสมเครื่องดนตรีพื้นเมืองกับกีตาร์ กลอง แต่เล่นเพลงพื้นเมือง อีกวงที่ผมชอบมากคือวงแนว Calypso ของอเมริกาใต้  

แต่ที่ทำให้รู้สึกตัวขึ้นมาได้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่กิจกรรมที่เกิดขึ้นมาอย่างง่ายๆ ก็เมื่อ 2-3 วันมานี้เองที่ได้ฟังดนตรี 3 รายการ

งานหนึ่งคือ การแสดงเดี่ยวของผู้ช่วยศาสตราจารย์ทางทรอมโบนคนหนึ่ง ท่านมาเป็นแขกของมหาวิทยาลัย แล้วจัดแสดงดนตรี 5 เพลง ทรอมโบนคือเครื่องเป่าทองเหลือง หากใครรู้จักแตรวง คงคุ้นหน้าตาเครื่องเป่าที่ยาวๆ เวลาเล่นเขาจะเป่าแล้วชักเข้าชักออกเพื่อกำหนดเสียงสูงต่ำ นักทรอมโบนคนนี้เสนอเพลงที่น่าสนใจมากทุกเพลง ทั้งจากที่เขาแต่งเอง และที่เอาของคนอื่นมาเล่น  

มีเพลงหนึ่งแปลกมาก เขาเป่าให้เสียงออกมาสองเสียง มีเสียงแปร่งๆ แทรกเสียงเต็มๆ ออกมาในเพลง อีกเพลงที่ชอบมากคือการแสดงพร้อมวีดีโอเรื่องเกี่ยวกับสงคราม มีน้ำเสียงวิพากษ์สงครามด้วยการเอาทหารอเมริกันที่เสียตาสองข้างและเสียขามาพูด การแสดงของนักทรอมโบนคนนี้เปิดหูเปิดตาการใช้เครื่องเป่าดนตรีคลาสสิคชิ้นนี้แก่ผมมาก

อีกงานหนึ่ง ไม่ใช่งานด้วยซ้ำ แต่เป้นการฝึกซ้อมของวงดนตรีออร์เคสตรารัสเซีย ผมเห็นในโปรแกรมของมหาวิทยาลัยครั้งแรกก็สงสัยใจว่าจะเปิดให้ใครเข้าฟังได้หรือไม่ พอเขียนอีเมลไปถาม เขาก็ตอบกลับมาอย่างเร็วว่า "พวกเรายินดีที่จะมีคนมานั่งฟัง" พอไปถึงตามเวลาที่เขาจะเริ่ม ปรากฏว่าเป็นห้องเรียนขนาดย่อม มีนักดนตรีนั่งอยู่ร่วม 30 คน ล้วนแล้วแต่เครื่องดนตรีแปลกๆ เพราะเป็นวงที่ใช้เครื่องดนตรีพื้นเมืองรัสเซีย

ผมเข้าไปทักวาทยากรที่กำลังเตรียมตัวอยู่ เขาบอกว่าเขาคือคนที่ตอบเมลผมเอง เขาถามว่า "คุณเป็นนักดนตรีเหรอ" ผมบอกเปล่าหรอก แค่สนใจ เขายินดี แล้วสักพักพอผมหาที่นั่งได้ เขาเดินมาถามผม "คุณเคยทำงานห้องสมุดใช่ไหม จำผมได้ไหม ผมชื่อวิคเตอร์" ผมบอก "อ๋อ จำได้สิ แต่ตอนแรกจำหน้าไม่ได้" ผมไม่นึกเลยว่าเขาไม่ใช่แค่รู้หลายภาษาแล้วทำงานกรอกข้อมูลหนังสือให้ห้องสมุด แต่ยังเป็นนักดนตรีเก่งขนาดเป็นวาทยากร

ผมนั่งดูการซ้อมของพวกเขาร่วม 2 ชั่วโมงอย่างเพลิดเพลินกับเพลงรัสเซียนเสียงอ่อนหวาน แม้บางเพลงวิกเตอร์กำชับว่าต้องเวียนเสียงม้าควบก็ยังอ่อนโยน การได้มานั่งอยู่ท่ามกลางนักดนตรีเป็นประสบการณ์แปลกใหม่ แถมยังได้มารู้เห็นการฝึกซ้อมที่หนักหน่วง ได้ทึ่งกับหูของวาทยากร ทึ่งกับความสามารถในการเขียนรายละเอียดของความรู้สึกของเพลงลงไปให้เครื่องดนตรีแต่ละชิ้นๆ ทึ่งกับเสียงนักร้องอายุน้อยที่อ่อนหวานและเต็มไปด้วยอารมณ์โดยแทบไม่หลุดโน้ต ทึ่งกับการกำกับเสียงให้เป็นไปตามจินตนาการของวาทยากร ทั้งหมดนี้เกินกว่าจะเรียกว่ารื่นรมย์

