Skip to main content

อันที่จริงผมก็นึกไม่ถึงว่าจะมีคนสนใจข่าวนี้กันมากนัก เรื่องอาจจะเป็นเพราะมีการใช้คำในการรายงานข่าวเบื้องต้นอย่างคลาดเคลื่อนไป ก็เลยทำให้เป็นที่น่าตกใจ แต่อีกนัยหนึ่งก็ชี้ให้เห็นปัญหาการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนจนกระทั่งเมื่อมีการแสดงการต่อต้านด้วยการปฏิเสธที่จะอยู่ใต้อำนาจกดทับนั้น คนก็จึงตอบรับกันอย่างกระหน่ำ อย่างไรก็ดี ผมก็อยากชี้แจงให้กระจ่างเพิ่มเติมว่า ทำไมผมจึงเลือกที่จะแสดงสถานภาพในการเดินทางมาต่างประเทศของผมในครั้งนี้เพิ่มเติมผ่านข้อเขียนนี้

 
อย่างที่ให้สัมภาษณ์ไปแล้วในมติชนออนไลน์ว่า หลังการรัฐประหารผมได้ปลีกตัวออกไปเวียดนามเกือบหนึ่งเดือน ซึ่งก็ไปอย่างเป็นทางการ เนื่องจากผมเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ให้นักศึกษาปริญญาเอกชาวเวียดนามที่สถาบันการศึกษาแห่งหนึ่ง พอดีช่วงนั้นนักศึกษากำลังจะสอบหัวข้อวิทยานิพนธ์ ผมก็ถือโอกาสที่คณะรัฐประหารอาจคุกคามผม หลบไปปฏิบัติหน้าที่อาจารย์ที่ปรึกษา ด้วยการลาไปราชการอย่างถูกระเบียบ 
 
แต่ในระหว่างนั้น เพื่อนนักวิชาการแนะนำให้ผมสมัครทุนช่วยเหลือนักวิชาการที่ประสบภัยการเมือง ทุนนี้ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องมาอยู่ที่สหรัฐอเมริกา เขาเปิดให้สามารถไปอยู่ที่ไหนก็ได้ในโลก ทุนที่ว่านี้อยู่ภายใต้องค์กรที่เรียกว่า Institute of International Education ในหน่วยย่อยของเขาชื่อ Scholar Rescue Fund (SRF) แต่ด้วยความที่ภัยคุกคามจะมาถึงผมเมื่อไหร่ก็ได้ ภาควิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยวิสคอนซินจึงหาทุนในมหาวิทยาลัยเขาให้ผมก่อนในตำแหน่ง visiting assistant professor สอนหนังสือภาคการศึกษาละหนึ่งวิชาเป็นเวลาหนึ่งปี ระหว่างนั้นผมก็ดำเนินการเรื่องการสมัครทุน SRF ไปเรื่อยๆ ซึ่งที่จริงก็ตั้งแต่ที่อยู่เวียดนาม จนกระทั่งเดือนกันยายนที่ผ่านมาจึงรู้ผลว่าได้รับทุนนี้
 
การสมัครทุนนี้ ซึ่งผมก็อยากแนะนำให้เพื่อนนักวิชาการที่สนใจลองสมัครกันดู นอกจากจดหมายแนะนำตัวจากนักวิชาการ 4 คน ที่รู้จักผลงานทางวิชาการและความเสี่ยงทางการเมืองของผู้สมัคร รายละเอียดผลงานวิชาการและการบริการสังคม ตัวอย่างผลงานวิชาการที่ตีพิมพ์ และประวัติการทำงานและรายชื่อผลงานที่ตีพิมพ์แล้ว ต้องให้เหตุผลอธิบายว่าทำไมผู้สมัครจึงคิดว่าตนเองจะประสบภัยการเมือง แล้วภัยนั้นจะมีผลต่อการใช้ชีวิตและการทำงานอย่างไร สำหรับผมเอง ผมอธิบายไปอย่างยืดยาว แต่จะขอเล่าโดยสรุปและไม่เอ่ยชื่อคนต่างๆ ดังนี้
 
