Skip to main content

วันสุดท้ายของการเดินทางในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม คณะเราเดินทางกลับฮานอย แต่เส้นทางที่กลับผ่านดินแดนในตำนานสำคัญที่ผมไม่เคยแวะมาก่อน คือศาลเจ้าหุ่งม์เวือง (Đền Hùng Vương) ที่เชื่อมโยงกับตำนานไข่ร้อยฟองและกำเนิดของกลุ่มชาติพันธ์ุไต

 

 

เส้นทางเข้าฮานอยจากเอียนบ๋ายต้องผ่านเมืองสำคัญชื่อ เหวียด จี่ (Việt Trì) เมืองนี้เป็นที่บรรจบกันของแม่น้ำใหญ่สามสายในภาคเหนือของเวียดนาม คือแม่น้ำโล แม่น้ำแดง และแม่น้ำดำ เท่าที่ผมจะรู้ได้ขณะนี้ บริเวณนี้เป็นดินแดนที่ทั้งคนไตและคนเวียดเชื่อว่าคือแหล่งกำเนิดของชนชาติตน

ตำนานของชาวไตดำบันทึกไว้ใน "เล่าความเมือง" ซึ่งปรากฏในพงศาวดารล้านช้างเช่นกันว่า

ก่เป็นดินเป็นหญ้า ก่เป็นฟ้าเท่าถวงเห็ด

ก่เป็นดินเจ็ดก้อน ก่เป็นหินสามเส้า

น้ำเก้าแคว ปากแต๊ตาว

คนถอดภาษาจากตำนานนี้เป็นภาษาไทยสยามคงไม่เข้าใจว่า ่ หมายถึง ่อ ไม่ใช่ ก็ แต่ก็ช่างเถอะ คนสยามสักกี่คนกันที่จะใส่ใจอะไรนักหนาเกี่ยวกับอักษรและภาษาของคนสิบสองจุไท แค่อยากเหมาเอาดินแดนแถบนี้เป็นดินแดนของสยามก็พอแล้ว

"ปากแต๊ตาว" ก็คือที่บรรจบกันของแม่น้ำดำ ที่คนไตเรียกว่าน้ำแต๊ และแม่น้ำแดง ที่คนไตเรียกว่าน้ำตาว ณ จุดนี้บันทึก "เล่าความเมือง" ของไตดำเขียนไว้ว่า แถนให้ท้าวสวงท้าวเงินจากเมืองโอมเมืองอาย นำน้ำเต้าปุงมาแล้วจ่ายไปยังที่ต่าง ๆ จากนั้นผู้คนและสัตว์ก็หลั่งไหลกันออกมาจากน้ำเต้า แล้วคนไตก็ตั้งบ้านเมืองแห่งแรกที่เมืองลอ ห่างจาก "ปากแต๊ตาว" ไปสัก 70 กิโลเมตร

 

 

ส่วนคนเวียด บริเวณนี้มีตำนาน หลาก ลองม์ เควิน และ เอิว เกอ (Lạc Long Quân và Âu Cơ) คือเทพมังกรทะเลและเทพีแห่งภูเขา หลากลองม์เควินเป็นลูกชายของกษัตริย์หุ่งม์ (Hùng Vương ที่คนเวียดเชื่อว่าเป็น "ปฐมกษัตริย์" ของเวียดนามตั้งแต่เกือบ 3,000 ปีก่อนคริสตกาล) ทั้งสองพบรักและมีลูกด้วยกันเป็นไข่ร้อยฟอง แล้วไข่ก็แตกออกมาเป็นเด็ก ภายหลังทั้งคู่อยู่ด้วยกันไม่ได้เพราะธรรมชาติต่างกัน จึงแยกทางกัน เด็ก 50 คนอยู่ที่สูง อีก 50 คนตามพ่อมาอาศัยบนที่ราบลุ่มแม่น้ำแดง ตำนานกษัตริย์หุ่งม์และเรื่องไข่ร้อยฟองนำมาสู่การสร้างศาลบูชากษัตริย์หุ่งม์ ณ บริเวณแห่งนี้ตั้งแต่ศตวรรษที่ 10

 

 

