Skip to main content

"อาร์บอรีทั่ม" (Arboretum) เป็นสวนพฤกษศาสตร์ขนาดใหญ่ร่วม 3 พันไร่ของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สวนนี้ไม่ได้ตั้งอยู่ในบริเวณที่ตั้งมหาวิทยาลัย แต่ก็อยู่ห่างออกไปไม่ไกลนัก หากขยันเดิน สักชั่วโมงหนึ่งก็ถึง ถีบจักรยานไปก็สัก 20 นาที อาจเร็วกว่าขับรถที่ต้องเจอกับป้ายหยุด ทางแยก ไฟสัญญาณ กว่าจะถึงก็สัก 30 นาที

สวนนี้ตั้งอยู่ข้างทะเลสาบหนึ่งในสามของทะเลสาบประจำเมืองนี้ ชื่อทะเลสาบวิงกร้า พื้นที่ส่วนหนึ่งจึงเป็นป่าชายเลน เป็นแหล่งดูนกได้ดีทีเดียว แต่พื้นที่อีกส่วนใหญ่เป็นป่าเมเปิล ป่าโอ้ค ป่าสน นอกจากนั้นก็เป้นสวนที่สะสมพันธ์ุไม้พื้นเมืองของวิสคอนซิน และพื้นที่ขนาดใหญ่อีกส่วนหนึ่งเป็นอีกหนึ่งความภูมิใจของอาร์บอรีทั่ม นั่นคือทุ่งหญ้าแพรรี่ 

ตั้งแต่มาอาศัยอยู่วิสคอนซินเมื่อหลายปีก่อน (นึกย้อนไปก็ตั้งแต่ 18 ปีที่แล้ว!) ผมค่อยๆ ทำความรู้จักกับสวนพฤกษศาสตร์แห่งนี้ทีละเล็กละน้อย เริ่มตั้งแต่ไปเที่ยวพักผ่อนริมทะเลสาบวิงกร้าในฤดูร้อน เพลิดเพลินกับสีสันของป่าเมเปิลในฤดูใบไม่ร่วง เดินชมกิ่งก้านไม้โกร๋นตัดกับสีฟ้าในปลายฤดูหนาว และตื่นเต้นละลานตากับดอกไม้ที่ประชันกันในฤดูใบไม้ผลิ แต่ก็ยังมีพื้นที่กว้างขวางอีกมากมายที่ยังไม่เคยเดินไปถึง 

วันนี้เอง (22 ตุลาคม 2557) ที่ได้ไปเดินในทุ่งหญ้าแพรรี่ที่ช่างภาพอาชีพคนหนึ่งแนะนำให้รู้จักในวันที่เขาลากผมไปถ่ายรูปลงวารสารด้านสิทธิมนุษยชนเล่มหนึ่ง นั่นทำให้ได้รู้ว่า การเดินในทุ่งหญ้าแพรรี่ในฤดูใบไม้ร่วง ผ่านเข้าไปในป่าเมเปิล ป่าต้นโอ้ค ในฤดูนี้ให้ความรู้สึกอย่างไร 

อาร์บอรีทั่มมีสองประตู ประตูหนึ่งติดทะเลสาบ ประตูนั้นติดตัวเมืองมากกว่าอีกประตูหนึ่ง ส่วนใหญ่คนจึงเข้าทางนั้น ประตูทะเลสาบเข้ามาแล้วจะผ่านป่าชายเลน แล้วผ่านป่าเมเปิลส่วนหนึ่ง แล้วเข้าไปยังพื้นที่ตรงกลางที่มีอาคารรับรองผู้มาเยือนตั้งอยู่ บริเวณนั้นจะเป็นสวนไม้สะสมกับทุ่งแพรรี่ ส่วนอีกประตูหนึ่งเข้ามาผ่านป่าโอ้ค แล้วเจอกับทุ่งแพรรี่เลย ต่อเนื่องมาจนถึงอาคารรับรอง วันธรรมดาสามารถขับรถทะลุจากประตูหนึ่งไปอีกประตูหนึ่งได้ 

