Skip to main content

ในโลกนี้มีสังคมมากมายที่ไม่ได้นับว่าตนเองเป็นกลุ่มชนเดียวกัน และการแบ่งแยกความแตกต่างของกลุ่มคนนั้นก็ไม่ได้ทาบทับกันสนิทกับความเป็นประเทศชาติ ชาว Rohingya (ขอสงวนการเขียนด้วยอักษรโรมัน เพราะไม่เห็นด้วยกับการออกเสียงตามภาษาพม่า) ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของกลุ่มคนที่ไม่ได้มีขอบเขตพื้นที่ที่อาศัยครอบครองอยู่ทาบกันสนิทกับขอบเขตพื้นที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง 

ปัญหาการอพยพจากถิ่นฐานของชาว Rohingya จึงจำเป็นต้องเข้าใจภาพที่กว้างกว่าปัญหาชาว Rohingya นั่นคือต้องทำความเข้าใจกระบวนการที่ก่อให้เกิดกลุ่มสังคมที่ซ้อนทับอยู่ในสังคมการเมืองที่เรารู้จักกันว่ารัฐประชาชาติ (nation-state)  

ก่อนที่จะมีประเทศชาติแบบที่เรารู้จักกันว่าเป็นประเทศไทย ประเทศลาว ประเทศพม่า ฯลฯ นั้น มีสังคมที่รวมตัวกันอยู่ตามกรอบของกลุ่มสังคมแบบต่างๆ กลุ่มสังคมเหล่านั้นรวมตัวกันโดยสำนึกว่ากลุ่มตนแยกแตกต่างจากกลุ่มอื่นๆ และจึงมีชื่อเรียกลัทธิธรรมเนียม ภาษา วิถีชีวิตเฉพาะของตนเอง เช่น ชาวม้ง ชาวเมี่ยน ชาวลาหู่ ฯลฯ 

ฉะนั้น นอกจากสังคมครอบครัว สังคมชุมชนหมู่บ้าน สังคมเครือข่ายการค้า สังคมนครรัฐ สังคมประเทศ และสังคมโลกแล้ว ยังมีสังคมที่เรียกว่าชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ (ethnic community) ซ้อนทับอยู่ด้วย 

 

มีผู้ให้คำจำกัดความของกลุ่มชาติพันธุ์ว่าหมายถึง กลุ่มคนที่ให้ความสำคัญกับความเชื่อที่เป็นอัตวิสัยว่าพวกเขามีบรรพบุรุษร่วมกัน เนื่องมาจากการมีลักษณะทางกายภาพคล้ายคลึงกันหรือมีประเพณีคล้ายคลึงกัน หรือมีทั้งสองอย่าง หรือเนื่องจากความทรงจำจากการถูกทำให้เป็นอาณานิคมหรือจากการอพยพ ความเชื่อนี้สำคัญต่อการชวนเชื่อเพื่อการก่อตัวเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ในทางตรงกันข้าม ความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์นี้ไม่จำเป็นที่ว่าจะต้องมีสายเลือดเดียวกันอย่างเป็นวัตถุวิสัยŽ (Max Weber. Economy and Society. Berkeley: University of California Press, 1978 [1968], p. 389.) 


สิ่งที่น่าสังเกตจากคำจำกัดความดังกล่าวนี้คือ (1) กลุ่มชาติพันธุ์ไม่ได้จำเป็นต้องสืบเชื้อสายเดียวกันจริงๆ ความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันจึงต่างจากความเป็นเครือญาติที่นับตามการสืบเชื้อสายได้ชัดเจนกว่า (2) ความคล้ายคลึงกันของวัฒนธรรมอาจจะทำให้คนบางกลุ่มนับว่าคนอีกกลุ่มที่มีวัฒนธรรมเหมือนๆ กับกลุ่มตน เป็นคนกลุ่มเดียวกับตน (3) ความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไม่ได้จำเป็นต้องสืบทอดต่อเนื่องกันมา เพราะอาจเกิดจากการกำหนดขึ้นของสังคมที่มีอำนาจมากกว่า เช่น รัฐอาณานิคม และที่สำคัญคือเกิดจากความทรงจำร่วมของสังคม ที่อาจจะรางเลือนหรือถูกกำหนดขึ้นมาภายหลัง 