1. SRF ถามว่า “ทำไมจึงคิดว่าตนเองจะถูกคุกคามจากคณะรัฐประหาร” ผมตอบว่าการเข้าร่วมกิจกรรมบริการสังคมก่อนหน้าการรัฐประหารของผมมีส่วนทำให้ผมถูกคุกคามจากคณะรัฐประหาร เพราะกิจกรรมเหล่านั้นเป็นกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนและกิจกรรมส่งเสริมประชาธิปไตย อันเป็นกิจกรรมที่คณะรัฐประหารนี้ถือว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง ตั้งแต่การร่วมก่อตั้ง “กลุ่มสันติประชาธรรม” ปี 2551 “ศูนย์ข้อมูลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมเมษา-พฤษภา 2553” (ศปช.) “คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112” ปี 2554 และ “สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย” (สปป.) 2557 เพื่อรณรงค์การเลือกตั้ง จนกระทั่งเกิดการรัฐประหาร ซึ่งผมก็ได้จัดกิจกรรมต่อต้านรัฐประหารในทันทีที่เกิดการรัฐประหาร 
 
2. SRF ถามว่า “ที่ว่าคณะรัฐประหารอาจตีความการร่วมกิจกรรมของคุณไปตามความเข้าใจของเขาเองหมายความว่าอย่างไร" ผมยกตัวอย่างกิจกรรมทางวิชาการและการส่งเสริมประชาธิปไตยของเพื่อนนักวิชาการบางคน ที่ถูกตีความว่าเป็นการปลุกระดม เป็นภัยต่อความมั่นคง หรือกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนของบางคน ถูกตีความว่าเป็นความเข้าใจผิด เป็นการได้ข้อมูลผิดพลาด เหล่านี้คือการตีความของคณะทหารเอง เพื่อใช้ข่มขู่คุกคามสิทธิเสรีภาพ ไม่ได้มาจากการสืบสาวข้อเท็จจริง หรือเป็นการเข้าใจข้อเท็จจริงแบบทหาร ซึ่งไม่เข้าใจหลักประชาธิปไตยและไม่เข้าใจหลักสิทธิมนุษยชนโดยสิ้นเชิง
 
3. SRF ถามว่า “ทำไมคุณจึงไม่ถูกเรียกตัว” ผมให้ข้อมูลว่า ในบรรดาคนที่ถูกเรียกตัว กว่า 60% เป็นคนที่ถูกมองว่าเป็นคนเสื้อแดง นักวิชาการฝ่ายประชาธิปไตยก็ถูกมองอย่างนั้น ในจำนวนนั้น ราวเกือบ 24% เป็นนักวิชาการ นักกิจกรรมทางสังคม นักศึกษา นอกจากนั้น กรณีที่ถูกเพ่งเล็งอย่างมากคือกรณีที่เกี่ยวกับการหมิ่นสถาบันกษัตริย์ ซึ่งในการตีความของคณะรัฐประหาร ไม่สามารถรู้ได้แน่ว่าขอบเขตของการหมิ่นสถาบันฯ อยู่ที่ไหน ยิ่งกว่านั้น ผู้ที่ผ่านกระบวนการยุติธรรมและหลุดจากคดี 112 แล้วจำนวนหนึ่ง ก็กลับถูกเรียกให้ไปรายงานตัวอีก นี่ยิ่งทำให้สรุปได้ว่า ใครที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้อยู่ในข่ายที่อาจถูกเรียกตัวเมื่อไหร่ก็ได้
 
แม้ว่าผมจะยังไม่ถูกเรียกตัวในขณะนั้น ก็ไม่ได้มีหลักประกันอะไรว่าผมจะไม่ถูกเรียกตัวในท้ายที่สุด ผมเล่าว่า ในขณะนี้มีนักวิชาการที่ร่วมกิจกรรมมากมายที่ไม่ได้ถูกเรียกตัว แต่ก็ไม่ได้หมายความพวกเขาจะดำเนินชีวิตตามปกติสุขได้ เพราะต่างก็เผชิญกับการถูกข่มขู่ หรือไม่ก็ถูกกีดกันไม่ให้สามารถแสดงความคิดเห็นได้ มีการจับตามองใกล้ชิดไม่เว้นแม้ในห้องเรียนหรือการประชุมทางวิชาการต่างๆ ที่ในที่สุดแล้วก็อาจจะนำไปสู่การจับกุมและถูกบังคับให้หยุดแสดงออกไปในที่สุด ไม่ต่างอะไรกับคนที่ถูกเรียกตัวไป (ขณะนั้นกรณีจับกุมนักวิชาการจากที่ประชุม จากการเคลื่อนไหวภาคประชาชน ยังไม่เกิดขึ้น)
 
