Skip to main content

ต้นปีนี้ (ปี 2559) ผมมาอ่านเขียนงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ผมมาถึงเมื่อวานนี้เอง (4 มกราคม 2559) เอาไว้จะเล่าให้ฟังว่ามาทำอะไร มาได้อย่างไร ทำไมต้องมาถึงที่นี่

เมื่อเช้าก็เลยไปลงทะเบียนเป็นผู้พักอาศัยในเกียวโต ขากลับมีนักวิชาการอีกคนหนึ่ง รุ่นใหญ่อาวุโสกว่าผมหลายปีนัก ติดรถกลับมาจากสถานที่ที่ไปติดต่อธุระด้วย เขากำลังจะกลับจากการมาพำนักอยู่ 3 เดือน เป็นนักวิชาการจากไต้หวัน ที่ Academia Sinica ระหว่างทางบนรถแท็กซี่ ก็ถามไถ่กันอย่างเร็ว ๆ หลายเรื่อง เขาถามถึงคนโน้นคนนี้ที่เมืองไทย พูดกันถึงการจากไปของนักวิชาการใหญ่คนหนึ่ง แล้วเขาก็วกมาถามผมว่าผมทำวิจัยเรื่องอไะร ที่ไหน 

ผมก็บอกไปว่าศึกษาเรื่องชนกลุ่มน้อยในเวียดนาม เขาถามว่าคนกลุ่มไหน ภาคเหนือหรือใต้ ผมก็บอกไปว่าคน "ไต" ที่เวียดนามเหนือ เขาก็ถามต่อว่าที่เวียดนามมีคนจีนเยอะไหม ผมก็บอกว่ามีเยอะเลย ทางเหนือก็มี 

ทีนี้เขาเริ่มซักไซร้อย่างสนใจ คงเพราะเขาเป็นคนไต้หวันนี่แหละ เขาถามว่าเคยได้ยินว่ามีคน "ฮอ" หรือ "เค่อะ" หรือ "ฮักกา" ไหม ผมบอกว่ามีคนจีนที่คนไทยเรียกว่า "ฮ่อ" คนไตที่เวียดนามเรียก "ผู้ฮ่อ ผู้หาน" คนเวียดเรียกว่า "เหงื่อย (แปลว่า คน) หาน" เขาบอกต่อว่า น่าจะเป็นคนกลุ่มเดียวกับพวกฮักกาที่เขาสนใจ ตัวเขาเองก็มีบรรพบุรุษเป็นฮักกา ก็เลยสนใจเรื่องนี้ด้วย

เขาบอกว่า ยังมีคำที่ใกล้เคียงกัน ต่างกันตามสำเนียงคือคำว่า แขะ ผมบอกว่า ภาษาไทยเรียกพวกฮักกาว่า จีนแคะ ภาษาเวียดมีคำว่า khách (แค้ก) ที่แปลเป็นไทยว่า แขก หรือผู้มาเยือน คำทั้งหมดนี้ผมว่าน่าจะหมายถึงคนกลุ่มเดียวกัน แล้วกลายมาเป็นคำเรียก "คนอื่น" ว่า "แขก" ในภาษาไทย และ "แค้ก" ในภาษาเวียด

พอเขาบอกว่า พวกนี้หนีลงมาอยู่ทางเหนือของเวียดนาม ผมก็เลยคิดว่าน่าจะใช่พวกฮ่อแน่ ๆ ก็เลยถามเขาว่า หมายถึงพวกกบฏไท่ผิงใช่ไหม เขาบอกว่าใช่ พวกนี้คือฮักกาทางใต้ของจีนปัจจุบันที่กบฏ แล้วหนีลงมาอยู่ที่เวียดนาม

ผมเลยต่อเรื่องติด บอกเขาว่า พวกนี้มาเวียดนามตอนกลางถึงปลายศตวรรษที่ 19 ในบันทึกของพวกไตบอกว่ามาปล้น มายึดเมืองสำคัญ ๆ ของพวกไตไว้หมด สยามเรียกว่าเป็น "กบฏฮ่อ" จึงพยายามขึ้นมา "ปราบ" ส่วนฝรั่งเศสจัดการพวกนี้ไม่ได้อยู่นานร่วม 20 ปีกว่าจะยึดเวียดนามเหนือได้ 