สรุปแล้ว ที่เรียกกันทั่วไปว่าคนกลุ่มหนึ่งเป็นคนชนชาติเดียวกันจึงเป็นการสมมุติขึ้นมา อุปโลกน์กันขึ้นมาจากความเหมือนกันของรูปร่างหน้าตาผิวพรรณหรือเหมือนกันด้านวัฒนธรรมหรือทั้งสองอย่าง หรืออาจจะถูกกำหนดขึ้นมาจากกลุ่มคนที่มีอำนาจมากกว่า หรือจากความทรงจำเท่านั้นเอง

ดังนั้น เราจึงอาจจะพบตัวอย่างที่ซับซ้อนหลายตัวอย่าง เช่น ตัวอย่างง่ายๆ ในประเทศไทยคือความเป็นคนไทย ก็ไม่ได้ถูกกำหนดขึ้นมาจากสายเลือด เพราะที่เรียกกันว่าคนไทยนั้น มีทั้งที่สืบเชื้อสายมาจากคนที่อพยพมาจากทางเหนือ (คนพูดภาษาตระกูลลาว/ไท/ไต) ผสมกับคนที่อาศัยอยู่ทางใต้ (คนพูดภาษาตระกูลมอญ-ขแมร์และภาษามลายู) ผสมกับคนอพยพจากประเทศจีนตอนใต้ และคนกลุ่มอื่นๆ อีกมากมาย ในบางกรณีสังคมสองสังคมอาจพูดภาษาเดียวกันชนิดที่เหมือนกันสนิท หากแต่แต่งกาย อยู่อาศัย และใช้ชื่อเรียกแตกต่างกันไปจากคนอีกกลุ่มที่พูดภาษาเดียวกันสำเนียงเดียวกัน กรณีแบบนี้พบได้เสมอๆ ไม่ว่าจะในประวัติศาสตร์อันยาวนาน หรือในสมัยปัจจุบัน 

ตัวอย่างเหล่านี้มีมากมาย เช่น ชาวไทดำและไทขาวของบางเมืองในประเทศเวียดนามปัจจุบัน ที่ใช้ชื่อเรียกชนชาติตนเองแตกต่างกัน มีวิถีชีวิตแตกต่างกันบ้างเพียงเล็กน้อย หากแต่คนทั้งสองกลุ่มใช้ภาษาพูดสำเนียงเดียวกัน หรือในทางกลับกัน คนบางกลุ่มมีภาษาและวิถีชีวิตใกล้เคียงกันหรือส่วนใหญ่เหมือนกัน หากแต่มีสำนึกความเป็นกลุ่มชนชาติคนละกลุ่มกัน เช่น ชาวกิงญ์และชาวหง่วนในเวียดนามตอนกลาง ที่มีวิถีชีวิตคล้ายกัน ประชากรจำนวนมากใช้ภาษาเดียวกันคือภาษาเวียด แต่สำนึกความเป็นกลุ่มคนเป็นคนละกลุ่มกัน

กลุ่มชาติพันธุ์ส่วนใหญ่มีมาก่อนการมีรัฐประชาชาติ เมื่อเกิดสังคมรัฐประชาชาติขึ้นหลังการผละออกไปของอำนาจอาณานิคม ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ อย่างใหญ่หลวง จนก่อให้เกิดกลุ่มชาติพันธุ์ 3 ลักษณะด้วยกันดังนี้

กลุ่มแรก "ชนกลุ่มใหญ่"Ž ชนชาติพันธุ์ที่อุปโลกน์ว่าตนเป็นชนกลุ่มใหญ่ มักเข้าใจเอาเองว่าตนเองคือชนพื้นเมือง เป็นเจ้าถิ่น และมีจำนวนประชากรมากที่สุด เป็นชนที่มีพัฒนาการทางสังคมเหนือชนกลุ่มอื่นในประเทศ อันที่จริงการกล่าวว่าชนกลุ่มใดเป็นชนพื้นเมืองของพื้นที่ใดนั้นกล่าวได้ยากนัก เนื่องจากไม่มีทางระบุได้ว่านานแค่ไหนจึงจะเรียกได้ว่านานพอจะทำให้คนกลุ่มหนึ่งเป็นชนพื้นเมือง เพราะหากย้อนถอยไปนับล้านปี มนุษย์ทุกเผ่าพันธุ์ในปัจจุบันก็ล้วนเดินทางออกมาจากทวีปแอฟริกาทั้งสิ้น

