Skip to main content

สองวันก่อนเห็นสถาบันวิจัยชื่อดังแห่งหนึ่งในประเทศไทยนำการเปรียบเทียบสัดส่วนทุนวิจัยอย่างหยาบ ๆ ของหน่วยงานด้านการวิจัยที่ทรงอำนาจแต่ไม่แน่ใจว่าทรงความรู้กี่มากน้อยของไทย มาเผยแพร่ด้วยข้อสรุปว่า ประเทศกำลังพัฒนาเขาไม่ทุ่มเทลงทุนกับการวิจัยพื้นฐานมากกว่าการวิจัยประยุกต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรส่งเสริมการทำวิจัยแบบที่สามารถนำไปต่อยอดทำเงินได้ให้มากที่สุด

ผมไม่อยากดูหมิ่นสถาบันวิจัยของไทยเหล่านั้นมากไปกว่าที่เคยดูหมิ่นดูแคลนมาตลอดอยู่แล้ว ไม่ใช่ว่าประเทศไทยไม่มีคนเก่ง ไม่ใช่ว่าไม่มีคนในประเทศไทยที่เข้าใจโลกสากล เพียงแต่คนเหล่านั้นไม่มีประโยชน์ในสายตาของรัฐมากเท่าคนที่ประเทศไทยใช้งานอยู่ และยิ่งไม่มีประโยชน์ในสมัยที่การแสดงออกทางวิชาการถูกปืนปิดปากอยู่อย่างในทุกวันนี้ 

ที่จริงผมก็ไม่ได้อยากจะพูดเรืองผลการวิจัยเลอะเทอะอะไรนั่น ความรู้พื้นฐานมีความสำคัญอย่างไร แล้วยังมีส่วนในการสร้างชาติและโลกทั้งมวลอย่างไร พูดไปเท่าไหร่ก็ไม่เข้าหูคนที่คิดและเขียนงานแบบนั้นออกมาได้ เสียเวลาเปล่า ที่ผมอยากจะเล่ามากกว่าคือได้พบอะไรในห้องสมุดของมหาวิทยาลัยเกียวโตที่เพิ่งไปค้นคว้าเบื้องต้นมาวันนี้บ้าง แล้วมันบอกอะไรกับการลงทุนด้านการวิจัยพื้นฐานบ้าง บอกอะไรกับวิสัยทัศน์การลงทุนแบบนี้บ้าง 

วันนี้ (12 มกราคม 2559) ผมเริ่มไปค้นคว้าในห้องสมุดของมหาวิทยาลัยเกียวโต ที่จริงผู้รับทุนจากศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาของมหาวิทยาลัยเกียวโตส่วนใหญ่ก็จะค้นคว้าวิจัยในห้องสมุดของศูนย์ฯ ก็แทบจะเพียงพออยู่แล้ว เพราะเป็นห้องสมุดเก่าแก่ ใหญ่โต เก็บเอกสารหนังสือเก่า ๆ มากมายหลายภาษา มีทั้งสือทั้งภาษาอังกฤษและภาษาอื่น ๆ รวมทั้งภาษาญี่ปุ่น (ที่ก็น่าจะมีไม่น้อย) ในเรื่องเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไว้อย่างมหศาลอยู่แล้ว  

แต่เมื่อค้นหนังสือที่ต้องการใช้ดู ผมพบว่าหนังสือภาษาต่างประเทศจำนวนมากทีเดียว ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาอื่นๆ ที่ไม่ใช่ญี่ปุน ถูกเก็บไว้ในห้องสมุดหลักของมหาวิทยาลัย วันนี้ผมก็เลยมีโอกาสได้ไปห้องสมุดกลาง เพราะมีหนังสือที่ผมต้องการอยู่ห้องสมุดหลักนั่น 

