Skip to main content

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หลายคนคงเป็นแบบผม คือพยายามข่มอารมณ์ฝ่าฟันการสบถของท่านผู้นำ 

พระท่านว่า "แมวร้องอย่าร้องตอบ" และดังนั้น เมื่อผู้นำสบถ ก็ควรทำความเข้าใจการสบถดีกว่าสบถตอบ นอกจากนั้น ช่วงเดือนที่ผ่านมายังมีข่าวเกี่ยวกับคำพูดกับปฏิกิริยาของผู้คนอยู่บ่อยๆ จนชวนให้คิดว่า โลกปัจจุบันนี้ทำไมผู้คนจึงอ่อนไหวกับคำพูดกันนัก และเมื่อได้เห็นปฏิกิริยารุนแรงต่อการใช้คำพูดแล้ว ก็ชวนให้น่าสงสัยต่อว่า ทำไมการใช้คำพูดบางกรณีสังคมจึงรับได้ บางกรณีสังคมก็รับไม่ได้ หรือบางกรณีสังคมทำได้เพียงต้องทนๆ ฟังไป

บางคนอาจจะใช้สำนวน "สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุล" เพื่อตำหนิผู้นำบางประเทศ แต่สำนวนนี้ก็ไม่ค่อยยุติธรรมนัก เพราะปกติสำนวนนี้เป็นสำนวนที่คนชนชั้นสูงเอาไว้ใช้ดูถูกคนชนชั้นล่าง ด้วยการตัดสินกันที่เพียงสำเนียงภาษาและกิริยาท่าทางที่แตกต่างจากพวกตน ทั้งๆ ที่หากพิจารณาดีๆ แล้ว ไม่ใช่ชนชั้นหรือสกุลรุนช่องอะไรหรอกที่กำหนดเบื้องหลังการพูดและการกระทำ หากแต่เป็นลักษณะนิสัยส่วนตัวและพื้นฐานทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกันมากกว่า และอันที่จริง เงื่อนไขที่ยุ่งยากมากกว่านั้นก็คือ การตัดสินกันด้วยคำพูดและกิริยาประกอบคำพูดนั้น มีความซับซ้อนทางสังคมอยู่ไม่น้อยทีเดียว  

หากคิดย้อนกลับไปถึงความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับภาษา มีคำสอนหนึ่งที่นิยมกล่าวกันว่า "ภาษาคือสื่อกลางของความหมาย" แต่คำสอนนี้ก็เป็นคำสอนที่แสดงความเข้าใจธรรมชาติของภาษาอย่างง่ายๆ เกินไปสักหน่อย คำสอนนี้สะท้อนความคิดที่แยกภาษาออกจากการใช้งานจริงในสังคม และยังดูเบาน้ำหนักของการกระทำของภาษา ราวกับว่าใครจะพูดอะไรก็ได้ขอให้สามารถสื่อสารได้เป็นพอ ทั้งๆ ที่เอาเข้าจริงๆ แล้ว การที่เราจะพูดอะไรยังต้องดูที่เจตนาของการพูดที่มากไปกว่าถ้อยคำที่แสดงออกมา  

การเลือกคำ การประกอบประโยค ล้วนขึ้นกับว่าเรากำลังพูดให้ใครฟัง พูดแล้วหวังผลอะไรจากการพูด นอกจากเพื่อบอกเล่าสารแล้ว หลายต่อหลายครั้งที่คำพูดยังเป็นคำสั่ง เป็นสัญญา เป็นการขอร้อง รวมทั้งเป็นการดูหมิ่นดูแคลนกัน

