Skip to main content

แรกทีเดียวก่อนไปชม ก็ไม่คิดว่าจะได้อะไรมาก คิดว่าคงแค่ไปดูความเป็นมาของบาทาเป็นหลัก แล้วก็คงมีรองเท้าดีไซน์แปลกๆ ให้ดูบ้าง กับคงจะได้เห็นรองเท้าจากที่ต่างๆ ทั่วโลกเอามาเปรียบเทียบกันด้วยความฉงนฉงายในสายตาฝรั่งบ้าง

 
แต่ที่ไหนได้ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เอาจริงเอาจังกับรองเท้ามาก เรียกว่าเขาศึกษาวัฒนธรรมการใส่รองเท้ากันเลยทีเดียว ที่สำคัญคือ มันบรรจุไปด้วยมุมมองของคนทำรองเท้า การถอด การใส่ และการตัดเย็บไว้ด้วย แถมยังเป็นการศึกษาเปรียบเทียบที่ทำกับทั้งรองเท้าโบราณ รองเท้านอกยุโรป และรองเท้ายุโรปยุคกลาง แถมยังดูสังคมของรองเท้าไปพร้อมๆ กันด้วย
 
พิพิธภัณฑ์รองเท้าบาทา (Bata Shoe Museum) ที่โตรอนโตนี้เปิดเมื่อปี 1995 ก่อตั้งโดยซอนญ่า บาทา สะใภ้ของตระกูลบาทาที่ก่อตั้งบริษัทรองเท้าบาทา ซอนญ่า บาทาเดินทางไปทั่วโลกคงด้วยเพราะติดตามสามีไปขายรองเท้า เธอก็เลยเก็บสะสมรองเท้าไว้มากมาย ไม่เท่านั้น ยังเอาจริงเอาจังกระทั่งให้ทุนวิจัยรองเท้า แล้วทำทั้งโปราณคดีและชาติพันธ์ุนิพนธ์รองเท้า
 
พิพิธภัณฑ์นี้จึงเด่นทั้งการเล่าเรื่อง ของที่สะสม และการจัดแสดง นี่ยังไม่นับว่าเขาให้การศึกษาเด็กๆ อย่างดีด้วย ตอนที่ไปชม ก็เห็นมีการนำเด็กตั้งแต่ 7 ปีจนถึงอายุไม่น่าจะเกิน 10 ขวบเดินชมและทำกิจกรรมอยู่สองกลุ่ม วิทยากรเขาเหมือนเชี่ยวชาญการเล่าเรื่องให้เด็กฟัง เด็กๆ ก็เลยสนใจติดตามแย่งกันตอบคำถาม อย่างที่นึกไม่ออกเลยว่าเด็กไทยจะมีความใส่ใจและกล้าหาญได้ครึ่งของเด็กแคนาเดี่ยนพวกนี้
 
แรกเริ่มเลย พิพิธภัณฑ์เล่าเรื่องผ่านโบราณคดีและประวัติศาสตร์การใส่รองเท้า ที่จริงเขากล่าวถึงตั้งแต่เริ่มมีการเดินของมนุษย์วานร (hominid) คือลูซี่ที่เริ่มเดินเต็มเท้ากันเลยทีเดียว แล้วจึงเอาตัวอย่างรองเท้า 5-6 พันปีก่อนที่พบในหลุมศพแล้วมีการสร้างจำลองเลียนแบบมาให้ดู 
 
แล้วเขาก็ไล่ไปตามแหล่งอารยธรรมโลกต่างๆ อย่างอียิปต์ กรีก โรมัน อินเดีย จีน ยุโรป แม้ว่าการเล่าแบบนี้จะไม่แหวกแนวนัก แต่ก็ยังน่าสนใจที่เขาเอารองเท้าของชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิมของทวีปอเมริกาเหนือ อย่างชาวอนาซาสซีเมื่อ 6,000 ปีก่อน มาวางไว้ในช่วงยุคสมัยโบราณนี้ด้วย มีตัวอย่างรองเท้าในหลุมศพที่ทำให้เชื่อว่า ชาวอินเดียนอเมริกาดั้งเดิมน่าจะสานรองเท้าในรูปทรงต่างๆ
 
ที่น่าสนใจอีกเรื่องคือการเชื่อมโยงรองเท้ากับศาสนา แล้วเปรียบเทียบให้เห็นจุดเน้นและอคติของแต่ละศาสนา มีส่วนทำให้รูปทรง วัสดุ และการใช้งานรองเท้าแตกต่างกันไปทั่วโลก การตีความตอนนี้ก็นับว่าน่าประทับใจ โดยเฉพาะเรื่องรองเท้ามุสลิม และตัวอย่างรองเท้าจากโป๊บ กับรองเท้าพระชินโต ที่เพิ่งได้รู้ว่าเป็นไม้ จากที่เคยนึกว่าเป็นผ้ามาตลอด
 
 
 