เอกสารที่ผมหาคือเอกสารเกี่ยวกับงานแปลนิทานคำกลอนและคติชน (folklore) ต่าง ๆ ของชนกลุ่มน้อยในเวียดนาม เรื่องที่ผมกำลังค้นคว้าอยู่คือนิทานคำกลอนเรื่องหนึ่ง ชื่อ "ส่งชู้สอนสาว" ของชาวไทในเวียดนาม นิทานเรื่องนี้ถูกแปลเป็นภาษาเวียดนามโดยคนเวียด แล้วพิมพ์เป็นภาษาเวียดนาม รวมทั้งส่งเสริมให้นักเรียนอ่าน มีการวิเคราะห์วิจารณ์ไว้พอสมควร หากแต่หนังสือเกี่ยวกับการวิเคราะห์นิทานคำกลอนนี้หายาก ในประเทศเวียดนามก็หายากเต็มที เพราะเก่าแก่กว่า 40-50 ปีแล้ว 

เบื้องต้นผมพบหนังสือที่เกี่ยวข้องอยู่จำนวนไม่น้อยทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังสือที่น่าจะเป็นหการพิมพ์ "ส่งชู้สอนสาว" ในภาษาเวียดนามครั้งแรกเมื่อปี 1977 และมีบทวิเคราะห์ที่ผมหามานานรวมอยู่ในหนังสือนั้นด้วย เมื่อพบว่าห้องสมุดมี ก็ต้องรีบไปหา ห้องสมุดกลางอยู่ห่างจากห้องทำงาน (อันโอ่อ่าใหญ่โตสะดวกสบาย) ไปสักหน่อย แต่ถีบจักรยานไปสัก 5 นาทีก็ถึง 

ที่น่าสนใจคือการจัดชั้นหนังสือของที่นี่ เขาไม่ได้จัดแบบห้องสมุดในประเทศไทยส่วนใหญ่ ที่หันมาใช้ระบบรัฐสภาอเมริกันกันแทบทุกที่แล้ว (อาจจะยังมีแต่ที่จุฬาฯ แต่สมัยนี้ไม่รู้เปลี่ยนหรือยัง) แต่ที่มหาวิทยาลัยเกียวโตใช้ระบบที่ปรับมาจากระบบดิวอี้ แล้วเขายังแยกหนังสือภาษาต่างประเทศ (คือที่ไม่ใช่ภาษาญี่ปุ่น) ออกจากภาษาอังกฤษ ข้อนี้อาจจะไม่ต่างกับห้องสมุดในประเทศไทยส่วนใหญ่ แต่จะต่างกับในสหรัฐอเมริกา ที่ห้องสมุดมหาวิทยาลัย (น่าจะส่วนใหญ่) จัดหนังสือทุกภาษาอยู่ในชั้นเดียวกันหมด การหาหนังสือที่นี่จึงซับซ้อนนิดหน่อย แต่เขาก็มีระบบที่ระบุค่อนข้างชัดเจนว่า หนังสือตามเลขเรียกแบบนี้จะเก็บไว้ที่ไหน 

เมื่อไปถึง ผมเงอะ ๆ งะ ๆ อยู่สักพัก ก็เข้าไปขอความช่วยเหลือจากบรรณารักษ์ เจ้าหน้าที่เขาบริการบอกวิธีไปที่ชั้นหนังสือ ชี้ทางโดยไม่ใช้ภาษาอังกฤษ จนแทบจะจูงมือพาไปถึงชั้นหนังสือทีเดียว หนังสือภาษาเวียดนามเก็บรวมกับภาษาอื่น ๆ แต่ก็แยกแต่ละภาษาออกจากกันเด็ดขาด  

ที่น่าตื่นเต้นคือ สำหรับผมซึ่งทำวิจัยเกี่ยวกับเวียดนามมานาน การได้ยืนอยู่ต่อหน้าหนังสือภาษาเวียดนามอายุค่อนข้างเก่า (พิมพ์ช่วงปี 1960-1970) จำนวนค่อนข้างมาก เรียงรายอยู่ต่อหน้าบนชั้นอย่างนี้ เป็นประสบการณ์ที่หาไม่ได้ในประเทศเวียดนาม สมัยที่ผมไปค้นคว้าในห้องสมุดแห่งชาติและห้องสมุดสถาบันวิจัยมนุษยศาสตร์และสังคมศษสตร์ที่ฮานอย เขาจะไม่ให้ผู้อ่านไปหยิบหนังสือเอง จะต้องขอทีละ 3 เล่ม นั่งรอให้เจ้าหน้าที่ไปหยิบมา เมื่ออ่านเสร็จแล้วจึงจะอนุญาตให้ยืมเล่มต่อไป เดิมทียิ่งยากกว่านี้เพราะเขาจะไม่ให้ถ่ายเอกสาร หลัง ๆ มายังดีที่เขาให้ถ่ายเอกสาร ปัจจุบันเปลี่ยนไปหรือยังอย่างไรก็ไม่ทราบ 