คําพูดจึงไม่ได้ทำหน้าที่เพียง "สื่อสาร" คำพูดไม่ได้เป็นตัวกลางที่โปร่งใสตรงไปตรงมา แม้ว่าผู้พูดต้องการจะควบคุมให้ภาษาเป็นกลางตรงไปตรงมาอย่างไร ผู้พูดก็ยังต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมที่แท้จริงของการพูด ว่ากำลังจะพูดกับใคร พูดที่ไหน พูดเพื่อวัตถุประสงค์อะไร และดังนั้นภาษาจึงกระทำการมากกว่าเพียงสื่อสารตามความหมายในตัวภาษาเอง แต่ภาษายังมีอำนาจ ถ้อยคำบางถ้อยคำจึงกลายเป็นคาถาศักดิ์สิทธิ์ ถ้อยคำบางคำจึงกลายเป็นคำดูถูกเหยียดหยาม หากคำพูดมีหน้าที่เพียงสื่อความแล้ว คำพูดคงไม่ทำให้คนฟังเจ็บช้ำน้ำใจจนกระทั่งลุกขึ้นมาฆ่าคนพูดเพียงเพราะด้วยการเอ่ยคำพูดโดยไม่ได้ลงไม้ลงมือทำอะไรมากไปกว่านั้นได้คำพูดจึงก่อกรรมหรือส่งผลต่อการกระทำได้ไม่น้อยไปกว่าการกระทำอื่นๆปฏิกิริยาต่อคำพูดจึงมีความรุนแรงได้ไม่แพ้ปฏิกิริยาต่อการกระทำ เพราะคำพูดก็คือการกระทำด้วยนั่นเอง  

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือเหตุการณ์การสังหารนักเขียนการ์ตูนและผู้เคราะห์ร้าย 12 คนในกรณีนิตยสารล้อเลียนในฝรั่งเศสชื่อ "ชาร์ลี เอบโด" (Charlie Hebdo) กรณีนี้แสดงให้เห็นถึงพลังของการกระทำของคำพูดได้อย่างชัดเจน แม้ว่าจะเป็นการพูดด้วยภาษาภาพ คือการ์ตูนล้อเลียน แต่นั่นก็เป็นการพูดแบบหนึ่งเช่นกัน

หลายคนอาจไม่รู้ข้อเท็จจริงว่าคนที่ถูกสังหารทั้ง 12 คนนั้น ไม่ใช่ทุกคนที่เขียนการ์ตูนล้อเลียนศาสนา บางคนเขียนการ์ตูนต่อต้านความรุนแรงเป็นหลัก แต่ก็กลับถูกสังหารไปด้วย และดังนั้นจึงเกิดการรณรงค์ "เราคือชาร์ลี" ความหมายก็คือเราทุกคนมีสิทธิที่จะแสดงความเห็นแม้จะด้วยการใช้คำพูดล้อเลียนก็ตาม อย่าฆ่าเราด้วยการแสดงความเห็นที่แตกต่างกัน แต่ที่น่าเสียดายคือ มีนักสันติวิธีบางคนเผลอให้ความเห็นที่ชวนให้คิดไปได้ว่า "การล้อเลียนคุณค่าสูงส่งแบบชาร์ลี เอบโด ไม่สมควรได้รับการปกป้องสิทธิการพูด และเราก็ไม่เห็นต้องรณรงค์ว่า ′เราเป็นชาร์ลี′"  

น่าเสียดายที่นักเขียนการ์ตูนต่อต้านความรุนแรงประจำนิตยสารชาร์ลี เอบโด คนหนึ่งต้องตายไปเสียก่อนที่จะมีโอกาสอธิบายให้นักสันติวิธีอีกคนนั้นเข้าใจว่า ในสังคมที่สิทธิการพูดถูกละเมิดได้โดยง่ายนั้น สักวันหนึ่งคุณก็อาจจะต้องตายเพราะคุณถูกเหมารวมว่าพูดในสิ่งที่ตนเองไม่ได้พูดเช่นกัน

