Skip to main content

หลายวันมานี้ มีนักคิดหลายๆ คนเสนอวิธีทำความเข้าใจสังคมไทยใหม่ๆ มากมาย หลายคนพยายามไม่ตัดสินว่านี่คือการถอยหลังหรือย้อนรอยกลับไปในอดีต เพราะนักศึกษาประวัติศาสตร์สังคมย่อมทราบดีว่า สังคมเปลี่ยนแปลงเสมอ และในเมื่อเงื่อนไขเปลี่ยนไป เราจะเข้าใจสังคมปัจจุบันอย่างไร ผมคนหนึ่งล่ะที่พยายามไม่คิดว่านี่เป็นการ "ถอยหลัง" หรือซ้ำรอยอดีตอย่าง deja vu 

 
หากพิจารณาอะไรหลายๆ อย่างในปัจจุบัน นักวิเคราะห์สังคมบางคนอาศัยคำอธิบายที่เคยใช้อธิบายสังคมไทยราวกับว่าจะใช้ได้อย่างตรงไปตรงมา เช่น คำเรียกกลุ่มการเมืองฝ่ายหนึ่งว่าอนุรักษ์นิยม อีกฝ่ายหนึ่งว่าก้าวหน้า/ประชาธิไตย/เสรีนิยม หรือแยกฝ่ายขวา-ฝ่ายซ้าย หรือบางคนมองสังคมไทยขณะนี้ว่าอยู่ในภาวะคล้ายยุคสงครามเย็น หรือแม้แต่ใช้คำว่าทุนสามานย์ กรอบนักการเมืองคอร์รัปชั่น กรอบคนส่วนใหญ่ไร้การศึกษาจึงยังเลือกตั้งไม่ได้ ฯลฯ นักวิชาการหลายคนระมัดระวังในการใช้คำว่าสถาบันกษัตริย์ ที่ต้องอธิบายกันให้เข้าใจอย่างสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
 
กรอบความคิดเหล่านี้โลดเแล่นเป็นคำอธิบายสังคมไทยปัจจุบัน ทั้งในฝ่ายที่ต้องการเน้นความสงบเหนือสิทธิเสรีภาพ และฝ่ายที่ต้องการเน้นสิทธิเสรีภาพพร้อมๆ กับความสงบ
 
ทั้งหมดนั้น ผมว่าเราใช้กันจนติดปาก เสมือนเป็นอุปลักษณ์ (metaphor) ใช้อธิบายสังคม ที่ว่าเป็นเหมือนอุปลักษณ์ก็เพราะ เมื่อเราหากรอบการทำความเข้าใจใหม่ยังไม่ได้ เราก็จะกลับไปหยิบกรอบที่คุ้นเคยมาใช้ในการอธิบายสังคม วิธีการแบบนี้ไม่ว่าจะนักวิชาการ นักการเมือง หรือใครต่อใครก็ใช้กันทั้งนั้น แต่สำหรับนักวิเคราะห์สังคม บางทีเราต้องคอยทบทวนตัวเองอยู่เสมอว่า คำอธิบาย คำศัพท์ กรอบความคิดที่เราใช้นั้น ยังคงตามทันความเปลี่ยนแปลงทางสังคมอยู่หรือไม่
 
เมื่อไม่กี่วันก่อน นักวิชาการรุ่นเยาว์คนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า นักวิชาการรุ่นใหญ่คนหนึ่งชวนเสวนาเรื่องการเข้าใจสังคมไทยปัจจุบัน (ขอไม่เอ่ยชื่อทั้งหมดนั่นแหละ ผมไม่ได้ฟังมาเอง แล้วก็ไม่อยากอ้างชื่อเขาโดยเจ้าตัวไม่รู้เห็นได้ อีกอย่างคือ อยากปล่อยให้เป็นความเห็นล่องลอยไปอย่างนี้แหละ) เสนอว่า ขณะนี้สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำคือ normalization (ที่จริงผมควรสงวนความคิดนี้ไว้ เพราะนักวิชาการคนนี้กำลังจะนำความคิดนี้ไปเสนอต่อเป็นงานวิจัย แต่ในเมื่อได้ยินมาแล้วผมก็พยายามคิดต่อ ก็ถือว่าฟังแล้วคิดต่อแล้วมาเล่าสู่กันฟังอีกต่อก็แล้วกัน อาจจะไม่ได้ตรงกับความคิดของเขานักก็ได้)
 
โดยที่ยังไม่ทันได้สนทนากับเขาโดยตรง และไม่ได้ถามรายละเอียดเพิ่มเติม ผมมานั่งนึกดูว่า "การทำให้เป็นปกติ" ที่ว่านั้น นักวิชาการคนนั้นกำลังหมายถึงอะไร
 
