Skip to main content

ปฏิกิริยาของสังคมต่อการกักขังนักศึกษา 14 คนได้ชี้ให้เห็นถึงการก้าวพ้นกำแพงความกลัวของประชาชน อะไรที่กระตุ้นให้ผู้คนเหล่านี้แสดงตัวอย่างฉับพลัน และการแสดงออกเหล่านี้มีนัยต่อสถานการณ์ขณะนี้อย่างไร

(1)

หากจะลองทบทวนดูสักหน่อย จะเห็นขั้นตอนของการขยายขอบวงของการก้าวพ้นความกลัวนี้เป็นลำดับ หลังจากนักศึกษาที่แสดงออกอย่างสงบสันติในวาระครบหนึ่งปีรัฐประหาร แต่กลับถูกทำร้ายร่างกายอย่างรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่กล้าแสดงตนว่าเป็นเจ้าหน้าที่ที่หน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ และการเรียกตัวนักศึกษาที่ทำกิจกรรมสะท้อนเสียงของประชาชนผู้เดือดร้อนจากการร่วมมือของเจ้าหน้ารัฐกับกลุ่มทุนในการเบียดบังทรัพยากรท้องถิ่นจนกลายไปเป็นการต่อต้านเผด็จการทหาร ประชาชนก็เริ่มให้ความสนใจสนับสนุนนักศึกษาสสองกลุ่มนี้มากขึ้นเรื่อยๆ  

จากการชุมนุมสนับสนุนนักศึกษาหน้าโรงพักปทุมวัน โรงพักพระราชวัง และศาลทหาร ก็ขยายไปสู่การลงชื่อในแถลงการณ์ของกลุ่มนักเขียน ซึ่งขยับจากไม่กี่สิบคนในวันที่อ่านแถลงการณ์เมื่อ 27 มิย. 58 ไปเป็นหลัก 10,000 คนในวันที่ 28 มิย. 58 ในขณะที่กลุ่มคณาจารย์มหาวิทยาลัยที่จำนวนมากแทบไม่เคยแสดงออกทางการเมืองมาก่อน หรือแม้แต่คณาจารย์ที่เคยสนับสนุนขบวนการประชาชนที่เรียกร้องการฉีกรัฐธรรมนูญโค่นล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้งมาก่อน ก็กลับเข้าร่วมแสดงตนอย่างเปิดเผย ทั้งลงชื่อถึง 281 ชื่อภายในเวลาเพียงชั่วข้ามคืน ดังที่มีแถลงการณ์ในวันที่ 30 มิย. 58 

(2)

หลายคนมองว่าการลงชื่อในแถลงการณ์ก็เป็นแค่บัญชีหางว่าว แถมหลายคนอาจเกรงว่าจะถูกนำชื่อของพวกเขาไปใช้สร้างชื่อเสียงของคนนำขบวน หรือบ้างก็เกรงว่าจะถูกนำไปเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่พวกเขาไม่ต้องการในภายหลัง การลงชื่อในแถลงการณ์จึงเป็นการแสดงออกที่ผู้ลงนามต้องไตร่ตรองแล้วอย่างระมัดระวังยิ่งนัก แม้กระนั้น ปฏิกิริยาของประชานต่อการจับกุมนักศึกษาได้กระตุ้นให้คนจำนวนมากเลือกที่จะแสดงตน การลงชื่อในแถลงการณ์จึงมีความหมายมากกว่าเพียงรายนามที่เสมือนคนนิรนาม  

ยิ่งในภาวะหน้าสิ่วหน้าขวานที่คณะรัฐประหารยังมีกำลังอำนาจและแสดงการข่มขู่ประชาชนอยู่ตลอดอย่างทุกวันนี้ การลงนามในแถลงการณ์ต่างๆ ที่แสดงการขัดขืนสวนทางกับอำนาจเผด็จการอย่างชัดเจน ย่อมเป็นการแสดงหน้าค่าตาของประชาชนอย่างประจักษ์แจ้ง ว่าพวกเขาได้ก้าวออกมาแสดงตนประกาศว่า ระบอบที่เป็นอยู่ไม่ชอบธรรม

