Skip to main content

หลายปีที่ผ่านมา สังคมปรามาสว่านักศึกษาเอาใจใส่แต่ตัวเอง ถ้าไม่สนใจเฉพาะเสื้อผ้าหน้าผม คอสเพล มังหงะ กับกระทู้ 18+ ก็เอาแต่จมดิ่งกับการทำความเข้าใจตนเอง ประเด็นอัตลักษณ์ บริโภคนิยม เพศภาวะ เพศวิถี เกลื่อนกระดานสนทนาที่ซีเรียสจริงจังเต็มไปหมด

 
แต่หลายปีที่ผ่านมาเช่นกัน ที่นักศึกษาเข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งด้านอนุรักษ์นิยมและเสรีนิยม คงยังจำ "ยังแพด" กลุ่มเด็กโข่งที่นำโดยนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาสถาบันหนึ่งได้ ตามมาด้วยนักศึกษามหาวิทยาลัยแถวบางกะปิ ที่เกี่ยวข้องกับการปะทะกันในการชุมนุมคนเสื้อแดงแถวบางกะปิเมื่อปีกลาย
 
หลังการรัฐประหาร นักศึกษาทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ต่างกลุ่มต่างก็เคลื่อนไหวกันอย่างคึกคัก พวกเขาล้วนเป็นกลุ่มที่ทำกิจกรรมนักศึกษากันมาก่อน เดิมทีพวกเขาอาจจะไม่ได้เป็นที่รู้จัก ทุกวันนี้พวกเขาจำนวนหนึ่งถูกจองจำ เพราะพวกเขาจำนวนหนึ่งลุกขึ้นมาต่อต้านการรัฐประหาร ไม่ยอมจำนนกับระบอบเผด็จการ 
 
การเคลื่อนไหวของนักศึกษาในทศวรรษ 2550 มีข้อน่าสังเกตบางประการดังนี้
 
หนึ่ง ไม่เป็นขบวนการใหญ่โต เท่าที่ผ่านมา พวกเขายังไม่ได้รวมตัวกันอย่างเป็นเครือข่ายใหญ่โต แม้จะมีความพยายามบ้างในระยะเวลาแคบๆ อย่าง "ยังแพด" หรือมีการอาศัยองค์กรเดิมที่เคยแสดงออกในนาม "นิสิต" หรือ "นักศึกษา" แต่การรวมตัวในลักษณะนั้นก็กลับไม่มีพลังรับใช้พวกเขาได้อีกต่อไป พวกเขาจึงไม่ได้ใช้กลยุทธแบบที่นักศึกษารุ่นพ่อรุ่นแม่เขาเคยใช้มา หรือไม่อย่างนั้น พวกเขาก็ไม่ได้สนใจที่จะสร้างองค์กรใหญ่โตเทอะทะเพื่อทำกิจกรรมแต่อย่างใด สาเหตุอาจจะเนื่องมาจากลักษณะเด่นของนักศึกษาปัจจุบันที่จะกล่าวถึงต่อไปข้างหน้า
 
สอง กระจายตัวในหลายๆ จังหวัด ไม่กระจุกตัวในกรุงเทพฯ ขบวนการนักศึกษาในปัจจุบันไม่ได้มีธรรมศาสตร์ จุฬา มหิดล รามคำแหง เป็นหัวหอก เป็นศูนย์กลางดังแต่ก่อนในทศวรรษ 2510 นี่แสดงให้เห็นว่า การศึกษากระจายตัวจากกรุงเทพฯ ไปสู่ต่างจังหวัดแล้วอย่างเป็นผลสำคัญ จนทำให้นอกเหนือจากการมีสถานศึกษาแล้ว ยังมี "ผู้มีการศึกษา" ผู้ใช้ความรู้ความคิดในการทำกิจกรรมทางสังคมในสถานศึกษาเหล่านั้น นอกจากจังหวัดที่มีสถาบันการศึกษาใหญ่ๆ อย่างเชียงใหม่ที่มีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้เป็นต้นแล้ว นอกเชียงใหม่ ที่โดดเด่นขณะนี้มีนักศึกษาที่ขอนแก่น มหาสารคาม อุบลราชธานี หรือแม้กระทั่งที่ชลบุรีและปัตตานี จังหวัดเหล่านี้เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ทั้งสิ้น
 
