Skip to main content

ช่วงนี้ผมกลับมาไทย 7 วัน ไม่รวมวันเดินทางอีกสองวัน ที่มาเพราะได้รับเชิญมาเสนอความเห็นในการ workshop งานหนึ่ง ผมก็เลยถือโอกาสนี้ใช้ทุนที่ต้องใช้สำหรับทำวิจัย เก็บข้อมูลของมหาวิทยาลัยเกียวโต ซึ่งก็มีอยู่ไม่มากนัก มาเพื่อใช้เดินทางไปเก็บข้อมูลเพิ่มเติมด้วยเลย

สรุปคือมาเที่ยวนี้มีสองเรื่องที่ต้องทำ

 

เรื่องแรก มาร่วมประชุมแลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องมะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งเกิดจากพยาธิใบไม้ในตับ โดยนำเอามุมมองทั้งทางการแพทย์ ทางสังคม และทางมานุษยวิทยามาแลกเปลี่ยนกัน เขาเน้นคำว่ามานุษยวิทยากันหลายครั้ง ผมก็เลยเห็นว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องให้เขารู้จักว่า มานุษยวิทยาเขาทำอะไรกันกับเรื่องอาหาร

 

เรื่องที่สอง มาเก็บข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องวรรณกรรมคนไทดำในประเทศไทย ที่เรียกกันว่า "ลาวโซ่ง" ที่จังหวัดเพชรบุรีและนครปฐม

 

ขอเล่าเรื่องแรกก่อน

 

การประชุมจัดขึ้นด้วยทุนของกองทุนขนาดใหญ่อายุร้อยกว่าปีของอังกฤษ เป็นการร่วมมือกันระหว่างสองมหาวิทยาลัยสำคัญของอังกฤษ กับมหาวิทยาลัยไทยแห่งหนึ่ง ที่สนุกยิ่งไปกว่านั้นคือ เป็นการแลกเปลี่ยนกันระหว่างนักวิทยาศาสตร์ประยุกต์ คือพวกแพทย์ กับนักสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์

 

การประชุมมีสองวันครึ่ง วันแรก ฝ่ายหมอและนักวิทยาศาสตร์การแพทย์เสนองานวิจัยให้เห็นปัญหา 10% ของคนติดพยาธิในตับเป็นมะเร็จถุงน้ำดี ที่ถ้ารู้ช้า รักษาไม่ทันก็จะตาย ถ้ารู้เร็ว รักษาทัน ก็มีโอกาสรอดสูง  

 

ที่น่าตกใจคือ ประเทศไทยมีคนที่ตายจากโรคนี้มากที่สุดในโลก ตายปีละเป็นหมื่นคน และพื้นที่ที่พบคืออีสานกลางค่อนลงมาทางใต้ ก็สอดคล้องกับพื้นที่ระบาดของพยาธิใบไม้ในตับ ที่มีสาเหตุหลักมาจากกินปลาชนิดหนึ่งคือพวกปลาซิวดิบๆ ย้ำว่าปลาชนิดเดียว (แต่ในทางวิทยาศาสตร์นับได้จริงๆ 22 สปีชีส์)

 

วันที่สอง ฝ่ายมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ระดมมุมมองเกี่ยวกับการกินของดิบและมิติต่างๆ ของอีสาน มีเรื่องราวที่น่าสนใจมากมาย นอกจากกลุ่มที่ไปเก็บข้อมูลท้องถิ่นอย่างจริงจัง ดูเครือข่ายทางสังคมของการกินปลาก้อยที่ทำจากปลาตัวเล็ก แล้วไล่มาเรื่องศาสนา เช่น ผู้เชี่ยนชาญอีสาน-ลาวคนหนึ่งมาเล่าเรื่องพระโพธิสัตว์องค์หนึ่งที่ทำปลาแดกขาย 

 

เรื่องภาษา การสื่อสารของหมอ มุมมองจากนักการศึกษาที่ให้ความสำคัญการการศึกษาแบบมีส่วนร่วม รวมทั้งการนำนักวิชาการอีสานผู้เติบโตมาในวัฒนธรรมการกินของดิบมาบอกเล่าประสบการณ์การกินของตัวเอง

 

ท้ายสุดคือมุมมองสังคมศาสตร์ที่ไม่ได้เกี่ยวกับพื้นที่ชัดเจน แต่เป็นมุมมองสำหรับเข้าใจปัญหาคนปัจจุบัน ผมเองเสนอเรื่องการกินของดิบในเกาหลี เวียดนาม และญี่ปุ่น  

 

ผมเสนอสองประเด็นคือ การเข้าใจอาหารที่แตกต่างกันต้องอาศัยการก้าวข้ามพรมแดนวัฒนธรรมที่ซับซ้อนลึกซึ้งมาก การแปลทางวัฒนธรรมอาจช่วยได้ สองคือ การบริหารจัดการการกินของดิบไม่ใช่ด้วยการกำจัดการกินดิบ แต่จะทำอย่างไรให้การกินดิบปลอดภัย ดังตัวอย่างในญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนามที่ผมประสบมาด้วยตัวเอง