นี่คือการตอบโต้ต่อความไม่ชอบธรรมของการใช้อำนาจอย่างตรงไปตรงมา หลังการรัฐประหาร การแสดงออกของประชาชนถูกปิดกั้นอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง นั่นก็อาจปิดปากประชาชนไปได้บ้าง แต่เมื่อการแสดงออกของนักศึกษาซึ่งเป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ ที่แสดงตนอย่างสันติ รวมทั้งกลุ่มนักศึกษาที่ต่อสู้เพื่อความเดือดร้อนของประชาชน แต่พวกเขากลับถูกเจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงในการกำราบ นำพวกเขาไปกักขัง กระทั่งเรียกพวกเขาว่าเป็น "คนร้าย" สังคมก็ยิ่งตั้งคำถามมากขึ้นว่า สิ่งที่รัฐบาลทำนี้ถูกต้องแล้วหรือ

(3)

หากจะไม่ประเมินถึงขั้นที่ว่าประชาชนที่สนับสนุนนักศึกษากำลังแสดงออกทางการเมืองอยู่ อย่างน้อยที่สุด ประชาชนก็กำลังแสดงความห่วงใยต่ออนาคตของประเทศ นักศึกษาเพียง 14 คนที่แสดงออกอย่างสันติและหวังดีต่อสังคมและประเทศ จะต้องมาเสียอนาคตเพียงเพราะผู้นำเผด็จการเกรงกลัวว่าการแสดงออกของนักศึกษาจะฟ้องให้เห็นความไม่ถูกต้องของตนเอง เพียงเพราะเกรงว่าจะควบคุมสถานการณ์ไม่ได้จึงใช้มาตรการที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ นี่ยิ่งเป็นแรงขับสำคัญที่เกินความอดกลั้นของประชาชนที่รักความเป็นธรรม

การแสดงออกของประชาชนส่วนหนึ่งจึงออกมาในรูปของความเป็นศิษย์กับครู รวมทั้งความเป็นญาติพี่น้องเพื่อนฝูงมิตรสหาย ถ้อยคำที่ว่า "เราคือเพื่อนกัน" และ "คณาจารย์ผู้ห่วงใยศิษย์ที่ถูกคุมขัง" แสดงออกอย่างชัดเจนว่า สายใยทางสังคมของความเป็นเพื่อน เป็นครูกับศิษย์ มีความสำคัญทาบทับอยู่กับความสัมพันธ์ทางการเมืองในฐานะประชาชน ยิ่งเมื่อใครที่ไปเยี่ยมนักศึกษาที่เรือนจำได้พบพ่อแม่ของนักศึกษา ได้ทราบความห่วงใยความเดือดร้อนของนักศึกษา และทราบว่าคณาจารย์จำนวนมากก็กำลังดำเนินการหาทางช่วยเหลือด้านการเรียนของนักศึกษา ก็ย่อมรู้สึกสะเทือนใจกับการที่พลังความหวังดีต่อสังคมที่แสดงออกบนพื้นฐานของความรักเพื่อนมนุษย์ กลับจะต้องถูกปราบปรามอย่างรุนแรงราวกับเป็นโจรผู้ร้าย

(4)

ในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยของไทย "นักศึกษา" มีที่ยืนเฉพาะของตนเอง ถ้าพวกเขาไม่ใช่นักศึกษาที่เฉื่อยชา ที่ศึกษาเล่าเรียนเพื่อจบไปทำงานกินเงินเดือนสูง ก็ยังมีสถานะของประชาชนหนุ่มสาวผู้แสวงหาอุดมคติและเสียสละเพื่อประชาชนผู้เสียเปรียบ เสียงที่บอกว่านักศึกษามีหน้าที่ศึกษาเล่าเรียน ไม่ใช่มาแสดงออกทางการเมือง จึงเป็นเสียงที่จงใจปิดหูปิดตาตนเองต่อสถานะความเป็นประชาชนของนักศึกษา บ้างที่เบาหน่อยก็บอกว่า ภายใต้ระบอบเผด็จการอย่างนี้ เคลื่อนไหวไปก็มีแต่จะเจ็บตัว ถูกลืมไป หรือไม่ก็กลายเป็นเครื่องมือของใครไปเสียเปล่าๆ หรือบ้างที่สนับสนุนอำนาจเผด็จการก็บอกว่า นักศึกษาต้องรู้จักหน้าที่ เป็นนักศึกษาก็ต้องศึกษาเล่าเรียน

