Skip to main content

เรื่องไม่เป็นเรื่องบางครั้งก็ชวนให้น่ารำคาญ ทำให้ต้องมาคอยอารัมภบทออกตัวมากมาย ทั้งๆ ที่ไม่จำเป็น 

ลำพังผมน่ะ เกือบหนึ่งปีที่ผ่านมานี้ไม่ได้รับเงินเดือนจากประเทศไทย ทำงานหามรุ่งหามค่ำที่ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ยังต้องจ่ายภาษีรายได้บางส่วนให้ประเทศไทย แถมกลับไปยังต้องใช้ทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอีกสองเท่าของเวลาที่ลามา ใครต่อใครในประเทศไทยจะไม่สนุกด้วยก็แล้วแต่ แต่ผมก็ยินดีรับหน้าที่ตามโอกาสที่ได้รับหลังการรัฐประหาร แม้จะทำให้พลาดโอกาสอื่นๆ ไปอีกมากก็ตาม 

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นช่วง spring recess คือการหยุดหนึ่งสัปดาห์ระหว่างภาคการศึกษาที่สองของมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา แต่ละมหาวิทยาลัยจะหยุดไม่ตรงกัน มหาวิทยาลัยวิสคอนซินที่ผมสอนอยู่น่ะ หยุดสัปดาห์ที่แล้ว ส่วนผมน่ะแค่หยุดสอน แต่ไม่ได้หยุดทำงาน เพราะต้องไปงานสัมมนาวิชาการสองงานติดๆ กัน  

แห่งหนึ่งคืองานประชุมประจำปีของสมาคมเอเชียศึกษา (AAS) ปีนี้เขาจัดที่เมืองชิคาโก หลังจากสอนเสร็จเย็นวันพฤหัสบดี ผมก็ลากกระเป๋าไปขึ้นรถบัส 3 ชั่วโมง ไปถึงชิคาโกแสนหนาวยามดึกดื่น แล้วอยู่ประชุม 3 วัน ผมเสนองานวันอาทิตย์ ซึ่งก่อนจะเสนองาน ก็ตระเตรียมเสียดึก เพราะกลัวว่าจะไม่เป็นระบบ ไม่ชัดเจน ด้วยเวลานำเสนอเพียง 20 นาที แต่เตรียมไปถึงตี 3 ของอีกวัน แล้วก็ต้องไปเสนองานตั้งแต่ 8 โมงเช้า ไม่อยากบอกก็คงต้องบอกให้รู้กันว่ามันไม่ได้สบายๆ เดินไปที่ประชุม แต่ผมต้องตื่น 6 โมง อาบน้ำแต่งตัว ขึ้นรถไฟ ต่อรถเมล์ เดินฝ่าลมหนาวไปโรงแรมที่ประชุมแต่เช้าเพื่อให้ทันเวลาเริ่มประชุม 

จากนั้นก็ดีหน่อยที่พอจะมีเวลาพักที่ชิคาโกอีก 1 วัน จึงได้ไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์อีก 2 แห่ง (เอาไว้ค่อยหาโอกาสมาเล่าใหม่) แล้วก็วิ่งไปเมืองบอสตันและเคมบริจด์ เพื่อไปร่วมประชุมทางวิชาการที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในอีก 2 วันถัดมา กว่าจะไปถึงก็ดึกดื่นเที่ยงคืนกว่า เพราะเครื่องบินล่าช้า ไปพักกับเพื่อนอาจารย์ที่จะประชุมด้วยกันหนึ่งคืน ก่อนที่วันรุ่งขึ้นจะลากกระเป๋าย้ายไปเข้าพักโรงแรมที่มหาวิทยาลัยจัดให้ ซึ่งดีที่อยู่ใกล้ที่ประชุมในวันถัดมา ในงานนี้ ผมร่วมนำเสนอด้วยคนหนึ่ง เป็นผลงานที่เริ่มศึกษาใหม่ และก็เป็นคนละเรื่องกันกับที่เสนอที่ชิคาโก

