Skip to main content

ผมขอเริ่มที่เรืองซึ่งถือได้ว่าเป็นยาขมที่สุดของแวดวงมหาวิทยาลัยไทยเลยก็แล้วกัน ที่จริงว่าจะเขียนเรื่องการผลิตความรู้ก่อน แต่หนีไม่พ้นเรื่องการสอน เพราะนี่เป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการทำงานวิชาการในไทยมากถึงมากที่สุดเลยก็ว่าได้


เคยได้ยินไหมครับว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยโด่งดังบางคนสอนมากมายจนกระทั่งนับได้ว่า 8 วิชาต่อหนึ่งภาคการศึกษา เคยได้ยินไหมครับว่าอาจารย์บางคนเข้าห้องสอนแล้วสอนไปจนหมดชั่วโมงก็เพิ่งจะรู้ว่าสอนเนื้อหาผิดวิชา ผมไม่ได้จะโทษอาจารย์หรอก แต่จะโทษระบบมหาวิทยาลัยไทยมากกว่า ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วโดยทั่วๆ ไปมหาวิทยาลัยมักกำหนดภาระการสอนที่ "ต้องสอน" ไว้เพียง 4 วิชาต่อปี (บางคณะในธรรมศาสตร์เคยกำหนดไว้เพียง 2 วิชาต่อปีเท่านั้น แต่เกิดอะไรไร้สาระบางอย่างขึ้น ขอไม่เล่า สุดท้ายต้องสอน 4 วิชาต่อปี) แต่เมื่อทำตารางสอนจริงๆ อาจารย์ส่วนใหญ่จะสอนมากกว่านั้น จนอาจจะถึง 10 วิชาต่อปีทีเดียว

ในต่างประเทศ ที่อื่นผมไม่แน่ใจ แต่ที่สหรัฐอเมริกา เขาแบ่งมหาวิทยาลัยออกเป็น 3 กลุ่ม1. มหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย 2. มหาวิทยาลัยเพื่อการสอน 3. มหาวิทยาลัยศิลปศาสตร์ (liberal arts college*) แบบที่สามเป็นมหาวิทยาลัยขนาดเล็กที่เน้นการสอนระดับปริญญาตรี นักศึกษาจะเรียนร่วมกันหมดร่วม 2 ปี เรียนวิชาคละเคล้ากันแล้วแต่จะชอบ แล้วค่อยมาระบุเอาในปีสูงๆ ว่า ตกลงสนใจจะเน้นสาขาวิชาอะไร เท่าที่ผมรู้ มหาวิทยาลัยแบบนี้ไม่มีในประเทศไทย 

แต่สองแบบแรกเป็นต้นแบบของมหาวิทยาลัยไทยส่วนใหญ่ และผมอยากจะบอกว่า ที่จริงมหาวิทยาลัยไทยส่วนใหญ่เป็นแบบที่สอง คือเป็นมหาวิทยาลัยที่เน้นการจัดการเรียนการสอน มากกว่าที่จะเน้นการส่งเสริมการวิจัย ทำไมจะไม่เป็นอย่างนั้นล่ะ ก็ดูจากภาระการสอนก็ได้ อาจารย์ส่วนใหญ่สอนกันอย่างน้อย 3-4 วิชาต่อภาคการศึกษา แล้วจะเอาเวลา เอาสมอง เอาเรี่ยวแรงที่ไหนไปคิดทำงานวิจัย ไปเขียนบทความวิชาการ ไปสัมมนาวิชาการ ไปเขียนหนังสือ ไปแต่งตำราได้ล่ะ

ไม่ใช่ว่าอาจารย์ที่ทำได้จะไม่มี แต่มีน้อย และด้วยเงื่อนไขพิเศษบางอย่างเท่านั้น พูดง่ายๆ คือ ระบบมหาวิทยาลัยไทยไม่เอื้อกับการสร้างมหาวิทยาลัยวิจัย ที่คุยกันว่าเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยน่ะ ก็แค่โอ้อวดกัน แต่ส่วนใหญ่ถ้าเอาภาระงานสอนตั้งหารด้วยผลงานวิชาการแล้วล่ะก็ ภาระงานสอนจะมากกว่าผลงานวิชาการหลายเท่าตัวทีเดียว

