Skip to main content

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หลายคนคงเป็นแบบผม คือพยายามข่มอารมณ์ฝ่าฟันการสบถของท่านผู้นำ 

พระท่านว่า "แมวร้องอย่าร้องตอบ" และดังนั้น เมื่อผู้นำสบถ ก็ควรทำความเข้าใจการสบถดีกว่าสบถตอบ นอกจากนั้น ช่วงเดือนที่ผ่านมายังมีข่าวเกี่ยวกับคำพูดกับปฏิกิริยาของผู้คนอยู่บ่อยๆ จนชวนให้คิดว่า โลกปัจจุบันนี้ทำไมผู้คนจึงอ่อนไหวกับคำพูดกันนัก และเมื่อได้เห็นปฏิกิริยารุนแรงต่อการใช้คำพูดแล้ว ก็ชวนให้น่าสงสัยต่อว่า ทำไมการใช้คำพูดบางกรณีสังคมจึงรับได้ บางกรณีสังคมก็รับไม่ได้ หรือบางกรณีสังคมทำได้เพียงต้องทนๆ ฟังไป

บางคนอาจจะใช้สำนวน "สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุล" เพื่อตำหนิผู้นำบางประเทศ แต่สำนวนนี้ก็ไม่ค่อยยุติธรรมนัก เพราะปกติสำนวนนี้เป็นสำนวนที่คนชนชั้นสูงเอาไว้ใช้ดูถูกคนชนชั้นล่าง ด้วยการตัดสินกันที่เพียงสำเนียงภาษาและกิริยาท่าทางที่แตกต่างจากพวกตน ทั้งๆ ที่หากพิจารณาดีๆ แล้ว ไม่ใช่ชนชั้นหรือสกุลรุนช่องอะไรหรอกที่กำหนดเบื้องหลังการพูดและการกระทำ หากแต่เป็นลักษณะนิสัยส่วนตัวและพื้นฐานทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกันมากกว่า และอันที่จริง เงื่อนไขที่ยุ่งยากมากกว่านั้นก็คือ การตัดสินกันด้วยคำพูดและกิริยาประกอบคำพูดนั้น มีความซับซ้อนทางสังคมอยู่ไม่น้อยทีเดียว  

หากคิดย้อนกลับไปถึงความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับภาษา มีคำสอนหนึ่งที่นิยมกล่าวกันว่า "ภาษาคือสื่อกลางของความหมาย" แต่คำสอนนี้ก็เป็นคำสอนที่แสดงความเข้าใจธรรมชาติของภาษาอย่างง่ายๆ เกินไปสักหน่อย คำสอนนี้สะท้อนความคิดที่แยกภาษาออกจากการใช้งานจริงในสังคม และยังดูเบาน้ำหนักของการกระทำของภาษา ราวกับว่าใครจะพูดอะไรก็ได้ขอให้สามารถสื่อสารได้เป็นพอ ทั้งๆ ที่เอาเข้าจริงๆ แล้ว การที่เราจะพูดอะไรยังต้องดูที่เจตนาของการพูดที่มากไปกว่าถ้อยคำที่แสดงออกมา  

การเลือกคำ การประกอบประโยค ล้วนขึ้นกับว่าเรากำลังพูดให้ใครฟัง พูดแล้วหวังผลอะไรจากการพูด นอกจากเพื่อบอกเล่าสารแล้ว หลายต่อหลายครั้งที่คำพูดยังเป็นคำสั่ง เป็นสัญญา เป็นการขอร้อง รวมทั้งเป็นการดูหมิ่นดูแคลนกัน

คําพูดจึงไม่ได้ทำหน้าที่เพียง "สื่อสาร" คำพูดไม่ได้เป็นตัวกลางที่โปร่งใสตรงไปตรงมา แม้ว่าผู้พูดต้องการจะควบคุมให้ภาษาเป็นกลางตรงไปตรงมาอย่างไร ผู้พูดก็ยังต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมที่แท้จริงของการพูด ว่ากำลังจะพูดกับใคร พูดที่ไหน พูดเพื่อวัตถุประสงค์อะไร และดังนั้นภาษาจึงกระทำการมากกว่าเพียงสื่อสารตามความหมายในตัวภาษาเอง แต่ภาษายังมีอำนาจ ถ้อยคำบางถ้อยคำจึงกลายเป็นคาถาศักดิ์สิทธิ์ ถ้อยคำบางคำจึงกลายเป็นคำดูถูกเหยียดหยาม หากคำพูดมีหน้าที่เพียงสื่อความแล้ว คำพูดคงไม่ทำให้คนฟังเจ็บช้ำน้ำใจจนกระทั่งลุกขึ้นมาฆ่าคนพูดเพียงเพราะด้วยการเอ่ยคำพูดโดยไม่ได้ลงไม้ลงมือทำอะไรมากไปกว่านั้นได้คำพูดจึงก่อกรรมหรือส่งผลต่อการกระทำได้ไม่น้อยไปกว่าการกระทำอื่นๆปฏิกิริยาต่อคำพูดจึงมีความรุนแรงได้ไม่แพ้ปฏิกิริยาต่อการกระทำ เพราะคำพูดก็คือการกระทำด้วยนั่นเอง  

