Skip to main content

ต้นปีนี้ (ปี 2559) ผมมาอ่านเขียนงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ผมมาถึงเมื่อวานนี้เอง (4 มกราคม 2559) เอาไว้จะเล่าให้ฟังว่ามาทำอะไร มาได้อย่างไร ทำไมต้องมาถึงที่นี่

เมื่อเช้าก็เลยไปลงทะเบียนเป็นผู้พักอาศัยในเกียวโต ขากลับมีนักวิชาการอีกคนหนึ่ง รุ่นใหญ่อาวุโสกว่าผมหลายปีนัก ติดรถกลับมาจากสถานที่ที่ไปติดต่อธุระด้วย เขากำลังจะกลับจากการมาพำนักอยู่ 3 เดือน เป็นนักวิชาการจากไต้หวัน ที่ Academia Sinica ระหว่างทางบนรถแท็กซี่ ก็ถามไถ่กันอย่างเร็ว ๆ หลายเรื่อง เขาถามถึงคนโน้นคนนี้ที่เมืองไทย พูดกันถึงการจากไปของนักวิชาการใหญ่คนหนึ่ง แล้วเขาก็วกมาถามผมว่าผมทำวิจัยเรื่องอไะร ที่ไหน 

ผมก็บอกไปว่าศึกษาเรื่องชนกลุ่มน้อยในเวียดนาม เขาถามว่าคนกลุ่มไหน ภาคเหนือหรือใต้ ผมก็บอกไปว่าคน "ไต" ที่เวียดนามเหนือ เขาก็ถามต่อว่าที่เวียดนามมีคนจีนเยอะไหม ผมก็บอกว่ามีเยอะเลย ทางเหนือก็มี 

ทีนี้เขาเริ่มซักไซร้อย่างสนใจ คงเพราะเขาเป็นคนไต้หวันนี่แหละ เขาถามว่าเคยได้ยินว่ามีคน "ฮอ" หรือ "เค่อะ" หรือ "ฮักกา" ไหม ผมบอกว่ามีคนจีนที่คนไทยเรียกว่า "ฮ่อ" คนไตที่เวียดนามเรียก "ผู้ฮ่อ ผู้หาน" คนเวียดเรียกว่า "เหงื่อย (แปลว่า คน) หาน" เขาบอกต่อว่า น่าจะเป็นคนกลุ่มเดียวกับพวกฮักกาที่เขาสนใจ ตัวเขาเองก็มีบรรพบุรุษเป็นฮักกา ก็เลยสนใจเรื่องนี้ด้วย

เขาบอกว่า ยังมีคำที่ใกล้เคียงกัน ต่างกันตามสำเนียงคือคำว่า แขะ ผมบอกว่า ภาษาไทยเรียกพวกฮักกาว่า จีนแคะ ภาษาเวียดมีคำว่า khách (แค้ก) ที่แปลเป็นไทยว่า แขก หรือผู้มาเยือน คำทั้งหมดนี้ผมว่าน่าจะหมายถึงคนกลุ่มเดียวกัน แล้วกลายมาเป็นคำเรียก "คนอื่น" ว่า "แขก" ในภาษาไทย และ "แค้ก" ในภาษาเวียด

พอเขาบอกว่า พวกนี้หนีลงมาอยู่ทางเหนือของเวียดนาม ผมก็เลยคิดว่าน่าจะใช่พวกฮ่อแน่ ๆ ก็เลยถามเขาว่า หมายถึงพวกกบฏไท่ผิงใช่ไหม เขาบอกว่าใช่ พวกนี้คือฮักกาทางใต้ของจีนปัจจุบันที่กบฏ แล้วหนีลงมาอยู่ที่เวียดนาม

ผมเลยต่อเรื่องติด บอกเขาว่า พวกนี้มาเวียดนามตอนกลางถึงปลายศตวรรษที่ 19 ในบันทึกของพวกไตบอกว่ามาปล้น มายึดเมืองสำคัญ ๆ ของพวกไตไว้หมด สยามเรียกว่าเป็น "กบฏฮ่อ" จึงพยายามขึ้นมา "ปราบ" ส่วนฝรั่งเศสจัดการพวกนี้ไม่ได้อยู่นานร่วม 20 ปีกว่าจะยึดเวียดนามเหนือได้ 

