Skip to main content

ผมไม่จำเป็นต้องสาธยายคุณูปการของอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลต่อสังคมไทย หากคุณไม่เห็นคุณูปการของอาจารย์สมศักดิ์ คุณก็คือคนที่ไม่เข้าใจว่าตนเองกำลังกรอกยาฝิ่นใส่ปากตัวเอง แล้วเมายาอยู่จนหลงคิดไปว่ากำลังดื่มโอสถบำรุงกำลัง หากคุณไม่คิดอย่างนั้น ก็ไม่ต้องอ่านต่อไปแล้วไม่ต้องมาพยายามเถียงกับผมให้เสียเวลาเปลืองอารมณ์ที่จะต้องคุยกัน

แต่ผมจำเป็นต้องสาธยายความเลวร้ายเหลวแหลกของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ตัดสินใจขับอาจารย์สมศักดิ์ออกจากการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย 

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เสื่อมลงทุกวันภายใต้การบริหารของผู้บริหารชุดปัจจุบัน นับตั้งแต่การพยายามปิดกั้นการแสดงออกของนักวิชาการที่มีความเห็นทางการเมืองแตกต่างจากแนวทางของผู้บริหารก่อนการรัฐประหาร ไปจนกระทั่งการมีส่วนสร้างเงื่อนไขให้นำไปสู่การล้มการปกครองแบบประชาธิปไตย แล้วในที่สุด ผู้บริหารก็ยินดีปรีดา (หาใช่ถูกบังคับหรือเป็นไปตามการกดดัน) เข้าไปร่วมบริหารประเทศกับคณะรัฐประหาร

ผลกระทบจากการรัฐประหารต่อประชาชนและประชาธิปไตยโดยรวมเป็นอย่างไรเอาไว้กล่าวกันในโอกาสอื่น แต่ผลกระทบที่ชัดเจนประการหนึ่งคือผลกระทบต่อบุคคลากรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังการรัฐประหาร นักศึกษาและอาจารย์จำนวนมากที่มีความเห็นขัดแย้งกับคณะรัฐประหารถูกจับ ถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม มีนักศึกษาและอาจารย์ถูกคุกคามข่มขู่โดยคณะรัฐประหาร จนกระทั่งทุกวันนี้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลายสภาพเป็นดั่งที่ซ่องสุมกำลังทหารทั้งนอกและในเครื่องแบบ คุกคามการเรียนการสอนและการแสวงหาความรู้อยู่เป็นประจำวัน 

ถ้าจะกล่าวเฉพาะการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน หากไม่มีกรณีการขับอาจารย์สมศักดิ์ สาธารณชนย่อมสงสัยกันทั่วไปอยู่แล้วว่า การที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเข้าไปร่วมมือกับคณะรัฐประหารนั้น ก็นับเนื่องได้ว่าได้ร่วมนำสังคมไทยให้จมดิ่งลงไปสู่สภาพสังคมเผด็จการด้วย 

ยิ่งเมื่อมหาวิทยาลัยตัดสินใจขับอาจารย์สมศักดิ์ออก ด้วยเหตุเพราะอาจารย์สมศักดิ์หลบหนีการคุกคามสิทธิเสรีภาพและสวัสดิภาพความปลอดภัย จึงเป็นเหตุสุดวิสัยไม่สามารถไปปฏิบัติหน้าที่ตามปกติได้ สามัญสำนึกของสาธารณชนย่อมสงสัยได้ว่า นอกจากจะไร้มโนธรรมสำนึกในการปกป้องเพื่อนมนุษย์และบุคคากรของตนเองจากการถูกคุกคามสวัสดิภาพแล้ว ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังได้ร่วมกันกับคณะรัฐประหารจองเวรจองกรรมอาจารย์สมศักดิ์อย่างถึงที่สุดด้วยอีกหรือ 

หากผู้บริหารดำเนินการต่างๆ ด้วยการยึดมั่นต่อกฎระเบียบอย่างเคร่งครัดแล้ว ทำไมจึงยอมละเมิดกฎระเบียบคือละเมิดรัฐธรรมนูญหรือยอมรับการละเมิดรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดเสียเองได้ หรือจะดำเนินตามกฎระเบียบอย่างถึงที่สุด ก็เฉพาะในกรณีที่กฎระเบียบเหล่านั้นสามารถนำพาให้พวกตนมีอำนาจได้เท่านั้น 

นี่หรือคือหน้าตาประชาธิปไตยแบบที่ธรรมศาสตร์ปัจจุบันยกย่อง เป็นประชาธิปไตยแบบที่ส่งเสริมการละเมิดสิทธิเสรีภาพกันอย่างออกหน้าออกตาอย่างนี้หรือ เป็นประชาธิปไตยที่ไม่ฟังใครที่ไม่เห็นด้วยกับพวกตนอย่างนี้หรือ เป็นประชาธิปไตยที่ไล่จองล้างจองผลาญคนที่เห็นต่างจากพวกตนอย่างเอาเป็นเอาตายอย่างนี้หรือ 