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือเหตุการณ์การสังหารนักเขียนการ์ตูนและผู้เคราะห์ร้าย 12 คนในกรณีนิตยสารล้อเลียนในฝรั่งเศสชื่อ "ชาร์ลี เอบโด" (Charlie Hebdo) กรณีนี้แสดงให้เห็นถึงพลังของการกระทำของคำพูดได้อย่างชัดเจน แม้ว่าจะเป็นการพูดด้วยภาษาภาพ คือการ์ตูนล้อเลียน แต่นั่นก็เป็นการพูดแบบหนึ่งเช่นกัน

หลายคนอาจไม่รู้ข้อเท็จจริงว่าคนที่ถูกสังหารทั้ง 12 คนนั้น ไม่ใช่ทุกคนที่เขียนการ์ตูนล้อเลียนศาสนา บางคนเขียนการ์ตูนต่อต้านความรุนแรงเป็นหลัก แต่ก็กลับถูกสังหารไปด้วย และดังนั้นจึงเกิดการรณรงค์ "เราคือชาร์ลี" ความหมายก็คือเราทุกคนมีสิทธิที่จะแสดงความเห็นแม้จะด้วยการใช้คำพูดล้อเลียนก็ตาม อย่าฆ่าเราด้วยการแสดงความเห็นที่แตกต่างกัน แต่ที่น่าเสียดายคือ มีนักสันติวิธีบางคนเผลอให้ความเห็นที่ชวนให้คิดไปได้ว่า "การล้อเลียนคุณค่าสูงส่งแบบชาร์ลี เอบโด ไม่สมควรได้รับการปกป้องสิทธิการพูด และเราก็ไม่เห็นต้องรณรงค์ว่า ′เราเป็นชาร์ลี′"  

น่าเสียดายที่นักเขียนการ์ตูนต่อต้านความรุนแรงประจำนิตยสารชาร์ลี เอบโด คนหนึ่งต้องตายไปเสียก่อนที่จะมีโอกาสอธิบายให้นักสันติวิธีอีกคนนั้นเข้าใจว่า ในสังคมที่สิทธิการพูดถูกละเมิดได้โดยง่ายนั้น สักวันหนึ่งคุณก็อาจจะต้องตายเพราะคุณถูกเหมารวมว่าพูดในสิ่งที่ตนเองไม่ได้พูดเช่นกัน

แต่เมื่อนำมาคิดตามหลักข้างต้นที่ว่าคำพูดเป็นการกระทำทางสังคมเรายังต้องพิจารณาต่อว่า คำพูดแบบไหนกันที่เมื่อพูดในสังคมไหนแล้วทำให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้กลับอย่างรุนแรงอย่างนั้น การถกเถียงถึงเส้นแบ่งระหว่าง "ถ้อยคำเหยียดคน" (hate speech) กับ "เสรีภาพในการพูด" (freedom of speech) และปฏิกิริยารุนแรงต่อถ้อยคำในลักษณะทั้งสองจึงเป็นข้อถกเถียงที่ยังไม่เพียงพอ เพราะต่อให้ยึดหลักเสรีภาพในการพูดแล้ว ก็ไม่ใช่ว่าทุกสังคมจะยอมรับเสรีภาพในการพูดอย่างเท่าเทียมกัน หรือในสังคมเดียวกัน ในต่างช่วงเวลากัน เสรีภาพในการแสดงออกก็อาจกลับหดแคบลงหรือบางทีก็ขยายกว้างออกไป แล้วแต่เรื่อง แล้วแต่สถานการณ์ได้เช่นกัน