การกระจายตัวนี้สอดคล้องกับการกระจายตัวทางการเมือง การกระจายตัวของกิจกรรมนักศึกษาแสดงว่าการเมืองกระจายตัวออกจากกรุงเทพฯ ไปสู่ต่างจังหวัดมากขึ้น ต่างจังหวัดในที่นี้ไม่จำเป็นต้องเป็นชนบท เพราะมหาวิทยาลัยส่วนมากล้วนตั้งอยู่ในเขตเมือง หากแต่ที่สำคัญคือ นี่แสดงให้เห็นถึงดอกผลของการกระจายอำนาจทางการเมืองที่เกิดขึ้นในระยะ 20-30 ปีที่ผ่านมา ทำให้การเมืองของนักศึกษาเองก็ไม่ได้กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ อยู่เช่นเดิมอีกต่อไป
 
สาม ประเด็นเคลื่อนไหวหลากหลาย มีทั้งประเด็นเคลื่อนไหวการเมืองระดับชาติและประเด็นสิทธิเฉพาะด้าน ที่น่าสนใจคือ นอกเหนือจากประเด็นคลาสสิคคือการที่นักศึกษาเป็นปากเป็นเสียงให้ "ชาวบ้าน" ให้ประชาชนในท้องถิ่นต่างๆ เรื่องที่ทำกิน เรื่องสิทธิทางกฎหมายต่างๆ แล้ว นักศึกษายังเรียกร้องสิทธิ์ของตนเองมากขึ้น เช่นการต่อสู้แสดงสิทธิ์ในด้านอัตลักษณ์ทางเพศ เรื่องสิทธิการแสดงออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นเรื่องเครื่องแบบนักศึกษา เป็นต้น
 
อย่างไรก็ดี ไม่ควรมองข้ามว่า นักศึกษาจะเลิกสืบทอดการเคลื่อนไหวในประเด็นสิทธิเสรีภาพต่อเนื่องจากคนรุ่นก่อนหน้าพวกเขา นักศึกษาที่เคลื่อนไหวเรื่อง "ส่วนตัว" มาก่อน หรือต่อสู้เพื่อ "ประเด็นปัญหาเฉพาะ" จำนวนมากในขณะนี้ ได้แปลงการรวมตัวของพวกเขามาต่อสู้เพื่อประเด็นสิทธิเสรีภาพ นี่แสดงว่าพวกเขาคงเล็งเห็นว่า การต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพเป็นการต่อสู้ในประเด็นพื้นฐานของสิทธิอื่นๆ 
 
สี่ การแปลงวัฒนธรรมบริโภคนิยมเป็นสื่อการเมือง นี่เป็นแง่มุมที่แหลมคมของการเคลื่อนไหวของนักศึกษาในปัจจุบัน นั่นก็คือการอาศัยสื่อสมัยใหม่อย่างโซเชียลมีเดีย และพื้นที่การแสดงออกของคนรุ่นเขาเองในการต่อสู้ ไม่ว่าจะเป็นโรงภาพยนตร์ หรือแม้กระทั่งอาหารฟาสฟูด ฉากจากภาพยนตร์ ห้างสรรพสินค้า ย่านช้อปปิ้ง วัตถุทางวัฒนธรรมสมัยนิยมเหล่านี้กลายเป็นสัญลักษณ์ทางการเมือง เป็นภาษาการเมืองของนักศึกษารุ่นปัจจุบัน 
 
