Skip to main content

ตลอดการเดินทาง สิ่งหนึ่งที่หนักหนาเสมอคือการดื่มกินกับคนพื้นเมือง ในการเดินทางครั้งนี้ มื้อที่แสนสาหัสที่สุดคือมื้อที่ต้องทั้งประคองตัวเอง ทั้งไม่ให้เสียน้ำใจ และทั้งไม่ให้เพื่อนร่วมทางเหน็ดเหนื่อยเกินกว่าจะร่วมทางกันต่อไปได้อย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน

มื้อแรกที่เมืองมุน เพื่อนชาวไตเมืองมุนเลี้ยงรับรองด้วยข้าวปลาอาหารอย่างดี ทั้งหน่อไม้ประจำฤดู ทั้งแกงหน่อไม้กับหัวปลา ทั้งปลาไหลนึ่ง และอาหารแปลก ๆ สำหรับบางคน เช่น แมลงทอด และเหล้า “มายหะ” อันเข้มข้นร้อนแรงจุดไฟติดของเมืองมุน แต่วงข้าวก็จบลงอย่างลงตัวราวเกือบห้าทุ่ม เมื่อครอบครัวของเจ้าเรือนทยอยลุกกันไปก่อน แล้วเมื่อเหลือเพียงเจ้าเรือนกับแขกที่สนิทกันเพียงสองคน การจบก็ง่ายเข้า

มื้อหนักหนาอีกมื้อคือที่เมืองลา มื้อนี้มีผมเพียงลำพังที่ได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีจากพี่ ๆ ชาวเมืองลาที่คุ้นเคย วงข้าวถูกตระเตรียมอย่างกระทันหันเพราะผมไม่ได้บอกกล่าวใครมาก่อนว่าจะโผล่มาที่เมืองลา เมื่อเดินไปหาพี่สอยตอนสาย ๆ พอเธอชวนกินข้าว ผมตอบรับแทบจะทันที ผมยังไม่ลืมพูดว่า “จะเฮ็ดทุกข์ใจให้พี่เปล่า ๆ นะ” เป็นมารยาทในการบอกกล่าวว่าเกรงใจ แต่ในใจก็รู้ว่า แน่นอนว่าพี่สอยจะต้องทำให้กินแน่นอนและในใจก็อยากกินข้าวกับพี่ ๆ เหมือนเมื่อก่อนที่เคยมาเยี่ยมเยียนกันเสมอ ๆ

หลังจากผมไปเดินเล่น ไปพบปะพี่น้องเรือนใกล้เคียงเรือนพี่สอย กลับมาอีกทีอาหารก็ถูกจัดมาเต็มโต๊ะ พี่สอยระดมลูกสะใภ้กับลูกสาวมาทำกับข้าวพื้นเมืองอย่างรวดเร็ว อาหารมื้อนี้มีของกินพิเศษอย่างหนังควายดอง “มะต่าง” ใช้จิ้ม “มะถั่วเน่า” และแน่นอนว่าต้องมีเหล้ากินกันไปคุยกันไป มื้อนี้จบลงอย่างง่ายดายเพราะเป็นมื้อกลางวันในวันธรรมดา ทุกคนยังมีการงานต้องทำ ผมเองก็มีโอกาสปลีกตัวไปพัก แต่ก็ยอมรับว่ามื้อนั้นพวกพี่ ๆ ชวนดื่มอย่างหนักหนาจริง ๆ จนต้องหาที่นอนกลางวันที่เรือนพี่อีกคนหนึ่ง

หลังจากนั้นก็มีมื้อที่ถูกเชิญอย่างประหลาด คนขับรถชื่อเหี่ยน ผมเรียกพี่เหี่ยน บอกว่าเพื่อนของเขาอยากเชิญพวกเราไปร่วมงานวันเกิดของเมียเขา พวกเรางุนงงเล็กน้อย ผมเองเกรงว่าจะเป็นมื้ออาหารที่ต้องกินเหล้าหนัก หรือจะเป็นมื้อที่เอิกเริก จึงลังเลอยู่นานว่าจะตอบอย่างไรดี แต่ในที่สุดเพื่อนร่วมทางตกลงใจว่า ไปก็ไป สุดท้ายกลับกลายเป็นมื้อที่ประทับใจในมิตรภาพของคนท้องถิ่น