การยืนอยู่หน้าชั้นหนังสือมีข้อดีตรงที่มีโอกาสที่เราจะได้เจอหนังสือที่ไม่ได้ตั้งใจมาหาโดยเฉพาะ เมื่อกวาดสายตาหาหนังสือที่ต้องการอยู่ ผมก็เจอเข้ากับหนังสือเล่มหนึ่ง ตามรูปที่ถ่ายมาให้ดู ผมไม่เคยรู้มาก่อนว่าจะมีหนังสือเล่มนี้ในโลก เป็นหนังสือแปลข้อเขียนเกี่ยวกับวัฒนธรรมพื้นบ้านของไทยที่เขียนโดยพระยาอนุมานราชธนออกเป็นภาษาเวียดนาม โดยสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาของเวียดนาม ด้วยการสนับสนุนจากมูลนิธิโตโยตา พิมพ์เมื่อปี 1988 ในโอกาส 100 ปีพระยาอนุมานฯ เดิมเขาพิมพ์แล้วครั้งหนึ่งเมื่อ 80 ปีพระยาอนุมานฯ คือในปี 1968  

ส่วนหนังสือที่ผมต้องการ เมื่อเจอแล้วผมก็หยิบมาเพื่อจะสอบถามว่ายืมได้หรือเปล่า ไม่ทันต้องถาม เจ้าหน้าที่ก็ชี้ให้ไปแสกนที่เครื่องยืมคืนด้วยตนเอง ซึ่งเรียนรู้ไม่กี่นาทีก็ใช้เองได้ ที่ตื่นเต้นมากคือ ผมสามารถยืมหนังสือค่อนข้างเก่าที่สภาพดีมากมา 2 เล่ม (จะยืมมากกว่านี้ก็ได้ ไม่เกิน 30 เล่ม) หนังสืออายุเท่านี้ สภาพแบบนี้ บอกได้เลยว่าแม้แต่ห้องสมุดในฮานอยยังหาไม่ได้ เพราะที่เวียดนามมีทุนไม่พอที่จะเก็บรักษาหนังสือที่สมัยก่อนใช้กระดาษบาง ๆ พิมพ์ด้วยหมึกจาง ๆ ให้คงสภาพดีอยู่อย่างนี้ได้ 

ผมพรำ่บ่นมานานนับสิบ ๆ ปีว่า ประเทศไทยไม่มีห้องสมุดที่มีหนังสือของประเทศเพื่อนบ้าน หากใครจะค้นคว้าแม้แต่เรื่องเกี่ยวกับประเทศลาวในภาษาลาว ก็ต้องดั้นด้นไปที่ประเทศลาว ปัจจุบันห้องสมุดของบางมหาวิทยาลัยก็คงจะค่อย ๆ เริ่มสะสมมาบ้าง แต่นี่ก็เป็นการลงทุนระยะยาวที่ประเทศไทยคิดช้าเกินไปหน่อย ผมเคยเสนอให้บางสถาบันที่มีเงินทุนมากมาย ซึ่งมักใช้ไปกับการปรับปรุงห้องส้วมของผู้บริหารและการขึ้นเงินเดือนเพิ่มเบี้ยประชุมให้ผู้บริหารกันเอง หันมาเจียดเงินเก็บสะสมหนังสือจากประเทศเพื่อนบ้าน เริ่มจากประเทศละ 100 เล่มก่อนก็ได้ แล้วค่อย ๆ เพิ่มไปโดยเลือกหนังสือตามความสนใจของสถาบันเอง สุดท้ายเขาก็ไม่ทำ ด้วยเหตุผลง่าย ๆ ว่าไม่รู้จะ catalog หนังสืออย่างไร 