 

ที่ผมเสนออย่างนี้เพราะ จากที่ฟังมาวันแรก ผมได้ยินแต่หมอพูดว่าพวกเขาพยายามรณรงค์ต่อสู้กับโรคนี้มานานหลายสิบปีแล้ว ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จสักที ก็แสดงว่าเขายังไม่เข้าใจความลึกซึ้งของที่มาของโรคที่มันไม่ได้อยู่แค่โรคกับนิสัยการกิน แต่ยังมีโครงสร้างสังคมใหญ่โตมากมาย

 

ที่ผมดักคอว่าต้องแก้ที่การทำความเข้าใจแล้วแก้ระบบให้เอื้อการกินของผู้คนไม่ใช่แก้นิสัยการกิน เพราะผมฟังหมอพูดว่าเขาพยายามจะแก้นิสัยการกินของคน เมื่อแก้ผู้ใหญ่ไม่ได้แล้วก็จะแก้เด็ก โดยหวังพึ่งการศึกษา ที่พวกเขาก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไรกันแน่ และด้วยเพราะที่ผมเห็นอยู่คือ การจัดการกับการดื่มแอลกอฮอล์แบบหมอไทย ก็คือการเน้นการกำจัด มากกว่าการจัดการให้ดื่มอย่างปลอดภัย ซึ่งอย่างหลังยุ่งยากกว่ามากแน่นอน

 

ช่วงสรุปของวันที่สอง หมออังกฤษที่เป็นโต้โผใหญ่ของการจัดประชุมครั้งนี้ ซึ่งหวังว่าจะก่อตั้งโครงการความร่วมมือกันขนาดใหญ่ ระยะยาว เพื่อไปขอทุนวิจัยที่เชื่อมโยงศาสตร์ต่างๆ เข้าด้วยกัน ลุกขึ้นมาบอกว่าการนำเสนอเรื่องการกินของดิบของผม "ไม่เข้าเรื่อง" แล้วก็วนเวียนพูดย้ำข้อเท็จจริงที่บรรดาหมอเล่ามาในวันแรกอีกว่า ประเทศไทยประสบปัญหานี้มาก พวกเราอยากมาช่วย ช่วยเสนออะไรให้เข้าเรื่องหน่อย

 

แล้วไม่นานนักก็มีหมออีกคนที่ไม่ได้ถูกเชิญมาแต่แรกในการประชุมครั้งนี้ เป็นคนละกลุ่มหมอ คนละแนวคิดกัน เป็นหมออเมริกันที่แนะนำตัวเองว่าอยู่ไทยมา 4 ปีแล้ว รู้ว่าปัญหามันมากกว่าแค่ตัวโรคและนิสัยการกิน แล้วจึงเกิดการโต้เถียงกันและบริภาษใส่กัน ก็ไม่ถึงกับใช้คำหยาบคาย แต่แสดงทัศนคติที่รุนแรงต่อกันอย่างที่ไม่มีใครในห้องประชุมทั้ง 30 คนที่ต่างก็มีประสบการณ์ทางวิชาการมามากมายจะเคยพบเห็นมาก่อน

 

อีกครึ่งวันที่สาม หมอที่เถียงกันทั้งสองคนไม่ปรากฏตัว ฝ่ายหมอเริ่มพูดก่อนอย่างอารีอารอบเหมือนรู้ตัวว่าหัวหน้าทีมพวกเขาพลาดไปแล้วที่บอกปัดข้อเสนอของผู้ที่รับเชิญมาเสนอมุมมองที่แตกต่างไปจากพวกเขา ในการคุยกันรอบสุดท้ายนี้ วัตถุประสงค์คือเพื่อพัฒนาโครงการวิจัยขึ้นมา

 

เสียดายที่ผมอยู่ได้ไม่ทันจบ ต้องกลับออกมาเสียก่อน แต่ก็ดูว่าทิศทางของการสนทนาจะไปด้วยดีมากขึ้น ผมก็ได้แต่หวังว่าโครงการวิจัยนี้จะเกิดขึ้นจริง โดยที่ไม่ต้องมีนักมานุษยวิทยาที่สนใจเรื่องอาหารอยู่ในนั้นเลยก็ได้ หรือจะเป็นใครคนอื่นแทนก็ตาม

 

