Skip to main content

เมื่อสักเกือบ 15 ปีก่อน ผมไปเสาะหาบ้านนาน้อยอ้อยหนูที่เมืองแถง (เดียนเบียนฟู) กับอาจารย์คำจอง นักชาติพันธ์ุวิทยาชาวไตดำ/เวียดนาม 

เดินหาไปแบบกึ่งเชื่อกึ่งไม่เชื่อว่าบ้านนี้จะมีอยู่จริง กึ่งงง ๆ ว่า ทำไมตำนานขุนบรมกับบ้านนาน้อยอ้อยหนูจะมีสถานที่จริงระบุได้ขนาดนั้น จำได้คลับคล้ายคลับคลาว่า เคยพาอาจารย์จากประเทศไทยมาดูบ้านนาน้อยอ้อยหนู แต่แกก็จำไม่ได้แม่นว่าบ้านนี้อยู่ตรงไหนกันแน่ ที่เวียดนามก็ไม่ได้มีชื่อบ้านนี้เขียนอยู่ตรงไหนชัดเจน วิธีตามหาก็คือ อาจารย์คำจองคาดเดาจากความทรงจำว่าน่าจะอยู่ตรงไหน แล้วก็ลงถามผู้คนแถวนั้นจนเจอ 

ต้น "อ้อยหนู" ถ่ายเมื่อ 15 ปีก่อน

ตำนาน "บ้านนาน้อยอ้อยหนู" อยู่ในตำนานขุนบรม หรือขุนบูลม ในพงศาวดารล้านช้าง ฉบับภาษาไทย ในตำนานเล่าถึงกำเนิดคนไต คนส่า ว่ามาจากน้ำเต้าปุง น้ำเต้าปุงตามตำนานถูกส่งลงมาที่ "บ้านนาน้อยอ้อยหนู" ผมจำได้คลับคล้ายคลับคลาว่าขุนบูลมเป็นผู้ที่ออกมาจากน้ำเต้า หรือไม่แกก็รับมอบหมายจากแถนให้เอาน้ำเต้ามาแล้วเป็นผู้ปกครองผู้คนที่ออกมาจากน้ำเต้า แต่เรื่องราวของกำเนิดคนอยู่ที่บ้านนาน้อยอ้อยหนูนี่แหละ 

ไม่น่าเชื่อว่า เกือบ 15 ปีผ่านไป ผมจะเป็นคนพาอาจารย์จากประเทศไทยอีกคนหนึ่ง มาเสาะหาบ้านนาน้อยอ้อยหนู ผมก็ใช้วิธีเดียวกันกับอาจารย์คำจอง คือคลำเอาจากความทรงจำกับถามจากผู้คนไปเรื่อย ๆ ที่จำได้แน่ ๆ คือ บ้านนาน้อยอยู่หลังจากเมืองควาย (Tuần Giáo) แล้วถามไล่ไปเรื่อย ๆ เจอเรือนหนึ่ง พอบอกว่ามาถามหา "บ้านนาน้อย" คนบนเรือนก็พูดสวนกลับมาว่า "บ้านนาน้อยอ้อยหนูน่ะเหรอ" ผมดีใจเลย เพราะเขาพูดชื่อเต็มของบ้านนี้ขึ้นมาเอง เอาล่ะ แสดงว่าเรื่องนี้คงไม่ได้เล่ากันมั่ว ๆ อยู่ที่ใดที่หนึ่ง คงมีตำนานสืบทอดกันมาจริง ๆ คนแรกนี้บอกว่า ต้องไปต่ออีก เกือบถึงเมืองแถงโน่นแหละ เลยเมืองพังไปอีก แต่แกก็ยังว่า "หรือไม่ก็กลับไปทางเมืองควาย ทางนั้นก็มีบ้านนาน้อย" ผมชักเริ่มงงอีกว่า ตกลงบ้านนาน้อยมีหลายที่หรือนี่

