Skip to main content

นักวิชาการมิได้มีสถานภาพพิเศษแตกต่างไปจากคนอื่นๆ ในสังคม เพียงแต่อาชีพนักวิชาการเป็นอาชีพที่ต้องพัฒนาความคิดความอ่านตลอดเวลา นักวิชาการจึงไม่ควรมีขอบเขตของความคิดความอ่าน พร้อมๆ กับที่ไม่ควรปิดกั้นขอบเขตของความคิดคนอื่น 

ไม่ว่าสังคมจะชอบหรือไม่ชอบความคิดเห็นของนักวิชาการก็ตาม แต่หากความคิดทางวิชาการวางอยู่บนหลักเหตุผลและข้อมูลที่หนักแน่นโดยไม่ละเมิดกฎหมายแล้ว นักวิชาการก็เพียงทำตามหน้าที่ของตนเอง ไม่ว่าคุณจะเป็นนักวิชาการในสาขาวิชาไหน หากศึกษาสูงๆ ขึ้นไปจนถึงระดับอุดมศึกษา แล้วจบมาทำงานค้นคว้าวิจัย งานเขียน และงานสอนระดับอุดมศึกษา คุณก็จะต้องมีจริต มีวินัย และเข้าใจภาพสังคมวิชาการแบบเดียวกันนี้ทั้งสิ้น เว้นแต่ว่าคุณจะไม่ได้ผ่านระบบอุดมศึกษาแบบสากลตามที่โลกเขายอมรับกันในปัจจุบัน เว้นแต่ว่าคุณจะยกเลิกระบบมหาวิทยาลัยแบบสากลแล้วเรียนสอนกันแบบเดินตามครู ตามผู้ใหญ่ ก็จงย่ำเท้าอยู่กับที่กันไป 

ความจริงข้อนี้ไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวกัน ผู้คนทั่วไปในสังคมที่มีใจเป็นธรรมเขาก็ย่อมจะเข้าใจกันดีอยู่แล้ว แต่ในเมื่อในขณะนี้เราอยู่ในสภาพที่บ้านเมืองมีความคิดแปลกประหลาด สิ่งที่ควรเข้าใจกันง่ายๆ ก็กลับไม่เข้าใจ ก็คงต้องอธิบายกันบ้าง ว่าทำไมการทำงานวิชาการจึงต้องมีเสรีภาพ ลองจินตนาการถึงนักวิทยาศาสตร์สักคนหนึ่ง หากเขาเรียนในระดับต้น เขาแค่เข้าใจหลักการของวิทยาศาสตร์ที่ว่าด้วยการตั้งคำถามต่อสิ่งรอบตัว แล้วพยายามหาคำตอบจากการสังเกต หรือหากจำเป็นก็สร้างแบบการทดลองขึ้นมา เพื่อหาข้อสรุปทั่วไป หรือไม่ก็เพื่อพิสูจน์ว่าข้อเสนอที่เขามีอยู่ หรือข้อเสนอที่คนอื่นมีอยู่นั้นถูกต้องหรือไม่ หากแต่เพียงเท่านี้เขาผู้นี้ก็ยังจะไม่ได้เป็นนักวิชาการ เพราะเขายังไม่ได้ค้นพบอะไรใหม่ หากเขาไม่คิดค้นวิธีที่จะเข้าใจอะไรใหม่ๆ เขาแค่รู้อะไรเท่าที่คนอื่นรู้ เขายังไม่ได้รู้อะไรที่คนอื่นยังไม่รู้  

ในทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ความใหม่ของผลงานวิจัยอยู่ตั้งแต่การค้นหาคำถามใหม่ๆ การค้นหาแนวทางการตอบคำถามเดิมด้วยคำตอบใหม่ๆ การค้นพบแหล่งข้อมูลใหม่ๆ หรือการตั้งคำถามใหม่เพื่อให้ได้คำตอบใหม่ๆ ความแปลกใหม่อาจจะวางอยู่บนฐานของความรู้เดิม หรืออาจเป็นความรู้ใหม่ถอดด้ามโดยสิ้นเชิง ซึ่งมักไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยนัก เช่น นักประวัติศาสตร์อาจค้นพบหลักฐานใหม่ เพื่อทำความเข้าใจยุคสมัยที่เคยเข้าใจกันมาแบบหนึ่ง หรือนักประวัติศาสตร์บางคนเสนอมุมมองใหม่ต่อหลักฐานประวัติสาสตร์ชุดเดิม อันเนื่องมาจากการได้มุมมองแบบใหม่เปลี่ยนไปจากเดิม หรือส่วนนักสังคมวิทยาซึ่งมักทำงานวิจัยแบบนักวิทยาศาสตร์ เขาอาจตั้งข้อสมมุติฐานจากการค้นคว้าทางเอกสารและจากงานวิจัยของคนอื่น แล้วต้องการทดสอบดูว่าแนวทฤษฎีที่ศึกษากันมานั้นสามารถเข้าใจปรากฏการณ์ใหม่ที่เขาพบได้หรือไม่ หรือหากจำเป็นก็อาจจะต้องปรับเปลี่ยนทฤษฎีที่มีอยู่ เพื่อที่จะได้สามารถอธิบายปรากฏการณ์ใหม่ๆ 

คงไม่ต้องอธิบายนะครับว่าทำไมสังคมวิชาการจึงต้องการความใหม่ แต่ในเมื่อมีบางคนที่ยังอาจไม่เข้าใจก็จะขออธิบายสั้นๆ ว่า ที่สังคมวิชาการต้องการความใหม่ ก็เพราะสังคมวิชาการสากลแบบที่ชาวโลกเขาเป็นกันนั้นให้คุณค่ากับการขยายขอบเขตความรู้ออกไปเรื่อยๆ ความก้าวหน้าทางวิชาการวัดกันที่การเสนอข้อเสนอใหม่ๆ ในการทำงานวิชาการในระดับสูงไม่ว่าจะเป็นการทำวิทยานิพนธ์ หรือการทำงานวิจัย นักวิจัยจะตั้งคำถามวิจัยว่าอะไรก็ตาม แต่คำถามสำคัญที่สุดที่นักวิจัยจะต้องตอบให้ได้คือ งานที่จะทำนี้ให้อะไรใหม่ในแวดวงวิชาการของตนเองบ้าง การให้อะไรใหม่อาจเป็นการต่อยอดจากความรู้เดิมขึ้นไปอีกหน่อยก็ยังดี หรืออาจเป็นการค้นพบอะไรใหม่โดยสิ้นเชิงได้ก็ยิ่งดี 

ยกตัวอย่างเช่น ในวิชาการสายมานุษยวิทยาที่ผมคุ้นเคย นักมานุษยวิทยาอาจค้นพบสังคมใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครศึกษามาก่อน เช่น อาจารย์ผมท่านหนึ่งที่เลือกศึกษาตามแนวทางนี้ ท่านเปิดแผนที่หาเลยว่ามีสังคมไหนบ้างที่ยังไม่มีใครศึกษา แล้วก็มีจริงๆ ในหมู่เกาะแปซิฟิก เหนือประเทศออสเตรเลีย แต่นั่นคือเมื่อสัก 30 ปีที่แล้ว ปัจจุบันแทบจะไม่เหลือสังคมใหม่ๆ ให้ค้นพบอีกแล้ว ข้อดีของการพบสังคมใหม่ๆ ก็คือการได้พบว่า มีวิถีชีวิตมนุษย์ที่แตกต่างออกไปจากที่เราคุ้นเคยอีกมาก เพื่อเป็นทางเลือกให้มนุษย์ที่เคยคิดว่าเราจะต้องอยู่แบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น อย่างอาจารย์ผมคนนี้เธอสนใจเรื่องความสัมพันธ์ของผู้หญิงกับผู้ชาย สังคมที่เธอพบเป็นสังคมที่ฐานะของผู้หญิงทัดเทียมกับผู้ชายมาก เป็นการพิสูจน์ว่าสังคมที่แตกต่างจากตะวันตกที่ผู้หญิงมีสิทธิไม่เท่าผู้ชายนั้นมีอยู่จริง พูดง่ายๆ คือ ผู้หญิงไม่ได้เกิดมาเป็นช้างเท้าหลัง 