 
ถัดมาเป็นรองเท้าเฉพาะทางหลายคู่ เขาแสดงรวมๆ กัน ทั้งตามอาชีพ ตามถิ่นฐาน และตามยุคสมัยของรองเท้าสมัยใหม่ ที่น่าสนใจคือ พิพิธภัณฑ์ได้รองเท้าจากคนดังมาหลายคู่ เช่น รองเท้าของมาริลีน มอนโร ที่เธอเองบอกว่า "ขอบคุณใครก็ตามที่คิดส้นสูงขึ้นมาให้ฉันมีอาชีพการงานจากการใส่ส้นสูง" ส่วนรองเท้าดาไลลามะ ก็เป็นรองเท้าแตะคีบของบาทานั่นเอง รองเท้าอีกคู่ที่น่าสนใจจากความเรียบง่ายคือรองเท้าของอินทิรา คานธี
 
 
 
 
อีกสองชั้นถัดมาน่าตื่นเต้นยิ่งขึ้นไปใหญ่ ชั้นหนึ่งซอนญ่า ยาทาให้ทุนคนไปทำวิจัยรองเท้าของผู้คนในแถบขั้วโลก เป็นรองเท้าคนที่สู้ความหนาว ทำให้ได้เห็นทั้งความแตกต่างของทั้งรูปทรงและวัสดุ เช่นรองเท้าที่ทำจากหนังปลา เสื้อคลุมที่ทำจากผนังลำไส้แมวน้ำ รองเท้าหนังปลา รองเท้าหนังและขนเรนเดียร์ ทำให้ได้เห็นว่าวัฒนธรรมรองเท้าของคนขั้วโลกแตกต่างกันและอาศัยวัสดุในท้องถิ่นที่แตกต่างกัน แม้จะดูคล้ายๆ กัน
 
 
 
 
ชั้นถัดไป ซอนญ่าวิพากษ์วัฒนธรรมรองเท้าของยุโรป ด้วยการย้อนกลับไปยุคเริ่มต้นอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 19 พิพิธภัณฑ์บอกว่า ชาวยุโรปเป็น "เหยื่อของแฟชั่น" ถึงตรงนี้ การจัดแสดงก็เปลี่ยนแนวเลย จากห้องขั้วโลก ที่ให้บรรยากาศหนาวเหน็บ มาสู่ห้องยุคอุตสาหกรรมที่ดูฟุ้งเฟ้อ ในห้องนี้ ของทุกอย่างราวกับถูกมองผ่านหน้าต่างเข้าไปในห้องจัดแสดงในห้างสรรพสินค้ายุคนั้น เห็นได้ชัดว่าเขาจงใจพูดถึงชนชั้น และจงใจกล่าวว่ารองเท้ารุ่นนั้นใสไม่สบาย แม้จะงดงามอย่างมาก
 
ดูพิพิธภัณฑ์รองเท้าจบแล้วได้เรียนรู้แนวทางการศึกษาวัตถุอย่างหนึ่งอย่างใดอย่างเอาจริงเอาจัง นับถือความมุ่งมั่นของซอนญ่า บาทา และนั่นทำให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้รางวัลการอนุรักษ์ดีเด่น แต่ที่ต้องเพิ่มเข้าไปคือ ทำให้นับถือและขอบคุณรองเท้ายี่ห้อบาทาอย่างยิ่งทีเดียว

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำสำคัญ: sensory subjectivity, sensory categories, sensory bias, sensory ethnocentrism, sensory colonization (อธิบายไว้ท้ายข้อเขียน) คนทำเรื่องอาหารข้ามถิ่น ไม่ต่างจากการทำงานทางมานุษยวิทยา ที่ต้องตระหนักถึงการ ไม่นำเอา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ถ้าคุณไม่สามารถเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้แล้ว ก็โปรดอย่าถ่วงรั้งการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่เลย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปาฐกถาในเวทีเสวนา “50 ปี 14 ตุลาฯ ยังตามหารัฐธรรมนูญใหม่” จัดโดยสมัชชาคนจน วันที่ 14 ตุลาคม 2566
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จนถึงวันนี้ การต่อสู้ของประชาชนในขบวนการ “คณะราษฎร 63” ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พลังของแสงดาวได้สร้างสรรค์สังคมไทยอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกมาแสดงความเห็นว่ามีการสร้างกระแสกดดันศาลต่างๆ นานา (ดู https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2081366) มองในแง่ดี ผมคิดว่านี่คือการออกมาอธิบายกับสังคมอีกครั้งของผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดแจ้ง หลังจากที่มีการชี้แจงถึงเหตุผลการไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองโดยโฆษกศาลและโฆษกกระทรวงยุติธรรมก่อนหน้านี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อะไรที่ทำให้ดนตรีมีสถานะในการทำร้ายกันได้บ้าง ผมว่าอย่างน้อยที่สุดต้องเข้าใจก่อนว่า ดนตรีไม่ใช่แค่เสียง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พอดีนั่งฟังเพื่อนนักวิชาการอ่านหนังสือ "กบฏชาวนา" ของรานาจิต คูฮา (1982) มาคุยให้ฟัง (แปลโดย ปรีดี หงษ์สต้น) ในเพจของสำนักพิมพ์ Illumination Editions เลยคิดถึงบันทึกที่เคยเขียนถึงหนังสือของ ดิเพช จักรบาร์ตี เรื่อง Provincializing Europe (2000)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรื่อง ถามถึงมโนธรรมสำนึกในความเป็นครูบาอาจารย์ของอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์