Skip to main content

"อาร์บอรีทั่ม" (Arboretum) เป็นสวนพฤกษศาสตร์ขนาดใหญ่ร่วม 3 พันไร่ของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สวนนี้ไม่ได้ตั้งอยู่ในบริเวณที่ตั้งมหาวิทยาลัย แต่ก็อยู่ห่างออกไปไม่ไกลนัก หากขยันเดิน สักชั่วโมงหนึ่งก็ถึง ถีบจักรยานไปก็สัก 20 นาที อาจเร็วกว่าขับรถที่ต้องเจอกับป้ายหยุด ทางแยก ไฟสัญญาณ กว่าจะถึงก็สัก 30 นาที

สวนนี้ตั้งอยู่ข้างทะเลสาบหนึ่งในสามของทะเลสาบประจำเมืองนี้ ชื่อทะเลสาบวิงกร้า พื้นที่ส่วนหนึ่งจึงเป็นป่าชายเลน เป็นแหล่งดูนกได้ดีทีเดียว แต่พื้นที่อีกส่วนใหญ่เป็นป่าเมเปิล ป่าโอ้ค ป่าสน นอกจากนั้นก็เป้นสวนที่สะสมพันธ์ุไม้พื้นเมืองของวิสคอนซิน และพื้นที่ขนาดใหญ่อีกส่วนหนึ่งเป็นอีกหนึ่งความภูมิใจของอาร์บอรีทั่ม นั่นคือทุ่งหญ้าแพรรี่ 

ตั้งแต่มาอาศัยอยู่วิสคอนซินเมื่อหลายปีก่อน (นึกย้อนไปก็ตั้งแต่ 18 ปีที่แล้ว!) ผมค่อยๆ ทำความรู้จักกับสวนพฤกษศาสตร์แห่งนี้ทีละเล็กละน้อย เริ่มตั้งแต่ไปเที่ยวพักผ่อนริมทะเลสาบวิงกร้าในฤดูร้อน เพลิดเพลินกับสีสันของป่าเมเปิลในฤดูใบไม่ร่วง เดินชมกิ่งก้านไม้โกร๋นตัดกับสีฟ้าในปลายฤดูหนาว และตื่นเต้นละลานตากับดอกไม้ที่ประชันกันในฤดูใบไม้ผลิ แต่ก็ยังมีพื้นที่กว้างขวางอีกมากมายที่ยังไม่เคยเดินไปถึง 

วันนี้เอง (22 ตุลาคม 2557) ที่ได้ไปเดินในทุ่งหญ้าแพรรี่ที่ช่างภาพอาชีพคนหนึ่งแนะนำให้รู้จักในวันที่เขาลากผมไปถ่ายรูปลงวารสารด้านสิทธิมนุษยชนเล่มหนึ่ง นั่นทำให้ได้รู้ว่า การเดินในทุ่งหญ้าแพรรี่ในฤดูใบไม้ร่วง ผ่านเข้าไปในป่าเมเปิล ป่าต้นโอ้ค ในฤดูนี้ให้ความรู้สึกอย่างไร 

อาร์บอรีทั่มมีสองประตู ประตูหนึ่งติดทะเลสาบ ประตูนั้นติดตัวเมืองมากกว่าอีกประตูหนึ่ง ส่วนใหญ่คนจึงเข้าทางนั้น ประตูทะเลสาบเข้ามาแล้วจะผ่านป่าชายเลน แล้วผ่านป่าเมเปิลส่วนหนึ่ง แล้วเข้าไปยังพื้นที่ตรงกลางที่มีอาคารรับรองผู้มาเยือนตั้งอยู่ บริเวณนั้นจะเป็นสวนไม้สะสมกับทุ่งแพรรี่ ส่วนอีกประตูหนึ่งเข้ามาผ่านป่าโอ้ค แล้วเจอกับทุ่งแพรรี่เลย ต่อเนื่องมาจนถึงอาคารรับรอง วันธรรมดาสามารถขับรถทะลุจากประตูหนึ่งไปอีกประตูหนึ่งได้ 

วันนี้ผมถีบจักรยานไปเข้าประตูป่าโอ้ค แล้วหยุดสาละวนถ่ายรูปในทุ่งแพรรี่ เนื่องจากอากาศดีเป็นพิเศษ อุณหภูมิราวๆ 12-14 องศาเซลเซียส แดดจัดจ้า ทำให้เห็นสีสันของต้นไม้หลายหลายมาก ทุ่งหญ้าแห้งกับใบไม้แห้ง ส่งกลิ่นปะปนกันหลายอย่าง เปลี่ยนไปตามพันธ์ุไม้แต่ละพื้นที่ ผมต้องตากับผลหญ้าชนิดหนึ่ง ที่เป็นพวงสีแดงก่ำ วนเวียนถ่ายรูปชื่นชมใกล้บ้างไกลบ้างอยู่นาน ยิ่งได้สีใบเมเปิล ใบโอ้คเป็นฉากหลัง ยิ่งน่าตื่นตาตื่นใจ 

