Skip to main content

อันที่จริงวิทยานิพนธ์เป็นส่วนน้อยๆ ของโลกวิชาการอันกว้างใหญ่ และเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเป็นนักวิชาการ แต่วิทยานิพนธ์ก็เป็นผลงานที่อาจจะดีที่สุดของนักวิชาการส่วนใหญ่ แต่สังคมวิชาการไทยกลับให้คุณค่าด้อยที่สุด พูดอย่างนี้เหมือนขัดแย้งกันเอง ขอให้ผมค่อยๆ อธิบายก็แล้วกันครับ

สำหรับใครก็ตามที่เริ่มทำวิทยานิพนธ์หรือผ่านกระบวนการทำวิทยานิพนธ์มาแล้ว จะจบหรือยังไม่จบดีหรือไม่ผ่านไปแล้วก็แล้วแต่ คงเคยคิดบ้างว่า ทำไมกรรมการวิทยานิพนธ์ถึงโหดนัก ทำไมกรรมการวิทยานิพนธ์ต้องการโน่นต้องการนี่ แก้โน่นแก้นี่ในงานของเราจนแทบจะไปเหลือเค้างานที่เราคิดว่าเป็นของเราอีกต่อไปเลย บางคนคิดว่า จบมาแล้วไม่รู้สึกภูมิใจกับวิทยานิพนธ์เลย ถูกแก้กระทั่งการใช้สรรพนามในการเขียน เหมือนงานไม่ใช่ของเรา

 

เข้าใจถูกแล้วครับ วิทยานิพนธ์ไม่ใช่งานของคุณคนเดียวหรอก แต่เป็นงานของกรรมการทุกคนด้วย เพียงแต่วิทยานิพนธ์เป็นผลงานร่วมที่คุณผู้เขียนวิทยานิพนธ์เป็นผู้รับผิดและรับชอบมากที่สุด วิทยานิพนธ์จะดีหรือไม่ดี เมื่อจบมาแล้ว จะด้วยการกลั้นใจลงนามของกรรมการหรือไม่ คุณคนเขียนก็จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบมากที่สุด

 

แต่วิทยานิพนธ์ก็เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของการทำงานวิชาการ หลังวิทยานิพนธ์ ถ้าคุณยังจะทำงานวิชาการต่อไป ยังมีโลกที่กว้างใหญ่ของงานวิชาการอีก คนที่สอบวิทยานิพนธ์ เจอกรรมการแค่ 3-4 บ้าง 5-6 คนบ้าง แล้วกลัวหรือบ่นว่าทำไมกรรมการโหดกันนัก เมื่อจบแล้วไปอยู่ในโลกวิชาการที่ใหญ่กว่านี้จะรู้ว่า ไม่มีใครเขาแคร์ปริญญาคุณหรอก ถ้างานคุณไม่ดีจริงน่ะ แล้วอย่างไรเสีย คุณก็จะต้องต่อปากต่อคำกับคนอื่นๆ ที่จะดาหน้ากันเข้ามาประเมินคุณแบบไม่สนใจที่มาที่ไปของคุณกันไปตลอดชีวิตนั่นแหละ กับแค่กรรมการไม่กี่คนที่ยังคงความเป็นศิษย์เป็นครูกันน่ะ เป็นสภาพแวดล้อมทางวิชาการที่มีความเมตตากรุณาเป็นที่ตั้งที่สุดแล้ว

 

กระนั้นก็ตาม ในโลกวิชาการสากล วิทยานิพนธ์ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการศึกษาทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์สายวิชาการ เน้นนะครับว่า นี่พูดเฉพาะสายวิชาการ เพราะสายวิชาชีพน่ะ แค่ทำ IS ก็จบปริญญาโทหรือแม้แต่ปริญญาเอกได้แล้ว แต่จะเอามาเทียบกับสายวิชาการไม่ได้ เพราะข้อเรียกร้องต่างกัน

วิทยานิพนธ์คือการสร้างข้อเสนอที่ชัดเจน มีลำดับการให้เหตุผลที่เป็นระบบด้วยหลักฐานข้อมูลสนับสนุนอย่างหนักแน่น ในระดับปริญญาโท วัดกันที่ว่าได้เสนออะไรหรือเปล่า แล้วข้อเสนอนั้นได้รับการนำเสนอด้วยเหตุผลและหลักฐานอย่างหนักแน่นหรือเปล่า ในระดับปริญญาเอกนั้น ต้องแสดงให้เห็นด้วยว่าผู้เสนอได้ค้นพบอะไรใหม่ ได้ต่อยอดเพิ่มพูนความรู้อะไรขึ้นไป สรุปแล้ว วิทยานิพนธ์ก็คืองานวิจัยดีๆ นี่เอง ข้อนี้ใครที่อยู่ในแวดวงอุดมศึกษาย่อมทราบดีอยู่แล้ว

