Skip to main content

เห็นข่าวงาน "นิธิ 20 ปีให้หลัง" ที่ "มติชน" แล้วก็น่ายินดีในหลายสถานด้วยกัน  อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์มีคนรักใคร่นับถือมากมาย จึงมีแขกเหรื่อในวงการนักเขียน นักวิชาการ ไปร่วมงานเป็นจำนวนมาก เรียกว่ากองทัพปัญญาชนต่างตบเท้าไปร่วมงานนี้กันเลยทีเดียว

 
ชื่อนิธิ เอียวศรีวงศ์เป็นที่รู้จักต่อสาธารณชนอย่างกว้างขวางก็ด้วยมติชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิตยสารสำคัญคือ "ศิลปวัฒนธรรม" ผมคิดว่า "ศิลปวัฒนธรรม" และอาจารย์นิธิได้ร่วมกันสร้างความหมายหนึ่งให้กับ "วัฒนธรรม" ในสังคมไทย คือการทำให้วัฒนธรรมเป็นเรื่องร้อยแปดสารพัดอย่าง ไม่ใช่จะต้องเป็นเรื่อง "ความเจริญงอกงาม" ตามนิยามแบบเก่าเท่านั้น ผมว่าถ้าจะมีสำนัก cultural studies ของไทยขึ้นมาสักสำนัก อาจารย์นิธิและศิลปวัฒนธรรมนี่แหละที่จะเป็นขุมความรู้สำคัญของสำนักนี้
 
อาจารย์มานุษยวิทยาที่ผมเคารพมากท่านหนึ่งเคยกล่าวว่า ในการสอบเข้านักศึกษาปริญญาโทที่ธรรมศาสตร์ที่ผ่านมานับสิบปี หากถามนักศึกษาว่าประทับใจงานเขียนทางวิชาการของใครบ้าง ชื่อนิธิ เอียวศรีวงศ์ก็มักจะเป็นชื่อแรกๆ ผมเองก็เคยเจอแบบนั้นบ่อยๆ และเมื่อถามนักศึกษาว่า แล้วคุณมีอะไรโต้เถียงหรือเห็นแย้งกับแนวคิดอาจารย์นิธิไหม นักศึกษาก็มักจะตอบว่า "ไม่มีหรอกครับ/ค่ะ เพราะนี่อาจารย์นิธิพูดนะครับ/คะ"
 
จะว่าไป อาจารย์นิธิน่าจะเป็นหนึ่งในเป้าใหญ่ของการทำงานทางวิชาการของนักวิชาการรุ่นหลังหลายๆ คนรวมทั้งผมเองก็อาศัยการถกเถียงกับงานเขียนของอาจารย์นิธิเพื่อเป็นฐานในการคิดต่อยอดไปสู่อะไรใหม่ๆ เรียกว่าหากพบอะไรที่อาจารย์นิธิยังไม่ได้คิด ยังไม่ได้เขียน แม้ว่าจะเป็นเรื่องเดียวกันประเด็นเดียวกันกับที่อาจารย์เขียนแล้วก็ตาม นั่นก็นับว่ามีวาสนาอย่างที่สุดแล้ว 
 
ในระยะหลังที่อาจารย์เขียนบทวิจารณ์การเมืองไทยมากขึ้น ทัศนะทางการเมืองของอาจารย์ก็ยิ่งมักถูกวิจารณ์ตรวจสอบอย่างเข้มข้น อย่างไรก็ตาม ที่ทำให้ผมนับถืออาจารย์นิธิยิ่งขึ้นไปอีกไม่ใช่เพียงความกล้าหาญต่อกรกับผู้มีอำนาจผ่านการคิด การเขียน แต่อาจารย์ยังเป็นผู้ใหญ่ที่กล้าวิจารณ์ผู้ใหญ่ แบบซึ่งหน้า ตรงไปตรงมา บทความลง "มติชน" หลังรัฐประหารในแนวนี้หลายชิ้นนับเป็นชุดผลงานที่ต้องเก็บไว้ในทำเนียบประวัติศาสตร์ปัญญาชนสยามที่มีการเปิดวิวาทะอย่างเข้มข้นทีเดียว
 