เสียงเหล่านี้มองข้ามไปว่าหน้าที่สำคัญประการหนึ่งของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยก็คือการปกป้องสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของตนเอง ประการหนึ่งคือสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกอย่างสันติโดยไม่ละเมิดผู้อื่น นักศึกษาเหล่านี้ไม่ได้ก่อความวุ่นวายอะไรเลย ไม่ได้ใช้กำลังปิดกั้นสถานที่ราชการหรือสถานที่สาธารณะใดๆ ไม่ได้เอาปืนเอาอาวุธไปบังคับขู่เข็ญใคร ไม่ได้ฉีกรัฐธรรมนูญแล้วต้องมานิรโทษกรรมต่อความผิดที่ตนเองรู้แก่ตัวดีว่าก่อกรรมลงไป  

หากยึดมั่นในคุณธรรมของสังคมประชาธิปไตย การปกป้องสิทธิเสรีภาพเป็นปฏิบัติการขั้นพื้นฐานของประชาชน ใครที่เรียกร้องให้ทำลายหรือปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ ใครที่ปกป้องอำนาจเผด็จการต่างหาก ที่ไม่รู้จักหน้าที่ของตนเอง ผู้คนในสังคมประชาธิปไตยไม่ได้เป็นเพียงพ่อค้าแม่ขาย เป็นนักเรียนนักศึกษา เป็นครูบาอาจารย์ หรือเป็นผู้ประกอบอาชีพอื่นใดเพียงเท่านั้น แต่ผู้คนในสังคมประชาธิปไตยยังเป็นประชาชนที่มีสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่จะต้องร่วมกันปกป้องอีกด้วย

(5)

ประการสำคัญ หากรัฐบาลและคณะผู้เผด็จการจะไม่สนใจรับฟังเสียงเหล่านี้ ประชาชนทั่วไปก็ควรไตร่ตรองพิจารณาเสียงสะท้อนของนักศึกษาและประชาชนผู้สนับสนุนนักศึกษาให้ถี่ถ้วน ประชาชนไม่ได้จำเป็นต้องเห็นว่านักศึกษาคือ "พลังบริสุทธิ์" แต่นักศึกษาก็ไม่จำเป็นต้อง "มีใครอยู่เบื้องหลัง"  

ลองนึกดูง่ายๆ ว่า ใครจะอยู่เบื้องหลังนักศึกษากลุ่มดาวดินที่พยายามส่งเสียงแทนประชาชนที่เดือดร้อน ในสภาวะปัจจุบันที่ไม่มีนักการเมืองเป็นปากเสียงให้ประชาชนได้ ในภาวะที่การแสดงออกถูกปิดกั้น ใครจะได้ประโยชน์จากการแสดงออกของกลุ่มดาวดิน หรือในภาวะที่การแสดงออกทางสัญลักษณ์ทุกประเภทเพื่อเรียกร้องเสรีภาพในการแสดงออกถูกปิดกั้นหมด ใครจะได้ประโยชน์จากการเรียกร้องเสรีภาพในการแสดงออก หากไม่ใช่ประชาชนทั้งหมดที่ไม่สามารถจะส่งเสียงแสดงความเห็นในโอกาสและสถานที่ที่ประชาชนไว้วางใจ เป็นตัวของตัวเอง และรู้สึกปลอดภัยได้ในภาวะการณ์ปัจจุบัน