อีกงานหนึ่งเมื่อสักครู่ก่อนเขียนบันทึกนี้เอง ผมไปฟังการเปิดเทศกาลดนตรี Celebrate Brass! จัดโดยภาควิชาดนตรีวิทยา ว่าด้วยเครื่องเป่าล้วนๆ งานนี้จะมีทั้งคอนเสิร์ตวงใหญ่และการแสดงวงเล็กอย่างที่ผมมาฟังวันนี้ ที่แสดงวันนี้มีนักทรัมเป็ต 2 คน ทูบาหนึ่ง ทรอมโบนหนึ่ง และเฟรนช์ฮอนอีกหนึ่ง เครื่องเป่าวาววับต้องแสงไฟงดงามมาก ตลอด 2 ชั่วโมงเล่นเพลงสัก 4-5 เพลงได้ เพลงที่เล่นมีทั้งสไตล์คลาสสิค คลาสสิคเจือแจ๊ส และคลาสสิคแบบแนวทดลอง avant-garde ผมมั่วจัดเอาเองน่ะแหละ แต่คนเล่นเขาบรรยายทำนองนี้เหมือนกัน ทั้งหมดนั่นอิ่มเอมเต็มหูดีมาก

เพลงสุดท้ายของการแสดงนี้ผู้ประพันธ์เพลงมาร่วมงานด้วย เป็นเพลงขนาดยาวมีหลายท่อน ท่อนแรกฟังเหมือนเสียงดนตรีไล่กระโดดตะครุบอะไรอยู่ อีกท่อนเกรี้ยวกราดจนถึงตอนหนึ่งเครื่องเป่าเหมือนทะเลาะกันนัว เสียดายที่เขาไม่พาให้เสียงแตกกระเจิงรู้แล้วรู้รอดไปเลย อีกท่อนประหลาดที่เครื่องเป่าทุกตัวใส่อุปกรณ์บีบเสียง เริ่มด้วยทรัมเป็ต 2 ตัวที่เสียงแตกแผ่วเบาราวจิ้งหรีด แล้วเครื่องอื่นๆ ก็รับตามกันมา วงนี้ผมชอบทรัมโบนที่เล่นล้อเครื่งอื่นๆ สนุกสนาน ส่วนนักทรัมเป็ตสองคน คนหนึ่งเป็นผู้หญิง ต่างก็ขนทรัมเป็ตหลายขนาดมา เล่นไปเปลี่ยนไปหลายรสทรัมเป็ตดี

การแสดงทั้งหมดที่เล่ามานั้นฟรี ไม่ต้องจ่ายเงินใดๆ ทั้งสิ้น รายการที่ต้องจ่ายเงินก็มี แต่รายการที่ฟรีก็มีมากพอแล้ว หากใครมาศึกษาที่นี่หรือมีโอกาสแวะเวียนมาแถวนี้ ก็ควรหาเวลาไปติดตามการแสดงเหล่านี้ดูนะครับ

ผมไม่สงสัยเลยว่าทำไมมหาวิทยาลัยวิสคอนซินถึงเป็นมหาวิทยาลัยที่ติดระดับโลก ไม่สงสัยเลยว่าทำไมเมืองแมดิสัน ที่ซึ่งมหาวิทยาลัยตั้งอยู่ จึงเป็นเมืองที่ติดอันดับเมืองน่าอยู่ขนาดกลางมาหลายปีจนปีล่าสุดบางสำนักก็จัดอันดับให้เป็นที่หนึ่ง แต่ที่สงสัยคือ จะมีวันไหนกันที่มหาวิทยาลัยในประเทศไทยจะมีกิจกรรมอย่างนี้ได้บ้าง แค่บางส่วนก็ยังดี  

ก็จริงที่บางมหาวิทยาลัยมี แต่ก็ส่วนน้อยมาก จะจัดแบบนี้ได้ต้องเกิดจากความใส่ใจของผู้บริหารมหาวิทยาลัยและคณาจารย์ พร้อมทั้งการจัดการของเมืองที่ประสานกันอย่างดี นึกแค่นี้ก็สิ้นหวังแล้ว เพราะผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการศึกษาบ้านเราไม่ได้เข้ามามีอำนาจเพื่อบริหารการศึกษา แต่พวกเขาเข้ามามีอำนาจเพื่อไต่บันไดอำนาจขึ้นไปอีกเรื่อยๆ เท่านั้นเอง

