Skip to main content

การรับน้องจัดได้ว่าเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่ง เป็นพิธีกรรมที่วางอยู่บนอุดมการณ์และผลิตซ้ำคุณค่าบางอย่าง เนื่องจากสังคมหนึ่งไม่ได้จำเป็นต้องมีระบบคุณค่าเพียงแบบเดียว สังคมสมัยใหม่มีวัฒนธรรมหลายๆ อย่างที่ทั้งเปลี่ยนแปลงไปและขัดแย้งแตกต่างกัน ดังนั้นคนในสังคมจึงไม่จำเป็นต้องยอมรับการรับน้องเหมือนกันหมด หากจะประเมินค่าการรับน้อง ก็ต้องถามว่า คุณค่าหรืออุดมการณ์ที่การรับน้องส่งเสริมนั้นเหมาะสมกับระบบการศึกษาแบบไหนกัน เหมาะสมกับสังคมแบบไหนกัน เราเองอยากอยู่ในสังคมแบบไหน แล้วการรับน้องสอดคล้องกับสังคมแบบที่เราอยากอยู่นั้นหรือไม่ 

ผมอยากเสนอให้พิจารณาการรับน้องว่าเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่ง ผมคิดว่าเราไม่จำเป็นต้องตั้งข้อรังเกียจกับพิธีกรรม สังคมไม่ว่าจะสมัยใหม่หรือโบราณดั้งเดิมก็มักมีพิธีกรรม ที่เป็นอย่างนี้เพราะว่ามนุษย์ไม่ได้อยู่ในโลกของสาธารณ์เท่านั้น มนุษย์อยู่ในโลกของสัญลักษณ์ซึ่งเป็นโลกของความเชื่อไร้เหตุผล ไม่น้อยไปกว่าโลกของความมีเหตุมีผล เช่นที่นักมานุษยวิทยาอย่างแมรี่ ดักลาส (Mary Douglas) เคยเสนอบทวิเคราะห์เกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์และพิธีกรรมไว้ว่า พิธีกรรมคือการขจัดสิ่ที่คนรู้สึกว่าผิดปกติ ขจัดสิ่งที่มารบกวนระบบระเบียบตามที่เราเชื่อ เช่น ทำไมของเหลวที่เพิ่งออกจากปากเราจึงกลายเป็นสิ่งสกปรกไปในทันที ก็เพราะเราคิดว่ามันผิดระบบ ผิดที่ผิดทาง แถมของเหลวเป็นเมือกยังมักเป็นที่รังเกียจของคน เพราะมันมีรูปทรงที่ลื่นไหล ไม่เป็นตัวตนหรือไม่เหลวเป็นนำ้ไปเลย การจัดการกับสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของพิธีกรรมทั้งสิ้น เป็นการจัดการกับสิ่งที่รบกวนระบบความมั่นคงทางจิตใจของเรา

หากก้าวออกมาจากพิธีกรรมใกล้ตัวเหล่านั้น อาร์โนล แวน เกนเน็บ (Arnold van Gennep) เสนอไว้ในผลงานคลาสสิคของเขาว่า เมื่อคนเราเปลี่ยนผ่านจากสถานะหนึ่งไปยังอีกสถานะหนึ่ง เราก็มักจะต้องกระทำผ่านพิธีกรรมบางอย่าง เช่นเมื่อเปลี่ยนจากเด็กไปเป็นผู้ใหญ่ หลายสังคมรวมทั้งสังคมไทยในอดีตก็จะมีพิธีเปลี่ยนผ่าน อย่างการโกนจุก หรือเมื่อเปลี่ยนจากคนโสดไปเป็นคนสมรส สังคมไหนๆ ทั่วโลกก็มักจะต้องมีพิธีแต่งงาน แม้แต่ในชีวิตประจำวัน เราก็ประกอบพิธีเปลี่ยนผ่านสถานะเสมอๆ เช่นการสวัสดีทักทาย การจับมือ ก็เป็นพิธีกรรมของการเปลี่ยนคนไม่รู้จัก คนแปลกหน้า หรือคนห่างไกลกัน ให้เข้าใกล้ รู้จักกัน แม้แต่การกินอาหาร ก็เป็นพิธีกรรมได้เช่นกัน เวลาเราจะเริ่มกิจกรรม จะเริ่มทำความรู้จักกัน