ผมเล่าต่อว่า พวกฮ่อร่วมมือกับพวกไตไปเผาหลวงพระบาง ทำให้สยามเดือดร้อนไปด้วย แต่ไม่ทันได้ขึ้นมาปราบหรอก เพราะฝรั่งเศสจัดการราบคาบก่อนแล้ว แล้วจึงนำมาซึ่งการปักปันเขตแดนสยามกับอินโดจีนจนจบลงในปี 1890 (ไม่ใช่เสียดินแดน เพราะดินแดนเหล่านี้ ที่ไทยรู้จักในชื่อผิด ๆ ว่า "สิบสองจุไท" ไม่เคยเป็นของใครไม่ว่าจะเวียด ลาว หรือสยามมาก่อน แต่เป็นของเจ้าถิ่นคือคนไต และกลุ่มชาติพันธ์ุอื่น ๆ ที่อยู่ร่วมดินแดนกัน)

เขาสนใจถามต่อว่าผมเคยเจอคนจีนพวกนี้ไหม ผมเล่าว่า สมัยที่จีนบุกเวียดนามเหนือปี 1979 (บางคนเรียก "สงครามสั่งสอน" เวียดนามเรียก สงครามอินโดจีนครั้งที่ 3 หลังจากที่เวียดนามบุกกัมพูชา ส่วนสำคัญเพราะการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุของเขมรแดงที่คนที่ถูกฆ่าจำนวนมากมีเชื้อสายเวียดนามในกัมพูชา) พวกฮ่อถูกไล่กลับประเทศไปด้วย ทั้ง ๆ ที่พวกเขาอยู่ในเวียดนามมาเป็นร้อยปีแล้ว แทบไม่มีสายใยอะไรกับที่เมืองจีนแล้ว ทำให้ตอนนี้เหลือฮ่อน้อยมาก แต่ยังพอเห็นสุสานของพวกเขาอยู่บ้างในเวียดนามเหนือ 

ผมเล่าต่อว่าในภาคเหนือของเวียดนามยังพอพบคนเหล่านี้ได้บ้าง บางที่เคยถูกเรียกโดยพวกไตว่าเป็นตลาดของพวกฮ่อ หรือเป็นย่านการค้าของพวกฮ่อ ผมเล่ด้วยว่า เคยเดินทางไปเจอคนจีนตามชายแดนเวียดนาม-จีนเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ยังมีคนใช้ชีวิตแบบเก่า บ้านเรือนปลูกบนพื้นดินแบบเก่า แต่งตัวเสื้อผ้าแบบในหนังสือชาติพันธ์ุวิทยาเก่า ๆ นักวิชาการไต้หวันก็เลยสนใจว่าพวกเขาทำการเกษตรกันไหม ทำอย่างไร และอีกหลายคำถาม

ไม่ทันได้ตอบคำถามที่เหลือ เวลาเพียง 15 นาทีบนรถแท็กซี่ในเมืองเกียวโตที่แสนจะกระทัดรัดจนหามุมรถติดยากมากก็หมดลง เราแยกย้ายกัน เขากำลังจะกลับจากเกียวโต ผมกำลังจะเริ่มงานวิจัยที่เกียวโต เสียดายที่ได้เจอคนฮ่อคนนี้ที่เกียวโตช้าไปนิด แต่นี่เป็นหนึ่งในบทสนทนาในวันแรก ๆ ของการทำงานที่นี่ ที่ทั้งชวนให้ตื่นเต้นและกระตือรือล้นให้ทำงานวิจัยต่อไป