4. SRF ถามว่า “ทำไมไม่รอจนกว่าจะถูกเรียกตัวแล้วค่อยสมัครขอความช่วยเหลือ” ผมตอบว่าหากรอจนถึงขนาดนั้นก็จะไม่มีโอกาสออกมานอกประเทศ จะถูกกักกันตัวไว้ในประเทศ หลายคนที่เมื่อถูกเรียกตัวไปแล้ว ก็ไม่สามารถกลับมามีชีวิตตามปกติได้ดังเดิม บางคนยังถูกคุกคามอย่างต่อเนื่องด้วยวิธีการต่างๆ ที่ผมเล่าให้เขารับรู้ไปแต่ไม่สามารถเล่าในที่นี้ได้เนื่องจากเจ้าตัวอาจจะเดือดร้อน บางคนที่ไม่ได้ถูกเรียกตัวอย่างเป็นทางการแต่กลับ “ถูกเชิญ” ไปข่มขู่คุกคามอย่างรุนแรงจนทำให้ไม่สามารถดำเนินชีวิตตามปกติได้ และสำหรับคนที่ถูกเรียกตัวไป การเดินทางไปต่างประเทศก็จะถูกจำกัด ต้องขออนุญาตจากคณะรัฐประหาร นอกจากนั้นยังมีประกาศในหน่วยงานของรัฐ ไม่ให้ติดต่อร่วมงานกับบุคคลที่ถูกเรียกรายงานตัว นับเป็นมาตรการทางสังคมที่กดดันคนเหล่านี้อีก
 
ผมบอกไปด้วยว่า ผมไม่คิดว่าสถานการณ์จะดีขึ้นภายใน 1-2 ปี แต่ผมคิดว่า การได้ออกมาทำงานอย่างเป็นอิสระสักระยะหนึ่ง จะดีกว่าต้องทำงานอยู่ในสภาพที่ไร้เสรีภาพและมีโอกาสถูกคุกคามได้เสมอในขณะนี้
 
หลังจากเขาประกาศว่าผมได้รับทุนสักพัก ทาง SRF ก็ติดต่อมาว่า วารสาร The Chronicle of Higher Education ของสหรัฐอเมริกาสนใจจะสัมภาษณ์ผม SRF ถามว่าผมสมัครใจให้สัมภาษณ์ไหม และยินดีทำในนามของผู้ได้รับทุนนี้ไหม เขาย้ำว่าผมจะไม่ทำก็ได้ แต่ผมยินดีทำ ผมบอกเขาไปว่า ที่ผมให้สัมภาษณ์ก็ด้วยเหตุผลต่อไปนี้
 
1. ผมอยากให้โลกรู้ว่าประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาการคุกคามสิทธิมนุษยชนอย่างหนัก อันเนื่องมาจากการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม อันเนื่องมาจากการใช้กฎหมายอย่างฉ้อฉล อันเนื่องมาจากการไม่เคารพกฎหมายของคณะรัฐประหารและพรรคพวกที่เข้าร่วม ผมอยากใช้ตนเองเป็นตัวอย่างของผู้คนอีกจำนวนมากที่ถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งๆ ที่ประเทศไทยยังมีคนนั่งลอยหน้ากินเงินเดือนภาษีประชาชนในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอยู่อย่างไม่รู้จักละอายแก่ใจ
 
2. ผมอยากให้ academic activists หรือนักวิชาการผู้ทำกิจกรรมบริการสังคมทั่วโลกรับรู้ว่า กิจกรรมบริการสังคม ไม่ว่าจะที่ใดในโลก ยังคงได้รับการเหลียวแลจากสังคมนานาชาติอยู่ พวกเขาไม่ได้โดดเดี่ยว พวกเขายังมีคนให้การสนับสนุน พวกเขายังมีโอกาสที่จะได้รับการช่วยเหลือให้เดินหน้าทำงานทางวิชาการและงานกิจกรรมทางสังคมอย่างต่อเนื่อง
 
