Skip to main content

ตกใจเหมือนกันที่ Divas Cafe จะเลิกออกอากาศแล้ว อยากบันทึกสั้นๆ ว่าผมดีใจ ภูมิใจ ปลื้มใจ ที่เคยได้เป็นแขกในรายการดีว่าส์ คาเฟ่ เป็นรายการที่ไปคุยด้วยสนุกมาก พิธีกรรุกเร้ามาก เวลาสั้นจนต้องปรับจังหวะการพูดให้เร็วมาก แถมบางครั้งยังต้องหาจังหวะแย่งพิธีกรพูดอีก

ครั้งแรกไปเรื่องหวานแหววมาก "วาเลนไทน์สไตล์นักมานุษยวิทยา" จำได้ว่า เหมือนว่าคุณแขก (คำ ผกา) กะจะชงไปในทางที่ว่า ความรักโรแมนติกมันเป็นเรื่องปั้นแต่งกันมาใหม่ในสังคมแบบตะวันตกสมัยใหม่ แต่นักมานุษยวิทยากลับไปหาประเด็นเจอข้อมูลที่พลิกไปอีกทางว่า ความรักโรแมนติกมันมีความสากลของมันอยู่ https://www.youtube.com/watch?v=HMPnFdM45EU

ส่วนตอนล่าสุด คือแค่ 3 วันก่อนการรัฐประหาร เรื่อง "วิวาทะสันติวิธี" เป็นปี่เป็นขลุ่ยกับคุณแขกวิจารณ์ "นักวิชาการสันติวิธี" ที่มีข้อเสนอไม่สนับสนุนให้ประเทศดินหน้าด้วยการเลือกตั้ง แล้วเสนอทำนองให้ตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ความเห็นที่ผมและคุณแขกในรายการว่า หากทำตามข้อเสนอเหล่านั้นของนักสันติวิธีแล้วแนวโน้มของประเทศต่อไปจะเป็นอย่างไรนั้น ไม่ได้หนีกับสิ่งที่กำลังแสดงตัวในร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยเท่าไรนัก https://www.youtube.com/watch?v=c4Vpesu_pYc

ที่จริงวันเดียวกันนั้น (19 พฤษภาคม 2557) ผมไปอัดเทปอีกรายการของช่อง 9 อสมท. อัดเทปไว้ยาวมาก แต่ออกไปได้เพียงครึ่งเดียว (หา link ไม่เจอแล้ว) อีกครึ่งหนึ่งไม่ได้ออกอากาศเพราะเกิดรัฐประหารไปเสียก่อน หลังอัดรายการวันนั้นก็สังหรณ์ใจเพราะเมื่อเดินออกมาจากห้องอัดตอนเย็น มีการสับเปลี่ยนกำลังทหารมาที่สถานีเต็มไปหมด แล้ววันรุ่งขึ้นก็มีการประกาศกฎอัยการศึก จากนั้นอีกสองวันก็รัฐประหาร แล้วประเทศไทยก็เป็นอย่างทุกวันนี้แหละครับ 

ผมว่ารายการดีวาส์ฯ เป็นรายการที่ตอบโจทย์ของสังคมไทยที่เป็นสังคมเล่าเรื่อง เป็นสังคมมุขปาฐะได้ดี แต่แม้ว่าดีว่าส์ฯ จะนำเสนอในทำนองเดียวกับรายการเล่าข่าวอื่นๆ แต่ดีว่าส์ฯ ก็มีสาระเฉพาะตัวอยู่สูงมาก อาจจะประมวลได้ดังนี้ 

หนึ่ง ดีว่าส์ฯ เป็นรายการเล่าข่าวที่ไม่ใช่ทำหน้าที่เพียงจับเรื่องราวมาเล่าต่อด้วยการใส่น้ำเสียง เพิ่มอารมณ์ ขายดราม่าต่อจากเนื้อข่าว หากแต่ยังเป็นการสร้างบทวิเคราะห์ต่อจากข่าว ที่จริงจะเรียกว่าดีว่าส์ฯ เป็นรายการเล่าข่าวก็ไม่ถูกนัก เพราะดีว่าส์ฯ มักเน้นช่วงวิเคราะห์สังคม วิเคราะห์การเมือง วิเคราะห์ประวัติศาสตร์ จากเรื่องราวที่ปรากฏในปัจจุบัน นี่ทำให้ดีว่าส์ฯ ขยับจากการเป็นรายการข่าวที่นำเสนอข้อมูล ไปสู่การเป็นรายการวิเคราะห์เหตุการณ์ความเป็นไป เป็นการนำเสนอทั้งข้อมูลและมุมมองไปด้วยในตัว ส่วนผู้ชมจะเห็นด้วยหรือไม่ก็เป็นเรื่องของผู้ชม 