มื้อนี้เจ้าเรือนชื่ออึ๋งเป็นคนเวียดที่แต่งงานกับถิ่นชาวไตขาวจากเมืองไล ทั้งคู่พบรักกันที่ฮานอย แล้วกลับมาใช้ชีวิตกันที่เมืองแถง ทั้งคู่เพิ่งแยกเรือนจากพ่อแม่ เพิ่งมีลูกคนเดียว น้องอึ๋งคนสามีเป็นวิศวกรก่อสร้าง น้องถิ่นคนภรรยาเป็นครูโรงเรียนอนุบาลเอกชน แขกเหรื่อในงานไม่มีใครมาก มีแต่เพื่อนครูของน้องถิ่นมากัน 4-5 คน อาหารก็เป็นอาหารง่าย ๆ คือหม้อไฟ ที่มีผักท้องถิ่น เส้นก๋วยเตี๋ยวกับเส้นขนมจีน และเนื้อสดหลายชนิด อย่างเป็ดเทศ เนื้อวัว ไข่ข้าว กับเต้าหู้

เหล้าเรือนนี้ไม่แรง เจ้าเรือนทั้งผัวและเมียช่างคุย ถิ่นกับเพื่อนทั้งคนไตขาวและไตดำสนใจแลกเปลี่ยนเรื่องภาษากับเพื่อนร่วมทางชาวไทยของผม ผมก็คุยไปบ้าง แปลไปบ้าง เพื่อนร่วมทางผมสนใจสอบถามชีวิตประจำวันกับชีวิตความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจของพวกน้อง ๆ ส่วนเพื่อนชาวเวียดของน้องถิ่นก็สนใจเรื่องเมืองไทย กินกันไป คุยกันไป ดื่มกันไปพอสมควรก็ขอลากลับหลังจากเพื่อน ๆ ถิ่นเองเริ่มกลับบ้างแล้ว

หลังจากนั้นอีกหลายมื้อ พวกเรากินข้าวกันเองตลอด จนกระทั่งถึงมื้อที่น่าจะเป็นประสบการณ์ที่หนักหน่วงของเพื่อนร่วมทางผมคือมื้อเย็นวาน ผมไปเยี่ยมพ่อเบี๋ยน ชาวไตดำเมืองลอ (Nghĩa Lộ) ผมรู้จักกับแกมานานเกินสิบปีแล้ว จากการแนะนำของเพื่อนนักมานุษยวิทยาชาวญี่ปุ่น พ่อเบี๋ยนเมื่อสิบปีก่อนอายุ 70 เศษ มาปีนี้ก็ 84 แกไว้ผมยาว รูปร่างเพรียวแต่ไม่ถึงกับผอม เป็นคนสนุกสนาน พูดจาฉลาดหลักแหลม แต่ชอบล้อผู้คน พูดติดตลกตลอดเวลา

 

 

แม่ปองกับพ่อเบี๋ยน

 

พ่อเบี๋ยนเป็นกวี เป็นนักเขียน เป็นนักอนุรักษ์วัฒนธรรม ทำงานส่งเสริมวัฒนธรรมไตให้เป็นที่รู้จักระดับจังหวัด ระดับชาติ และระดับนานาชาติ เมื่อไม่ได้เจอกันนานร่วมสิบปี พ่อเบี๋ยนชวนกินข้าวเย็น ผมก็ยากที่จะปฏิเสธ ห่วงแต่ว่าเพื่อนร่วมทางจะไหวหรือเปล่า แต่หากเพื่อนร่วมทางไม่กินด้วย ก็คงเสียมารยาท สุดท้ายผมก็ตอบรับ ทางเจ้าเรือนก็ไม่ใช่ว่าจะสะดวกง่ายดายนัก เพราะพ่อเบี๋ยนอยู่กับแม่ปองแค่สองคน จึงต้องระดมแรงงานมาทำครัวกันยกใหญ่ ทั้งลูกเลี้ยง ลูกสะใภ้ หลานสาว

