Skip to main content

ผมเพิ่งมีโอกาสได้ดูภาพยนตร์ (ขอเรียกง่ายๆ ว่า "หนัง" ก็แล้วกันครับ) เรื่องที่เป็นประเด็นใหญ่เมื่อ 2-3 วันก่อน ที่จริงก็ถ้าไม่มีเพื่อนๆ ถกเถียงกันมากมายถึงฉากเด็กวาดรูปฮิตเลอร์ ผมก็คงไม่อยากดูหรอก แต่เมื่อดูแล้วก็คิดว่า หนังเรื่องนี้สะท้อนความล้มเหลวของการรัฐประหารครั้งนี้ได้อย่างดี มากกว่านั้นคือ สะท้อนความลังเล สับสน และสับปลับของสังคมไทยได้เป็นอย่างดี

 
อย่างที่ใครๆ พูดกันคือ ฉากฮิตเลอร์เป็นเพียงฉากเล็กๆ และอยู่ในบริบทเดียวกันกับการปูพื้นตัวละครเอกคือเด็กที่ด้านหนึ่งเขาคงมีความสามารถสูงแต่อีกด้านคือความสำเร็จของเขามาจากการมีแม่ขี้โกงคอยอุปถัมภ์ ในแง่นี้ก็พออนุโลมได้ว่า ฮิตเลอร์เป็นสัญลักษณ์ด้านลบในหนังเรื่องนี้
 
เพียงแต่ที่เรื่องฮิตเลอร์เป็นประเด็นคือ การสื่อความคิดและพฤติกรรมด้านลบของเด็กคนนี้ด้วยภาพฮิตเลอร์เพียง 2-3 วินาทีนั้น ต้องการจงใจสื่อถึงอะไรหรือใครกันแน่ และแม้การจงใจที่จะสื่อถึงใครคนนั้นก็ตาม มันเหมาะสมหรือไม่ มันแสดงถึงการรับรู้และถ่ายทอดเรื่องฮิตเลอร์อย่างถูกต้องหรือไม่ หากหนังเรื่องนี้มุ่งที่การให้การศึกษา ก็จะต้องคิดถึงความละเอียดอ่อนของการใช้สัญลักษณ์ "ฮิตเลอร์" ให้มากกว่านี้
 
เอาล่ะ ผมจะขอข้ามประเด็นนี้ไป เพราะเถียงกันหลายที่แล้ว แต่ที่อยากกล่าวถึงคือ แม้จะตัดฉากฮิตเลอร์ออกไปเลยก็ตาม โดยรวมๆ แล้วหนังเรื่องนี้บอกอะไรเกี่ยวกับสังคมไทยส่วนหนึ่งบ้าง
 
ประเด็นใหญ่ของหนังเรื่องนี้คือเรื่องการเมืองอย่างตรงไปตรงมา แต่แสดงความสับสนทางการเมืองของสังคมไทยขณะนี้ หนังเรื่องนี้ขึ้นต้นมาก็โปรยคำว่า "เรียนรู้ อธิปไตย ของประชา" คือตั้งใจจะสื่อเรื่องการเมืองโดยตรง ถ้าพยายามอ่านตามหนัง "อธิปไตย" จะหมายความว่าอำนาจอะไร "ประชา" คือใคร แล้วหนังเรื่องนี้แสดงปัญหาความเข้าใจการเมืองไทยอย่างไร
 
ข้อแรกคือ "ชนชั้น" ทำไมหนังต้องดำเนินเรื่องใน "สังคมไฮโซ" จะสื่อว่า สังคมไฮโซเต็มไปด้วยคนโกงหรืออย่างไร ก็ไม่ใช่ เพราะเด็กที่เป็นตัวแทนความดีคือ "เด็กแขก" ในเรื่อง ก็อยู่ในสังคมไฮโซ ที่ผมมีคำถามนี้คือ หากฉายหนังเรื่องนี้ในหมู่บ้าน (ซึ่งผมไม่ได้จะบอกว่าชนบทไทยยังเป็นสังคมเกษตรดั้งเดิมยากจนแร้นแค้น) หนังเรื่องนี้จะสร้างค่านิยมที่ดีๆ ให้กับสังคมไทยบนฉากหลังของสังคมที่ห่างไกลกับผู้ชมส่วนใหญ่ขนาดนี้ได้อย่างไร
 
