Skip to main content

วาทกรรม "ประชาธิปไตยแบบไทย" ถูกนำกลับมาใช้เสมอๆ เพื่อลดทอนความน่าเชื่อถือของแนวคิดประชาธิปไตยสากล 

วาทกรรมนี้มักมีข้อสรุปร่วมกันว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่มีลักษณะเฉพาะของตนเอง มีระบบคุณค่าพิเศษของตนเอง จึงไม่สามารถนำเอาแนวความคิดประชาธิปไตยซึ่งเป็นแนวคิดแบบตะวันตกเข้ามาใช้ได้ การสร้างคำอธิบายสนับสนุนวาทกรรมนี้มีตั้งแต่การกล่าวว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความสงบสุขร่มเย็นอยู่แล้ว มีสถาบันทางการเมืองที่ดีงามอยู่แล้ว ไปจนกระทั่ง สังคมไทยก็เป็นประชาธิปไตยในแบบของตนเองมานานแล้วด้วยการสั่นกระดิ่งร้องทุกข์ต่อผู้ปกครอง

หากแต่เมื่อพิจารณาให้ชัดเจนขึ้นก็จะพบว่าใครก็ตามที่อ้างแนวคิดประชาธิปไตยแบบไทย ก็มักจะเป็นผู้ที่เสวยสุขอยู่ในโครงสร้างอำนาจที่ค้ำจุนความเหลื่อมล้ำเอาไว้ และเมื่อใดก็ตามที่มีการรัฐประหารในประเทศไทย วาทกรรมประชาธิปไตยแบบไทยก็จะเริ่มทำงานทันที ดังที่เราจะเห็นคนที่สนับสนุนการรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 จำนวนมากลุกขึ้นมาสาธยายความพิเศษไม่เหมือนใครของสังคมไทย แล้วจึงสรุปว่า ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่สามารถใช้แนวคิดประชาธิปไตยสากลได้ 

วาทกรรมประชาธิปไตยแบบไทยฟังดูเหมือนมีเหตุผลน่าเชื่อถือ แต่อันที่จริงแล้ววาทกรรมนี้วางอยู่บนหลักคิดหรือตรรกะที่ผิดพลาด ทั้งนี้ก็เพื่อบิดเบือนข้อเท็จจริงของสังคมไทยเองและบิดเบือนพัฒนาการทางสังคมในโลก วาทกรรมประชาธิปไตยแบบไทยวางอยู่บนตรรกะวิบัติสำคัญสองประการคือ "ตรรกะคู่ตรงข้าม" และ "ตรรกะสัมพัทธ์นิยมสามานย์" 

"ตรรกะคู่ตรงข้าม" คือการสร้างข้อเสนอจากการสร้างคู่ขัดแย้งตรงข้ามกันขึ้นมา เพื่อทำให้ข้อเสนอตนเองเด่นชัด พร้อมๆ กับเพื่อหักล้างข้อเสนอตรงข้ามลงไป ในการสร้างวาทกรรมประชาธิปไตยแบบไทย มีการสร้างกรอบความคิดขึ้นมาว่าไทยตรงข้ามกับฝรั่ง ไทยเป็นสังคม "ตะวันออก" และจึงตรงข้ามกับ "ตะวันตก" คู่ตรงข้ามนี้ยังเสนออีกด้วยว่า ประชาธิปไตย = ตะวันตก ซึ่งตรงข้ามกับ ไทย = ไม่ใช่ประชาธิปไตย นอกจากนั้นยังมีนัยแฝงเชิงคุณค่าว่า ไทย ดีกว่า เหมาะกว่า ตะวันตก และประชาธิปไตยจึงไม่ดี ไม่เหมาะกับไทย แต่ต้องดัดแปลงให้เป็นประชาธิปไตยแบบไทย จึงจะเหมาะกับสังคมไทย 

