Skip to main content

ตั้งแต่ที่ผมรู้จักงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์มา มีปีนี้เองที่ผมคิดว่ากิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่มีความหมาย

ชื่อธรรมศาสตร์กับอุดมการณ์ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ผมรู้มาตั้งแต่จำความได้ เพราะเติบโตในกรุงเทพฯ มีความทรงจำลางเลือนวัยเด็กเกี่ยวกับความรุนแรงทางการเมืองกลางพระนคร และคนรอบตัวในครอบครัวก็สนใจการเมืองกันมาตลอด ส่วนหนึ่งที่เลือกเรียนธรรมศาสตร์ก็เพราะมีฮีโร่หลายคนที่นั่น 

ผมเข้าเรียนธรรมศาสตร์ปี 2529 รู้จักงานฟุตบอลประเพณีฯ (สมัยนั้นเด็กธรรมศาสตร์จะเรียกว่า "งานบอลฯ") มาตั้งแต่ตอนเรียนมัธยม แต่ไม่ว่าจะก่อนหรือเมื่อเข้ามาเรียนแล้ว ผมก็ไม่เคยไปงานบอลฯ เลยแม้แต่ครั้งเดียว ผมออกจะต่อต้านด้วยซ้ำ ผมเข้ามหาวิทยาลัยก่อนเพื่อนๆ มัธยมส่วนใหญ่ เมื่อกลับไปเที่ยวที่โรงเรียนช่วงงานบอลฯ เพื่อนคนไหนฝากซื้อเสื้อเชียร์งานบอลฯ ผมก็จะถามกลับไปว่า "มึงจะซื้อไปทำไม ในตู้เสื้อผ้ามึงไม่มีเสื้อผ้าจะใส่แล้วเหรอ" ไม่ใช่ว่าเพราะผมจะกีดกันพวกมัน แต่เพราะผมรังเกียจงานบอลฯ แล้วผมก็ไม่เคยซื้อเสื้อเชียร์งานบอลฯ สักตัวเดียว 

ทำไมผมถึงรังเกียจงานบอลฯ ผมคิดว่างานบอลฯ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อการส่งเสริมการเล่นกีฬา หรือเพื่อผ่อนคลายจากการเรียน แต่งานบอลฯ แฝงไว้ด้วยการส่งเสริมคุณค่าระบบสถาบันนิยม คือเชิดชูจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ ให้ดูเป็นสถาบันการศึกษาที่สำคัญ ยิ่งใหญ่ ไม่แข่งกับใครแต่แข่งกันเองเท่านั้น แล้วยังมีพื้นที่การแสดงออกทางการเมืองด้วยพาเหรดล้อการเมือง ซึ่งผมก็มองว่าเป็นแค่น้ำจิ้ม ทำไปอย่างนั้นเองเพื่อให้ดูว่าปัญญาชนมีอะไรเสนอกับสังคม แต่ไม่ได้เป็นสาระอะไรมากมาย 

แถมงานบอลฯ ยังเป็นการส่งเสริมระบบอาวุโส ระบบรุ่นพี่รุ่นน้อง เพราะจะต้องมีการซ้อมเชียร์ ไป "ขึ้นสแตน" ซ้อมแปรอักษร การฝึกความพร้อมเพรียงเหล่านี้ใช้ระบบเดียวกับทหาร ใช้การฝึกวินัยและการเชื่อฟังคำสั่งอย่างเด็ดขาด แต่ผมเห็นว่าความเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องในมหาวิทยาลัยเป็นสิ่งที่ไม่ได้ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ มีแต่จะยิ่งเสริมความเป็นสถาบัน และลดทอดการแลกเปลี่ยนโต้เถียงกันด้วยสติปัญญา ผมจึงไม่เคยเข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้เลยแม้แต่ครั้งเดียว 

งานบอลฯ ยังเป็นงานที่สะท้อนสังคมสายลมแสงแดด กิจกรรมเชียร์ลีดเดอร์เป็นกิจกรรมของความฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อ เหมือนจำลองสังคมของการสร้างเซเล็บ สร้างชนชั้นขึ้นมาจากหน้าตาบุคคลิกของเชียร์ลีดเดอร์ มีการประกวดเชียร์ลีดเดอร์ มีสังคมฟุ้งเฟ้อของเชียร์ลีดเดอร์ การเป็นเชีบร์ลีดเดอร์งานบอลฯ กลายเป็นความใฝ่ฝันของหนุ่มสาว ผมจึงคิดว่ากิจกรรมนี้กลับไปส่งเสริมการวัดคนที่หน้าตาท่าทาง มากกว่าความรู้ความคิด เป็นกิจกรรมที่ไม่ส่งเสริมการศึกษา เสมือนจัดการประกวดความงามและสร้างชนชั้นเซเล็บขึ้นมา 

