Skip to main content

เมืองลา (Sơn La) ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว แทบไม่มีใครรู้จักเมืองลาแม้ว่าเมืองนี้จะมีประวัติศาสตร์สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเดียนเบียนฟู เนื่องจากเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสใช้เป็นฐานในการปกครองเมืองคนไต แต่เดียนเบียนฟูโด่งดังขึ้นมาจากการที่ฝรั่งเศสแพ้พวกคอมมิวนิสต์เวียดนามอย่างราบคาบ ทำให้คนไม่ได้ทันสนใจว่า ก่อนหน้านั้นฝรั่งเศสปกครองเมืองคนไตอย่างไร แล้วมีฐานที่มั่นสำคัญอยู่ที่ไหนก่อนที่จะไปอยู่ที่เมืองแถงหรือเดียนเบียนฟู

คนต่างชาติมักไม่สนใจว่า เดียนเบียนฟูเป็นชายแดนของเวียดนามกับลาว และคงลืมไปว่า พื้นที่ระหว่างเดียนเบียนฟูกับเมืองคนเวียดในที่ราบลุ่มน้ำแดงนั้น เต็มไปด้วยคนไตและชนชาติอื่น ๆ ในที่สูงและที่ราบระหว่างหุบเขา และก็คงไม่มีใครสนใจว่า ใจกลางของเมืองคนไตก่อนที่คนไตจะรู้จักแค่เมืองแถงกับเมืองไลจากพงศาวดารเมืองแถง พงศาวดารเมืองไล ซึ่งจดบันทึกจากเชลยที่จับไปจากสองเมืองนั้น อยู่ที่ใด และยังมีเมืองอื่น ๆ อะไรอีกบ้างไล่เรียงมาจนเกือบถึงฮานอย

เมื่อเริ่มทำวิจัยใหม่ ๆ เมืองลา หรือเมืองไหน ๆ สำหรับผมก็ดูไม่แตกต่างจากเมืองเวียด คือมีความเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมมาเสมอ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมและนักวิจัยแบบผมทำคือ ต้องเข้าไปในบ้านในเรือน ต้องกินข้าวกินเหล้า ต้องสนทนาพูดคุยกับผู้คนในพื้นที่และเวลาของผู้คน เพื่อจะได้เห็นได้รับรู้ชีวิตของพวกเขา (หมายความว่า ยังมีนักวิจัยแบบอื่นที่หลีกเลี่ยงการกินข้าวกับชาวบ้าน เลี่ยงการดื่มเหล้ากับชาวบ้าน เลี่ยงการนั่งคุยในบ้านชาวบ้าน) จึงทำให้เห็นว่า แม้ในเมืองที่นักวิจัยประเภทฉาบฉวยมองข้ามไปอย่างเมืองลา ก็มีสาระเฉพาะตัวของคนไตในเวียดนามอยู่อย่างสืบเนื่องนับสิบ ๆ ปี

เมื่อได้เดินทางมาอย่างสม่ำเสมอ ผมจึงกลับแปลกใจที่การมาเมืองลาเที่ยวนี้ผมกลับไม่สนใจความเปลี่ยนแปลงมากเท่ากับความคงเส้นคงวาหรือการยืนยันในตัวตนของผู้คนที่เมืองลาอย่างเข้มข้น ไม่ว่าจะจากอาหารการกิน ข้าวของเครื่องใช้ ตลอดจนการจัดการเรื่องเหนือธรรมชาติ ในเรือนที่ผมคุ้นเคย มักมีความเปลี่ยนแปลงเสมอ ๆ ในเรื่องที่อยู่อาศัย แต่เมื่อเข้ามาในครัวเรือน เมื่อได้ร่วมสนทนา เมื่อเริ่มการทักทายอย่างคนสนิทชิดเชื้อ เครื่องเรือน ข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันจำนวนหนึ่งถูกนำมาใช้ และยังคงได้รับการรักษาไว้และถูกใช้ในแบบ "ดั้งเดิม"

การพบเห็นสิ่งเหล่านี้ในชีวิตประจำวัน สำคัญยิ่งกว่าวิธีวิจัยแบบนักวิจัยบางประเภท ที่เที่ยวบังคับบ้าง ขอร้องบ้าง ให้คนนุ่งเสื้อ แต่งกายแบบในตำรามาแสดงหน้ากล้อง เพื่อให้ได้ความเป็น “คนพื้นเมืองแท้” ตามจินตนาการของนักวิจัย แทนที่จะสนใจว่าคนในท้องถิ่นจัดการต่อรองกับความเปลี่ยนแปลงและการคงตัวตนไว้อย่างไร