สอง แม้แต่ตัวข่าวเอง ดีว่าส์ฯ ก็มีเนื้อหาข่าวที่แตกต่างจากข่าวของรายการเล่าข่าวของสำนักข่าวอื่นๆ ดีว่าส์ฯ นำเอาความเชี่ยวชาญของพิธีกร ที่แต่ละคนถนัดเรื่องแตกต่างกัน เช่นเรื่องไอที เรื่องแฟชั่น เรื่องท่องเที่ยว เรื่องวิชาการ ศิลปวัฒนธรรม มาถ่ายทอดในรายการ ดังนั้น "ข่าว" ของดีว่าส์ฯ จึงเป็นข่าวที่มีเนื้อหาแตกต่างจากสำนักข่าวอื่นๆ โดยเฉพาะสำนักข่าวที่เรตติ้งสูงๆ ซึ่งมักเน้นข่าวการเมือง ข่าวความทุกข์ระทมของผู้คนด้อยโอกาส ข่าวอาชญากรรม การที่ข่าวของดีว่าส์ฯ แตกต่างไปทำให้ผู้ชมได้รับรู้เรื่องราวที่หลากหลายไปกว่ารายการเล่าข่าวอื่นๆ  

สาม ลักษณะโดดเด่นของดีว่าส์ฯ อีกประการคือการเน้น "ความเป็นผู้หญิงเก่ง" รายการเล่าข่าวผู้หญิงในระยะเดียวกับดีว่าส์ มีมากมาย หากแต่เรื่องราวที่ผู้หญิงแบบดีว่าส์ฯ นำเสนอนั้น เป็นทั้งผู้หญิงที่เป็นผู้ยิ้งผู้หญิง คือเน้นความ feminine หากแต่ก็เน้นความชาญฉลาดในการคิดวิเคราะห์ ในมุมที่บางทีถูกมองข้ามไปด้วยการมองผ่านสายตาแบบ "ผู้ชาย" หรือแม้แต่เรื่องราวแบบผู้ผญิงอย่างเรื่องแฟชั่น เรื่องความโรแมนติก เรื่องการครองคู่ รายการดีว่าส์ฯ ก็นำเสนอในเชิงคิดวิเคราะห์ให้มากกว่าแค่หยิบเรื่องผู้หญิงๆ มานำเสนอซ้ำให้รู้แค่ว่าเกิดอะไรที่ไหนแบบรายการเล่าข่าวผู้หญิงๆ ทั่วไป 

สี่ ความหรูหราอลังการของดีว่าส์ฯ ตัดขัดกันกับเรื่องราวมากมายที่ดีว่าส์ฯ นำมาเสนอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำมุมมองที่เน้นเรื่องสิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน การต่อสู้กับความด้อยโอกาส การเรียกร้องความเท่าเทียม ความเป็นประชาธิปไตย รวมความแล้วคือเรื่องความเป็นธรรมของสังคม ดีว่าส์ฯ ทำให้เราเห็นว่า เรื่องราวเหล่านี้ไม่ได้จำเป็นจะต้องพูดกันในรูปแบบของการใส่เสื้อม่อฮ่อม เอาผ้าขะม้าคล้องคอ ไว้ผมเผ้าหนวดเครารุงรัง แต่ในภาพลักษณ์แบบหรูหรา แต่งหน้าตาจัดจ้าน แต่งตัวเนี๊ยบ neat จัดเต็มด้วยแฟชั่นจากห้องเสื้อชื่อดัง ก็สามารถถกเถียงพูดคุยเรื่องเหล่านี้ได้เช่นกัน  