ผมนึกไม่ออกว่าชาวบ้านที่ผมไปสัมภาษณ์ในจังหวัดชัยภูมิ นครศรีธรรมราช อุบลราชธานี เชียงใหม่ หรือแม้แต่นครปฐม จะจินตนาการการโกงของตนเองในการทำโครงงานส่งครูในโรงเรียนอย่างไร ผมนึกไม่ออกว่าเด็กบ้านนอกที่ภาคการศึกษาต่อไปโรงเรียนกำลังจะถูกยุบหรือเปล่าก็ยังไม่รู้ จะจินตนาการตนเองในห้องเรียนสองภาษาอย่างไร 
 
หากจะสร้างสังคมในจินตนาการเพื่อให้การศึกษา ผมว่าสู้สร้างหนังด้วยตัวละครไดโนเสาหรือหนังเทพนิยายไปเลยยังดีกว่าเอาสังคมไฮโซมาตอกย้ำความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยปัจจุบัน ถ้านี่คือความหมายของคำว่า "ประชา" ที่หนังพยายามสื่อถึง ผมว่าหนังนี้ก็ล้มเหลวที่จะพูดถึงประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ
 
ข้อต่อมา เรื่อง "ชาติพันธ์ุ" และนี่ก็คืออีกปัญหาหนึ่งของการให้ความหมาย "ประชา" ของหนังเรื่องนี้ การให้ "เด็กแขก" เป็นตัวละครที่เป็นลูกไล่ของ "เด็กหน้าขาวชื่อฝรั่งมีแม่หน้าฝรั่ง" นั้น แสดงค่านิยมที่ควรปรับปรุงไม่น้อยไปกว่าค่านิยม 12 ประการที่รัฐบาลต้องการสั่งสอนสังคมไทย หนังสั้นๆ แค่ 10 นาทีนี้ยังผลิตซ้ำความคิดที่ว่า ความสำเร็จและความล้มเหลวของสังคมดูได้จากเชื้อชาติ ลูกหน้าขาว (แม่หน้าฝรั่ง) ไม่ว่าจะดีหรือเลว ก็ยังคงเหนือลูกแขก 
 
จะว่าหน้าเด็กไม่สำคัญก็ไม่ได้ เพราะหนังสื่อชัดเจนโดยให้เด็กตัวละครเอกเรียกเพื่อนว่า "แขกตี้" (ซึ่งเมื่อผวนกลับยิ่งแย่) ส่วนตนเองนั้นก็พอกหน้าจนขาวจั๊วลอยเด่นเห็นชัดจนขัดกับเด็กแขกหน้าผิวสี แล้วอย่างนี้จะว่าสังคมไทยไม่ racist ไม่คลั่งเชื้อชาติได้อย่างไร เมื่อก่อนก็พยายามเกลียดจีนกันกระทั่งผู้นำที่เป็นลูกจีนเองก็ยังต้องเกลียดเชื้อชาติตนเอง แต่ขณะนี้เมื่อลูกจีนและอำนาจของจีนขึ้นเป็นใหญ่ ก็เถลิงความเป็นจีนหน้าข้าวขาวขึ้นเหนือแขกหน้าหมองคล้ำที่ยังคงมีฐานะทางชาติพันธ์ุต่ำอยู่เช่นเดิม 
 
คำถามต่อมาคือเรื่อง "อธิปไตย" ปมของหนังคือการโกงของแม่เพื่อความสำเร็จของลูก นั่นคือสิ่งที่ไม่ดี อธิปไตยคือการไม่โกง การทำตามกติกาที่สังคมกำหนดร่วมกันอย่างนั้นหรือ ในหนัง แม่โกงจะๆ ชัดๆ สองครั้ง ครั้งแรกคือหักไม้จิ้มฟันหลอกเพื่อนของเด็กหน้าขาว อีกครั้งคือเอาโมเดลที่ซื้อมาให้ลูกไปส่งแทนทำโครงงานเอง การโกงสองครั้งนี้ไม่เหมือนกัน ครั้งที่สองคือการโกงผิดกติกาของครู แต่ครั้งแรกคือการโกงผิดกติกาของแม่เองที่เขียนกติกาขึ้นมาแล้วโกง
 