สิ่งหนึ่งที่มักยังไม่เปลี่ยนแปลงคือที่นั่ง การนั่ง และพานกินข้าวที่สานด้วยหวาย ซึ่งเริ่มมีการดัดแปลงจากชั้นเดียวเป็นสองชั้น จากสานแบบหนึ่งไปเป็นสานแบบใหม่ ๆ บางเรือนยังยืนยันท่านั่งแบบยองๆ เก้าอี้เตี้ยที่วางบนพื้น หรือไม่ก็การนั่งบนฟูกรองพื้น แต่เก้าอี้ขายาวขึ้น หรือฟูกหนาขึ้น ส่วนภาชนะใส่ข้าวเหนียว ที่มักจะสรรหากันมาประดับโต๊ะอาหาร ก็ยังจะต้องเป็นของดั้งเดิมที่มีรูปทรงและวัสดุที่หลากหลาย ปัจจุบันข้าวของเครื่องใช้เหล่านี้กลายเป็นสินค้าไปหมดแล้ว หากแต่ผู้ซื้อไม่ใช่นักท่องเที่ยวเท่ากับเป็นคนในวัฒนธรรมนี้เอง

สิ่งที่ได้รับการสืบทอดมาในระยะเกือบ 20 ปีที่ผมมาเมืองลาคือความเคร่งครัดในการจัดโต๊ะอาหาร และความเคร่งครัดในการต้อนรับแขก จานพริกกับเกลือสำหรับสำรับข้าวที่ "เป็นทางการ" และจอกเหล้าสองจอกสำหรับผีเรือน การดื่มเหล้าเพื่อรับขวัญผู้มาเยือน การสรรหาอาหารพื้นเมืองตามฤดูกาลที่หาได้ไม่ยากในตลาด สิ่งเหล่านี้ทำให้อาหารมื้อพื้น ๆ ธรรมดา ๆ กลายเป็นมื้ออาหารที่ยืนยันตัวตนของเจ้าเรือนจนแขกผู้มาเยือนตื่นตะลึง

สำหรับเรือนที่ผมคุ้นเคยและมักต้องขอไหว้ผีเรือน แน่นอนว่าห้องหับที่เคยเป็นที่บูชาผีเรือนแบบดั้งเดิม ซึ่งไม่มีรูป ไม่มีข้อความใด ๆ มีแต่สัญลักษณ์แทนผีขวัญ ขณะนี้เปลี่ยนไปเป็นแบบคนเวียด หรือคล้ายคนจีน คือเป็นโต๊ะบูชา แถมมีรูปประดับกันแทบจะหมดแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่บางเรือนพยายามแสดงความแตกต่างคือ การประดับประดาด้วยสิ่งแสดง "ความเป็นคนไต" อย่างเรือนที่ผมคุ้นเคยก็เอาข้อความเขียนอักษรไตดำมาประดับหิ้งบูชาผีเรือน

เรื่องราวของผียังคงอยู่ในชีวิตประจำวัน ก่อนกินข้าว เมื่อจะจิบเหล้า ก็มีการพรมเหล้าข้ามไหล่ แสดงการเลี้ยงผี ที่ผมประทับใจคือเมื่อหมอรักษาโรคด้วยวิธีการสมัยใหม่คนหนึ่งเปิดปากแนะนำเจ้าของร้านขายอาหารคนหนึ่งว่า "แม่ของพี่คนนี้เป็นมดนะ เก่งมากเลย ที่เรือนเรา (ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์) เมื่อไหร่ก็ตามที่จะทำพิธี แม่ก็จะต้องให้มดคนนี้มาทำพิธี)" น่าเสียดายที่ผมไม่เคยรู้มาก่อนว่าเจ้าของร้านขายอาหารที่ทำอาหารไตได้หลากหลายจานและรสชาติเป็นที่ชื่นชอบของคนที่นี่ ไม่ได้น่าสนใจแค่พูดภาษาไตได้ไพเราะและทำธุรกิจเก่งเท่านั้น

