Skip to main content

ช่วงนี้ผมกลับมาไทย 7 วัน ไม่รวมวันเดินทางอีกสองวัน ที่มาเพราะได้รับเชิญมาเสนอความเห็นในการ workshop งานหนึ่ง ผมก็เลยถือโอกาสนี้ใช้ทุนที่ต้องใช้สำหรับทำวิจัย เก็บข้อมูลของมหาวิทยาลัยเกียวโต ซึ่งก็มีอยู่ไม่มากนัก มาเพื่อใช้เดินทางไปเก็บข้อมูลเพิ่มเติมด้วยเลย

สรุปคือมาเที่ยวนี้มีสองเรื่องที่ต้องทำ

 

เรื่องแรก มาร่วมประชุมแลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องมะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งเกิดจากพยาธิใบไม้ในตับ โดยนำเอามุมมองทั้งทางการแพทย์ ทางสังคม และทางมานุษยวิทยามาแลกเปลี่ยนกัน เขาเน้นคำว่ามานุษยวิทยากันหลายครั้ง ผมก็เลยเห็นว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องให้เขารู้จักว่า มานุษยวิทยาเขาทำอะไรกันกับเรื่องอาหาร

 

เรื่องที่สอง มาเก็บข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องวรรณกรรมคนไทดำในประเทศไทย ที่เรียกกันว่า "ลาวโซ่ง" ที่จังหวัดเพชรบุรีและนครปฐม

 

ขอเล่าเรื่องแรกก่อน

 

การประชุมจัดขึ้นด้วยทุนของกองทุนขนาดใหญ่อายุร้อยกว่าปีของอังกฤษ เป็นการร่วมมือกันระหว่างสองมหาวิทยาลัยสำคัญของอังกฤษ กับมหาวิทยาลัยไทยแห่งหนึ่ง ที่สนุกยิ่งไปกว่านั้นคือ เป็นการแลกเปลี่ยนกันระหว่างนักวิทยาศาสตร์ประยุกต์ คือพวกแพทย์ กับนักสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์

 

การประชุมมีสองวันครึ่ง วันแรก ฝ่ายหมอและนักวิทยาศาสตร์การแพทย์เสนองานวิจัยให้เห็นปัญหา 10% ของคนติดพยาธิในตับเป็นมะเร็จถุงน้ำดี ที่ถ้ารู้ช้า รักษาไม่ทันก็จะตาย ถ้ารู้เร็ว รักษาทัน ก็มีโอกาสรอดสูง  

 

ที่น่าตกใจคือ ประเทศไทยมีคนที่ตายจากโรคนี้มากที่สุดในโลก ตายปีละเป็นหมื่นคน และพื้นที่ที่พบคืออีสานกลางค่อนลงมาทางใต้ ก็สอดคล้องกับพื้นที่ระบาดของพยาธิใบไม้ในตับ ที่มีสาเหตุหลักมาจากกินปลาชนิดหนึ่งคือพวกปลาซิวดิบๆ ย้ำว่าปลาชนิดเดียว (แต่ในทางวิทยาศาสตร์นับได้จริงๆ 22 สปีชีส์)

 

วันที่สอง ฝ่ายมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ระดมมุมมองเกี่ยวกับการกินของดิบและมิติต่างๆ ของอีสาน มีเรื่องราวที่น่าสนใจมากมาย นอกจากกลุ่มที่ไปเก็บข้อมูลท้องถิ่นอย่างจริงจัง ดูเครือข่ายทางสังคมของการกินปลาก้อยที่ทำจากปลาตัวเล็ก แล้วไล่มาเรื่องศาสนา เช่น ผู้เชี่ยนชาญอีสาน-ลาวคนหนึ่งมาเล่าเรื่องพระโพธิสัตว์องค์หนึ่งที่ทำปลาแดกขาย 

 

เรื่องภาษา การสื่อสารของหมอ มุมมองจากนักการศึกษาที่ให้ความสำคัญการการศึกษาแบบมีส่วนร่วม รวมทั้งการนำนักวิชาการอีสานผู้เติบโตมาในวัฒนธรรมการกินของดิบมาบอกเล่าประสบการณ์การกินของตัวเอง

 