ผมเล่าต่อว่า พวกฮ่อร่วมมือกับพวกไตไปเผาหลวงพระบาง ทำให้สยามเดือดร้อนไปด้วย แต่ไม่ทันได้ขึ้นมาปราบหรอก เพราะฝรั่งเศสจัดการราบคาบก่อนแล้ว แล้วจึงนำมาซึ่งการปักปันเขตแดนสยามกับอินโดจีนจนจบลงในปี 1890 (ไม่ใช่เสียดินแดน เพราะดินแดนเหล่านี้ ที่ไทยรู้จักในชื่อผิด ๆ ว่า "สิบสองจุไท" ไม่เคยเป็นของใครไม่ว่าจะเวียด ลาว หรือสยามมาก่อน แต่เป็นของเจ้าถิ่นคือคนไต และกลุ่มชาติพันธ์ุอื่น ๆ ที่อยู่ร่วมดินแดนกัน)

เขาสนใจถามต่อว่าผมเคยเจอคนจีนพวกนี้ไหม ผมเล่าว่า สมัยที่จีนบุกเวียดนามเหนือปี 1979 (บางคนเรียก "สงครามสั่งสอน" เวียดนามเรียก สงครามอินโดจีนครั้งที่ 3 หลังจากที่เวียดนามบุกกัมพูชา ส่วนสำคัญเพราะการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุของเขมรแดงที่คนที่ถูกฆ่าจำนวนมากมีเชื้อสายเวียดนามในกัมพูชา) พวกฮ่อถูกไล่กลับประเทศไปด้วย ทั้ง ๆ ที่พวกเขาอยู่ในเวียดนามมาเป็นร้อยปีแล้ว แทบไม่มีสายใยอะไรกับที่เมืองจีนแล้ว ทำให้ตอนนี้เหลือฮ่อน้อยมาก แต่ยังพอเห็นสุสานของพวกเขาอยู่บ้างในเวียดนามเหนือ 

ผมเล่าต่อว่าในภาคเหนือของเวียดนามยังพอพบคนเหล่านี้ได้บ้าง บางที่เคยถูกเรียกโดยพวกไตว่าเป็นตลาดของพวกฮ่อ หรือเป็นย่านการค้าของพวกฮ่อ ผมเล่ด้วยว่า เคยเดินทางไปเจอคนจีนตามชายแดนเวียดนาม-จีนเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ยังมีคนใช้ชีวิตแบบเก่า บ้านเรือนปลูกบนพื้นดินแบบเก่า แต่งตัวเสื้อผ้าแบบในหนังสือชาติพันธ์ุวิทยาเก่า ๆ นักวิชาการไต้หวันก็เลยสนใจว่าพวกเขาทำการเกษตรกันไหม ทำอย่างไร และอีกหลายคำถาม

ไม่ทันได้ตอบคำถามที่เหลือ เวลาเพียง 15 นาทีบนรถแท็กซี่ในเมืองเกียวโตที่แสนจะกระทัดรัดจนหามุมรถติดยากมากก็หมดลง เราแยกย้ายกัน เขากำลังจะกลับจากเกียวโต ผมกำลังจะเริ่มงานวิจัยที่เกียวโต เสียดายที่ได้เจอคนฮ่อคนนี้ที่เกียวโตช้าไปนิด แต่นี่เป็นหนึ่งในบทสนทนาในวันแรก ๆ ของการทำงานที่นี่ ที่ทั้งชวนให้ตื่นเต้นและกระตือรือล้นให้ทำงานวิจัยต่อไป