 

ในต่างประเทศ ผมก็ขออ้างสหรัฐอเมริกาอีกนั่นแหละ วิทยานิพนธ์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการจบการศึกษาก็จริง แต่ไม่มีก็ไม่ได้ปริญญา บางคนว่าในระบบยุโรป วิทยานิพนธ์จะดูสำคัญกว่าเพราะเป็นเพียงสิ่งเดียวที่ใช้วัดความสำเร็จของการศึกษา แต่ที่จริงก็วัดความสำคัญต่างกันยาก แถมยังขึ้นกับสาขาวิชา บางสาขาวิชา วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกในยุโรปคาดหวังต่ำกว่าวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกในสหรัฐฯ ด้วยซ้ำ แต่นั่นก็ยังขึ้นกับเงื่อนไขอื่นๆ อีกมาก เช่น ความเข้มข้นของมหาวิทยาลัย ความคาดหวังจากกรรมการวิทยานิพนธ์ เป็นต้น

 

ในสหรัฐฯ มีทุนวิจัยสนับสนุนการทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกมากมาย บางสาขาทางสังคมศาสตร์อย่างมานุษยวิทยา มีอย่างน้อยเท่าที่ผมนับได้ 5 แหล่งทุนด้วยกันสำหรับคนอเมริกัน แล้ว 3 ใน 5 แหล่งทุนนั้นก็สำหรับใครก็ได้ที่เรียนที่สหรัฐฯ ถึงไม่ใช่ American citizen ก็ขอได้ นี่ยังไม่นับว่าบางมหาวิทยาลัยยังมีทุนสนับสนุนบางลักษณะอีกด้วย

 

ทุนเหล่านี้ส่วนมากเป็นทุนรัฐบาล จำนวนทุนที่ให้นั้น เมื่อสัก 10 ปีก่อนที่ผมเรียน ทุนวิจัยทางสังคมศาสตร์ อย่างมานุษยวิทยา สังคมวิทยา หรือภูมิศาสตร์ ก็ให้ตั้งแต่ 20,000 - 25,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อปี (ส่วนมากให้ปีเดียวคือปีที่เก็บข้อมูล) ขณะนี้อาจมากกว่านั้นเล็กน้อย ทุนเหล่านี้ไม่มีเงื่อนไขอะไร ให้เปล่าเลย แม้จะเป็นนักศึกษาต่างชาติก็ให้เปล่า แล้วหากนักศึกษาเรียนไม่จบล่ะ ไม่จบก็ไม่เป็นไร ไม่ต้องใช้ทุนใดๆ ทั้งสิ้น (ถ้าเจอ ปปช. ไทย แบบนี้รัฐบาลสหรัฐฯ ถูกจ้องเล่นงานว่า "ส่อ" ทุจริตไปแล้วล่ะครับ)

 

ผมไม่รู้ว่ามีการประเมินความสูญเสียจากทุนเหล่านี้บ้างหรือไม่ หรือเขาประเมินความคุ้มค่าของเงินเหล่านี้อย่างไร แต่ผมบอกได้เลยว่า เงินที่ลงทุนกับวิทยานิพนธ์เหล่านี้คุ้มค่ามากเมื่อเทียบกับเงินที่ใช้สนับสนุนให้ได้งานวิจัยดีๆ สักหนึ่งชิ้น หากเทียบค่าตัวกันระหว่างนักศึกษาเดนตาย ที่อยากได้ทุนทำวิจัย ซึ่งทั้งต่อชีวิตทางวิชาการและเป็นเกียรติประวัติ กับอาจารย์ที่ค่าตัวจะสูงกว่ากันเกินเท่าตัวแล้ว หากมีคนจบเกินครึ่งหนึ่งของเงินที่เขาลงทุนไปก็ถือว่าคุ้มแล้ว 

 

หากวัดเอาหยาบๆ เอาจากคนเท่าที่ผมรู้จัก คนที่ได้ทุนราว 80% เรียนจบ หากเป็นอย่างนี้จริง ก็ถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ส่วนหนึ่งก็เพราะกระบวนการของการคัดเลือกหัวข้อวิทยานิพนธ์ที่จะให้ทุนนั้นเข้มข้นมาก บรรดากรรมการน่าจะตาถึงพอที่จะดูออกว่าใครน่าจะเรียนจบหรือไม่จบ อีกส่วนหนึ่งนั้น คนที่เรียนปริญญาเอกทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ต่างก็รู้ตัวดีว่ากำลังเดินบนเส้นทางสายลำบาก หลายคนเป็นหนี้ค่าลงทะเบียนเรียน หลายคนเรียนจนอายุมากและเสี่ยงกับอนาคตมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเรียนไม่จบก็จะยิ่งลำบาก