ท้ายสุดคือมุมมองสังคมศาสตร์ที่ไม่ได้เกี่ยวกับพื้นที่ชัดเจน แต่เป็นมุมมองสำหรับเข้าใจปัญหาคนปัจจุบัน ผมเองเสนอเรื่องการกินของดิบในเกาหลี เวียดนาม และญี่ปุ่น  

 

ผมเสนอสองประเด็นคือ การเข้าใจอาหารที่แตกต่างกันต้องอาศัยการก้าวข้ามพรมแดนวัฒนธรรมที่ซับซ้อนลึกซึ้งมาก การแปลทางวัฒนธรรมอาจช่วยได้ สองคือ การบริหารจัดการการกินของดิบไม่ใช่ด้วยการกำจัดการกินดิบ แต่จะทำอย่างไรให้การกินดิบปลอดภัย ดังตัวอย่างในญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนามที่ผมประสบมาด้วยตัวเอง

 

ที่ผมเสนออย่างนี้เพราะ จากที่ฟังมาวันแรก ผมได้ยินแต่หมอพูดว่าพวกเขาพยายามรณรงค์ต่อสู้กับโรคนี้มานานหลายสิบปีแล้ว ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จสักที ก็แสดงว่าเขายังไม่เข้าใจความลึกซึ้งของที่มาของโรคที่มันไม่ได้อยู่แค่โรคกับนิสัยการกิน แต่ยังมีโครงสร้างสังคมใหญ่โตมากมาย

 

ที่ผมดักคอว่าต้องแก้ที่การทำความเข้าใจแล้วแก้ระบบให้เอื้อการกินของผู้คนไม่ใช่แก้นิสัยการกิน เพราะผมฟังหมอพูดว่าเขาพยายามจะแก้นิสัยการกินของคน เมื่อแก้ผู้ใหญ่ไม่ได้แล้วก็จะแก้เด็ก โดยหวังพึ่งการศึกษา ที่พวกเขาก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไรกันแน่ และด้วยเพราะที่ผมเห็นอยู่คือ การจัดการกับการดื่มแอลกอฮอล์แบบหมอไทย ก็คือการเน้นการกำจัด มากกว่าการจัดการให้ดื่มอย่างปลอดภัย ซึ่งอย่างหลังยุ่งยากกว่ามากแน่นอน

 

ช่วงสรุปของวันที่สอง หมออังกฤษที่เป็นโต้โผใหญ่ของการจัดประชุมครั้งนี้ ซึ่งหวังว่าจะก่อตั้งโครงการความร่วมมือกันขนาดใหญ่ ระยะยาว เพื่อไปขอทุนวิจัยที่เชื่อมโยงศาสตร์ต่างๆ เข้าด้วยกัน ลุกขึ้นมาบอกว่าการนำเสนอเรื่องการกินของดิบของผม "ไม่เข้าเรื่อง" แล้วก็วนเวียนพูดย้ำข้อเท็จจริงที่บรรดาหมอเล่ามาในวันแรกอีกว่า ประเทศไทยประสบปัญหานี้มาก พวกเราอยากมาช่วย ช่วยเสนออะไรให้เข้าเรื่องหน่อย

 

แล้วไม่นานนักก็มีหมออีกคนที่ไม่ได้ถูกเชิญมาแต่แรกในการประชุมครั้งนี้ เป็นคนละกลุ่มหมอ คนละแนวคิดกัน เป็นหมออเมริกันที่แนะนำตัวเองว่าอยู่ไทยมา 4 ปีแล้ว รู้ว่าปัญหามันมากกว่าแค่ตัวโรคและนิสัยการกิน แล้วจึงเกิดการโต้เถียงกันและบริภาษใส่กัน ก็ไม่ถึงกับใช้คำหยาบคาย แต่แสดงทัศนคติที่รุนแรงต่อกันอย่างที่ไม่มีใครในห้องประชุมทั้ง 30 คนที่ต่างก็มีประสบการณ์ทางวิชาการมามากมายจะเคยพบเห็นมาก่อน

 

อีกครึ่งวันที่สาม หมอที่เถียงกันทั้งสองคนไม่ปรากฏตัว ฝ่ายหมอเริ่มพูดก่อนอย่างอารีอารอบเหมือนรู้ตัวว่าหัวหน้าทีมพวกเขาพลาดไปแล้วที่บอกปัดข้อเสนอของผู้ที่รับเชิญมาเสนอมุมมองที่แตกต่างไปจากพวกเขา ในการคุยกันรอบสุดท้ายนี้ วัตถุประสงค์คือเพื่อพัฒนาโครงการวิจัยขึ้นมา

