Skip to main content

สองวันก่อนเห็นสถาบันวิจัยชื่อดังแห่งหนึ่งในประเทศไทยนำการเปรียบเทียบสัดส่วนทุนวิจัยอย่างหยาบ ๆ ของหน่วยงานด้านการวิจัยที่ทรงอำนาจแต่ไม่แน่ใจว่าทรงความรู้กี่มากน้อยของไทย มาเผยแพร่ด้วยข้อสรุปว่า ประเทศกำลังพัฒนาเขาไม่ทุ่มเทลงทุนกับการวิจัยพื้นฐานมากกว่าการวิจัยประยุกต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรส่งเสริมการทำวิจัยแบบที่สามารถนำไปต่อยอดทำเงินได้ให้มากที่สุด

ผมไม่อยากดูหมิ่นสถาบันวิจัยของไทยเหล่านั้นมากไปกว่าที่เคยดูหมิ่นดูแคลนมาตลอดอยู่แล้ว ไม่ใช่ว่าประเทศไทยไม่มีคนเก่ง ไม่ใช่ว่าไม่มีคนในประเทศไทยที่เข้าใจโลกสากล เพียงแต่คนเหล่านั้นไม่มีประโยชน์ในสายตาของรัฐมากเท่าคนที่ประเทศไทยใช้งานอยู่ และยิ่งไม่มีประโยชน์ในสมัยที่การแสดงออกทางวิชาการถูกปืนปิดปากอยู่อย่างในทุกวันนี้ 

ที่จริงผมก็ไม่ได้อยากจะพูดเรืองผลการวิจัยเลอะเทอะอะไรนั่น ความรู้พื้นฐานมีความสำคัญอย่างไร แล้วยังมีส่วนในการสร้างชาติและโลกทั้งมวลอย่างไร พูดไปเท่าไหร่ก็ไม่เข้าหูคนที่คิดและเขียนงานแบบนั้นออกมาได้ เสียเวลาเปล่า ที่ผมอยากจะเล่ามากกว่าคือได้พบอะไรในห้องสมุดของมหาวิทยาลัยเกียวโตที่เพิ่งไปค้นคว้าเบื้องต้นมาวันนี้บ้าง แล้วมันบอกอะไรกับการลงทุนด้านการวิจัยพื้นฐานบ้าง บอกอะไรกับวิสัยทัศน์การลงทุนแบบนี้บ้าง 

วันนี้ (12 มกราคม 2559) ผมเริ่มไปค้นคว้าในห้องสมุดของมหาวิทยาลัยเกียวโต ที่จริงผู้รับทุนจากศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาของมหาวิทยาลัยเกียวโตส่วนใหญ่ก็จะค้นคว้าวิจัยในห้องสมุดของศูนย์ฯ ก็แทบจะเพียงพออยู่แล้ว เพราะเป็นห้องสมุดเก่าแก่ ใหญ่โต เก็บเอกสารหนังสือเก่า ๆ มากมายหลายภาษา มีทั้งสือทั้งภาษาอังกฤษและภาษาอื่น ๆ รวมทั้งภาษาญี่ปุ่น (ที่ก็น่าจะมีไม่น้อย) ในเรื่องเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไว้อย่างมหศาลอยู่แล้ว  

แต่เมื่อค้นหนังสือที่ต้องการใช้ดู ผมพบว่าหนังสือภาษาต่างประเทศจำนวนมากทีเดียว ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาอื่นๆ ที่ไม่ใช่ญี่ปุน ถูกเก็บไว้ในห้องสมุดหลักของมหาวิทยาลัย วันนี้ผมก็เลยมีโอกาสได้ไปห้องสมุดกลาง เพราะมีหนังสือที่ผมต้องการอยู่ห้องสมุดหลักนั่น 