ข้อนี้อาจจะดูได้จากคำด่า ข้อถกเถียงระหว่างถ้อยคำเหยียดคนกับเสรีภาพในการพูดมักจะอยู่ที่ว่า อะไรกันคือคำหยาบคาย แค่ไหนกันที่เราจะเรียกได้ว่าดูหมิ่นเหยียดหยาม ในทางกฎหมาย คงมีข้อยุติต่อนิยามความหมายพอสมควร แต่ผมก็ยังคิดว่า การเหยียดหยามกับเสรีภาพในการแสดงความเห็นเป็นทั้งเรื่องวัฒนธรรมและเรื่องอำนาจไปพร้อมๆ กัน เส้นแบ่งระหว่าง "การด่า" กับ "การวิจารณ์" ที่อาจจะใช้วิธีการล้อเลียนหรือการใช้ถ้อยคำเรียบเรียงอย่างเรียบร้อย จึงไม่ได้สามารถแบ่งแยกกันได้ง่ายๆ ด้วยการนิยามตามกรอบของความหมายในถ้อยคำภาษา เพราะคำวิจารณ์อย่างปราศจากอคติ ก็กลับจะกลายเป็นคำด่าหรือการดูหมิ่นไปได้หากคำวิจารณ์นั้นออกจากปากคนที่ไร้อำนาจแต่กลับลุกขึ้นมากล่าวความจริงพุ่งไปท้าทายอำนาจของผู้ถูกวิจารณ์

เช่นคำสบถในแต่ละสังคมนั้นมีพื้นฐานความหมายไม่เหมือนกัน ในสังคมไทย คำว่า "ควาย" มีความหมายในเชิงดูถูกเหยียดหยาม เพราะสังคมไทยใช้ควายเยี่ยงทาสและจึงมองว่าควายมีฐานะต่ำกว่า ไม่มีความคิดเป็นของตนเอง จึงมีสำนวนมากมายที่เหยียดหยามคนด้วยคำว่าควาย เช่น โง่เหมือนควาย สีซอให้ควายฟัง ถูกชักจูงง่ายเป็นวัวเป็นควาย การด่าในที่นี้จึงเป็นการแปลงสถานภาพของผู้ถูกด่า ให้อยู่ในฐานะทางสังคมต่ำกว่าผู้ด่า  

ส่วนในสังคมอเมริกัน คำว่า "f_ck you" กลายเป็นคำด่าได้เพราะ หนึ่ง เพราะสังคมอเมริกันเป็นสังคมชายเป็นใหญ่ สอง เนื่องจากกิริยานี้เป็นกิริยาของผู้กระทำ ดังนั้นการเป็นผู้กระทำกิริยานี้จึงเป็นผู้มีอำนาจเหนือผู้ถูกกระทำ นี่เป็นการแปลงผู้ถูกด่าให้อยู่ในฐานะต่ำกว่าอีกแบบหนึ่ง แต่เป็นแบบที่มีนัยในการเหยียดเพศ ไม่เหมือนคำด่า "ควาย" ในสังคมไทยที่ด่าด้วยนัยทางชนชั้น หากใครด่าฝรั่งว่า "ควาย" หรือจะแปลว่า "buffalo" ไปก็ไม่มีความหมาย หรือหากใครแปลคำด่าอเมริกันที่ว่าเป็นคำไทยตรงไปตรงมาว่า "ร่วมเพศคุณ" หรือแม้แต่จะบอกว่า "เ_ดมึง" ก็ยังไม่เป็นคำด่าได้อยู่ดี ภาษาไทยต้องเปลี่ยนกรรมเป็นบุพการีของผู้ถูกด่าจึงจะเป็นการด่าที่มีความหมาย หรืออีกนัยหนึ่งคือต้องเหยียดหยามกันด้วยฐานะสูงต่ำว่า "ฉันร่วมเพศกับบุพการีแก ฉันจึงมีฐานะสูงกว่าแก" ไม่ใช่แค่เหยียดเพศจึงจะมีความหมาย

เพียงแค่จะบอกว่าคำไหนเป็นคำหยาบในแต่ละสังคมก็ยากแล้ว แต่ในสังคมปัจจุบันยังมีความซับซ้อนในการตัดสินค่าของคำพูดมากกว่านั้นขึ้นไปอีก เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะ ในปัจจุบันเราไม่สามารถที่จะหาสังคมใดที่มีระบบคุณค่าชุดเดียว ที่คนในสังคมทั้งสังคมเห็นคล้อยตามกันไปหมดได้อีกต่อไป  