การรับน้องถือได้ว่าเป็นพิธีกรรมแห่งการเปลี่ยนสถานภาพอย่างหนึ่ง ลักษณะร่วมกันอย่างหนึ่งของพิธีเปลี่ยนสถานภาพก็คือการเปลี่ยนผ่านใน 3 ขั้น คือจะต้องมีพิธีปลดจากสถานะเดิม การละลายสถานะ และการใส่สถานะใหม่ สิ่งที่นักวิเคราะห์พิธีกรรมมักให้ความสนใจคือ ขั้นของการละลายสถานะ ในหลายๆ สังคมการละลายสถานะจะจัดเป็นกิจกรรมขนาดใหญ่ เช่นพิธีเปลี่ยนจากเด็กเป็นผู้ใหญ่ในบางสังคม จะมีการกักบริเวณเด็ก บางแห่งใช้สัญลักษณ์บางอย่างที่แปลงเด็กให้กลายเป็นดักแด้เพราะดักแด้เป็นสัญลักษณ์ของการยังไม่มีสถานะ อยู่ระหว่างการเป็นหนอนกับการเป็นแมลงเจริญวัย หรืออย่างพิธีทำขวัญนาค ก็อาจวิเคราะห์ได้ว่านาคมีสถานะกึ่งคนกึ่งสัตว์ แต่เมื่อก่อนเข้าทำพิธีบวชพระ ก็จะต้องประกาศว่าเป็นคน แล้วเข้าไปรับสถานะใหม่กลายเป็นพระ

ขั้นตอนของการรับน้องส่วนใหญ่เป็นขั้นตอนของการทำลายสถานะเดิม การลดทอนให้คนที่เพิ่งก้าวเข้ามาในรั้วมหาวิทยาลัย กลายสภาพเชิงสัญลักษณ์ไปเป็นสัตว์เลื้อยคลาน หรือเป็นสิ่งชีวิตที่ไม่ใช่คน กึ่งคน ด้วยการทำท่าทางผิดแผกไปจากมนุษย์ธรรมดา การเปลือยกายแม้เพียงครึ่งตัว การทำให้นักศึกษาใหม่มีสภาพต่ำกว่าคน รวมทั้งการแสดงท่าร่วมเพศ ก็คือการลดทอนคนให้กลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่ต่ำกว่าคน เพราะสามารถร่วมเพศในที่สาธารณะได้ นอกจากสัญลักษณ์เหล่านั้นแล้ว ส่วนประกอบสำคัญของการรับน้องคือการ “ว้าก" หรือพูดตะคอกใส่น้อง การว้ากคือการใช้สัญลักษณ์ของเสียงเพื่อแปลงนักศึกษาใหม่ให้กลายเป็นสัตว์ เป็นเด็กน้อยที่ไร้เหตุผล หรือเป็นคนแปลกหน้าที่เรารังเกียจ เนื่องจากเสียงแบบนี้ในสังคมไทยมักเป็นเสียงที่ใช้สื่อสารกับสัตว์ กับเด็กที่ไร้เหตุผล กับคนแปลกหน้าที่เรารังเกียจ หรือบางคนก็ใช้พูดกับคนที่สถานะภาพทางสังคมต่ำกว่า การว้ากจึงเป็นสัญลักษณ์ของการใช้อำนาจ พร้อมๆ กับเป็นสัญลักษณ์ของการลดค่าของคน