เอกสารที่ผมหาคือเอกสารเกี่ยวกับงานแปลนิทานคำกลอนและคติชน (folklore) ต่าง ๆ ของชนกลุ่มน้อยในเวียดนาม เรื่องที่ผมกำลังค้นคว้าอยู่คือนิทานคำกลอนเรื่องหนึ่ง ชื่อ "ส่งชู้สอนสาว" ของชาวไทในเวียดนาม นิทานเรื่องนี้ถูกแปลเป็นภาษาเวียดนามโดยคนเวียด แล้วพิมพ์เป็นภาษาเวียดนาม รวมทั้งส่งเสริมให้นักเรียนอ่าน มีการวิเคราะห์วิจารณ์ไว้พอสมควร หากแต่หนังสือเกี่ยวกับการวิเคราะห์นิทานคำกลอนนี้หายาก ในประเทศเวียดนามก็หายากเต็มที เพราะเก่าแก่กว่า 40-50 ปีแล้ว 

เบื้องต้นผมพบหนังสือที่เกี่ยวข้องอยู่จำนวนไม่น้อยทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังสือที่น่าจะเป็นหการพิมพ์ "ส่งชู้สอนสาว" ในภาษาเวียดนามครั้งแรกเมื่อปี 1977 และมีบทวิเคราะห์ที่ผมหามานานรวมอยู่ในหนังสือนั้นด้วย เมื่อพบว่าห้องสมุดมี ก็ต้องรีบไปหา ห้องสมุดกลางอยู่ห่างจากห้องทำงาน (อันโอ่อ่าใหญ่โตสะดวกสบาย) ไปสักหน่อย แต่ถีบจักรยานไปสัก 5 นาทีก็ถึง 

ที่น่าสนใจคือการจัดชั้นหนังสือของที่นี่ เขาไม่ได้จัดแบบห้องสมุดในประเทศไทยส่วนใหญ่ ที่หันมาใช้ระบบรัฐสภาอเมริกันกันแทบทุกที่แล้ว (อาจจะยังมีแต่ที่จุฬาฯ แต่สมัยนี้ไม่รู้เปลี่ยนหรือยัง) แต่ที่มหาวิทยาลัยเกียวโตใช้ระบบที่ปรับมาจากระบบดิวอี้ แล้วเขายังแยกหนังสือภาษาต่างประเทศ (คือที่ไม่ใช่ภาษาญี่ปุ่น) ออกจากภาษาอังกฤษ ข้อนี้อาจจะไม่ต่างกับห้องสมุดในประเทศไทยส่วนใหญ่ แต่จะต่างกับในสหรัฐอเมริกา ที่ห้องสมุดมหาวิทยาลัย (น่าจะส่วนใหญ่) จัดหนังสือทุกภาษาอยู่ในชั้นเดียวกันหมด การหาหนังสือที่นี่จึงซับซ้อนนิดหน่อย แต่เขาก็มีระบบที่ระบุค่อนข้างชัดเจนว่า หนังสือตามเลขเรียกแบบนี้จะเก็บไว้ที่ไหน 

เมื่อไปถึง ผมเงอะ ๆ งะ ๆ อยู่สักพัก ก็เข้าไปขอความช่วยเหลือจากบรรณารักษ์ เจ้าหน้าที่เขาบริการบอกวิธีไปที่ชั้นหนังสือ ชี้ทางโดยไม่ใช้ภาษาอังกฤษ จนแทบจะจูงมือพาไปถึงชั้นหนังสือทีเดียว หนังสือภาษาเวียดนามเก็บรวมกับภาษาอื่น ๆ แต่ก็แยกแต่ละภาษาออกจากกันเด็ดขาด  

ที่น่าตื่นเต้นคือ สำหรับผมซึ่งทำวิจัยเกี่ยวกับเวียดนามมานาน การได้ยืนอยู่ต่อหน้าหนังสือภาษาเวียดนามอายุค่อนข้างเก่า (พิมพ์ช่วงปี 1960-1970) จำนวนค่อนข้างมาก เรียงรายอยู่ต่อหน้าบนชั้นอย่างนี้ เป็นประสบการณ์ที่หาไม่ได้ในประเทศเวียดนาม สมัยที่ผมไปค้นคว้าในห้องสมุดแห่งชาติและห้องสมุดสถาบันวิจัยมนุษยศาสตร์และสังคมศษสตร์ที่ฮานอย เขาจะไม่ให้ผู้อ่านไปหยิบหนังสือเอง จะต้องขอทีละ 3 เล่ม นั่งรอให้เจ้าหน้าที่ไปหยิบมา เมื่ออ่านเสร็จแล้วจึงจะอนุญาตให้ยืมเล่มต่อไป เดิมทียิ่งยากกว่านี้เพราะเขาจะไม่ให้ถ่ายเอกสาร หลัง ๆ มายังดีที่เขาให้ถ่ายเอกสาร ปัจจุบันเปลี่ยนไปหรือยังอย่างไรก็ไม่ทราบ 

