Skip to main content

กรณีการออกเสียงชื่อชาว Rohingya ว่าจะออกเสียงอย่างไรดี ผมก็เห็นใจราชบัณฑิตนะครับ เพราะเขามีหน้าที่ต้องให้คำตอบหน่วยงานของรัฐ แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการออกเสียงให้ตายตัวเบ็ดเสร็จว่าควรจะออกเสียงอย่างไรกันแน่ ยิ่งอ้างว่าออกเสียงตามภาษาพม่ายิ่งไม่เห็นด้วย ตามเหตุผลดังนี้ครับ 

1) หากยึดหลักว่าเสียงภาษาพม่าเรียกชื่อชนกลุ่มนี้อย่างไรก็ออกเสียงตามนั้นดังที่ราชบัณฑิตอ้างแล้วล่ะก็ หลักนี้ก็คงใช้กับเฉพาะประเทศพม่าหรืออย่างไร เพราะเพียงแค่ชื่อ อังกฤษ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น ก็ไม่ได้ตรงกับการออกเสียงชื่อชนชาติของเจ้าของภาษาเองแล้ว คนไทยเคยใช้กันอย่างนี้มาจนเคยชินติดปากติดหูแล้ว หากจะให้พยายามไปออกเสียงและเขียนแบบเจ้าของภาษา ก็คงจะโกลาหล  

กรณีโรฮิงญาก็เหมือนกัน ผมเห็นด้วยกับที่มีคนแสดงความเห็นว่า น่าจะออกเสียงและเขียนตามที่เคยทำกันมาอยู่แล้ว ก่อนหน้านี้สังคมไทยเขารู้จักชนกลุ่มนี้กันมากขึ้นแล้ว คงมีเพียงบางหน่วยงานของรัฐและราชบัณฑิตที่เพิ่งตื่นขึ้นมาสนใจเรื่องนี้เมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง ก็เลยเพิ่งสนใจว่าจะออกเสียงอย่างไร 

แต่หากจะยืนยันว่าต้องเรียกตามภาษาทางการของประเทศนั้นๆ ถ้าอย่างนั้น ก็คงจะต้องเปลี่ยนชื่อเรียกชนชาติอีกมากมายในโลกที่คนไทยเรียกอย่างเคยชินอยู่แล้วไปตามการออกเสียงของภาษาที่รัฐบาลใช้เรียกกันมากมาย เช่น ก็คงต้องเปลี่ยนชื่อเรียกชาวเย้าในเวียดนามตามรัฐบาลเวียดนามว่าชาว "ซาว" เรียกชาวไทในเวียดนามตามภาษารัฐบาลเวียดนามว่า "ถาย" ฯลฯ จะเอาอย่างนั้นก็คงจะวุ่นวายน่าดู 

2) อันที่จริง หากจะราชบัณฑิตจะแสดงบทบาทเป็นผู้รู้ของสังคม ก็ควรจะค้นคว้าดูว่า ชื่อเรียกชนชาตินี้ที่เจ้าของสังคมนี้หรือเจ้าตัวของคนในชนชาตินี้เองเขาเรียกน่ะ เขาเรียกตัวเขาเองว่าอย่างไร มากกว่าจะไปพยายามออกเสียงจากเสียงภาษาพม่า ข้อนี้เป็นประเด็นเรื่องการเมืองของชื่อเรียกชนชาติ  

หากราชบัณฑิตจะไม่สนใจอ่านเอกสารภาษาอังกฤษที่มีข้อเสนอเรื่องนี้มากมายจนลงตัวแล้ว ก็โปรดลองอ่านงานของจิตร ภูมิศักดิ์เรื่อง "ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ" (พิมพ์ครั้งแรกปี 2519) อ่านดูว่าชื่อเรียกชนชาติมีความเหลื่อมล้ำทางอำนาจแฝงอยู่อย่างไร อย่างชื่อ "ไท" กับชื่อ "สยาม" จิตรสันนิษฐานว่าชื่อแรกเป็นชื่อที่คนกลุ่มหนึ่งเรียกตนเองอย่างภูมิใจ แปลว่า "คน" ส่วนอีกชื่อหนึ่งน่าจะเป็นชื่อที่คนอื่น เช่นชาวจีน ชาวพม่า เรียกชนกลุ่มนี้ ซึ่งมักจะมีนัยเป็นลบ  