ตรรกะคู่ตรงข้ามแบบนี้มีปัญหาอย่างน้อยสามประการคือ หนึ่ง ตรรกะนี้ไม่ได้อธิบายสังคมไทยจากลักษณะภายในเอง แต่อธิบายจากการเปรียบเทียบ ความเป็นไทยจึงไม่ได้มีเนื้อในที่ได้รับการพิจารณาอย่างเฉพาะเจาะจงจริงๆ แต่เป็นความเป็นไทยที่ถูกเลือกหยิบมาเฉพาะส่วนที่เข้ากับคำอธิบายแบบนี้ หรือแม้แต่ประดิษฐ์ขึ้นมาเพียงเพื่อให้แตกต่างจากความเป็นตะวันตกในจินตนาการ เช่น การอ้างว่าสังคมไทยเน้นความสามัคคีความเป็นระเบียบ ส่วนสิทธิเสรีภาพเป็นแนวคิดตะวันตกจึงไม่เข้ากับสังคมไทย

สอง เหมาว่าตะวันตกเหมือนกันหมดพร้อมกับเหมาว่าตะวันออกเหมือนกันหมด เช่นคิดว่าสังคมตะวันตกให้สิทธิเลือกตั้งเท่าเทียมกันหมด ทั้งที่จริงๆ แล้วในยุโรปบางประเทศเพิ่งให้สิทธิผู้หญิงลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเมื่อ 40 ปีมานี้เอง และที่จริงแล้ววิธีเลือกตั้งของประเทศประชาธิปไตยต่างๆ ก็แตกต่างกันออกไป พร้อมกันนั้น ด้วยตรรกะคู่ตรงข้ามจึงเหมาว่าตะวันออกเหมือนกันหมด และเลยเหมาว่าไทยเหมือนกันหมด เช่น เชื่อว่าสังคมไทยเน้นคุณค่าของคนดีที่เหมารวมว่าเหมือนกันหมด การเลือกตั้งด้วยหลักหนึ่งคนหนึ่งเสียงจึงไม่เหมาะสม เพราะขัดกับหลักการคัดสรรคนดีมากเป็นผู้ปกครอง ซึ่งมีเฉพาะคนดีด้วยกันเท่านั้นจึงจะรู้ว่าใครสมควรเป็นผู้ปกครอง ไม่ใช่ทุกคนจะเลือกได้ ตรรกะแบบนี้ละเลยความเป็นตะวันตกในตะวันออกและละเลยความเป็นตะวันออกในตะวันตก หรือพูดง่ายๆ คือ ละเลยรายละเอียดหลากหลายของสังคม

สาม ตรรกะแบบนี้นำไปสู่การหลงใหลในพวกเดียวกันเอง หลงใหลในระบบคุณค่าที่เชื่อว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของตนเอง และพาลเห็นว่าระบบคุณค่าของคนอื่น ของสังคมอื่น เลวร้ายไปด้วยกันไม่ได้กับของเรา ดังเช่นการไม่ยอมรับระบบคุณค่าแบบประชาธิปไตยเพียงเพราะเห็นว่าประชาธิปไตยเป็นของตะวันตก ไม่เข้ากับระบบคุณค่าของเรา ไม่ยอมรับว่าสิทธิมนุษยชน เสรีภาพในร่างกาย เสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญเหนือความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ เพราะเหมาเอาว่าความเป็นไทยเน้นสถาบันหลักเหนือประชาชน เหมาเอาว่าเสรีภาพประชาชนเป็นวิธีคิดตะวันตกที่เลวร้ายไม่เข้ากับสังคมไทย

วิธีคิดแบบนี้จึงไม่ได้ต่างอะไรกับที่ชาวตะวันตกกลุ่มหนึ่งใช้มองเชิงเหยียดชาวตะวันออกเพียงแต่เป็นการกลับตาลปัตรความคิดเท่านั้นเอง การยกย่องตนเองด้วยตรรกะคู่ตรงข้ามแบบนี้ก็เป็นการตกกับดักวิธีคิดที่ตนเองพยายามปฏิเสธนั่นเอง พูดอีกอย่างคือ ยังพายเรือวนเวียนอยู่ในอ่างความคิดแบ่งเขาแบ่งเรา เกลียดเขาบูชาเราอย่างไม่ลืมหูลืมตาอยู่นั่นเอง วิธีคิดนี้นำมาซึ่งปัญหามากมาย เนื่องจากไม่ยุติธรรมกับข้อเท็จจริงรายละเอียด และยังวางกรอบความคิดไว้แต่ต้นจนกระทั่งกำหนดกรอบการกระทำที่ตามมา ผลก็คือเราจะติดกับดักความคิดนี้อยู่อย่างนั้น ถอดไม่ออก ไม่สามารถก้าวข้ามกับดักความคิดว่า "ไทยตรงข้ามกับตะวันตก ประชาธิปไตยเป็นของตะวันตก และดังนั้นประชาธิปไตยไม่เข้ากับสังคมไทย" ได้