หรือหากจะยึดเอาเฉพาะพื้นที่ในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีผู้สันนิษฐานว่าเดิมทีดินแดนนี้เป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชนดั้งเดิมที่สืบเชื้อสายจากมนุษย์ยุคแรกๆ ที่เดินทางออกจากแอฟริกามาตั้งถิ่นฐานเก็บของป่า-ล่าสัตว์ริมชายฝั่งทะเลและบนที่สูง จากนั้นจึงมีคนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งกลายเป็นชนกลุ่มใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบันค่อยๆ อพยพลงมาตั้งถิ่นฐานและทำการเกษตรในที่ลุ่มและที่สูงเมื่อสัก 7,000 ปีมานี้เอง เรียกว่าคนเชื้อสายมองโกเลียน (Mongolian) ซึ่งก็ไม่ได้เป็นชนกลุ่มเดียวกันทั้งหมด สังเกตได้จากภาษาที่แยกแตกออกไปถึง 5 ตระกูลภาษา 

ดังนั้น ความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในส่วนหนึ่งจึงมีความเปลี่ยนแปลง ขาดตอน ไม่ได้สืบเนื่องยาวนานอย่างแท้จริง

แท้จริงแล้ว คนกลุ่มใหญ่เป็นเพียงชนที่มีอำนาจมากที่สุด ก็คือคนที่ยึดกุมอำนาจเศรษฐกิจและการเมือง เช่นในประเทศไทย คนที่เรียกตนเองว่าคนไทยภาคกลาง อาจจะหลงนึกว่าตนเองคือคนกลุ่มใหญ่ของประเทศไทย แต่อันที่จริงหากสำรวจประชากรตามชาติพันธุ์จริงๆ แล้ว คนลาวŽ ที่ภายหลังถูกกำหนดให้เรียกว่าคนอีสาน น่าจะมีประชากรมากกว่าคนไทยภาคกลาง ในประเทศพม่า หากนับรวมกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ทั้งมอญ ไท ปกากะญอ Rohingya ฉิ่น คะฉิ่นแล้ว ชนพม่าอาจจะมีจำนวนประชากรน้อยกว่าประชากรคนเหล่านั้นรวมกัน หากแต่คนไทยภาคกลางในประเทศไทยและคนพม่าในประเทศพม่าก็กลับเข้าใจตนเองว่าเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ทั้งนี้ เพราะมองข้ามความสำคัญของคนกลุ่มอื่น และต้องการจำกัดอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจให้อยู่ภายในมือของคนกลุ่มตนเท่านั้น

กลุ่มที่สอง "ชนกลุ่มน้อย"Ž กลุ่มคนที่มีสถานะนี้ส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีประชากรน้อย สังคมของพวกเขาก่อตัวเป็นสังคมขนาดเล็ก ที่ปัจจุบันอาจจะมีประชากรเหลือเพียงหลักร้อย พวกเขาอาจมีจำนวนลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากแต่งงานแล้วผสมกลืนกลายไปเป็นชนกลุ่มอื่น อย่างไรก็ตาม แท้จริงแล้วมีกลุ่มชาติพันธุ์จำนวนมากที่ไม่ได้มีจำนวนประชากรเพียงเล็กน้อย หากแต่เป็นกลุ่มคนที่ถูกทำให้กลายเป็นชนกลุ่มน้อย ทั้งๆ ที่คนเหล่านี้เคยเป็นคนกลุ่มใหญ่ในพื้นที่ที่กลุ่มตนเคยครองอำนาจอยู่มายาวนาน 