สัญลักษณ์เหล่านี้ต้องการความรุนแรงในการทำงานของมัน กิจกรรมเหล่านี้จึงต้องเป็นกิจกรรมเชิงที่ถึงเลือดถึงเนื้อ เป็นสัญลักษณ์ที่ต้องการให้ฝังประทับลงบนจิตใจผ่านการกระทำต่อร่างกาย ไม่ต่างจากการขลิบอวัยวะเพศชายหรืออวัยวะเพศหญิงในพิธีเปลี่ยนเด็กให้เป็นผู้ใหญ่ในบางสังคม นักมานุษยวิทยาที่ศึกษาพิธีกรรมด้วยแนวคิดจิตวิเคราะห์ของซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) มักวิเคราะห์ว่า การขลิบคือการจำลอง “การตอน” เป็นวิธีที่อำนาจสังคมแสดงตนเหนือแรงปรารถนาส่วนตนของปัจเจกให้เป็นที่รับรู้อย่างตรงไปตรงมาบนเรือนร่างปัจเจกบุคคล

ฉะนั้น ความรุนแรงจึงเป็นวิธีการให้การศึกษาแบบหนึ่ง หากแต่เป็นการให้การศึกษาในสังคมแบบที่ไม่ต้องการให้ผู้เรียนคิด ตั้งคำถาม สงสัย หรือโต้แย้ง สังคมแบบนี้ไม่เห็นคนเท่ากัน บางสังคมจึงสอนคนด้วยการใช้ความรุนแรง เช่นการกระทืบ การทุบตี อันที่จริงการท่องจำก็เป็นการสั่งสอนด้วยความรุนแรงแบบหนึ่งเช่นเดียวกัน เพราะเป็นการประทับความทรงจำลงบนรอยหยักของสมองด้วยการตอกๆ ย้ำๆ ซ้ำๆ โดยไม่ต้องให้หลักคิดหรือเหตุผลอะไร สังคมที่สอนหนังสือแบบให้ท่องจำอย่างสังคมไทยจึงเป็นสังคมที่นิยมความรุนแรงอยู่เป็นพื้นฐาน

จะเห็นได้ว่า สังคมซึ่งใช้พิธีกรรมแบบนี้กำลังส่งผ่านคุณค่าของะบบที่ห้ามตั้งคำถาม ห้ามสงสัย ห้ามท้าทายคนที่มาก่อนและระเบียบที่มีอยู่เดิม ระบบที่ไม่ต้องใข้เหตุผล ระบบที่ทำตามๆ กันจนเป็นประเพณี ระบบเหล่านี้รวมเรียกได้ว่าเป็นระบบอาวุโส ระบบอำนาจนิยม กิจกรรมรับน้องจึงเป็นกิจกรรมทางสัญลักษณ์ที่ทำลายความเป็นมนุษย์ เปลี่ยนคนให้เป็นสัตว์ แล้วค่อยดึงกลับมาเป็นคนใหม่ แต่เป็นคนที่ไม่เท่ากับคนรุ่นที่มาก่อน เพราะเป็นกระบวนการทำให้นักศึกษาใหม่ นิสิตใหม่ กลายเป็น “น้อง"