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เกียวโตไม่ใช่เมืองที่ผมไม่เคยมา ผมมาเกียวโตน่าจะสัก 5 ครั้งแล้วได้ มาแต่ละครั้งอย่างน้อย ๆ ก็ 7 วัน บางครั้ง 10 วันบ้าง หรือ 14 วัน ครั้งก่อน ๆ นั้นมาสัมมนา 2 วันบ้าง 5 วันบ้าง หรือแค่ 3 ชั่วโมงบ้าง แต่คราวนี้ได้ทุนมาเขียนงานวิจัย จึงเรียกได้ว่ามา "อยู่" เกียวโตจริง ๆ สักที แม้จะช่วงสั้นเพียง 6 เดือนก็ตาม เมื่ออยู่มาได้หนึ่งเดือนแล้ว ก็อยากบันทึกอะไรไว้สักเล็กน้อยเกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการญี่ปุ่นที่ผมรู้จักมากสัก 10 กว่าปีมีจำนวนมากพอสมควร ผมแบ่งเป็นสองประเภทคือ พวกที่จบเอกจากอังกฤษ สหรัฐอเมริกา กับพวกที่จบเอกในญี่ปุ่น แต่ทั้งสองพวก ส่วนใหญ่เป็นทั้งนักดื่มและ foody คือเป็นนักสรรหาของกิน หนึ่งในนั้นมีนักมานุษยวิทยาช่างกินที่ผมรู้จักที่มหาวิทยาลัยเกียวโตคนหนึ่ง ค่อนข้างจะรุ่นใหญ่เป็นศาสตราจารย์แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สองวันก่อนเห็นสถาบันวิจัยชื่อดังแห่งหนึ่งในประเทศไทยนำการเปรียบเทียบสัดส่วนทุนวิจัยอย่างหยาบ ๆ ของหน่วยงานด้านการวิจัยที่ทรงอำนาจแต่ไม่แน่ใจว่าทรงความรู้กี่มากน้อยของไทย มาเผยแพร่ด้วยข้อสรุปว่า ประเทศกำลังพัฒนาเขาไม่ทุ่มเทลงทุนกับการวิจัยพื้นฐานมากกว่าการวิจัยประยุกต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรส่งเสริมการทำวิจัยแบบที่สามารถนำไปต่อยอดทำเงินได้ให้มากที่สุด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ต้นปีนี้ (ปี 2559) ผมมาอ่านเขียนงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ผมมาถึงเมื่อวานนี้เอง (4 มกราคม 2559) เอาไว้จะเล่าให้ฟังว่ามาทำอะไร มาได้อย่างไร ทำไมต้องมาถึงที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นับวัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะยิ่งตกต่ำและน่าอับอายลงไปทุกที ล่าสุดจากถ้อยแถลงของฝ่ายการนักศึกษาฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันถือได้ว่าเป็นการแสดงท่าทีของคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่อการแสดงออกของนักศึกษาในกรณี "คณะส่องทุจริตราชภักดิ์" ที่มีทั้งนักศึกษาปัจจุบันและศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รวมอยู่ด้วย ผมมีทัศนะต่อถ้อยแถลงดังกล่าวดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สำหรับการศึกษาระดับสูง ผมคิดว่านักศึกษาควรจะต้องใช้ความคิดกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเป็นระบบ เป็นชุดความคิดที่ใหญ่กว่าเพียงการตอบคำถามบางคำถาม สิ่งที่ควรสอนมากกว่าเนื้อหาความรู้ที่มีอยู่แล้วคือสอนให้รู้จักประกอบสร้างความรู้ให้เป็นงานเขียนของตนเอง ยิ่งในระดับปริญญาโทและเอกทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ถึงที่สุดแล้วนักศึกษาจะต้องเขียนบทความวิชาการหรือตัวเล่มวิทยานิพนธ์ หากไม่เร่งฝึกเขียนอย่างจริงจัง ก็คงไม่มีทางเขียนงานใหญ่ ๆ ให้สำเร็จด้วยตนเองได้ในที่สุด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่เห็นด้วยกับการเซ็นเซอร์ ไม่เห็นด้วยกับการห้ามฉายหนังแน่ๆ แต่อยากทำความเข้าใจว่า ตกลงพระในหนังไทยคือใคร แล้วทำไมรัฐ ซึ่งในปัจจุบันยิ่งอยู่ในภาวะกะลาภิวัตน์ อนุรักษนิยมสุดขั้ว จึงต้องห้ามฉายหนังเรื่องนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ใน