การสถาปนาอำนาจของคณะรัฐประหารนี้คือการอ้างอิงอยู่กับเรื่องใหญ่ 2 เรื่อง หนึ่งคือเรื่องสถาบันกษัตริย์ ซึ่งผมขอละไว้ไม่กล่าวถึง ไม่ใช่เพราะกลัวหรือไม่เห็นความสำคัญ แต่เพราะมีคนรู้ดีอยู่แล้ว ไปอ่านที่เขาเขียนดีกว่า อีกเรื่องคือความสงบเรียบร้อย (ทหารไม่ค่อยใช้คำว่า "สันติภาพ" คงเพราะเป็นคำของฝ่ายประชาชนมากกว่า) ทั้งสองเรื่องอาจเป็นเรื่องเดียวกัน คือทหารถือว่าเป็นเรื่อง "ความมั่นคงของชาติ" ทั้งคู่ แต่ผมว่าทหารแยกความสงบเรียบร้อยของสังคมออกจากการปกป้องสถาบันกษัตริย์
 
ข้ออ้างเรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นข้ออ้างเดียวกันกับการรัฐประหารครั้งก่อนหน้านี้ เพียงแต่ครั้งนี้แนบเนียนกว่าเพราะมีกลุ่มการเมืองที่สร้างความไม่สงบขึ้นมา (ก็กลุ่ม กปปส. กับพรรคพวกชื่อย่ออื่นๆ นั่นแหละครับ) เพื่อให้ทหารสถาปนาอำนาจขึ้นมาโดยนัยว่าเพื่อรักษาความสงบ ผมว่านี่เป็นข้ออ้างที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งยวดในการรัฐประหารครั้งนี้ จนกระทั่งทุกวันนี้ เมื่อใดที่มีการโต้แย้งกันเรื่องการใช้อำนาจของทหาร คนที่สนับสนุนการรัฐประหารครั้งนี้ก็จะยังยืนยันว่า เป็นความจำเป็นเพื่อความสงบเรียบร้อย
 
ประเด็นคือ เมื่อไหร่สังคมไทยจะสงบเรียบร้อยโดยไม่ต้องมีทหาร โดยไม่ต้องมีอำนาจดิบเพื่อรักษาความสงบ ผมกำลังสงสัยว่าภาวะแบบนั้นจะไม่มีในหัวของทหาร สังคมไทยที่ทหารไม่ได้ปกครองจะเป็นสังคมไทยที่ "ไม่สงบเรียบร้อย" เสมอ จินตนาการทางสังคมที่ทหารกำลังสร้างขึ้นแล้วกล่อมเกลาให้สังคมยอมรับในขณะนี้ก็คือ การสร้างสภาวะวิกฤตวุ่นวายไร้ขื่อแปที่คุกกรุ่นอยู่ตลอดเวลา และดังนั้นหากไม่มีอำนาจปืนแล้ว สังคมก็จะไม่สามารถอยู่อย่างสงบสุขได้ ทหารกำลังสร้างภาพ (โดยไม่จำเป็นต้องลงมือให้เกิดความรุนแรงจริงๆ) ให้สังคมยอมรับว่า สภาวะวุ่ยวายคือสภาวะปกติ ทำให้ทหารต้องใช้อำนาจพิเศษอย่างเป็นปกติ
 
ความแยบยลของกระบวนการสร้างรัฐเผด็จการคือ การแปลงให้สภาวะยกเว้นกลายเป็นสภาวะปกตินี่แหละ การแปลงกฎอัยการศึกให้เป็น ม. 44 และคำอธิบายอย่างหน้าด้านๆ ของคณะรัฐประหารต่อประชาคมโลกก็เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการนี้แหละ และเมื่อนานวันเข้า สังคมก็จะยอมรับได้ว่า ไม่ต้องมีเลือกตั้งก็ได้ ไม่ต้องมีสิทธิเสรีภาพเต็มที่ก็ได้ ไม่ต้องตรวจสอบวิจารณ์รัฐบาลก็ได้ ไม่ต้องมีส่วนร่วมทางการเมืองก็ได้ ขอให้บ้านเมืองสงบสุขก็พอแล้ว อารมณ์นี้ไม่ใช่ไม่มีอยู่จริง ดูคำอธิบายของนักแต่งเพลงชื่อดัง กับนักร้องลูกครึ่งไทย-อังกฤษเชื้อเจ้าก็น่าจะสะท้อนอารมณ์นี้ของสังคมส่วนหนึ่งได้
 