 

คราวนี้หันมาดูทุนทำวิทยานิพนธ์ไทยบ้าง อมยิ้มเลยล่ะสิครับ มันน่ารักจุ๋มจิ๋มมากใช่ไหมล่ะ แล้วมีใครให้ทุนบ้างล่ะ ที่เห็นชัดๆ สม่ำเสมอก็แหล่งเดียวใช่ไหมล่ะ บางมหาวิทยาลัยมีเงินสนับสนุน แต่ได้มาเอาไปเป็นค่าพิมพ์ตัวเล่มส่งมหาวิทยาลัยตอนเรียนจบก็แทบจะหมดแล้ว ไม่เหลือแม้แต่จะกินข้าววันเอาตัวเล่มไปส่ง แต่เอาล่ะ ปัจจุบันก็ถือว่าดีขึ้นกว่าสมัยที่ผมต้องแบมือขอเงินพ่อแม่เรียนปริญญาโทมากนัก เพราะอย่างน้อยก็มีทุนของแหล่งทุนหนึ่งที่ให้เงินพอสมควรทั้งในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก เอ่ยชื่อเลยดีกว่า ทุนของ สกว. นั่นแหละ ผมก็สนับสนุนนักศึกษาให้ขอทุนนี้อยู่สม่ำเสมอ 

 

แต่ปัญหาคือ นอกจากทุนจะน้อย น้อยจนไม่มีใครมีชีวิตอยู่ด้วยทุนนั้นได้ในระหว่างทำวิทยานิพนธ์โดยเฉพาะในระดับปริญญาโท และระเบียบการใช้เงินจะจุกจิกมากแล้ว การรับทุนทำวิทยานิพนธ์นี้ยังมีข้อผูกพัน แถมไม่ใช่ผูกพันกับนักศึกษา แต่ผูกพันกับอาจารย์ อาจารย์ต้องเขียนงานส่งด้วย อาจารย์ต้องเข้าร่วมกระบวนการตรวจสอบผลงานเป็นระยะๆ จากผู้ให้ความเห็นจากต่างสถาบันการศึกษา ต่างสาขาวิชา ต่างระบบความคิดด้วย 

 

ผลก็คือ ทุนลักษณะนี้มีส่วนในการปิดกั้นเสรีภาพทางวิชาการและมีส่วนในการปิดกั้นการพัฒนาความรู้ในแนวทางของแต่ละสถาบัน แต่ละสำนักคิด แต่ละสาขาวิชาไปอย่างถึงที่สุด ผลงานที่มีคุณภาพ บางทีไม่ได้ทุนเพราะทำวิจัยประเด็นที่สังคมไทยปิดกั้นโดยไร้เหตุผลทางวิชาการ (ว่าจะไม่พูดเรื่องนี้แล้วเชียว แต่ก็อดไม่ได้อยู่ดี) แถมทุนยังทำให้อาจารย์ต้องคิดหนักกับการแบกภาระงานเขียน ที่ก็แทบจะนำไปใช้ประโยชน์อะไรต่อไปไม่ได้มากนัก

 

การรับทุนวิทยานินพธ์ในระดับปริญญาเอกยิ่งแล้วใหญ่ นอกจากอาจารย์ต้องง้องอนแหล่งทุนแทนนักศึกษา ต้องกรอกเอกสารแสดงเกรียรติประวัติมากมายตามแบบฟอร์มที่ระบุแล้ว หากนักศึกษาเรียนไม่จบ อาจารย์ยังต้องเป็นหนี้ด้วย ทำไปทำมา แทนที่จะส่งเสริม ก็กลับจะสร้างกำแพงปิดกั้นการขอทุน อาจารย์จำนวนมากไม่กล้าขอรับทุนให้นักศึกษาปริญญาเอกของตนเอง เพราะไม่กล้ารับประกันนักศึกษาตนเอง สุดท้าย อาจารย์ที่สอนระดับปริญญาเอกส่วนใหญ่ก็เลยต้องจำใจเรียกร้องนักศึกษาให้ควักกระเป๋าตนเองถูๆ ไถๆ ทำวิทยานิพนธ์กันจนจบกันมาได้โดยไม่มีทุน แล้วอย่างนี้จะไปเรียกร้องให้วิทยานิพนธ์ทำดีๆ ไปทำงานภาคสนามไกลๆ อยู่ในพื้นที่นานๆ ไปทำวิจัยต่างประเทศ อะไรต่อมิอะไรได้อย่างไร