อีกตรรกะที่มักจะพบในวิธีคิดประชาธิปไตยแบบไทยคือ "สัมพัทธ์นิยมสามานย์" โดยทั่วๆ ไปแล้ว สัมพัทธ์นิยมเป็นแนวคิดที่ว่า อะไรก็ตามไม่ได้มีค่าความสมบูรณ์ในตัวเอง หากแต่มีค่าโดยเปรียบเทียบกับสิ่งอื่นๆ เสมอ คนสูง จึงไม่ได้หมายความว่าสูงที่สุด แต่สูงโดยเปรียบเทียบกับคนอื่นๆ เท่าที่จะเห็นได้เท่านั้น คนดี ก็ไม่ได้ดีกว่าใครอื่นทั้งหมด แต่ดูดีกว่าคนที่เอามาเทียบกันเท่านั้น ความคิดลักษณะนี้ถูกนำมาใช้กับการวัดทางสังคมและวัฒนธรรมด้วย เช่น สังคมที่ดูซับซ้อนกว่า ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นสังคมที่มีพัฒนาการที่สูงกว่าสังคมอื่น แต่ที่ดูซับซ้อนกว่าก็เพราะมีปัจจัยจำเป็นภายในสังคมนั้นเองที่ต้องการความซับซ้อนบางด้าน ส่วนสังคมที่ดูเหมือนเรียบง่าย ก็ไม่ใช่ว่าด้อยพัฒนา แต่เพราะมีความต้องการพัฒนาการของสังคมในลักษณะนั้น และอันที่จริง สังคมที่ดูเหมือนเรียบง่ายก็มีความซับซ้อนในระบบสังคมและวัฒนธรรมเองอยู่เหมือนกัน

แต่เมื่อนำมาใช้อธิบายสังคมไทยตามวาทกรรมประชาธิปไตยแบบไทยตรรกะนี้ถูกนำมาบิดเบือนด้วยการสร้างวาทกรรมว่า สังคมไทยมีลักษณะเฉพาะของตนเอง มีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของตนเอง แตกต่างจากสังคมตะวันตกที่ปัจจุบันพัฒนาไปเป็นสังคมประชาธิปไตย การที่สังคมไทยไม่เป็นประชาธิปไตยจึงไม่ได้เสียหายอะไร และไม่ได้ด้อยพัฒนากว่าสังคมประชาธิปไตยแต่อย่างใด ไม่จำเป็นและไม่ควรต้องทำให้สังคมไทยพัฒนาไปเหมือนสังคมตะวันตก ประชาธิปไตยจึงไม่จำเป็นกับสังคมไทย และการที่สังคมไทยไม่เป็นประชาธิปไตยก็ไม่ได้ทำให้สังคมไทยล้าหลังสังคมตะวันตก

การใช้วาทกรรมเช่นนี้เป็นการนำหลักการสัมพัทธ์นิยมมาใช้อย่างบิดเบือนหลักการสำคัญของแนวคิดสัมพัทธ์นิยมในการอธิบายสังคม-วัฒนธรรมต่างๆ นั้น อยู่ที่การยอมรับความเสมอภาคกันของสังคมที่แตกต่างกัน หลักนี้ไม่ยกย่องสังคม-วัฒนธรรมใด เหนือสังคม-วัฒนธรรมอื่น และถ้ายอมรับหลักการความเท่าเทียมกัน ก็จะต้องยอมรับไม่ใช่แต่เพียงว่าวัฒนธรรมไทยเท่าเทียมกับวัฒนธรรมตะวันตก แต่จะต้องยอมรับด้วยเช่นกันว่า ค่านิยม วัฒนธรรม และระบบคุณค่าของคนบ้านนอก คนต่างจังหวัด มีค่าเท่าเทียมกันกับของคนกรุงเทพฯ ดังนั้น หลักสัมพัทธ์นิยมจึงไปด้วยกันได้กับหลักคิดแบบประชาธิปไตย ที่โดยหลักการแล้วให้อำนาจประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน และดังนั้นจึงต้องยอมรับการตัดสินใจทางการเมือง การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของคนต่างจังหวัด 