หลายเดือนที่ผ่านมา ผมนั่งทบทวนเหตุการณ์ในประเทศไทยอยู่แทบทุกลมหายใจ แล้วเมื่อฟังการเสวนาทางวิชาการที่ไหนเรื่องใดก็ตาม ก็มักคิดเทียบเคียงกับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน อย่างในประเทศเวียดนามที่ผมคุ้นเคย ผมเห็นกระบวนการในการสถาปนาอำนาจเผด็จการของคนกลุ่มหนึ่งที่เข้ามายึดกุมอำนาจารัฐ (state ไม่ใช่ government) อย่างค่อยเป็นค่อยไป จนในที่สุด อำนาจเผด็จการนั้นจะสมบูรณ์เบ็ดเสร็จจนสังคมทั้งสังคม (civil society) ขยับตัวไม่ได้ มันจะใหญ่โตเป็นระบบเสียจนเมื่อสังคมรู้ตัวแล้วว่าถูกอำนาจนั้นครอบงำ สังคมก็แทบจะดิ้นรนหาทางออกไม่ได้อีกต่อไป
 
เมื่อกลับมาคิดในกรอบ state and civil society แล้ว นักทฤษฎีรัฐศาสตร์และสังคมวิทยาการเมืองคงขำว่า กลับมาใช้กรอบเก่านี้อีกแล้วหรือ ก็ไม่รู้สิครับ แต่ที่ผมนึกขำอีกต่อก็คือ คนที่เคยเทศนาเรื่อง "สังคมเข้มแข็ง" ในขณะนี้เขากลับไปช่วยเสริมสร้าง "รัฐเข้มแข็ง" เสียแล้ว รัฐไทยขณะนี้กำลังเข้มแข็งถึงขนาดเข้ามากำหนดวิธีการฉลองเทศกาลสงกรานต์กันแล้ว มีสมัยไหนกันบ้างที่รัฐจะก้าวก่ายกรอบทางวัฒนธรรมอย่างเข้มแข็งโดยไม่ยี่หระใครต่อใครมากเท่านี้ มีสมัยไหนกันที่ผู้นำรัฐบาลและผู้กุมอำนาจสูงสุดของรัฐอยู่ในตัวคนเดียวกัน มีสมัยไหนกันที่คนนี้นั้นจะหยาบคายกับสังคมผ่านการใช้ความกักขฬะกับสื่อมวลชนได้มากขนาดนี้ ถ้าไม่ใช่สมัยเผด็จการเบ็ดเสร็จ 
 
คิดแล้วผมก็หนาวสะท้านขึ้นมา นึกถึงเพลง Dịt Mẹ Cộng Sản ที่วัยรุ่นเวียดนามเรียกกันติดปากว่า DMCS (หาดูวีดีโอได้ไม่ยาก) ที่ผมใช้วิเคราะห์สถานการณ์ความเคลื่อนไหวของนักกิจกรรมในโลกอินเทอร์เน็ตของเวียดนามเมื่อไม่กี่วันก่อน ว่าอีกหลายปีให้หลัง วัยรุ่นไทยคงตาสว่างแล้วแต่งเพลงทำนองนี้บ้าง แต่เมื่อถึงตอนนั้น ลุงป้าน้าอาที่ช่วยกันสร้างมรดกเผด็จการให้คนรุ่นหลังก็คงเฒ่าชราจนรับผิดชอบในความผิดพลาดของตนเองไม่ได้ หรือไม่ก็กลายไปเป็นผู้ครองอำนาจเผด็จการ กดทับลูกหลานตัวเองต่อไป ส่วนคนที่มีอำนาจอยู่ในขณะนี้ ก็ทยอยลงโลงหรือไม่ก็กลายเป็นผักดิบบนเตียงนอนกันไปหมด ทิ้งมรดกความสงบสุขใต้อำนาจเผด็จการให้ลูกหลานทุกข์ทรมาณอย่างเป็นปกติกันต่อไป
 
 
 
 