เอาล่ะ เล่าปูพื้นให้ดูดราม่าน่าเห็นใจกันบ้าง แทนการอวดชีวิตการดื่มกินความสำราญ ราวกับทิ้งการงานจากกรุงเทพฯ มาเที่ยวเล่นสนุกสนาน แล้วเมื่อไปพิพิธภัณฑ์แต่ละทีน่ะ มันก็เป็นการเป็นงานทั้งนั้น ถ้ามันยังไม่เป็นประโยชน์ในวันนี้ ก็จะเป็นในวันข้างหน้า ก็ช่วยไม่ได้ที่ประเทศไทยไม่ฉลาดพอที่จะสร้างพิพิธภัณฑ์เอาไว้ให้การศึกษากับประชาชน ผมก็เลยตื่นตาตื่นใจกับประเทศที่เขามีพิพิธภัณฑ์ไปทั่ว แม้กระทั่งในมหาวิทยาลัยบางแห่งอย่างที่ฮาร์วาร์ด (จะว่าอวดที่ได้มาก็ได้ เพราะอยากอวดสิ่งที่ดีๆ ถ้าไม่อยากรู้ ก็ไม่ต้องอ่านกัน ก็เท่านั้นเอง) 

ในระหว่างที่มีเวลาครึ่งวันที่เมืองเคมบริดจ์ ผมก็รบกวนเพื่อน ซึ่งก็คือดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ (เป็นการรบกวนจริงๆ เพราะต้องพึ่งให้เขามาเหนื่อยและเสียเวลาเดินด้วย แถมยังได้เข้าฟรีในฐานะแขกของเพื่อนซึ่งไปเป็นนักวิชาการอาคันตุกะที่นั่น) เพื่อนพาเข้าชมพิพิธภัณฑ์ถึง 4 แห่งด้วยกัน รวมเข้ากับคราวก่อนที่ไป มฮ. แล้วก็รวมเป็นว่าได้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ที่ มฮ. ถึง 5 แห่งด้วยกัน แต่ละแห่งผมไม่มีเวลาอ่านข้อมูลอะไรมากมายเพราะเวลาดูน้อยมาก เนื่องจากมีโอกาสอยู่ที่เมืองนี้ไม่กี่วันก็ต้องกลับมาสอนหนังสือต่อ 

แห่งแรกที่ไปคราวก่อนคือ Peabody Museum พิพิธภัณฑ์ชาติพันธ์ุวิทยาแห่งนี้สะสมของเกี่ยวกับชนพื้นเมืองอเมริกัน หรือชาวอเมริกันอินเดียนนั่นแหละ ของที่น่าสนใจมากสำหรับผมคือภาพวาดบันทึกชีวิตของชาวอินเดียน ที่มักวาดเกี่ยวกับการรบบนหลังม้า นอกจากนั้นก็มีเสาโทเทม แบบจำลองเล่าเกี่ยวกับพิธีกรรมบ้าง วิถีชีวิตที่น่าสนใจอย่างการล่าปลาวาฬบ้าง แล้วก็มีเครื่องมือเครื่องไม้ต่างๆ นอกจากนั้น พิพิธภัณฑ์นี้ยังมีอาวุธแปลกๆ จากที่ต่างๆ ทั่วโลก ผมเดาว่าเดิมคงเป็นของสะสมของใครสักคน อาวุธจากบางถิ่นน่าสนใจ อย่างอาวุธที่ทำจากฟันปลาฉลาม 

ในการมา มฮ. ครั้งที่สอง ผมเข้าชมพิพิธภัณฑ์อีก 4 แห่ง แห่งแรกคือ Semitic Museum เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ว่าด้วยโลกยุคโบราณของเขตวัฒนธรรมเซมิทิก ครอบคลุมชาวอิสราเอล อียิปต์ โฟนีเชียน อราเมียน บาบิโลเนียน อาหรับ และอื่นๆ พิพิธภัณฑ์นี้เอาของสะสมทั้งของอาจารย์ที่ฮาร์วาร์ดเอง และมีของจำลองจากของจริงจากที่ต่างๆ ทั่วโลก ที่น่าสนใจคือโลงไม้ที่ใช้บรรจุมัมมี่ ซึ่งน่าจะเป็นของจริง แต่สีสัน วัสดุ ดูคงทนมาก แม้ว่าจะตกทอดมาเป็นพันปี ในส่วนของวัตถุจำลอง เช่น หลักจารึกกฎหมายฮามูราบี ซึ่งเพื่อนที่พาไปอธิบายว่าเป็นกฎหมายที่จารึกเป็นชิ้นแรกของโลก วัตถุจำลองเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงว่า พิพิธภัณฑ์นี้น่าจะถูกใช้เพื่อการศึกษา ให้นักศึกษาได้เห็นของที่เสมือนของจริง ไม่ได้มุ่งเก็บของเก่าเท่านั้น 