บทสัมภาษณ์นี้ (ดูคลิปในยูทูป) มาร์แชล ซาห์ลินส์ (Marshall Sahlins) นักมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโกให้สัมภาษณ์ต่อหน้าที่ประชุม ซาห์สินส์เป็นนักมานุษยวิทยาอเมริกันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งที่แวดวงมานุษยวิทยายังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน เขาเชี่ยวชาญสังคมในหมู่เกาะแปซิฟิค ทั้งเมลานีเชียนและโพลีนีเชียน ในบทสัมภาษณ์นี้ เขาอายุ 83 ปีแล้ว (ปีนี้เขาอายุ 84 ปี) แต่เขาก็ยังตอบคำถามได้อย่างแคล่วคล่อง ฉะฉาน และมีความจำดีเยี่ยม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การรับน้องจัดได้ว่าเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่ง เป็นพิธีกรรมที่วางอยู่บนอุดมการณ์และผลิตซ้ำคุณค่าบางอย่าง เนื่องจากสังคมหนึ่งไม่ได้จำเป็นต้องมีระบบคุณค่าเพียงแบบเดียว สังคมสมัยใหม่มีวัฒนธรรมหลายๆ อย่างที่ทั้งเปลี่ยนแปลงไปและขัดแย้งแตกต่างกัน ดังนั้นคนในสังคมจึงไม่จำเป็นต้องยอมรับการรับน้องเหมือนกันหมด หากจะประเมินค่าการรับน้อง ก็ต้องถามว่า คุณค่าหรืออุดมการณ์ที่การรับน้องส่งเสริมนั้นเหมาะสมกับระบบการศึกษาแบบไหนกัน เหมาะสมกับสังคมแบบไหนกัน เราเองอยากอยู่ในสังคมแบบไหน แล้วการรับน้องสอดคล้องกับสังคมแบบที่เราอยากอยู่นั้นหรือไม่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การได้อ่านงานทั้งสามชิ้นในโครงการวิจัยเรื่อง “ภูมิทัศน์ทางปัญญาแห่งประชาคมอาเซียน” ปัญญาชนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (และที่จริงได้อ่านอีกชิ้นหนึ่งของโครงการนี้คืองานศึกษาปัญญาชนของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามคนสำคัญอีกคนหนึ่ง คือเจื่อง จิง โดยอ.มรกตวงศ์ ภูมิพลับ) ก็ทำให้เข้าใจและมีประเด็นที่ชวนให้คิดเกี่ยวกับเรื่องปัญญาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ผมคงจะไม่วิจารณ์บทความทั้งสามชิ้นนี้ในรายละเอียด แต่อยากจะตั้งคำถามเพิ่มเติมบางอย่าง และอยากจะลองคิดต่อในบริบทที่กว้างออกไปซึ่งอาจจะมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์กับผู้วิจัยและผู้ฟังก็สุดแล้วแต่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เชอร์รี ออร์ตเนอร์ นักมานุษยวิทยาผู้เชี่ยวชาญเนปาล แต่ภายหลังกลับมาศึกษาสังคมตนเอง พบว่าชนชั้นกลางอเมริกันมักมองลูกหลานตนเองดุจเดียวกับที่พวกเขามองชนชั้นแรงงาน คือมองว่าลูกหลานตนเองขี้เกียจ ไม่รู้จักรับผิดชอบตนเอง แล้วพวกเขาก็กังวลว่าหากลูกหลานตนเองไม่ปรับตัวให้เหมือนพ่อแม่แล้ว เมื่อเติบโตขึ้นก็จะกลายเป็นผู้ใช้แรงงานเข้าสักวันหนึ่ง (ดู Sherry Ortner "Reading America: Preliminary Notes on Class and Culture" (1991)) 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (23 กค. 58) ผมไปนั่งฟัง "ห้องเรียนสาธารณะเพื่อประชาธิปไตยใหม่ครั้งที่ 2 : การมีส่วนร่วมและสิทธิชุมชน" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตลอดทั้งวันด้วยความกระตืนรือล้น นี่นับเป็นงานเดียวที่ถึงเลือดถึงเนื้อมากที่สุดในบรรดางานสัมมนา 4-5 ครั้งที่ผมเข้าร่วมเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา เพราะนี่ไม่ใช่เพียงการเล่นกายกรรมทางปัญญาหรือการเพิ่มพูนความรู้เพียงในรั้วมหาวิทยาลัย แต่เป็นการรับรู้ถึงปัญหาผู้เดือดร้อนจากปากของพวกเขาเองอย่างตรงไปตรงมา