 ผมกับอาจารย์คำจองเมื่อ 15 ปีก่อน

ผมอาศัยความทรงจำจากที่ว่า เคยจำได้ว่ามีลำน้ำเล็ก ๆ อยู่ริมถนน มีหมู่บ้านอยู่อีกฝั่งของลำน้ำนั้น ลำนำ้นั้นเรียกว่า "นำ้โซม" ไหลไปทางไปเมืองแถง แถวนั้นคือบ้านนาน้อยฯ น้ำโซมไหลมาจนถึงตัวเมืองแถง บริเวณกลางแม่น้ำแถวนั้นเป็นแก่งหิน เรียกหินแม่เบ้า 

ตอนที่ไปหากับอาจารย์คำจอง พวกเราก็เจอบ้านนี้เข้าจนได้ พอมีคนที่เราไม่รู้จักพูดเรื่องน้ำเต้าปุง เรื่องแม่เบ้า เรื่องนาน้อยอ้อยหนูเป็นคุ้งเป็นแคว ผมก็เริ่มเชื่อว่า ที่นี่น่าจะเป็นบ้านนาน้อยอ้อยหนูตามตำนานจริง ๆ แต่ตอนนั้นเดินลุยกันไปไม่ถึงตรงแก่งหินกลางน้ำ ก็จึงไม่ได้รูปหินนั่นมา นึกในใจว่า สักวันคงได้ผ่านมาแถวนี้แล้วคงได้เข้าไปดูให้เห็นกับตา 

แล้ววันนั้นก็มาถึงจริง ๆ เมื่อวาน (12 มีนาคม) เมื่อรถขับไล่มาเกือบถึงเมืองแถง อีกสักราว ๆ 20 กิโลเมตรจะถึงเมืองแถง ผมคิดว่าตรงนั้นน่าจะเป็นบ้านนาน้อยอ้อยหนู ก็เลยให้คนขับรถหยุด แล้วลงไปถามคนแถวนั้นดู ปรากฏว่าถูกที่แล้วจริง ๆ พวกเราเจอผู้ชายสูงอายุคนหนึ่งบอกว่าตรงนี้มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับน้ำเต้าปุง ตรงนั้นเป็นลำน้ำเรียกน้ำโซม มีหินแม่เบ้า ผมก็ว่านี่แหละใช่แล้ว แม้จะเปลี่ยนไปมาก มีคนไตดำมาปลูกเรือนริมถนนมากขึ้น แต่ก็ยังมีเค้าเดิมอยู่มาก พอดีพี่คนไตที่ไปด้วยกันไปเจอผู้หญิงไตดำคนหนึ่ง อายุพอสมควร เธออาสาพาไปดูหินกลางน้ำโซม พวกเราก็เลยลุยน้ำ เกาะไต่โขดหินไปกัน ก็ได้ภาพมาอย่างที่เห็น

ตำนานที่ได้มาจากคนในท้องที่ในวันนี้มีห้าเรื่อง 1. เรื่องมะเต้าปุง 2. เรื่องหินแม่เบ้า 3. เรื่องบ้านห้วยนาง 4. เรื่องคนเอาของมีค่ามาฝัง และ 5. เรื่องกลองมโหระทึก  

เรื่องมะ (หมาก) เต้าปุง มีตำนานมะเต้า เล่าว่าแถนเอามะเต้าลงมาในเมืองลุ่ม คือเมืองมนุษย์นั่นแหละ แล้วเอามาที่บ้านนาน้อยอ้อยหนู ต่อมาผู้คนก็ออกมาจากน้ำเต้า เป็นคนส่ากับคนไต คนจึงเริ่มมีกันจากบ้านนาน้อยนี่เอง แล้วตรงที่เลยบ้านนาน้อยไปหน่อยก็มีบ้านชื่อบ้านเต้าปุง  

เรื่องหินแม่เบ้า มีหินรูปอ่างน้ำ แม่เบ้าซึ่งก็คือแถนผู้หนึ่ง เป็นแถนผู้หญิง คอยแต่งสร้างผู้คน แล้วเอามาล้างน้ำที่อ่างนี้ หรือไม่ก็เอามาหล่อที่อ่างนี้ แล้วจึงเอาขวัญใส่ทำให้กลายเป็นคน อีกเรื่องก็สัมพันธ์หินแม่เบ้า ตรงที่เป็นรูปคล้ายมดลูก ท่ีชาวบ้านเชื่อว่าตรงนี้แหละคือตัวแม่เบ้า หมู่บ้านบริเวณนั้นเรียกบ้านห้วยนางเพราะเคยมีหญิงคนหนึ่งขี่ม้ามาตายที่นั่น  