แต่ถ้าจะให้ดูการยืนยันความเป็นไตกันให้จริงจังเข้าไปอีก ผมก็จะแนะนำว่าควรเดินไปให้ถึงท้ายหมู่บ้าน ที่จะมี "ป๋าแฮว" หรือป่าช้าของแต่ละหมู่บ้านตั้งอยู่ ป่าช้าจะมีสิ่งก่อสร้างถาวร ซึ่งมักจะเป็นคอนกรีตทรงเหมือนหลุมฝังศพคนจีนและคนเวียด แต่หากดูให้ทั่ว ก็จะเห็นศพที่เพิ่งประกอบพิธี ที่ยังมีเครื่องประดับประดาแบบ "ดั้งเดิม" โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เพิ่งเสียชีวิตใหม่ ๆ มาครั้งนี้ ผมก็ไม่พลาดที่จะต้องเข้าไปดูป่าช้าของหมู่บ้านที่คุ้นเคยแห่งหนึ่ง แล้วก็พบกับหลุมฝังศพของคนที่เพิ่งเวียชีวิตไม่กี่วันที่ผ่านมา ยิ่งเธอเป็นคนอายุยืนถึงร้อยปี ก็ยิ่งทำให้เห็นเครื่องเคราต่าง ๆ ค่อนข้างครบครัน

ในท่ามกลางการพยายามกลืนกลายคนไตให้กลายเป็นเวียดในทุก ๆ มิติ ผมก็ยังเห็นการยืนยันในความเป็นไตอยู่ทั้งในชีวิตประจำวันและพิธีกรรม หรือว่าพลังการกลืนกลายที่นี่ไม่รุนแรงนัก หรือว่าความสืบเนื่องของสิ่งเก่ากับสิ่งใหม่ที่นี่มีสูง การคงความเป็นตัวตนไว้จึงไม่ต้องพยายามขุดคุ้ยรื้อฟื้นอะไรมากนัก แต่ที่แน่ ๆ คือไม่ใช่ว่าคนที่นี่ไม่อยากเปลี่ยน เพียงแต่เนื้อหาสาระดั้งเดิมยังคงมีน้ำหนักอยู่ในชีวิตของพวกเขาอยู่ไม่น้อย

 

 