3. ข้อที่ผมไม่ได้บอก SRF ก็คือว่า ผมต้องการให้คนที่ประเทศไทยรับรู้ความร้ายแรงของการรัฐประหารในประเทศไทย ว่าอยู่ในระดับเดียวกับความร้ายแรงในประเทศที่มีความรุนรงมากในขณะนี้ หากพิจารณาสภาพแวดล้อมของการสัมภาษณ์และการให้ความช่วยเหลือของ SRF นักวิชาการที่ได้รับความช่วยเหลือส่วนใหญ่มาจากประเทศที่ดวงไฟประชาธิปไตยริบหรี่ ล้วนแล้วแต่เป็นประเทศที่สิทธิเสรีภาพถูกคุกคามอย่างร้ายแรง อย่างซีเรีย อียิปต์ อิรัก ฯลฯ ผมอยากให้โลกและรัฐบาลไทยเองรับรู้ว่าสถานะด้านสิทธิเสรีภาพของประเทศไทยขณะนี้ตกต่ำลงถึงขนาดนั้น
 
บทสัมภาณษ์ที่ได้เผยแพร่ไปแล้ว และที่จะตามมาในหนังสือพิมพ์ วิทยุ และสื่อออนไลน์ ทั้งในสหรัฐอเมริกาและในประเทศไทย อาจก่อปัญหากับผมมากยิ่งขึ้น แต่ผมก็ยินดีที่จะบอกเล่าความจริงที่เกิดขึ้นในมุมหนึ่งของโลกให้สังคมโลกรู้ เพื่อหวังว่าจะช่วยให้สถานการณ์ในประเทศไทยดีขึ้นในทางที่ไม่ใช่แค่สงบร่มเย็นสามัคคี แต่ต้องให้ได้กลับไปเป็นสังคมที่ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพเสมอหน้ากันด้วย