การปิดป้ายว่ากลุ่มนักศึกษามีเบื้องหลัง คือการบอกปัดปัญหาที่รุมเร้ารัฐบาลอยู่มากกว่า รัฐบาลจะต้องยอมรับฟังและแก้ไขปัญหาเหล่านี้มากกว่า เพราะนั่นคือปัญหาปากท้องของประชาชนที่นักศึกษาเรียกร้อง นั่นคือปัญหาสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่นักศึกษาสะท้อน คือปัญหาความไม่สมประกอบตามครรลองสังคมประชาธิปไตย ที่นักศึกษาละประชาชนจำนวนมากเรียกร้อง

สุดท้ายขอสรุปว่า ความรู้สึกก้าวข้ามขีดความกลัวนี้ไม่ได้มาจากความกล้าหาญที่มีมากขึ้น แต่มาจากความสำนึกต่อคุณธรรมพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย มาจากความรู้สึกถึงการคุกคามสวัสดิภาพขั้นพื้นฐานจากอำนาจไม่ชอบธรรมจนขีดสุดของความอดทน มาจากการทำหน้าที่ประชาชนที่จะต้องปกป้องสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของตนเองโดยสงบและสันติ สำนึกนี้จะแจ่มชัดขึ้นเรื่อยๆ จนกว่าสังคมไทยกลับไปเดินบนเส้นทางสู่สังคมประชาธิปไตยอีกครั้ง

