Skip to main content

ผมเพิ่งกลับจากชิคาโก เดินทางไปสำรวจพิพิธภัณฑ์กับแขกผู้ใหญ่จากเมืองไทย ท่านมีหน้าที่จัดการด้านพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ก็เลยพลอยได้เห็นพิพิธภัณฑ์จากมุมมองของคนจัดพิพิธภัณฑ์ คือเกินเลยไปจากการอ่านเอาเรื่อง แต่อ่านเอากระบวนการจัดทำพิพิธภัณฑ์ด้วย แต่ส่วนตัวผมเองก็ไม่ได้อะไรมากนักหรอก แค่ติดตามเขาไปแล้วก็เรียนรู้เท่าที่จะได้มามากบ้างน้อยบ้าง


ขอเล่าเป็นบันทึกการเดินทางสักหน่อยว่า การไปชิคาโกคราวนี้ถือว่าได้รู้จักชิคาโกมากขึ้นเยอะทีเดียว เริ่มจากการจองที่พักผ่านเว็บไซต์ hotwire สะดวก ราคาถูกเมื่อเทียบกับที่ตั้งโรงแรมที่ห่างจาก Millennium Park แค่สองบล็อก แถมตกใจเมื่อเข้าไปในห้องแล้ว ห้องนอนต่างหาก มีห้องนั่งเล่น มีครัว มีเตาอบเตาประกอบอาหาร มีไมโครเวฟ มีกระทั่งเครื่องล้างจาน มีถ้วยจานแก้วอุปกรณ์การทำกับข้าว มีกระทั่งเครื่องซักผ้าและเครื่องอบผ้า คงเป็นเพราะการเดินทางไปฤดูหนาวก็เลยทำให้ได้โรงแรมราคาถูก

เรื่องการเดินทางในชิคาโกก็แสนสะดวก เพราะมีทั้งรถไปและรถเมล์ ที่สามารถซื้อตั๋วแบบวันเดียวหรือสามวันรวดหรือหนึ่งสัปดาห์แล้วใช้ได้ไม่จำกัดเที่ยว ผมไปค้าง 3 คืน ซื้อตั๋วแบบ 3 วันรวด ใช้ได้กระทั่งนั่งรถไฟออกจากเมืองไปสนามบินในวันกลับ มีวันหนึ่งไม่รู้จะไปไหนเพราะฤดูหนาวแล้วพิพิธภัณฑ์จะปิดเร็ว ก็เลยนั่งรถไฟวนไปวนมา ขึ้นขบวนนั้นออกขบวนนี้ สลับฝั่งวิ่งไปวิ่งมา ถ่ายรูปกันไปจนแบทกล้องถ่ายรูปหมดเกลี้ยง เพลิดเพลินไปอีกแบบ 

ตามสูตรของการไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ที่ชิคาโก พวกคนเรียนมาทางผมจะไปที่ไหนล่ะถ้าไม่ใช่ Field Museum กับ Chicago History Museum ความจริงก็อยากไปมากกว่านี้หรอก แต่เวลาน้อยไป และอยากดูกันแบบเน้นๆ หน่อย ขนาดอย่างนี้ยังต้องวิ่งๆ ดูผ่านๆ ในบางห้องจัดแสดง 
 


 

ที่ Field Museum ผมไปมาครั้งหนึ่งแล้วก็ประทับใจมาก เสียดายยังไม่ทันได้เขียนบันทึกเลย ครั้งที่แล้วได้ชมนิทรรศการชั่วคราวเรื่องการจัดงาน World's Fair ที่ชิคาโกครั้งแรกเมื่อปี 1893 ก็ชอบมาก ไปอีกทีครั้งนี้ก็โชคดีอีกที่มีนิทรรศการหมุนเวียนเรื่อง Vodou หรือวูดูนั่นแหละ งานจัดในห้องใหญ่โตมาก พอๆ กับห้องที่เคยจัดงานเรื่อง World's Fair ครั้งก่อน มีวัตถุมากมายหลายชิ้น เยอะมากๆ น่าจะทุกชิ้นมาจากเฮติ เป็นนิทรรศการหมุนเวียนที่จัดระดมทุนเพื่อไปสร้างพิพิธภัณฑ์วูดูที่เฮติ