การที่พวกเขาดึงเอาการเมืองออกมาจากพื้นที่สัญลักษณ์เดิมๆ ที่เคยจำกัดอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย หรือนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปเป็นพื้นที่ทางการเมืองใหม่ๆ นั้น ส่วนหนึ่งก็น่าจะเพราะพื้นที่ทางการเมืองดั้งเดิมอย่างมหาวิทยาลัยและอนุสาวรีย์ กลายเป็นพื้นที่ที่ถูกทำให้ปลอดประชาธิปไตย ถูกควบคุมจนหมดพลังประชาธิปไตยไปเนื่องจากผู้บริหารมหาวิทยาลัยปัจจุบัน ที่ไม่แสดงบทบาทปกป้องประชาธิปไตยไม่พอและกลับยังเข้าไปร่วมมือกับคณะรัฐประหาร แต่อีกส่วนหนึ่ง การเคลื่อนไหวแบบใหม่ๆ ของนักศึกษาก็ได้นำประชาธิปไตยไปสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชีวิตประจำวันของพวกเขามากขึ้น นำประชาธิปไตยไปสัมพันธ์กับประชาชนทั่วไปมากขึ้น
 
ที่เขียนนี่ไม่ใช่จะยุยงใคร เพียงแต่จะตอบย้ำข้อสังเกตโดยตลอดต่อเนื่องมาของผมว่า บทบาทของนักศึกษาไม่เคยห่างหายจากการเมืองไทย การปรากฏตัวของนักศึกษาในการเคลื่อนไหวทางการเมืองในทุกวันนี้ตรงชัด แหลมคม สร้างสรรค์ แสบทรวง และใกล้ชิดประชาชน ในแบบฉบับของคนรุ่นปัจจุบันเอง