ยกตัวอย่างเช่น กรุงเทพฯ ในศตวรรษที่ 19 ประชากรของกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่นั้นเป็นประชากรชาวจีนอพยพ ชาวกรุงเทพฯŽ ในอดีตจึงเป็นชาวจีนโดยกำเนิดทางเชื้อชาติ หากแต่คนเหล่านี้เปลี่ยนสำนึกตนเองให้เป็นชาวไทยไม่ได้ด้วยความสมัครใจ แต่ด้วยกฎหมาย ด้วยนโยบายสร้างความเป็นไทยและกดขี่ความเป็นจีนตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมาต่างหาก ที่ทำให้คนจีนกรุงเทพฯ มีสำนึกความเป็นไทยขึ้นมา หรือในภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย ชาวมลายูที่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม เดิมทีและในขณะนี้พวกเขาก็ยังคงเป็นชนกลุ่มใหญ่ของท้องถิ่นนั้น หากแต่เมื่อดินแดนแห่งนั้นถูกผนวกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศสยามในต้นศตวรรษที่ 20 แล้ว ชาวมลายูก็ถูกแปลงให้กลายเป็นชนกลุ่มน้อยของประเทศไทย

ในประเทศเวียดนาม มีชนกลุ่มใหญ่ในท้องถิ่นที่ตนเองอาศัยอยู่ยาวนานมากมายที่กลายเป็นชนกลุ่มน้อยเมื่อเกิดรัฐประชาชาติขึ้นมา เช่น ในภาคเหนือ ที่ราบลุ่มแม่น้ำแดงนั้นเรียกได้ว่าเป็นถิ่นที่อยู่เก่าแก่ของชาวเหวียด หรือคนที่เรียกตนเองว่าชาวกิงญ์ (Kinh) หากแต่บนที่สูงภาคเหนือของเวียดนาม มีคนหลายกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่ แต่คนกลุ่มใหญ่คือกลุ่มชาติพันธุ์ไต (หรือไท) ที่ก็แยกย่อยเป็นกลุ่มต่างๆ อีกมากมาย อย่างไรก็ดี เมื่อประเทศเวียดนามเหนือก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1954 แล้ว คนไทถูกนับเป็นชนกลุ่มน้อย ต้องปรับวิถีชีวิตให้เข้าใกล้แบบแผนการดำเนินชีวิตของชาวกิงญ์มากขึ้น และต้องดำเนินชีวิตตามการกำหนดนโยบายที่ส่วนใหญ่แล้วกำหนดโดยชาวกิงญ์

กลุ่มที่สาม คือกลุ่มที่อยู่ในสถานะย่ำแย่ที่สุดคือ "กลุ่มชนที่ไม่มีอยู่"Ž คนกลุ่มนี้มีทั้งกลุ่มคนที่ได้รับการรับรองสถานภาพบางอย่างจากรัฐประชาชาติ เช่น กลุ่มคนที่ชื่อเรียกชนชาติของพวกเขาไม่ได้รับการรับรองจากรัฐบาลของประเทศเขา เช่นชื่อ Rohingya นอกจากนั้นยังมีคนต่างด้าวแบบต่างๆ ที่แต่ละรัฐประชาชาติจะรับรองสถานะแตกต่างกันออกไป คนเหล่านี้แม้จะได้สถานภาพตามกฎหมาย หากแต่ด้วยการที่พวกเขาไม่มีสิทธิบางประการเท่าเทียมกับพลเมืองของประเทศนั้นๆ พวกเขาจึงอาจจะถูกละเมิดได้โดยง่าย นอกจากนั้นยังมีกลุ่มคนที่สถานะต่ำลงมา ได้แก่ ผู้อพยพในค่ายผู้อพยพและที่พักพิงชั่วคราว 

คนเหล่านี้นอกจากจะถูกกักบริเวณแล้วยังไม่สามารถประกอบอาชีพได้ คนที่ลำบากไม่น้อยไปกว่ากันในกลุ่มนี้ได้แก่คนไร้สัญชาติ ซึ่งกล่าวได้ว่าไม่ได้รับการรับรองจากรัฐประชาชาติใดๆ เลย แม้ว่าจะอยู่อาศัยเป็นหลักแหล่งในรัฐประชาชาติหนึ่งเป็นระยะเวลายาวนานแล้วก็ตาม