นอกจากข้าวของแล้ว วิธีเล่าเรื่องของเขาน่าสนใจมาก เขาเล่าจากมุมมองของเจ้าของวัฒนธรรมเอง ประกอบกับจากการศึกษาของนักวิชาการที่ทำงานร่วมกับชาวเฮติ ในคำบรรยายวัตถุต่างๆ จึงใช้สรรพนามว่า we บ้าง our บ้าง us บ้างอยู่เสมอ นอกจากนั้น เขายังพยายามผสมผสานภาษา creole แบบเฮติเข้ามาในทั้งคำบรรยายและภาษาในบทสัมภาษณ์ที่มีวิดีโอแสดงให้ชมและฟัง เรียกว่าเขาพยายามใช้มุมมองแบบเจ้าของวัฒนธรรมในการจัดแสดง 

นิทรรศการนี้ตีความว่า วูดูเป็นศาสนาของเฮติ ที่รวมรวมคนเฮติซึ่งมาจากหลายเผ่าในแอฟริกา บางเผ่าก็ขัดแย้งกัน ด้วยเหตุนั้น วูดูจึงเป็นศูนย์รวมจิตใจ และมีส่วนในการรวมพลังชาวเฮติเพื่อต่อสู้กับฝรั่งเศสจนได้อิสรภาพในปี 1804 ก่อนสหรัฐอเมริกาได้อิสรภาพจากอังกฤษด้วยซ้ำ (ตรงนี้ความจริงมีข้อถกเถียงใหม่ๆ เสนอว่า การปฏิวัติเฮติเริ่มต้นก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศสด้วยซ้ำ) 

นอกจากมุมมองการนำเสนอแล้ว ประเด็นหนึ่งที่นิทรรศการนี้เสนอคือ การพยายามแก้ความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับเรื่องวูดู เช่น วูดูไม่ใช่แค่ลัทธิไร้ระบบ แต่เป็นศาสนาที่มีพิธีกรรมและระบบสัญลักษณ์ที่ซับซ้อนและเป็นระบบ ซอมบี้ไม่ใช่ฝูงผีดิบของพ่อมด แต่เป็นการลงโทษคนผิด วูดูไม่ได้ใช้ตุ๊กตาปักเข็มแบบที่มักถูกให้ภาพในภาพยนตร์ เป็นต้น 

ออกจาก Field Museum กะจะวิ่งไปดู Chicago History Museum เพราะมีคนแนะนำว่า จะดูพิพิธภัณฑ์ที่เล่าเรื่องเมืองก็ต้องไปดูพิพิธภัณฑ์ของเมือง (ซึ่งยังไม่มีซักทีที่เมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ และไม่คิดว่าจะมีได้ในยุคที่การเมืองกรุงเทพฯ ยังอยู่ในคนสมองน้อยและคับแคบอย่างทุกวันนี้) ก็เลยวิ่งไปที่นั่น แต่กว่าจะมะงุมมุงาหราหาเส้นทางและพิพิธภัณฑ์เจอ ไปถึงเหลือเวลาอีกแค่ชั่วโมงครึ่ง เจอคิวยาวเพราะคนจะเข้าชมนิทรรศการหมุนเวียนเรื่อง The 1968 Exhibit ก็เลยตัดใจไม่ซื้อบัตรเข้าชม เพราะกลัวเวลาน้อยเกินไป


 

วันรุ่งขึ้นพยายามฝ่าฝนหนาวๆ เดินลุยน้ำแข็งไปแต่เช้า ซึ่งก็ดีไปเพราะยังแทบไม่มีคน เมื่อได้ตั๋ว เจ้าหน้าที่ก็แนะนำว่าควรเข้าไปดูงาน 1968 ก่อนเลย เพราะเหลือเวลาวันรุ่งขึ้นอีกวันก็หมดแล้ว และคนจะแน่นมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ เพราะก่อนจะเข้าได้ ก็ต้องรอคิวหน้างานสักพัก เพราะเขากลัวว่าคนจะเข้าไปออกันแน่นจนไม่มีพื้นที่พอสำหรับการอ่านการดูอะไร แล้วพอหลังดูผ่านไปสัก 2 ชั่วโมงเสร็จ เดินออกมาก็ปรากฏว่าคนรอคิวดูนิทรรศการนี้ล้นทะลักกันอีกเกือบร้อยคน 

ปี 1968 ก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นปีที่บรรจุด้วยเรื่องราวคามเปลี่ยนแปลงของสังคมสมัยปัจจุบันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา ปี 1968 จึงถือได้ว่าเป็นใจกลางของ the 60s เลยทีเดียว วิธีที่เขาเล่าคือ นำเอาเหตุการณ์สำคัญๆ ของแต่ละเดือนไล่เรียงไปเลยจากเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ ถึงธันวาคม ว่าเกิดอะไรบ้าง  