 

 

แห่งต่อมาคือ Harvard Museum of Natural History ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ใหญ่โตมาก มีวัตถุตามธรรมชาติและสิ่งประดิษฐ์จัดแสดงมากมาย นอกจากพิพิธภัณฑ์แร่ที่อุดมไปด้วยหินชนิดต่างๆ แล้ว ยังมีห้องแสดงแมลง ที่มีกระทั่งแมลงสาบหลากพันธ์ุ ห้องแสดงสัตว์สตัฟฟ์ กระดูกสัตว์ดึกดำบรรพ์ ที่มีกระทั่งกระดูกไดโนเสาร์ และที่โดดเด่นน่ามหัศจรรย์อีกอย่างคือ แก้วเป่าเป็นตัวอย่างพืชพันธ์ุต่างๆ ที่มีขนาด รูปทรง สีสัน สมจริงอย่างเหลือเชื่อ เพื่อนที่พาไปชมเล่าว่า มฮ. จ้างให้ช่างเป่าแก้วจำลองพืชพันธ์ุเหล่านี้เพื่อการศึกษาของมหาวิทยาลัยน่าสังเกตว่า แก้วเป่าจำลองพืชหลายๆ ชนิดที่แสดงอยู่นี้ มักเป็นพืชจากเขตร้อนชื้น ช่างเป่าทำได้เหมือนจริงมาก ทั้งอ่อนช้อย ทั้งละเอียดลออ และได้สัดส่วนที่งดงามสมจริงมาก 

จากนั้นผมไปชม Putnam Gallery ซึ่งไม่เชิงว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ แต่ก็เก็บสะสมและจัดแสดงอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ตั้งแต่ยุคเครื่องกลจนถึงยุคอิเล็คทรอนิก ที่น่าตื่นเต้นคืออุปกรณ์ยุคเครื่องกล บางชิ้นมีอายุเกือบ 200 ปีเลยทีเดียว อย่างอุปกรณ์ที่แสดงระบบสุริยจักรวาล อุปกรณ์เหล่านี้ผมดูไม่ค่อยเข้าใจ อ่านก็ไม่ค่อยรู้เรื่อง เพียงแต่ทึ่งกับการเก็บสะสมเครื่องมือที่แสดงพัฒนาการของวิทยาศาสตร์และมหาวิทยาลัยไปพร้อมๆ กัน ทึ่งกับการที่วิทยาศาสตร์ยุคก่อนมีจินตนาการในการแสดงและค้นหาความจริงทางวัตถุที่เห็นหรือจับต้องไม่ได้ง่ายๆ  

แห่งสุดท้ายที่ไป ก่อนที่ทั้งผมและเพื่อนจะหมดเรี่ยวแรงและเราก็หมดเวลาสำหรับการเยี่ยมชม ก็คือ Fogg Museum of Art ถึงตอนนี้ทั้งสองคนเหนื่อยมากแล้ว ผมก็เลยเลือกดูเฉพาะห้องศิลปะยุคโมเดิร์น ซึ่งก็มีงานเด่นๆ ของศิลปินที่ชื่นชอบอยู่หลายชิ้น แค่ได้ดูงานของคนเหล่านี้ไม่กี่ชิ้นอย่างใกล้ๆ ชนิดได้เห็นรอยฝีแปรงและสีสันอย่างชัดเจน แถมถ่ายรูปได้ด้วย แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว ที่จริงพิพิธภัฑณ์แห่งนี้ยังมีศิลปะวัตถุยุคอื่นๆ อีกมากมาย จัดแสดงในอาคาร 3-4 ชั้นก็ไม่รู้แน่ แต่เพราะเหน็ดเหนื่อยมากและหมดเวลาแล้ว ก็เลยต้องยกยอดเอาไว้เมื่อไหร่มีโอกาสมาอีกก็คงจะได้มาชมผลงานเหล่านั้นในชั้นอื่นๆ บ้าง 