ตกลงอธิปไตยคืออะไร คืออย่าโกง อย่าละเมิดกติกา ไม่ว่าจะเป็นกติกาที่ตนเองตั้งหรือกติกาที่สังคมตั้งขึ้นมา หรืออธิปไตยคือตัวกติกา ต้องเคารพกติกา แสดงว่าหนังเรื่องนี้ก็กำลังจะสื่อว่า รัฐประหารคือการโกง เพราะล้มกติกาที่เขียนกันขึ้นมาเอง อย่างนั้นหรือเปล่า คงไม่ใช่ ถ้าอย่างนั้น การโกงของคนบางคนเท่านั้นที่ไม่ดีอย่างนั้นหรือ การโกงของ "คนดี" ถือว่าไม่โกงอย่างนั้นสินะ
 
ประเด็นสุดท้าย "การปรองดอง" ผมว่านี่เป็นประเด็นที่หนังสื่อได้สับสนมาก หรืออีกนัยหนึ่งคือการสะท้อนความสับปลับของสังคมไทยมาก หนังจบลงด้วยการที่เพื่อนคืนดีกัน แต่ปมสำคัญคือใครคือคนที่ยอมรับผิดก่อน ทั้งๆ ที่หนังพยายามสื่อว่าการโกงของแม่คือการผิดกติกา แต่สุดท้าย คนที่ยอมรับผิดกลับกลายเป็นคนที่ถูกละเมิดกติกา
 
ถ้ากติกาคืออธิปไตย คนถูกยึดอำนาจอธิปไตยคือคนที่ควรยอมรับผิดอย่างนั้นหรือ สังคมไทยควรให้อภัยคนที่ทำผิดกติกาอย่างนั้นหรือ สังคมไทยควรให้อภัยคนฉีกกติกา แล้วหันกลับมารักกัน เพื่อสังคมจะได้เดินหน้าต่อไป อย่างนั้นหรือ
 
หนังเรื่องนี้ล้มเหลวในการสื่อเรื่องใหญ่ๆ อย่างอธิปไตยและประชา แม้จะตัดปัญหาเรื่องฮิตเลอร์ออกไป ก็ยังแสดงความสับสนของสังคมไทย ว่าไม่เด็ดขาดในการยอมรับกติกา เอาคนโกงล้มกติกามาสอนกติกา เอาคนที่เชิดชูความเหลื่อมล้ำของชนชั้นมาสอนประชาชน ยกความรับผิดชอบให้คนถูกโกงต้องเริ่มการปรองดอง อย่างนี้จะมาสอนให้คนเรียนรู้อธิปไตยของประชาได้อย่างไร