แต่บางทีนักมานุษยวิทยาบางคนอาจค้นพบแง่มุมใหม่ๆ ในสังคมที่เคยศึกษากันมาแล้ว เช่น มีการพบด้านของวัฒนธรรมผู้หญิง ในสังคมที่เคยมีนักมานุษยวิทยาชื่อดังศึกษามาก่อนแล้ว แต่เขากลับศึกษาเฉพาะด้านที่เป็นสังคมของผู้ชาย จะด้วยความไม่ระวังของเขาเองจึงทึกทักเอาว่าข้อมูลจากผู้ชายก็บอกเล่าความเป็นไปของสังคมได้ครบถ้วนแล้ว หรืออาจจะด้วยการละเลยผู้หญิงก็แล้วแต่ ข้อค้นพบนี้ดีหลายอย่าง หนึ่งคือเราจะได้เข้าใจสังคมนั้นมากขึ้น นอกจากนั้น ยังทำให้เราต้องระวังว่าสังคมที่เราศึกษายังมีด้านอื่นๆ ที่เราละเลยหรือไม่ หรืออย่างน้อยเราต้องเผื่อใจไว้ด้วยว่าผลงานวิจัยของเราไม่ได้สามารถอธิบายอะไรได้ทุกอย่าง ยังคงมีบางด้านบางมุมที่เราอธิบายไม่ได้หลงเหลืออยู่ รอให้คนอื่นหรือเราเองกลับไปศึกษาเพิ่มเติม ที่จริงยังมีวิธีอื่นๆ อีกที่จะค้นหาความใหม่เพื่อขยายความรู้ แต่แค่นี้คงพอให้เห็นภาพได้บ้างว่าทำไมนักวิชาการจึงต้องการความใหม่และความใหม่สำคัญต่องานวิชาการอย่างไร

 

ที่จะต้องย้ำคือ ความแปลกใหม่ที่สังคมวิชาการต้องการนี้ได้มาด้วยเสรีภาพทางวิชาการ หากไม่มีเสรีภาพทางวิชาการ เช่น ห้ามไปศึกษาสังคมอื่นๆ ศึกษาเฉพาะสังคมที่เราเชื่อกันว่าดีงามเป็นอุดมคติ อย่างที่เชื่อกันว่าสุโขทัยเป็นต้นแบบการเมืองการปกครองไทยที่ดีก็พอแล้ว นักวิชาการก็คงจะย่ำเท้าไปยังที่เดิมๆ ไม่ได้ต้องไปหาสังคมที่ไหนใหม่ๆ เพราะแค่ศึกษาสังคมที่เชื่อกันว่าเป็นสังคมในอุดมคติที่ไหนในอดีตสักแห่ง ยึดเป็นสรณะ แล้วเลิกค้นหาความจริงนอกเหนือจากสังคมนั้น อย่างนี้ไม่เรียกว่างานวิชาการ เพราะเป็นการจำกัดเสรีภาพในการค้นหาความจริง นอกจากนั้น หากไม่มีเสรีภาพทางวิชาการนักวิชาการก็จะวิจารณ์กันไม่ได้ ไม่มีอิสระในการแสดงความคิดความอ่าน จะท้าทายครูอย่างเป็นเหตุเป็นผลด้วยข้อมูลหลักฐานก็ไม่ได้ อย่างนี้ก็ไม่เป็นวิชาการ เพราะไม่สามารถตั้งคำถามใหม่ๆ หรือห้ามถามคำถามที่ครูไม่เคยถาม ที่ครูอาจตอบไม่ได้ อย่างนี้ก็จะไม่มีวันได้อะไรใหม่ๆ มีแต่การท่องบ่นตำราเดิมๆ ก็ไม่ต้องมีการทำงานวิชาการ เรียนตามครูก็พอแล้ว 