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่แน่ใจว่านโยบายยุบโรงเรียนขนาดเล็กนี้จะดีหรือไม่ สงสัยว่า "คิดดีแล้วหรือที่จะยุบโรงเรียนขนาดเล็ก" ในทางเศรษฐศาสตร์แบบทื่อๆ คงมี "จุดคุ้มทุน" ของการจัดการศึกษาอยู่ระดับหนึ่ง ตามข่าว ดูเหมือนว่าควรจะอยู่ที่การมีนักเรียนโรงเรียนละ 60 คน แต่คงมีเหตุผลบางอย่างที่โรงเรียนตามพื้นที่ชนบทไม่สามารถมีนักเรียนมากขนาดนั้นได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตอนนี้เถียงกันมากเรื่องกะหรี่ ว่ากันไปมาจนกระทั่งทั้งสองฝ่ายก็หนีไม่พ้นเอาคำเดียวกัน หรือทัศนะคติเหยียดเพศหญิงเช่นเดียวกันมาด่ากัน ฝ่ายหนึ่งด่าอีกฝ่ายว่า "อีกะหรี่" อีกฝ่ายหนึ่งด่ากลับว่า "แม่มึงสิเป็นกะหรี่" หรือ "ไปเอากระโปรงอีนั่นมาคลุมหัวแทนไป๊" ตกลงก็ยังหนีไม่พ้นสังคมที่ดูถูกเพศหญิงอยู่ดี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงสั้นๆ ของชีวิตผมมีโอกาสได้รู้จักคนในแวดวงนักเขียนรูป ผ่านครูสอนวาดเส้นให้ผมคนหนึ่ง ครูผมคนนี้มีเพื่อนคนหนึ่งที่เขาสนิทสนมกันดี ชื่อไสว วงษาพรหม เมื่อคืน ได้สนทนากับคนในแวดวงศิลปะ ที่เรือนชานแห่งหนึ่งที่มีไมตรีให้เพื่อนฝูงเสมอ ผมจึงเพิ่งทราบว่าไสวเสียชีวิตไปหลายปีแล้ว ลอง google ดูพบว่าเขาเสียชีวิตเมื่อ 22 สิงหาคม 2551
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทำไม "เหี้ย ควย หี เย็ด" จึงกลายเป็นภาพเขียนชุดล่าสุดของศิลปินเขียนภาพชั้นนำของไทย ทำไม "กะหรี่" จึงเป็นส่วนหนึ่งของข้อเขียนนักเขียนการ์ตูนผู้ทรงอิทธิพลของไทย ทำไมนักเศรษฐศาสตร์ไทยชั้นนำจึงเขียนคำ "อยากเอา" เป็นความเห็นประกอบภาพวิจารณ์นักการเมือง ทำไมภาษาแบบนี้จึงกลายมาเป็นภาษาทางการเมืองของคนที่มีความสามารถในการสื่อสารเหนือคนทั่วไปเหล่านี้ หลายคนวิเคราะห์แล้วว่า เพราะพวกเขาเร่ิมจนแต้มทางการเมือง "เถียงสู้อีกฝ่ายไม่ได้ก็เลยด่าแม่งไป"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (29 เมษายน 2556) "ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา" และ "ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย" มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดอภิปราย "สู่สันติภาพในอุษาคเนย์" งานนี้จัดท่ามกลางบรรยากาศการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับ BRN
ยุกติ มุกดาวิจิตร
“นักวิชาการเสื้อแดง” เป็นเสมือนตำแหน่งทางวิชาการอย่างหนึ่ง การตีตราตำแหน่งนี้สะท้อนความเฉยชาและคับแคบต่อปัญหาสิทธิมนุษยชนและความเป็นธรรมของปัญญาชนไทย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวานเพ่ิงดูพี่ "มากขา" หลายขา แล้วก็อยากมีความเห็นอย่างใครๆ เขาบ้าง ส่วนใครที่ยังไม่ได้ดูแล้วกำลังคิดจะไปดู ก็อย่าเพ่ิงอ่านครับ เดี๋ยวจะเซ็งเสียก่อน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทุกๆ ปี ผมสอนวิชา “ชาติพันธ์ุ์นิพนธ์: การวิพากษ์และการนำเสนอแนวใหม่” ระดับปริญญาตรี ผมออกแบบให้วิชานี้เป็นการศึกษาแบบสัมมนา มีการแลกเปลี่ยนความเห็นของนักศึกษามากกว่าการบรรยายของผู้สอน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสองวันก่อน มีคนที่สนใจนโยบายรถไฟความเร็วสูงคนหนึ่งถามผมว่า "อาจารย์รู้ไหมว่า โอกาสที่รถไฟไทยจะตรงเวลามีเท่าไหร่" ผมตอบ "ไม่รู้หรอก" เขาบอกว่า "มีเพียง 30%" 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ปีใหม่" เป็นจินตกรรมของเวลาที่กำหนดการสิ้นสุดและการเริ่มต้น ศักราช เวลาของสังคม การจัดระบบของเวลา ล้วนมีเทศกาลกำกับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
น่าละอายใจที่สภาผู้แทนราษฎรปัดตกข้อเสนอของประชาชนกว่าสามหมื่นคนที่เสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ถ้าบอกกันตรงๆ ว่า "กลัวอ่ะ" ก็จบ ประชาชนอาจจะให้อภัยความปอดแหกได้ แต่ประชาชนส่วนหนึ่งจะตัดสินใจไม่เลือกพวกคุณเข้ามาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนฯ อีกอย่างแน่นอน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ยามหมดปีการศึกษาทีไร ก็ชวนให้ทบทวนถึงหน้าที่การงานด้านการเรียนการสอนของตนเอง แต่ผมทำตามแบบที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาแห่งชาติ หรือ สกอ. ให้ทำไม่เป็นหรอก เพราะมันไร้สาระ เป็นกลไกเกินไป และไม่ก่อประโยชน์อะไรนอกจากเปลืองกระดาษและน้ำหมึก ผมมักทำในแบบของผมเองนี่แหละ