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่แน่ใจว่านโยบายยุบโรงเรียนขนาดเล็กนี้จะดีหรือไม่ สงสัยว่า "คิดดีแล้วหรือที่จะยุบโรงเรียนขนาดเล็ก" ในทางเศรษฐศาสตร์แบบทื่อๆ คงมี "จุดคุ้มทุน" ของการจัดการศึกษาอยู่ระดับหนึ่ง ตามข่าว ดูเหมือนว่าควรจะอยู่ที่การมีนักเรียนโรงเรียนละ 60 คน แต่คงมีเหตุผลบางอย่างที่โรงเรียนตามพื้นที่ชนบทไม่สามารถมีนักเรียนมากขนาดนั้นได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตอนนี้เถียงกันมากเรื่องกะหรี่ ว่ากันไปมาจนกระทั่งทั้งสองฝ่ายก็หนีไม่พ้นเอาคำเดียวกัน หรือทัศนะคติเหยียดเพศหญิงเช่นเดียวกันมาด่ากัน ฝ่ายหนึ่งด่าอีกฝ่ายว่า "อีกะหรี่" อีกฝ่ายหนึ่งด่ากลับว่า "แม่มึงสิเป็นกะหรี่" หรือ "ไปเอากระโปรงอีนั่นมาคลุมหัวแทนไป๊" ตกลงก็ยังหนีไม่พ้นสังคมที่ดูถูกเพศหญิงอยู่ดี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงสั้นๆ ของชีวิตผมมีโอกาสได้รู้จักคนในแวดวงนักเขียนรูป ผ่านครูสอนวาดเส้นให้ผมคนหนึ่ง ครูผมคนนี้มีเพื่อนคนหนึ่งที่เขาสนิทสนมกันดี ชื่อไสว วงษาพรหม เมื่อคืน ได้สนทนากับคนในแวดวงศิลปะ ที่เรือนชานแห่งหนึ่งที่มีไมตรีให้เพื่อนฝูงเสมอ ผมจึงเพิ่งทราบว่าไสวเสียชีวิตไปหลายปีแล้ว ลอง google ดูพบว่าเขาเสียชีวิตเมื่อ 22 สิงหาคม 2551
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทำไม "เหี้ย ควย หี เย็ด" จึงกลายเป็นภาพเขียนชุดล่าสุดของศิลปินเขียนภาพชั้นนำของไทย ทำไม "กะหรี่" จึงเป็นส่วนหนึ่งของข้อเขียนนักเขียนการ์ตูนผู้ทรงอิทธิพลของไทย ทำไมนักเศรษฐศาสตร์ไทยชั้นนำจึงเขียนคำ "อยากเอา" เป็นความเห็นประกอบภาพวิจารณ์นักการเมือง ทำไมภาษาแบบนี้จึงกลายมาเป็นภาษาทางการเมืองของคนที่มีความสามารถในการสื่อสารเหนือคนทั่วไปเหล่านี้ หลายคนวิเคราะห์แล้วว่า เพราะพวกเขาเร่ิมจนแต้มทางการเมือง "เถียงสู้อีกฝ่ายไม่ได้ก็เลยด่าแม่งไป"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (29 เมษายน 2556) "ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา" และ "ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย" มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดอภิปราย "สู่สันติภาพในอุษาคเนย์" งานนี้จัดท่ามกลางบรรยากาศการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับ BRN
ยุกติ มุกดาวิจิตร
“นักวิชาการเสื้อแดง” เป็นเสมือนตำแหน่งทางวิชาการอย่างหนึ่ง การตีตราตำแหน่งนี้สะท้อนความเฉยชาและคับแคบต่อปัญหาสิทธิมนุษยชนและความเป็นธรรมของปัญญาชนไทย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวานเพ่ิงดูพี่ "มากขา" หลายขา แล้วก็อยากมีความเห็นอย่างใครๆ เขาบ้าง ส่วนใครที่ยังไม่ได้ดูแล้วกำลังคิดจะไปดู ก็อย่าเพ่ิงอ่านครับ เดี๋ยวจะเซ็งเสียก่อน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทุกๆ ปี ผมสอนวิชา “ชาติพันธ์ุ์นิพนธ์: การวิพากษ์และการนำเสนอแนวใหม่” ระดับปริญญาตรี ผมออกแบบให้วิชานี้เป็นการศึกษาแบบสัมมนา มีการแลกเปลี่ยนความเห็นของนักศึกษามากกว่าการบรรยายของผู้สอน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสองวันก่อน มีคนที่สนใจนโยบายรถไฟความเร็วสูงคนหนึ่งถามผมว่า "อาจารย์รู้ไหมว่า โอกาสที่รถไฟไทยจะตรงเวลามีเท่าไหร่" ผมตอบ "ไม่รู้หรอก" เขาบอกว่า "มีเพียง 30%" 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ปีใหม่" เป็นจินตกรรมของเวลาที่กำหนดการสิ้นสุดและการเริ่มต้น ศักราช เวลาของสังคม การจัดระบบของเวลา ล้วนมีเทศกาลกำกับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
น่าละอายใจที่สภาผู้แทนราษฎรปัดตกข้อเสนอของประชาชนกว่าสามหมื่นคนที่เสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ถ้าบอกกันตรงๆ ว่า "กลัวอ่ะ" ก็จบ ประชาชนอาจจะให้อภัยความปอดแหกได้ แต่ประชาชนส่วนหนึ่งจะตัดสินใจไม่เลือกพวกคุณเข้ามาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนฯ อีกอย่างแน่นอน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ยามหมดปีการศึกษาทีไร ก็ชวนให้ทบทวนถึงหน้าที่การงานด้านการเรียนการสอนของตนเอง แต่ผมทำตามแบบที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาแห่งชาติ หรือ สกอ. ให้ทำไม่เป็นหรอก เพราะมันไร้สาระ เป็นกลไกเกินไป และไม่ก่อประโยชน์อะไรนอกจากเปลืองกระดาษและน้ำหมึก ผมมักทำในแบบของผมเองนี่แหละ