 

ส่วนอาจารย์ตั้งมากมายที่รับทุนรัฐบาลไปทำวิจัยหลักล้าน หลักสิบๆ ล้านจากสถาบันอะไรก็แล้วแต่ แล้วกลับไม่ส่งงานวิจัย หรือทำเสร็จแล้วผลงานกลับไม่มีประโยชน์ กลายเป็นกองกระดาษใต้บันไดประจำภาควิชาต่างๆ ที่รอชั่งกิโลขาย หรือไม่ก็หลงลืมตั้งทิ้งไว้จนสุดท้ายกลายเป็นอาหารปลวกน่ะ ไม่มีการประเมินกันว่าสูญเปล่าแค่ไหนเมื่อเทียบกับการให้ทุนนักศึกษาทำวิทยานิพนธ์

วิทยานิพนธ์เป็นก้าวแรกก็จริง แต่ก็เป็นก้าวสำคัญของการทำงานวิชาการในอนาคต ในโลกวิชาการสากล นักวิชาการส่วนใหญ่ต่อยอดการทำงานจากวิทยานิพนธ์ของตน แน่นอนว่าเมื่อเป็นอาจารย์แล้วก็ต้องทำงานใหม่ แต่การทำวิทยานิพนธ์เป็นรากฐานสำคัญในการก้าวต่อไปในดลกวิชาการทั้งสิ้น 

 

แต่ในสังคมวิชาการไทย อาจารย์ไทยบางคนที่ก็จบจากต่างประเทศมานั่นแหละ กลับมองวิทยานิพนธ์ว่าเป็นเพียงแบบฝึกหัด ให้ค่าวิทยานิพนธ์ต่ำกว่างานวิจัยที่ไม่มีใครเปิดอ่านของตนเอง อาจารย์บางคนทำวิจัยมาตลอดชีวิต ยังทำงานได้ไม่ดีเท่าวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาตนเองเลย แต่สังคมวิชาการไทยก็ไม่อยากลงทุนกับวิทยานิพนธ์

 

ท้ายสุด เมื่อคุณเขียนวิทยานิพนธ์จบแล้วเกิดเรียนจบขึ้นมา จะด้วยทุนรอนของใครก็แล้วแต่ โลกวิชาการไทยก็ไม่ให้คุณค่ากับวิทยานิพนธ์ เรืองนี้เอาไว้มาเล่าในตอนต่อไป

