Skip to main content

ตลอดการเดินทาง สิ่งหนึ่งที่หนักหนาเสมอคือการดื่มกินกับคนพื้นเมือง ในการเดินทางครั้งนี้ มื้อที่แสนสาหัสที่สุดคือมื้อที่ต้องทั้งประคองตัวเอง ทั้งไม่ให้เสียน้ำใจ และทั้งไม่ให้เพื่อนร่วมทางเหน็ดเหนื่อยเกินกว่าจะร่วมทางกันต่อไปได้อย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน

มื้อแรกที่เมืองมุน เพื่อนชาวไตเมืองมุนเลี้ยงรับรองด้วยข้าวปลาอาหารอย่างดี ทั้งหน่อไม้ประจำฤดู ทั้งแกงหน่อไม้กับหัวปลา ทั้งปลาไหลนึ่ง และอาหารแปลก ๆ สำหรับบางคน เช่น แมลงทอด และเหล้า “มายหะ” อันเข้มข้นร้อนแรงจุดไฟติดของเมืองมุน แต่วงข้าวก็จบลงอย่างลงตัวราวเกือบห้าทุ่ม เมื่อครอบครัวของเจ้าเรือนทยอยลุกกันไปก่อน แล้วเมื่อเหลือเพียงเจ้าเรือนกับแขกที่สนิทกันเพียงสองคน การจบก็ง่ายเข้า

มื้อหนักหนาอีกมื้อคือที่เมืองลา มื้อนี้มีผมเพียงลำพังที่ได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีจากพี่ ๆ ชาวเมืองลาที่คุ้นเคย วงข้าวถูกตระเตรียมอย่างกระทันหันเพราะผมไม่ได้บอกกล่าวใครมาก่อนว่าจะโผล่มาที่เมืองลา เมื่อเดินไปหาพี่สอยตอนสาย ๆ พอเธอชวนกินข้าว ผมตอบรับแทบจะทันที ผมยังไม่ลืมพูดว่า “จะเฮ็ดทุกข์ใจให้พี่เปล่า ๆ นะ” เป็นมารยาทในการบอกกล่าวว่าเกรงใจ แต่ในใจก็รู้ว่า แน่นอนว่าพี่สอยจะต้องทำให้กินแน่นอนและในใจก็อยากกินข้าวกับพี่ ๆ เหมือนเมื่อก่อนที่เคยมาเยี่ยมเยียนกันเสมอ ๆ

หลังจากผมไปเดินเล่น ไปพบปะพี่น้องเรือนใกล้เคียงเรือนพี่สอย กลับมาอีกทีอาหารก็ถูกจัดมาเต็มโต๊ะ พี่สอยระดมลูกสะใภ้กับลูกสาวมาทำกับข้าวพื้นเมืองอย่างรวดเร็ว อาหารมื้อนี้มีของกินพิเศษอย่างหนังควายดอง “มะต่าง” ใช้จิ้ม “มะถั่วเน่า” และแน่นอนว่าต้องมีเหล้ากินกันไปคุยกันไป มื้อนี้จบลงอย่างง่ายดายเพราะเป็นมื้อกลางวันในวันธรรมดา ทุกคนยังมีการงานต้องทำ ผมเองก็มีโอกาสปลีกตัวไปพัก แต่ก็ยอมรับว่ามื้อนั้นพวกพี่ ๆ ชวนดื่มอย่างหนักหนาจริง ๆ จนต้องหาที่นอนกลางวันที่เรือนพี่อีกคนหนึ่ง

หลังจากนั้นก็มีมื้อที่ถูกเชิญอย่างประหลาด คนขับรถชื่อเหี่ยน ผมเรียกพี่เหี่ยน บอกว่าเพื่อนของเขาอยากเชิญพวกเราไปร่วมงานวันเกิดของเมียเขา พวกเรางุนงงเล็กน้อย ผมเองเกรงว่าจะเป็นมื้ออาหารที่ต้องกินเหล้าหนัก หรือจะเป็นมื้อที่เอิกเริก จึงลังเลอยู่นานว่าจะตอบอย่างไรดี แต่ในที่สุดเพื่อนร่วมทางตกลงใจว่า ไปก็ไป สุดท้ายกลับกลายเป็นมื้อที่ประทับใจในมิตรภาพของคนท้องถิ่น