 

สังคมวิชาการจึงเป็นคนละเรื่องกันกับสังคมของการสั่งสอน สังคมวิชาการมีหลักการพื้นฐานสำหรับการสั่งสอน แต่ถึงที่สุดแล้ว สังคมวิชาการสอนให้คนคิดเอง สอนให้เป็นตัวของตัวเอง เพื่อจะได้สร้างสรรค์ ค้นหาความรู้ใหม่ๆ มาเพื่อสังคม ที่ใครจะมาสั่งให้นักวิชาการสอนว่านักการเมืองดีต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้อะไรน่ะ แบบนั้นไม่ใช่เรียกการทำงานวิชาการ ท่านจะเรียกอะไรก็แล้วแต่ แต่นักวิชาการมักเรียกการสอนแบบนั้นว่าการเทศนา สังคมวิชาการในปัจจุบันไม่ใช่สังคมเทศนา นักวิชาการที่ดีไม่ได้สอนให้ลูกศิษย์เชื่อ แต่สอนให้ลูกศิษย์คิดค้นอะไรใหม่ๆ ถึงที่สุดคิดอะไรที่เกินเลยไปจากครู จะล้มครูก็ได้ แต่ไม่จำเป็นต้องล้มก็ได้ คิดต่อยอดจากครูก็ได้ หรือจะหาครูใหม่ไม่เดินตามครูเดิมก็ได้

ฉะนั้น การที่นักวิชาการหวงแหนเสรีภาพทางวิชาการก็เพราะเสรีภาพทางวิชาการคือหลักประกันอาชีพของพวกเขา หากนักวิชาการคนไหนไม่หวงแหนเสรีภาพทางวิชาการ เขาก็คงเป็นได้แค่ผู้ผลิตซ้ำความเชื่อเดิมๆ หรือไม่ก็กลายเป็นทาสของระบบ หรือไม่ก็คอยเกาะเกี่ยวผลประโยชน์จากการแอบอิงอยู่กับผู้เผด็จการ เพื่อกีดกันความเห็นทางวิชาการของคู่แข่งทางความคิดออกไป เพื่อให้มีแต่ความเห็นของตนเองเท่านั้นที่ถูกต้อง

คนประเภทนี้ไม่ควรถูกเรียกว่านักวิชาการ เพราะเป็นคนขี้ขลาดทางความคิด เกรงกลัวความเห็นที่แตกต่าง ไร้น้ำยาทางวิชาการ กระทั่งยอมเอาหน้าไปซุกใต้ปีกอำนาจเผด็จการทหาร เพื่อให้มีเพียงความเห็นของตนเท่านั้นที่จะได้แสดงออก

แต่ทว่า เสรีภาพทางวิชาการไม่ได้เป็นเพียงเสรีภาพในการประกอบการงานอาชีพของนักวิชาการ เสรีภาพทางวิชาการมีความหมายมากยิ่งกว่านั้น เสรีภาพทางวิชาการคือส่วนหนึ่งของเสรีภาพที่เป็นหลักประกันขั้นพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย นั่นคือเสรีภาพในการแสดงความเห็น และที่ใหญ่กว่านั้นคือเสรีภาพในการแสดงออก หากพิจารณาแบบกลับด้านกันว่า ถ้านักวิชาการในสังคมเราไม่มีเสรีภาพทางวิชาการแล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับสังคม

ประการแรก สังคมจะสูญเสียข้อเท็จจริง ความรู้วางอยู่บนหลักเหตุผลในการวิเคราะห์และข้อเท็จจริง ความรู้อาจไม่ได้มีมุมมองเดียว ความรู้ที่ถูกนำเสนออาจไม่รอบด้าน นักวิชาการที่มีใจเป็นธรรมย่อมรู้ดีว่า ความจริงเท่าที่ตนค้นพบนั้นไม่ได้สมบูรณ์หนักแน่นเสียจนหาข้อผิดหามุมมองที่แตกต่างออกไปหรือหาข้อมูลที่แตกต่างกันไปมาหักล้าง หรืออย่างน้อยเสริมเติมให้สมบูรณ์ขึ้นไม่ได้ เพียงแต่ความจริงเท่าที่ค้นพบมาจากข้อจำกัดที่นักวิชาการทุกคนมี ไม่ว่าจะศาสตราจารย์หรือนักวิจัยฝึกหัด ล้วนมีข้อจำกัด หากสังคมปิดกั้นเสรีภาพทางวิชาการ สังคมนั้นก็จะมีโอกาสได้รับรู้ข้อเท็จจริงอย่างจำกัดไปด้วย เมื่อความรู้จำกัด การพัฒนาสังคมจะไปได้ดีได้อย่างไร

ประการต่อมา สูญเสียแนวทางการวิเคราะห์ นอกจากข้อเท็จจริงแล้ว ความรู้ยังต้องอาศัยกรอบการวิเคราะห์ข้อมูล ไม่มีความรู้ชุดไหนที่สรุปมาจากข้อมูลล้วนๆ ความรู้ข้อสรุปทุกข้อมาจากมุมมองแบบใดแบบหนึ่งเสมอ หากปิดกั้นแนวการวิเคราะห์บางอย่าง ก็จะทำให้ขาดแนวทางที่เป็นทางเลือกแก่การวิเคราะห์ โลกเราสมัยหนึ่งนั้น ซีกโลก ตะวันตกŽ เคยปิดกั้นความรู้แบบมาร์กซิสม์ (Marxism) และความรู้แบบ ตะวันออกŽ มาก่อน การปิดกั้นแนวการวิเคราะห์ความรู้ทำให้เราสูญเสียมุมมองในการวิเคราะห์ เช่น ความรู้แบบมาร์กซิสม์ที่สอนเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสังคม ความขัดแย้งในสังคม และการเข้าใจความเชื่อมโยงด้านต่างๆ ของมนุษย์ทั้งความเชื่อ สังคม การเมือง และเศรษฐกิจ ขณะที่แนววิเคราะห์สังคมศาสตร์อื่นๆ มักเน้นเฉพาะด้านใดด้านหนึ่งของมนุษย์ นี่ทำให้เราต้องรอจนถึงทศวรรษที่ 1970s มหาวิทยาลัยในซีกโลกตะวันตกจึงจะสามารถศึกษาแนวคิดนี้ได้ ทั้งที่จริงๆ แล้วแนวคิดนี้เกิดมาก่อนหน้าเกือบร้อยปีแล้ว

ประการที่สาม สูญเสียความเสมอภาค สังคมที่มีเสรีภาพทางวิชาการคือสังคมที่มีความเสมอภาค เพราะการทำงานวิชาการไม่เห็นแก่หน้าอินทร์หน้าพรหมอะไร ไม่ว่าจะเป็นศาสตราจารย์ตำแหน่งสูงส่ง มีประสบการณ์ยาวนานแค่ไหน มีไอคิวสูงปรี๊ดขนาดไหน เขาก็ไม่ได้มีอำนาจทางวิชาการสูงไปกว่านักวิชาการคนอื่นๆ ไม่แม้จะสูงไปกว่านักเรียนของเขา เพราะในห้องเรียน ในบริบททางวิชาการ เขาจะต้องยอมรับฟังคนอื่น เขาจะต้องยอมรับข้อคิดเห็นของนักเรียนที่ให้เหตุผลหรือข้อมูลโต้เถียงเขา สังคมที่มีหลักเสรีภาพทางวิชาการจึงเป็นสังคมเปิด เปิดให้ความคิดเห็นไหลเวียนแลกเปลี่ยนกันได้ เปิดให้เกิดการถกเถียงกันอย่างเสมอหน้า ไม่ต้องยอมกันเพียงเพราะคู่ถกเถียงอาวุโสกว่า อาบน้ำร้อนมาก่อน หรือมีตำแหน่งใหญ่โตกว่า สังคมที่มีเสรีภาพทางวิชาการยอมให้ใครก็ได้เป็นนักวิชาการ หากงานศึกษาของเขาวางอยู่บนเหตุผลและข้อมูลที่หนักแน่นน่ารับฟัง สังคมแบบนี้ไม่กีดกันการเรียนรู้ ไม่กีดกันการเข้าถึงความรู้ด้วยตนเอง ให้ความเสมอภาคกันบนพื้นฐานของการทำงานวิชาการ