ผมเพิ่งเคยมาที่นี่เป็นครั้งแรก เดิมทีคิดว่าเป็นเพียงศาลขนาดใหญ่สักแห่ง แต่ที่จริงเป็นกลุ่มศาลเจ้าขนาดใหญ่กระจายตัวบนเนินเขาที่ต้องใช้เวลาสัก 3-4 ชั่วโมงจึงจะเดินทางไปได้ทั่ว นอกจากนั้นยังมีพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมข้อมูลและจัดแสดงโบราณวัตถุต่างยุคที่ขุดพบในบริเวณนี้จำนวนมาก ทั้งหมดช่วยให้เข้าใจเวียดนามเหนือก่อนอิทธิพลจีนได้มากทีเดียว

 

 

ตามบันทึกของเวียดนาม กษัตริย์ตระกูลหุ่มครองเวียดนามเหนือมาจนถึงราว 250 ปีก่อนคริสตกาล จากนั้นมีกษัตริย์ อาน เซือง เวือง (An Dương Vương) ที่โค่นอำนาจพวกหุ่งม์แล้วตั้งเมืองที่มีศูนย์กลางขนาดใหญ่พอสมควรอยู่ทางตะวันตกของฮานอยในอีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำแดง บริเวณนี้เรียกว่า โก่ ลวา (Cổ Lao) เมืองโบราณที่นับกันว่าใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลกยุคเดียวกัน อานเซืองเวืองครองอำนาจระยะสั้นเพียงไม่ถึงร้อยปีแล้วอิทธิพลจีนก็เริ่มเข้าครอบงำเวียดนามมาจนอีกกว่า 1,000 ปีเวียดนามจึงเป็นอิสระจากอำนาจจีนอย่างชัดเจนในศตวรรษที่ 11

 

ผมไม่เคยไปโก่ลวามาก่อน เมื่อวาน (19 มีนาคม) จึงถือโอกาสเดินทางไป การเดินทางเดี๋ยวนี้สะดวก มีรถเมล์จากฮานอยต่อเดียวถึงปากทางเข้าโก่ลวาเลย เดินจากป้ายรถอีกสัก 200 เมตรก็ถึงที่

 

 

ปัจจุบันที่นี่เป็นศาลเจ้าอีกนั่นแหละ เป็นศาลบูชาอานเซืองเวือง ปากทางเข้ามีพิพิธภัณฑ์ขนาดพอสมควร แสดงหลักฐานโบราณคดีเกี่ยวกับที่นี่ ก็ช่วยให้เข้าใจอะไรได้พอสมควร โก่ลวามีคันดินและคูน้ำหลายชั้น ที่จริงถนนที่ชื่อเดียวกับสถานที่นี้เองก็เป็นคันดินชั้นหนึ่งของเมืองนี้ แต่เมื่อดูลักษณะการตั้งเมืองแล้ว ก็ทำให้ผมคิดถึงเมืองในลักษณะและอายุเดียวกันในภาคอีสานของไทย หากแต่เมืองนี้มีคันดินที่ซ้อน ๆ กันหลายอัน

 

 

การได้ไปเยือนพื้นที่เมืองโบราณทั้งสองแห่งช่วยให้ผมปะติดปะต่อเรื่องราวได้อีกมากมาย

ข้อหนึ่งคือ เวียดนามก่อนอิทธิพลจีนแสดงตัวชัดเจนในพื้นที่ทั้งสอง ที่น่าสนใจคือ คนเวียดเองมีสำนึกประวัคิศาสตร์ว่ากลุ่มตนอาศัยในที่ลุ่มแม่น้ำแดงอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้มีมรดกความทรงจำจากทางเหนือขึ้นไปเลย ความทรงจำนี้แตกต่างจากชาวไต ไม่ว่าจะพวกไตดำ ไตขาว หรือ "ไตแดง" ที่ต่างก็สำนึกถึงการเดินทางลงใต้จากตอนใต้ของจีนอย่างชัดเจน เข่น ตำนานไตดำเล่าว่าท้าวสวงท้าวเงินลูกแถนนำน้ำเต้าลงมายังโลก แล้วเดินทางมาจากทางตอนใต้ของจีนจนมาทิ้งน้ำเต้าไว้ที่ปากแต๊ตาวและเมืองลอ ส่วนไตขาวก็มักเล่าว่าบรรพบุรุษมีถิ่นฐานอยู่ในเมืองจีน พวกไตแดงที่เมืองมุนก็เล่าว่าพี่น้องสามคนเดินทางจากชายแดนจีน-เวียดนามมาสร้างบ้านเมืองที่เมืองสาง เมืองมุน และเมืองคอง