แต่เมื่อนำมาคิดตามหลักข้างต้นที่ว่าคำพูดเป็นการกระทำทางสังคมเรายังต้องพิจารณาต่อว่า คำพูดแบบไหนกันที่เมื่อพูดในสังคมไหนแล้วทำให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้กลับอย่างรุนแรงอย่างนั้น การถกเถียงถึงเส้นแบ่งระหว่าง "ถ้อยคำเหยียดคน" (hate speech) กับ "เสรีภาพในการพูด" (freedom of speech) และปฏิกิริยารุนแรงต่อถ้อยคำในลักษณะทั้งสองจึงเป็นข้อถกเถียงที่ยังไม่เพียงพอ เพราะต่อให้ยึดหลักเสรีภาพในการพูดแล้ว ก็ไม่ใช่ว่าทุกสังคมจะยอมรับเสรีภาพในการพูดอย่างเท่าเทียมกัน หรือในสังคมเดียวกัน ในต่างช่วงเวลากัน เสรีภาพในการแสดงออกก็อาจกลับหดแคบลงหรือบางทีก็ขยายกว้างออกไป แล้วแต่เรื่อง แล้วแต่สถานการณ์ได้เช่นกัน

ข้อนี้อาจจะดูได้จากคำด่า ข้อถกเถียงระหว่างถ้อยคำเหยียดคนกับเสรีภาพในการพูดมักจะอยู่ที่ว่า อะไรกันคือคำหยาบคาย แค่ไหนกันที่เราจะเรียกได้ว่าดูหมิ่นเหยียดหยาม ในทางกฎหมาย คงมีข้อยุติต่อนิยามความหมายพอสมควร แต่ผมก็ยังคิดว่า การเหยียดหยามกับเสรีภาพในการแสดงความเห็นเป็นทั้งเรื่องวัฒนธรรมและเรื่องอำนาจไปพร้อมๆ กัน เส้นแบ่งระหว่าง "การด่า" กับ "การวิจารณ์" ที่อาจจะใช้วิธีการล้อเลียนหรือการใช้ถ้อยคำเรียบเรียงอย่างเรียบร้อย จึงไม่ได้สามารถแบ่งแยกกันได้ง่ายๆ ด้วยการนิยามตามกรอบของความหมายในถ้อยคำภาษา เพราะคำวิจารณ์อย่างปราศจากอคติ ก็กลับจะกลายเป็นคำด่าหรือการดูหมิ่นไปได้หากคำวิจารณ์นั้นออกจากปากคนที่ไร้อำนาจแต่กลับลุกขึ้นมากล่าวความจริงพุ่งไปท้าทายอำนาจของผู้ถูกวิจารณ์

เช่นคำสบถในแต่ละสังคมนั้นมีพื้นฐานความหมายไม่เหมือนกัน ในสังคมไทย คำว่า "ควาย" มีความหมายในเชิงดูถูกเหยียดหยาม เพราะสังคมไทยใช้ควายเยี่ยงทาสและจึงมองว่าควายมีฐานะต่ำกว่า ไม่มีความคิดเป็นของตนเอง จึงมีสำนวนมากมายที่เหยียดหยามคนด้วยคำว่าควาย เช่น โง่เหมือนควาย สีซอให้ควายฟัง ถูกชักจูงง่ายเป็นวัวเป็นควาย การด่าในที่นี้จึงเป็นการแปลงสถานภาพของผู้ถูกด่า ให้อยู่ในฐานะทางสังคมต่ำกว่าผู้ด่า  