มื้อนี้เจ้าเรือนชื่ออึ๋งเป็นคนเวียดที่แต่งงานกับถิ่นชาวไตขาวจากเมืองไล ทั้งคู่พบรักกันที่ฮานอย แล้วกลับมาใช้ชีวิตกันที่เมืองแถง ทั้งคู่เพิ่งแยกเรือนจากพ่อแม่ เพิ่งมีลูกคนเดียว น้องอึ๋งคนสามีเป็นวิศวกรก่อสร้าง น้องถิ่นคนภรรยาเป็นครูโรงเรียนอนุบาลเอกชน แขกเหรื่อในงานไม่มีใครมาก มีแต่เพื่อนครูของน้องถิ่นมากัน 4-5 คน อาหารก็เป็นอาหารง่าย ๆ คือหม้อไฟ ที่มีผักท้องถิ่น เส้นก๋วยเตี๋ยวกับเส้นขนมจีน และเนื้อสดหลายชนิด อย่างเป็ดเทศ เนื้อวัว ไข่ข้าว กับเต้าหู้

เหล้าเรือนนี้ไม่แรง เจ้าเรือนทั้งผัวและเมียช่างคุย ถิ่นกับเพื่อนทั้งคนไตขาวและไตดำสนใจแลกเปลี่ยนเรื่องภาษากับเพื่อนร่วมทางชาวไทยของผม ผมก็คุยไปบ้าง แปลไปบ้าง เพื่อนร่วมทางผมสนใจสอบถามชีวิตประจำวันกับชีวิตความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจของพวกน้อง ๆ ส่วนเพื่อนชาวเวียดของน้องถิ่นก็สนใจเรื่องเมืองไทย กินกันไป คุยกันไป ดื่มกันไปพอสมควรก็ขอลากลับหลังจากเพื่อน ๆ ถิ่นเองเริ่มกลับบ้างแล้ว

หลังจากนั้นอีกหลายมื้อ พวกเรากินข้าวกันเองตลอด จนกระทั่งถึงมื้อที่น่าจะเป็นประสบการณ์ที่หนักหน่วงของเพื่อนร่วมทางผมคือมื้อเย็นวาน ผมไปเยี่ยมพ่อเบี๋ยน ชาวไตดำเมืองลอ (Nghĩa Lộ) ผมรู้จักกับแกมานานเกินสิบปีแล้ว จากการแนะนำของเพื่อนนักมานุษยวิทยาชาวญี่ปุ่น พ่อเบี๋ยนเมื่อสิบปีก่อนอายุ 70 เศษ มาปีนี้ก็ 84 แกไว้ผมยาว รูปร่างเพรียวแต่ไม่ถึงกับผอม เป็นคนสนุกสนาน พูดจาฉลาดหลักแหลม แต่ชอบล้อผู้คน พูดติดตลกตลอดเวลา

 

 

แม่ปองกับพ่อเบี๋ยน

 

พ่อเบี๋ยนเป็นกวี เป็นนักเขียน เป็นนักอนุรักษ์วัฒนธรรม ทำงานส่งเสริมวัฒนธรรมไตให้เป็นที่รู้จักระดับจังหวัด ระดับชาติ และระดับนานาชาติ เมื่อไม่ได้เจอกันนานร่วมสิบปี พ่อเบี๋ยนชวนกินข้าวเย็น ผมก็ยากที่จะปฏิเสธ ห่วงแต่ว่าเพื่อนร่วมทางจะไหวหรือเปล่า แต่หากเพื่อนร่วมทางไม่กินด้วย ก็คงเสียมารยาท สุดท้ายผมก็ตอบรับ ทางเจ้าเรือนก็ไม่ใช่ว่าจะสะดวกง่ายดายนัก เพราะพ่อเบี๋ยนอยู่กับแม่ปองแค่สองคน จึงต้องระดมแรงงานมาทำครัวกันยกใหญ่ ทั้งลูกเลี้ยง ลูกสะใภ้ หลานสาว

 

 

พ่อเบี๋ยนกระโดดลงไปจับเป็ดในหนองส่งให้หลานสาว แล้วไปจับไก่ในคอก แม่ปองไปเก็บผักในแปลงผัก ข้าวเหนียวนึ่งไม่ทันก็หุงด้วยหม้อไฟฟ้า ทั้งหมดนั้นใช้เวลาเกือบชั่วโมงกับแรงงานถึง 4-5 คน ระหว่างที่สำรับอาหารยกมา พ่อเบี๋ยนก็เตรียมรินเหล้าใส่ขวดกับเหยือกน้ำ เพื่อมารินทีละจอกในวงเหล้า อาหารมื้อนี้เป็นมื้อฉุกละหุก ทำให้ผมนึกถึงอาหารมื้อแบบนี้ในหมู่บ้านชาวไตเมื่อหลายปีก่อน ที่ไม่ต่างจากมื้อนี้เลย คืออุดมด้วยเนื้อสัตว์ที่ทำให้สุกด้วยการผัด การต้มอย่างง่าย ๆ แล้วมีผักสด หน่อไม้ลวก “ผักชุบ” กับเครื่องจิ้มที่ทำให้อาหารมื้อนี้เป็นอาหารไต อย่าง “ปามั่ม” เป็นปลาร้าปลาตัวเล็ก ๆ กับเครื่องจิ้มอีกถ้วยคือมะถั่วเน่า