ข้อต่อมา การที่พื้นที่นี้เป็นตำนานร่วมกันของคนอย่างน้อยสองกลุ่มคือพวกเวียดกับพวกไตนั้น สอดคล้องกับข้อเสนอของนักภาษาศาสตร์ที่ ส่วนหลักฐานทางโบราณคดีนั่น อันที่จริงก็บอกไม่ได้ว่าคนที่อยู่ที่นี่เดิมมีสำนึกชาติพันธ์ุอย่างไร เป็นคนกลุ่มไหน แต่จากหลักฐานทางภาษา บันทึกโบราณที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน และชื่อสถานที่บริเวณนี้ชี้ว่า ภาษาที่ใช้ในบริเวณนี้มีทั้งตระกูลไต ตระกูลจีน และตระกูลออสโตรเอเชียติก จึงน่าเชื่อว่า ทั้งกษัตริย์หุ่งม์และอานเซืองเวืองอาจเป็นได้ทั้งเวียด ไต และคนกลุ่มอื่น

ทั้งสองข้อนั้นช่วยเสริมประวัติศาสตร์ชาตินิยมเวียดนามได้เป็นอย่างดีด้วย นั่นคือการที่คนหลายกลุ่มมีประวัติศาสตร์ร่วมกัน ทำให้ประวัติศาสตร์นิพนธ์ทางการของเวียดนามสามารถรวบเอาชนกลุ่มต่าง ๆ มาร่วมอดีตและพื้นที่กันได้ ส่วนการที่เวียดนามมีบ้านเมืองอยู่ก่อนการเข้ามาของอิทธิพลจีนอย่างแน่นหนา ทำให้เวียดนามปกป้องและมีส่วนร่วมกับความเป็นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากกว่าจีน ตำนานไข่ร้อยฟองที่ส่งต่อมาจากอดีตที่หาต้นตอไม่เจอจึงยังคงทรงพลังสืบเนื่องมาจนถึงสมัยของการสร้างชาติในทุกวันนี้