 

หลังชมพิพิธภัณฑ์ได้ยังไม่ครบทั้ง 5 แห่ง ผมก็อุทานในใจแล้วว่า ผมยอมรับมหาวิทยาลัยแห่งนี้จริงๆ ที่ว่ามีชื่อเสียงน่ะ ไม่ใช่แค่ว่าเพราะความสามารถทางวิชาการ เงินทุนสูง เพียงเท่านั้น แต่ยังมีการสะสมความรู้ การลงทุนจัดแสดงต่อสาธารณะ การศึกษาจากวัตถุจริงและจำลอง การรักษาวัตถุเหล่านี้  

ผมว่า ลำพังพิพิธภัณฑ์ทางด้านชาติพันธ์ุวิทยา ด้านศิลปะ ด้านโบราณคดีเอเชียตะวันออกใกล้ ด้านธรรมชาติวิทยา และวิทยาศาสตร์ ทั้ง 5 แห่งนี้ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดก็นับได้ว่ามีขุมความรู้มากกว่าบางประเทศที่แทบไม่มีพิพิธภัณฑ์เหล่านี้สักแห่งเลยด้วยซ้ำ แถมที่มีอยู่ก็ล้วนแล้วแต่ด้อยคุณภาพทั้งวัตถุจัดแสดงและความรู้ในการจัดแสดงด้วยซ้ำ ที่พูดอย่างนี้ก็เพื่อให้ศึกษาจากเขาแล้วพัฒนาตนเอง ไม่ใช่ให้ต้องไปกราบกรานเชิดชูบูชาเขา