ที่อยากจะชวนให้คิดต่อไปคือ การรับน้องไม่ได้เป็นแค่พิธีกรรมในสถาบันการศึกษา รุ่นพี่ไม่ใช่เพียงสร้างระบบ “สังคมรุ่นพี่-รุ่นน้อง” เท่านั้น การรับน้องไม่ใช่แค่การแก้แค้นกันระหว่างรุ่น หากแต่พิธีกรรมการรับน้องนี้ตอกย้ำและผลิตซ้ำความเป็นสังคมอาวุโส สังคมอำนาจนิยม สังคมที่กดปิดกั้นการคิด การตั้งคำถาม และการใช้เหตุผล เป็นสังคมที่ให้การศึกษาด้วยความรุนแรง หรือพูดอย่างถึงที่สุดคือ สังคมไทยทั้งสังคมเป็นสังคมรับน้อง เพราะเรายอมรับการว้าก การทำลายความเป็นมนุษย์ในกระบวนการของการรับน้องได้ เราจึงยอมรับการเห็นคนไม่เท่ากัน การดูถูกคนในต่างจังหวัด ดูถูกคนการศึกษาน้อย ดูถูกคนจนในสังคมขนาดใหญ่ได้ และเราก็จึงยอมรับความสุขที่คนมีอำนาจยัดเยียดให้มาได้อย่างศิโรราบ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสังคมรับน้องแบบสังคมไทยจะสืบทอดธรรมเนียมการให้การศึกษาด้วยการทำลายค่าความเป็นมนุษย์และการใช้ความรุนแรงมาอย่างต่อเนื่อง ก็ไม่ใช่ว่าเราจะเปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ ข้อเท็จจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ประการหนึ่งคือ สถาบันทางสังคมมีความเป็นอนิจจัง ไม่ว่าจะแข็งแกร่ง ศักดิ์สิทธิ์ ทรงอำนาจแค่ไหน ก็เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาหากไม่สอดคล้องกับการก้าวไปของสังคม  ถ้าอย่างนั้นแล้วสังคมจะหยุดยั้งการรับน้องหรือปรับปรุงการรับน้องได้อย่างไร

ผมขอเล่าประสบการณ์ของการรับน้องที่ตนเองเคยมีส่วนสร้างและเคยมีส่วนปฏิเสธ สมัยเรียนมัธยม ผมทำกิจกรรมลูกเสือกองร้อยพิเศษ ผมเป็นหัวหน้ากองร้อยพิเศษนี้ พวกนี้ส่วนหนึ่งเป็นหน้าเป็นตาของโรงเรียน ไปประกวดเดินสวนสนาม อีกส่วนหนึ่งคือช่วยงานของโรงเรียน เช่น โบกรถให้นักเรียนข้ามถนน และช่วยงานแบกหาม พวกกองร้อยอาศัยวัฒนธรรมแบบทหารในการฝึกฝนคือใช้วินัย ไม่ใช้เหตุผลต่อรองกันในการรวมกลุ่มสังคม ในแต่ละปีเมื่อมีการรับกองร้อยรุ่นใหม่ๆ เข้ามา ก็มักจะมีพิธีรับน้องที่รุนแรงกว่าการรับน้องของนักเรียนทั่วๆ ไป ผมเองก็เคยเข้าร่วมพิธีเหล่านี้และจัดพิธีเหล่านี้อย่างไม่เคยสงสัยมาก่อน

แต่เมื่อเข้ามหาวิทยาลัย ผมเปลี่ยนความคิดไปทันที ผมคิดว่าผมมาเรียนหนังสือ ผมอยากเป็นปัญญาชน ผมจึงปฏิเสธการร่วมกิจกรรมรับน้องตั้งแต่วันแรกๆ ของการเข้ามหาวิทยาลัย กิจกรรมประเภทละลายพฤติกรรม ทำให้คนกลายเป็นสัตว์ ทำให้ผู้ใหญ่กลายเป็นเด็ก ผมตั้งข้อสงสัยและไม่เข้าร่วมทั้งสิ้นและเมื่อมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมนักศึกษา ผมร่วมรณรงค์ให้ใช้คำเรียกนักศึกษาใหม่ว่า “เพื่อนใหม่” แทนคำว่า “น้อง” เพราะถือว่าพวกเขาก็เป็นคน เป็นผู้ใหญ่เช่นกันกับพวกเราที่เข้ามาก่อน แถมหลายคนยัง "ซิ่ว" มา จะเป็นน้องเราได้อย่างไร

ที่เล่าประสบการณ์ส่วนตัวก็เพื่อจะชี้ว่า ทั้งตัวเราและสังคมเปลี่ยนได้ เพราะวัฒนธรรมเปลี่ยนแปลงได้ เพราะเราร่วมกันเปลี่ยนสังคมได้หากทั้งสังคมจะร่วมกันเปลี่ยน หากมหาวิทยาลัยจริงจังกับการให้การศึกษาเพื่อพัฒนาคนให้เป็นคนที่มีความคิดความอ่านจริงๆ การรับน้องก็จะค่อยๆ เปลี่ยนไป แต่ในกรณีที่ครู-อาจารย์เอง ก็เติบโตมาในระบบแบบนี้ และก็ไม่เห็นคุณค่าของการส่งเสริมให้นักศึกษานักเรียนคิดเป็น ให้เห็นคนเท่ากัน หรือครู-อาจารย์เองก็ยังเป็นพวกนิยมให้การศึกษาด้วยความรุนแรง สังคมก็จะยังไม่เปลี่ยน เราก็จะยังต้องมาพูดกันเรื่องการรับน้องต่อไปกันทุกต้นปีการศึกษา

(เผยแพร่ใน มติชน 13 กันยายน 2558)

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หลายคนคงเป็นแบบผม คือพยายามข่มอารมณ์ฝ่าฟันการสบถของท่านผู้นำ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตั้งแต่ที่ผมรู้จักงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์มา มีปีนี้เองที่ผมคิดว่ากิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่มีความหมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปี 2558 เป็นปีที่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีอายุครบ 50 ปี นับตั้งแต่เริ่มเป็นแผนกอิสระในคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์มาตั้งแต่ปี 2508
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เปิดภาคการศึกษานี้มีเรื่องน่าตื่นเต้นคือ วันแรกที่ไปสอน (ผมสอนอังคาร, พฤหัสบดี ครั้งละ 1 ชั่วโมง 15 นาที) มีนักเรียนมาเต็มห้อง เขากำหนดโควต้าไว้ที่ 34 คน แต่หลังจากผมแนะนำเค้าโครงการบรรยาย คงเพราะงานมาก จุกจิก ก็มีคนถอนชื่อออกไปจำนวนหนึ่ง คืนก่อนที่จะไปสอนครั้งที่สอง ผมก็เลยฝันร้าย คือฝันว่าวันรุ่งขึ้นมีนักเรียนมาเรียนแค่ 3 คน แล้วเรียนๆ ไปนักเรียนหนีหายไปเหลือ 2 คน แต่พอตื่นไปสอนจริง ยังมีนักเรียนเหลืออีก 20 กว่าคน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อได้ทราบว่าอาจารย์เก่งกิจทำวิจัยทบทวนวรรณกรรมด้านชนบทศึกษา โดยลงแรงส่วนหนึ่งอ่านงาน “ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย” (ต่อไปนี้จะเรียกว่า “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ”) (อภิชาต ยุกติ นิติ 2556) ที่ผมมีส่วนร่วมกับนักวิจัยในทีมทั้งหมด 6 คนในตอนแรก และ 9 คนในช่วงทำวิจัยใหญ่ [1] ผมก็ตื่นเต้นยินดีที่นานๆ จะมีนักวิชาการไทยอ่านงานนักวิชาการไทยด้วยกันเองอย่างเอาจริงเอาจังสักที 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะให้ผมเขียนเรื่องอุปสรรคขัดขวางโลกวิชาการไทยต่อการก้าวขึ้นสู่ความเป็นเลิศในระดับนานาชาติไปอีกเรื่อยๆ น่ะ ผมก็จะหาประเด็นมาเขียนไปได้อีกเรื่อยๆ นั่นแหละ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ถ้านับย้อนกลับไปถึงช่วงปีที่ผมเริ่มสนใจงานวิชาการจนเข้ามาทำงานเป็นอาจารย์ ก็อาจนับได้ไปถึง 25 ปีที่ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงในโลกวิชาการไทย ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่สำคัญคือการบริหารงานในมหาวิทยาลัย แต่ขอยกเรื่องนั้นเอาไว้ก่อน เพราะหากค่อยๆ ดูเรื่องย่อยๆ ไปเรื่อยๆ แล้วก็น่าจะช่วยให้เห็นอะไรมากขึ้นว่า การบริหารงานวิชาการในขณะนี้วางอยู่บนระบบแบบไหน เป็นระบบที่เน้นสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการในเชิงปริมาณหรือคุณภาพกันแน่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บอกอีกครั้งสำหรับใครที่เพิ่งอ่านตอนนี้ ผมเขียนเรื่องนี้ต่อเนื่องกันมาชิ้นนี้เป็นชิ้นที่ 5 แล้ว ถ้าจะไม่อ่านชิ้นอื่นๆ (ซึ่งก็อาจชวนงงได้) ก็ขอให้กลับไปอ่านชิ้นแรก ที่วางกรอบการเขียนครั้งนี้เอาไว้แล้ว อีกข้อหนึ่ง ผมยินดีหากใครจะเพิ่มเติมรายละเอียด มุมมอง หรือประสบการณ์ที่แตกต่างออกไป แต่ขอให้แสดงความเห็นแบบ "ช่วยกันคิด" หน่อยนะครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อันที่จริงวิทยานิพนธ์เป็นส่วนน้อยๆ ของโลกวิชาการอันกว้างใหญ่ และเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเป็นนักวิชาการ แต่วิทยานิพนธ์ก็เป็นผลงานที่อาจจะดีที่สุดของนักวิชาการส่วนใหญ่ แต่สังคมวิชาการไทยกลับให้คุณค่าด้อยที่สุด พูดอย่างนี้เหมือนขัดแย้งกันเอง ขอให้ผมค่อยๆ อธิบายก็แล้วกันครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ก่อนเริ่มพูดเรื่องนี้ ผมอยากชี้แจงสักหน่อยนะครับว่า ที่เขียนนี่ไม่ใช่จะมาบ่นเรื่อยเปื่อยเพื่อขอความเห็นใจจากสังคม แต่อยากประจานให้รู้ว่าระบบที่รองรับงานวิชาการไทยอยู่เป็นอย่างไร ส่วนจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร อย่าถามผมเลย เพราะผมไม่มีอำนาจ ไม่ต้องมาย้อนบอกผมด้วยว่า "คุณก็ก้มหน้าก้มตาทำงานไปให้ดีที่สุดก็แล้วกัน" เพราะถ้าไม่เห็นว่าสิ่งที่เล่าไปเป็นประเด็นก็อย่าสนใจเสียเลยดีกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมขอเริ่มที่เรืองซึ่งถือได้ว่าเป็นยาขมที่สุดของแวดวงมหาวิทยาลัยไทยเลยก็แล้วกัน ที่จริงว่าจะเขียนเรื่องการผลิตความรู้ก่อน แต่หนีไม่พ้นเรื่องการสอน เพราะนี่เป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการทำงานวิชาการในไทยมากถึงมากที่สุดเลยก็ว่าได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อผมมาสอนหนังสือถึงได้รู้ว่า วันครูน่ะ เขามีไว้ปลอบใจครู ก็เหมือนกับวันสตรี เอาไว้ปลอบใจสตรี วันเด็กเอาไว้หลอกเด็กว่าผู้ใหญ่ให้ความสำคัญ แต่ที่จริงก็เอาไว้ตีกินปลูกฝังอะไรที่ผู้ใหญ่อยากได้อยากเป็นให้เด็ก ส่วนวันแม่กับวันพ่อน่ะอย่าพูดถึงเลย เพราะหากจะช่วยเป็นวันปลอบใจแม่กับพ่อก็ยังจะดีเสียกว่าที่จะให้กลายเป็นวันฉวยโอกาสของรัฐไทยอย่างที่เป็นอยู่นี้