เมื่อเข้าไปเดินในทุ่งหญ้าอีกส่วนหนึ่ง จึงได้รู้ว่าทุ่งหญ้าที่นี่ได้รับการปลูกและฟื้นฟูมาตั้งแต่ปี 1935 อันที่จริงเดิมทีพื้นที่มลรัฐวิสคอนซินร่วม 20% เคยปกคลุมด้วยทุ่งหญ้าแพรี่ นับเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ คนจึงย้ายเข้ามาถากถางทำการเกษตร จนปัจจุบันแทบไม่เหลือทุ่งหญ้า ทางมหาวิทยาลัยจึงศึกษาและรื้อฟื้นพันธ์ุไม้ในทุ่งหญ้า แล้วดูแลรักษาอย่างดีต่อเนื่องมาจนขณะนี้  

อันที่จริงหากมาในฤดูร้อนจะได้เห็นดอกหญ้านานาพันธ์ุ สังเกตได้จากใบหญ้า ลำต้นหญ้า ดอกหญ้า และผลหญ้าแห้งๆ ที่สลับสับเปลี่ยนรูปทรงไปตามพื้นที่ต่างๆ เป็นหย่อมๆ แม้ว่าจะแห้งกรอบเกือบหมดแล้วในขณะนี้ แต่หญ้าเหล่านี้ก็ยังทิ้งรูปลักษณ์ สีสันบางอย่าง พร้อมกลิ่นเฉพาะตัวของพวกมันไว้ให้พอทำความรู้จักกัน 

สัปดาห์นี้คงเป็นสัปดาห์สุดท้ายแล้วสำหรับการเยี่ยมชมใบไม้เปลี่ยนสี หลายๆ พื้นที่ใบไม้พากันร่วงหมดแล้ว ผมได้แต่นึกสนทนากับใบไม้ในใจเรื่อยเปื่อยไปว่า "เราได้พบกันช้าเกินไป" พวกเธอพากันร่วงหล่นบนดินไปเสียมากแล้ว แต่นั่นก็กลับทำให้ได้เห็นความงามยามโรยราของใบไม้ที่ยังติดอยู่บนกิ่งอย่างหร๋อมแหรม ฉากหลังสีฟ้า รองรับใบไม้เหลืองที่ยังดื้อดึงยึดกิ่งก้านเรียวยาวอยู่ ชวนให้แหงนหน้ามองจนลืมเมื่อย 

เมื่อละตาจากเมเปิลอันสะดุดตามาหลายปีได้ ผมกลับเพิ่งเห็นสีสันของใบโอ้ค บางต้นใบสีน้ำตาลแก่ บางต้นสีน้ำตาลอ่อน บางต้นสีน้ำตาลแดง "เสียดายที่เรารู้จักกันช้าไป" ผมรำพึงกับใบโอ้ค นั่นเพียงเพราะความฉูดฉาดของเมเปิลทีเดียว ที่มักดึงสายตาให้เหลือบมอง จนมองข้ามความงามของใบโอ้ค ที่ไม่ใช่เพียงแค่สีเข้มลึก แต่ยังทรวดทรงของลำต้น และรูปรอยหยักของขอบใบที่งดงามซับซ้อนเกินเมเปิลเป็นไหนๆ 