วันนี้ผมถีบจักรยานไปเข้าประตูป่าโอ้ค แล้วหยุดสาละวนถ่ายรูปในทุ่งแพรรี่ เนื่องจากอากาศดีเป็นพิเศษ อุณหภูมิราวๆ 12-14 องศาเซลเซียส แดดจัดจ้า ทำให้เห็นสีสันของต้นไม้หลายหลายมาก ทุ่งหญ้าแห้งกับใบไม้แห้ง ส่งกลิ่นปะปนกันหลายอย่าง เปลี่ยนไปตามพันธ์ุไม้แต่ละพื้นที่ ผมต้องตากับผลหญ้าชนิดหนึ่ง ที่เป็นพวงสีแดงก่ำ วนเวียนถ่ายรูปชื่นชมใกล้บ้างไกลบ้างอยู่นาน ยิ่งได้สีใบเมเปิล ใบโอ้คเป็นฉากหลัง ยิ่งน่าตื่นตาตื่นใจ 

เมื่อเข้าไปเดินในทุ่งหญ้าอีกส่วนหนึ่ง จึงได้รู้ว่าทุ่งหญ้าที่นี่ได้รับการปลูกและฟื้นฟูมาตั้งแต่ปี 1935 อันที่จริงเดิมทีพื้นที่มลรัฐวิสคอนซินร่วม 20% เคยปกคลุมด้วยทุ่งหญ้าแพรี่ นับเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ คนจึงย้ายเข้ามาถากถางทำการเกษตร จนปัจจุบันแทบไม่เหลือทุ่งหญ้า ทางมหาวิทยาลัยจึงศึกษาและรื้อฟื้นพันธ์ุไม้ในทุ่งหญ้า แล้วดูแลรักษาอย่างดีต่อเนื่องมาจนขณะนี้  

อันที่จริงหากมาในฤดูร้อนจะได้เห็นดอกหญ้านานาพันธ์ุ สังเกตได้จากใบหญ้า ลำต้นหญ้า ดอกหญ้า และผลหญ้าแห้งๆ ที่สลับสับเปลี่ยนรูปทรงไปตามพื้นที่ต่างๆ เป็นหย่อมๆ แม้ว่าจะแห้งกรอบเกือบหมดแล้วในขณะนี้ แต่หญ้าเหล่านี้ก็ยังทิ้งรูปลักษณ์ สีสันบางอย่าง พร้อมกลิ่นเฉพาะตัวของพวกมันไว้ให้พอทำความรู้จักกัน 

สัปดาห์นี้คงเป็นสัปดาห์สุดท้ายแล้วสำหรับการเยี่ยมชมใบไม้เปลี่ยนสี หลายๆ พื้นที่ใบไม้พากันร่วงหมดแล้ว ผมได้แต่นึกสนทนากับใบไม้ในใจเรื่อยเปื่อยไปว่า "เราได้พบกันช้าเกินไป" พวกเธอพากันร่วงหล่นบนดินไปเสียมากแล้ว แต่นั่นก็กลับทำให้ได้เห็นความงามยามโรยราของใบไม้ที่ยังติดอยู่บนกิ่งอย่างหร๋อมแหรม ฉากหลังสีฟ้า รองรับใบไม้เหลืองที่ยังดื้อดึงยึดกิ่งก้านเรียวยาวอยู่ ชวนให้แหงนหน้ามองจนลืมเมื่อย 

เมื่อละตาจากเมเปิลอันสะดุดตามาหลายปีได้ ผมกลับเพิ่งเห็นสีสันของใบโอ้ค บางต้นใบสีน้ำตาลแก่ บางต้นสีน้ำตาลอ่อน บางต้นสีน้ำตาลแดง "เสียดายที่เรารู้จักกันช้าไป" ผมรำพึงกับใบโอ้ค นั่นเพียงเพราะความฉูดฉาดของเมเปิลทีเดียว ที่มักดึงสายตาให้เหลือบมอง จนมองข้ามความงามของใบโอ้ค ที่ไม่ใช่เพียงแค่สีเข้มลึก แต่ยังทรวดทรงของลำต้น และรูปรอยหยักของขอบใบที่งดงามซับซ้อนเกินเมเปิลเป็นไหนๆ 