ที่จำได้ก็เช่น กุมภาพันธ์ 1968 กองทัพสหรัฐในเวียดนามถูกทหารเวียดกงโจมตีอย่างไม่ทันตั้งตัวในปฏิบัติการปีใหม่ หรือ Tet Offensive แล้วเรื่องราวของสงครามเวียดนามก็กลายเป็นแกนกลางสำคัญของปี 1968 เดือนเมษายน 1968 มาร์ติน ลูเธอ คิง จูเนียร์ ผู้นำสิทธิประชาคนดำถูกสังหาร เดือนมิถุนายน 1968 โรเบิร์ท เอฟ เคเนดี (พี่ชายประธานาธิบดีจอน เอฟ เคเนดี-[เดิมข้อมูลผิดพลาด])* ถูกสังหาร เดือนธันวาคม 1968 สหรัฐส่งอะพอลโล 8 ไปดวงจันทร์ (ไม่ใช่อะพอลโล 11 ที่คนลงไปเหยียบดวงจันทร์) 

นอกจากนั้นยังเล่าเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เช่น ทัศนคติเรื่องเพศอันเนื่องมาจากการใช้ยาคุมกำเนิด เรื่องเสรีภาพอย่างเสรีภาพในการแต่งกายของผู้หญิง มีการรณรงค์ทิ้งเสื้อชั้นในเพื่อปลดปล่อย มีเรื่องแฟชั่นแบบฮิปปี้ เรื่องราวเกี่ยวกับสื่อก็มีมาก เพลงร็อคเป็นเพลงของยุคสมัยนี้ TV คือสื่อสำคัญทั้งครอบงำและให้ความบันเทิง เรื่องเกี่ยวกับวงการกีฬาก็มีแต่ผมไม่ค่อยเข้าใจ เรื่องสินค้า ภาชนะพลาสติก และอาหารอุตสาหกรรมก็เป็นเรื่องเด่น


 

เขียนมาตั้งยืดยาวยังไม่ทันได้เล่าถึงวิธีการนำเสนอกับเรื่องราวบางอย่างที่น่าสนใจมาก แต่คงต้องเขียนกันเป็นหน้าๆ และยังไม่ได้เล่าถึงอีก 2 นิทรรศการชั่วคราวใน Chicago History Museum งานหนึ่งเป็นภาพถ่ายชิคาโกของ Vivian Maire ตากล้องหญิงที่ถ่ายรูปคนสามัญในชิคาโกได้มีชีวิตชีวาตรงไปตรงมามาก อีกงานชื่อ Railroaders เป็นภาพถ่ายที่สำนักงานข่าวสารสงครามของสหรัฐฯ จ้างช่างภาพชายชื่อ Jack Delano ถ่ายภาพชีวิตของชาวรถไฟในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ได้ภาพจับใจมากมาย

เมื่อชมพิพิธภัณฑ์ทั้ง 2 แห่งเสร็จ หลังความอิ่มเอมใจ ผมก็ได้แต่อิจฉาชาวเมืองใหญ่ๆ ที่มีโอกาสได้ต่อคิวเข้าชมนิทรรศการดีๆ อย่างนี้อย่างต่อเนื่อง ไม่เหมือนคนอยู่เมืองเล็กอย่างเมือง Madison ที่ทำได้แค่ปลอบใจตนเองว่าเมืองที่ฉันอยู่ติดอันดับเมืองน่าอยู่เสมอมาแทบทุกปี 

แต่เมื่อยิ่งคิดไกลไปถึงคนเมืองใหญ่แต่จิตใจคับแคบอย่างคนกรุงเทพฯ ก็ให้นึกสะท้อนใจว่า โอกาสที่ชาวกรุงเทพฯ จะได้รับการศึกษาแบบนี้คงมีน้อยลงไปอีก การทำให้พิพิธภัณฑ์เป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับชีวิตผู้คนไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่หากไม่คิดที่จะทำเสียเลยก็จะเป็นการปล่อยปละให้ข้าวของและเรื่องราวชีวิตผู้คนทะยอยเดินจากเราไปโดยที่ไม่มีโอกาสได้สื่อสารกับคนรุ่นหลัง กรุงเทพฯ มีเรื่องราวของผู้คนสามัญมากมาย แต่กว่าจะก้าวข้ามอคติต่างๆ ไปได้ ข้าวของที่จะมีพอสำหรับเล่าเรื่องผู้คนสามัญก็คงถูกทับถมไปใต้ความเกลียดชังของชาวกรุงเทพฯ เสียหมดสิ้นแล้ว