การยืนอยู่หน้าชั้นหนังสือมีข้อดีตรงที่มีโอกาสที่เราจะได้เจอหนังสือที่ไม่ได้ตั้งใจมาหาโดยเฉพาะ เมื่อกวาดสายตาหาหนังสือที่ต้องการอยู่ ผมก็เจอเข้ากับหนังสือเล่มหนึ่ง ตามรูปที่ถ่ายมาให้ดู ผมไม่เคยรู้มาก่อนว่าจะมีหนังสือเล่มนี้ในโลก เป็นหนังสือแปลข้อเขียนเกี่ยวกับวัฒนธรรมพื้นบ้านของไทยที่เขียนโดยพระยาอนุมานราชธนออกเป็นภาษาเวียดนาม โดยสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาของเวียดนาม ด้วยการสนับสนุนจากมูลนิธิโตโยตา พิมพ์เมื่อปี 1988 ในโอกาส 100 ปีพระยาอนุมานฯ เดิมเขาพิมพ์แล้วครั้งหนึ่งเมื่อ 80 ปีพระยาอนุมานฯ คือในปี 1968  

ส่วนหนังสือที่ผมต้องการ เมื่อเจอแล้วผมก็หยิบมาเพื่อจะสอบถามว่ายืมได้หรือเปล่า ไม่ทันต้องถาม เจ้าหน้าที่ก็ชี้ให้ไปแสกนที่เครื่องยืมคืนด้วยตนเอง ซึ่งเรียนรู้ไม่กี่นาทีก็ใช้เองได้ ที่ตื่นเต้นมากคือ ผมสามารถยืมหนังสือค่อนข้างเก่าที่สภาพดีมากมา 2 เล่ม (จะยืมมากกว่านี้ก็ได้ ไม่เกิน 30 เล่ม) หนังสืออายุเท่านี้ สภาพแบบนี้ บอกได้เลยว่าแม้แต่ห้องสมุดในฮานอยยังหาไม่ได้ เพราะที่เวียดนามมีทุนไม่พอที่จะเก็บรักษาหนังสือที่สมัยก่อนใช้กระดาษบาง ๆ พิมพ์ด้วยหมึกจาง ๆ ให้คงสภาพดีอยู่อย่างนี้ได้ 

ผมพรำ่บ่นมานานนับสิบ ๆ ปีว่า ประเทศไทยไม่มีห้องสมุดที่มีหนังสือของประเทศเพื่อนบ้าน หากใครจะค้นคว้าแม้แต่เรื่องเกี่ยวกับประเทศลาวในภาษาลาว ก็ต้องดั้นด้นไปที่ประเทศลาว ปัจจุบันห้องสมุดของบางมหาวิทยาลัยก็คงจะค่อย ๆ เริ่มสะสมมาบ้าง แต่นี่ก็เป็นการลงทุนระยะยาวที่ประเทศไทยคิดช้าเกินไปหน่อย ผมเคยเสนอให้บางสถาบันที่มีเงินทุนมากมาย ซึ่งมักใช้ไปกับการปรับปรุงห้องส้วมของผู้บริหารและการขึ้นเงินเดือนเพิ่มเบี้ยประชุมให้ผู้บริหารกันเอง หันมาเจียดเงินเก็บสะสมหนังสือจากประเทศเพื่อนบ้าน เริ่มจากประเทศละ 100 เล่มก่อนก็ได้ แล้วค่อย ๆ เพิ่มไปโดยเลือกหนังสือตามความสนใจของสถาบันเอง สุดท้ายเขาก็ไม่ทำ ด้วยเหตุผลง่าย ๆ ว่าไม่รู้จะ catalog หนังสืออย่างไร 