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอแสดงความคารวะจากใจจริงถึงความกล้าหาญจริงจังของพวกคุณ พวกคุณแสดงออกซึ่งโครงสร้างอารมณ์ของยุคสมัยอย่างจริงใจไม่เสแสร้ง อย่างที่แม่ของพวกคุณคนหนึ่งบอกกล่าวกับผมว่า "พวกเขาก็เป็นผลผลิตของสังคมในยุค 10 ปีที่ผ่านมานั่นแหละ" นั่นก็คือ พวกคุณได้สื่อถึงความห่วงใยต่ออนาคตของสังคมไทยที่พวกคุณนั่นแหละจะต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อไปให้สังคมได้รับรู้แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปฏิกิริยาของสังคมต่อการกักขังนักศึกษา 14 คนได้ชี้ให้เห็นถึงการก้าวพ้นกำแพงความกลัวของประชาชน อะไรที่กระตุ้นให้ผู้คนเหล่านี้แสดงตัวอย่างฉับพลัน และการแสดงออกเหล่านี้มีนัยต่อสถานการณ์ขณะนี้อย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในโลกนี้มีสังคมมากมายที่ไม่ได้นับว่าตนเองเป็นกลุ่มชนเดียวกัน และการแบ่งแยกความแตกต่างของกลุ่มคนนั้นก็ไม่ได้ทาบทับกันสนิทกับความเป็นประเทศชาติ ชาว Rohingya (ขอสงวนการเขียนด้วยอักษรโรมัน เพราะไม่เห็นด้วยกับการออกเสียงตามภาษาพม่า) ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของกลุ่มคนที่ไม่ได้มีขอบเขตพื้นที่ที่อาศัยครอบครองอยู่ทาบกันสนิทกับขอบเขตพื้นที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงเวลาของการสัมภาษณ์นักศึกษาใหม่ในแต่ละปีถือเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่ผมจะใช้อัพเดทความเปลี่ยนแปลงของสังคมหรือทำความเข้าใจสังคม จากมุมมองและประสบการณ์ชีวิตสั้นๆ ของนักเรียนที่เพิ่งจบการศึกษามัธยม ปีที่ผ่านๆ มาผมและเพื่อนอาจารย์มักสนุกสนานกับการตรวจสอบสมมติฐานของแต่ละคนว่าด้วยประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง บางทีก็ตรงกับที่มีสมมติฐานไว้บ้าง บางทีก็พลาดไปบ้าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (31 พค. 58) ผมไปเป็นเพื่อนหลานสาววัย 13 ปี ที่ชวนให้ไปเที่ยวงานเทศกาลการ์ตูนญี่ปุ่นที่โรงแรมแห่งหนึ่งแถวถนนสุขุมวิท ผมเองสนับสนุนกิจกรรมเขียนการ์ตูนของหลานอยู่แล้ว และก็อยากรู้จักสังคมการ์ตูนของพวกเขา ก็เลยตอบรับคำชวน เดินทางขึ้นรถเมล์ ต่อรถไฟฟ้าไปกันอย่างกระตือรือล้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สนามบินที่ไหนๆ ก็ดูเหมือนๆ กันไปหมด อยู่ที่ว่าจะออกจากไหน ด้วยเรื่องราวอะไร หรือกำลังจะไปเผชิญอะไร ในความคาดหวังแบบไหน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ปับ เจียน ความ เจ้า ปัว ฟ้า" แปลตามตัวอักษรได้ว่า "หนังสือ เล่า เรื่อง เจ้า กษัตริย์ (แห่ง)ฟ้า" ซึ่งก็คือไบเบิลนั่นเอง แต่แปลเป็นภาษาไทดำแล้วพิมพ์ด้วยอักษรไทดำ อักษรลาว และอักษรเวียดนาม เมื่ออ่านแล้วจะออกเสียงและใช้คำศัพท์ภาษาไทดำเป็นหลัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
กรณีการออกเสียงชื่อชาว Rohingya ว่าจะออกเสียงอย่างไรดี ผมก็เห็นใจราชบัณฑิตนะครับ เพราะเขามีหน้าที่ต้องให้คำตอบหน่วยงานของรัฐ แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการออกเสียงให้ตายตัวเบ็ดเสร็จว่าควรจะออกเสียงอย่างไรกันแน่ ยิ่งอ้างว่าออกเสียงตามภาษาพม่ายิ่งไม่เห็นด้วย ตามเหตุผลดังนี้ครับ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (7 พค. 58) ผมสอนวิชา "มานุษยวิทยาวัฒนธรรม" ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินเป็นวันสุดท้าย มีเรื่องน่ายินดีบางอย่างที่อยากบันทึกไว้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
มันคงมีโครงสร้างอะไรบางอย่างที่ทำให้ "ร้านสะดวกซื้อ" เกิดขึ้นมาแทนที่ "ร้านขายของชำ" ได้ ผมลองนึกถึงร้านขายของชำสามสี่เมืองที่ผมเคยอาศัยอยู่ชั่วคราวบ้างถาวรบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อปี 2553 เป็นปีครบรอบวันเกิด 80 ปี จิตร ภูมิศักดิ์ มีการจัดงานรำลึกใหญ่โตที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเอ่ยถึงจิตรทีไร ผมก็มักเปรยกับอาจารย์ประวัติศาสตร์จุฬาฯ ท่านหนึ่งว่า "น่าอิจฉาที่จุฬาฯ มีวิญญาณของความหนุ่ม-สาวผู้ชาญฉลาดและหล้าหาญอย่างจิตรอยู่ให้ระลึกถึงเสมอๆ" อาจารย์คณะอักษรฯ ที่ผมเคารพรักท่านนี้ก็มักย้อนบอกมาว่า "ธรรมศาสตร์ก็ต้องหาคนมาเชิดชูของตนเองบ้าง"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันที่ 30 เมษายน 2558 เป็นวันครบรอบ 40 ปี "ไซ่ง่อนแตก"Ž เดิมทีผมก็ใช้สำนวนนี้อยู่ แต่เมื่อศึกษาเกี่ยวกับเวียดนามมากขึ้น ก็กระอักกระอ่วนใจที่จะใช้สำนวนนี้ เพราะสำนวนนี้แฝงมุมมองต่อเวียดนามแบบหนึ่งเอาไว้