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่แน่ใจว่านโยบายยุบโรงเรียนขนาดเล็กนี้จะดีหรือไม่ สงสัยว่า "คิดดีแล้วหรือที่จะยุบโรงเรียนขนาดเล็ก" ในทางเศรษฐศาสตร์แบบทื่อๆ คงมี "จุดคุ้มทุน" ของการจัดการศึกษาอยู่ระดับหนึ่ง ตามข่าว ดูเหมือนว่าควรจะอยู่ที่การมีนักเรียนโรงเรียนละ 60 คน แต่คงมีเหตุผลบางอย่างที่โรงเรียนตามพื้นที่ชนบทไม่สามารถมีนักเรียนมากขนาดนั้นได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตอนนี้เถียงกันมากเรื่องกะหรี่ ว่ากันไปมาจนกระทั่งทั้งสองฝ่ายก็หนีไม่พ้นเอาคำเดียวกัน หรือทัศนะคติเหยียดเพศหญิงเช่นเดียวกันมาด่ากัน ฝ่ายหนึ่งด่าอีกฝ่ายว่า "อีกะหรี่" อีกฝ่ายหนึ่งด่ากลับว่า "แม่มึงสิเป็นกะหรี่" หรือ "ไปเอากระโปรงอีนั่นมาคลุมหัวแทนไป๊" ตกลงก็ยังหนีไม่พ้นสังคมที่ดูถูกเพศหญิงอยู่ดี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงสั้นๆ ของชีวิตผมมีโอกาสได้รู้จักคนในแวดวงนักเขียนรูป ผ่านครูสอนวาดเส้นให้ผมคนหนึ่ง ครูผมคนนี้มีเพื่อนคนหนึ่งที่เขาสนิทสนมกันดี ชื่อไสว วงษาพรหม เมื่อคืน ได้สนทนากับคนในแวดวงศิลปะ ที่เรือนชานแห่งหนึ่งที่มีไมตรีให้เพื่อนฝูงเสมอ ผมจึงเพิ่งทราบว่าไสวเสียชีวิตไปหลายปีแล้ว ลอง google ดูพบว่าเขาเสียชีวิตเมื่อ 22 สิงหาคม 2551
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทำไม "เหี้ย ควย หี เย็ด" จึงกลายเป็นภาพเขียนชุดล่าสุดของศิลปินเขียนภาพชั้นนำของไทย ทำไม "กะหรี่" จึงเป็นส่วนหนึ่งของข้อเขียนนักเขียนการ์ตูนผู้ทรงอิทธิพลของไทย ทำไมนักเศรษฐศาสตร์ไทยชั้นนำจึงเขียนคำ "อยากเอา" เป็นความเห็นประกอบภาพวิจารณ์นักการเมือง ทำไมภาษาแบบนี้จึงกลายมาเป็นภาษาทางการเมืองของคนที่มีความสามารถในการสื่อสารเหนือคนทั่วไปเหล่านี้ หลายคนวิเคราะห์แล้วว่า เพราะพวกเขาเร่ิมจนแต้มทางการเมือง "เถียงสู้อีกฝ่ายไม่ได้ก็เลยด่าแม่งไป"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (29 เมษายน 2556) "ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา" และ "ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย" มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดอภิปราย "สู่สันติภาพในอุษาคเนย์" งานนี้จัดท่ามกลางบรรยากาศการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับ BRN
ยุกติ มุกดาวิจิตร
“นักวิชาการเสื้อแดง” เป็นเสมือนตำแหน่งทางวิชาการอย่างหนึ่ง การตีตราตำแหน่งนี้สะท้อนความเฉยชาและคับแคบต่อปัญหาสิทธิมนุษยชนและความเป็นธรรมของปัญญาชนไทย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวานเพ่ิงดูพี่ "มากขา" หลายขา แล้วก็อยากมีความเห็นอย่างใครๆ เขาบ้าง ส่วนใครที่ยังไม่ได้ดูแล้วกำลังคิดจะไปดู ก็อย่าเพ่ิงอ่านครับ เดี๋ยวจะเซ็งเสียก่อน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทุกๆ ปี ผมสอนวิชา “ชาติพันธ์ุ์นิพนธ์: การวิพากษ์และการนำเสนอแนวใหม่” ระดับปริญญาตรี ผมออกแบบให้วิชานี้เป็นการศึกษาแบบสัมมนา มีการแลกเปลี่ยนความเห็นของนักศึกษามากกว่าการบรรยายของผู้สอน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสองวันก่อน มีคนที่สนใจนโยบายรถไฟความเร็วสูงคนหนึ่งถามผมว่า "อาจารย์รู้ไหมว่า โอกาสที่รถไฟไทยจะตรงเวลามีเท่าไหร่" ผมตอบ "ไม่รู้หรอก" เขาบอกว่า "มีเพียง 30%" 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ปีใหม่" เป็นจินตกรรมของเวลาที่กำหนดการสิ้นสุดและการเริ่มต้น ศักราช เวลาของสังคม การจัดระบบของเวลา ล้วนมีเทศกาลกำกับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
น่าละอายใจที่สภาผู้แทนราษฎรปัดตกข้อเสนอของประชาชนกว่าสามหมื่นคนที่เสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ถ้าบอกกันตรงๆ ว่า "กลัวอ่ะ" ก็จบ ประชาชนอาจจะให้อภัยความปอดแหกได้ แต่ประชาชนส่วนหนึ่งจะตัดสินใจไม่เลือกพวกคุณเข้ามาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนฯ อีกอย่างแน่นอน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ยามหมดปีการศึกษาทีไร ก็ชวนให้ทบทวนถึงหน้าที่การงานด้านการเรียนการสอนของตนเอง แต่ผมทำตามแบบที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาแห่งชาติ หรือ สกอ. ให้ทำไม่เป็นหรอก เพราะมันไร้สาระ เป็นกลไกเกินไป และไม่ก่อประโยชน์อะไรนอกจากเปลืองกระดาษและน้ำหมึก ผมมักทำในแบบของผมเองนี่แหละ