หลายคนอาจจะคิดว่าภาพลักษณ์ดีว่าส์ฯ ดูขัดกับเรื่องเหล่านี้ แต่ผมกลับคิดว่า คนที่มีชีวิตอยู่ในสังคมหรูหรานั่นแหละ ที่ก็ควรจะรู้จักทำความเข้าใจปัญหาเหล่านี้จากมุมมองที่ละเอียดลึกซึ้ง เกินไปกว่าการคิดแบบสังคมสงเคราะห์โปรยเงิน หรือในอีกทางหนึ่ง ดีว่าส์ฯ กำลังบอกว่า ไม่ใช่มีแต่คนที่มีภาพลักษณ์ดิดดิน ใกล้ชิดชาวบ้านเท่านั้นหรอกนะที่จะจริงจังกับเรื่องความเป็นธรรมของสังคม แต่สังคมระดับไหนๆ ก็เอาใจใส่กับความเป็นธรรมของสังคมได้เช่นกัน 

ดีใจที่ประเทศไทยเคยมีรายการแบบนี้ และเมื่อบ้านเมืองกลับสู่ภาวะปกติ ซึ่งไม่รู้อีกเมื่อไหร่หรือคงไม่มีสังคมไทยปกติแบบนั้นอีกแล้ว เราคงจะได้เห็นรายการในลักษณะนี้เกิดขึ้นมาใหม่อีก

 