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
อย่างที่บอกคือ ผมไม่ใช่คนเชี่ยวชาญเกาหลี จะเล่าเรื่องเกาหลีก็จะต้องมีผิดมีพลาดบ้าง เพียงแต่อยากบันทึกเก็บไว้ แล้วแบ่งปันบ้าง เผื่อใครสนใจหรือช่วยเติมต่อความรู้ อีกเรื่องหนึ่งที่ผมสนใจในการไปเกาหลีทั้งสองครั้ง (ครั้งแรกเมื่อ 8 ปีก่อน ก็ไปแค่สั้นๆ ไม่กี่วัน) ก็คือการได้พบเจอผู้คนและได้ไปเดินด่อมๆ มองๆ ตามย่านการค้า ร้านค้า และพบปะพูดคุยดื่มกินกับผู้คน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่ได้อยู่นฐานะที่จะมาเขียนอะไรเกี่ยวกับเกาหลี เดินทางไปแค่สองครั้ง ครั้งละไม่กี่วัน ไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ ไม่ได้เชี่ยวชาญอะไร แต่ด้วยนิสัยของการชอบบันทึกเก็บไว้ ก็เลยอยากเขียนอะไรเกี่ยวกับเกาหลีที่รู้จักเอาไว้อ่านเอง เอาไว้คิดต่อ เอาไว้ก่อนที่จะลืม ก่อนที่จะไม่อยากเขียน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอร่วมรำลึกวาระ 40 ปี 6 ตุลาด้วยการกล่าวถึงงานศึกษาสังคม-วัฒนธรรมไทยที่เป็นพื้นฐานของเหตุการณ์เมื่อ 40 ปีก่อนนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จำเป็นแค่ไหนที่เราจะต้องคิดต่างจากส่วนกลาง ถ้าเราคิดว่าการครอบงำของความรู้ตะวันตกเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเข้าใจตัวตนเราเอง และทั้งยังปิดกั้นความเป็นมนุษย์ที่ไม่ได้ถูกเข้าใจจากมุมมองที่ต่างออกไป เราก็จำเป็นที่จะต้องคิดทั้งนอกกรอบตะวันตกและนอกกรอบการครอบงำจากอำนาจศูนย์กลางของรัฐ ความคิดนอกกรอบการครอบงำดังกล่าวส่วนหนึ่งเรียกว่าแนวคิดหลังอาณานิคม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายวันมานี้มีเรื่องขันขื่นหลายเรื่องที่สังคมไทยก้าวไม่พ้นเสียที แต่ผมว่าเรื่องพื้นฐานของปัญหาเหล่านี้คือเรื่องการไม่ยอมรับผิด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไปโกเบเมื่อสี่วันก่อน (7 มิถุนายน 59) นอกจากได้รู้จักความเป็นเมืองฝรั่งๆ ของโกเบแล้ว สาระสำคัญของการไปโกเบวันก่อนอย่างหนึ่งคือการไปพิพิธภัณฑ์เครื่องมือช่างไม้แห่งนี้ พิพิธภัณฑ์นี้เป็นของบริษัท Takenaka ที่บอกเล่าว่าตั้งมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 17 ส่วนพิพิธภัณฑ์นี้เปิดปี 1984 แล้วเข้าใจว่าน่าจะค่อยๆ พัฒนาคอลเล็กชั่นและการจัดแสดงขึ้นมาเรื่อยๆ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ความสุขอย่างหนึ่งของการมาอยู่ที่ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษามหาวิทยาลัยเกียวโตก็คือ การได้รู้จักผู้คนและแลกเปลี่ยนความรู้ในหลายภาษา อีกอย่างคือได้แลกเปลี่ยนความรู้ในหลายบริบท ทั้งในห้องสัมมนา ห้องทำงาน ห้องเรียน และร้านเหล้า ผมถือว่ามันเป็นบริบททางวิชาการทั้งนั้นแหละ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
รู้กันนะครับว่า เวลาที่เราเรียกว่า "หล่อๆ" นี่ ไม่ใช่ว่าต้องเป็นผู้ชาย ผู้หญิงก็หล่อได้ เพราะมันหล่อในสำนวน ในการแสดงออก ในท่าที ทั้งๆ ที่หน้าตาไม่ต้องหล่อก็ได้ แต่หล่อที่คำพูด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่งสอนผมว่า “คำวิจารณ์น่ะ น่าฟังมากกว่าคำชื่นชม เนื่องจากคนที่วิจารณ์เราน่ะ เขาจริงใจกับเรามากกว่าคนที่ชื่นชมเรา ไม่มีใครวิจารณ์เราตามมารยาท แต่คนชมน่ะ บางทีเขาก็ชมเราไปตามมารยาทเท่านั้นแหละ” ดังนั้นเมื่อโลกเขารุมวิจารณ์ไทย เราก็ควรรับฟังเขา เพราะถ้าเขาไม่มีความจริงใจ ไม่อยากเห็นเราปรับปรุงตัวจริงๆ ไม่รัก ไม่ห่วง ไม่อยากคบค้าสมาคมด้วย เขาก็คงไม่ติติงเรา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คนแบบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาไม่ได้มีแต่พลเอกประยุทธ์เพียงคนเดียว แต่ยังมีคนอีกจำนวนมากที่มีเบื้องลึกของจิตใจแบบพลเอกประยุทธ์ แต่หากจะพูดให้ถูก คนที่มีจิตใจเบื้องลึกที่กักขฬะ อาจจะไม่จำเป็นต้องแสดงออกอย่างกักขฬะแบบพลเอกประยุทธ์ แต่ทำไมขณะนี้สังคมไทยจึงยอมให้ความกักขฬะเข้ามาปกครองบ้านเมือง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะเรียกอะไรก็แล้วแต่ ถ้าพูดอย่างหลวม ๆ คือ พวกเขาเป็นคนกลุ่มเดียวกัน สองชื่อแรกใช้ในประเทศไทย เรียกกลุ่มคนที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ที่จริงพวกเขายังอยู่ในอำเภอเมือง อำเภอหนองหญ้งปล้อง และอำเภออื่น ๆ ของเพชรบุรี แล้วยังกระจายย้ายถิ่นไปในจังหวัดอื่น ๆ ตั้งแต่นครปฐม ชุมพร ไปจนถึงนครสวรรค์ เลย ฯลฯ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้ผมกลับมาไทย 7 วัน ไม่รวมวันเดินทางอีกสองวัน ที่มาเพราะได้รับเชิญมาเสนอความเห็นในการ workshop งานหนึ่ง ผมก็เลยถือโอกาสนี้ใช้ทุนที่ต้องใช้สำหรับทำวิจัย เก็บข้อมูลของมหาวิทยาลัยเกียวโต ซึ่งก็มีอยู่ไม่มากนัก มาเพื่อใช้เดินทางไปเก็บข้อมูลเพิ่มเติมด้วยเลย