 

เสียดายที่ผมอยู่ได้ไม่ทันจบ ต้องกลับออกมาเสียก่อน แต่ก็ดูว่าทิศทางของการสนทนาจะไปด้วยดีมากขึ้น ผมก็ได้แต่หวังว่าโครงการวิจัยนี้จะเกิดขึ้นจริง โดยที่ไม่ต้องมีนักมานุษยวิทยาที่สนใจเรื่องอาหารอยู่ในนั้นเลยก็ได้ หรือจะเป็นใครคนอื่นแทนก็ตาม

 

ขณะนี้ผมกำลังอยู่ในการจัดการกับมิชชั่นที่สอง มาเก็บข้อมูลที่เพชรบุรี ได้รู้เรื่องน่าตื่นเต้น เรื่องใหม่ๆ พบเรื่องที่คิดว่าน่าจะเจอ ซึ่งก็ได้เจอจริง แต่เจอมากกว่าที่คิดอีก เอาไว้จะหาเวลามาเขียนเล่าใหม่ครับ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (24 ธันวาคม 2555) กสทช.เชิญให้ผมไปร่วมแสดงความเห็นในเวทีเสวนาสาธารณะ “1 ปี กสทช. กับความ (ไม่) สมหวังของสังคมไทย” ทีแรกผมไม่คิดว่าตนเองจะสามารถไปวิจารณ์อะไรกสทช.ได้ แต่ผู้จัดยืนยันว่าต้องการมุมมองแบบมานุษยวิทยา ผมจึงตกปากรับคำไป 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อโต้แย้งต่อความเห็นผมจากของเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ที่ลงในมติชนออนไลน์ (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1355920241&grpid=03&catid=&subcatid=) ย้ำให้เห็นชัดถึงความอับจนของกรอบคิดของคนกลุ่มนี้ต่อไปนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไม่เพียงแต่นักเขียนบางคนเท่านั้นที่อาจจะไม่เข้าใจหรือมองข้ามประเด็นความแตกต่างทางชาติพันธ์ุ แต่ผมคิดว่าแวดวงภาษาและวรรณกรรมบ้านเราอาจจะไม่ตระหนักถึงปัญหานี้โดยรวมเลยก็ได้ และในแง่หนึ่ง ผมคิดว่าซีไรต์เองอาจจะมีส่วนสร้างวัฒนธรรมไม่อ่อนไหวต่อความแตกต่างทางวัฒนธรรมด้วยเช่นกัน และถึงที่สุดแล้ว นี่อาจจะกลายเป็นข้อจำกัดที่ปิดกั้นโอกาสที่วรรณกรรมไทยจะก้าวเข้าสู่ระดับสากล
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทัศนะของนายแพทย์ที่เป็นตัวแทนของคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ แสดงให้เห็นถึงความคิดคับแคบของผู้มีอำนาจกลุ่มหนึ่ง ที่มักใช้อำนาจก้าวก่ายชีวิตผู้คน บนความไม่รู้ไม่เข้าใจไม่อยากรับผิดชอบต่อปัญหาเชิงโครงสร้างที่ละเอียดอ่อน และบนกรอบข้ออ้างเรื่องคุณธรรมความดีที่ยกตนเองเหนือคนอื่น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แทนที่จะเถียงกับอีกท่านหนึ่งที่วิจารณ์ผมต่อหน้ามากมายเมื่อวาน ผมขอใช้พลังงานเถียงกับข้อเสนอล่าสุดของอาจารย์ธีรยุทธ บุญมีจากข่าวในมติชนออนไลน์ (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1354935625&grpid=01&catid=&subcatid=) ดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นึกไม่ถึงและนึกไม่ออกจริงๆ ว่า ทำไมคนเปิดร้านขายหนังสือในปลายศตวรรษที่ 20 - ต้น 21 จะมีความคิดแบบนี้ได้ นี่แสดงว่าเขาไม่ได้อ่านหนังสือที่เขาขายบ้างเลย หรือนี่แสดงว่าการอ่านหนังสือไม่ได้ช่วยจรรโลงจิตใจนายทุนบางคนขึ้นมาได้เลย*