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (24 ธันวาคม 2555) กสทช.เชิญให้ผมไปร่วมแสดงความเห็นในเวทีเสวนาสาธารณะ “1 ปี กสทช. กับความ (ไม่) สมหวังของสังคมไทย” ทีแรกผมไม่คิดว่าตนเองจะสามารถไปวิจารณ์อะไรกสทช.ได้ แต่ผู้จัดยืนยันว่าต้องการมุมมองแบบมานุษยวิทยา ผมจึงตกปากรับคำไป 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อโต้แย้งต่อความเห็นผมจากของเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ที่ลงในมติชนออนไลน์ (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1355920241&grpid=03&catid=&subcatid=) ย้ำให้เห็นชัดถึงความอับจนของกรอบคิดของคนกลุ่มนี้ต่อไปนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไม่เพียงแต่นักเขียนบางคนเท่านั้นที่อาจจะไม่เข้าใจหรือมองข้ามประเด็นความแตกต่างทางชาติพันธ์ุ แต่ผมคิดว่าแวดวงภาษาและวรรณกรรมบ้านเราอาจจะไม่ตระหนักถึงปัญหานี้โดยรวมเลยก็ได้ และในแง่หนึ่ง ผมคิดว่าซีไรต์เองอาจจะมีส่วนสร้างวัฒนธรรมไม่อ่อนไหวต่อความแตกต่างทางวัฒนธรรมด้วยเช่นกัน และถึงที่สุดแล้ว นี่อาจจะกลายเป็นข้อจำกัดที่ปิดกั้นโอกาสที่วรรณกรรมไทยจะก้าวเข้าสู่ระดับสากล
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทัศนะของนายแพทย์ที่เป็นตัวแทนของคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ แสดงให้เห็นถึงความคิดคับแคบของผู้มีอำนาจกลุ่มหนึ่ง ที่มักใช้อำนาจก้าวก่ายชีวิตผู้คน บนความไม่รู้ไม่เข้าใจไม่อยากรับผิดชอบต่อปัญหาเชิงโครงสร้างที่ละเอียดอ่อน และบนกรอบข้ออ้างเรื่องคุณธรรมความดีที่ยกตนเองเหนือคนอื่น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แทนที่จะเถียงกับอีกท่านหนึ่งที่วิจารณ์ผมต่อหน้ามากมายเมื่อวาน ผมขอใช้พลังงานเถียงกับข้อเสนอล่าสุดของอาจารย์ธีรยุทธ บุญมีจากข่าวในมติชนออนไลน์ (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1354935625&grpid=01&catid=&subcatid=) ดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นึกไม่ถึงและนึกไม่ออกจริงๆ ว่า ทำไมคนเปิดร้านขายหนังสือในปลายศตวรรษที่ 20 - ต้น 21 จะมีความคิดแบบนี้ได้ นี่แสดงว่าเขาไม่ได้อ่านหนังสือที่เขาขายบ้างเลย หรือนี่แสดงว่าการอ่านหนังสือไม่ได้ช่วยจรรโลงจิตใจนายทุนบางคนขึ้นมาได้เลย*
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 เมื่ออ่านข่าวแอร์โฮสเตสที่เพิ่งถูกให้ออก ผมมีคำถามหลายข้อ ทั้งในมิติของโซเชียลมีเดีย hate speech และสิทธิแรงงาน อย่างไรก็ดี ขอเคลียร์ก่อนว่าหากใครทราบจุดยืนทางการเมืองของผม ย่อมเข้าใจดีว่าความเห็นต่อไปนี้ไม่ได้มาจากความเห็นทางการเมืองที่เอนเอียงไปในทางเดียวกับพนักงานสายการบินคนนี้แต่อย่างใด ข้อสังเกตคือ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขณะกำลังนั่งกินหอยแครงลวกอยู่เวลานี้ ก็ชวนให้คิดถึงคำพูดของนักวิชาการกัมพูชาคนหนึ่ง ที่เคยนั่งต่อหน้าอาหารเกาหลีจานพิเศษ คือหนอนทะเลดิบตัดเป็นชิ้นๆ ขยับตัวดึบๆ ดึบๆ อยู่ในจานแม้จะถูกตั้งทิ้งไว้เป็นชั่วโมง ตอนนั้น ผมบ่ายเบี่ยงไม่กล้ากินอยู่นาน แม้จะรู้ว่าเป็นอาหารพิเศษราคาแพงที่ศาสตราจารย์ชาวเกาหลีสรรหามาเลี้ยงต้อนรับการมาเกาหลีครั้งแรกของพวกเราหลายคน เพื่อนกัมพูชาบอกว่า "กินเถอะพี่ หอยแครงลวกในเมืองไทยน่ากลัวกว่านี้อีก" ผมจึงหาเหตุที่จะหลบเลี่ยงอีกต่อไปไม่ได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมนั่งดูบันทึกรายการ The Voice Thailand (เดอะวอยซ์) เป็นประจำ แม้ว่าจะเห็นคล้อยตามคำนิยมของโค้ชทั้ง 4 อยู่บ่อยๆ แถมยังแอบติดตามความเห็นเปรี้ยวๆ ของนักเขียนบางคนที่ชอบเรียกตนเองสวนทางกับวัยเธอว่า "ป้า" ซึ่งหมดเงินกดโหวตมากมายให้นักร้องหนุ่มน้อยแนวลูกทุ่ง แต่ผมไม่ได้รับความบันเทิงจากเดอะวอยซ์เพียงจากเสียงเพลง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมพยายามถามตัวเองว่า การจะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนการชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยามที่นำโดย "เสธ.อ้าย" จะมาจากเหตุผลประการใดบ้าง แต่ผมก็ชักจะเริ่มไม่แน่ใจว่า เอาเข้าจริง คนที่เข้าร่วมชุมนุมกับเสธ.อ้ายจะมีเหตุผลหรือไม่ หรือหากมี พวกเขาจะใช้เหตุผลชุดไหนกันในการเข้าร่วมชุมนุม ยังไงก็ตาม อยากถามพวกคุณที่ไปชุมนุมว่า พวกคุณอยากให้ประเทศเป็นอย่างนี้จริงๆ หรือ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (20 พฤศจิกายน 2555) นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชิญไปบรรยายในงานสัมมนา "การเมืองเรื่องคนธรรมดา" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ขอตัดส่วนหนึ่งของบทบรรยายของผมที่ใช้ชื่อว่า "การเมืองวัฒนธรรมดา: ความไม่ธรรมดาของสามัญชน" มาเผยแพร่ในที่นี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 เมื่อ 16 พฤศจิกายน 2555 นิสิตรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเชิญไปร่วมกิจกรรมจุฬาวิชาการ โดยให้ไปวิจารณ์บทความนิสิตปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ 4 ชิ้น 1) ว่าด้วยเบื้องหลังทางการเมืองของการก่อตั้งองค์การอาเซียน 2) ว่าด้วยบทบาทและการต่อรองระหว่างประเทศในอาเซียน 3) ว่าด้วยการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าของธุรกิจเอกชนไทยในคู่ค้าอาเซียน และ 4) ว่าด้วยนโยบายชนกลุ่มชาติพันธ์ุในพม่า ข้างล่างนี้คือบันทึกบทวิจารณ์