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หลายคนคงเป็นแบบผม คือพยายามข่มอารมณ์ฝ่าฟันการสบถของท่านผู้นำ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตั้งแต่ที่ผมรู้จักงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์มา มีปีนี้เองที่ผมคิดว่ากิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่มีความหมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปี 2558 เป็นปีที่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีอายุครบ 50 ปี นับตั้งแต่เริ่มเป็นแผนกอิสระในคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์มาตั้งแต่ปี 2508
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เปิดภาคการศึกษานี้มีเรื่องน่าตื่นเต้นคือ วันแรกที่ไปสอน (ผมสอนอังคาร, พฤหัสบดี ครั้งละ 1 ชั่วโมง 15 นาที) มีนักเรียนมาเต็มห้อง เขากำหนดโควต้าไว้ที่ 34 คน แต่หลังจากผมแนะนำเค้าโครงการบรรยาย คงเพราะงานมาก จุกจิก ก็มีคนถอนชื่อออกไปจำนวนหนึ่ง คืนก่อนที่จะไปสอนครั้งที่สอง ผมก็เลยฝันร้าย คือฝันว่าวันรุ่งขึ้นมีนักเรียนมาเรียนแค่ 3 คน แล้วเรียนๆ ไปนักเรียนหนีหายไปเหลือ 2 คน แต่พอตื่นไปสอนจริง ยังมีนักเรียนเหลืออีก 20 กว่าคน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อได้ทราบว่าอาจารย์เก่งกิจทำวิจัยทบทวนวรรณกรรมด้านชนบทศึกษา โดยลงแรงส่วนหนึ่งอ่านงาน “ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย” (ต่อไปนี้จะเรียกว่า “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ”) (อภิชาต ยุกติ นิติ 2556) ที่ผมมีส่วนร่วมกับนักวิจัยในทีมทั้งหมด 6 คนในตอนแรก และ 9 คนในช่วงทำวิจัยใหญ่ [1] ผมก็ตื่นเต้นยินดีที่นานๆ จะมีนักวิชาการไทยอ่านงานนักวิชาการไทยด้วยกันเองอย่างเอาจริงเอาจังสักที 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะให้ผมเขียนเรื่องอุปสรรคขัดขวางโลกวิชาการไทยต่อการก้าวขึ้นสู่ความเป็นเลิศในระดับนานาชาติไปอีกเรื่อยๆ น่ะ ผมก็จะหาประเด็นมาเขียนไปได้อีกเรื่อยๆ นั่นแหละ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ถ้านับย้อนกลับไปถึงช่วงปีที่ผมเริ่มสนใจงานวิชาการจนเข้ามาทำงานเป็นอาจารย์ ก็อาจนับได้ไปถึง 25 ปีที่ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงในโลกวิชาการไทย ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่สำคัญคือการบริหารงานในมหาวิทยาลัย แต่ขอยกเรื่องนั้นเอาไว้ก่อน เพราะหากค่อยๆ ดูเรื่องย่อยๆ ไปเรื่อยๆ แล้วก็น่าจะช่วยให้เห็นอะไรมากขึ้นว่า การบริหารงานวิชาการในขณะนี้วางอยู่บนระบบแบบไหน เป็นระบบที่เน้นสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการในเชิงปริมาณหรือคุณภาพกันแน่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บอกอีกครั้งสำหรับใครที่เพิ่งอ่านตอนนี้ ผมเขียนเรื่องนี้ต่อเนื่องกันมาชิ้นนี้เป็นชิ้นที่ 5 แล้ว ถ้าจะไม่อ่านชิ้นอื่นๆ (ซึ่งก็อาจชวนงงได้) ก็ขอให้กลับไปอ่านชิ้นแรก ที่วางกรอบการเขียนครั้งนี้เอาไว้แล้ว อีกข้อหนึ่ง ผมยินดีหากใครจะเพิ่มเติมรายละเอียด มุมมอง หรือประสบการณ์ที่แตกต่างออกไป แต่ขอให้แสดงความเห็นแบบ "ช่วยกันคิด" หน่อยนะครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อันที่จริงวิทยานิพนธ์เป็นส่วนน้อยๆ ของโลกวิชาการอันกว้างใหญ่ และเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเป็นนักวิชาการ แต่วิทยานิพนธ์ก็เป็นผลงานที่อาจจะดีที่สุดของนักวิชาการส่วนใหญ่ แต่สังคมวิชาการไทยกลับให้คุณค่าด้อยที่สุด พูดอย่างนี้เหมือนขัดแย้งกันเอง ขอให้ผมค่อยๆ อธิบายก็แล้วกันครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ก่อนเริ่มพูดเรื่องนี้ ผมอยากชี้แจงสักหน่อยนะครับว่า ที่เขียนนี่ไม่ใช่จะมาบ่นเรื่อยเปื่อยเพื่อขอความเห็นใจจากสังคม แต่อยากประจานให้รู้ว่าระบบที่รองรับงานวิชาการไทยอยู่เป็นอย่างไร ส่วนจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร อย่าถามผมเลย เพราะผมไม่มีอำนาจ ไม่ต้องมาย้อนบอกผมด้วยว่า "คุณก็ก้มหน้าก้มตาทำงานไปให้ดีที่สุดก็แล้วกัน" เพราะถ้าไม่เห็นว่าสิ่งที่เล่าไปเป็นประเด็นก็อย่าสนใจเสียเลยดีกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมขอเริ่มที่เรืองซึ่งถือได้ว่าเป็นยาขมที่สุดของแวดวงมหาวิทยาลัยไทยเลยก็แล้วกัน ที่จริงว่าจะเขียนเรื่องการผลิตความรู้ก่อน แต่หนีไม่พ้นเรื่องการสอน เพราะนี่เป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการทำงานวิชาการในไทยมากถึงมากที่สุดเลยก็ว่าได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อผมมาสอนหนังสือถึงได้รู้ว่า วันครูน่ะ เขามีไว้ปลอบใจครู ก็เหมือนกับวันสตรี เอาไว้ปลอบใจสตรี วันเด็กเอาไว้หลอกเด็กว่าผู้ใหญ่ให้ความสำคัญ แต่ที่จริงก็เอาไว้ตีกินปลูกฝังอะไรที่ผู้ใหญ่อยากได้อยากเป็นให้เด็ก ส่วนวันแม่กับวันพ่อน่ะอย่าพูดถึงเลย เพราะหากจะช่วยเป็นวันปลอบใจแม่กับพ่อก็ยังจะดีเสียกว่าที่จะให้กลายเป็นวันฉวยโอกาสของรัฐไทยอย่างที่เป็นอยู่นี้