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ภูมิทัศน์ทางปัญญาของนักศึกษาปัจจุบันเป็นอย่างไร น่าจะมีใครทำวิจัยเล็กๆ ดูกันบ้าง ผมเดาว่าส่วนใหญ่คงวนเวียนอยู่หน้า "กำแพง" สมุดพักตร์ (ขอยืมสำนวนที่เพื่อนนักวิชาการรุ่นพี่คนหนึ่งมักใช้บ่อยๆ)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตลกที่เวลาผมชื่นชมผู้ใหญ่ในวงการบางคนในบางโอกาส มีคนว่าผมประจบผู้ใหญ่ ไม่รู้จักวิพากษ์ ก็ไม่เป็นไร แต่ส่วนตัวผมและกับคนในวงการเดียวกันคงจะรู้สึกว่า ที่พูดถึงผมแบบนั้นน่ะเพี้ยนแล้ว เพราะผมวิพากษ์ "ผู้ใหญ่" ในวงวิชาการเดียวกันมาเสียจนลูกศิษย์ลูกหาของท่านๆ เหล่านั้นสุดจะทน จนขณะนี้ ผมยังนึกไม่ออกว่ายังเหลือผู้ใหญ่ในวงการท่านใดบ้างที่ผมยังไม่วิพากษ์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ระหว่างเดินทางไปมาด้วยรถไฟหลายเที่ยวในโอซากาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมเกิดฉุกคิดถามเพื่อนชาวญี่ปุ่นขึ้นมาว่า วิธีที่คนญี่ปุ่นฆ่าตัวตายมากที่สุดคือวิธีไหน เพื่อนตอบทันทีโดยไม่ได้คิดว่า "ก็กระโดดให้รถไฟชนตายนี่แหละ" 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อครหาอีกข้อที่มีคือ การที่ผมชอบคิดคำศัพท์ ใช้คำศัพท์ทางวิชาการรุงรัง นี่เป็นข้อครหาที่นักสังคมศาสตร์ไทยโดนเป็นประจำ เพื่อนนักวิชาการคนอื่นๆ คิดอย่างไรผมไม่ทราบ แต่ผมมีทัศนะของผมเองคร่าวๆ ดังที่จะเสนอในที่นี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เสียงสะท้อนที่รบกวนใจผมอยู่บ้างในระยะนี้ คือคำวิจารณ์ที่เข้ามาสู่หูผมมากขึ้นๆ ทุกวันว่า ผมเป็นพวกบ้าทฤษฎี พวกบ้าศัพท์แสง พวกบ้าวิพากษ์ และพวกคลั่งตะวันตก ซึ่งผมก็น้อมรับด้วยความยินดี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 พึงสำเหนียกว่า กษัตริย์ไม่ใช่พ่อ เป็นเพียง "สมมุติพ่อ" ที่สังคมไทยอุปโลกน์ขึ้นมา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แต่ละคนคงมีตำนานส่วนตัวของตนเอง ที่สะสมความทรงจำซึ่งมักออกจะเดินจริงไปสักหน่อย แม้เมื่อมาพบกับสถานที่ บุคคล หรือแม้แต่รสสัมผัส ในที่นี้คืออาหาร ในตำนานเข้าจริงๆ อีกสักครั้ง แล้วจะรู้สึกว่าความอลังการของบุคคลและวัตถุในตำนานจะถดถอยค่าลงบ้าง ก็ยังไม่ถึงกับจะทำให้ภาพงดงสมในตำนานเลือนหายไปได้ง่ายๆ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 เดินทางมาสัมมนาที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ท่าศาลา นครศรีธรรมราช ในงาน "สัมมนาวิชาการ การศึกษาสู่อาเซียน: มิติด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์" มาเที่ยวนี้มาเป็นวิทยากรเสนอเรื่องที่เคยเสนอไปหลายเวทีแล้ว แต่เป็นความคิดที่ผมยังพัฒนาไม่เต็มอิ่มดี ยิ่งนำเสนอก็ยิ่งเห็นมุมมองใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในวาระที่ประเทศไทยกำลังจะมีแผนแม่บทพัฒนาส้วมสาธารณะไทย ระยะที่ 3 (พ.ศ.2556-2559) (ตามข่าว) จึงขอนำวิดีโอ แสดงทัศนะของนักปรัชญาชื่อดังแห่งปลายศตวรรษที่ 20 ถึงต้นศตวรรษที่ 21 นาม สลาวอย ชีเชก (Slavoj Zizek) มาเพื่อให้แลกเปลี่ยนทำความเข้าใจกันว่า ทำไมส้วมจึงสำคัญนักหนา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (15 กพ.) ตามดูสามสาวดีว่าส์ คาเฟ่แสดงความเห็นกรณีปฏิทินนกแอร์ แล้วนึกถึงข้อวิจารณ์ที่คนอเมริกันบางคนมีต่อ Beyoncé ในการแสดงคั่นครึ่งเวลาซุปเปอร์โบว์ปีที่ผ่านมา คนวิจารณ์ Beyoncé ว่าทำตัวเป็นวัตถุทางเพศ แต่มีนักสังคมวิทยาอเมริกันเถียงว่า เธอใช้ความสามารถแสดงออก แม้จะอย่างยั่วยวน ก็ไม่ได้แปลว่าเธอกลายเป็นวัตถุทางเพศ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 วันวาเลนไทน์ในแบบที่เข้าใจกันทุกวันนี้ กลายเป็นทั้งวัฒนธรรมโลกและวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่ผ่านมาผมก็ไม่เคยคิดกับมันหรอก แต่เมื่อคุณคำ ผกาชวนไปพูดคุยเรื่ิงความรักในรายการดีว่าส์ คาเฟ่ เมื่อวันที่ 14 กพ. ผมก็ตอบตกลงอย่างไม่ลังเล ก็มันน่าตื่นเต้นน้อยเสียเมื่อไหร่ ที่จะได้ออกรายการสดกับสามสาวแสนฉลาดและรวยเสน่ห์ แต่จากที่เขาชวนคุยเรื่องรักใคร่ ไปๆ มาๆ ก็กลับวกไปกลายเป็นเรื่องรัฐเร่่ืองไพร่เสียได้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 พอดีเมื่อสักครู่เพิ่งเห็นภาพภาพหนึ่ง เป็นภาพซอกตึกเมืองเล็กๆ ที่ไหนสักแห่ง มีคำบรรยายภาพว่า “Put down that map and get wonderfully lost.” “วางแผนที่นั่นเสียเถอะ แล้วหลงทางให้อัศจรรย์ใจ” ก็เลยคิดเรื่อยเปื่อยถึงความหมายของการหลงทาง