อาหารมื้อที่กินกับพ่อเบี๋ยน

พ่อเบี๋ยนอธิบายว่า จอกเหล้าสองจอกที่วางไว้โดยไม่มีใครต้องดื่มนั้น จอกหนึ่งเป็นของแขก คือผมซึ่งนั่งข้างแก เป็นตัวแทนแขกทุกคน อีกจอกเป็นของเจ้าเรือน คือตัวแกที่เป็นตัวแทนคนทั้งเรือน สองจอกนี้เป็นเครื่องไหว้ผีเรือนไปในตัว ใกล้สองจอกมีพริกสดกับเกลือ เป็นการเชื้อเชิญแขก กับหัวและตีนไก่
วงเหล้านี้ดำเนินไปสักชั่วโมงหนึ่งได้ ผมต้องดื่มตามจังหวะของการเชิญแขก การกล่าวอวยพร การกล่าวทักทายทั้งส่วนตัวและทั้งวงไปร่วมสิบกว่าจอก เมื่อนั่งสักพัก ผมเริ่มคิดหาวิธีว่าจะจบอย่างไร จบอย่างไรไม่ให้เสียน้ำใจเจ้าเรือน เพราะทางฝั่งเจ้าเรือนยังไม่มีใครขยับลุกจากที่นั่งเลยสักคน จบอย่างไรให้เจ้าเรือนประทับใจ จบอย่างไรให้เพื่อนร่วมทางไม่เสียหน้าและไม่เหน็ดเหนื่อยเกินไปนัก
ผมเริ่มด้วยการบอกว่า “แจนเหล้านี้ขออวยพรเจ้าเรือน” คือพ่อเบี๋ยนกับแม่ปองที่นั่งข้าง ๆ ผม ผ่านไปจอกหนึ่งแล้ว ผมบอกว่า “แจนเหล้านี้ขออวยพรพี่ชายทั้งสอง” คือลูกชายกับลูกเลี้ยงพ่อเบี๋ยน สุดท้าย “แจนนี้ขออวยพรทั้งเรือนนี้ และขออนุญาตลากลับก่อน เพราะต้องเดินทางไกลไปหาที่พักอีกเมืองหนึ่ง” ผมจำไม่ได้แล้วว่าพูดอะไรไปอีกบ้าง ทั้งภาษาเวียด ภาษาไตดำ ปนเปกัน แต่ได้ผลดี เราทั้งหมดลุกพร้อมกันหลังจากผมกับพ่อเบี๋ยนและพวกผู้ชายในวงดื่มหมดจอก
เพื่อนร่วมทางนักประวัติศาสตร์เอ่ยขึ้นมาบนรถหลังจากพวกเราร่ำลาจากวงข้าววงเหล้าแล้วว่า "ดีฉิบหายที่ผมไม่เลือกเป็นนักมานุษยวิทยา” เมื่อหลายวันก่อนระหว่างอาหารมื้อแรกกับเพื่อนชาวไต เพื่อนร่วมทางคนเดียวกันนี้เคยผมบอกว่า “ผมเคยอยากเรียนมานุษยวิทยา แต่รู้ตัวว่าเรียนไม่ได้เพราะต้องไปกินอะไรแปลก ๆ ไปนอนในที่ต่างถิ่นนี่แหละ ผมไม่ไหวแน่เลยเลือกเรียนประวัติศาสตร์”