ทำไมมหาวิทยาลัยไทยจึงเน้นการสอน เดิมที ย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน ที่ผมเพิ่งเริ่มเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย (ผมเริ่มงานปี 2539) คณะผมเพิ่งจะพัฒนาระบบการคิดภาระงานของอาจารย์ ผมได้รับมอบหมายให้ร่างระบบภาระงานขึ้นมา ขณะนั้นยังไม่มีแนวคิดเรื่องมหาวิทยาลัยวิจงวิจัยอะไร ผลงานอาจารย์จะตีค่าออกมาเป็นคะแนน เมื่อดูระบบที่เคยใช้อยู่จึงได้รู้ว่า ระบบเดิมไม่ได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการเขียนงานวิชาการ ผมเสนอว่า หากใครจะได้สองขั้น ควรมีผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการเป็นอย่างน้อย หลายคนทักว่า จะเอาอย่างนั้นเลยเหรอ จะไม่มีคนได้ 2 ขั้นเลยนะ

การเร่งให้คณาจารย์ผลิตงานวิจัยเพิ่งจะมีมาเมื่อไม่ถึง 10 ปีมานี้เอง ที่จริงผมคิดว่าไม่ถึง 5 ปีดีด้วยซ้ำ เมื่อผมกลับไปทำงานหลังจบปริญญาเอกใหม่ๆ ผมเสนอให้คณะมีฝ่ายวิจัยเป็นตัวเป็นตน คณะยังไม่ทำเลย มาจนเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมานี้เองที่เริ่มมีฝ่ายวิจัยทั่วทั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เดิมไม่มีหรอกครับ ไม่ใช่เพียงเพราะโครงการมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติอะไรนั่นหรอก แต่เพราะระบบประกันคุณภาพกับการแข่งขันในระดับโลกที่ทบวงฯ นำเข้ามาใช้อย่างงูๆ ปลาๆ นั่นเอง ที่เพิ่งจะมากระตุ้นให้มหาวิทยาลัยไทยเร่งงานวิจัย โดยเฉพาะทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ 

พูดแบบนักเศรษฐศาสตร์การเมืองก็คือ เพราะระบบเสรีนิยมใหม่ที่เข้ามาทำให้เกิดการแปลงสินค้าสาธารณะให้เป็นสินค้าเอกชนให้หมด เกิดการ privatization มหาวิทยาลัยกันทั่วโลก รวมทั้งเกิดการ privatization กิจการของรัฐ ทั้งการสาธารณะสุข โรงพยาบาล การศึกษาระดับต่างๆ นั่นหละ ที่ส่งผลกระทบให้มหาวิทยาลันต้องแข่งขัน ต้องเร่งสร้างงานวิจัย

แต่ผลมันไม่อย่างนั้น เพราะแทนที่ระบบทั้งหมดมันจะปรับไปทางนั้น แต่มันกลับกลายเป็นว่า อาจารย์ทุกวันนี้มีแรงบีบทั้งด้านการสอนและการวิจัย เดิมที อาจารย์มหาวิทยาลัยไทยก็มักทำงานสอนไปเรื่อยๆ ค่อยๆ ทำวิจัยไปเรื่อยๆ เมื่อผลงานมากพอ ถ้าไม่ยอมบากหน้าหอบเอกสารไปขอตำแหน่งทางวิชาการเอง ก็มักจะมีลูกศิษย์ลูกหาที่เห็นใจ อยากให้อาจารย์ตนมีหน้ามีตา ก็ช่วยกรอกผลงาน ช่วยขอตำแหน่งให้ อาจารย์ไทยส่วนใหญ่จึงเป็นศาสตราจารย์กันยากใกล้เกษียณ หรือจนเกษียณแล้วไม่ขอตำแหน่งทางวิชาการเลยก็มี

แต่ทุกวันนี้ไม่อย่างนั้น ถ้าใครเข้ามาทำงาน ต้องขอตำแหน่งภายในกี่ปีกี่ปี เขาระบุไว้ในสัญญาเลย หากได้ ผศ. แล้ว จะต้องได้ รศ. ภายในกี่ปี เขาก็ระบุไว้ หากไม่ได้ ศ. หรือเป็น รศ. แต่ไม่มี ดร. เขาก็จะไม่ต่ออายุหลังเกษียณให้ ระบบนี้ดีไหม ก็ดีนะครับถ้าเห็นว่าเป็นการเร่งรัดและบีบให้อาจารย์ทำงานวิชาการ แต่ในทางกลับกัน ภาระงานสอนมากมายมันค้ำคออาจารย์อยู่ 

ถามว่าทำไมอาจารย์ต้องสอนมากด้วยเล่า ผมว่ามีสองสาเหตุด้วยกัน หนึ่ง อาจารย์เลือกสอนมากเอง เพราะงานสอนในมหาวิทยาลัย เมื่อสอนเกินจากภาระงานขั้นต่ำ ก็จะมีรายได้พิเศษ พูดง่ายๆ คือ รับสอนเกินภาระงานก็เพราะจะได้ค่าสอนพิเศษเพิ่มขึ้น ยิ่งหากสอนโครงการพิเศษ ก็จะได้รายได้มากมาย มากขนาดที่อาจารย์บางคนสอนหนังสืออย่างเดียวอาจมีรายได้เดือนละเป็นแสนเลยทีเดียว