บทสนทนากับใบไม้พาให้ผ่านวันนี้และหวังว่าจะพาให้ผ่านช่วงปลายของฤดูใบไม้ร่วงไปได้อย่างเข้มแข็ง น่าแปลกใจที่ความเปลี่ยนแปลงใหญ่โตของสีสันเหล่านี้กลับไม่สร้างบทสนทนาอะไรกับใครบางคนเลย แต่กับบางคน มันตำตาและติดตรึงจนชวนให้เหลียวมองและเผลอพูดคุยด้วยได้ไม่รู้เบื่อ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากผมจะเลิกเรียกอาจารย์ว่าอาจารย์เสีย ก็คงไม่มีใครใส่ใจอะไร เพียงแต่ผมเองต่างหากที่ยังใส่ใจว่า อาจารย์เคยสอนหนังสือผม และอาจารย์ก็ยังเป็นนักวิชาการรุ่นอาวุโสที่อยางน้อยก็มีศักดิ์ทางวิชาการที่โลกวิชาการในสายอาชีพเดียวกับผมเขายกย่องนับถือกัน ไม่อย่างนั้นอาจารย์ก็คงไม่ได้รับการยกย่องมาจนทุกวันนี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันสุดท้ายของการเดินทางในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม คณะเราเดินทางกลับฮานอย แต่เส้นทางที่กลับผ่านดินแดนในตำนานสำคัญที่ผมไม่เคยแวะมาก่อน คือศาลเจ้าหุ่งม์เวือง (Đền Hùng Vương) ที่เชื่อมโยงกับตำนานไข่ร้อยฟองและกำเนิดของกลุ่มชาติพันธ์ุไต
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเมืองไลและเมืองซอมา ผมกับเพื่อนร่วมทางมุ่งหน้าไปจุดหมายต่อไปคือไปพักที่เมืองถาน (Than Uyên) เมืองสำคัญของชาวไตดำอีกเมืองหนึ่ง เพื่อที่วันรุ่งขึ้นจะได้เดินทางต่อไปยังเมืองลอ (Nghĩa Lộ) โดยผ่านนาขั้นบันไดในถิ่นของชาวม้งที่อำเภอ หมู่ กัง จ่าย (Mù Căng Chải) และถิ่นฐานชาวเย้าที่ทำนา ณ เมืองลุง (Tú Lệ) แล้วพักค้างคืนที่เอียน บ๋าย (Yên Bái) ก่อนมุ่งหน้าสู่ฮานอยในอีกวันหนึ่ง ตลอดเส้นทางนี้ผมใจหายกับความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตลอดการเดินทาง สิ่งหนึ่งที่หนักหนาเสมอคือการดื่มกินกับคนพื้นเมือง ในการเดินทางครั้งนี้ มื้อที่แสนสาหัสที่สุดคือมื้อที่ต้องทั้งประคองตัวเอง ทั้งไม่ให้เสียน้ำใจ และทั้งไม่ให้เพื่อนร่วมทางเหน็ดเหนื่อยเกินกว่าจะร่วมทางกันต่อไปได้อย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองไลเป็นเมืองสำคัญอย่างไรในประวัติศาสตร์เวียดนาม สยาม และฝรั่งเศส คงเป็นคำถามที่ไม่มีใครสนใจนัก เพราะเมืองไลปัจจุบันกำลังกลายเป็นอดีตที่ถูกกลบเกลื่อนลบเลือนไปจนเกือบหมดสิ้น ทั้งจากน้ำเหนือเขื่อน และจากการจัดการปกครองในปัจจุบัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองแถงมนดั่งขอบกระด้ง เมืองคดโค้งเยี่ยงเขาควาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสักเกือบ 15 ปีก่อน ผมไปเสาะหาบ้านนาน้อยอ้อยหนูที่เมืองแถง (เดียนเบียนฟู) กับอาจารย์คำจอง นักชาติพันธ์ุวิทยาชาวไตดำ/เวียดนาม 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองลา (Sơn La) ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว แทบไม่มีใครรู้จักเมืองลาแม้ว่าเมืองนี้จะมีประวัติศาสตร์สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเดียนเบียนฟู เนื่องจากเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสใช้เป็นฐานในการปกครองเมืองคนไต แต่เดียนเบียนฟูโด่งดังขึ้นมาจากการที่ฝรั่งเศสแพ้พวกคอมมิวนิสต์เวียดนามอย่างราบคาบ ทำให้คนไม่ได้ทันสนใจว่า ก่อนหน้านั้นฝรั่งเศสปกครองเมืองคนไตอย่างไร แล้วมีฐานที่มั่นสำคัญอยู่ที่ไหนก่อนที่จะไปอยู่ที่เมืองแถงหรือเดียนเบียนฟู
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมมาเมืองมุน (Mai Châu, Hoà Bình) ครั้งแรกเมื่อปี 1998 มาเป็นผู้ช่วยวิจัย ตอนนั้นมาเดือนกุมภาพันธ์ อากาศหนาวมากแล้วเตรียมตัวไม่พอ ยังไม่รู้จักความหนาว เมื่อมาถึงที่นี่ ได้แต่นั่งผิงไฟ ขณะนั้นเมืองมุนเริ่มเปิดให้นักท่องเที่ยวมาพัก มีโฮมสเตย์อยู่สัก 5-6 หลัง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทุนมหาวิทยาลัยเกียวโตนี่ดีกว่าที่ผมคิด เดิมทีแค่รู้ว่าได้ทุนมาเพื่อทำวิจัย ซึ่งก็จะทำอะไรก็ทำไปเถอะ ตามข้อเสนอขอทุนที่เขียนไปไม่ถึงหนึ่งหน้ากระดาษ งานที่รับผิดชอบคือเสนองานสักสองครั้ง แล้วพยายามพิมพ์อะไรออกมาก็โอเคแล้ว นี่จึงถือว่าเป็นทุนชั้นยอด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาผมเดินทางด้วยรถไฟชินคันเซนจากเกียวโตไปโตเกียว มีเรื่องราวมากมายที่น่าบันทึกไว้ ณ ที่นี่ แต่เบื้องต้นขอเล่าเพียงตลาด Tsukiji ก่อน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตกใจเหมือนกันที่ Divas Cafe จะเลิกออกอากาศแล้ว อยากบันทึกสั้นๆ ว่าผมดีใจ ภูมิใจ ปลื้มใจ ที่เคยได้เป็นแขกในรายการดีว่าส์ คาเฟ่ เป็นรายการที่ไปคุยด้วยสนุกมาก พิธีกรรุกเร้ามาก เวลาสั้นจนต้องปรับจังหวะการพูดให้เร็วมาก แถมบางครั้งยังต้องหาจังหวะแย่งพิธีกรพูดอีก