นี่หรือคือสถาบันการศึกษาที่เมื่อปี 2477 ได้รับการก่อตั้งขึ้นมาโดยอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ผู้นำคณะราษฎรที่เปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศไทยจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ นี่หรือคือมหาวิทยาลัยที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเผยแพร่อุดมการณ์ประชาธิปไตย นี่หรือธรรมศาสตร์

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (4 ตุลาคม 2560) นิสิตมหาวิทยาลัยหนึ่งโทรศัพท์มาสัมภาษณ์เรื่องการพิมพ์คำ "คะ" "ค่ะ" ผิดๆ ในโซเชียลมีเดียและการส่งข้อความต่างๆ บอกว่าจะเอาไปลงวารสารของคณะเธอ เธอถามว่าการใช้คำผิดแบบนี้มีนัยทางสังคมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวาน (30 กันยายน 2560) นักศึกษาปริญญาโทชั้นเรียนมานุษยวิยาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เขียนบทละครเรื่อง "The Dark Fairy Tales นิทานเรื่องนี้ไม่เคยเล่า" ชวนไปดูและร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นหลังละครจบ ช่วยให้คิดอะไรเกี่ยวกับการอ่านนิทานได้อีกมากทีเดียวจึงอยากบันทึกไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสนทนาอย่างออกรสไม่ได้จะต้องอยู่ในบรรยากาศเคร่งขรึมในห้องเรียน ห้องสัมมนาเสมอไป ด้วยเหตุนี้ผมจึงเชื่อว่า การใช้เวลานอกห้องเรียน นอกห้องสัมมนาวิชาการ สำคัญไม่น้อยไปกว่าการใช้เวลาในห้องสี่เหลี่ยมที่มีระเบียบต่างๆ ควบคุมการสนทนาอย่างเคร่งครัดเกินไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเหตุการณ์เข้ามาคุกคามพื้นที่ทางวิชาการของคณะทหารในการประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 13 ที่เชียงใหม่ จนทำให้นักวิชาการที่มาร่วมประชุมกลุ่มหนึ่งแสดงออกด้วยการชูป้าย "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" แล้วท้ายสุดมีนักวิชาการ 5 คนถูกตั้งข้อหาว่าเป็นคนนอกเข้ามายุยงให้ต่อต้านรัฐบาล
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันแม่นำความกระอักกระอ่วนใจมาให้ผมตั้งแต่ยังเด็ก เพราะแม่ในเพลง "ค่าน้ำนม" ที่เด็กในกรุงเทพฯ รุ่นผมถูกให้หัดร้องตามจนแทบจะจำเนื้อได้ทั้งเพลงมาตั้งแต่จำความได้ ไม่ตรงกับแม่ในชีวิตจริงของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัยคนหนึ่ง ผมไม่อาจยอมรับการกระทำของอาจารย์ต่อนิสิตด้วยความรุนแรงดังที่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยอันทรงเกียรติแห่งหนึ่งได้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้เกิดความผิดพลาดบางอย่างทำให้บทแนะนำอาจารย์แคทเธอรีน บาววี องค์ปาฐกคนหนึ่งของงานประชุมไทยศึกษาปีนี้ที่จังหวัดเชียงใหม่ ไม่ได้ถูกนำเสนอในงานประชุม ในเมื่อผมเตรียมไปพูดแล้วแต่ไม่ได้พูด ก็ขอนำบันทึกที่ร่างไว้นี้มาเผยแพร่ในที่นี้แทนก็แล้วกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ฟ้าข้างในนี้กว้างกว่าข้างนอก ฟ้าในนี้กว้างจนแทบจะเห็นขอบฟ้า"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้คงเป็นช่วงเขียนรายงาน เขียนวิทยานิพนธ์ของหลายๆ คน ผมเองช่วงนี้เป็นช่วงต้องอ่านงานนักศึกษามากมาย ที่สาหัสที่สุดคืองานวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโทและเอก 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมอ่านงานจิตรครั้งแรกๆ ก็ตอนที่เรียนมหาวิทยาลัยระดับปริญญาตรี ตอนนั้นเมื่อออกจากโลกโรงเรียนก็รู้สึกว่า โลกหนังสือของห้องสมุดธรรมศาสตร์ช่างกว้างใหญ่มาก กว้างใหญ่กว่าห้องสมุดแห่งชาติที่สมัยเรียนมัธยมผมชอบไปสิงอยู่มากนัก นี่กล่าวเฉพาะหนังสือที่น่าอ่านเกี่ยวกับสังคม วัฒนธรรม ปรัชญา และศาสนา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (3 พค. 60) ผมไปวิจารณ์งานนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยซึ่งคณะราษฎรมีส่วนก่อตั้งเช่นกัน แต่สำคัญผิดกันไปว่าผู้อื่นมีบุญคุณมากกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บางทีนามสกุลกับบทบาทความเป็นครูของครูฉลบชลัยย์ พลางกูร คงไม่ทำให้คนสนใจครูฉลบเกินบทบาทไปกว่าการเป็นภรรยาของนายจำกัด พลางกูร และเป็นผู้ให้กำเนิดโรงเรียนดรุโณทยาน