หากเราจะเรียกชื่อใครอย่างเคารพศักดิ์ศรีกัน ก็ควรเรียกชื่อที่เขาอยากให้เรียก มากกว่าจะเรียกชื่อที่คนมีอำนาจเหนือเขาและดูถูกเขาเรียกไม่ใช่หรือ การเมืองเรื่องชาวโรฮิงญาในพม่านั้นเป็นการเมืองของการไม่ยอมรับการมีอยู่อย่างเป็นทางการของกลุ่มชาติพันธ์ุนี้ และจึงมีทั้งการใช้ความรุนแรงจากสังคมและรัฐในการบีบบังคับให้ชาวโรฮิงญาไร้ตัวตน จนทำให้พวกเขาต้องหลบหนีออกนอกประเทศ เราควรเรียกชื่อคนที่ถูกรัฐบาลประเทศนั้นรังแกตามที่รัฐบาลนั้นเรียก หรือเรียกตามที่คนกลุ่มนั้นเขาเรียกตัวเองกันแน่ 

อันที่จริง ถ้ายึดตามหลักข้อนี้ ไม่ใช่เฉพาะชื่อกลุ่มชนในภาษาอื่น ในภาษาไทยเองก็มีชื่อที่เป็นปัญหา ไม่ใช่ชื่อที่เจ้าของชนชาติเขาเรียกตัวเองอยู่มาก เช่น ชื่อ เย้า เจ้าของชนชาติเองเขาจะเรียกตนเองว่า เมี่ยน มากกว่า ส่วนชื่อ แม้ว แม้จะไม่ใช้เรียกกันแล้ว แต่ก็ยังเห็นชอบใช้กันอยู่ในสังคม ชื่อ มูเซอ ก็ควรเปลี่ยนเป็น ล่าหู่  

3) ข้อที่ใหญ่กว่านั้นคือ ปัญหาที่ว่าราชบัณฑิตควรยอมรับบทบาทที่ตนเองเป็นได้เพียงทางเลือกของการใช้ภาษา ไม่ใช่บทบาทของการเป็นผู้บัญญัติกำกับวางหลักเกณฑ์ภาษา รวมทั้งหลักการใช้คำ การสะกด การเขียนต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำศัพท์และภาษาสำเนียงต่างๆ เพราะนี่แสดงให้เห็นถึงการเปิดตัวเองเข้าสู่โลกของการใช้ภาษาที่มีชีวิตชีวา  

ปัญหาหนึ่งของการไล่ตามไม่ทันโลกคือการที่รัฐไทยไม่เข้าใจว่าในโลกนี้มีหลักการใช้ภาษาต่างกับภาษาไทยมากมาย เช่น ในประเทศเวียดนาม ไม่มีการระบุว่าภาษาเวียดนามสำเนียงใดเป็นภาษากลางหรือเป็นภาษามาตรฐาน ข้อนี้ต่างจากประเทศไทย ปัญหาคือเมื่อราชบัณฑิตไทยกำกับการเขียนภาษาเวียดนามในภาษาไทย ก็จะอิงสำเนียงหนึ่ง นั่นก็คืออิงสำเนียงภาษาเหนือ เพราะคงจะถือเอาตามความเคยชินอย่างประเทศไทยว่า ภาษาของคนกลุ่มที่มีอำนาจที่สุดก็น่าจะเป็นภาษามาตรฐาน  

แท้จริงแล้วการเมืองเรื่องภาษาถิ่นในเวียดนามนั้นเปิดกว้างกว่าประเทศไทย รัฐบาลเวียดนามไม่ได้ห้ามใช้ภาษาถิ่นอย่างเป็นทางการแบบประเทศไทย ผู้ประกาศข่าวหรือผู้ประกาศในทีวี วิทยุ ซึ่งทั้งหมดเป็นของรัฐ สามารถใช้ภาษาถิ่นได้เป็นปกติ ดังนั้นหากจะเคารพการออกเสียงแบบคนเวียดนามเอง ก็ควรจะยอมให้มีการเขียนถ่ายเสียงภาษาเวียดนามในภาษาไทยได้หลายสำเนียงของเวียดนามด้วย เพียงแต่ผู้ใช้ควรระบุก่อนว่าจะใช้สำเนียงใด 