ส่วนในสังคมอเมริกัน คำว่า "f_ck you" กลายเป็นคำด่าได้เพราะ หนึ่ง เพราะสังคมอเมริกันเป็นสังคมชายเป็นใหญ่ สอง เนื่องจากกิริยานี้เป็นกิริยาของผู้กระทำ ดังนั้นการเป็นผู้กระทำกิริยานี้จึงเป็นผู้มีอำนาจเหนือผู้ถูกกระทำ นี่เป็นการแปลงผู้ถูกด่าให้อยู่ในฐานะต่ำกว่าอีกแบบหนึ่ง แต่เป็นแบบที่มีนัยในการเหยียดเพศ ไม่เหมือนคำด่า "ควาย" ในสังคมไทยที่ด่าด้วยนัยทางชนชั้น หากใครด่าฝรั่งว่า "ควาย" หรือจะแปลว่า "buffalo" ไปก็ไม่มีความหมาย หรือหากใครแปลคำด่าอเมริกันที่ว่าเป็นคำไทยตรงไปตรงมาว่า "ร่วมเพศคุณ" หรือแม้แต่จะบอกว่า "เ_ดมึง" ก็ยังไม่เป็นคำด่าได้อยู่ดี ภาษาไทยต้องเปลี่ยนกรรมเป็นบุพการีของผู้ถูกด่าจึงจะเป็นการด่าที่มีความหมาย หรืออีกนัยหนึ่งคือต้องเหยียดหยามกันด้วยฐานะสูงต่ำว่า "ฉันร่วมเพศกับบุพการีแก ฉันจึงมีฐานะสูงกว่าแก" ไม่ใช่แค่เหยียดเพศจึงจะมีความหมาย

เพียงแค่จะบอกว่าคำไหนเป็นคำหยาบในแต่ละสังคมก็ยากแล้ว แต่ในสังคมปัจจุบันยังมีความซับซ้อนในการตัดสินค่าของคำพูดมากกว่านั้นขึ้นไปอีก เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะ ในปัจจุบันเราไม่สามารถที่จะหาสังคมใดที่มีระบบคุณค่าชุดเดียว ที่คนในสังคมทั้งสังคมเห็นคล้อยตามกันไปหมดได้อีกต่อไป  

ดังนั้น การที่บางประเทศต้องการบังคับให้ทุกคนปิดหูปิดตาตนเองเกี่ยวกับผู้นำของประเทศตนเอง อย่าอยากรู้ อย่าอยากอ่าน อย่าอยากวิเคราะห์เกี่ยวกับผู้นำประเทศ แต่ให้เคารพนับถือบูชาอย่างสิ้นสงสัยเหมือนกับที่เราควรปฏิบัติกับศาสดาของศาสนานั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้อีกต่อไป หรือแม้แต่เรื่องราวทางศาสนาก็ถูกสงสัยมากขึ้นทุกที เพราะระบบคุณค่าของสังคมเปลี่ยนไปหรือไม่ก็มีการปะทะกันของคุณค่าหลายชนิดมากขึ้นทุกที  

ในบางสังคมเราจึงพบว่าการจะแยกแยะว่าคำพูดประเภทไหนเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยาม อาฆาตมาดร้าย เป็นเรื่องยุ่งยาก หรือบางคราวเป็นเรื่องที่ถูกบิดเบือนไปจนกระทั่งการพูดสะท้อนความจริงอย่างตรงไปตรงมาก็กลับกลายเป็นคำพูดดูหมิ่นไปได้เช่นในบางประเทศ การแสดงข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้มีอำนาจในประเทศนั้น แม้จะเพียงนำข้อเท็จจริงมาเล่าอย่างซื่อๆ ก็จะถูกตัดสินจำคุกสูงสุดถึง 15 ปีได้หรือการแสดงข้อเท็จจริงนั้นเองอาจถือว่าเป็นการดูหมิ่นผู้มีอำนาจได้ ส่วนในบางประเทศ แม้จะมีคนพูดจาอาฆาตมาดร้ายประมุขของบางประเทศอยู่จริง มีหลักฐานชัดเจน พวกเขาก็จะยังคงได้รับการยกเว้น เพราะพวกเขาไม่ใช่คนขับรถแท็กซี่ ไม่ใช่คนหาเช้ากินค่ำ ไม่ใช่นักศึกษาเพิ่งเรียนจบ แต่พวกเขาเป็นชนชั้นสูง เป็นนักการทูต หรือกรณีที่เราเห็นกันแทบจะเป็นประจำทุกวันนี้ในบางประเทศ ก็คือการที่ผู้นำประเทศสามารถพูดจาหยาบคาย แสดงกิริยาเหยียดหยามผู้คน เหยียดหยามผู้สื่อข่าวอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แต่ไม่เห็นมีนักสันติวิธีที่ไหนตักเตือนเขา เพราะเขาถือว่าตนมีอำนาจล้นฟ้า พูดอะไรคนก็ต้องฟัง