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หลายคนคงเป็นแบบผม คือพยายามข่มอารมณ์ฝ่าฟันการสบถของท่านผู้นำ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตั้งแต่ที่ผมรู้จักงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์มา มีปีนี้เองที่ผมคิดว่ากิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่มีความหมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปี 2558 เป็นปีที่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีอายุครบ 50 ปี นับตั้งแต่เริ่มเป็นแผนกอิสระในคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์มาตั้งแต่ปี 2508
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เปิดภาคการศึกษานี้มีเรื่องน่าตื่นเต้นคือ วันแรกที่ไปสอน (ผมสอนอังคาร, พฤหัสบดี ครั้งละ 1 ชั่วโมง 15 นาที) มีนักเรียนมาเต็มห้อง เขากำหนดโควต้าไว้ที่ 34 คน แต่หลังจากผมแนะนำเค้าโครงการบรรยาย คงเพราะงานมาก จุกจิก ก็มีคนถอนชื่อออกไปจำนวนหนึ่ง คืนก่อนที่จะไปสอนครั้งที่สอง ผมก็เลยฝันร้าย คือฝันว่าวันรุ่งขึ้นมีนักเรียนมาเรียนแค่ 3 คน แล้วเรียนๆ ไปนักเรียนหนีหายไปเหลือ 2 คน แต่พอตื่นไปสอนจริง ยังมีนักเรียนเหลืออีก 20 กว่าคน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อได้ทราบว่าอาจารย์เก่งกิจทำวิจัยทบทวนวรรณกรรมด้านชนบทศึกษา โดยลงแรงส่วนหนึ่งอ่านงาน “ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย” (ต่อไปนี้จะเรียกว่า “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ”) (อภิชาต ยุกติ นิติ 2556) ที่ผมมีส่วนร่วมกับนักวิจัยในทีมทั้งหมด 6 คนในตอนแรก และ 9 คนในช่วงทำวิจัยใหญ่ [1] ผมก็ตื่นเต้นยินดีที่นานๆ จะมีนักวิชาการไทยอ่านงานนักวิชาการไทยด้วยกันเองอย่างเอาจริงเอาจังสักที 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะให้ผมเขียนเรื่องอุปสรรคขัดขวางโลกวิชาการไทยต่อการก้าวขึ้นสู่ความเป็นเลิศในระดับนานาชาติไปอีกเรื่อยๆ น่ะ ผมก็จะหาประเด็นมาเขียนไปได้อีกเรื่อยๆ นั่นแหละ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ถ้านับย้อนกลับไปถึงช่วงปีที่ผมเริ่มสนใจงานวิชาการจนเข้ามาทำงานเป็นอาจารย์ ก็อาจนับได้ไปถึง 25 ปีที่ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงในโลกวิชาการไทย ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่สำคัญคือการบริหารงานในมหาวิทยาลัย แต่ขอยกเรื่องนั้นเอาไว้ก่อน เพราะหากค่อยๆ ดูเรื่องย่อยๆ ไปเรื่อยๆ แล้วก็น่าจะช่วยให้เห็นอะไรมากขึ้นว่า การบริหารงานวิชาการในขณะนี้วางอยู่บนระบบแบบไหน เป็นระบบที่เน้นสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการในเชิงปริมาณหรือคุณภาพกันแน่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บอกอีกครั้งสำหรับใครที่เพิ่งอ่านตอนนี้ ผมเขียนเรื่องนี้ต่อเนื่องกันมาชิ้นนี้เป็นชิ้นที่ 5 แล้ว ถ้าจะไม่อ่านชิ้นอื่นๆ (ซึ่งก็อาจชวนงงได้) ก็ขอให้กลับไปอ่านชิ้นแรก ที่วางกรอบการเขียนครั้งนี้เอาไว้แล้ว อีกข้อหนึ่ง ผมยินดีหากใครจะเพิ่มเติมรายละเอียด มุมมอง หรือประสบการณ์ที่แตกต่างออกไป แต่ขอให้แสดงความเห็นแบบ "ช่วยกันคิด" หน่อยนะครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อันที่จริงวิทยานิพนธ์เป็นส่วนน้อยๆ ของโลกวิชาการอันกว้างใหญ่ และเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเป็นนักวิชาการ แต่วิทยานิพนธ์ก็เป็นผลงานที่อาจจะดีที่สุดของนักวิชาการส่วนใหญ่ แต่สังคมวิชาการไทยกลับให้คุณค่าด้อยที่สุด พูดอย่างนี้เหมือนขัดแย้งกันเอง ขอให้ผมค่อยๆ อธิบายก็แล้วกันครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ก่อนเริ่มพูดเรื่องนี้ ผมอยากชี้แจงสักหน่อยนะครับว่า ที่เขียนนี่ไม่ใช่จะมาบ่นเรื่อยเปื่อยเพื่อขอความเห็นใจจากสังคม แต่อยากประจานให้รู้ว่าระบบที่รองรับงานวิชาการไทยอยู่เป็นอย่างไร ส่วนจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร อย่าถามผมเลย เพราะผมไม่มีอำนาจ ไม่ต้องมาย้อนบอกผมด้วยว่า "คุณก็ก้มหน้าก้มตาทำงานไปให้ดีที่สุดก็แล้วกัน" เพราะถ้าไม่เห็นว่าสิ่งที่เล่าไปเป็นประเด็นก็อย่าสนใจเสียเลยดีกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมขอเริ่มที่เรืองซึ่งถือได้ว่าเป็นยาขมที่สุดของแวดวงมหาวิทยาลัยไทยเลยก็แล้วกัน ที่จริงว่าจะเขียนเรื่องการผลิตความรู้ก่อน แต่หนีไม่พ้นเรื่องการสอน เพราะนี่เป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการทำงานวิชาการในไทยมากถึงมากที่สุดเลยก็ว่าได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อผมมาสอนหนังสือถึงได้รู้ว่า วันครูน่ะ เขามีไว้ปลอบใจครู ก็เหมือนกับวันสตรี เอาไว้ปลอบใจสตรี วันเด็กเอาไว้หลอกเด็กว่าผู้ใหญ่ให้ความสำคัญ แต่ที่จริงก็เอาไว้ตีกินปลูกฝังอะไรที่ผู้ใหญ่อยากได้อยากเป็นให้เด็ก ส่วนวันแม่กับวันพ่อน่ะอย่าพูดถึงเลย เพราะหากจะช่วยเป็นวันปลอบใจแม่กับพ่อก็ยังจะดีเสียกว่าที่จะให้กลายเป็นวันฉวยโอกาสของรัฐไทยอย่างที่เป็นอยู่นี้