นี่คือตัวอย่างง่าย ๆ ของการลงทุนในระยะยาวเพื่อสร้างความรู้ ตั้งแต่หนังสือสองเล่มที่ผมยืมมาอ่านย่างเข้ามาในห้องสมุดแห่งนี้ คงจะเคยมีคนยืมหนังสือสองเล่มนี้ไปอ่านเพียงไม่กี่คน ถ้าจะมีน่ะนะครับ หรืออย่างหนังสือแปลขอพระยาอนุมานราชธนที่ผมเจอนั่น จะมีคนไทย คนสนใจประเทศไทย หรือคนศึกษาเวียดนามสักกี่คนที่สนใจดูว่ามีหนังสือเล่มนี้อยู่ในโลกไหม ที่อาจจะถูกเก็บให้ใช้อ่านได้ในห้องสมุดแห่งนี้  

หากมองไกล มองกว้าง มองแบบไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนเท่านั้น การลงทุนเพื่อวิจัยพื้นฐานไม่จำเป็นว่าผลมันจะตกกับประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น หากแต่ผลมันน่าจะตกแก่ผู้คนในโลกทั้งมวล ที่แม้ปัจจุบันจะยังไม่มีใครได้ประโยชน์นั้น แต่สักวันหนึ่ง จะมีใครสักคนหนึ่งมาพบมันแล้วใช้ทุนที่ลงไปนั้น แน่นอนว่านายทุนหน้าใหม่ที่มุ่งฉกฉวยโอกาสเฉพาะหน้าในบางประเทศคงยังมองไม่ออกว่าคุณค่าของการลงทุนมนุษย์แบบนี้เป็นอย่างไร

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำสำคัญ: sensory subjectivity, sensory categories, sensory bias, sensory ethnocentrism, sensory colonization (อธิบายไว้ท้ายข้อเขียน) คนทำเรื่องอาหารข้ามถิ่น ไม่ต่างจากการทำงานทางมานุษยวิทยา ที่ต้องตระหนักถึงการ ไม่นำเอา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ถ้าคุณไม่สามารถเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้แล้ว ก็โปรดอย่าถ่วงรั้งการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่เลย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปาฐกถาในเวทีเสวนา “50 ปี 14 ตุลาฯ ยังตามหารัฐธรรมนูญใหม่” จัดโดยสมัชชาคนจน วันที่ 14 ตุลาคม 2566
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จนถึงวันนี้ การต่อสู้ของประชาชนในขบวนการ “คณะราษฎร 63” ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พลังของแสงดาวได้สร้างสรรค์สังคมไทยอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกมาแสดงความเห็นว่ามีการสร้างกระแสกดดันศาลต่างๆ นานา (ดู https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2081366) มองในแง่ดี ผมคิดว่านี่คือการออกมาอธิบายกับสังคมอีกครั้งของผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดแจ้ง หลังจากที่มีการชี้แจงถึงเหตุผลการไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองโดยโฆษกศาลและโฆษกกระทรวงยุติธรรมก่อนหน้านี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อะไรที่ทำให้ดนตรีมีสถานะในการทำร้ายกันได้บ้าง ผมว่าอย่างน้อยที่สุดต้องเข้าใจก่อนว่า ดนตรีไม่ใช่แค่เสียง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พอดีนั่งฟังเพื่อนนักวิชาการอ่านหนังสือ "กบฏชาวนา" ของรานาจิต คูฮา (1982) มาคุยให้ฟัง (แปลโดย ปรีดี หงษ์สต้น) ในเพจของสำนักพิมพ์ Illumination Editions เลยคิดถึงบันทึกที่เคยเขียนถึงหนังสือของ ดิเพช จักรบาร์ตี เรื่อง Provincializing Europe (2000)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรื่อง ถามถึงมโนธรรมสำนึกในความเป็นครูบาอาจารย์ของอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์