ย้อนกลับมาที่งาน "นิธิ 20 ปีให้หลัง" ที่น่ายินดีอีกอย่างคือ กองทัพไทยละเว้นไม่บุกรุกล้ำพื้นที่งานนี้ ต่างกับการจัดงานวิชาการในมหาวิทยาลัยขณะนี้ที่ต้องขออนุมัติจากทหารก่อน ต่างจากงานเวทีเสวนาของชาวบ้านในท้องถิ่นที่อาจถูกบุกเข้าไปให้ระงับได้ง่ายๆ ต่างจากงานระลึกโอกาสต่างๆ ของปัญญาชนฝ่ายประชาธิปไตย ที่ถูกทหารไปข่มขู่เสมอมา
 
นี่ก็แสดงว่า มติชนได้เข้ามาทำบทบาทเป็นสถาบันทางวิชาการแทนที่มหาวิทยาลัยที่เข้าไปรับใช้เผด็จการกันเต็มที่แล้ว งานที่มติชนเมื่อวานจึงกลายเป็นงานแสดงพลังเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นภายใต้กฎอัยการศึกงานเดียวกระมังที่ไม่มีเสียงข่มขู่คุกคามจากทหาร
 
ในด้านหนึ่ง นี่ก็นับเป็นความกล้าหาญของมติชน ในอีกด้านหนึ่ง ก็ชี้ให้เห็นว่าหากสื่อมวลชนยืนยันบทบาทการรักษาพื้นที่เสรีภาพทางความเห็น สังคมก็จะยิ่งยอมรับ และพร้อมกันนั้นก็น่าจะเป็นพลังต่อรองเพียงพอที่จะทัดทานการรุกล้ำพื้นที่ของสื่อมวลชน 
 