ในธรรมศาสตร์ มีการถกเถียงกันประปรายบ้างหรือบางปีก็เป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โตบ้าง ว่าเราควรจัดงานบอลฯ กันต่อไปหรือเปล่า อย่างช่วงที่ผมเรียนปริญญาตรีอยู่ มีปีหนึ่งจัดกิจกรรมเพื่อให้นักศึกษาและอาจารย์ฝ่ายสนับสนุนกับฝ่ายที่คัดค้านงานบอลฯ มาถกเถียงกันกันถึงประโยชน์กับโทษจากงานบอลฯ ปีนั้นอาจารย์นักพูดชื่อดังที่มีบุคคลิกเฉพาะตัวคนหนึ่งหลังๆ มาท่านใส่เสื้อสีเหลืองก็สละเวลามาร่วมเวทีด้วย แน่นอนว่าท่านเป็นฝ่ายสนับสนุนงานบอลฯ แต่ก็นับว่าช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนกันอย่างคึกคักทีเดียว หลังๆ มาผมไม่ทราบว่านักศึกษาจัดกิจกรรมลักษณะนี้กันบ้างหรือไม่  

สำหรับผม การที่นักศึกษาธรรมศาสตร์ปีนี้พร้อมเพรียงกันแสดงออกทางการเมืองในลักษณะส่งเสริมประชาธิปไตย แสดงให้เห็นถึงอะไรหลายๆ อย่างที่ผมมองข้ามไป ที่ว่าพร้อมเพรียงคือ ไม่ใช่เฉพาะขบวนล้อเลียนการเมือง ซึ่งต้องฝ่าฟันอุปสรรคอย่างชัดเจนจนกระทั่งมีการงานแผนล่วงหน้าในการตบตาทหารตำรวจมาอย่างดี แต่ที่น่าทึ่งมากเข้าไปอีกคือการแปรอักษรบนอัฒจรรย์ ที่แสดงความเห็นทางการเมืองอย่างชัดเจน กิจกรรมนี้ต้องอาศัยความร่วมมืออย่างพร้อมเพรียง ต้องมีการซักซ้อมกันมาก่อน และต้องอาศัยการประสานงานกันหลายฝ่าย แสดงว่าความเห็นของพวกเขาต้องตกผลึกกันมานานพอสมควร  

ที่ว่ามองข้ามไปคือ การปลูกฝังความคิดทางการเมืองอย่างต่อเนื่องอาจมีส่วนทำให้อุดมการณ์เหล่านั้นแทรกซึมเข้าไปในความรูสึกนึกคิดของนักศึกษาได้ แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือ การรู้สำนึกจนกระทั่งกล้าแสดงออกมาอย่างพร้อมเพรียงกันนี้ แสดงให้เห็นว่านักศึกษารับรู้ถึงผลกระทบของอำนาจเผด็จการที่กำลังทำงานเหนือพวกเขาขึ้นมาบ้างแล้ว พวกเขาคงเริ่มตระหนักว่าวันข้างหน้าเสียงของพวกเขาจะไม่ถูกรับฟัง พวกเขาคงเริ่มตระหนักบ้างแล้วว่า ความรู้ของพวกเขาจะไม่มีประโยชน์เลยหากต้องอยู่ในระบบที่ปิดกั้นการแสดงความเห็น พวกเขาคงเริ่มไม่ไว้ใจระบอบที่เป็นอยู่แล้วเริ่มสงสัยมากขึ้น และวันนี้พวกเขาคงได้รู้บ้างแล้วว่า เพียงแค่การขยับตัวแบบขำๆ ของพวกเขา ก็ยังแทบจะทำไม่ได้ ยังกลายเป็นอาญาแผ่นดิน 

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่านักศึกษาธรรมศาสตร์ปีนี้ร่วมมือร่วมใจกันประกาศว่าพวกเขาต้องการประชาธิปไตย พวกเขาเห็นว่าระบอบที่เป็นอยู่ไม่ใช่ประชาธิปไตย พวกเขาเรียกร้องให้คืนอำนาจให้ประชาชน และเหนือสิ่งอื่นใดคือ พวกเขาพร้อมเพรียงกันแสดงความกล้าหาญที่จะท้าทายอำนาจเผด็จการ นี่คือการแสดงออกอย่างสงบ อย่างที่ปัญญาชนพึงและพอที่จะกระทำได้ มากกว่านี้คืออะไรแล้วผลจะเป็นอย่างไร หวังว่าผู้มีอำนาจจะสำเหนียกและไม่ต้องรอให้ถึงวันนั้น