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
รถกระบะพัฒนาจากการเป็นปัจจัยการผลิตจนกลายเป็นปัจจัยทางวัตถุเชิงวัฒนธรรมในระยะ 20 ปีมานี้เอง การเกิดขึ้นของวัฒนธรรมรถกระบะไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เกิดจากปัจจัยเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และรัฐบาลนั่นแหละที่มีส่วนสำคัญทำให้เกิดพัฒนาการนี้ขึ้นมา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไปโตรอนโตได้สัก 5 วัน แต่เวลาส่วนใหญ่ก็อยู่ในห้องประชุม กับนั่งเตรียมเสนองาน จะมีบ้างก็สองวันสุดท้าย ที่จะมีชีวิตเป็นของตนเอง ได้เดินไปเดินมา เที่ยวขึ้นรถเมล์ รถราง กิน ดื่ม ละเลียดรายละเอียดของเมืองบางมุมได้บ้าง ก็ได้ความประทับใจบางอย่างที่อยากบันทึกเก็บไว้ ผิดถูกอย่างไรชาวโตรอนโตคงไม่ถือสานัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อีกสถานที่หนึ่งที่ตั้งใจไปเยือนคือโรงเบียร์ใจกลางเมืองชื่อ Steam Whistle ทำให้ได้เห็นทั้งวิธีคิดของเมือง วิธีการทำเบียร์ ความเอาจริงเอาจังของคนรุ่นใหม่ในแคนาดา รวมทั้งเข้าใจอะไรๆ เกี่ยวกับเบียร์มากขึ้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แรกทีเดียวก่อนไปชม ก็ไม่คิดว่าจะได้อะไรมาก คิดว่าคงแค่ไปดูความเป็นมาของบาทาเป็นหลัก แล้วก็คงมีรองเท้าดีไซน์แปลกๆ ให้ดูบ้าง กับคงจะได้เห็นรองเท้าจากที่ต่างๆ ทั่วโลกเอามาเปรียบเทียบกันด้วยความฉงนฉงายในสายตาฝรั่งบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมมาประชุมวิชาการ AAS ประจำปี 2017 ที่โตรอนโต แคนาดา เมื่อเสนองานไปแล้วเมื่อวาน (18 มีค. 60) เมื่อเช้าก็เลยหาโอกาสไปทำความรู้จักกับเมืองและผู้คนบ้าง เริ่มต้นจากการไปแกลลอรีแห่งออนทาริโอ แกลลอรีสำคัญของรัฐนี้ ตามคำแนะนำของใครต่อใคร ไปถึงแล้วก็ไม่ผิดหวังเพราะแกลลอรีนี้น่าสนใจในหลายๆ ลักษณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดในการจัดแสดงงาน การเล่าเรื่องราว และการแสดงความเป็นแคนาดา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้มิวเซียมสยามมีนิทรรศการชั่วคราวชุดใหม่จัดแสดงอยู่ ชื่อนิทรรศการ "ต้มยำกุ้งวิทยา : วิชานี้อย่าเลียน !" ผมเพิ่งไปดูมาเมื่อสองวันก่อนนี้ ดูแล้วคิดอะไรได้หลายอย่าง ก็ขอเอามาปันกันตรงนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทันทีที่ คสช. ขอบคุณ ธีรยุทธ บุญมี ธีรยุทธก็ได้วางมาตรฐานใหม่ให้แก่การทำงานวิชาการเพื่อสนับสนุนและแอบอิงไปกับเผด็จการทหาร แนวทางสำคัญ ๆ ได้แก่งานวิชาการที่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (27 มค. 60) ไปสอน นศ. ธรรมศาสตร์ปี 1 ที่ลำปาง วิชามนุษย์กับสังคม ผมมีหน้าที่แนะนำว่าสังคมศาสตร์คืออะไร แล้วพบอะไรน่าสนใจบางอย่าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวันที่ 18 พย. ผมไปดูละครเรื่อง "รื้อ" มา ละครสนุกเหลือเชื่อ เวลาชั่วโมงครึ่งผ่านไปอย่างรวดเร็ว พอดีผู้จัดซึ่งเป็นผู้แสดงหลักคนหนึ่งด้วย คืออาจารย์ภาสกร อินทุมาร ภาควิชาการละคร ศิลปกรรม ธรรมศาสตร์ ชวนไปเสวนาแลกเปลี่ยนหลังการแสดง ก็เลยต้องนั่งดูอย่างเอาจริงเอาจัง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักมานุษยวิทยามีแนวโน้มที่จะ "โรแมนติก" นั่นคือ "อิน" ไปกับกลุ่มคนที่ตนเองศึกษา ความเห็นอกเห็นใจอาจเกินเลยจนกลายเป็นความหลงใหลฟูมฟายเออออไปกับกลุ่มคนที่ตนเองศึกษา 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ความเคลื่อนไหวในสังคมไทยขณะนี้มีหลายเหตุการณ์ที่ชี้ให้เห็นถึงขีดจำกัดคุณค่าความดีของสังคมไทยปัจจุบัน นั่นคือข้อเท็จจริงที่ว่า ความดีแบบไทยๆ ไม่จำเป็นต้องดีเสมอไป ไม่จำเป็นต้องดีอย่างไม่ต้องสงสัย เป็นความดีที่ผูกติดกับสังคมนิยมชนชั้น 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อย่างที่บอก ผมไปเกาหลีเที่ยวนี้เพื่อไปประชุมวิชาการครบรอบ 50 ปีการก่อตั้งภาควิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยฮันกุ๊กภาษาและกิจการต่างประเทศ (Hankuk University of Foreign Studies)