ส่วนเรื่องคนเอาของมาฝังกับเรื่องคนขุดของ ฟังดูเหมือนเกี่ยวข้องกัน เรื่องแรกเขาเล่าว่ามีคนเคยเอาของมีค่ามาฝัง จากเมืองลาว แล้วยังฆ่าคนฝังลงไปด้วยในบริเวณแถวนี้ ส่วนอีกเรื่องคือ คนแกว (คนเวียด คำเรียกนี้ไม่ใช่คำดูถูกชนชาติแบบในภาษาไทย) ได้ยินว่าบริเวณนี้มีของมีค่า ก็มาขุดเจอ "หม้อ" ใหญ่ใบหนึ่ง บนฝาหม้อมีรูปตัวกบติดอยู่ 4 ตัว แต่เมื่อเอาไปแล้วมีคนมาขโมยไปอีกที 

สรุปแล้วบริเวณนี้คงเกี่ยวข้องกับตำนานนำ้เต้าปุง ตำนานขุนบูลม ตำนานกำเนิดมนุษย์จริง ๆ ที่ต้องคิดต่อคือ ทำไมตำนานมากมายจึงเกิดขึ้นที่นี่ ทำไมตำนานเหล่านี้จึงถูกจดจำและถูกเล่าต่อกันมาเนิ่นนาน เป็นไปได้ไหมว่าบริเวณนี้จะเคยไปที่ตั้งรกรากเริ่มต้นหรือเป็นแหล่งกำเนิดสำคัญของคนไตหรือความสัมพันธ์ระหว่างคนไตกับคนส่าเมื่ออดีตอันแสนไกลหลักพันปี

