Skip to main content

ตั้งแต่ที่ผมรู้จักงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์มา มีปีนี้เองที่ผมคิดว่ากิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่มีความหมาย

ชื่อธรรมศาสตร์กับอุดมการณ์ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ผมรู้มาตั้งแต่จำความได้ เพราะเติบโตในกรุงเทพฯ มีความทรงจำลางเลือนวัยเด็กเกี่ยวกับความรุนแรงทางการเมืองกลางพระนคร และคนรอบตัวในครอบครัวก็สนใจการเมืองกันมาตลอด ส่วนหนึ่งที่เลือกเรียนธรรมศาสตร์ก็เพราะมีฮีโร่หลายคนที่นั่น 

ผมเข้าเรียนธรรมศาสตร์ปี 2529 รู้จักงานฟุตบอลประเพณีฯ (สมัยนั้นเด็กธรรมศาสตร์จะเรียกว่า "งานบอลฯ") มาตั้งแต่ตอนเรียนมัธยม แต่ไม่ว่าจะก่อนหรือเมื่อเข้ามาเรียนแล้ว ผมก็ไม่เคยไปงานบอลฯ เลยแม้แต่ครั้งเดียว ผมออกจะต่อต้านด้วยซ้ำ ผมเข้ามหาวิทยาลัยก่อนเพื่อนๆ มัธยมส่วนใหญ่ เมื่อกลับไปเที่ยวที่โรงเรียนช่วงงานบอลฯ เพื่อนคนไหนฝากซื้อเสื้อเชียร์งานบอลฯ ผมก็จะถามกลับไปว่า "มึงจะซื้อไปทำไม ในตู้เสื้อผ้ามึงไม่มีเสื้อผ้าจะใส่แล้วเหรอ" ไม่ใช่ว่าเพราะผมจะกีดกันพวกมัน แต่เพราะผมรังเกียจงานบอลฯ แล้วผมก็ไม่เคยซื้อเสื้อเชียร์งานบอลฯ สักตัวเดียว 

ทำไมผมถึงรังเกียจงานบอลฯ ผมคิดว่างานบอลฯ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อการส่งเสริมการเล่นกีฬา หรือเพื่อผ่อนคลายจากการเรียน แต่งานบอลฯ แฝงไว้ด้วยการส่งเสริมคุณค่าระบบสถาบันนิยม คือเชิดชูจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ ให้ดูเป็นสถาบันการศึกษาที่สำคัญ ยิ่งใหญ่ ไม่แข่งกับใครแต่แข่งกันเองเท่านั้น แล้วยังมีพื้นที่การแสดงออกทางการเมืองด้วยพาเหรดล้อการเมือง ซึ่งผมก็มองว่าเป็นแค่น้ำจิ้ม ทำไปอย่างนั้นเองเพื่อให้ดูว่าปัญญาชนมีอะไรเสนอกับสังคม แต่ไม่ได้เป็นสาระอะไรมากมาย 

แถมงานบอลฯ ยังเป็นการส่งเสริมระบบอาวุโส ระบบรุ่นพี่รุ่นน้อง เพราะจะต้องมีการซ้อมเชียร์ ไป "ขึ้นสแตน" ซ้อมแปรอักษร การฝึกความพร้อมเพรียงเหล่านี้ใช้ระบบเดียวกับทหาร ใช้การฝึกวินัยและการเชื่อฟังคำสั่งอย่างเด็ดขาด แต่ผมเห็นว่าความเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องในมหาวิทยาลัยเป็นสิ่งที่ไม่ได้ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ มีแต่จะยิ่งเสริมความเป็นสถาบัน และลดทอดการแลกเปลี่ยนโต้เถียงกันด้วยสติปัญญา ผมจึงไม่เคยเข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้เลยแม้แต่ครั้งเดียว 

งานบอลฯ ยังเป็นงานที่สะท้อนสังคมสายลมแสงแดด กิจกรรมเชียร์ลีดเดอร์เป็นกิจกรรมของความฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อ เหมือนจำลองสังคมของการสร้างเซเล็บ สร้างชนชั้นขึ้นมาจากหน้าตาบุคคลิกของเชียร์ลีดเดอร์ มีการประกวดเชียร์ลีดเดอร์ มีสังคมฟุ้งเฟ้อของเชียร์ลีดเดอร์ การเป็นเชีบร์ลีดเดอร์งานบอลฯ กลายเป็นความใฝ่ฝันของหนุ่มสาว ผมจึงคิดว่ากิจกรรมนี้กลับไปส่งเสริมการวัดคนที่หน้าตาท่าทาง มากกว่าความรู้ความคิด เป็นกิจกรรมที่ไม่ส่งเสริมการศึกษา เสมือนจัดการประกวดความงามและสร้างชนชั้นเซเล็บขึ้นมา 

ในธรรมศาสตร์ มีการถกเถียงกันประปรายบ้างหรือบางปีก็เป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โตบ้าง ว่าเราควรจัดงานบอลฯ กันต่อไปหรือเปล่า อย่างช่วงที่ผมเรียนปริญญาตรีอยู่ มีปีหนึ่งจัดกิจกรรมเพื่อให้นักศึกษาและอาจารย์ฝ่ายสนับสนุนกับฝ่ายที่คัดค้านงานบอลฯ มาถกเถียงกันกันถึงประโยชน์กับโทษจากงานบอลฯ ปีนั้นอาจารย์นักพูดชื่อดังที่มีบุคคลิกเฉพาะตัวคนหนึ่งหลังๆ มาท่านใส่เสื้อสีเหลืองก็สละเวลามาร่วมเวทีด้วย แน่นอนว่าท่านเป็นฝ่ายสนับสนุนงานบอลฯ แต่ก็นับว่าช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนกันอย่างคึกคักทีเดียว หลังๆ มาผมไม่ทราบว่านักศึกษาจัดกิจกรรมลักษณะนี้กันบ้างหรือไม่  