กล่าวอีกอย่างคือ หากเห็นว่าสังคมไทยเท่าเทียมกับสังคมตะวันตก ก็จะต้องยอมรับด้วยว่า สังคมกรุงเทพฯ เท่าเทียมกับสังคมต่างจังหวัด คนกรุงเทพฯเท่าเทียมกับคนต่างจังหวัด "คนเท่ากัน" ไม่ว่าจะมีการศึกษามากน้อย หรือมีฐานะแตกต่างกันอย่างไรก็ตาม

การอ้างว่าสังคมไทยมีลักษณะเฉพาะและจึงต้องมีประชาธิปไตยแบบเฉพาะหรือไม่มีเลยก็ได้เพราะสังคมไทยไม่เคยมีประชาธิปไตยนั้น เป็นวาทกรรมที่สร้างขึ้นจากตรรกะวิบัติดังกล่าว วาทกรรมนี้สร้างขึ้นมาเพื่อค้ำจุนความเหลื่อมล้ำต่ำสูง เพื่อคงความได้เปรียบของคนกลุ่มหนึ่งไว้ มากกว่าที่จะถูกนำมาเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้สังคม วาทกรรมประชาธิปไตยแบบไทยจึงไม่เคยถูกเอ่ยจากปากผู้คนเบื้องล่างของสังคม วาทกรรมประชาธิปไตยแบบไทยจึงเป็นความเฉพาะเจาะจงของความเป็นไทย ที่อำพรางความอยุติธรรม ความเหลื่อมล้ำ และการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของประชาชนเอาไว้

 

(มติชนรายวัน 22 ธันวาคม 2557)