นี่คือตัวอย่างง่าย ๆ ของการลงทุนในระยะยาวเพื่อสร้างความรู้ ตั้งแต่หนังสือสองเล่มที่ผมยืมมาอ่านย่างเข้ามาในห้องสมุดแห่งนี้ คงจะเคยมีคนยืมหนังสือสองเล่มนี้ไปอ่านเพียงไม่กี่คน ถ้าจะมีน่ะนะครับ หรืออย่างหนังสือแปลขอพระยาอนุมานราชธนที่ผมเจอนั่น จะมีคนไทย คนสนใจประเทศไทย หรือคนศึกษาเวียดนามสักกี่คนที่สนใจดูว่ามีหนังสือเล่มนี้อยู่ในโลกไหม ที่อาจจะถูกเก็บให้ใช้อ่านได้ในห้องสมุดแห่งนี้  

หากมองไกล มองกว้าง มองแบบไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนเท่านั้น การลงทุนเพื่อวิจัยพื้นฐานไม่จำเป็นว่าผลมันจะตกกับประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น หากแต่ผลมันน่าจะตกแก่ผู้คนในโลกทั้งมวล ที่แม้ปัจจุบันจะยังไม่มีใครได้ประโยชน์นั้น แต่สักวันหนึ่ง จะมีใครสักคนหนึ่งมาพบมันแล้วใช้ทุนที่ลงไปนั้น แน่นอนว่านายทุนหน้าใหม่ที่มุ่งฉกฉวยโอกาสเฉพาะหน้าในบางประเทศคงยังมองไม่ออกว่าคุณค่าของการลงทุนมนุษย์แบบนี้เป็นอย่างไร