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอแสดงความคารวะจากใจจริงถึงความกล้าหาญจริงจังของพวกคุณ พวกคุณแสดงออกซึ่งโครงสร้างอารมณ์ของยุคสมัยอย่างจริงใจไม่เสแสร้ง อย่างที่แม่ของพวกคุณคนหนึ่งบอกกล่าวกับผมว่า "พวกเขาก็เป็นผลผลิตของสังคมในยุค 10 ปีที่ผ่านมานั่นแหละ" นั่นก็คือ พวกคุณได้สื่อถึงความห่วงใยต่ออนาคตของสังคมไทยที่พวกคุณนั่นแหละจะต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อไปให้สังคมได้รับรู้แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปฏิกิริยาของสังคมต่อการกักขังนักศึกษา 14 คนได้ชี้ให้เห็นถึงการก้าวพ้นกำแพงความกลัวของประชาชน อะไรที่กระตุ้นให้ผู้คนเหล่านี้แสดงตัวอย่างฉับพลัน และการแสดงออกเหล่านี้มีนัยต่อสถานการณ์ขณะนี้อย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในโลกนี้มีสังคมมากมายที่ไม่ได้นับว่าตนเองเป็นกลุ่มชนเดียวกัน และการแบ่งแยกความแตกต่างของกลุ่มคนนั้นก็ไม่ได้ทาบทับกันสนิทกับความเป็นประเทศชาติ ชาว Rohingya (ขอสงวนการเขียนด้วยอักษรโรมัน เพราะไม่เห็นด้วยกับการออกเสียงตามภาษาพม่า) ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของกลุ่มคนที่ไม่ได้มีขอบเขตพื้นที่ที่อาศัยครอบครองอยู่ทาบกันสนิทกับขอบเขตพื้นที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงเวลาของการสัมภาษณ์นักศึกษาใหม่ในแต่ละปีถือเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่ผมจะใช้อัพเดทความเปลี่ยนแปลงของสังคมหรือทำความเข้าใจสังคม จากมุมมองและประสบการณ์ชีวิตสั้นๆ ของนักเรียนที่เพิ่งจบการศึกษามัธยม ปีที่ผ่านๆ มาผมและเพื่อนอาจารย์มักสนุกสนานกับการตรวจสอบสมมติฐานของแต่ละคนว่าด้วยประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง บางทีก็ตรงกับที่มีสมมติฐานไว้บ้าง บางทีก็พลาดไปบ้าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (31 พค. 58) ผมไปเป็นเพื่อนหลานสาววัย 13 ปี ที่ชวนให้ไปเที่ยวงานเทศกาลการ์ตูนญี่ปุ่นที่โรงแรมแห่งหนึ่งแถวถนนสุขุมวิท ผมเองสนับสนุนกิจกรรมเขียนการ์ตูนของหลานอยู่แล้ว และก็อยากรู้จักสังคมการ์ตูนของพวกเขา ก็เลยตอบรับคำชวน เดินทางขึ้นรถเมล์ ต่อรถไฟฟ้าไปกันอย่างกระตือรือล้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สนามบินที่ไหนๆ ก็ดูเหมือนๆ กันไปหมด อยู่ที่ว่าจะออกจากไหน ด้วยเรื่องราวอะไร หรือกำลังจะไปเผชิญอะไร ในความคาดหวังแบบไหน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ปับ เจียน ความ เจ้า ปัว ฟ้า" แปลตามตัวอักษรได้ว่า "หนังสือ เล่า เรื่อง เจ้า กษัตริย์ (แห่ง)ฟ้า" ซึ่งก็คือไบเบิลนั่นเอง แต่แปลเป็นภาษาไทดำแล้วพิมพ์ด้วยอักษรไทดำ อักษรลาว และอักษรเวียดนาม เมื่ออ่านแล้วจะออกเสียงและใช้คำศัพท์ภาษาไทดำเป็นหลัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
กรณีการออกเสียงชื่อชาว Rohingya ว่าจะออกเสียงอย่างไรดี ผมก็เห็นใจราชบัณฑิตนะครับ เพราะเขามีหน้าที่ต้องให้คำตอบหน่วยงานของรัฐ แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการออกเสียงให้ตายตัวเบ็ดเสร็จว่าควรจะออกเสียงอย่างไรกันแน่ ยิ่งอ้างว่าออกเสียงตามภาษาพม่ายิ่งไม่เห็นด้วย ตามเหตุผลดังนี้ครับ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (7 พค. 58) ผมสอนวิชา "มานุษยวิทยาวัฒนธรรม" ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินเป็นวันสุดท้าย มีเรื่องน่ายินดีบางอย่างที่อยากบันทึกไว้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
มันคงมีโครงสร้างอะไรบางอย่างที่ทำให้ "ร้านสะดวกซื้อ" เกิดขึ้นมาแทนที่ "ร้านขายของชำ" ได้ ผมลองนึกถึงร้านขายของชำสามสี่เมืองที่ผมเคยอาศัยอยู่ชั่วคราวบ้างถาวรบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อปี 2553 เป็นปีครบรอบวันเกิด 80 ปี จิตร ภูมิศักดิ์ มีการจัดงานรำลึกใหญ่โตที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเอ่ยถึงจิตรทีไร ผมก็มักเปรยกับอาจารย์ประวัติศาสตร์จุฬาฯ ท่านหนึ่งว่า "น่าอิจฉาที่จุฬาฯ มีวิญญาณของความหนุ่ม-สาวผู้ชาญฉลาดและหล้าหาญอย่างจิตรอยู่ให้ระลึกถึงเสมอๆ" อาจารย์คณะอักษรฯ ที่ผมเคารพรักท่านนี้ก็มักย้อนบอกมาว่า "ธรรมศาสตร์ก็ต้องหาคนมาเชิดชูของตนเองบ้าง"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันที่ 30 เมษายน 2558 เป็นวันครบรอบ 40 ปี "ไซ่ง่อนแตก"Ž เดิมทีผมก็ใช้สำนวนนี้อยู่ แต่เมื่อศึกษาเกี่ยวกับเวียดนามมากขึ้น ก็กระอักกระอ่วนใจที่จะใช้สำนวนนี้ เพราะสำนวนนี้แฝงมุมมองต่อเวียดนามแบบหนึ่งเอาไว้