บทสนทนากับใบไม้พาให้ผ่านวันนี้และหวังว่าจะพาให้ผ่านช่วงปลายของฤดูใบไม้ร่วงไปได้อย่างเข้มแข็ง น่าแปลกใจที่ความเปลี่ยนแปลงใหญ่โตของสีสันเหล่านี้กลับไม่สร้างบทสนทนาอะไรกับใครบางคนเลย แต่กับบางคน มันตำตาและติดตรึงจนชวนให้เหลียวมองและเผลอพูดคุยด้วยได้ไม่รู้เบื่อ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
รัฐประหารครั้งนี้มีอะไรใหม่ๆ หลายอย่าง ผมไม่เรียกว่าเป็นนวัตกรรมหรอก เพราะนวัตกรรมเป็นคำเชิงบวก แต่ผมเรียกว่าเป็นนวัตหายนะ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในภาคการศึกษาที่ผ่านมา ผมสอนหนังสืออยู่ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน เนื่องจากเป็นการสอนชั่วคราว จึงรับผิดชอบสอนเพียงวิชาเดียว แต่ผมก็เป็นเจ้าของวิชาอย่างเต็มตัว จึงได้เรียนรู้กระบวนการจัดการเรียนการสอนที่นี่เต็มที่ตลอดกระบวนการ มีหลายอย่างที่น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย จึงอยากบันทึกไว้ ณ ที่นี้ ให้ผู้อ่านชาวไทยได้ทราบกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (เวลาในประเทศไทย) เป็นวันเด็กในประเทศไทย ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ผมเดินทางไปดูกิจกรรมต่างๆ ในประเทศซึ่งผมพำนักอยู่ขณะนี้จัดด้วยความมุ่งหวังให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ แล้วก็ให้รู้สึกสะท้อนใจแล้วสงสัยว่า เด็กไทยเติบโตมากับอะไร คุณค่าอะไรที่เราสอนกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สิ้นปีเก่าขึ้นปีใหม่ปีนี้ไม่ค่อยชวนให้ผมรู้สึกอะไรมากนัก ความหดหู่จากเหตุการณ์เมื่อกลางปีที่แล้วยังคงเกาะกุมจิตใจ ยิ่งมองย้อนกลับไปก็ยิ่งยังความโกรธขึ้งและสิ้นหวังมากขึ้นไปอีก คงมีแต่การพบปะผู้คนนั่นแหละที่ชวนให้รู้สึกพิเศษ วันสิ้นปีก็คงจะดีอย่างนี้นี่เอง ที่จะได้เจอะเจอคนที่ไม่ได้เจอกันนานๆ สักครั้งหนึ่ง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเพิ่งกลับจากชิคาโก เดินทางไปสำรวจพิพิธภัณฑ์กับแขกผู้ใหญ่จากเมืองไทย ท่านมีหน้าที่จัดการด้านพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ก็เลยพลอยได้เห็นพิพิธภัณฑ์จากมุมมองของคนจัดพิพิธภัณฑ์ คือเกินเลยไปจากการอ่านเอาเรื่อง แต่อ่านเอากระบวนการจัดทำพิพิธภัณฑ์ด้วย แต่ส่วนตัวผมเองก็ไม่ได้อะไรมากนักหรอก แค่ติดตามเขาไปแล้วก็เรียนรู้เท่าที่จะได้มามากบ้างน้อยบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวันส่งท้ายปีเก่าพาแขกชาวไทยคนหนึ่งไปเยี่ยมชมภาควิชามานุษยวิทยาของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ก็เลยทำให้ได้รู้จักอีก 