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
อย่างที่บอกคือ ผมไม่ใช่คนเชี่ยวชาญเกาหลี จะเล่าเรื่องเกาหลีก็จะต้องมีผิดมีพลาดบ้าง เพียงแต่อยากบันทึกเก็บไว้ แล้วแบ่งปันบ้าง เผื่อใครสนใจหรือช่วยเติมต่อความรู้ อีกเรื่องหนึ่งที่ผมสนใจในการไปเกาหลีทั้งสองครั้ง (ครั้งแรกเมื่อ 8 ปีก่อน ก็ไปแค่สั้นๆ ไม่กี่วัน) ก็คือการได้พบเจอผู้คนและได้ไปเดินด่อมๆ มองๆ ตามย่านการค้า ร้านค้า และพบปะพูดคุยดื่มกินกับผู้คน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่ได้อยู่นฐานะที่จะมาเขียนอะไรเกี่ยวกับเกาหลี เดินทางไปแค่สองครั้ง ครั้งละไม่กี่วัน ไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ ไม่ได้เชี่ยวชาญอะไร แต่ด้วยนิสัยของการชอบบันทึกเก็บไว้ ก็เลยอยากเขียนอะไรเกี่ยวกับเกาหลีที่รู้จักเอาไว้อ่านเอง เอาไว้คิดต่อ เอาไว้ก่อนที่จะลืม ก่อนที่จะไม่อยากเขียน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอร่วมรำลึกวาระ 40 ปี 6 ตุลาด้วยการกล่าวถึงงานศึกษาสังคม-วัฒนธรรมไทยที่เป็นพื้นฐานของเหตุการณ์เมื่อ 40 ปีก่อนนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จำเป็นแค่ไหนที่เราจะต้องคิดต่างจากส่วนกลาง ถ้าเราคิดว่าการครอบงำของความรู้ตะวันตกเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเข้าใจตัวตนเราเอง และทั้งยังปิดกั้นความเป็นมนุษย์ที่ไม่ได้ถูกเข้าใจจากมุมมองที่ต่างออกไป เราก็จำเป็นที่จะต้องคิดทั้งนอกกรอบตะวันตกและนอกกรอบการครอบงำจากอำนาจศูนย์กลางของรัฐ ความคิดนอกกรอบการครอบงำดังกล่าวส่วนหนึ่งเรียกว่าแนวคิดหลังอาณานิคม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายวันมานี้มีเรื่องขันขื่นหลายเรื่องที่สังคมไทยก้าวไม่พ้นเสียที แต่ผมว่าเรื่องพื้นฐานของปัญหาเหล่านี้คือเรื่องการไม่ยอมรับผิด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไปโกเบเมื่อสี่วันก่อน (7 มิถุนายน 59) นอกจากได้รู้จักความเป็นเมืองฝรั่งๆ ของโกเบแล้ว สาระสำคัญของการไปโกเบวันก่อนอย่างหนึ่งคือการไปพิพิธภัณฑ์เครื่องมือช่างไม้แห่งนี้ พิพิธภัณฑ์นี้เป็นของบริษัท Takenaka ที่บอกเล่าว่าตั้งมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 17 ส่วนพิพิธภัณฑ์นี้เปิดปี 1984 แล้วเข้าใจว่าน่าจะค่อยๆ พัฒนาคอลเล็กชั่นและการจัดแสดงขึ้นมาเรื่อยๆ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ความสุขอย่างหนึ่งของการมาอยู่ที่ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษามหาวิทยาลัยเกียวโตก็คือ การได้รู้จักผู้คนและแลกเปลี่ยนความรู้ในหลายภาษา อีกอย่างคือได้แลกเปลี่ยนความรู้ในหลายบริบท ทั้งในห้องสัมมนา ห้องทำงาน ห้องเรียน และร้านเหล้า ผมถือว่ามันเป็นบริบททางวิชาการทั้งนั้นแหละ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
รู้กันนะครับว่า เวลาที่เราเรียกว่า "หล่อๆ" นี่ ไม่ใช่ว่าต้องเป็นผู้ชาย ผู้หญิงก็หล่อได้ เพราะมันหล่อในสำนวน ในการแสดงออก ในท่าที ทั้งๆ ที่หน้าตาไม่ต้องหล่อก็ได้ แต่หล่อที่คำพูด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่งสอนผมว่า “คำวิจารณ์น่ะ น่าฟังมากกว่าคำชื่นชม เนื่องจากคนที่วิจารณ์เราน่ะ เขาจริงใจกับเรามากกว่าคนที่ชื่นชมเรา ไม่มีใครวิจารณ์เราตามมารยาท แต่คนชมน่ะ บางทีเขาก็ชมเราไปตามมารยาทเท่านั้นแหละ” ดังนั้นเมื่อโลกเขารุมวิจารณ์ไทย เราก็ควรรับฟังเขา เพราะถ้าเขาไม่มีความจริงใจ ไม่อยากเห็นเราปรับปรุงตัวจริงๆ ไม่รัก ไม่ห่วง ไม่อยากคบค้าสมาคมด้วย เขาก็คงไม่ติติงเรา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คนแบบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาไม่ได้มีแต่พลเอกประยุทธ์เพียงคนเดียว แต่ยังมีคนอีกจำนวนมากที่มีเบื้องลึกของจิตใจแบบพลเอกประยุทธ์ แต่หากจะพูดให้ถูก คนที่มีจิตใจเบื้องลึกที่กักขฬะ อาจจะไม่จำเป็นต้องแสดงออกอย่างกักขฬะแบบพลเอกประยุทธ์ แต่ทำไมขณะนี้สังคมไทยจึงยอมให้ความกักขฬะเข้ามาปกครองบ้านเมือง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะเรียกอะไรก็แล้วแต่ ถ้าพูดอย่างหลวม ๆ คือ พวกเขาเป็นคนกลุ่มเดียวกัน สองชื่อแรกใช้ในประเทศไทย เรียกกลุ่มคนที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ที่จริงพวกเขายังอยู่ในอำเภอเมือง อำเภอหนองหญ้งปล้อง และอำเภออื่น ๆ ของเพชรบุรี แล้วยังกระจายย้ายถิ่นไปในจังหวัดอื่น ๆ ตั้งแต่นครปฐม ชุมพร ไปจนถึงนครสวรรค์ เลย ฯลฯ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้ผมกลับมาไทย 7 วัน ไม่รวมวันเดินทางอีกสองวัน ที่มาเพราะได้รับเชิญมาเสนอความเห็นในการ workshop งานหนึ่ง ผมก็เลยถือโอกาสนี้ใช้ทุนที่ต้องใช้สำหรับทำวิจัย เก็บข้อมูลของมหาวิทยาลัยเกียวโต ซึ่งก็มีอยู่ไม่มากนัก มาเพื่อใช้เดินทางไปเก็บข้อมูลเพิ่มเติมด้วยเลย