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ระหว่างเดินทางไปมาด้วยรถไฟหลายเที่ยวในโอซากาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมเกิดฉุกคิดถามเพื่อนชาวญี่ปุ่นขึ้นมาว่า วิธีที่คนญี่ปุ่นฆ่าตัวตายมากที่สุดคือวิธีไหน เพื่อนตอบทันทีโดยไม่ได้คิดว่า "ก็กระโดดให้รถไฟชนตายนี่แหละ" 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อครหาอีกข้อที่มีคือ การที่ผมชอบคิดคำศัพท์ ใช้คำศัพท์ทางวิชาการรุงรัง นี่เป็นข้อครหาที่นักสังคมศาสตร์ไทยโดนเป็นประจำ เพื่อนนักวิชาการคนอื่นๆ คิดอย่างไรผมไม่ทราบ แต่ผมมีทัศนะของผมเองคร่าวๆ ดังที่จะเสนอในที่นี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เสียงสะท้อนที่รบกวนใจผมอยู่บ้างในระยะนี้ คือคำวิจารณ์ที่เข้ามาสู่หูผมมากขึ้นๆ ทุกวันว่า ผมเป็นพวกบ้าทฤษฎี พวกบ้าศัพท์แสง พวกบ้าวิพากษ์ และพวกคลั่งตะวันตก ซึ่งผมก็น้อมรับด้วยความยินดี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 พึงสำเหนียกว่า กษัตริย์ไม่ใช่พ่อ เป็นเพียง "สมมุติพ่อ" ที่สังคมไทยอุปโลกน์ขึ้นมา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แต่ละคนคงมีตำนานส่วนตัวของตนเอง ที่สะสมความทรงจำซึ่งมักออกจะเดินจริงไปสักหน่อย แม้เมื่อมาพบกับสถานที่ บุคคล หรือแม้แต่รสสัมผัส ในที่นี้คืออาหาร ในตำนานเข้าจริงๆ อีกสักครั้ง แล้วจะรู้สึกว่าความอลังการของบุคคลและวัตถุในตำนานจะถดถอยค่าลงบ้าง ก็ยังไม่ถึงกับจะทำให้ภาพงดงสมในตำนานเลือนหายไปได้ง่ายๆ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 เดินทางมาสัมมนาที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ท่าศาลา นครศรีธรรมราช ในงาน "สัมมนาวิชาการ การศึกษาสู่อาเซียน: มิติด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์" มาเที่ยวนี้มาเป็นวิทยากรเสนอเรื่องที่เคยเสนอไปหลายเวทีแล้ว แต่เป็นความคิดที่ผมยังพัฒนาไม่เต็มอิ่มดี ยิ่งนำเสนอก็ยิ่งเห็นมุมมองใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในวาระที่ประเทศไทยกำลังจะมีแผนแม่บทพัฒนาส้วมสาธารณะไทย ระยะที่ 3 (พ.ศ.2556-2559) (ตามข่าว) จึงขอนำวิดีโอ แสดงทัศนะของนักปรัชญาชื่อดังแห่งปลายศตวรรษที่ 20 ถึงต้นศตวรรษที่ 21 นาม สลาวอย ชีเชก (Slavoj Zizek) มาเพื่อให้แลกเปลี่ยนทำความเข้าใจกันว่า ทำไมส้วมจึงสำคัญนักหนา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (15 กพ.) ตามดูสามสาวดีว่าส์ คาเฟ่แสดงความเห็นกรณีปฏิทินนกแอร์ แล้วนึกถึงข้อวิจารณ์ที่คนอเมริกันบางคนมีต่อ Beyoncé ในการแสดงคั่นครึ่งเวลาซุปเปอร์โบว์ปีที่ผ่านมา คนวิจารณ์ Beyoncé ว่าทำตัวเป็นวัตถุทางเพศ แต่มีนักสังคมวิทยาอเมริกันเถียงว่า เธอใช้ความสามารถแสดงออก แม้จะอย่างยั่วยวน ก็ไม่ได้แปลว่าเธอกลายเป็นวัตถุทางเพศ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 วันวาเลนไทน์ในแบบที่เข้าใจกันทุกวันนี้ กลายเป็นทั้งวัฒนธรรมโลกและวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่ผ่านมาผมก็ไม่เคยคิดกับมันหรอก แต่เมื่อคุณคำ ผกาชวนไปพูดคุยเรื่ิงความรักในรายการดีว่าส์ คาเฟ่ เมื่อวันที่ 14 กพ. ผมก็ตอบตกลงอย่างไม่ลังเล ก็มันน่าตื่นเต้นน้อยเสียเมื่อไหร่ ที่จะได้ออกรายการสดกับสามสาวแสนฉลาดและรวยเสน่ห์ แต่จากที่เขาชวนคุยเรื่องรักใคร่ ไปๆ มาๆ ก็กลับวกไปกลายเป็นเรื่องรัฐเร่่ืองไพร่เสียได้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 พอดีเมื่อสักครู่เพิ่งเห็นภาพภาพหนึ่ง เป็นภาพซอกตึกเมืองเล็กๆ ที่ไหนสักแห่ง มีคำบรรยายภาพว่า “Put down that map and get wonderfully lost.” “วางแผนที่นั่นเสียเถอะ แล้วหลงทางให้อัศจรรย์ใจ” ก็เลยคิดเรื่อยเปื่อยถึงความหมายของการหลงทาง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เพ่ิงกินอาหารเย็นเสร็จ วันนี้ลงมือทำสเต็กเนื้อ เนื้อโคขุนไทยๆ นี่แหละ ต้องชิ้นหนาๆ หน่อย ย่างบนกะทะเหล็กหนาๆ ที่หอบหิ้วมาจากอเมริกา เป็นกะทะเทพมากๆ เพราะความร้อนแรงดีมาก ใช้เวลาไม่ถึงสิบนาที เกรียมได้ที่ทั้งสองด้าน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"การศึกษา" ต้องการพื้นที่ลักษณะใดลักษณะหนึ่ง เมื่อความรู้เปลี่ยนแปลงไป เมื่อการเรียนรู้ไม่ได้อยู่ในอำนาจของสถาบันการศึกษาเพียงเท่านั้น พื้นที่การเรียนรู้ก็ย่อมจะต้องเปลี่ยนไปด้วย แต่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกการเรียนรู้ ยังมีคนบางกลุ่มดื้อรั้นขัดขวางการเปลี่ยนแปลง