2 ส่วนของภาควิชามานุษยวิทยาที่นี่ว่ามีความจริงจังลึกซึ้งขนาดไหน ทั้งๆ ที่ก็ได้เคยเรียนที่นี่มา และได้กลับมาสอนหนังสือที่นี่ แต่ก็ไม่เคยรู้จักที่นี่มากเท่าวันนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วาทกรรม "ประชาธิปไตยแบบไทย" ถูกนำกลับมาใช้เสมอๆ เพื่อลดทอนความน่าเชื่อถือของแนวคิดประชาธิปไตยสากล 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นข่าวงาน "นิธิ 20 ปีให้หลัง" ที่ "มติชน" แล้วก็น่ายินดีในหลายสถานด้วยกัน  อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์มีคนรักใคร่นับถือมากมาย จึงมีแขกเหรื่อในวงการนักเขียน นักวิชาการ ไปร่วมงานเป็นจำนวนมาก เรียกว่ากองทัพปัญญาชนต่างตบเท้าไปร่วมงานนี้กันเลยทีเดียว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (12 ธค. 2557) ปิดภาคการศึกษาแล้ว เหลือรออ่านบทนิพนธ์ทางมานุษยวิทยาภาษาของนักศึกษา ที่ผมให้ทำแทนการสอบปลายภาค เมื่อเหลือเวลาอีก 15 นาทีสุดท้าย ตามธรรมเนียมส่วนตัวของผมแล้ว ในวันปิดสุดท้ายของการเรียน ผมมักถามนักศึกษาว่าพวกเขาได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ที่ไม่ได้เคยเรียนมาก่อนจากวิชานี้บ้าง นักศึกษาทั้ง 10 คนมีคำตอบต่างๆ กันดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเพิ่งมีโอกาสได้ดูภาพยนตร์ (ขอเรียกง่ายๆ ว่า "หนัง" ก็แล้วกันครับ) เรื่องที่เป็นประเด็นใหญ่เมื่อ 2-3 วันก่อน ที่จริงก็ถ้าไม่มีเพื่อนๆ ถกเถียงกันมากมายถึงฉากเด็กวาดรูปฮิตเลอร์ ผมก็คงไม่อยากดูหรอก แต่เมื่อดูแล้วก็คิดว่า หนังเรื่องนี้สะท้อนความล้มเหลวของการรัฐประหารครั้งนี้ได้อย่างดี มากกว่านั้นคือ สะท้อนความลังเล สับสน และสับปลับของสังคมไทยได้เป็นอย่างดี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเป็นคนหนึ่งที่ยืนยันแม้จะไม่ถึงกับต่อต้านมาตลอดว่า เราไม่ควรเปิดโครงการนานาชาติในประเทศไทย ด้วยเหตุผลสำคัญ 2-3 ประการ หนึ่ง อยากให้ภาษาไทยพัฒนาไปตามพัฒนาการของความรู้สากล สอง คิดว่านักศึกษาไทยจะเป็นผู้เรียนเสียส่วนใหญ่และจึงจะทำให้ได้นักเรียนที่ภาษาไม่ดีพอ การศึกษาก็จะแย่ตามไปด้วย สาม อาจารย์ผู้สอน (รวมทั้งผมเอง) ก็ไม่ได้ภาษาอังกฤษดีมากนัก การเรียนการสอนก็จะยิ่งตะกุกตะกัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายปีที่ผ่านมา สังคมปรามาสว่านักศึกษาเอาใจใส่แต่ตัวเอง ถ้าไม่สนใจเฉพาะเสื้อผ้าหน้าผม คอสเพล มังหงะ กับกระทู้ 18+ ก็เอาแต่จมดิ่งกับการทำความเข้าใจตนเอง ประเด็นอัตลักษณ์ บริโภคนิยม เพศภาวะ เพศวิถี เกลื่อนกระดานสนทนาที่ซีเรียสจริงจังเต็มไปหมด