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (4 ตุลาคม 2560) นิสิตมหาวิทยาลัยหนึ่งโทรศัพท์มาสัมภาษณ์เรื่องการพิมพ์คำ "คะ" "ค่ะ" ผิดๆ ในโซเชียลมีเดียและการส่งข้อความต่างๆ บอกว่าจะเอาไปลงวารสารของคณะเธอ เธอถามว่าการใช้คำผิดแบบนี้มีนัยทางสังคมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวาน (30 กันยายน 2560) นักศึกษาปริญญาโทชั้นเรียนมานุษยวิยาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เขียนบทละครเรื่อง "The Dark Fairy Tales นิทานเรื่องนี้ไม่เคยเล่า" ชวนไปดูและร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นหลังละครจบ ช่วยให้คิดอะไรเกี่ยวกับการอ่านนิทานได้อีกมากทีเดียวจึงอยากบันทึกไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสนทนาอย่างออกรสไม่ได้จะต้องอยู่ในบรรยากาศเคร่งขรึมในห้องเรียน ห้องสัมมนาเสมอไป ด้วยเหตุนี้ผมจึงเชื่อว่า การใช้เวลานอกห้องเรียน นอกห้องสัมมนาวิชาการ สำคัญไม่น้อยไปกว่าการใช้เวลาในห้องสี่เหลี่ยมที่มีระเบียบต่างๆ ควบคุมการสนทนาอย่างเคร่งครัดเกินไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเหตุการณ์เข้ามาคุกคามพื้นที่ทางวิชาการของคณะทหารในการประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 13 ที่เชียงใหม่ จนทำให้นักวิชาการที่มาร่วมประชุมกลุ่มหนึ่งแสดงออกด้วยการชูป้าย "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" แล้วท้ายสุดมีนักวิชาการ 5 คนถูกตั้งข้อหาว่าเป็นคนนอกเข้ามายุยงให้ต่อต้านรัฐบาล
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันแม่นำความกระอักกระอ่วนใจมาให้ผมตั้งแต่ยังเด็ก เพราะแม่ในเพลง "ค่าน้ำนม" ที่เด็กในกรุงเทพฯ รุ่นผมถูกให้หัดร้องตามจนแทบจะจำเนื้อได้ทั้งเพลงมาตั้งแต่จำความได้ ไม่ตรงกับแม่ในชีวิตจริงของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัยคนหนึ่ง ผมไม่อาจยอมรับการกระทำของอาจารย์ต่อนิสิตด้วยความรุนแรงดังที่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยอันทรงเกียรติแห่งหนึ่งได้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้เกิดความผิดพลาดบางอย่างทำให้บทแนะนำอาจารย์แคทเธอรีน บาววี องค์ปาฐกคนหนึ่งของงานประชุมไทยศึกษาปีนี้ที่จังหวัดเชียงใหม่ ไม่ได้ถูกนำเสนอในงานประชุม ในเมื่อผมเตรียมไปพูดแล้วแต่ไม่ได้พูด ก็ขอนำบันทึกที่ร่างไว้นี้มาเผยแพร่ในที่นี้แทนก็แล้วกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ฟ้าข้างในนี้กว้างกว่าข้างนอก ฟ้าในนี้กว้างจนแทบจะเห็นขอบฟ้า"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้คงเป็นช่วงเขียนรายงาน เขียนวิทยานิพนธ์ของหลายๆ คน ผมเองช่วงนี้เป็นช่วงต้องอ่านงานนักศึกษามากมาย ที่สาหัสที่สุดคืองานวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโทและเอก 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมอ่านงานจิตรครั้งแรกๆ ก็ตอนที่เรียนมหาวิทยาลัยระดับปริญญาตรี ตอนนั้นเมื่อออกจากโลกโรงเรียนก็รู้สึกว่า โลกหนังสือของห้องสมุดธรรมศาสตร์ช่างกว้างใหญ่มาก กว้างใหญ่กว่าห้องสมุดแห่งชาติที่สมัยเรียนมัธยมผมชอบไปสิงอยู่มากนัก นี่กล่าวเฉพาะหนังสือที่น่าอ่านเกี่ยวกับสังคม วัฒนธรรม ปรัชญา และศาสนา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (3 พค. 60) ผมไปวิจารณ์งานนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยซึ่งคณะราษฎรมีส่วนก่อตั้งเช่นกัน แต่สำคัญผิดกันไปว่าผู้อื่นมีบุญคุณมากกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บางทีนามสกุลกับบทบาทความเป็นครูของครูฉลบชลัยย์ พลางกูร คงไม่ทำให้คนสนใจครูฉลบเกินบทบาทไปกว่าการเป็นภรรยาของนายจำกัด พลางกูร และเป็นผู้ให้กำเนิดโรงเรียนดรุโณทยาน