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
มีเพื่อนคนหนึ่งตั้งประเด็นว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้า มหาวิทยาลัยไทยในหลายจังหวัดว่าจะพัฒนาไปไกลกว่ามหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะทางด้าน "สังคมศาสตร์" ผมก็เลยคิดอะไรขึ้นมาได้หลายอย่าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมอ่านเรื่องการขายข้าวของ บก.ลายจุด ไปขัดใจคนอีกฝั่งหนึ่งแล้ว ทีแรกก็ไม่ค่อยอยากสนใจนัก เพราะ บก.ลายจุด ขยับทำอะไรที ฝ่ายนั้นก็คอยจ้องโจมตีเรื่อยไปจนน่าเบื่อไปแล้ว แต่พอเสธ.ไก่อูมาสนใจการขายข้าวของ บก.ลายจุด ผมว่า อ้อ อย่างนี้นี่เอง ทำไมการขายข้าวของ บก.ลายจุด จึงน่าสนใจขึ้นมาได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นโจมตีกระแนะกระแหนส่วนหนึ่งของความเห็นผมกันยกใหญ่ แต่ผมว่าก็ดีนะ มันชี้ขีดจำกัดของความคิดคนดี ก็ไม่ใช่ว่าผมจะพูดถูกหมดหรือพูดครบถ้วนหมดจดหรอก เพียงแต่มีข้อแย้งกับข้อโต้แย้งเหล่านั้นได้มากเช่นกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สิทธิมนุษยชนเป็นแนวคิดที่มีรากฐานอยู่ในประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมืองไทยมาเนิ่นนาน น่าจะนานไม่น้อยไปกว่าแนวคิดประชาธิปไตย หากแต่น่าสงสัยว่า ทำไมแนวคิดนี้จึงยังไม่เป็นที่เข้าใจกันเสียที 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายวันมานี้ มีนักคิดหลายๆ คนเสนอวิธีทำความเข้าใจสังคมไทยใหม่ๆ มากมาย หลายคนพยายามไม่ตัดสินว่านี่คือการถอยหลังหรือย้อนรอยกลับไปในอดีต เพราะนักศึกษาประวัติศาสตร์สังคมย่อมทราบดีว่า สังคมเปลี่ยนแปลงเสมอ และในเมื่อเงื่อนไขเปลี่ยนไป เราจะเข้าใจสังคมปัจจุบันอย่างไร ผมคนหนึ่งล่ะที่พยายามไม่คิดว่านี่เป็นการ "ถอยหลัง" หรือซ้ำรอยอดีตอย่าง deja vu 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรื่องไม่เป็นเรื่องบางครั้งก็ชวนให้น่ารำคาญ ทำให้ต้องมาคอยอารัมภบทออกตัวมากมาย ทั้งๆ ที่ไม่จำเป็น 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมโชคดีที่มีโอกาสได้รับเชิญไปร่วมประชุมวิชาการด้านสิทธิมนุษยชนที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเมื่อวันศุกร์สัปดาห์ก่อน ทั้งหมดเป็นประสบการณ์แปลกใหม่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แนวโน้มของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แสดงให้เห็นทิศทางที่ชัดเจนขึ้นว่า จะเป็นรัฐธรรมนูญที่ลดอำนาจของประชาชนลง แนวโน้มนี้ไม่ได้เหนือความคาดหมายของผู้เฝ้าติดตามการเมืองไทยในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีกระบวนการต่อเนื่องของการทำลายประชาธิปไตยในประเทศไทย จนกระทั่งเมื่อการเลือกตั้งทั่วไปปี 2557 ที่เกิดปรากฏการณ์ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย นั่นคือการชุมนุมทางการเมืองและใช้กำลังรุนแรงของมวลชนเข้าไปปิดล้อมทำลายการเลือกตั้ง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่จำเป็นต้องสาธยายคุณูปการของอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลต่อสังคมไทย หากคุณไม่เห็นคุณูปการของอาจารย์สมศักดิ์ คุณก็คือคนที่ไม่เข้าใจว่าตนเองกำลังกรอกยาฝิ่นใส่ปากตัวเอง แล้วเมายาอยู่จนหลงคิดไปว่ากำลังดื่มโอสถบำรุงกำลัง หากคุณไม่คิดอย่างนั้น ก็ไม่ต้องอ่านต่อไปแล้วไม่ต้องมาพยายามเถียงกับผมให้เสียเวลาเปลืองอารมณ์ที่จะต้องคุยกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันศุกร์ที่ผ่านมา (20 กพ. 58) ผมไปร่วมกิจกรรม 4 กิจกรรมด้วยกัน ทั้งหมดเกี่ยวกันบ้าง ไม่เกี่ยวกันบ้าง แต่อยากเล่าให้ฟังว่ามันชวนคิดและชวนตกใจมากทีเดียว 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อเห็นข่าวว่ามีการพูดถึงคนไทยมาจากเขาอัลไตกันขึ้นมาอีก ผมก็ระลึกขึ้นมาทันทีว่า เรื่องนี้ได้ข้อตกลงกันไปชัดเจนนานแล้วนี่นาว่า เป็นความรู้ที่ผิดพลาด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
รัฐบาลทหารไม่อยากให้ถูกเรียกว่าตนเองเป็นเผด็จการ เพราะยอมรับความจริงไม่ได้ว่า ที่ตนเป็นอยู่นั้นเป็นเผด็จการ เหมือนโจรที่ไม่อยากถูกเรียกว่าโ