แต่ที่ประหลาดคือ แม้ราชบัณฑิตไทยจะอ้างว่าใช้สำเนียงเวียดนามเหนือมาตลอด แต่ไม่ทราบว่าหูของนักภาษาศาสตร์ประจำราชบัณฑิตไทยที่วางกรอบการเขียนภาษาเวียดนามเป็นภาษาไทยจะไม่ดีหรือว่าท่านเหล่านั้นจะภาษาไทยไม่ดีก็ไม่ทราบได้ เพราะกฎการถ่ายเสียงภาษาเวียดนามเป็นภาษาไทยของราชบัณฑิตไทยเพี้ยนทั้งเสียงวรรณยุกต์และเสียงพยัญชนะอยู่หลายที่ทีเดียว อีกทั้งยังไม่คงเส้นคงวาในการออกเสียงว่าจะยึดสำเนียงใด  

ข้อนี้มีรายละเอียดที่ต้องเขียนถึงแยกต่างหากออกไป แต่ในที่นี้เพียงเพื่อต้องการยกตัวอย่างให้เห็นว่า เมื่อภาษาไทยกับภาษาต่างๆ ในโลกแลกเปลี่ยนปนเปกันแล้ว ภาษาไทยก็ไม่สามารถหยุดนิ่งหรืออยู่ใต้การกำกับขององค์กรใดอย่างตายตัวเท่านั้นได้ ซึ่งที่จริงนี่ก็ไม่ต่างอะไรกับโลกยุคโบราณ ที่ภาษาเปลี่ยนแปลงเสมอเช่นกัน คงมีเพียงยุคหนึ่งเท่านั้นที่ชนชั้นนำสยาม-ไทยพยายามที่จะจำกัด ตีกรอบ การใช้ภาษาให้ตายตัวมากขึ้น 

หากประเทศไทยจะสนใจปัญหาสิทธิมนุษยชน ให้ความสนใจคนกลุ่มชาติพันธ์ุที่ถูกเอารัดเอาเปรียบด้วยหลักมนุษยธรรมในมาตรฐานของชาวโลกสากล การหาชื่อเรียกคนกลุ่มใดๆ ก็ควรจะหาชื่อที่คนกลุ่มนั้นยอมรับเอง ออกเสียงเอง ไม่ดีกว่าหรือ ไหนๆ ก็มีชาวโรฮิงญาอยู่ในประเทศไทยไม่น้อยแล้ว ราชบัณฑิตจะใช้ความรู้ทางภาษาศาสตร์ กับความถ่อมตนทางมนุษยธรรม เดินไปถามพวกเขาเองสักสิบคนยี่สิบคนว่าเขาออกเสียงเรียกชื่อตนเองอย่างไร แล้วค่อยระบุว่าจะออกเสียงอย่างไร จะดีกว่าไหม