 

 

พ่อเบี๋ยนกระโดดลงไปจับเป็ดในหนองส่งให้หลานสาว แล้วไปจับไก่ในคอก แม่ปองไปเก็บผักในแปลงผัก ข้าวเหนียวนึ่งไม่ทันก็หุงด้วยหม้อไฟฟ้า ทั้งหมดนั้นใช้เวลาเกือบชั่วโมงกับแรงงานถึง 4-5 คน ระหว่างที่สำรับอาหารยกมา พ่อเบี๋ยนก็เตรียมรินเหล้าใส่ขวดกับเหยือกน้ำ เพื่อมารินทีละจอกในวงเหล้า อาหารมื้อนี้เป็นมื้อฉุกละหุก ทำให้ผมนึกถึงอาหารมื้อแบบนี้ในหมู่บ้านชาวไตเมื่อหลายปีก่อน ที่ไม่ต่างจากมื้อนี้เลย คืออุดมด้วยเนื้อสัตว์ที่ทำให้สุกด้วยการผัด การต้มอย่างง่าย ๆ แล้วมีผักสด หน่อไม้ลวก “ผักชุบ” กับเครื่องจิ้มที่ทำให้อาหารมื้อนี้เป็นอาหารไต อย่าง “ปามั่ม” เป็นปลาร้าปลาตัวเล็ก ๆ กับเครื่องจิ้มอีกถ้วยคือมะถั่วเน่า

อาหารมื้อที่กินกับพ่อเบี๋ยน

พ่อเบี๋ยนอธิบายว่า จอกเหล้าสองจอกที่วางไว้โดยไม่มีใครต้องดื่มนั้น จอกหนึ่งเป็นของแขก คือผมซึ่งนั่งข้างแก เป็นตัวแทนแขกทุกคน อีกจอกเป็นของเจ้าเรือน คือตัวแกที่เป็นตัวแทนคนทั้งเรือน สองจอกนี้เป็นเครื่องไหว้ผีเรือนไปในตัว ใกล้สองจอกมีพริกสดกับเกลือ เป็นการเชื้อเชิญแขก กับหัวและตีนไก่
วงเหล้านี้ดำเนินไปสักชั่วโมงหนึ่งได้ ผมต้องดื่มตามจังหวะของการเชิญแขก การกล่าวอวยพร การกล่าวทักทายทั้งส่วนตัวและทั้งวงไปร่วมสิบกว่าจอก เมื่อนั่งสักพัก ผมเริ่มคิดหาวิธีว่าจะจบอย่างไร จบอย่างไรไม่ให้เสียน้ำใจเจ้าเรือน เพราะทางฝั่งเจ้าเรือนยังไม่มีใครขยับลุกจากที่นั่งเลยสักคน จบอย่างไรให้เจ้าเรือนประทับใจ จบอย่างไรให้เพื่อนร่วมทางไม่เสียหน้าและไม่เหน็ดเหนื่อยเกินไปนัก
ผมเริ่มด้วยการบอกว่า “แจนเหล้านี้ขออวยพรเจ้าเรือน” คือพ่อเบี๋ยนกับแม่ปองที่นั่งข้าง ๆ ผม ผ่านไปจอกหนึ่งแล้ว ผมบอกว่า “แจนเหล้านี้ขออวยพรพี่ชายทั้งสอง” คือลูกชายกับลูกเลี้ยงพ่อเบี๋ยน สุดท้าย “แจนนี้ขออวยพรทั้งเรือนนี้ และขออนุญาตลากลับก่อน เพราะต้องเดินทางไกลไปหาที่พักอีกเมืองหนึ่ง” ผมจำไม่ได้แล้วว่าพูดอะไรไปอีกบ้าง ทั้งภาษาเวียด ภาษาไตดำ ปนเปกัน แต่ได้ผลดี เราทั้งหมดลุกพร้อมกันหลังจากผมกับพ่อเบี๋ยนและพวกผู้ชายในวงดื่มหมดจอก
เพื่อนร่วมทางนักประวัติศาสตร์เอ่ยขึ้นมาบนรถหลังจากพวกเราร่ำลาจากวงข้าววงเหล้าแล้วว่า "ดีฉิบหายที่ผมไม่เลือกเป็นนักมานุษยวิทยา” เมื่อหลายวันก่อนระหว่างอาหารมื้อแรกกับเพื่อนชาวไต เพื่อนร่วมทางคนเดียวกันนี้เคยผมบอกว่า “ผมเคยอยากเรียนมานุษยวิทยา แต่รู้ตัวว่าเรียนไม่ได้เพราะต้องไปกินอะไรแปลก ๆ ไปนอนในที่ต่างถิ่นนี่แหละ ผมไม่ไหวแน่เลยเลือกเรียนประวัติศาสตร์”