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
มีวันหนึ่ง อาจารย์อคินเดินคุยอยู่กับอาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่ง ผมเดินตามทั้งสองท่านมาข้างหลังอย่างที่ทั้งสองท่านรู้ตัวดี ตอนนั้นผมกำลังเรียนปริญญาเอกที่อเมริกา หรือไม่ก็เรียนจบกลับมาแล้วนี่แหละ อาจารย์อคินไม่รู้จักผม หรือรู้จักแต่ชื่อแต่ไม่เคยเห็นหน้า หรือไม่ก็จำหน้าไม่ได้ ผมแอบได้ยินอาจารย์อคินเปรยกับอาจารย์อีกท่านว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คืนวาน วันฮาโลวีน นักศึกษาชวนผมไปพูดเรื่องผี ปกติผมไม่อยู่รังสิตจนมืดค่ำ แต่ก็มักใจอ่อนหากนักศึกษาชวนให้ร่วมเสวนา พวกเขาจัดงานกึ่งรื่นเริงกึ่งเรียนรู้ (น่าจะเรียกว่าเริงรู้ หรือรื่นเรียนก็คงได้) ในคืนวันผีฝรั่ง ในที่ซึ่งเหมาะแก่การจัดคือพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยา เพราะมีของเก่าเยอะ ก็ต้องมีผีแน่นอน ผมก็เลยคิดว่าน่าสนุกเหมือนกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่ถึงกับต่อต้านกิจกรรมเชียร์อย่างรุนแรง เพราะคนสำคัญใกล้ตัวผมก็เป็นอดีตเชียร์ลีดเดอร์งานบอลประเพณีฯ ด้วยคนหนึ่ง และเพราะอย่างนั้น ผมจึงพบด้วยตนเองจากคนใกล้ตัวว่า คนคนหนึ่งกับช่วงชีวิตช่วงหนึ่งของมหาวิทยาลัยมันเป็นเพียงแค่ส่วนเสี้ยวหนึ่งของพัฒนาการของแต่ละคน แต่ก็ยังอยากบ่นเรื่องการเชียร์อยู่ดี เพราะความเข้มข้นของกิจกรรมในปัจจุบันแตกต่างอย่างยิ่งจากในสมัยของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเพิ่งไปเก็บข้อมูลวิจัยเรื่องการรู้หนังสือแบบดั้งเดิมของ "ลาวโซ่ง" ในไทยที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ได้ราว 2 วัน ได้ข้อมูลมากมายเกี่ยวกับประเด็นที่สนใจ แต่ก็ได้อย่างอื่นมาด้วยไม่น้อยเช่นกัน เรื่องหนึ่งคือความรู้เกี่ยวกับปลา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันก่อนปฐมนิเทศนักศึกษาปริญญาโท-เอกของคณะ ในฐานะคนดูแลหลักสูตรบัณฑิตศึกษาทางมานุษยวิทยา ผมเตรียมหัวข้อมาพูดให้นักศึกษาฟัง 4 หัวข้อใหญ่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ชื่อโมเฮน-โจ-ดาโรแปลตามภาษาซินธ์ (Sindh) ว่า "เนิน (ดาโร) แห่ง (โจ) ความตาย (โมเฮน)" เหตุใดจึงมีชื่อนี้ ผมก็ยังไม่ได้สอบถามค้นคว้าจริงจัง แต่ชื่อนี้ติดหูผมมาตั้งแต่เรียนปริญญาเอกอยู่ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน และเพราะโมเฮนโจดาโรและเมืองคู่แฝดที่ห่างไกลออกไปถึง 600 กิโลเมตรชื่อ "ฮารัปปา" นี่แหละที่ทำให้ผมชอบวิชาโบราณคดีและทำให้อยากมาปากีสถาน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ก่อนมา รู้อยู่แล้วว่าปากีสถานช่วงเดือนนี้คือเดือนที่ร้อนมาก และก็เพิ่งรู้ว่าเดือนนี้แหละที่ร้อนที่สุด แต่ที่ทำให้ “ใจชื้น” (แปลกนะ เรามีคำนี้ที่แปลว่าสบายใจ โดยเปรียบกับอากาศ แต่ที่ปากีสถาาน เขาคงไม่มีคำแบบนี้) คือ ความร้อนที่นี่เป็นร้อนแห้ง ไม่ชื้น และจึงน่าจะทนได้มากกว่า 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ครึ่งวันที่ผมมีประสบการณ์ตรงในกระบวนการยุติธรรมไทย บอกอะไรเกี่ยวกับสังคมไทยมากมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมลองเอากรณีทุบรถกับทุบลิฟมาเปรียบเทียบกัน แล้วก็เห็นความแตกต่างกันมากหลายมุม ได้เห็นความเหลื่อมล้ำของสังคมที่สนใจกรณีทั้งสองอย่างไม่สมดุลกัน แต่สุดท้ายมันบอกอะไรเรื่องเดียวกัน คือความบกพร่องของสถาบันจัดการความขัดแย้งของประเทศไทย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คนรุ่นใหม่ครับ... 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (4 ตุลาคม 2560) นิสิตมหาวิทยาลัยหนึ่งโทรศัพท์มาสัมภาษณ์เรื่องการพิมพ์คำ "คะ" "ค่ะ" ผิดๆ ในโซเชียลมีเดียและการส่งข้อความต่างๆ บอกว่าจะเอาไปลงวารสารของคณะเธอ เธอถามว่าการใช้คำผิดแบบนี้มีนัยทางสังคมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวาน (30 กันยายน 2560) นักศึกษาปริญญาโทชั้นเรียนมานุษยวิยาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เขียนบทละครเรื่อง "The Dark Fairy Tales นิทานเรื่องนี้ไม่เคยเล่า" ชวนไปดูและร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นหลังละครจบ ช่วยให้คิดอะไรเกี่ยวกับการอ่านนิทานได้อีกมากทีเดียวจึงอยากบันทึกไว้