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เกียวโตไม่ใช่เมืองที่ผมไม่เคยมา ผมมาเกียวโตน่าจะสัก 5 ครั้งแล้วได้ มาแต่ละครั้งอย่างน้อย ๆ ก็ 7 วัน บางครั้ง 10 วันบ้าง หรือ 14 วัน ครั้งก่อน ๆ นั้นมาสัมมนา 2 วันบ้าง 5 วันบ้าง หรือแค่ 3 ชั่วโมงบ้าง แต่คราวนี้ได้ทุนมาเขียนงานวิจัย จึงเรียกได้ว่ามา "อยู่" เกียวโตจริง ๆ สักที แม้จะช่วงสั้นเพียง 6 เดือนก็ตาม เมื่ออยู่มาได้หนึ่งเดือนแล้ว ก็อยากบันทึกอะไรไว้สักเล็กน้อยเกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการญี่ปุ่นที่ผมรู้จักมากสัก 10 กว่าปีมีจำนวนมากพอสมควร ผมแบ่งเป็นสองประเภทคือ พวกที่จบเอกจากอังกฤษ สหรัฐอเมริกา กับพวกที่จบเอกในญี่ปุ่น แต่ทั้งสองพวก ส่วนใหญ่เป็นทั้งนักดื่มและ foody คือเป็นนักสรรหาของกิน หนึ่งในนั้นมีนักมานุษยวิทยาช่างกินที่ผมรู้จักที่มหาวิทยาลัยเกียวโตคนหนึ่ง ค่อนข้างจะรุ่นใหญ่เป็นศาสตราจารย์แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สองวันก่อนเห็นสถาบันวิจัยชื่อดังแห่งหนึ่งในประเทศไทยนำการเปรียบเทียบสัดส่วนทุนวิจัยอย่างหยาบ ๆ ของหน่วยงานด้านการวิจัยที่ทรงอำนาจแต่ไม่แน่ใจว่าทรงความรู้กี่มากน้อยของไทย มาเผยแพร่ด้วยข้อสรุปว่า ประเทศกำลังพัฒนาเขาไม่ทุ่มเทลงทุนกับการวิจัยพื้นฐานมากกว่าการวิจัยประยุกต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรส่งเสริมการทำวิจัยแบบที่สามารถนำไปต่อยอดทำเงินได้ให้มากที่สุด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ต้นปีนี้ (ปี 2559) ผมมาอ่านเขียนงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ผมมาถึงเมื่อวานนี้เอง (4 มกราคม 2559) เอาไว้จะเล่าให้ฟังว่ามาทำอะไร มาได้อย่างไร ทำไมต้องมาถึงที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นับวัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะยิ่งตกต่ำและน่าอับอายลงไปทุกที ล่าสุดจากถ้อยแถลงของฝ่ายการนักศึกษาฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันถือได้ว่าเป็นการแสดงท่าทีของคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่อการแสดงออกของนักศึกษาในกรณี "คณะส่องทุจริตราชภักดิ์" ที่มีทั้งนักศึกษาปัจจุบันและศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รวมอยู่ด้วย ผมมีทัศนะต่อถ้อยแถลงดังกล่าวดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สำหรับการศึกษาระดับสูง ผมคิดว่านักศึกษาควรจะต้องใช้ความคิดกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเป็นระบบ เป็นชุดความคิดที่ใหญ่กว่าเพียงการตอบคำถามบางคำถาม สิ่งที่ควรสอนมากกว่าเนื้อหาความรู้ที่มีอยู่แล้วคือสอนให้รู้จักประกอบสร้างความรู้ให้เป็นงานเขียนของตนเอง ยิ่งในระดับปริญญาโทและเอกทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ถึงที่สุดแล้วนักศึกษาจะต้องเขียนบทความวิชาการหรือตัวเล่มวิทยานิพนธ์ หากไม่เร่งฝึกเขียนอย่างจริงจัง ก็คงไม่มีทางเขียนงานใหญ่ ๆ ให้สำเร็จด้วยตนเองได้ในที่สุด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่เห็นด้วยกับการเซ็นเซอร์ ไม่เห็นด้วยกับการห้ามฉายหนังแน่ๆ แต่อยากทำความเข้าใจว่า ตกลงพระในหนังไทยคือใคร แล้วทำไมรัฐ ซึ่งในปัจจุบันยิ่งอยู่ในภาวะกะลาภิวัตน์ อนุรักษนิยมสุดขั้ว จึงต้องห้ามฉายหนังเรื่องนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ใน