สำหรับผม การที่นักศึกษาธรรมศาสตร์ปีนี้พร้อมเพรียงกันแสดงออกทางการเมืองในลักษณะส่งเสริมประชาธิปไตย แสดงให้เห็นถึงอะไรหลายๆ อย่างที่ผมมองข้ามไป ที่ว่าพร้อมเพรียงคือ ไม่ใช่เฉพาะขบวนล้อเลียนการเมือง ซึ่งต้องฝ่าฟันอุปสรรคอย่างชัดเจนจนกระทั่งมีการงานแผนล่วงหน้าในการตบตาทหารตำรวจมาอย่างดี แต่ที่น่าทึ่งมากเข้าไปอีกคือการแปรอักษรบนอัฒจรรย์ ที่แสดงความเห็นทางการเมืองอย่างชัดเจน กิจกรรมนี้ต้องอาศัยความร่วมมืออย่างพร้อมเพรียง ต้องมีการซักซ้อมกันมาก่อน และต้องอาศัยการประสานงานกันหลายฝ่าย แสดงว่าความเห็นของพวกเขาต้องตกผลึกกันมานานพอสมควร  

ที่ว่ามองข้ามไปคือ การปลูกฝังความคิดทางการเมืองอย่างต่อเนื่องอาจมีส่วนทำให้อุดมการณ์เหล่านั้นแทรกซึมเข้าไปในความรูสึกนึกคิดของนักศึกษาได้ แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือ การรู้สำนึกจนกระทั่งกล้าแสดงออกมาอย่างพร้อมเพรียงกันนี้ แสดงให้เห็นว่านักศึกษารับรู้ถึงผลกระทบของอำนาจเผด็จการที่กำลังทำงานเหนือพวกเขาขึ้นมาบ้างแล้ว พวกเขาคงเริ่มตระหนักว่าวันข้างหน้าเสียงของพวกเขาจะไม่ถูกรับฟัง พวกเขาคงเริ่มตระหนักบ้างแล้วว่า ความรู้ของพวกเขาจะไม่มีประโยชน์เลยหากต้องอยู่ในระบบที่ปิดกั้นการแสดงความเห็น พวกเขาคงเริ่มไม่ไว้ใจระบอบที่เป็นอยู่แล้วเริ่มสงสัยมากขึ้น และวันนี้พวกเขาคงได้รู้บ้างแล้วว่า เพียงแค่การขยับตัวแบบขำๆ ของพวกเขา ก็ยังแทบจะทำไม่ได้ ยังกลายเป็นอาญาแผ่นดิน 

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่านักศึกษาธรรมศาสตร์ปีนี้ร่วมมือร่วมใจกันประกาศว่าพวกเขาต้องการประชาธิปไตย พวกเขาเห็นว่าระบอบที่เป็นอยู่ไม่ใช่ประชาธิปไตย พวกเขาเรียกร้องให้คืนอำนาจให้ประชาชน และเหนือสิ่งอื่นใดคือ พวกเขาพร้อมเพรียงกันแสดงความกล้าหาญที่จะท้าทายอำนาจเผด็จการ นี่คือการแสดงออกอย่างสงบ อย่างที่ปัญญาชนพึงและพอที่จะกระทำได้ มากกว่านี้คืออะไรแล้วผลจะเป็นอย่างไร หวังว่าผู้มีอำนาจจะสำเหนียกและไม่ต้องรอให้ถึงวันนั้น

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำสำคัญ: sensory subjectivity, sensory categories, sensory bias, sensory ethnocentrism, sensory colonization (อธิบายไว้ท้ายข้อเขียน) คนทำเรื่องอาหารข้ามถิ่น ไม่ต่างจากการทำงานทางมานุษยวิทยา ที่ต้องตระหนักถึงการ ไม่นำเอา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ถ้าคุณไม่สามารถเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้แล้ว ก็โปรดอย่าถ่วงรั้งการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่เลย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปาฐกถาในเวทีเสวนา “50 ปี 14 ตุลาฯ ยังตามหารัฐธรรมนูญใหม่” จัดโดยสมัชชาคนจน วันที่ 14 ตุลาคม 2566
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จนถึงวันนี้ การต่อสู้ของประชาชนในขบวนการ “คณะราษฎร 63” ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พลังของแสงดาวได้สร้างสรรค์สังคมไทยอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกมาแสดงความเห็นว่ามีการสร้างกระแสกดดันศาลต่างๆ นานา (ดู https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2081366) มองในแง่ดี ผมคิดว่านี่คือการออกมาอธิบายกับสังคมอีกครั้งของผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดแจ้ง หลังจากที่มีการชี้แจงถึงเหตุผลการไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองโดยโฆษกศาลและโฆษกกระทรวงยุติธรรมก่อนหน้านี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อะไรที่ทำให้ดนตรีมีสถานะในการทำร้ายกันได้บ้าง ผมว่าอย่างน้อยที่สุดต้องเข้าใจก่อนว่า ดนตรีไม่ใช่แค่เสียง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พอดีนั่งฟังเพื่อนนักวิชาการอ่านหนังสือ "กบฏชาวนา" ของรานาจิต คูฮา (1982) มาคุยให้ฟัง (แปลโดย ปรีดี หงษ์สต้น) ในเพจของสำนักพิมพ์ Illumination Editions เลยคิดถึงบันทึกที่เคยเขียนถึงหนังสือของ ดิเพช จักรบาร์ตี เรื่อง Provincializing Europe (2000)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรื่อง ถามถึงมโนธรรมสำนึกในความเป็นครูบาอาจารย์ของอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์