ประการที่สี่ สูญเสียการตรวจสอบผู้มีอำนาจ สังคมที่มีเสรีภาพทางวิชาการจะยอมรับการที่นักวิชาการวิจารณ์ผู้มีอำนาจได้ ถือว่าเป็นอีกกลไกหนึ่งของการตรวจสอบผู้นำ และอันที่จริง เนื่องจากใครก็เป็นนักวิชาการได้หากว่าเขาใช้หลักการทางวิชาการในการวิเคราะห์แล้วจึงวิจารณ์ ดังนั้น ในสังคมที่มีเสรีภาพทางวิชาการ ประชาชนคนไหนก็สามารถใช้หลักวิชาการวิจารณ์ผู้นำได้ สังคมที่ไร้เสรีภาพทางวิชาการจึงไม่เปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบผู้นำได้ ช่องทางที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมในการเมืองการปกครองจึงถูกปิดลงอย่างในประเทศไทยปัจจุบัน ยิ่งนักการเมืองถูกจำกัดบทบาท ยิ่งการเลือกตั้งอันเป็นช่องทางในการแสดงอำนาจตรวจสอบของประชาชนถูกปิดตาย ก็ยิ่งต้องเปิดให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ไม่อย่างนั้นแล้วการใช้อำนาจก็จะยิ่งขาดการควบคุม ขาดการตรวจสอบ

ประการสุดท้าย ประชาชนในสังคมจะถูกผู้มีอำนาจละเมิดได้โดยง่ายมากยิ่งขึ้น สังคมที่ถูกผู้มีอำนาจปิดปากจะยิ่งเปิดโอกาสให้ผู้มีอำนาจฉ้อฉล ไม่มีใครสามารถสะท้อนเสียงของผู้ที่ถูกละเมิดได้ ผู้คนที่ถูกอุ้มตัวสูญหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ก็ไม่สามารถรายงานได้ ไม่สามารถวิเคราะห์ได้ การใช้อำนาจคุกคามประชาชน ไล่ประชาชนออกจากพื้นที่ทำกินที่เขาอาศัยอยู่ยาวนาน ก็ไม่สามารถสะท้อนได้ ไม่สามารถวิเคราะห์ในที่สาธารณะได้


การมีเสรีภาพทางวิชาการจึงไม่ใช่เป็นเพียงหลักประกันของการประกอบอาชีพนักวิชาการ หากแต่การมีเสรีภาพทางวิชาการยังหมายถึงการให้หลักประกันว่า ใครก็สามารถเป็นนักวิชาการได้ และใครก็ตามก็มีเสรีภาพในการแสดงออกเสรีภาพในการให้ความเห็นได้ สังคมแบบนั้นจึงเป็นสังคมเปิด เป็นสังคมที่ประชาชนมีอำนาจแสดงออกได้อย่างเสรีในขอบเขตของกฎหมายที่ชอบธรรม เสรีภาพทางวิชาการเป็นเสรีภาพของทั้งสังคม เสรีภาพทางวิชาการจึงสำคัญต่อสังคมทั้งสังคม ไม่ใช่เพียงเพื่อให้นักวิชาการสามารถแสดงความเห็นต่อสาธารณะได้เท่านั้น