บทสัมภาษณ์นี้ (ดูคลิปในยูทูป) มาร์แชล ซาห์ลินส์ (Marshall Sahlins) นักมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโกให้สัมภาษณ์ต่อหน้าที่ประชุม ซาห์สินส์เป็นนักมานุษยวิทยาอเมริกันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งที่แวดวงมานุษยวิทยายังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน เขาเชี่ยวชาญสังคมในหมู่เกาะแปซิฟิค ทั้งเมลานีเชียนและโพลีนีเชียน ในบทสัมภาษณ์นี้ เขาอายุ 83 ปีแล้ว (ปีนี้เขาอายุ 84 ปี) แต่เขาก็ยังตอบคำถามได้อย่างแคล่วคล่อง ฉะฉาน และมีความจำดีเยี่ยม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การรับน้องจัดได้ว่าเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่ง เป็นพิธีกรรมที่วางอยู่บนอุดมการณ์และผลิตซ้ำคุณค่าบางอย่าง เนื่องจากสังคมหนึ่งไม่ได้จำเป็นต้องมีระบบคุณค่าเพียงแบบเดียว สังคมสมัยใหม่มีวัฒนธรรมหลายๆ อย่างที่ทั้งเปลี่ยนแปลงไปและขัดแย้งแตกต่างกัน ดังนั้นคนในสังคมจึงไม่จำเป็นต้องยอมรับการรับน้องเหมือนกันหมด หากจะประเมินค่าการรับน้อง ก็ต้องถามว่า คุณค่าหรืออุดมการณ์ที่การรับน้องส่งเสริมนั้นเหมาะสมกับระบบการศึกษาแบบไหนกัน เหมาะสมกับสังคมแบบไหนกัน เราเองอยากอยู่ในสังคมแบบไหน แล้วการรับน้องสอดคล้องกับสังคมแบบที่เราอยากอยู่นั้นหรือไม่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การได้อ่านงานทั้งสามชิ้นในโครงการวิจัยเรื่อง “ภูมิทัศน์ทางปัญญาแห่งประชาคมอาเซียน” ปัญญาชนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (และที่จริงได้อ่านอีกชิ้นหนึ่งของโครงการนี้คืองานศึกษาปัญญาชนของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามคนสำคัญอีกคนหนึ่ง คือเจื่อง จิง โดยอ.มรกตวงศ์ ภูมิพลับ) ก็ทำให้เข้าใจและมีประเด็นที่ชวนให้คิดเกี่ยวกับเรื่องปัญญาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ผมคงจะไม่วิจารณ์บทความทั้งสามชิ้นนี้ในรายละเอียด แต่อยากจะตั้งคำถามเพิ่มเติมบางอย่าง และอยากจะลองคิดต่อในบริบทที่กว้างออกไปซึ่งอาจจะมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์กับผู้วิจัยและผู้ฟังก็สุดแล้วแต่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เชอร์รี ออร์ตเนอร์ นักมานุษยวิทยาผู้เชี่ยวชาญเนปาล แต่ภายหลังกลับมาศึกษาสังคมตนเอง พบว่าชนชั้นกลางอเมริกันมักมองลูกหลานตนเองดุจเดียวกับที่พวกเขามองชนชั้นแรงงาน คือมองว่าลูกหลานตนเองขี้เกียจ ไม่รู้จักรับผิดชอบตนเอง แล้วพวกเขาก็กังวลว่าหากลูกหลานตนเองไม่ปรับตัวให้เหมือนพ่อแม่แล้ว เมื่อเติบโตขึ้นก็จะกลายเป็นผู้ใช้แรงงานเข้าสักวันหนึ่ง (ดู Sherry Ortner "Reading America: Preliminary Notes on Class and Culture" (1991)) 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (23 กค. 58) ผมไปนั่งฟัง "ห้องเรียนสาธารณะเพื่อประชาธิปไตยใหม่ครั้งที่ 2 : การมีส่วนร่วมและสิทธิชุมชน" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตลอดทั้งวันด้วยความกระตืนรือล้น นี่นับเป็นงานเดียวที่ถึงเลือดถึงเนื้อมากที่สุดในบรรดางานสัมมนา 4-5 ครั้งที่ผมเข้าร่วมเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา เพราะนี่ไม่ใช่เพียงการเล่นกายกรรมทางปัญญาหรือการเพิ่มพูนความรู้เพียงในรั้วมหาวิทยาลัย แต่เป็นการรับรู้ถึงปัญหาผู้เดือดร้อนจากปากของพวกเขาเองอย่างตรงไปตรงมา