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 เมื่ออ่านข่าวแอร์โฮสเตสที่เพิ่งถูกให้ออก ผมมีคำถามหลายข้อ ทั้งในมิติของโซเชียลมีเดีย hate speech และสิทธิแรงงาน อย่างไรก็ดี ขอเคลียร์ก่อนว่าหากใครทราบจุดยืนทางการเมืองของผม ย่อมเข้าใจดีว่าความเห็นต่อไปนี้ไม่ได้มาจากความเห็นทางการเมืองที่เอนเอียงไปในทางเดียวกับพนักงานสายการบินคนนี้แต่อย่างใด ข้อสังเกตคือ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขณะกำลังนั่งกินหอยแครงลวกอยู่เวลานี้ ก็ชวนให้คิดถึงคำพูดของนักวิชาการกัมพูชาคนหนึ่ง ที่เคยนั่งต่อหน้าอาหารเกาหลีจานพิเศษ คือหนอนทะเลดิบตัดเป็นชิ้นๆ ขยับตัวดึบๆ ดึบๆ อยู่ในจานแม้จะถูกตั้งทิ้งไว้เป็นชั่วโมง ตอนนั้น ผมบ่ายเบี่ยงไม่กล้ากินอยู่นาน แม้จะรู้ว่าเป็นอาหารพิเศษราคาแพงที่ศาสตราจารย์ชาวเกาหลีสรรหามาเลี้ยงต้อนรับการมาเกาหลีครั้งแรกของพวกเราหลายคน เพื่อนกัมพูชาบอกว่า "กินเถอะพี่ หอยแครงลวกในเมืองไทยน่ากลัวกว่านี้อีก" ผมจึงหาเหตุที่จะหลบเลี่ยงอีกต่อไปไม่ได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมนั่งดูบันทึกรายการ The Voice Thailand (เดอะวอยซ์) เป็นประจำ แม้ว่าจะเห็นคล้อยตามคำนิยมของโค้ชทั้ง 4 อยู่บ่อยๆ แถมยังแอบติดตามความเห็นเปรี้ยวๆ ของนักเขียนบางคนที่ชอบเรียกตนเองสวนทางกับวัยเธอว่า "ป้า" ซึ่งหมดเงินกดโหวตมากมายให้นักร้องหนุ่มน้อยแนวลูกทุ่ง แต่ผมไม่ได้รับความบันเทิงจากเดอะวอยซ์เพียงจากเสียงเพลง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมพยายามถามตัวเองว่า การจะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนการชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยามที่นำโดย "เสธ.อ้าย" จะมาจากเหตุผลประการใดบ้าง แต่ผมก็ชักจะเริ่มไม่แน่ใจว่า เอาเข้าจริง คนที่เข้าร่วมชุมนุมกับเสธ.อ้ายจะมีเหตุผลหรือไม่ หรือหากมี พวกเขาจะใช้เหตุผลชุดไหนกันในการเข้าร่วมชุมนุม ยังไงก็ตาม อยากถามพวกคุณที่ไปชุมนุมว่า พวกคุณอยากให้ประเทศเป็นอย่างนี้จริงๆ หรือ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (20 พฤศจิกายน 2555) นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชิญไปบรรยายในงานสัมมนา "การเมืองเรื่องคนธรรมดา" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ขอตัดส่วนหนึ่งของบทบรรยายของผมที่ใช้ชื่อว่า "การเมืองวัฒนธรรมดา: ความไม่ธรรมดาของสามัญชน" มาเผยแพร่ในที่นี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 เมื่อ 16 พฤศจิกายน 2555 นิสิตรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเชิญไปร่วมกิจกรรมจุฬาวิชาการ โดยให้ไปวิจารณ์บทความนิสิตปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ 4 ชิ้น 1) ว่าด้วยเบื้องหลังทางการเมืองของการก่อตั้งองค์การอาเซียน 2) ว่าด้วยบทบาทและการต่อรองระหว่างประเทศในอาเซียน 3) ว่าด้วยการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าของธุรกิจเอกชนไทยในคู่ค้าอาเซียน และ 4) ว่าด้วยนโยบายชนกลุ่มชาติพันธ์ุในพม่า ข้างล่างนี้คือบันทึกบทวิจารณ์