ขณะนี้ผมกำลังอยู่ในการจัดการกับมิชชั่นที่สอง มาเก็บข้อมูลที่เพชรบุรี ได้รู้เรื่องน่าตื่นเต้น เรื่องใหม่ๆ พบเรื่องที่คิดว่าน่าจะเจอ ซึ่งก็ได้เจอจริง แต่เจอมากกว่าที่คิดอีก เอาไว้จะหาเวลามาเขียนเล่าใหม่ครับ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (4 ตุลาคม 2560) นิสิตมหาวิทยาลัยหนึ่งโทรศัพท์มาสัมภาษณ์เรื่องการพิมพ์คำ "คะ" "ค่ะ" ผิดๆ ในโซเชียลมีเดียและการส่งข้อความต่างๆ บอกว่าจะเอาไปลงวารสารของคณะเธอ เธอถามว่าการใช้คำผิดแบบนี้มีนัยทางสังคมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวาน (30 กันยายน 2560) นักศึกษาปริญญาโทชั้นเรียนมานุษยวิยาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เขียนบทละครเรื่อง "The Dark Fairy Tales นิทานเรื่องนี้ไม่เคยเล่า" ชวนไปดูและร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นหลังละครจบ ช่วยให้คิดอะไรเกี่ยวกับการอ่านนิทานได้อีกมากทีเดียวจึงอยากบันทึกไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสนทนาอย่างออกรสไม่ได้จะต้องอยู่ในบรรยากาศเคร่งขรึมในห้องเรียน ห้องสัมมนาเสมอไป ด้วยเหตุนี้ผมจึงเชื่อว่า การใช้เวลานอกห้องเรียน นอกห้องสัมมนาวิชาการ สำคัญไม่น้อยไปกว่าการใช้เวลาในห้องสี่เหลี่ยมที่มีระเบียบต่างๆ ควบคุมการสนทนาอย่างเคร่งครัดเกินไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเหตุการณ์เข้ามาคุกคามพื้นที่ทางวิชาการของคณะทหารในการประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 13 ที่เชียงใหม่ จนทำให้นักวิชาการที่มาร่วมประชุมกลุ่มหนึ่งแสดงออกด้วยการชูป้าย "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" แล้วท้ายสุดมีนักวิชาการ 5 คนถูกตั้งข้อหาว่าเป็นคนนอกเข้ามายุยงให้ต่อต้านรัฐบาล
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันแม่นำความกระอักกระอ่วนใจมาให้ผมตั้งแต่ยังเด็ก เพราะแม่ในเพลง "ค่าน้ำนม" ที่เด็กในกรุงเทพฯ รุ่นผมถูกให้หัดร้องตามจนแทบจะจำเนื้อได้ทั้งเพลงมาตั้งแต่จำความได้ ไม่ตรงกับแม่ในชีวิตจริงของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัยคนหนึ่ง ผมไม่อาจยอมรับการกระทำของอาจารย์ต่อนิสิตด้วยความรุนแรงดังที่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยอันทรงเกียรติแห่งหนึ่งได้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้เกิดความผิดพลาดบางอย่างทำให้บทแนะนำอาจารย์แคทเธอรีน บาววี องค์ปาฐกคนหนึ่งของงานประชุมไทยศึกษาปีนี้ที่จังหวัดเชียงใหม่ ไม่ได้ถูกนำเสนอในงานประชุม ในเมื่อผมเตรียมไปพูดแล้วแต่ไม่ได้พูด ก็ขอนำบันทึกที่ร่างไว้นี้มาเผยแพร่ในที่นี้แทนก็แล้วกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ฟ้าข้างในนี้กว้างกว่าข้างนอก ฟ้าในนี้กว้างจนแทบจะเห็นขอบฟ้า"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้คงเป็นช่วงเขียนรายงาน เขียนวิทยานิพนธ์ของหลายๆ คน ผมเองช่วงนี้เป็นช่วงต้องอ่านงานนักศึกษามากมาย ที่สาหัสที่สุดคืองานวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโทและเอก 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมอ่านงานจิตรครั้งแรกๆ ก็ตอนที่เรียนมหาวิทยาลัยระดับปริญญาตรี ตอนนั้นเมื่อออกจากโลกโรงเรียนก็รู้สึกว่า โลกหนังสือของห้องสมุดธรรมศาสตร์ช่างกว้างใหญ่มาก กว้างใหญ่กว่าห้องสมุดแห่งชาติที่สมัยเรียนมัธยมผมชอบไปสิงอยู่มากนัก นี่กล่าวเฉพาะหนังสือที่น่าอ่านเกี่ยวกับสังคม วัฒนธรรม ปรัชญา และศาสนา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (3 พค. 60) ผมไปวิจารณ์งานนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยซึ่งคณะราษฎรมีส่วนก่อตั้งเช่นกัน แต่สำคัญผิดกันไปว่าผู้อื่นมีบุญคุณมากกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บางทีนามสกุลกับบทบาทความเป็นครูของครูฉลบชลัยย์ พลางกูร คงไม่ทำให้คนสนใจครูฉลบเกินบทบาทไปกว่าการเป็นภรรยาของนายจำกัด พลางกูร และเป็นผู้ให้กำเนิดโรงเรียนดรุโณทยาน