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากผมจะเลิกเรียกอาจารย์ว่าอาจารย์เสีย ก็คงไม่มีใครใส่ใจอะไร เพียงแต่ผมเองต่างหากที่ยังใส่ใจว่า อาจารย์เคยสอนหนังสือผม และอาจารย์ก็ยังเป็นนักวิชาการรุ่นอาวุโสที่อยางน้อยก็มีศักดิ์ทางวิชาการที่โลกวิชาการในสายอาชีพเดียวกับผมเขายกย่องนับถือกัน ไม่อย่างนั้นอาจารย์ก็คงไม่ได้รับการยกย่องมาจนทุกวันนี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันสุดท้ายของการเดินทางในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม คณะเราเดินทางกลับฮานอย แต่เส้นทางที่กลับผ่านดินแดนในตำนานสำคัญที่ผมไม่เคยแวะมาก่อน คือศาลเจ้าหุ่งม์เวือง (Đền Hùng Vương) ที่เชื่อมโยงกับตำนานไข่ร้อยฟองและกำเนิดของกลุ่มชาติพันธ์ุไต
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเมืองไลและเมืองซอมา ผมกับเพื่อนร่วมทางมุ่งหน้าไปจุดหมายต่อไปคือไปพักที่เมืองถาน (Than Uyên) เมืองสำคัญของชาวไตดำอีกเมืองหนึ่ง เพื่อที่วันรุ่งขึ้นจะได้เดินทางต่อไปยังเมืองลอ (Nghĩa Lộ) โดยผ่านนาขั้นบันไดในถิ่นของชาวม้งที่อำเภอ หมู่ กัง จ่าย (Mù Căng Chải) และถิ่นฐานชาวเย้าที่ทำนา ณ เมืองลุง (Tú Lệ) แล้วพักค้างคืนที่เอียน บ๋าย (Yên Bái) ก่อนมุ่งหน้าสู่ฮานอยในอีกวันหนึ่ง ตลอดเส้นทางนี้ผมใจหายกับความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตลอดการเดินทาง สิ่งหนึ่งที่หนักหนาเสมอคือการดื่มกินกับคนพื้นเมือง ในการเดินทางครั้งนี้ มื้อที่แสนสาหัสที่สุดคือมื้อที่ต้องทั้งประคองตัวเอง ทั้งไม่ให้เสียน้ำใจ และทั้งไม่ให้เพื่อนร่วมทางเหน็ดเหนื่อยเกินกว่าจะร่วมทางกันต่อไปได้อย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองไลเป็นเมืองสำคัญอย่างไรในประวัติศาสตร์เวียดนาม สยาม และฝรั่งเศส คงเป็นคำถามที่ไม่มีใครสนใจนัก เพราะเมืองไลปัจจุบันกำลังกลายเป็นอดีตที่ถูกกลบเกลื่อนลบเลือนไปจนเกือบหมดสิ้น ทั้งจากน้ำเหนือเขื่อน และจากการจัดการปกครองในปัจจุบัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองแถงมนดั่งขอบกระด้ง เมืองคดโค้งเยี่ยงเขาควาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสักเกือบ 15 ปีก่อน ผมไปเสาะหาบ้านนาน้อยอ้อยหนูที่เมืองแถง (เดียนเบียนฟู) กับอาจารย์คำจอง นักชาติพันธ์ุวิทยาชาวไตดำ/เวียดนาม 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองลา (Sơn La) ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว แทบไม่มีใครรู้จักเมืองลาแม้ว่าเมืองนี้จะมีประวัติศาสตร์สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเดียนเบียนฟู เนื่องจากเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสใช้เป็นฐานในการปกครองเมืองคนไต แต่เดียนเบียนฟูโด่งดังขึ้นมาจากการที่ฝรั่งเศสแพ้พวกคอมมิวนิสต์เวียดนามอย่างราบคาบ ทำให้คนไม่ได้ทันสนใจว่า ก่อนหน้านั้นฝรั่งเศสปกครองเมืองคนไตอย่างไร แล้วมีฐานที่มั่นสำคัญอยู่ที่ไหนก่อนที่จะไปอยู่ที่เมืองแถงหรือเดียนเบียนฟู
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมมาเมืองมุน (Mai Châu, Hoà Bình) ครั้งแรกเมื่อปี 1998 มาเป็นผู้ช่วยวิจัย ตอนนั้นมาเดือนกุมภาพันธ์ อากาศหนาวมากแล้วเตรียมตัวไม่พอ ยังไม่รู้จักความหนาว เมื่อมาถึงที่นี่ ได้แต่นั่งผิงไฟ ขณะนั้นเมืองมุนเริ่มเปิดให้นักท่องเที่ยวมาพัก มีโฮมสเตย์อยู่สัก 5-6 หลัง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทุนมหาวิทยาลัยเกียวโตนี่ดีกว่าที่ผมคิด เดิมทีแค่รู้ว่าได้ทุนมาเพื่อทำวิจัย ซึ่งก็จะทำอะไรก็ทำไปเถอะ ตามข้อเสนอขอทุนที่เขียนไปไม่ถึงหนึ่งหน้ากระดาษ งานที่รับผิดชอบคือเสนองานสักสองครั้ง แล้วพยายามพิมพ์อะไรออกมาก็โอเคแล้ว นี่จึงถือว่าเป็นทุนชั้นยอด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาผมเดินทางด้วยรถไฟชินคันเซนจากเกียวโตไปโตเกียว มีเรื่องราวมากมายที่น่าบันทึกไว้ ณ ที่นี่ แต่เบื้องต้นขอเล่าเพียงตลาด Tsukiji ก่อน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตกใจเหมือนกันที่ Divas Cafe จะเลิกออกอากาศแล้ว อยากบันทึกสั้นๆ ว่าผมดีใจ ภูมิใจ ปลื้มใจ ที่เคยได้เป็นแขกในรายการดีว่าส์ คาเฟ่ เป็นรายการที่ไปคุยด้วยสนุกมาก พิธีกรรุกเร้ามาก เวลาสั้นจนต้องปรับจังหวะการพูดให้เร็วมาก แถมบางครั้งยังต้องหาจังหวะแย่งพิธีกรพูดอีก