สอง เลือกไม่ได้ เพราะหากไม่สอนมากกว่าภาระขั้นต่ำ ก็จะกลายเป็นคนไร้น้ำใจ เพราะเพื่อนๆ อาจารย์สอนกันเป็นส่วนใหญ่ ที่ต้องช่วยๆ กันสอน เพราะแต่ละคณะ แต่ละภาควิชาในมหาวิทยาลัยขณะนี้จะมีแหล่งรายได้พิเศษของตนเองกัน นั่นก็คือบรรดาโครงการพิเศษต่างๆ นั่นเอง พวกนักศึกษาที่เรียนโครงการพิเศษจงรู้ไว้เถิดว่า เงินจากกระเป๋าสตางค์พ่อแม่ผู้ปกครองคุณขณะนี้เป็นเงินหลักที่ใช้เลี้ยงดูระบบมหาวิทยาลัยไทยอยู่ ดูอย่างคณะผม มีเพียงโครงการพิเศษปริญญาตรีโครงการเดียว รับนักศึกษาปีละ 100 คน เพียงเท่านี้ รายได้จากโครงการพิเศษก็เป็นสัดส่วนหลักของงบประมาณของคณะแล้ว 

คณะใหญ่ๆ บางคณะก็จัดการคนละแบบ เช่น บางที่ให้อาจารย์ทุกคนเฉลี่ยภาระงานกันอย่างเสมอหน้า แล้วนำเอารายได้ทั้งหมดมาเฉลี่ยให้อาจารย์ หรือบางคณะก็จ่ายเป็นโบนัสแทน บางคณะจ่ายเป็นการพาเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ โดยรวมแล้ว พลังงานของแต่ละคณะล้วนทุ่มเทไปที่การสอน ลองคิดดูว่า คณะที่มีโครงการพิเศษเป็น 10 โครงการ จะมีรายได้ปีละมากเท่าไร แล้วอย่างนี้ใครจะมีแรงมาทำวิจัย หรือไม่ก็คือ ใครจะอยากทุ่มเททำวิจัย