กรณีชาว Rohingya พวกเขามีสถานะแทบทุกอย่างของทุกกลุ่มคนข้างต้น ในระดับหนึ่ง พวกเขาเป็นคนกลุ่มค่อนข้างใหญ่ในรัฐยะไข่ที่ถูกทำให้กลายเป็นชนกลุ่มน้อยของรัฐประชาชาติพม่า ในอีกระดับหนึ่ง พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่อยู่ในพื้นที่ต่อแดนระหว่างประเทศพม่ากับประเทศบังกลาเทศ จึงกลายเป็นคนที่ถูกไม่ไว้วางใจจากทั้งสองประชารัฐ จนถึงระดับที่สาม คือพวกเขาเป็นกลุ่มชนที่รัฐประเทศพม่าไม่ยอมรับการมีอยู่อย่างเป็นทางการ ยิ่งเมื่อพวกเขาเลือกที่จะหนีจากสภาพการถูกละเมิดอย่างรุนแรงในพม่า พวกเขาจึงอยู่ในสถานะกลุ่มชนพลัดถิ่นที่ไร้สถานภาพโดยสิ้นเชิง

อันที่จริงรัฐประชาชาติต่างๆ ล้วนเลือกบริหารจัดการกลุ่มชาติพันธุ์ด้วยนโยบายที่ต่างกันออกไป ทั้งนี้ ขึ้นกับประวัติศาสตร์ ความซับซ้อนของกลุ่มชาติพันธุ์ และอำนาจต่อรองของกลุ่มชาติพันธุ์ รัฐประชาชาติอย่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนามนั้น เกิดขึ้นมาจากความหลากหลายทางชาติพันธุ์หรือชนชาติสูงมาก จึงยังต้องคงความแตกต่างเอาไว้มากกว่า ส่วนรัฐประชาชาติอย่างประเทศไทยนั้น เลือกที่จะจำกัดสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างรุนแรง จึงกดขี่และกีดกันทางเลือกของกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 

ปัญหากลุ่มชาติพันธุ์จึงเป็นปัญหาที่จะยังคงไม่หมดสิ้นไปจากโลกนี้ได้ง่ายๆ จบปัญหาจากคนกลุ่มหนึ่ง ก็จะยังมีปัญหาใหม่ๆ ตามมาอีกเรื่อยๆ ตราบเท่าที่โลกนี้ยังแบ่งแยกกันเป็นรัฐประชาชาติดังในปัจจุบัน

 

(ที่มา:มติชนรายวัน 18 มิ.ย.2558)