นักวิชาการมิได้มีสถานภาพพิเศษแตกต่างไปจากคนอื่นๆ ในสังคม เพียงแต่ความรู้ ข้อเสนอ มุมมองของนักวิชาการที่ทำงานอย่างตรงไปตรงมามักไม่ถูกใจผู้มีอำนาจ นักวิชาการไม่จำเป็นต้องท้าทายอำนาจ แต่ความรู้ทางวิชาการในตัวของมั่นเองนำมาซึ่งอำนาจอีกอย่างหนึ่งที่มีพลังท้าทายอำนาจจากแหล่งอื่น สังคมที่ให้เสรีภาพทางวิชาการจึงเป็นสังคมที่ผู้มีอำนาจเผด็จการไม่ชอบ เพราะสังคมแบบนั้นจะให้คุณค่ากับการขยายความรู้ ซึ่งต้องท้าทายอำนาจการครอบงำ ท้าทายการปิดกั้นความคิดอยู่เสมอไป

 

(ที่มา:มติชนรายวัน 13 ตุลาคม 2557)

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (24 ธันวาคม 2555) กสทช.เชิญให้ผมไปร่วมแสดงความเห็นในเวทีเสวนาสาธารณะ “1 ปี กสทช. กับความ (ไม่) สมหวังของสังคมไทย” ทีแรกผมไม่คิดว่าตนเองจะสามารถไปวิจารณ์อะไรกสทช.ได้ แต่ผู้จัดยืนยันว่าต้องการมุมมองแบบมานุษยวิทยา ผมจึงตกปากรับคำไป 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อโต้แย้งต่อความเห็นผมจากของเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ที่ลงในมติชนออนไลน์ (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1355920241&grpid=03&catid=&subcatid=) ย้ำให้เห็นชัดถึงความอับจนของกรอบคิดของคนกลุ่มนี้ต่อไปนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไม่เพียงแต่นักเขียนบางคนเท่านั้นที่อาจจะไม่เข้าใจหรือมองข้ามประเด็นความแตกต่างทางชาติพันธ์ุ แต่ผมคิดว่าแวดวงภาษาและวรรณกรรมบ้านเราอาจจะไม่ตระหนักถึงปัญหานี้โดยรวมเลยก็ได้ และในแง่หนึ่ง ผมคิดว่าซีไรต์เองอาจจะมีส่วนสร้างวัฒนธรรมไม่อ่อนไหวต่อความแตกต่างทางวัฒนธรรมด้วยเช่นกัน และถึงที่สุดแล้ว นี่อาจจะกลายเป็นข้อจำกัดที่ปิดกั้นโอกาสที่วรรณกรรมไทยจะก้าวเข้าสู่ระดับสากล
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทัศนะของนายแพทย์ที่เป็นตัวแทนของคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ แสดงให้เห็นถึงความคิดคับแคบของผู้มีอำนาจกลุ่มหนึ่ง ที่มักใช้อำนาจก้าวก่ายชีวิตผู้คน บนความไม่รู้ไม่เข้าใจไม่อยากรับผิดชอบต่อปัญหาเชิงโครงสร้างที่ละเอียดอ่อน และบนกรอบข้ออ้างเรื่องคุณธรรมความดีที่ยกตนเองเหนือคนอื่น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แทนที่จะเถียงกับอีกท่านหนึ่งที่วิจารณ์ผมต่อหน้ามากมายเมื่อวาน ผมขอใช้พลังงานเถียงกับข้อเสนอล่าสุดของอาจารย์ธีรยุทธ บุญมีจากข่าวในมติชนออนไลน์ (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1354935625&grpid=01&catid=&subcatid=) ดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นึกไม่ถึงและนึกไม่ออกจริงๆ ว่า ทำไมคนเปิดร้านขายหนังสือในปลายศตวรรษที่ 20 - ต้น 21 จะมีความคิดแบบนี้ได้ นี่แสดงว่าเขาไม่ได้อ่านหนังสือที่เขาขายบ้างเลย หรือนี่แสดงว่าการอ่านหนังสือไม่ได้ช่วยจรรโลงจิตใจนายทุนบางคนขึ้นมาได้เลย*