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หลายคนคงเป็นแบบผม คือพยายามข่มอารมณ์ฝ่าฟันการสบถของท่านผู้นำ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตั้งแต่ที่ผมรู้จักงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์มา มีปีนี้เองที่ผมคิดว่ากิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่มีความหมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปี 2558 เป็นปีที่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีอายุครบ 50 ปี นับตั้งแต่เริ่มเป็นแผนกอิสระในคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์มาตั้งแต่ปี 2508
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เปิดภาคการศึกษานี้มีเรื่องน่าตื่นเต้นคือ วันแรกที่ไปสอน (ผมสอนอังคาร, พฤหัสบดี ครั้งละ 1 ชั่วโมง 15 นาที) มีนักเรียนมาเต็มห้อง เขากำหนดโควต้าไว้ที่ 34 คน แต่หลังจากผมแนะนำเค้าโครงการบรรยาย คงเพราะงานมาก จุกจิก ก็มีคนถอนชื่อออกไปจำนวนหนึ่ง คืนก่อนที่จะไปสอนครั้งที่สอง ผมก็เลยฝันร้าย คือฝันว่าวันรุ่งขึ้นมีนักเรียนมาเรียนแค่ 3 คน แล้วเรียนๆ ไปนักเรียนหนีหายไปเหลือ 2 คน แต่พอตื่นไปสอนจริง ยังมีนักเรียนเหลืออีก 20 กว่าคน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อได้ทราบว่าอาจารย์เก่งกิจทำวิจัยทบทวนวรรณกรรมด้านชนบทศึกษา โดยลงแรงส่วนหนึ่งอ่านงาน “ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย” (ต่อไปนี้จะเรียกว่า “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ”) (อภิชาต ยุกติ นิติ 2556) ที่ผมมีส่วนร่วมกับนักวิจัยในทีมทั้งหมด 6 คนในตอนแรก และ 9 คนในช่วงทำวิจัยใหญ่ [1] ผมก็ตื่นเต้นยินดีที่นานๆ จะมีนักวิชาการไทยอ่านงานนักวิชาการไทยด้วยกันเองอย่างเอาจริงเอาจังสักที 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะให้ผมเขียนเรื่องอุปสรรคขัดขวางโลกวิชาการไทยต่อการก้าวขึ้นสู่ความเป็นเลิศในระดับนานาชาติไปอีกเรื่อยๆ น่ะ ผมก็จะหาประเด็นมาเขียนไปได้อีกเรื่อยๆ นั่นแหละ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ถ้านับย้อนกลับไปถึงช่วงปีที่ผมเริ่มสนใจงานวิชาการจนเข้ามาทำงานเป็นอาจารย์ ก็อาจนับได้ไปถึง 25 ปีที่ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงในโลกวิชาการไทย ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่สำคัญคือการบริหารงานในมหาวิทยาลัย แต่ขอยกเรื่องนั้นเอาไว้ก่อน เพราะหากค่อยๆ ดูเรื่องย่อยๆ ไปเรื่อยๆ แล้วก็น่าจะช่วยให้เห็นอะไรมากขึ้นว่า การบริหารงานวิชาการในขณะนี้วางอยู่บนระบบแบบไหน เป็นระบบที่เน้นสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการในเชิงปริมาณหรือคุณภาพกันแน่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บอกอีกครั้งสำหรับใครที่เพิ่งอ่านตอนนี้ ผมเขียนเรื่องนี้ต่อเนื่องกันมาชิ้นนี้เป็นชิ้นที่ 5 แล้ว ถ้าจะไม่อ่านชิ้นอื่นๆ (ซึ่งก็อาจชวนงงได้) ก็ขอให้กลับไปอ่านชิ้นแรก ที่วางกรอบการเขียนครั้งนี้เอาไว้แล้ว อีกข้อหนึ่ง ผมยินดีหากใครจะเพิ่มเติมรายละเอียด มุมมอง หรือประสบการณ์ที่แตกต่างออกไป แต่ขอให้แสดงความเห็นแบบ "ช่วยกันคิด" หน่อยนะครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อันที่จริงวิทยานิพนธ์เป็นส่วนน้อยๆ ของโลกวิชาการอันกว้างใหญ่ และเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเป็นนักวิชาการ แต่วิทยานิพนธ์ก็เป็นผลงานที่อาจจะดีที่สุดของนักวิชาการส่วนใหญ่ แต่สังคมวิชาการไทยกลับให้คุณค่าด้อยที่สุด พูดอย่างนี้เหมือนขัดแย้งกันเอง ขอให้ผมค่อยๆ อธิบายก็แล้วกันครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ก่อนเริ่มพูดเรื่องนี้ ผมอยากชี้แจงสักหน่อยนะครับว่า ที่เขียนนี่ไม่ใช่จะมาบ่นเรื่อยเปื่อยเพื่อขอความเห็นใจจากสังคม แต่อยากประจานให้รู้ว่าระบบที่รองรับงานวิชาการไทยอยู่เป็นอย่างไร ส่วนจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร อย่าถามผมเลย เพราะผมไม่มีอำนาจ ไม่ต้องมาย้อนบอกผมด้วยว่า "คุณก็ก้มหน้าก้มตาทำงานไปให้ดีที่สุดก็แล้วกัน" เพราะถ้าไม่เห็นว่าสิ่งที่เล่าไปเป็นประเด็นก็อย่าสนใจเสียเลยดีกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมขอเริ่มที่เรืองซึ่งถือได้ว่าเป็นยาขมที่สุดของแวดวงมหาวิทยาลัยไทยเลยก็แล้วกัน ที่จริงว่าจะเขียนเรื่องการผลิตความรู้ก่อน แต่หนีไม่พ้นเรื่องการสอน เพราะนี่เป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการทำงานวิชาการในไทยมากถึงมากที่สุดเลยก็ว่าได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อผมมาสอนหนังสือถึงได้รู้ว่า วันครูน่ะ เขามีไว้ปลอบใจครู ก็เหมือนกับวันสตรี เอาไว้ปลอบใจสตรี วันเด็กเอาไว้หลอกเด็กว่าผู้ใหญ่ให้ความสำคัญ แต่ที่จริงก็เอาไว้ตีกินปลูกฝังอะไรที่ผู้ใหญ่อยากได้อยากเป็นให้เด็ก ส่วนวันแม่กับวันพ่อน่ะอย่าพูดถึงเลย เพราะหากจะช่วยเป็นวันปลอบใจแม่กับพ่อก็ยังจะดีเสียกว่าที่จะให้กลายเป็นวันฉวยโอกาสของรัฐไทยอย่างที่เป็นอยู่นี้