เอาเป็นว่าขอเล่าเรื่องภาระงานสอนที่เป็นอุปสรรคสำหรับการพัฒนางานวิชาการไว้แค่นี้ก่อน ตอนต่อไปค่อยเล่าปัญหาใหญ่ๆ อื่นๆ ต่อครับ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หลายคนคงเป็นแบบผม คือพยายามข่มอารมณ์ฝ่าฟันการสบถของท่านผู้นำ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตั้งแต่ที่ผมรู้จักงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์มา มีปีนี้เองที่ผมคิดว่ากิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่มีความหมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปี 2558 เป็นปีที่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีอายุครบ 50 ปี นับตั้งแต่เริ่มเป็นแผนกอิสระในคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์มาตั้งแต่ปี 2508
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เปิดภาคการศึกษานี้มีเรื่องน่าตื่นเต้นคือ วันแรกที่ไปสอน (ผมสอนอังคาร, พฤหัสบดี ครั้งละ 1 ชั่วโมง 15 นาที) มีนักเรียนมาเต็มห้อง เขากำหนดโควต้าไว้ที่ 34 คน แต่หลังจากผมแนะนำเค้าโครงการบรรยาย คงเพราะงานมาก จุกจิก ก็มีคนถอนชื่อออกไปจำนวนหนึ่ง คืนก่อนที่จะไปสอนครั้งที่สอง ผมก็เลยฝันร้าย คือฝันว่าวันรุ่งขึ้นมีนักเรียนมาเรียนแค่ 3 คน แล้วเรียนๆ ไปนักเรียนหนีหายไปเหลือ 2 คน แต่พอตื่นไปสอนจริง ยังมีนักเรียนเหลืออีก 20 กว่าคน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อได้ทราบว่าอาจารย์เก่งกิจทำวิจัยทบทวนวรรณกรรมด้านชนบทศึกษา โดยลงแรงส่วนหนึ่งอ่านงาน “ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย” (ต่อไปนี้จะเรียกว่า “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ”) (อภิชาต ยุกติ นิติ 2556) ที่ผมมีส่วนร่วมกับนักวิจัยในทีมทั้งหมด 6 คนในตอนแรก และ 9 คนในช่วงทำวิจัยใหญ่ [1] ผมก็ตื่นเต้นยินดีที่นานๆ จะมีนักวิชาการไทยอ่านงานนักวิชาการไทยด้วยกันเองอย่างเอาจริงเอาจังสักที 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะให้ผมเขียนเรื่องอุปสรรคขัดขวางโลกวิชาการไทยต่อการก้าวขึ้นสู่ความเป็นเลิศในระดับนานาชาติไปอีกเรื่อยๆ น่ะ ผมก็จะหาประเด็นมาเขียนไปได้อีกเรื่อยๆ นั่นแหละ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ถ้านับย้อนกลับไปถึงช่วงปีที่ผมเริ่มสนใจงานวิชาการจนเข้ามาทำงานเป็นอาจารย์ ก็อาจนับได้ไปถึง 25 ปีที่ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงในโลกวิชาการไทย ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่สำคัญคือการบริหารงานในมหาวิทยาลัย แต่ขอยกเรื่องนั้นเอาไว้ก่อน เพราะหากค่อยๆ ดูเรื่องย่อยๆ ไปเรื่อยๆ แล้วก็น่าจะช่วยให้เห็นอะไรมากขึ้นว่า การบริหารงานวิชาการในขณะนี้วางอยู่บนระบบแบบไหน เป็นระบบที่เน้นสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการในเชิงปริมาณหรือคุณภาพกันแน่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บอกอีกครั้งสำหรับใครที่เพิ่งอ่านตอนนี้ ผมเขียนเรื่องนี้ต่อเนื่องกันมาชิ้นนี้เป็นชิ้นที่ 5 แล้ว ถ้าจะไม่อ่านชิ้นอื่นๆ (ซึ่งก็อาจชวนงงได้) ก็ขอให้กลับไปอ่านชิ้นแรก ที่วางกรอบการเขียนครั้งนี้เอาไว้แล้ว อีกข้อหนึ่ง ผมยินดีหากใครจะเพิ่มเติมรายละเอียด มุมมอง หรือประสบการณ์ที่แตกต่างออกไป แต่ขอให้แสดงความเห็นแบบ "ช่วยกันคิด" หน่อยนะครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อันที่จริงวิทยานิพนธ์เป็นส่วนน้อยๆ ของโลกวิชาการอันกว้างใหญ่ และเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเป็นนักวิชาการ แต่วิทยานิพนธ์ก็เป็นผลงานที่อาจจะดีที่สุดของนักวิชาการส่วนใหญ่ แต่สังคมวิชาการไทยกลับให้คุณค่าด้อยที่สุด พูดอย่างนี้เหมือนขัดแย้งกันเอง ขอให้ผมค่อยๆ อธิบายก็แล้วกันครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ก่อนเริ่มพูดเรื่องนี้ ผมอยากชี้แจงสักหน่อยนะครับว่า ที่เขียนนี่ไม่ใช่จะมาบ่นเรื่อยเปื่อยเพื่อขอความเห็นใจจากสังคม แต่อยากประจานให้รู้ว่าระบบที่รองรับงานวิชาการไทยอยู่เป็นอย่างไร ส่วนจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร อย่าถามผมเลย เพราะผมไม่มีอำนาจ ไม่ต้องมาย้อนบอกผมด้วยว่า "คุณก็ก้มหน้าก้มตาทำงานไปให้ดีที่สุดก็แล้วกัน" เพราะถ้าไม่เห็นว่าสิ่งที่เล่าไปเป็นประเด็นก็อย่าสนใจเสียเลยดีกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมขอเริ่มที่เรืองซึ่งถือได้ว่าเป็นยาขมที่สุดของแวดวงมหาวิทยาลัยไทยเลยก็แล้วกัน ที่จริงว่าจะเขียนเรื่องการผลิตความรู้ก่อน แต่หนีไม่พ้นเรื่องการสอน เพราะนี่เป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการทำงานวิชาการในไทยมากถึงมากที่สุดเลยก็ว่าได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อผมมาสอนหนังสือถึงได้รู้ว่า วันครูน่ะ เขามีไว้ปลอบใจครู ก็เหมือนกับวันสตรี เอาไว้ปลอบใจสตรี วันเด็กเอาไว้หลอกเด็กว่าผู้ใหญ่ให้ความสำคัญ แต่ที่จริงก็เอาไว้ตีกินปลูกฝังอะไรที่ผู้ใหญ่อยากได้อยากเป็นให้เด็ก ส่วนวันแม่กับวันพ่อน่ะอย่าพูดถึงเลย เพราะหากจะช่วยเป็นวันปลอบใจแม่กับพ่อก็ยังจะดีเสียกว่าที่จะให้กลายเป็นวันฉวยโอกาสของรัฐไทยอย่างที่เป็นอยู่นี้