ดังนั้น การที่บางประเทศต้องการบังคับให้ทุกคนปิดหูปิดตาตนเองเกี่ยวกับผู้นำของประเทศตนเอง อย่าอยากรู้ อย่าอยากอ่าน อย่าอยากวิเคราะห์เกี่ยวกับผู้นำประเทศ แต่ให้เคารพนับถือบูชาอย่างสิ้นสงสัยเหมือนกับที่เราควรปฏิบัติกับศาสดาของศาสนานั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้อีกต่อไป หรือแม้แต่เรื่องราวทางศาสนาก็ถูกสงสัยมากขึ้นทุกที เพราะระบบคุณค่าของสังคมเปลี่ยนไปหรือไม่ก็มีการปะทะกันของคุณค่าหลายชนิดมากขึ้นทุกที  

ในบางสังคมเราจึงพบว่าการจะแยกแยะว่าคำพูดประเภทไหนเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยาม อาฆาตมาดร้าย เป็นเรื่องยุ่งยาก หรือบางคราวเป็นเรื่องที่ถูกบิดเบือนไปจนกระทั่งการพูดสะท้อนความจริงอย่างตรงไปตรงมาก็กลับกลายเป็นคำพูดดูหมิ่นไปได้เช่นในบางประเทศ การแสดงข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้มีอำนาจในประเทศนั้น แม้จะเพียงนำข้อเท็จจริงมาเล่าอย่างซื่อๆ ก็จะถูกตัดสินจำคุกสูงสุดถึง 15 ปีได้หรือการแสดงข้อเท็จจริงนั้นเองอาจถือว่าเป็นการดูหมิ่นผู้มีอำนาจได้ ส่วนในบางประเทศ แม้จะมีคนพูดจาอาฆาตมาดร้ายประมุขของบางประเทศอยู่จริง มีหลักฐานชัดเจน พวกเขาก็จะยังคงได้รับการยกเว้น เพราะพวกเขาไม่ใช่คนขับรถแท็กซี่ ไม่ใช่คนหาเช้ากินค่ำ ไม่ใช่นักศึกษาเพิ่งเรียนจบ แต่พวกเขาเป็นชนชั้นสูง เป็นนักการทูต หรือกรณีที่เราเห็นกันแทบจะเป็นประจำทุกวันนี้ในบางประเทศ ก็คือการที่ผู้นำประเทศสามารถพูดจาหยาบคาย แสดงกิริยาเหยียดหยามผู้คน เหยียดหยามผู้สื่อข่าวอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แต่ไม่เห็นมีนักสันติวิธีที่ไหนตักเตือนเขา เพราะเขาถือว่าตนมีอำนาจล้นฟ้า พูดอะไรคนก็ต้องฟัง

สรุปแล้ว ผมคิดว่า ที่จริงไม่ใช่เพียงแค่ว่าเราไม่สามารถตกลงกันได้ง่ายๆ ว่าเส้นแบ่งของคำเสรีภาพในการพูดกับการใช้ถ้อยคำเหยียดคนอยู่ตรงไหนเท่านั้น แต่ที่เรายอมรับคำพูดกันไม่ได้หรือมีปฏิกิริยาตอบโต้อย่างรุนแรงต่อคำพูดก็ต่อเมื่อความสัมพันธ์ทางอำนาจของผู้พูดกับผู้ฟังไม่เท่าเทียมกันมากกว่าดังนั้นในบางประเทศ ความผิดเกี่ยวกับการหมิ่นประมาทบางลักษณะจึงเป็นความผิดที่ไม่ได้มีบรรทัดฐานที่ระบุได้ชัดเจน หากแต่เป็นการพิจารณาว่าคำพูดนั้นพูดโดยใครต่างหาก  

ตัวคำพูดเองจึงไม่สำคัญเท่ากับว่าใครคือผู้พูดและพูดถึงเรื่องของใครต่างหาก

(ที่มา:มติชนรายวัน 10 ก.พ.2558)

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เดิมทีนักมานุษยวิทยาไม่จำเป็นต้องเก็บข้อมูลเอง แต่อาศัยข้อมูลจากนักชาติพันธุ์นิพนธ์ ที่ส่งข้อมูลจากสังคมห่างไกลทุกมุมโลก มาให้นักมานุษยวิทยา ณ ศูนย์กลางอำนาจของโลกวิเคราะห์ สร้างทฤษฎี