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หลายคนคงเป็นแบบผม คือพยายามข่มอารมณ์ฝ่าฟันการสบถของท่านผู้นำ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตั้งแต่ที่ผมรู้จักงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์มา มีปีนี้เองที่ผมคิดว่ากิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่มีความหมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปี 2558 เป็นปีที่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีอายุครบ 50 ปี นับตั้งแต่เริ่มเป็นแผนกอิสระในคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์มาตั้งแต่ปี 2508
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เปิดภาคการศึกษานี้มีเรื่องน่าตื่นเต้นคือ วันแรกที่ไปสอน (ผมสอนอังคาร, พฤหัสบดี ครั้งละ 1 ชั่วโมง 15 นาที) มีนักเรียนมาเต็มห้อง เขากำหนดโควต้าไว้ที่ 34 คน แต่หลังจากผมแนะนำเค้าโครงการบรรยาย คงเพราะงานมาก จุกจิก ก็มีคนถอนชื่อออกไปจำนวนหนึ่ง คืนก่อนที่จะไปสอนครั้งที่สอง ผมก็เลยฝันร้าย คือฝันว่าวันรุ่งขึ้นมีนักเรียนมาเรียนแค่ 3 คน แล้วเรียนๆ ไปนักเรียนหนีหายไปเหลือ 2 คน แต่พอตื่นไปสอนจริง ยังมีนักเรียนเหลืออีก 20 กว่าคน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อได้ทราบว่าอาจารย์เก่งกิจทำวิจัยทบทวนวรรณกรรมด้านชนบทศึกษา โดยลงแรงส่วนหนึ่งอ่านงาน “ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย” (ต่อไปนี้จะเรียกว่า “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ”) (อภิชาต ยุกติ นิติ 2556) ที่ผมมีส่วนร่วมกับนักวิจัยในทีมทั้งหมด 6 คนในตอนแรก และ 9 คนในช่วงทำวิจัยใหญ่ [1] ผมก็ตื่นเต้นยินดีที่นานๆ จะมีนักวิชาการไทยอ่านงานนักวิชาการไทยด้วยกันเองอย่างเอาจริงเอาจังสักที 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะให้ผมเขียนเรื่องอุปสรรคขัดขวางโลกวิชาการไทยต่อการก้าวขึ้นสู่ความเป็นเลิศในระดับนานาชาติไปอีกเรื่อยๆ น่ะ ผมก็จะหาประเด็นมาเขียนไปได้อีกเรื่อยๆ นั่นแหละ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ถ้านับย้อนกลับไปถึงช่วงปีที่ผมเริ่มสนใจงานวิชาการจนเข้ามาทำงานเป็นอาจารย์ ก็อาจนับได้ไปถึง 25 ปีที่ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงในโลกวิชาการไทย ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่สำคัญคือการบริหารงานในมหาวิทยาลัย แต่ขอยกเรื่องนั้นเอาไว้ก่อน เพราะหากค่อยๆ ดูเรื่องย่อยๆ ไปเรื่อยๆ แล้วก็น่าจะช่วยให้เห็นอะไรมากขึ้นว่า การบริหารงานวิชาการในขณะนี้วางอยู่บนระบบแบบไหน เป็นระบบที่เน้นสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการในเชิงปริมาณหรือคุณภาพกันแน่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บอกอีกครั้งสำหรับใครที่เพิ่งอ่านตอนนี้ ผมเขียนเรื่องนี้ต่อเนื่องกันมาชิ้นนี้เป็นชิ้นที่ 5 แล้ว ถ้าจะไม่อ่านชิ้นอื่นๆ (ซึ่งก็อาจชวนงงได้) ก็ขอให้กลับไปอ่านชิ้นแรก ที่วางกรอบการเขียนครั้งนี้เอาไว้แล้ว อีกข้อหนึ่ง ผมยินดีหากใครจะเพิ่มเติมรายละเอียด มุมมอง หรือประสบการณ์ที่แตกต่างออกไป แต่ขอให้แสดงความเห็นแบบ "ช่วยกันคิด" หน่อยนะครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อันที่จริงวิทยานิพนธ์เป็นส่วนน้อยๆ ของโลกวิชาการอันกว้างใหญ่ และเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเป็นนักวิชาการ แต่วิทยานิพนธ์ก็เป็นผลงานที่อาจจะดีที่สุดของนักวิชาการส่วนใหญ่ แต่สังคมวิชาการไทยกลับให้คุณค่าด้อยที่สุด พูดอย่างนี้เหมือนขัดแย้งกันเอง ขอให้ผมค่อยๆ อธิบายก็แล้วกันครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ก่อนเริ่มพูดเรื่องนี้ ผมอยากชี้แจงสักหน่อยนะครับว่า ที่เขียนนี่ไม่ใช่จะมาบ่นเรื่อยเปื่อยเพื่อขอความเห็นใจจากสังคม แต่อยากประจานให้รู้ว่าระบบที่รองรับงานวิชาการไทยอยู่เป็นอย่างไร ส่วนจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร อย่าถามผมเลย เพราะผมไม่มีอำนาจ ไม่ต้องมาย้อนบอกผมด้วยว่า "คุณก็ก้มหน้าก้มตาทำงานไปให้ดีที่สุดก็แล้วกัน" เพราะถ้าไม่เห็นว่าสิ่งที่เล่าไปเป็นประเด็นก็อย่าสนใจเสียเลยดีกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมขอเริ่มที่เรืองซึ่งถือได้ว่าเป็นยาขมที่สุดของแวดวงมหาวิทยาลัยไทยเลยก็แล้วกัน ที่จริงว่าจะเขียนเรื่องการผลิตความรู้ก่อน แต่หนีไม่พ้นเรื่องการสอน เพราะนี่เป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการทำงานวิชาการในไทยมากถึงมากที่สุดเลยก็ว่าได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อผมมาสอนหนังสือถึงได้รู้ว่า วันครูน่ะ เขามีไว้ปลอบใจครู ก็เหมือนกับวันสตรี เอาไว้ปลอบใจสตรี วันเด็กเอาไว้หลอกเด็กว่าผู้ใหญ่ให้ความสำคัญ แต่ที่จริงก็เอาไว้ตีกินปลูกฝังอะไรที่ผู้ใหญ่อยากได้อยากเป็นให้เด็ก ส่วนวันแม่กับวันพ่อน่ะอย่าพูดถึงเลย เพราะหากจะช่วยเป็นวันปลอบใจแม่กับพ่อก็ยังจะดีเสียกว่าที่จะให้กลายเป็นวันฉวยโอกาสของรัฐไทยอย่างที่เป็นอยู่นี้