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 เมื่ออ่านข่าวแอร์โฮสเตสที่เพิ่งถูกให้ออก ผมมีคำถามหลายข้อ ทั้งในมิติของโซเชียลมีเดีย hate speech และสิทธิแรงงาน อย่างไรก็ดี ขอเคลียร์ก่อนว่าหากใครทราบจุดยืนทางการเมืองของผม ย่อมเข้าใจดีว่าความเห็นต่อไปนี้ไม่ได้มาจากความเห็นทางการเมืองที่เอนเอียงไปในทางเดียวกับพนักงานสายการบินคนนี้แต่อย่างใด ข้อสังเกตคือ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขณะกำลังนั่งกินหอยแครงลวกอยู่เวลานี้ ก็ชวนให้คิดถึงคำพูดของนักวิชาการกัมพูชาคนหนึ่ง ที่เคยนั่งต่อหน้าอาหารเกาหลีจานพิเศษ คือหนอนทะเลดิบตัดเป็นชิ้นๆ ขยับตัวดึบๆ ดึบๆ อยู่ในจานแม้จะถูกตั้งทิ้งไว้เป็นชั่วโมง ตอนนั้น ผมบ่ายเบี่ยงไม่กล้ากินอยู่นาน แม้จะรู้ว่าเป็นอาหารพิเศษราคาแพงที่ศาสตราจารย์ชาวเกาหลีสรรหามาเลี้ยงต้อนรับการมาเกาหลีครั้งแรกของพวกเราหลายคน เพื่อนกัมพูชาบอกว่า "กินเถอะพี่ หอยแครงลวกในเมืองไทยน่ากลัวกว่านี้อีก" ผมจึงหาเหตุที่จะหลบเลี่ยงอีกต่อไปไม่ได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมนั่งดูบันทึกรายการ The Voice Thailand (เดอะวอยซ์) เป็นประจำ แม้ว่าจะเห็นคล้อยตามคำนิยมของโค้ชทั้ง 4 อยู่บ่อยๆ แถมยังแอบติดตามความเห็นเปรี้ยวๆ ของนักเขียนบางคนที่ชอบเรียกตนเองสวนทางกับวัยเธอว่า "ป้า" ซึ่งหมดเงินกดโหวตมากมายให้นักร้องหนุ่มน้อยแนวลูกทุ่ง แต่ผมไม่ได้รับความบันเทิงจากเดอะวอยซ์เพียงจากเสียงเพลง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมพยายามถามตัวเองว่า การจะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนการชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยามที่นำโดย "เสธ.อ้าย" จะมาจากเหตุผลประการใดบ้าง แต่ผมก็ชักจะเริ่มไม่แน่ใจว่า เอาเข้าจริง คนที่เข้าร่วมชุมนุมกับเสธ.อ้ายจะมีเหตุผลหรือไม่ หรือหากมี พวกเขาจะใช้เหตุผลชุดไหนกันในการเข้าร่วมชุมนุม ยังไงก็ตาม อยากถามพวกคุณที่ไปชุมนุมว่า พวกคุณอยากให้ประเทศเป็นอย่างนี้จริงๆ หรือ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (20 พฤศจิกายน 2555) นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชิญไปบรรยายในงานสัมมนา "การเมืองเรื่องคนธรรมดา" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ขอตัดส่วนหนึ่งของบทบรรยายของผมที่ใช้ชื่อว่า "การเมืองวัฒนธรรมดา: ความไม่ธรรมดาของสามัญชน" มาเผยแพร่ในที่นี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 เมื่อ 16 พฤศจิกายน 2555 นิสิตรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเชิญไปร่วมกิจกรรมจุฬาวิชาการ โดยให้ไปวิจารณ์บทความนิสิตปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ 4 ชิ้น 1) ว่าด้วยเบื้องหลังทางการเมืองของการก่อตั้งองค์การอาเซียน 2) ว่าด้วยบทบาทและการต่อรองระหว่างประเทศในอาเซียน 3) ว่าด้วยการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าของธุรกิจเอกชนไทยในคู่ค้าอาเซียน และ 4) ว่าด้วยนโยบายชนกลุ่มชาติพันธ์ุในพม่า ข้างล่างนี้คือบันทึกบทวิจารณ์