งาน "นิธิ 20 ปีให้หลัง" จึงเป็นทั้งหมุดหมายของวัฒนธรรมศึกษาแบบไทยและหมุดหมายของการสร้างพื้นที่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้เป็นวันระลึก "เหตุการณ์ 28 กุมภาพันธ์" 1947 หรือเรียกกันว่า "228 Incident" เหตุสังหารหมู่ประชาชนทั่วประเทศไต้หวัน โดยรัฐบาลที่เจียงไคเชกบังคับบัญชาในฐานะผู้นำก๊กมินตั๋งในจีนแผ่นดินใหญ่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
มีเพื่อนขอให้ผมช่วยแนะนำร้านอาหารในฮานอยให้ แต่เห็นว่าเขาจะไปช่วงสั้นๆ ก็เลยแนะนำไปไม่กี่แห่ง ส่วนร้านเฝอ ขอแยกแนะนำต่างหาก เพราะร้านอร่อยๆ มีมากมาย เอาเฉพาะที่ผมคุ้นๆ แค่ 2-3 วันน่ะก็เสียเวลาตระเวนกินจนไม่ต้องไปกินอย่างอื่นแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
มีวันหนึ่ง อาจารย์อคินเดินคุยอยู่กับอาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่ง ผมเดินตามทั้งสองท่านมาข้างหลังอย่างที่ทั้งสองท่านรู้ตัวดี ตอนนั้นผมกำลังเรียนปริญญาเอกที่อเมริกา หรือไม่ก็เรียนจบกลับมาแล้วนี่แหละ อาจารย์อคินไม่รู้จักผม หรือรู้จักแต่ชื่อแต่ไม่เคยเห็นหน้า หรือไม่ก็จำหน้าไม่ได้ ผมแอบได้ยินอาจารย์อคินเปรยกับอาจารย์อีกท่านว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คืนวาน วันฮาโลวีน นักศึกษาชวนผมไปพูดเรื่องผี ปกติผมไม่อยู่รังสิตจนมืดค่ำ แต่ก็มักใจอ่อนหากนักศึกษาชวนให้ร่วมเสวนา พวกเขาจัดงานกึ่งรื่นเริงกึ่งเรียนรู้ (น่าจะเรียกว่าเริงรู้ หรือรื่นเรียนก็คงได้) ในคืนวันผีฝรั่ง ในที่ซึ่งเหมาะแก่การจัดคือพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยา เพราะมีของเก่าเยอะ ก็ต้องมีผีแน่นอน ผมก็เลยคิดว่าน่าสนุกเหมือนกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่ถึงกับต่อต้านกิจกรรมเชียร์อย่างรุนแรง เพราะคนสำคัญใกล้ตัวผมก็เป็นอดีตเชียร์ลีดเดอร์งานบอลประเพณีฯ ด้วยคนหนึ่ง และเพราะอย่างนั้น ผมจึงพบด้วยตนเองจากคนใกล้ตัวว่า คนคนหนึ่งกับช่วงชีวิตช่วงหนึ่งของมหาวิทยาลัยมันเป็นเพียงแค่ส่วนเสี้ยวหนึ่งของพัฒนาการของแต่ละคน แต่ก็ยังอยากบ่นเรื่องการเชียร์อยู่ดี เพราะความเข้มข้นของกิจกรรมในปัจจุบันแตกต่างอย่างยิ่งจากในสมัยของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเพิ่งไปเก็บข้อมูลวิจัยเรื่องการรู้หนังสือแบบดั้งเดิมของ "ลาวโซ่ง" ในไทยที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ได้ราว 2 วัน ได้ข้อมูลมากมายเกี่ยวกับประเด็นที่สนใจ แต่ก็ได้อย่างอื่นมาด้วยไม่น้อยเช่นกัน เรื่องหนึ่งคือความรู้เกี่ยวกับปลา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันก่อนปฐมนิเทศนักศึกษาปริญญาโท-เอกของคณะ ในฐานะคนดูแลหลักสูตรบัณฑิตศึกษาทางมานุษยวิทยา ผมเตรียมหัวข้อมาพูดให้นักศึกษาฟัง 4 หัวข้อใหญ่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ชื่อโมเฮน-โจ-ดาโรแปลตามภาษาซินธ์ (Sindh) ว่า "เนิน (ดาโร) แห่ง (โจ) ความตาย (โมเฮน)" เหตุใดจึงมีชื่อนี้ ผมก็ยังไม่ได้สอบถามค้นคว้าจริงจัง แต่ชื่อนี้ติดหูผมมาตั้งแต่เรียนปริญญาเอกอยู่ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน และเพราะโมเฮนโจดาโรและเมืองคู่แฝดที่ห่างไกลออกไปถึง 600 กิโลเมตรชื่อ "ฮารัปปา" นี่แหละที่ทำให้ผมชอบวิชาโบราณคดีและทำให้อยากมาปากีสถาน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ก่อนมา รู้อยู่แล้วว่าปากีสถานช่วงเดือนนี้คือเดือนที่ร้อนมาก และก็เพิ่งรู้ว่าเดือนนี้แหละที่ร้อนที่สุด แต่ที่ทำให้ “ใจชื้น” (แปลกนะ เรามีคำนี้ที่แปลว่าสบายใจ โดยเปรียบกับอากาศ แต่ที่ปากีสถาาน เขาคงไม่มีคำแบบนี้) คือ ความร้อนที่นี่เป็นร้อนแห้ง ไม่ชื้น และจึงน่าจะทนได้มากกว่า 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ครึ่งวันที่ผมมีประสบการณ์ตรงในกระบวนการยุติธรรมไทย บอกอะไรเกี่ยวกับสังคมไทยมากมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมลองเอากรณีทุบรถกับทุบลิฟมาเปรียบเทียบกัน แล้วก็เห็นความแตกต่างกันมากหลายมุม ได้เห็นความเหลื่อมล้ำของสังคมที่สนใจกรณีทั้งสองอย่างไม่สมดุลกัน แต่สุดท้ายมันบอกอะไรเรื่องเดียวกัน คือความบกพร่องของสถาบันจัดการความขัดแย้งของประเทศไทย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คนรุ่นใหม่ครับ...