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอแสดงความคารวะจากใจจริงถึงความกล้าหาญจริงจังของพวกคุณ พวกคุณแสดงออกซึ่งโครงสร้างอารมณ์ของยุคสมัยอย่างจริงใจไม่เสแสร้ง อย่างที่แม่ของพวกคุณคนหนึ่งบอกกล่าวกับผมว่า "พวกเขาก็เป็นผลผลิตของสังคมในยุค 10 ปีที่ผ่านมานั่นแหละ" นั่นก็คือ พวกคุณได้สื่อถึงความห่วงใยต่ออนาคตของสังคมไทยที่พวกคุณนั่นแหละจะต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อไปให้สังคมได้รับรู้แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปฏิกิริยาของสังคมต่อการกักขังนักศึกษา 14 คนได้ชี้ให้เห็นถึงการก้าวพ้นกำแพงความกลัวของประชาชน อะไรที่กระตุ้นให้ผู้คนเหล่านี้แสดงตัวอย่างฉับพลัน และการแสดงออกเหล่านี้มีนัยต่อสถานการณ์ขณะนี้อย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในโลกนี้มีสังคมมากมายที่ไม่ได้นับว่าตนเองเป็นกลุ่มชนเดียวกัน และการแบ่งแยกความแตกต่างของกลุ่มคนนั้นก็ไม่ได้ทาบทับกันสนิทกับความเป็นประเทศชาติ ชาว Rohingya (ขอสงวนการเขียนด้วยอักษรโรมัน เพราะไม่เห็นด้วยกับการออกเสียงตามภาษาพม่า) ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของกลุ่มคนที่ไม่ได้มีขอบเขตพื้นที่ที่อาศัยครอบครองอยู่ทาบกันสนิทกับขอบเขตพื้นที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงเวลาของการสัมภาษณ์นักศึกษาใหม่ในแต่ละปีถือเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่ผมจะใช้อัพเดทความเปลี่ยนแปลงของสังคมหรือทำความเข้าใจสังคม จากมุมมองและประสบการณ์ชีวิตสั้นๆ ของนักเรียนที่เพิ่งจบการศึกษามัธยม ปีที่ผ่านๆ มาผมและเพื่อนอาจารย์มักสนุกสนานกับการตรวจสอบสมมติฐานของแต่ละคนว่าด้วยประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง บางทีก็ตรงกับที่มีสมมติฐานไว้บ้าง บางทีก็พลาดไปบ้าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (31 พค. 58) ผมไปเป็นเพื่อนหลานสาววัย 13 ปี ที่ชวนให้ไปเที่ยวงานเทศกาลการ์ตูนญี่ปุ่นที่โรงแรมแห่งหนึ่งแถวถนนสุขุมวิท ผมเองสนับสนุนกิจกรรมเขียนการ์ตูนของหลานอยู่แล้ว และก็อยากรู้จักสังคมการ์ตูนของพวกเขา ก็เลยตอบรับคำชวน เดินทางขึ้นรถเมล์ ต่อรถไฟฟ้าไปกันอย่างกระตือรือล้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สนามบินที่ไหนๆ ก็ดูเหมือนๆ กันไปหมด อยู่ที่ว่าจะออกจากไหน ด้วยเรื่องราวอะไร หรือกำลังจะไปเผชิญอะไร ในความคาดหวังแบบไหน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ปับ เจียน ความ เจ้า ปัว ฟ้า" แปลตามตัวอักษรได้ว่า "หนังสือ เล่า เรื่อง เจ้า กษัตริย์ (แห่ง)ฟ้า" ซึ่งก็คือไบเบิลนั่นเอง แต่แปลเป็นภาษาไทดำแล้วพิมพ์ด้วยอักษรไทดำ อักษรลาว และอักษรเวียดนาม เมื่ออ่านแล้วจะออกเสียงและใช้คำศัพท์ภาษาไทดำเป็นหลัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
กรณีการออกเสียงชื่อชาว Rohingya ว่าจะออกเสียงอย่างไรดี ผมก็เห็นใจราชบัณฑิตนะครับ เพราะเขามีหน้าที่ต้องให้คำตอบหน่วยงานของรัฐ แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการออกเสียงให้ตายตัวเบ็ดเสร็จว่าควรจะออกเสียงอย่างไรกันแน่ ยิ่งอ้างว่าออกเสียงตามภาษาพม่ายิ่งไม่เห็นด้วย ตามเหตุผลดังนี้ครับ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (7 พค. 58) ผมสอนวิชา "มานุษยวิทยาวัฒนธรรม" ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินเป็นวันสุดท้าย มีเรื่องน่ายินดีบางอย่างที่อยากบันทึกไว้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
มันคงมีโครงสร้างอะไรบางอย่างที่ทำให้ "ร้านสะดวกซื้อ" เกิดขึ้นมาแทนที่ "ร้านขายของชำ" ได้ ผมลองนึกถึงร้านขายของชำสามสี่เมืองที่ผมเคยอาศัยอยู่ชั่วคราวบ้างถาวรบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อปี 2553 เป็นปีครบรอบวันเกิด 80 ปี จิตร ภูมิศักดิ์ มีการจัดงานรำลึกใหญ่โตที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเอ่ยถึงจิตรทีไร ผมก็มักเปรยกับอาจารย์ประวัติศาสตร์จุฬาฯ ท่านหนึ่งว่า "น่าอิจฉาที่จุฬาฯ มีวิญญาณของความหนุ่ม-สาวผู้ชาญฉลาดและหล้าหาญอย่างจิตรอยู่ให้ระลึกถึงเสมอๆ" อาจารย์คณะอักษรฯ ที่ผมเคารพรักท่านนี้ก็มักย้อนบอกมาว่า "ธรรมศาสตร์ก็ต้องหาคนมาเชิดชูของตนเองบ้าง"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันที่ 30 เมษายน 2558 เป็นวันครบรอบ 40 ปี "ไซ่ง่อนแตก"Ž เดิมทีผมก็ใช้สำนวนนี้อยู่ แต่เมื่อศึกษาเกี่ยวกับเวียดนามมากขึ้น ก็กระอักกระอ่วนใจที่จะใช้สำนวนนี้ เพราะสำนวนนี้แฝงมุมมองต่อเวียดนามแบบหนึ่งเอาไว้