สรุปแล้ว ผมคิดว่า ที่จริงไม่ใช่เพียงแค่ว่าเราไม่สามารถตกลงกันได้ง่ายๆ ว่าเส้นแบ่งของคำเสรีภาพในการพูดกับการใช้ถ้อยคำเหยียดคนอยู่ตรงไหนเท่านั้น แต่ที่เรายอมรับคำพูดกันไม่ได้หรือมีปฏิกิริยาตอบโต้อย่างรุนแรงต่อคำพูดก็ต่อเมื่อความสัมพันธ์ทางอำนาจของผู้พูดกับผู้ฟังไม่เท่าเทียมกันมากกว่าดังนั้นในบางประเทศ ความผิดเกี่ยวกับการหมิ่นประมาทบางลักษณะจึงเป็นความผิดที่ไม่ได้มีบรรทัดฐานที่ระบุได้ชัดเจน หากแต่เป็นการพิจารณาว่าคำพูดนั้นพูดโดยใครต่างหาก  

ตัวคำพูดเองจึงไม่สำคัญเท่ากับว่าใครคือผู้พูดและพูดถึงเรื่องของใครต่างหาก

(ที่มา:มติชนรายวัน 10 ก.พ.2558)

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำสำคัญ: sensory subjectivity, sensory categories, sensory bias, sensory ethnocentrism, sensory colonization (อธิบายไว้ท้ายข้อเขียน) คนทำเรื่องอาหารข้ามถิ่น ไม่ต่างจากการทำงานทางมานุษยวิทยา ที่ต้องตระหนักถึงการ ไม่นำเอา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ถ้าคุณไม่สามารถเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้แล้ว ก็โปรดอย่าถ่วงรั้งการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่เลย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปาฐกถาในเวทีเสวนา “50 ปี 14 ตุลาฯ ยังตามหารัฐธรรมนูญใหม่” จัดโดยสมัชชาคนจน วันที่ 14 ตุลาคม 2566
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จนถึงวันนี้ การต่อสู้ของประชาชนในขบวนการ “คณะราษฎร 63” ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พลังของแสงดาวได้สร้างสรรค์สังคมไทยอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกมาแสดงความเห็นว่ามีการสร้างกระแสกดดันศาลต่างๆ นานา (ดู https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2081366) มองในแง่ดี ผมคิดว่านี่คือการออกมาอธิบายกับสังคมอีกครั้งของผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดแจ้ง หลังจากที่มีการชี้แจงถึงเหตุผลการไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองโดยโฆษกศาลและโฆษกกระทรวงยุติธรรมก่อนหน้านี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อะไรที่ทำให้ดนตรีมีสถานะในการทำร้ายกันได้บ้าง ผมว่าอย่างน้อยที่สุดต้องเข้าใจก่อนว่า ดนตรีไม่ใช่แค่เสียง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พอดีนั่งฟังเพื่อนนักวิชาการอ่านหนังสือ "กบฏชาวนา" ของรานาจิต คูฮา (1982) มาคุยให้ฟัง (แปลโดย ปรีดี หงษ์สต้น) ในเพจของสำนักพิมพ์ Illumination Editions เลยคิดถึงบันทึกที่เคยเขียนถึงหนังสือของ ดิเพช จักรบาร์ตี เรื่อง Provincializing Europe (2000)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรื่อง ถามถึงมโนธรรมสำนึกในความเป็นครูบาอาจารย์ของอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์